แสดงกระทู้
|
This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to. |
Topics - raponsan
|
หน้า: [1] 2 3 ... 541
|
1
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ศรีเทพ ต้นทางความศักดิ์สิทธิ์ ของความเป็นทวารวดีในสยามประเทศไทย
|
เมื่อ: วันนี้ เวลา 06:26:49 am
|
ศรีเทพ ต้นทางความศักดิ์สิทธิ์ ของความเป็นทวารวดีในสยามประเทศไทยในบทความเรื่อง “Wen Dan And Its Neighbours : The Central Mekong Valley in the Seventh and Eighth Centuries” (อาจแปลชื่อบทความเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า เวียงจันทน์กับเพื่อนบ้าน : หุบเขาลุ่มน้ำแม่โขงตอนกลางในคริสต์ศตวรรษที่ 7-8) ที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญด้านเอกสารจีนโบราณอย่าง ทัตสึโอะ ฮาชิโนะ (Tatsuo Hoshino) ในหนังสือ Breaking New Ground in Lao History : Essays on the Seventh to Twentieth Centuries (ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ลาว : ข้อเขียนถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-20) ซึ่งตีพิมพ์มาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2545
มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอะไรที่เรียกว่า “ทวารวดี” และ “เมืองศรีเทพ” ซึ่งเพิ่งจะได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย เมื่อเร็วๆ นี้ โดยแบ่งออกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
@@@@@@@
1. ในพงศาวดารราชวงศ์ถังฉบับใหม่ (ซินถังซรู) เรียก “ทวารวดี” ว่า “ตัวเหอหลัว” (Duo He Luo) ใช้เวลาเดินทางจากเมืองกวางโจวเป็นเวลา 5 เดือน ถูกมองว่าเป็นรัฐที่มีระบบการปกครองแบบมีศักดินาหลักรัฐหนึ่ง ทางตะวันตกของทวารวดีติดกับทะเล ทางตะวันออกติดกับเจนละ มีศรีจนาศะ (เจียหลัวเชอฝู, Jia Luo She Fu) อยู่ทางเหนือ และมีเมืองพานพาน (Pan Pan) อยู่ทางใต้
หนังสือซินถังซรูที่ว่านี้ แม้จะมีชื่อว่าเป็นพงศาวดารของราชวงศ์ถัง แต่ก็ไม่ได้ถูกแต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ถังหรอกนะครับ เพราะเป็นหนังสือที่ถูกจักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง ได้มีพระราชโองการให้เรียบเรียงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังขึ้นใหม่ โดยให้สอบทานกับหลักฐานต่างๆ ให้มีความถูกต้องที่สุด โดยเริ่มเรียบเรียงใน พ.ศ.1587 และเขียนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.1603 ต่างหาก ด้วยภูมิหลังอย่างที่ว่านี้ จึงทำให้หนังสือโบราณดังกล่าว มีความน่าเชื่อถือมากพอสมควรเลยทีเดียว
2. ในหนังสือต้าถังซียู่จี (Da Tang Xi Yu Ji) ชี้ให้เห็นว่า ที่ตั้งของทวารวดีระยะแรกควรจะอยู่แถบแม่น้ำบางปะกง ดังนั้น จึงน่าจะเป็นเมืองศรีมโหสถ ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขต จ.ปราจีนบุรี แต่ฮาชิโนะเชื่อว่า ในช่วงปลายราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1400 ลงมา) น่าจะย้ายไปอยู่ที่ลพบุรี ทั้งนี้ ฮาชิโนะไม่ได้อ้างถึงหลักฐานเอกสารของจีนใดๆ เอาไว้ ดังนั้น ข้อความตอนนี้จึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของเขาเท่านั้น
และสุดท้ายข้อ 3. เอกสารจีนบางชิ้น (ฮาชิโนะไม่บอกว่าคือชิ้นไหนบ้าง) ชี้ให้เห็นว่า ศรีจนาศะ (เจียหลัวเชอฟู) ที่แต่เดิมอยู่ที่เมืองเสมา ในเขต อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา แต่ต่อมาได้ถูกทวารวดีรุกราน จนทำให้ต้องทิ้งอำนาจของตนเองในเขตที่ปัจจุบันคือ นครราชสีมา ไปอยู่ที่ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเขาเชื่อว่าคือเมืองที่เอกสารจีนโบราณเรียกว่า เชียนจีฟู หรือกานจีฟู (Qian/Gan Zhi Fu)
ความตอนนี้ฮาชิโนะเทียบความจากจารึกบ่ออีกา ซึ่งพบที่เมืองเสมาเอง และพงศาวดารซินถังซรูที่บอกว่า เจียหลัวเชอฟู อยู่ทางเหนือของตัวเหอหลัว ซึ่งฮาชิโนะเชื่อว่าคือเมืองศรีมโหสถ ดังนั้น เขาจึงชี้ไปที่เมืองเสมาว่าคือ เมืองศรีจนาศะ นั่นเอง
@@@@@@@
ดังนั้น ถ้าจะว่ากันตามข้อเสนอของฮาชิโนะ ซึ่งอ้างอิงอยู่บนเอกสารจีนโบราณเป็นหลักนั้น “เมืองศรีเทพ” ก็ไม่ใช่ “ทวารวดี” หรอกนะครับ อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์สัญชาติญี่ปุ่นคนนี้ ก็ต่างไปจากข้อสันนิษฐานดั้งเดิมเกี่ยวกับศูนย์กลางของทวารวดีอยู่มากเลยทีเดียว
เพราะคำอธิบายเกี่ยวกีบ “ทวารวดี” ที่ทรงอิทธิพลที่สุดน่าจะมาจาก นักอ่านจารึกของอุษาคเนย์โบราณคนสำคัญชาวฝรั่งเศสอย่าง ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (Goerge C?d?s) ที่ได้เสนอเอาไว้เมื่อ พ.ศ.2472 ว่า ทวารวดีเกี่ยวข้องอยู่กับกลุ่มโบราณวัตถุในพุทธศาสนา แบบที่เขาเรียกว่า “ก่อนเขมร” ซึ่งพบที่ลพบุรี และนครปฐม
และก็ดูเหมือนว่า เป็นเซเดส์นี่แหละ ที่เริ่มเรียก “ทวารวดี” ว่าเป็น “ราชอาณาจักร” (เซเดส์ใช้คำในภาษาฝรั่งเศสว่า royaume) อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับข้อสรุปของเขาที่ว่า ทวารวดีนั้นเป็นอาณาจักรของพวกมอญ เนื่องจากมีการพบจารึกภาษามอญอยู่มาก
น่าสนใจว่า เซเดส์นั้นเคยรับราชการอยู่ในสยาม และได้ทำงานอย่างใกล้ชิดอยู่กับบุคคลที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” อย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นับสิบปี และยังได้ช่วยกันลำดับยุคสมัยของประวัติศาสตร์ของไทย ที่เริ่มต้นตั้งแต่สมัยทวารวดี ไล่เรียงมาจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์
ดังนั้น ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับทวารวดีของท่าน จึงมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในประเทศไทย
@@@@@@@
จุดสุดยอดของกระบวนการสร้าง “อาณาจักรทวารวดี” ขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยนั้น เกิดขึ้นจากการขุดพบเหรียญเงินสองเหรียญในโถขนาดเล็ก ที่บริเวณซากเจดีย์โบราณแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของวัดพระประโทณ จ.นครปฐม ราว 1 กิโลเมตร เมื่อ พ.ศ.2486
ในเหรียญเงินทั้งสองดังกล่าว มีจารึกกำกับอยู่ด้วย ซึ่งเซเดส์ได้ถ่ายทอดและแปลความออกมาเมื่อ พ.ศ.2506 ว่า “ศรีทวารวตีศวรปุณยะ” หรือ “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี” ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะเป็นหลักฐานสนับสนุนแนวคิดของเซเดส์ว่า มีอาณาจักรทวารวดีอยู่ที่นครปฐม
อย่างไรก็ตาม เหรียญเงินจากนครปฐมทั้งสองชิ้นที่ว่านี้ ไม่ได้พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบ และถ้าจะว่ากันอย่างตรงไปตรงมาที่สุดเลยก็คือ เป็นของที่ได้จากการขุดหาของเก่าเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถยอมรับถึงที่มาของวัตถุ ตลอดไปจนถึงว่าเป็นโบราณวัตถุของแท้หรือไม่?
ถึงแม้ว่า ต่อมาจะมีการค้นพบเหรียญที่มีจารึกข้อความเดียวกันนี้ ในเมืองโบราณแห่งอื่นๆ ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย ซึ่งพบโบราณวัตถุสถานแบบที่นักโบราณคดีกำหนดเป็นวัฒนธรรมแบบทวารวดีอีกหลายแห่ง จนชวนให้เชื่อใจได้มากขึ้นว่าเหรียญเงินทั้งสองชิ้นจากนครปฐมนั้นน่าจะเป็นของแท้ดั้งเดิม เพราะมีหลักฐานประเภทเดียวกันที่ใช้เปรียบเทียบได้จากแหล่งโบราณคดีแห่งอื่นๆ
แต่นั่นก็แสดงให้เห็นด้วยว่า ทวารวดี ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่นครปฐม เพราะก็เจอเหรียญแบบเดียวกันในเมืองอื่นๆ ด้วย เพราะหมายความว่า หากใช้วิธีการแปลความจากข้อมูลหลักฐานแบบเดียวกันนี้ เมืองอื่นที่พบเหรียญทำนองนี้ก็สามารถเป็นทวารวดีได้ด้วยเช่นกัน
@@@@@@@
ข้อเสนอที่น่าสนใจชิ้นหลังสุดมาจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ที่เสนอว่า “ทวารวดี” ก็คือ “เมืองศรีเทพ” เหตุผลง่ายๆ ที่ทำให้ อ.พิริยะ เสนออย่างนี้เป็นเพราะว่า ที่เมืองศรีเทพนั้นมีการต้นพบรูปประติมากรรมพระกฤษณะลอยตัวขนาดใหญ่อยู่หลายชิ้น และถ้าจะว่ากันตามปรัมปราคติของพ่อพราหมณ์แล้ว พระกฤษณะนั้นเป็นกฤษณะผู้ครองเมืองทวารกา หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “เมืองทวารวดี” นั่นแหละครับ
ดังนั้น เมืองศรีเทพซึ่งเป็นเมืองที่พบรูปพระกฤษณะอยู่หลายองค์ ในขณะที่แคนดิเดตเมืองศูนย์กลางของทวารวดีเมืองอื่นๆ นั้น กลับไม่ค้นพบรูปพระกฤษณะเลย อ.พิริยะ ท่านก็เลยสรุปว่า “ศรีเทพ” นี่แหละคือศูนย์กลางของ “ทวารวดี”
ถึงแม้ว่า รูปสลักเล่าเรื่องของพระกฤษณะยังมีปรากฏอยู่ตามชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมต่างๆ ด้วยในหลายๆ สถานที่ ซึ่งโดยมากจะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมขอมโบราณ ไม่ว่าจะเป็นบนทับหลัง หน้าบัน หรือส่วนอื่นๆ โดยพบกระจายตัวอยู่ในปราสาทแบบขอม ทั้งที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำมูล ในภาคอีสานตอนล่างของไทย (หรือที่เรียกในเอกสารจีนโบราณว่า เจนละบก) และในเขตที่ราบลุ่มตนเลสาปเขมร ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน (คือ เจนละน้ำ ในเอกสารจีนโบราณ) โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องตามตำนานฝ่ายภาควัต (นิกายย่อยในไวษณพนิกาย ที่นับถือคัมภีร์ภาควัตปุราณะเป็นสำคัญ) แต่ที่เล่าเรื่องพระกฤษณะ ในมหาภารตะก็มี ที่สำคัญคือ ภาพสลักเล่าเรื่องสงครามบนทุ่งกุรุเกษตร ที่ระเบียงคต ปราสาทนครวัด
อย่างไรก็ตาม เรื่องของกฤษณะ ทั้งตำนานของฝ่ายภาควัต และในมหาภารตะ คงจะถูกเล่าปนๆ กัน โดยถือว่าเป็นอวตารของพระนารายณ์เหมือนกัน และคือพระกฤษณะองค์เดียวกันมาตั้งแต่ในอินเดียแล้ว
เรื่องของพระกฤษณะยังปรากฏในจารึกขอมอีกหลายหลัก โดยบางหลัก เช่น จารึกตระพังรุน ก็แสดงให้เห็นว่า ชาวเขมรโบราณรู้จักปรัชญาเกี่ยวกับพระกฤษณะ ตามแนวคิดในคัมภีร์ภควัตคีตาอีกด้วย
@@@@@@@
สรุปง่ายๆ ว่า ในเขตประเทศไทยนั้น มีเฉพาะเมืองศรีเทพ ที่มีการสร้างรูปพระกฤษณะลอยตัวขนาดใหญ่ อันเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับพระกฤษณะ ผู้เป็นใหญ่แห่งเมืองทวารวดีเป็นพิเศษนั่นเอง
ข้อความตอนนี้อาจจะดูขัดกับหลักฐานจากเอกสารจีนที่ฮาชิโนะนำเสนอ แต่ก็ต้องอย่าลืมด้วยว่า ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงการตีความของฮาชิโนะเท่านั้น ซึ่งก็อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ฮาชิโนะได้เสนอว่า ในภายหลังศูนย์กลางของเมืองทวารวดีได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองละโว้ก็น่าสนใจเป็นอย่างมาก
เพราะว่าได้มีการค้นพบจารึกศาลเจ้าเมืองลพบุรี ซึ่งกำหนดอายุจากรูปแบบตัวอักษรได้อยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ.1400-1500 มีข้อความกล่าวถึง การปรนนิบัติพัดวีเทวรูปที่มีชื่อเรียกในจารึกว่า “กัมรเตงอัญศรีบรมวาสุเทพ” แห่ง “เมืองละโว้” ในฐานะของ “พระเชษฐบิดร” คือ “ผีบรรพชน” ของเมือง
โดยคำว่า “วาสุเทพ” นั้น เป็นชื่อบิดาของอวตารปางสำคัญของพระนารายณ์คือ “พระกฤษณะ” ผู้เป็นกษัตริย์ครองเมืองทวารวดี (หรือ ทวารกา) แต่หลายครั้งก็หมายถึงตัวพระกฤษณะเอง โดยมักปรากฏใช้เรียกควบคู่กันว่า “วสุเทวะกฤษณะ” อยู่บ่อยครั้ง
ดังนั้น ชื่อ “กัมรเตงอัญศรีบรมวาสุเทพ” แห่ง “เมืองละโว้” ในจารึกศาลเจ้าลพบุรีนี้ จึงมีความเกี่ยวข้องกับ “พระกฤษณะ” ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเมืองลพบุรีนั้น เป็นหนึ่งในเมืองสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายวัฒนธรรม “ทวารวดี” คือเมืองของพระกฤษณะ
น่าเชื่อว่า “ทวารวดี” คือชื่อศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มสายราชวงศ์ที่เชื่อว่า ตนเองสืบสายมาจากพระกฤษณะ ดังมีหลักฐานการนับ คือ อวตารของพระนารายณ์องค์นี้ อย่างเข้มข้นเก่าแก่สุดในไทยอยู่ที่เมืองศรีเทพ ต่อมาสายราชวงศ์นี้คงจะถือครองเมืองละโว้ คือ ลพบุรีเป็นศูนย์กลางใหม่ ดังปรากฏการนับถือ “พระวาสุเทพ” ในฐานะพระเชษฐบิดร อยู่ในจารึกศาลเจ้าเมืองลพบุรี
ในทำนองเดียวกับที่กรุงรัตนโกสินทร์ ถือว่าตนเองสืบทอดความเป็นอยุธยา ซึ่งก็คือ เมืองของอีกหนึ่งอวตารสำคัญของพระนารายณ์ คือ “พระราม” และเรียกกษัตริย์ผู้ครองเมืองว่า “รามาธิบดี” นั่นเอง •ขอขอบคุณ :- ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2566 คอลัมน์ : On History ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.256 website : https://www.matichonweekly.com/column/article_715866
|
|
|
2
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ศรีเทพ เก่ากว่าสุโขทัย
|
เมื่อ: วันนี้ เวลา 05:39:45 am
|
ศรีเทพ เก่ากว่าสุโขทัย เมืองศรีเทพมีอายุเก่าแก่กว่า “สุโขทัยราชธานีแห่งแรก” ตั้งอยู่บริเวณชุมทางคมนาคมของดินแดนภายในระหว่างแม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำโขง-ชี-มูล, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นชุมทางรับ-ส่งแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างลุ่มน้ำมูล บนที่ราบสูง กับลุ่มน้ำเจ้าพระยา บนที่ราบลุ่มต่ำ
[เมืองศรีเทพ ราว พ.ศ.1000 เมืองสุโขทัย ราว พ.ศ.1700] เขาถมอรัตน์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์เมืองศรีเทพ อยู่ห่างจากเมืองศรีเทพไปทางทิศตะวันตก ราว 15 กิโลเมตร เป็นหลักฐานความเชื่อสมัยหลังเรื่องภูเขาทองทั้งที่อยุธยาและกรุงเทพฯ (เขาถมอรัตน์ หมายถึง เขาหินแก้ว, ถมอ แปลว่า หิน, รัตน แปลว่า แก้ว)ก่อนศรีเทพ
มีชุมชนหมู่บ้านเริ่มแรกทำนาทำไร่ “ข้าวเหนียว” เลี้ยงสัตว์ นับถือศาสนาผี มีแหล่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เขาถมอรัตน์ (เขาหินแก้ว) ราว 3,000 ปีมาแล้ว ไม่อยู่โดดๆ เพราะมีเครือข่ายกว้างขวางถึงชุมชนคราวเดียวกันอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่
ชุมชนลำตะคอง บริเวณที่ราบสูง (ต่อไปจะเป็นเมืองเสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา) ชุมชนลุ่มน้ำลพบุรี บริเวณที่ราบลุ่ม (ต่อไปจะเป็นเมืองละโว้ อ.เมือง จ.ลพบุรี)
เริ่มแรกชุมชนอยู่บนเส้นทางการค้า “ทองแดง” ข้ามภูมิภาค เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรม “สุวรรณภูมิ” ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือ พ.ศ.500
ทองแดงจากแหล่งใหญ่ลุ่มน้ำโขง ขนผ่านลุ่มน้ำป่าสักไปทางทิศตะวันตก ผ่านที่ราบลุ่มดอนไปลงแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง แล้วข้ามช่องเขาลงไปอ่าวเมาะตะมะถึงอินเดีย
เริ่ม “ทวารวดี” ศรีเทพ
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธจากอินเดีย แผ่ไปกับการค้าขยายตัวมากขึ้นถึงชุมชนเมืองบริเวณชุมทางป่าสัก ผสมศาสนาผี รวมเป็น ผี-พราหมณ์-พุทธ ราว พ.ศ.1000
จัดระเบียบสังคมที่มีคนหลายชาติพันธุ์ ได้แก่ ตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู ฯลฯ แล้วเกณฑ์แรงงานขุดคูน้ำคันดินมี 2 ส่วน
1. รูปกลม (เมืองใน) เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ฝังศพหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (chiefdom) และคุ้มหลวงของชนชั้นนำ 2. รูปรียาว (เมืองนอก) เป็นพื้นที่ทั่วไป เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของเครือข่ายชนชั้นนำ
เครือข่ายศรีเทพ ได้แก่ ชุมชนลำตะคอง และชุมชนลุ่มน้ำลพบุรี ก็มีคูน้ำคันดิน ลักษณะ 2 ส่วนเหมือนกัน
ประชาชน กินข้าวเหนียว มีกับข้าว “เน่าแล้วอร่อย” คนหลายชาติพันธุ์พูดหลายชาติภาษา ได้แก่ มอญ-เขมร, มลายู-จาม, ไท-ไต (ไม่ไทย) และมีจากอินเดีย, จีน
ทวารวดีศรีเทพ และเครือข่ายละโว้-เสมา พบในเอกสารจีน (ของพระถังซัมจั๋ง) ว่า “โตโลโปตี” หมายถึง “ทวารวดี”
[“ทวารวดี” อยู่นครปฐม เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนอันเกิดจากอคติทางวิชาการโบราณคดีไทย เพราะหลักฐานจีนระบุตำแหน่งบริเวณศรีเทพ-ละโว้]
ประติมากรรม ในศรีเทพมีเทวรูปและพระพุทธรูป แต่ที่สำคัญมากคือพระนารายณ์, พระสุริยเทพ, พระกฤษณะ (เจ้าเมืองทวารวดีในคัมภีร์อินเดีย) ในละโว้มีจารึกเอ่ยนาม “วาสุเทพ” เป็นบรรพชนของพระกฤษณะแห่งทวารวดี ชาวเมือง “ทวารวดี” ศรีเทพ “ไม่ไทย” แต่เป็นบรรพชนคนไทยกลุ่มหนึ่ง [ภาพเมืองศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (จาก Facebook เพจ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ)]เริ่มวัฒนธรรมขอม
คนพูดภาษาเขมรมีอำนาจในบ้านเมืองบริเวณลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก หรือบริเวณเมืองศรีเทพ-เมืองละโว้ ถูกคนอื่นเรียกว่า “ขอม” เชื่อมโยงอำนาจกับรัฐทางโตนเลสาบ (ทะเลสาบ) ในกัมพูชา หลัง พ.ศ.1500
สร้างพระปรางค์ไว้กลางเมืองศรีเทพ (คราวเดียวกับปราสาทพิมาย, ปราสาทพนมรุ้ง, ปราสาทเมืองศรีสะเกษ ลุ่มน้ำมูล) และมีปรางค์สองพี่น้อง ฯลฯ
[ต่อไปข้างหน้าพระปรางค์เมืองศรีเทพจะเป็นต้นแบบให้พระปรางค์เมืองละโว้ และเมืองอโยธยา-อยุธยา สืบมาด้วยการประสมประสานปรางค์อื่นๆ จนเป็นพระปรางค์วัดอรุณฯ กรุงเทพฯ] ปรางค์ประธานเมืองศรีเทพ เป็นต้นแบบพระปรางค์ในอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ เป็นหลักฐานความสืบเนื่องของวัฒนธรรมเมืองศรีเทพถึงประเทศไทยทุกวันนี้ (ภาพจากทอดน่องท่องเที่ยว เมื่อ พ.ศ.2562)หลังศรีเทพ
ลักษณะการค้าเปลี่ยนแปลงจึงมีศูนย์กลางใหม่ใกล้ทะเลสมุทรอ่าวไทยที่อโยธยา ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
เมืองศรีเทพกับเมืองเสมาลดความสำคัญลง จนร่วงโรยแล้วรกร้าง ราวหลัง พ.ศ.1700
ประชาชนจากเมืองศรีเทพโยกย้ายหลักแหล่งไปอยู่ศูนย์กลางใหม่ที่เมืองอโยธยา พูดภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้า นานไปก็พูดในชีวิตประจำวัน แล้วกลายตนเป็นไทย • ขอขอบคุณ :- ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2566 คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2566 website : https://www.matichonweekly.com/column/article_715557
|
|
|
5
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ตักบาตรน้ำผึ้ง บุญโอสถอุดมโชคลาภ ประเพณีชาวไทยรามัญ
|
เมื่อ: ตุลาคม 01, 2023, 08:20:55 am
|
ตักบาตรน้ำผึ้ง บุญโอสถอุดมโชคลาภ ประเพณีชาวไทยรามัญ ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายมอญ (รามัญ) จัดขึ้นทุกวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ด้วยชาวมอญมีความเชื่อมาจากพุทธศาสนาว่า การทำบุญตักบาตรน้ำผึ้งถวายแด่พระสงฆ์ จะมีอานิสงส์มาก อุดมไปด้วยโชคลาภ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า
ที่มาของความเชื่อ ตักบาตรน้ำผึ้ง
ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายมอญ (รามัญ) สืบทอดกันมาช้านาน โดยเชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากความเชื่อของชาวมอญที่เชื่อว่า น้ำผึ้งเป็นยารักษาโรคได้ โดยในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับน้ำผึ้งและน้ำอ้อยมาบริโภคเป็นยาได้ เนื่องจากเป็นอาหารที่มีรสหวาน ย่อยง่าย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
ชาวมอญจึงเชื่อว่า การถวายน้ำผึ้งแด่พระภิกษุสงฆ์ เปรียบเสมือนการถวายสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ที่มีพระคุณ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อสิ่งที่ตนเคารพศรัทธา
หลังพุทธศตวรรษที่ 16 ที่ชนชาติพม่าได้ขยายอิทธิพลลงมาทำให้ชาวมอญต้องอพยพมาสู่ดินแดนภาคกลางของไทย พร้อมกับได้นำศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ จารีตประเพณี และวิถีชีวิตของตนเองตามมาด้วย รวมถึงประเพณีความเชื่อเรื่องการตักบาตรน้ำผึ้งอันเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญนี้สืบทอดมากันมาช้านาน โดยกำหนดจัดขึ้นช่วงวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ชาวมอญมีความเชื่อว่า การทำบุญตักบาตรน้ำผึ้งถวายแด่พระสงฆ์ จะมีอานิสงส์มาก อุดมไปด้วยโชคลาภ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า น้ำผึ้งถือเป็นยาที่พระสงฆ์นำไปใช้ในยามจำเป็น ทำให้สุขภาพแข็งแรง ดังหลายตำนานสืบต่อกันมา ภาพจำลองเหตุการณ์เจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญทุกขกิริยาน้ำผึ้ง พระโอสถพระพุทธเจ้า
น้ำผึ้งปรากฏในพุทธประวัติสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกิริยาแล้ว พระพลานามัยยังไม่ฟื้นคืนดังเดิม วันหนึ่ง นางสุชาดานำข้าวมธุปายาส (ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมเจือน้ำผึ้ง) มาถวาย ก็ปรากฏว่าพระวรกายฟื้นฟูกลับมาอย่างรวดเร็ว มีพระปรีชาญาณจนตรัสรู้ได้ในที่สุด
ทั้งยังมีคราวหนึ่ง ในช่วงเดือน 10 พระภิกษุร่างกายชุ่มด้วยน้ำฝน ต้องเหยียบย่ำโคลนตม เกิดอาพาธอาเจียนหลายรูป กายซูบเศร้าหมอง พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุฉันน้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยข้น เนยใส และน้ำมันพืชได้ในยามวิกาล โดยถือเป็นยารักษาโรคและบำรุงร่างกาย การตักบาตรน้ำผึ้งจึงเป็นการถวายเภสัชทาน บำรุงสุขภาพภิกษุสงฆ์ เป็นการสืบต่อพุทธศาสนาได้ทางหนึ่ง จึงยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีเรื่อยมา บรรยากาศงานบุญประเพณี ตักบาตรน้ำผึ้งตักบาตรน้ำผึ้ง มีอานิสงส์มาก
ในสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้ามีพระปัจเจกโพธิรูปหนึ่งอาพาธ ประสงค์ที่จะได้น้ำผึ้งมาผสมโอสถ เพื่อบำบัดอาการอาพาธ วันหนึ่งได้ไปบิณฑบาตในชนบทใกล้ชายป่า ขณะที่พระปัจเจกโพธิกำลังโปรดสัตว์ อยู่นั้นได้พบชายชาวบ้านป่าเกิดกุศลจิตขึ้น ชายผู้นั้นหวังที่จะถวายทานแด่พระปัจเจกโพธิ แต่ด้วยตนเองยากจนไม่มีอาหารอื่นใดจะถวายพระนอกจากน้ำผึ้งจำนวนหนึ่ง
ด้วยจิตศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นและสูงส่งของชายผู้นั้น เมื่อรินน้ำผึ้งลงในบาตรของพระปัจเจกโพธิ เกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์คือ น้ำผึ้งเกิดเพิ่มพูนขึ้นจนเต็มบาตรและล้นบาตรในที่สุด ขณะนั้นมีหญิงชาวบ้านคนหนึ่งกำลังทอผ้าเห็นน้ำผึ้งล้นบาตร ด้วยจิตศรัทธาในพระปัจเจกโพธิ เกรงว่าน้ำผึ้งจะเปื้อนมือพระ จึงรีบนำผ้าที่ทอแล้วถวายแด่พระปัจเจกโพธิเพื่อซับน้ำผึ้งที่ล้น
ชายผู้นั้นอธิษฐานด้วยอานิสงส์แห่งการถวายน้ำผึ้งเป็นทานขอเป็นพลังปัจจัยให้ได้เกิด เป็นผู้มั่งคั่งเป็นผู้มีอำนาจ ส่วนหญิงที่ถวายผ้าได้อธิษฐานขอให้ได้เกิดเป็นผู้ที่มีความงามและมีโภคยทรัพย์
ต่อมาเมื่อทั้งสองมรณะแล้วได้อุบัติใหม่ในโลกมนุษย์ชายผู้ถวายน้ำผึ้งได้บังเกิดเป็นพระราชาผู้มีความเข้มแข็ง และมั่งคั่ง ส่วนหญิงผู้ถวายผ้าได้บังเกิดเป็นธิดาของพระราชาอีกเมืองหนึ่ง มีความงามและความมั่งคั่งเช่นกัน
พระสีวลีพระสีวลีน้ำผึ้ง ในพุทธประวัติ "พระสีวลี”
นอกจากนี้การถวายทานด้วยน้ำผึ้งยังมีตำนานปรากฏในพุทธประวัติ "พระสีวลี” พุทธสาวกของพระพุทธเจ้าที่ทรงยกย่องให้เป็นภิกษุที่เป็นเลิศด้านลาภบารมี
ในอดีตชาติหนึ่งนั้นพระสีวลีเกิดเป็นชาวบ้านธรรมดา ในตำบลใกล้เมืองพันธุมวตี แต่เป็นผู้ขยันขันแข็งด้านการถวายทาน อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวเมืองสมัยนั้นนิยมถวายทานแข่งกับพระราชา โดยชาวเมืองเห็นว่าน้ำผึ้งกับเนยแข็งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในทานของพวกเขา จำเป็นต้องจัดหามาถวายทานให้ได้เพื่อจะได้ไม่น้อยหน้าพระราชา ดังนั้นจึงแต่งตั้งคนดูต้นทาง ให้สอดส่องสังเกตหน้าประตูเมืองว่ามีใครมีของสองสิ่งนี้ติดตัวมาบ้าง
ขณะเดียวกัน สีวลีหนุ่มก็กำลังเดินทางเข้าเมืองพร้อมด้วยเนยแข็งเพื่อนำไปแลกกับสิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งระหว่างทางเขาได้พบรวงผึ้งขนาดเท่างอนไถที่ไม่มีผึ้งอาศัยอยู่ จึงนำติดตัวไปด้วย เมื่อผ่านประตูเมืองคนดูต้นทางไม่รอช้าเข้าเจรจาขอซื้อเนยแข็งกับรวงผึ้งทันทีในราคา 1 กหาปณะ (4 บาท) แต่สีวลีหนุ่มคิดว่านี่เป็นราคาที่สูงเกินไป จึงต้องการจะสืบต้นสายปลายเหตุให้รู้แน่ เขาจึงโก่งราคาไปเรื่อยๆ จนสูงถึง 1,000 กหาปณะ จึงได้สอบถามจนได้ความตามต้น สีวลีหนุ่มจึงตัดสินใจไม่ขาย แต่จะขอใช้น้ำผึ้งกับเนยแข็งนี้ร่วมทำบุญกับชาวเมืองด้วย ทั้งยังตั้งจิตอธิษฐานให้ผลบุญนี้ทำให้ตนเป็นเลิศด้านลาภยศในอนาคตด้วย
• บทสวดบูชา คาถาขอบารมีพระสีวลี เถระผู้มีลาภมาก • คาถาขอลาภเรียกทรัพย์ "พระสิวลี" โดย หลวงพ่อเกษม เขมโก
ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
จากตำนานและความเชื่อนี้ ทำให้ชาวมอญได้ถวายน้ำผึ้งแด่พระภิกษุสงฆ์ตามแบบอย่างที่พระสีวลีเคยทำในชาติก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ในปัจฉิมชาติ ที่ได้เป็นเอตทัคคะทางด้านการมีลาภมากนั้น ก็เป็นเพราะว่า ชาวมอญเชื่อว่าการถวายน้ำผึ้งนั้นจะเป็นทางที่จะทำให้ผู้ที่ถวายจะมีโชคมีลาภ เหมือนกับพระสีวลี หากไม่สมหวังในชาตินี้ ในชาติหน้านั้นก็คงจะได้อย่างแน่นอน บรรยากาศงานบุญประเพณี ตักบาตรน้ำผึ้งเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 โดยก่อนวันพิธีตักบาตรน้ำผึ้ง ชาวบ้านจะเตรียมทำข้าวต้มเพื่อไปทำบุญ แต่ละบ้านจะทำข้าวต้มไม่เหมือนกัน เช่น ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มคลุก ข้าวต้มมัด ข้าวต้มลูกโยนมีลักษณะลูกกลมห่อด้วยยอดจาก จะทิ้งหางยาว ข้าวต้มคลุกมีลักษณะลูกใหญ่และยาวห่อด้วยยอดจากเวลาทานต้องหั่นเป็นชิ้นคลุกด้วยน้ำตาลทราย เกลือ และมะพร้าวขูด ข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มผัดมีลักษณะเป็นยาวข้างในใส่ถั่วดำและกล้วยห่อด้วยใบตองหรือใบจากก็ได้ประกบคู่แล้วมัดด้วยยอดจากฉีกครึ่ง เมื่อถึงช่วงเย็นของวันที่ทำข้าวต้มมัดหรือข้าวต้ม ชาวบ้านจะให้ลูกหลานนำข้าวต้มนั้นไปส่งตามบ้านผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือ
ปัจจุบันประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งในปัจจุบันยังคงมีให้เห็นในวัดของชุมชนชาวมอญหลายแห่งในประเทศไทย เช่น วัดบางน้ำผึ้งใน จังหวัดสมุทรปราการ วัดสโมสร จังหวัดนนทบุรี และวัดศรัทธาธรรม จังหวัดสมุทรสงคราม
นอกจากพุทธศาสนิกชน จะนำอาหารและข้าวต้มมัดหรือข้าวต้มลูกโยนไปทำบุญที่วัดกันตามปกติแล้ว ตามประเพณีดั้งเดิมจะนำน้ำผึ้งบริสุทธิ์ พร้อมด้วยน้ำตาลทรายกับผ้าแดงผืนเล็กติดตัวไปด้วย โดยจะตักหรือรินน้ำผึ้งใส่ในบาตรจำนวน 32 ใบ ที่เป็นสัญลักษณ์แทนอาการของมนุษย์ปกติ โดยต้องเป็นน้ำผึ้ง เดือนห้าแท้ ไม่ควรเป็นน้ำผึ้งผสม เพราะจะทำให้น้ำผึ้งบริสุทธิ์เสื่อมคุณภาพ ขณะที่น้ำตาลจะใส่ในฝาบาตร และผ้าแดงจะวางไว้หลังบาตร...
ผ้าแดงนี้ก็มีที่มาจากหญิงทอผ้าผู้ใช้ผ้าช่วยซับน้ำผึ้งจนเกิดเป็นอัครมเหสีในชาติต่อมาตามตำนานนั่นเองขอขอบคุณ :- ข้อมูล : ธันวดี สุขประเสริฐ (2559), ตักบาตรน้ำผึ้ง, ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร,มูลเหตุของประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง (2564), กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ภาพ : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ Uranee Th. : ผู้เขียน | 28 ก.ย. 66 (18:10 น.) website : https://www.sanook.com/horoscope/262595/
|
|
|
8
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เรียกครูผู้หญิงว่า "แม่" มาจากระบบเครือญาติดึกดำบรรพ์
|
เมื่อ: กันยายน 30, 2023, 08:23:00 am
|
ภาพวงจรปิดจากกรณีที่ครูโรงเรียนดัง ย่านรามคำแหง ใช้ความรุนแรงกับนักเรียน เพราะไม่ยอมเรียกครูว่า แม่ : ที่มา มติชนออนไลน์ เรียกครูผู้หญิงว่าแม่ มาจากระบบเครือญาติดึกดำบรรพ์ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ“ความรู้มีในหมู่บ้าน ปริญญามีในมหาวิทยาลัย”
ตีความได้หลายอย่าง แต่ในที่นี้หมายถึงดั้งเดิมการศึกษาไทยมาจากระบบเครือญาติในชุมชนหมู่บ้าน จึงมีประเพณีเรียกคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน “นับญาติ” (แม้ไม่เป็นญาติ) ว่าพี่ป้าน้าอาพ่อแม่ปู่ย่าตายาย
(1.) ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งในชุมชนหมู่บ้าน มีความรู้ความชำนาญพิเศษ เช่น ถลุงโลหะ, ตีหม้อ, ทอผ้า, ดีดสีตีเป่าและร้องรำทำเพลง เป็นต้น
(2.) ผู้ต้องการเรียนรู้อย่างใดย่างหนึ่ง ต้องฝากเนื้อฝากตัวเป็นผู้รับใช้ในครอบครัว แล้วเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติในครอบครัวนั้น ซึ่งหมายความว่าต้องกินอยู่และซุกหัวนอนกับครอบครัวนั้น (โดยไม่มีค่าใช้จ่าย)
(3.) ครอบครัวดังกล่าว โดยปกติผัวเป็นผู้สอนวิชา เมียเป็นผู้ดูแลชีวิตประจำวัน หุงหาอาหารให้กินรวมกัน ผู้ไปขอเรียนวิชาแล้วอาศัยอยู่ด้วยจะทำตนเสมือนลูก จึงเรียกผู้สอนวิชาคือครูว่าพ่อ ส่วนเมียครูเป็นแม่ และเคารพนับถือสืบเนื่องจนกว่าจะตายจากกัน
(4.) การเรียกครูว่าพ่อหรือแม่ยังสืบประเพณีมาจนปัจจุบันในการเรียนการสอนนาฏศิลป์และดนตรีไทย พบในกรมศิลปากรและสถาบันอื่นๆ หลายแห่ง รวมทั้งกลุ่มเอกชนทั่วประเทศ
(5.) การศึกษาสมัยใหม่มีระบบโรงเรียนทั้งอยู่ในวัดและอยู่นอกวัด เรียกผู้สอนทั้งชายและหญิงว่าครู, อาจารย์ ไม่เรียกพ่อ, แม่ (ยกเว้นถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาแกมบังคับให้เรียก)
(6.) ครู-อาจารย์ผู้หญิงส่วนหนึ่งยังสืบความคิดตกค้างจากประเพณีเดิม ต้องการให้นักเรียนเรียกตนว่าแม่ (แต่อาจมีเหตุผลอื่น เช่น ไม่มีลูก และอยากมีลูก)
(7.) แม่ ในภาษาไทย มีต้นตอจากคำว่า เม ในภาษาเขมร แปลว่า หัวหน้า, ผู้เป็นใหญ่ เช่น แม่ทัพ, แม่น้ำ, แม่เหล็ก เป็นต่น
[ผู้รู้ทางนิรุกติศาสตร์บางคนมีความเห็นน่าเชื่อว่า เม ภาษาเขมร กลายคำเป็นไทยว่า เมีย ก็ได้ เพราะเมียเป็นใหญ่ในครอบครัวเหมือนแม่]
(9.) ตอนเรียนประถมที่โรงเรียนประชาบาลบ้านนอก (ในดง) ไม่พบประเพณีให้นักเรียนเรียกครูว่าแม่ ผมและเพื่อนๆ จึงไม่เคยเรียกครูว่าแม่
(10.) เมื่อเข้ากรุงเทพฯ เรียนมัธยม (ก่อน พ.ศ. 2500) ในโรงเรียนวัดแห่งหนึ่ง ครูส่วนมากไม่ให้นักเรียนเรียกแม่ แต่ครูบางคนต้องการให้นักเรียนเรียกตนว่าแม่
ตอนนั้นผมเป็นเด็กวัดและมาจากบ้านนอก ไม่กล้าเข้าใกล้ครูที่นักเรียนชาวกรุงแย่งกันเรียกแม่ ผมเลยไม่มีครูเป็นแม่ ไม่เคยเรียกครูว่าแม่ แต่ไม่เคยถูกตบที่มา : มติชนออนไลน์ ผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ | วันที่ 29 กันยายน 2566 - 17:00 น. website : https://www.matichon.co.th/columnists/news_4206204
|
|
|
9
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / “วัดเจดีย์หลวง” จ. เชียงใหม่ วัดกลางเมืองสำคัญที่ “ครูบาศรีวิชัย” ไม่เลือกบูรณะ
|
เมื่อ: กันยายน 30, 2023, 08:11:55 am
|
“วัดเจดีย์หลวง” จ. เชียงใหม่ วัดกลางเมืองสำคัญที่ “ครูบาศรีวิชัย” ไม่เลือกบูรณะ“ครูบาศรีวิชัย” ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” หรือผู้มีบุญญาธิการสูงส่งที่สะสมไว้ข้ามภพข้ามชาติ ครูบาศรีวิชัยได้รับการยกย่องเชิดชูจากชาวเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากท่านได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมเหลือคณานับ อย่าง สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ทั้งยังบูรณะวัดต่าง ๆ มากมาย เช่น วัดพระธาตุหริภุญชัย, วัดพระเจ้าตนหลวง, วัดพระสิงห์ ทว่ามีอยู่วัดหนึ่งที่ครูบาศรีวิชัยไม่บูรณะ นั่นคือ “วัดเจดีย์หลวง” จ. เชียงใหม่ แม้จะเป็นวัดที่สำคัญอย่างมากก็ตาม
“วัดเจดีย์หลวง” หรือในอดีตคือ “วัดโชติการาม” ว่ากันว่าชื่อของวัดแห่งนี้มีที่มาจาก 2 เรื่องเล่า บ้างก็ว่าเกิดจากอุบาสกผู้หนึ่งที่เลื่อมใสในพระธาตุเจดีย์แห่งนี้มาก จนนำผ้าชุบน้ำมันมาจุดเป็นประทีปจนลุกโชติช่วง บ้างก็ว่าเป็นเพราะความสูงใหญ่ของเจดีย์ที่คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวลุกโชติช่วง จึงทำให้ได้ชื่อว่าวัดโชติการาม
ส่วนประวัติวัด หากอ้างอิงตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เชื่อว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1934 โดยพญาแสนเมืองมา โปรดฯ ให้สร้างขึ้นกลางเมืองเชียงใหม่ เพื่อบรรจุพระบรมธาตุและอุทิศพระราชกุศลแด่พญากือนา พระราชบิดาของพระองค์ แต่ท้ายที่สุดพญาแสนเมืองสวรรคตไปก่อน จึงทำให้พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวี มเหสี ทรงสานงานต่อจนเสร็จสมบูรณ์
เรื่องราวที่ถ่ายทอดในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่มีเพียงเท่านี้ ทว่าปรากฏเหตุการณ์ต่อมาใน “ชินกาลมาลีปกรณ์” วรรณกรรมพุทธศาสนาภาษาบาลี กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2022 พระเจ้าติโลกราช โปรดฯ ให้ หมื่นด้ามพร้าคต นายช่างเอก เติมแต่งพระเจดีย์องค์นี้ให้ใหญ่ขึ้น ทั้งยังเปลี่ยนรูปแบบทรงเจดีย์ จาก 5 ยอด เป็นยอดเดียว หรือที่เรียกว่าเจดีย์ “ทรงกระพุ่มยอดเดียว” ซึ่งเป็นที่นิยมมากช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เชียงใหม่ Wat Chedi Luang Chiang Maiเจดีย์ประจำวัดแห่งนี้ยังมียอดคล้ายคลึงกับกู่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าติโลกราช ในอดีตมีความสูงถึง 80 เมตร จนได้รับการขนานนามว่า “ราชกูฏ” หรือ “กู่หลวง” ทว่าสมัยพระนางจิรประภาเทวี เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง จึงทำให้ยอดของเจดีย์หักโค่นลงเหลืออย่างที่เห็นในปัจจุบัน
วัดเจดีย์หลวง เรียกได้ว่าเป็นพุทธสถานแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะถือเป็น “วัดกลางเมือง” สมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการเผยแผ่ธรรมยุติกนิกายใหม่จากกรุงเทพฯ ขึ้นมาเชียงใหม่ ซึ่งวัดเจดีย์หลวงถือเป็นศูนย์กลางของธรรมยุติกนิกายในเชียงใหม่
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้วคงจะทราบได้ว่า “วัดเจดีย์หลวง” มีความสำคัญอย่างมาก แล้วทำไม “ครูบาศรีวิชัย” จึงไม่เลือกบูรณะเจดีย์หลวง?
จากการสันนิษฐานของนักวิชาการหลายคน คาดว่าเป็นเพราะวัดเจดีย์หลวงเป็นศูนย์กลางของธรรมยุติกนิกายใหม่จากกรุงเทพฯ ในเชียงใหม่ เข้ามาพร้อมกับอำนาจทางการเมือง และนั่นอาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันสงฆ์ในล้านนา ซึ่งการแปรเปลี่ยนนี้ส่งผลให้ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์หลายครั้ง จึงน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่คาดได้ว่าทำไมท่านถึงไม่บูรณะวัดเจดีย์หลวง
อ่านเพิ่มเติม :-
- ครูบาศรีวิชัย : “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” กับความขัดแย้งในคณะสงฆ์ - เปิด UNSEEN “วัดป่าสัก” โบราณสถานที่มีปูนปั้นสวยที่สุดในยุคต้นล้านนาอ้างอิง :- สุรชัย จงจิตงาม. ล้านนา Art & Culture. กรุงเทพฯ: มิวเซียมเพรส, 2555. https://www.silpa-mag.com/history/article_14296http://pioneer.netserv.chula.ac.th/~cturdsak/kuba.htmขอขอบคุณ :- ผู้เขียน : ปดิวลดา บวรศักดิ์ เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ.2566 เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กันยายน 2566 website : https://www.silpa-mag.com/history/article_118314
|
|
|
14
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ไขข้อข้องใจ นั่งสมาธิกับสวดมนต์ ควรทำอะไรก่อนกัน.?
|
เมื่อ: กันยายน 28, 2023, 08:59:58 am
|
 ไขข้อข้องใจ นั่งสมาธิกับสวดมนต์ ควรทำอะไรก่อนกัน.? การสวดมนต์ และการนั่งสมาธิ เป็นการฝึกฝนจิตใจอย่างหนึ่ง ทั้งสองอย่างมีประโยชน์ต่อจิตใจ และร่างกายมากมาย การสวดมนต์เป็นการน้อมนำจิตใจให้สงบ ระลึกถึงคุณงามความดีของพระรัตนตรัย และเจริญสติปัญญา ส่วนการนั่งสมาธิเป็นการฝึกฝนจิตใจด้วยการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยไม่วอกแวก
สำหรับการนั่งสมาธิและการสวดมนต์นั้น อาจจะมีหลายคนสงสัยว่าควรทำอะไรก่อนทำอะไรหลัง วันนี้เรามาไขข้อสงสัยนี้ไปด้วยกัน
ควรนั่งสมาธิ หรือสวดมนต์ก่อน.?
ในรายการ ธรรมะ 4.0 ทางช่องยูทูป ธรรมมะทำไม พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท) เจ้าอาวาสวัดด่านใน จ.นครราชสีมา แนะนำว่า เพื่อให้จิตสงบไม่ว่าวุ้น ก็ควรที่จะสวดมนต์ก่อน เพราะการสวดมนต์ คือการทำสมาธิในรูปแบบหนึ่ง สวดมนต์ให้รู้สึกว่าร่างกายสบาย ผ่อนคลาย โดยในการสวดมนต์ไม่จำเป็นต้องนั่งพับเพียบเสมอไป เมื่อสวดมนต์ไปแล้วรู้สึกว่าจิตใจแช่มชื่น ก็จึงค่อยนั่งสมาธิต่อได้ หากนั่งสมาธิแล้วรู้สึกเมื่อย ก็สามารถลุกขึ้นเดินจงกรมได้ แล้วจึงค่อยกลับไปนั่งสมาธิต่อ ทำแบบนี้สลับกันไปได้ขอขอบคุณ :- ข้อมูล : ธรรมะทําไม S! Horoscope : สนับสนุนเนื้อหา | 25 ก.ย. 66 (14:21 น.) website : https://www.sanook.com/horoscope/262287/
|
|
|
15
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / วัดกลางคลองวัฒนาราม โบสถ์สีม่วงสวยอลังการ ที่เจ้าอาวาสสร้างด้วยตัวเอง!
|
เมื่อ: กันยายน 28, 2023, 08:55:50 am
|
วัดกลางคลองวัฒนาราม โบสถ์สีม่วงสวยอลังการ ที่เจ้าอาวาสสร้างด้วยตัวเอง!เรียกได้ว่ากำลังเป็นที่ฮือฮาในวงการท่องเที่ยวตอนนี้สำหรับวัดสีม่วงสุดอลังการ วัดกลางคลองวัฒนาราม ต.เจ้าเสด็จ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา  เพราะด้วยความวิจิตรงดงามของโบสถ์สีม่วงที่ประดับประดาด้วยกระจกสี และแสงไฟจนมีความตระการตา กลายเป็นหนึ่งในอันซีนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปแล้ว แต่ในปูมหลังน้อยคนที่จะรู้ว่า โบสถ์สีม่วงแห่งนี้สร้างขึ้นจากฝีมือของเจ้าอาวาสของทางวัด พระใบฎีกาเอกลักษณ์ อาภสฺสโร อายุ 39 ปี มุมานะสร้างโบสถ์ด้วยตนเอง มากว่า 10 ปี จนเกิดเป็นสถานที่ที่สวยงามดั่งเช่นทุกวันนี้
ในทุกวันนี้วัดกลางคลองวัฒนารามได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปแล้ว ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปกันเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ให้กับชุมชนและชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง เป็นการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างทรงคุณค่าจริงๆ
ข้อมูลเพิ่มเติม :-
ที่ตั้ง : ต.เจ้าเสด็จ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา พิกัด : https://maps.app.goo.gl/kxkjU5rDyJc21D7T8 เวลาเปิด - ปิด : 7.00 - 18.00 น.
ขอขอบคุณ :- ภาพ : San Sansanee Peeranut P. : ผู้เขียน | 27 ก.ย. 66 (09:10 น.) website : https://www.sanook.com/travel/1442419/
|
|
|
16
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / กรุงอโยธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของไทย
|
เมื่อ: กันยายน 28, 2023, 08:36:22 am
|
. ฐานพระปรางค์วัดสมณโกฏฐาราม พระมหาธาตุหลักกรุงอโยธยากรุงอโยธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของไทย “กรุงอโยธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของไทย” อาจารย์ประวัติศาสตร์ เปิดหลักฐาน ‘อโยธยา’ เก่ากว่าสุโขทัย ห่วงหลักฐานถูกทำลาย ยันไม่ได้ต้าน ‘รถไฟความเร็วสูง’ แนะศึกษาผลกระทบรอบด้าน หาทางออกร่วมกัน
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า ตนพบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีที่ยืนยันว่า ‘อโยธยา’ เก่าแก่กว่าสุโขทัย ต่างจากความเชื่อเดิมที่กล่าวกันว่าสุโขทัยคือราชธานีแห่งแรกของไทย โดยหลักฐานที่พบใหม่ส่งผลให้อโยธยาซึ่งเป็นเมืองต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยากลายเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของไทย รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูลรศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าวว่า เมืองอโยธยาตั้งอยู่ทางตะวันออกนอกเกาะเมืองอยุธยา ปัจจุบันคือบริเวณสถานีรถไฟอยุธยาและพื้นที่ใกล้เคียง มีคูน้ำคันดิน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ราว 1.4×3.1 กิโลเมตร ปรากฏหลักฐานบ่งชี้ว่า อย่างน้อยเมื่อราว พ.ศ. 1750 เมืองอโยธยาถือกำเนิดแล้วตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์พ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาว ร่วมทัพขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพง ดังนั้น กรุงสุโขทัยเกิดหลังกรุงอโยธยา
“ภาษาไทยเป็นเครื่องบ่งชี้ความเป็นคนไทย พบว่ากรุงอโยธยาใช้ภาษาไทยในพระไอยการเบ็ดเสร็จ หรือกฎหมายลักษณะเบ็ดเตล็ด เขียนเป็นภาษาไทย ประกาศใช้ พ.ศ. 1777 ราว 116 ปี ก่อนมีกรุงศรีอยุธยา แล้วใช้สืบเนื่องตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ การขุดค้นทางโบราณคดีบางแห่งบริเวณวัดพนัญเชิง พบชุมชนขนาดใหญ่ มีภาชนะดินเผาเคลือบแบบจีนสมัยราชวงศ์หยวน มีอายุราว พ.ศ. 1800 แสดงว่าชุมชนมีก่อนหน้านั้นนานมาแล้ว อาจเป็นร้อยปีก่อนเติบโตเป็นเมืองใหญ่” รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าว
รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าวด้วยว่า นอกจากกรุงอโยธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของไทย ยังเป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธเถรวาทแบบลังกา ที่ใช้ภาษาไทยแผ่ไปทั้งเหนือและใต้ ปรากฏหลักฐานด้านเอกสารที่กล่าวถึงเมืองอโยธยา ก่อน พ.ศ. 1893 ซึ่งเป็นปีที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา ได้แก่
เรื่องที่ 1 สิหิงคนิทาน ของพระโพธิรังสี ซึ่งรจนาช่วง พ.ศ. 1960 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากสมัยพ่อขุนรามคำแหงราว 140 ปี ยังทรงจำว่า ทิศใต้ของสุโขทัยติดแดนอโยธยา
เรื่องที่ 2 พื้นเมืองเชียงแสน กล่าวถึงเหตุการณ์ พ.ศ. 1835 ว่าพญาเบิกมาขอพลกับอโยธยามาช่วยรบกับพญามังราย อีกทั้งพญาอโยธยายกมาด้วยพระองค์เอง
เรื่องที่ 3 พื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงเหตุการณ์ พ.ศ. 1817 ตอนที่พญามังรายจะไปตีเมืองหริภุญไชยว่า “พ่อค้าทางบกทางน้ำ เที่ยวมาค้าชุเมืองทางน้ำก็เถิงเมืองธิยา” และเนื้อความตอน พ.ศ. 1840 ขุนครามได้ทูลพญามังรายว่า “หากลวดไปเถิงนครเขลางค์ก็ดีเถิงโยธิยาก็ดี”
เรื่องที่ 4 คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์, ตำนานมูลศาสนา, และตำนานพระธาตุดอยสุเทพ ได้กล่าวถึงพระสุมนเถระและพระอโนมาทัสสีลงมาร่ำเรียนที่อโยธยา
@@@@@@@
รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าวว่า แม้ว่าเอกสารเหล่านี้ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าพระสุมนเถระและพระอโนมาทัสสีลงมาร่ำเรียนที่อโยธยาเมื่อใด หากแต่ในตำนานมูลศาสนาและตำนานพระธาตุดอยสุเทพ ระบุตรงกันว่า เมื่อ พ.ศ. 1871 อุทุมพรมหาสวามีกลับถึงนครพัน ข่าวของท่านได้ขจรกระจายไปถึงสุโขทัย พระทั้งสองจึงเดินทางไปขอบวชใหม่กับอุทุมพรมหาสวามี ดังนั้น ก็ชวนให้คิดได้ว่า เหตุการณ์พระมหาสุมนเถระและพระอโนมาทัสสีมาเรียนที่กรุงอโยธยานั้นก็ควรที่จะเกิดขึ้นก่อน พ.ศ. 1893
“นอกจาก 4 เรื่องข้างต้น ยังมี เรื่องที่ 5 คือ ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึง ผขาวอริยพงศ์ชาวอยุธยาได้มาช่วยซ่อมพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชที่ชำรุดทรุดโทรมเพราะเมืองร้าง และเมื่อกลับอยุธยาได้ทูลต่อพระเจ้าอยู่หัวเรื่องพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช พระเจ้าอยู่หัวจึงมีรับสั่งให้นิมนต์เปรียญทศศรีชาวหงสาวดีไปนครศรีธรรมราช และใน พ.ศ. 1815 จึงโปรดเกล้าให้นายศรีทนูออกมากินเมืองนครศรีธรรมราช แม้ว่าเหตุการณ์เรื่องฟื้นพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชในตำนานเรื่องนี้จะใช้ชื่อเมืองอยุธยาก็ตาม แต่ก็หมายถึงเมืองอโยธยาก่อน พ.ศ. 1893
ด้วยเหตุนี้เราจึงกลับมาทบทวนว่าเอกสารของพระฝ่ายป่าแดงและพระฝ่ายสวนดอก ซึ่งพระทั้งสองฝ่ายมีข้อขัดแย้ง แต่เหตุใดจึงกล่าวตรงกันถึงพระมหาสุมนเถรลงมาเรียนที่อโยธยา อีกทั้งตำนานของเมืองนครศรีธรรมราชก็กล่าวอโยธยาหรือกรุงศรีอยุธยาก่อน พ.ศ. 1893 ถ้ากรุงอโยธยาไม่มีจริงเหตุใดตำนานทั้งสองภูมิภาคจึงพร้อมใจกันกล่าวถึงกรุงอโยธยาก่อน พ.ศ. 1893” รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าว
รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าวต่อไปว่า กรมศิลปากรขุดแต่งบูรณะวัดขนาดใหญ่สมัยอโยธยาจำนวนมาก และมีอีกมากยังไม่ขุดแต่งเพราะอยู่ใต้ทางรถไฟสมัย ร.5 แต่ที่สำคัญยังไม่เคยขุดค้นศึกษาลักษณะบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเพื่อเข้าใจวิถีชีวิตของประชาชนสมัยอโยธยา ตลอดจนการจัดผังเมืองให้มีเส้นทางคมนาคมทางน้ำ มีแม่น้ำลำคลองไขว้หลายทิศทาง
ล่าสุด มีโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ซึ่งสร้างทับซ้อนทางรถไฟปัจจุบัน และมีสถานีขนาดใหญ่ตรงสถานีอยุธยา เท่ากับทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์กรุงอโยธยา ศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของคนไทย เมืองอโยธยา มีคูน้ำคันดินทำผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 1.4 x 3.1 กิโลเมตร [สำรวจและทำผังโดย พเยาว์ เข็มนาค (อดีตข้าราชการงานโบราณคดี กรมศิลปากร) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2562] ซึ่งมีกลุ่มเรียกร้องให้หลีกเลี่ยงการทำลายหลักฐานสำคัญอย่างยิ่งทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคนไทยและประเทศไทย โดยยืนว่าไม่ได้คัดค้านโครงการรถไฟฯ ไม่ได้ต่อต้านความเจริญที่กำลังเข้ามา แต่ควรผ่านการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน และมีทางเลือกอื่นๆ เช่น เบี่ยงออกไปให้พ้นจากพื้นที่เมืองอโยธยา หรือหาทางออกให้สมดุลระหว่างการอนุรักษ์และพัฒนา
อ่านเพิ่มเติม :-
• อโยธยากับอยุธยา “คนละเมืองเดียวกัน” : รถไฟความเร็วสูงผ่าซีกเมืองอโยธยา (ไม่ผ่ากลาง) • พงศาวดารอโยธยาศรีรามเทพนคร ฉบับ มานิต วัลลิโภดม : อโยธยา เก่าแก่กว่าสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา ต้นแบบรัตนโกสินทร์ • “อยุธยา” เสี่ยงถูกยูเนสโกถอดจากมรดกโลก เพราะ รถไฟความเร็วสูง !? • จุดเริ่มต้นของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา สู่มรดกโลกทางวัฒนธรรม
ขอขอบคุณ :- ที่มา : มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2566 เผยแพร่ : วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ.2566 เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 26 กันยายน 2566 website : https://www.silpa-mag.com/history/article_118067
|
|
|
17
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / “ทวารวดี” อยู่ ลพบุรี-ศรีเทพ ไม่ใช่ “นครปฐม-อู่ทอง”.?!
|
เมื่อ: กันยายน 28, 2023, 08:13:19 am
|
. “ทวารวดี” อยู่ ลพบุรี-ศรีเทพ ไม่ใช่ “นครปฐม-อู่ทอง”.?! เมื่อพูดถึง “ทวารวดี” หลายคนคงมีภาพจำจากประวัติศาสตร์กระแสหลักว่า เป็นชื่ออาณาจักรแห่งแรกและเก่าสุดในไทยราวหลัง พ.ศ. 1000 นับถือศาสนาพุทธ มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศไทย มีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม ทว่าในอีกฟากฝั่งของวงวิชาการกลับไม่เห็นพ้อง และคาดว่า ทวารวดีน่าจะมีศูนย์กลางที่ ลพบุรี-ศรีเทพ มากกว่า นครปฐม-อู่ทอง
ข้อมูลนี้ปรากฏอยู่ในบทความ “‘ทวารวดี’ อยู่ลพบุรี-ศรีเทพ (เพชรบูรณ์) ไม่อยู่นครปฐม-อู่ทอง (สุพรรณบุรี)” ในมติชนออนไลน์ ซึ่งรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอของนักวิชาการในแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่ยืนยันและชี้ว่า “ทวารวดี” มีศูนย์กลางที่ ลพบุรี-ศรีเทพ ไม่ใช่ นครปฐม-อู่ทอง อย่างที่เข้าใจกันมาตลอด
ในบทความกล่าวถึงงานนักวิชาการมีชื่อทั้ง 2 คน ได้แก่ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร และ ศ. ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
@@@@@@@
เมืองชื่อทวารวดี กับพื้นที่ที่ไม่แน่ชัด
อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อธิบายประเด็นนี้ผ่านงาน “ทวารวดี เมืองที่ชุมนุมพระธาตุ” ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ 61 ฉบับที่ 1 (มกราคม–กุมภาพันธ์ 2561 หน้า 49-55) ไว้ว่า เมืองชื่อทวารวดีเป็นที่รู้จักในบรรดาแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทยมาเนิ่นนาน ทั้งยังเป็นดินแดนโบราณ อย่างน้อยก็ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางของประเทศไทยใต้จังหวัดนครสวรรค์ลงมา
อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่า พื้นที่แห่งใดคือทวารวดี เพราะแม้จะพบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีรูปแบบเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่นักโบราณคดีไทยยุคแรก ๆ เรียกว่า “ศิลปะทวารวดี” แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ที่ตั้งของเมืองชื่อทวารวดีอยู่ที่ใด เพราะวัตถุโบราณเช่นนี้กระจายทั่วไปตามแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดี หรือบ้านเมืองสมัยโบราณบนที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง เช่น เมืองนครปฐม เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองคูบัวที่จังหวัดราชบุรี ฯลฯ
หรือแม้แต่การค้นพบเหรียญที่มีตัวอักษรคำว่าทวารวดีในเมืองโบราณอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และที่อื่น ๆ ก็ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า สถานที่ที่พบเหรียญนั้นจะเป็นเมืองทวารวดี เพราะจำนวนวัตถุที่พบน้อยมาก ทั้งวัตถุชนิดที่พบยังมีขนาดเล็ก และสามารถพกพาไปได้ทั่วแดน
ดังนั้น จึงไม่สามารถการันตีได้ว่า สถานที่ที่พบวัตถุจะเป็นเมืองทวารวดีตามไปด้วย
@@@@@@@
เบาะแส “ทวารวดี” ในศิลาจารึกวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย
ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร คาดว่าทวารวดีน่าจะอยู่ที่ลพบุรี จากการคาดคะเนผ่านหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ 2 อย่าง “ศิลาจารึกวัดศรีชุม” จังหวัดสุโขทัย
ในหลักฐานปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติผู้ทำจารึก และเล่าเรื่องการเดินทางแสวงบุญของพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีในพื้นที่ต่าง ๆ มีตอนหนึ่งกล่าวถึงพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีที่ได้เข้าไปซ่อมแซมปูชนียสถานร้างแห่งหนึ่ง บริเวณทิศใต้ของเมืองสุโขทัย โดยกล่าวว่า
“…ลางแห่งที่ชุมนุมพระมหาธาตุเป็นเจ้าอันใหญ่ทั้งหลาย ตรธานเป็นป่าเป็นดง สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีเป็นเจ้า ที่ตนเข้าไปเลิกให้กระทำพระมหาธาตุหลวงคืน พระมหาธาตุด้วยสูง เก้าสิบห้าวาไม่ เหนือพระธาตุหลวงไซร้ สองอ้อมสามอ้อม พระศรีราชจุฬามุนีเป็นเจ้า พยายามให้แล้วจึงก่ออิฐขึ้นเจ็ดวา สทายปูนแล้วบริบวรณ พระมหาธาตุหลวงก่อใหม่เก่าด้วยสูงได้ร้อยสองวา ขอมเรียกพระธมนั้นแล ๐ สถิต เคริ่งกลางนครพระกฤษณ์ ๐…”
แปลความคร่าว ๆ ได้ว่า พระองค์บูรณะสถูปพระธาตุองค์หนึ่งจนเสร็จสมบูรณ์ และกล่าวถึงสถูปนี้ว่า มีขนาดใหญ่ ซึ่งขอมเรียกว่า “พระธม” แปลตรงตัวว่าพระใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางเมืองของพระกฤษณะชื่อว่า “เมืองทวารวดี” โดยเมืองนี้มีลักษณะพิเศษคือ “เป็นที่ชุมนุมพระมหาธาตุ”
@@@@@@@
“ชุมนุมพระมหาธาตุ” คำใบ้สำคัญ ชี้ “ทวารวดี” อยู่ที่ลพบุรี.?
อาจารย์พิเศษ ระบุด้วยว่า คติเกี่ยวกับการชุมนุมพระธาตุ เป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมายาวนานถึงสมัยธนบุรี-รัตนโกสินทร์ มีบันทึกอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และฉบับอื่น ๆ โดยมีเรื่องเล่าในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่งนำหนังสือที่เขียนบนใบตาลมาถวายพระเจ้าตาก อ้างว่าเป็นของ “อธิการวัดใหม่” เชื่อว่าเป็นพระพุทธทำนาย มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
“…ในพุทธศักราชล่วงได้ 2320 จุลศักราช 1139 ปี พระนครบางกอก [คือกรุงธนบุรี] จะเสียแก่พม่าข้าศึก ให้เสด็จขึ้นไปอยู่ ณ เมืองละโว้ คือเมืองลพบุรีเป็นชุมนุมพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ท่ามกลางแผ่นดินไทย ข้าศึกศัตรูจะทำร้ายมิได้เลย…”
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 2 เมืองนั้นเชื่อมโยงกันด้วยความเชื่อเรื่อง “ชุมนุมพระมหาธาตุ” หรือ “ชุมนุมพระบรมธาตุ” ทั้งหากย้อนดูในเรื่องโบราณสถานหรือวัตถุก็พบศิลปะทวารวดีจำนวนมากด้วยเช่นกัน
ดังนั้น จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า ทั้งสองเมืองนี้มีความเชื่อมโยงกัน และสถานที่ซึ่งเป็นที่ชุมนุมพระมหาธาตุ ดังปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 หรือ จารึกวัดศรีชุม ก็หมายถึงปูชนียสถานเก่าองค์หนึ่งที่มีอยู่ในเมืองละโว้ หรือลพบุรี ซึ่งก็คือเมืองที่ยืมชื่อเมืองของพระกฤษณะมาใช้เป็นอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองทวารวดี”
@@@@@@@
“ทวารวดี” อยู่ใน “เมืองศรีเทพ” .?
ด้าน ศ. ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์” เสนอความเห็นผ่าน เพจ มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ ว่าทวารวดีน่าจะมีศูนย์กลางที่ “เมืองศรีเทพ” แม้ว่านักวิชาการหลายคนจะมองว่าเมืองแห่งนี้น่าจะไม่ใช่ศูนย์กลางของทวารวดีก็ตาม เนื่องจากศิลปะโบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างขึ้นในพุทธศาสนา แต่เป็นเทวรูปที่สร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ อย่าง พระกฤษณะ พระวิษณุ ทั้งศรีเทพยังตั้งอยู่ในแม่น้ำป่าสัก ห่างไกลจากแหล่งโบราณสถานสมัยทวารวดีอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณอ่าวไทย
แต่ ศ. ดร. พิริยะ ได้ให้เหตุผลว่า หากเราวิเคราะห์ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลป์ จะเห็นว่าศรีเทพเป็นสถานที่โบราณคดีแห่งเดียวที่พบเทวรูปพระกฤษณะ เทพเจ้าในลัทธิไวษณพ ผู้สถาปนากรุงทวารกาหรือทวารวดี ด้านข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็พบว่า ทวารวดีเป็นเมืองของพระวิษณุ และเป็นชื่อของกรุงศรีอยุธยา (กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา) ส่วนเรื่องภูมิศาสตร์ ศรีเทพยังตั้งอยู่บนแม่น้ำป่าสัก ซึ่งปลายน้ำอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา ถิ่นฐานเดิมของชาวสยาม
เพราะฉะนั้น “ศรีเทพ” จึงน่าจะเป็นศูนย์กลางของทวารวดีราชธานีแรกของสยาม
อ่านเพิ่มเติม :- • วัฒนธรรมทวารวดี ต้นเค้า “เมืองโบราณศรีเทพ” มรดกโลกแห่งล่าสุดของไทย • ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เยือน ‘เมืองศรีเทพ’ ถกปมศูนย์กลางทวารวดีจริงหรือ?ขอขอบคุณ :- ผู้เขียน : ปดิวลดา บวรศักดิ์ เผยแพร่ : วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ.2566 เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 26 กันยายน 2566 URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_118112อ้างอิง : https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_3089458
|
|
|
19
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ปริศนาตุ๊กตาหินจีน ‘สตรีถือพัดกับประคำ’ ใช่รูปเคารพ ‘เจ้าแม่กวนอิม’ รุ่นเก่าหรือ
|
เมื่อ: กันยายน 27, 2023, 06:56:08 am
|
ปริศนาตุ๊กตาหินจีน ‘สตรีถือพัดกับประคำ’ ใช่รูปเคารพ ‘เจ้าแม่กวนอิม’ รุ่นเก่าหรือไม่.? สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว บนฐานเขียง (ฐานไพที) คือฐานขนาดใหญ่ชั้นล่างสุดของ “สุวรรณเจดีย์” (ปทุมวดีเจดีย์) ภายในกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน
นอกจากจะมีกลุ่มของ “พระศิลาสามองค์” รุ่นเก่าสมัยหริภุญไชยที่ดูประหนึ่งว่ารับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ และดิฉันลองตีความว่าอาจเป็น “พระอมิตาภะพุทธเจ้า” แล้ว (ด้วยเหตุที่นั่งขัดสมาธิเพชร และทำปางสมาธิ เหมือนกับกลุ่ม “พระอมิตาภะ” ด้านทิศตะวันตกของศาสนสถานบุโรพุทโธ)
ยังพบว่ามีประติมากรรมที่ทำจากหินขนาดเล็กอีกองค์หนึ่ง เป็นรูปสตรี ตั้งแทรกอยู่เป็นลำดับสองจากซ้ายมือ ระหว่างพระหินองค์ใหญ่ที่มุม (องค์ที่มีประภามณฑลด้านหลัง) กับพระหินองค์ย่อม ที่อยู่ถัดไปด้านขวา มองโดยรวมเผินๆ คล้ายว่าเป็นกลุ่มประติมากรรมหิน 4 ชิ้นที่กลมกลืนกัน (ใช้วัสดุหินเหมือนกัน) ทว่าอีกบางมุมกลับดูแปลกแยก ว่าเอาสิ่งที่ขัดแย้งนี้มารวมกันได้อย่างไร สมัยก่อนจะเห็นประติมากรรมหินทั้งสี่องค์ในระยะไกล ซึ่งตั้งวางเรียงรายบนฐานเขียงปทุมวดีเจดีย์ แต่ปัจจุบันมีทั้งป้ายคำบรรยาย และผ้าห่มองค์พระธาตุพันรอบฐานเขียง แทบจะปิดกั้นการมองเห็นกลุ่มประติมากรรมหินรุ่นเก่าทั้งสี่ชิ้นนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ ใครหนอ กล้าเอารูปปั้นผู้หญิงมาแทรกหว่างกลางพระพุทธรูป?
จากหลักฐานภาพถ่ายเก่า อย่างต่ำมีมาแล้วตั้งแต่ปี 2490 ในหนังสือ “พระรอด พระเครื่องสกุลลำพูน” ของ “ตรียัมปวาย” เกจิพระเครื่องชื่อดังรุ่นบุกเบิก ได้เดินทางมาเจาะลึกเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณวัตถุ โบราณสถานในลำพูนทุกซอกทุกมุม ได้บันทึกไว้ว่า
ประติมากรรมหิน “สตรี” ที่ดูแปลกแยกนี้ ตั้งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพระหินทั้งสามองค์ มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว โดยทั้งหมดย้ายมาจาก “วัดร้างดอนแก้ว” ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง (ปิงเก่า) ต.เวียงยอง อ.เมืองลำพูน พร้อมกัน
คำถามคือ ประติมากรรมสตรีขนาดเล็กชิ้นนี้คือรูปอะไร ไทยหรือเทศ เก่าหรือใหม่ มาได้อย่างไร ทำไมจึงถูกจัดวางอยู่ตรงนี้ ใครเป็นผู้นำมารวมไว้กับกลุ่มพระหินสามองค์ที่มีพุทธศิลป์แบบหริภุญไชย? ประติมากรรมหินรูป “เจ้าแม่กวนอิม” ตามแนวคิดว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่คอยอุปัฏฐาก “พระอมิตาภะ”สตรีถือพัดกับประคำ คือ “เจ้าแม่กวนกิม” รุ่นเก่า.?
ประติมากรรมสตรีขนาดเล็กชิ้นนี้ อันที่จริงก็มีสภาพไม่ต่างไปจากพระหินสามองค์เท่าใดนัก กล่าวคือถูกเมินเฉย มองข้ามจากสายตาผู้ผ่านทางเสมอ
นักท่องเที่ยวเมื่อมาเยือน “ปทุมวดีเจดีย์” มักแหงนมองให้ความสนใจเพียงรูปทรง Stepped Pyramid พลางตั้งคำถามว่า เกี่ยวข้องอะไรหรือไม่กับอีกองค์ที่ขนาดใหญ่กว่าในวัดจามเทวี ไม่มีใครเหลียวแลพระหินสามองค์ กับประติมากรรมสตรีจีนขนาดเล็กที่ตั้งเรียงราย 4 องค์นี้ (ด้วยเหตุที่มีการพอกปูนทับจนดูใหม่ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในฉบับก่อน)
หรือแม้นจักปรายตามาแลบ้าง ก็มักสรุปในใจว่า เออหนอ! ใครช่างเอาเศษหิน 4 ชิ้นนี้มาประดับที่ฐานเจดีย์ ดูตุ๊กตาหินจีนตัวเล็กนี้ ยิ่งไม่เข้าพวกเอาเสียเลยกับพระหินสามองค์ (ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ดูไม่ออก ว่าเป็นศิลปะที่เก่าถึงสมัยหริภุญไชย ซ้ำยังรับอิทธิพลในสายอินเดียคุปตะอีกด้วย)
ประติมากรรมสตรีชิ้นนี้ สำหรับคนที่พอจะมีความรู้ด้านโบราณคดีอยู่บ้าง ก็จะสรุปในใจว่า น่าจะเป็น “ตัวอับเฉาเรือ” หรือตุ๊กตาซีเมนต์ (เนื้อหิน) ที่ใช้ถ่วงเรือสำเภาจีน ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ทรงทำการค้ากับจีน ขาไปเอาสินค้าพวกข้าว ดีบุก ไม้สักไปขาย ขากลับเรือเบาโหวง เพราะซื้อเครื่องถ้วย ผ้าไหมกลับมาถึงราชสำนักสยาม ก็แตกแหลกลาญหมด
ทำให้พ่อค้าจีนจึงนำตัวตุ๊กตาหิน (อันที่จริงหล่อด้วยซีเมนต์) ที่ราคาถูก บรรทุกลงสำเภามาด้วย เพื่อใช้ถ่วงเรือไม่ให้โคลงเคลง บนฐานเขียงปทุมวดีเจดีย์ มีรูปปั้นตุ๊กตาหินจีนขนาดเล็ก อยู่ลำดับที่ 2 จากซ้าย คนทั่วไปมองข้าม บ้างนึกว่าเป็นเครื่องอับเฉาใช้ถ่วงเรือเมื่อถึงสยามเราก็เอาตุ๊กตาหินเหล่านี้มาประดับสวนตามวัด พบได้ทั่วไปที่วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ วัดสุทัศน์ วัดอรุณ เป็นต้น
ตอนแรกดิฉันก็เคยคิดเช่นนั้น ทุกครั้งที่มองตุ๊กตาหินจีนชิ้นนี้ทีไร ใจนึกประหวัดไปถึง “เครื่องอับเฉาเรือ” หรือเครื่องถ่วงน้ำหนักสำเภาสมัยรัชกาลที่ 3 พลางเกิดคำถามว่า “เอ ใครหนอ นำตุ๊กตาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเหล่านี้จากรุงเทพฯ มาประดับให้วัดพระธาตุหริภุญชัย?”
เหตุที่เชื่อเช่นนี้ เพราะบริเวณทางขึ้นหอพระไตรปิฎกของวัด ยังพบ “ตุ๊กตาสิงโตจีน” อีก 1 คู่ ซึ่งก็มีลักษณะคล้ายกับสิงโตเครื่องอับเฉาเรือของกรุงรัตนโกสินทร์ด้วยเช่นกัน
ฤๅจะเป็นสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำมาในคราวตรวจราชการมณฑลพายัพ? หรือพระราชชายา เจ้าดารารัศมี นำมาคราวเสด็จนิวัติเชียงใหม่ชั่วคราวในปี 2464? หรือพลตรีเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ นำมาคราวเคยลงไปเข้าเฝ้าฯ ในพิธีถวายน้ำพระพิพัฒน์สัตยา? หรือ…ใครเอ่ย เป็นผู้นำมา
ที่แน่ๆ ประติมากรรมจีนเหล่านี้ ต้องเป็นเครื่องอับเฉาเรืออย่างไม่มีข้อแม้
บุคคลผู้ทำให้ดิฉันเปลี่ยนมุมมองใหม่ ก็คือ “พี่แอ๊ว – ณัฏฐภัทร จันทวิช” อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี กรมศิลปากร (ผู้ล่วงลับ) ท่านเคยเป็นอดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย มักแวะมาเสวนาวิชาการกับดิฉันอยู่เสมอ
ปี 2546 พี่แอ๊วได้พานักโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านเจดีย์ (หรือจะเรียกให้เฉพาะทางเลยก็ได้ว่า “นักเจติยวิทยา”) ชาวออสซี่ ชื่อ ดร.เอเดรียน สน็อตกร๊าด (Prof. Dr. Adrian Snotgrad) มาพบดิฉันที่ลำพูน เพื่ออยากแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับสถูปเจดีย์ต่างๆ รวมทั้งประเด็นที่พี่แอ๊วอยากนำเสนอ ดร.เอเดรียน ก็คือ “ตุ๊กตาหินจีน” ชิ้นที่ตั้งอยู่ท่ามกลางพระหินสมัยหริภุญไชยสามองค์ บนฐานเขียงปทุมวดีเจดีย์
@@@@@@@
“ดิฉันสงสัยจริงๆ ว่าใครเอาประติมากรรมชิ้นนี้มา เพราะเป็นรูปเจ้าแม่กวนอิมรุ่นเก่า ถูกต้องตามหลักประติมาณวิทยา ที่ระบุว่าเจ้าแม่กวนอิมสมัยราชวงศ์ถังนั้นจะถือสัญลักษณ์ 2 สิ่งคือ พัดกับประคำ ซึ่งต่อมาสัญลักษณ์ทั้งสองนี้ ค่อยๆ เลือนหายไป รูปเจ้าแม่กวนอิมยุคหลังๆ มักถือสัญลักษณ์สิ่งอื่น”
ดร.เอเดรียน ครุ่นคิดตามสิ่งที่คุณณัฏฐภัทรนำเสนอ จากนั้นเราทั้งสามก็เข้าไปขอข้อมูลจาก “ตุ๊ลุงเจ๋” หรือ พระเจติยาภิบาล อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย และเจ้าคณะจังหวัดลำพูน ที่กุฏิของท่านในคณะหลวง เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประติมากรรมหินจีนดังกล่าว
ได้คำตอบว่า รูปปั้นหินทั้ง 4 ชิ้นนี้ (พระหินสาม + เจ้าแม่กวนอิม) ถูกโยกย้ายใส่ล้อเลื่อนมาพร้อมกันจากวัดร้างดอนแก้ว ไม่ใช่กรมพระยาดำรงหรือเจ้าหลวงจักรคำ ไปนำมาจากรุงเทพฯ แต่อย่างใดไม่ ทั้งหมดอยู่วัดดอนแก้วด้วยกันนานมากแล้ว
“ตอนบูรณะพระหินใหญ่สององค์ครั้งแรก (ปี 2478) ชาวบ้านที่อยู่แถววัดดอนแก้วก็บอกว่า หากจะย้ายพระพุทธรูปหินสององค์ใหญ่ไปไว้ที่อื่น อย่าเอาไปองค์เดียว ต้องยกไปเป็นเซ็ต เพราะท่านมาด้วยกัน 4 องค์ คือพระหินสามองค์กับเจ้าแม่กวนอิมอีกองค์ แต่ทีนี้ช่วงนั้น พระหินองค์เล็กยังไม่ได้ซ่อม (บูรณะตามมาในปี 2483) พระทั้งสี่องค์จึงต้องฝากไว้ที่วัดดอนแก้วก่อน กระทั่งเมื่อบูรณะพระหินครบสามองค์แล้ว เจ้าคุณวิมลญาณมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูน ก็ให้ย้ายพระหินมาทั้งสามองค์ โดยปราชญ์ชาวบ้านแถวนั้นกำชับว่า หากจะย้ายไป ต้องเอาเจ้าแม่กวนอิมไปด้วย”
ประโยคของท่านเจ้าคุณเจ๋ มีความน่าสนใจ 2 ประเด็น
1. ตุ๊กตาหินจีนนี้ ในการรับรู้ของคนลำพูนรุ่นก่อนก็เรียกว่า “เจ้าแม่กวนอิม” กันมานานแล้วล่ะหรือ?
2. ประติมากรรมหินทั้งหมด (3+1) ไปไหนต้องไปด้วยกันเป็นเซ็ต อย่าให้พรากจากกัน เพราะของเดิมเขาอยู่กันเป็นกลุ่ม 4 องค์แบบนี้มานานแล้ว ตอกย้ำนิกายสุขาวดีในหริภุญไชย.?
นั่นคือข้อมูลเก่าตั้งแต่ 20 ปีก่อน ที่ดิฉันรับทราบด้วยความงุนงง ทั้งจากคุณณัฏฐภัทร และจากท่านตุ๊ลุงเจ๋ จำได้ดีก้องหูไม่รู้ลืม ในคำพูดของพี่แอ๊วที่ว่า
“ฝากดูแลเจ้าแม่กวนอิมให้ดีด้วยนะน้องเพ็ญ ถือพัดกับประคำแบบนี้หายากมากๆ พี่แอ๊วเองก็ไม่ทราบว่าเจ้าแม่กวนอิมรุ่นเก่านี้สร้างเมื่อไหร่ มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร ยิ่งองค์เล็กๆ อยู่ด้วย เกรงจะชำรุดสูญหาย น่าแปลกจริงๆ ที่ในดินแดนหริภุญไชย มีการทำรูปเจ้าแม่กวนอิม จัดวางคู่กับพระหินสามองค์ที่รับอิทธิพลศิลปะสมัยคุปตะ?”
ดิฉันก็ไม่รู้ว่าจะปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดนี้ให้เป็นเนื้อเดียวกัน อย่างน้อยให้ตัวเองเข้าใจได้อย่างไรดี กระทั่งเพิ่งมานึกเอะใจกับลักษณะท่านั่ง “ขัดสมาธิเพชร” + “ปางสมาธิ” ของพระหินทั้งสามองค์ ว่าน่าจะมีกลิ่นอายแบบพุทธมหายานนิกายสุขาวดี
จึงลองตั้งข้อสมมุติฐานเบื้องต้นดูว่า หากพระทั้งสามองค์นี้ ผู้สร้างตั้งใจสื่อให้เป็น “พระอมิตาภะพุทธเจ้า” ได้หรือไม่
ความหมายของ “พระอมิตาภะ” คืออะไร คือพระธยานิพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ตามความเชื่อของชาวพุทธมหายาน ที่เริ่มมีแนวคิดนี้จากนิกายวัชรยานในกลุ่มอินเดียเหนือสืบต่อลงไปถึงศรีวิชัย กับอีกสายขึ้นไปยังทิเบต จีน เรียกนิกายแยกย่อยนี้ว่า “นิกายสุขาวดี” เน้นการนับถือพระอมิตาภะพุทธเจ้าเหนือกว่าพระธยานิพุทธเจ้าองค์อื่นๆ
ในทางพุทธมหายาน นิยมทำพระอมิตาภะ นั่งสมาธิประดับบนมวยผมของ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” แต่ในสายจีน ทิเบต กลุ่มนิกายสุขาวดีที่นับถือพระอมิตาภะอย่างเข้มข้น จักทำรูปเคารพของพระองค์แยกออกมาเดี่ยวๆ และทำพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประกบคู่อีกองค์
@@@@@@@
บางยุคสมัย นิยมทำพระโพธสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นรูปเจ้าแม่กวนอิม เช่น ศิลปะจีนสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งร่วมสมัยกับศิลปะอินเดียสมัยคุปตะตอนปลาย (ทวารวดีและหริภุญไชยตอนต้นด้วย) มีความเชื่อว่า พระโพธิสัตว์กวนอิม จักคอยอุปัฏฐาก พระอมิตาภะพุทธเจ้า
ดังนั้น เมื่อทำรูปพระอมิตาภะพุทธเจ้าเสร็จ มักมีรูปโพธิสัตว์กวนอิมในร่างสตรีไว้ด้วยอีกองค์ ให้คอยรับใช้ดูแล โดยกำหนดให้โพธิสัตว์กวนอิมถือพัดกับประคำ
“ถ้ารูปปั้นผู้หญิงองค์เล็กนี้ไม่ใช่เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ ใครจะกล้าให้เอารูปผู้หญิงไปตั้งประกบท่ามกลางพระเจ้า (พระพุทธรูป) อันศักดิ์สิทธิ์เล่า คนล้านนาเขาจะฮ้องว่าขึด!” ถ้อยคำของตุ๊ลุงเจ๋ยังอยู่ในความทรงจำ
ดิฉันมิอาจการันตีได้เลยว่า รูปเจ้าแม่กวนอิมแกะสลักจากหินชิ้นนี้ สร้างเมื่อไหร่ เก่าถึงยุคไหน ที่แน่ๆ ประเด็นเรื่องตัวอับเฉาเรือจากรัตนโกสินทร์นี่ ตัดทิ้งไปได้เลย
เหตุที่ไม่เคยมีตัวอย่างให้ศึกษาเปรียบเทียบว่าเครื่องแต่งกายชนิดที่มีกระดุมกุ๊นเรียงเป็นสาบหน้าแบบนี้ ในงานศิลปะจีนนั้นนิยมทำกันยุคไหน จะเก่าถึงสมัยราชวงศ์อะไรได้บ้าง ถ้าเป็นเจ้าแม่กวนอิมจริง ท่านเข้ามาอยู่ในลำพูนได้อย่างไร ใครเอามาถวายให้กับวัดดอนแก้ว
สิ่งที่คาใจมากที่สุดคือประเด็น ทำไมจึงกล่าวกันว่า พระหินสามองค์กับเจ้าแม่กวนอิม ห้ามแยกออกจากกันเด็ดขาด ไปไหนต้องไปเป็นกลุ่ม ฤๅทฤษฎีที่ว่า พระหินกลุ่มนี้คือองค์แทนของพระอมิตาภะในนิกายสุขาวดี จักมีเค้าลางว่าน่าจะเป็นจริง เพราะมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมมาสนับสนุน? • ขอขอบคุณ :- ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กันยายน 2566 คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ.2566 website : https://www.matichonweekly.com/column/article_713903
|
|
|
20
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / อโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัย
|
เมื่อ: กันยายน 27, 2023, 06:36:52 am
|
. อโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัยอโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัย มีหลักฐานเริ่มแรกความเป็นมาของอโยธยาราว พ.ศ.1600-1700 พบวรรณกรรมไทยในอโยธยาราว พ.ศ.1778 แต่สุโขทัยมีพัฒนาการหลังจากนั้นราว 100 ปี
แต่ชนชั้นนำสมัยชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” ต้องการให้สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย นับแต่นั้นมาเมืองอโยธยาถูกบังคับสูญหายจากความทรงจำของไทย
กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อมากกว่า 100 ปีมาแล้ว จากนั้นถูกสถาปนาเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยเพื่อใช้ครอบงำสังคมไทย ผ่านสถานศึกษาทุกระดับ และผ่านสื่อสารพัดทั้งของราชการและของเอกชน ยังมีอิทธิพลสืบเนื่องจนทุกวันนี้
ประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างใหม่เรื่องกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เสมือนเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ หมายถึงคิดต่างไม่ได้ หรือคัดค้านไม่ได้ว่าสุโขทัย “ไม่ใช่” แห่งแรก หากละเมิดหรือคิดต่างจะถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าไม่รักชาติ ไม่รักสถาบัน เท่ากับต้องอยู่ยาก สุโขทัยเป็นเมืองสมัยหลังอโยธยา แต่ถูกสร้างใหม่เป็น “แดนเนรมิต” สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย สนองการเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” (ภาพกลางเมืองสุโขทัย ที่ถูกทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว)หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การเมืองแบบประชาธิปไตย มีนักค้นคว้าและนักวิชาการทั้งไทยและสากลศึกษาค้นคว้าวิจัย พบว่ากรุงสุโขทัย “ไม่ใช่” ราชธานีแห่งแรกของไทย โดยสรุปดังนี้
(1.) ไม่พบหลักฐานวิชาการสนับสนุนว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย
(2.) ที่ว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ถูกสร้างขึ้นลอยๆ เพื่อหวังผลโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติ” เรื่องคนไทย เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์
(3.) กรุงสุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย ถูกสร้างทางการเมืองให้เป็น “รัฐในอุดมคติ” แต่วิชาการสากลไม่เชื่อถือ ในที่สุดกรุงสุโขทัยกลายเป็น “แดนเนรมิต” ที่ตลกขบขันของวงวิชาการสากล
กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย มีเหตุจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลักฐานวิชาการหลายอย่างเกี่ยวเนื่องกัน ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเหล่านั้น ศรีศักร วัลลิโภดม นักปราชญ์สยามประเทศ (บรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ประมวลข้อมูลทั้งหมดเป็นบทความวิชาการเมื่อ 42 ปีที่แล้ว หรือ พ.ศ.2524 เรื่อง ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พ.ศ.2524 หน้า 5-14)
(4.) หลักฐานวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา สนับสนุนหนักแน่นว่าอโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัย ดังนั้น อโยธยาเป็นเมืองตั้งต้นคนไทย, ภาษา ไทย และประเทศไทย
(5.) ชนชั้นนำต้องการให้สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ถ้ายอมรับอโยธยาเป็นเมืองมีอายุเก่าแก่กว่าก็เท่ากับสุโขทัยไม่เป็นราชธานีแห่งแรก ย่อมกระทบเรื่องสำคัญอื่นๆ ที่เพิ่งสร้าง ได้แก่ พ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทย ฯลฯ ดังนั้น เมืองอโยธยาต้องถูกด้อยค่าและถูกบังคับสูญหายจากความทรงจำ ทำให้สังคมไม่รู้จัก หรือรู้จักน้อยเกี่ยวกับเมืองอโยธยา ด้วยการไม่กล่าวถึงเมืองอโยธยาในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย อโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัย พบหลักฐานในอโยธยาว่าเป็นเมืองตั้งต้นคนไทยและภาษาไทย แล้วไฉนจะทำลายเมืองอโยธยาด้วยรถไฟความเร็วสูง? แผนที่พระนครศรีอยุธยาปัจจุบัน แสดงพื้นที่ในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง ที่ตั้งเมืองโบราณทับซ้อนกัน 2 เมือง ได้แก่ (ขวา) อโยธยา (เมืองเก่า) เริ่มมีราว พ.ศ.1600 บริเวณที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูง (ซ้าย) อยุธยา (เมืองใหม่) แรกมีราว พ.ศ.1893 (ปรับปรุงจากแผนที่ฯ ของกรมศิลปากร พ.ศ.2558)สุโขทัยราชธานีแห่งแรก ไม่มีอีกแล้วในหนังสือกรมศิลปากร
“สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทยไม่มีในเล่มนี้” พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิของกรมศิลปากร บอกผู้ฟังเมื่อหลายปีมาแล้วในงาน “เปิดตัว” หนังสือสุโขทัยเมืองพระร่วง (กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2562) ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เท่ากับจะให้หมายความว่า “สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย”
“สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย” ยังถูกตัดออกไปไม่มีให้เห็นในงานอื่นๆ ของกรมศิลปากร ดังนี้
1. “สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย” ไม่มีให้เห็นอีกแล้วในงานนิทรรศการพิเศษของกรมศิลปากร เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2562
2. “สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย” ไม่มีให้เห็นอีกแล้วในหนังสือเล่มล่าสุดของกรมศิลปากร ประกอบนิทรรศการพิเศษฯ เรื่อง “นครรัฐไทยบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ” ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม-25 ตุลาคม 2562
เมื่อหลายปีก่อน กรมศิลปากรพยายามหลีกเลี่ยงวลี “สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย” แต่ไปไม่สุด เพราะยังออกอาการเขื่องๆ อย่างคลุมเครือโดยใช้ข้อความว่า “สุโขทัยเป็นอาณาจักรแรกที่ถือว่าเป็นอาณาจักรของคนไทย” ในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย (กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2558 หน้า 76)
อาณาจักร เป็นคำแสดงความหมายพื้นที่อำนาจที่มีกว้างขวางเกินประมาณ เช่น อาณาจักรโรมัน เป็นต้น แต่สุโขทัยมีพื้นที่อำนาจแคบๆ ระดับรัฐหรือนครรัฐเท่านั้น (ยังห่างชั้นคำว่าอาณาจักร) แต่ประวัติศาสตร์ไทย มัก “เว่อร์” เรียกอาณาจักรทุกแห่ง นอกจากนั้นช่วงเวลาร่วมสมัยมีหลายรัฐที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง ได้แก่ รัฐหลวงพระบาง เป็นต้น
ตั้งแต่ พ.ศ.2562 กรมศิลปากรไม่เรียกอีกแล้วว่าสุโขทัยเป็น “อาณาจักรแรกๆ” แต่เรียก “รัฐสุโขทัย” (ในหนังสือ นครรัฐไทยบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562 หน้า 39) เท่ากับกลับคืนอยู่ในร่องในรอยทางวิชาการสากล • ขอขอบคุณ :- ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กันยายน 2566 คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ.2566 website : https://www.matichonweekly.com/column/article_713961
|
|
|
21
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / สุโขทัย ‘ไม่ใช่’ ราชธานีแห่งแรก อโยธยา ต้นกำเนิดคนไทย, ภาษาไทย, ประเทศไทย
|
เมื่อ: กันยายน 26, 2023, 07:19:44 am
|
. สุโขทัย ‘ไม่ใช่’ ราชธานีแห่งแรก อโยธยา ต้นกำเนิดคนไทย, ภาษาไทย, ประเทศไทยโครงการถไฟความเร็วสูง ต้องมีโครงสร้างฐานรากขนาดใหญ่ผ่าเมืองอโยธยา ซึ่งเท่ากับทำลายหายสูญความเป็นเมืองต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยา และเมืองต้นกำเนิดความเป็นไทย, ภาษาไทย และความเป็นประเทศไทย
แต่สังคมไทยถูกครอบงำด้วยประวัติศาสตร์ไทย “แห่งชาติ” ว่า “กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย” หมายถึงต้นกำเนิดความเป็นไทย, ภาษาไทย, อักษรไทย และต้นกำเนิดประเทศไทย
กรุงสุโขทัย “ไม่ใช่” ราชธานีแห่งแรกของไทย แต่ถูกสร้างให้เป็นราชธานีแห่งแรกของไทยเพื่อสนองการเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” เรื่องนี้ ศรีศักร วัลลิโภดม “นักปราชญ์ร่วมสมัย” (บรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ และอดีตอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) มีคำอธิบาย 42 ปีที่แล้ว เมื่อ พ.ศ.2524 จะคัดตัดตอนเฉพาะที่สำคัญมาดังนี้
ประวัติศาสตร์ไทย สมัยก่อนการสร้างพระนครศรีอยุธยา ถ้ามองกันตามความก้าวหน้าของแนวคิด ทฤษฎี เทคนิค และวิธีค้นคว้าตามหลักวิจัยในวิชาสังคมศาสตร์แล้วเป็นเรื่องราวที่ล้าสมัย สร้างขึ้นจากหลักฐานที่มีไม่เพียงพอ แต่ว่าตีความหมายเกินเลยไปตามความลำเอียง และแนวการศึกษาที่แคบไม่เป็นวิทยาศาสตร์ของผู้ที่เรียกว่านักประวัติศาสตร์ในสมัยก่อน
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะนักประวัติศาสตร์เหล่านั้นท่านเอาแนวความคิดในเรื่องเชื้อชาติเข้าไปปะปนกับเรื่องวัฒนธรรม
@@@@@@@
ปัจจุบันความเชื่อในเรื่องเชื้อชาตินั้น นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เห็นพ้องกันแล้วว่าเป็นความเชื่อที่เหลวไหล พิสูจน์อะไรไม่ได้ แต่มีผลทำให้เกิดความขัดแย้งกีดกันและฆ่าฟันกันในสังคมของมนุษย์ ดังเช่นพวกเยอรมันสมัยนาซีทารุณและฆ่าฟันพวกยิว เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ผู้เขียนจึงใคร่เสนอว่าพวกเราซึ่งเป็นนักศึกษาที่ใฝ่หาข้อเท็จจริงควรจะหันมามองประวัติศาสตร์ไทยกันใหม่ และเริ่มทำการค้นคว้าวิจัยกันใหม่…หรือยัง?
การนำเชื้อชาติเข้ามาปะปนกับเรื่องวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ไทยนั้นพอจะแยกปัญหาออกมาเป็น 4 เรื่องใหญ่ๆ ด้วยกัน และแต่ละเรื่องก็มีความเกี่ยวเนื่องกันดังต่อไปนี้
(1.) เรื่องการอพยพของชนชาติไทยจากดินแดนประเทศจีนลงสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน (2.) เรื่องประชาชนที่อยู่ในดินแดนประเทศไทยก่อนที่ชนชาติไทยจะอพยพลงมา เป็นชนชาติมอญและเขมร (3.) เรื่องการก่อตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของชนชาติไทยในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน (4.) เรื่องพระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 อพยพผู้คนหนีโรคระบาดจากเมืองอู่ทองมาสร้างพระนครศรีอยุธยา
ปัญหาทั้ง 4 เรื่องนี้ สองเรื่องแรกเป็นสาเหตุที่นำเอาความเชื่อในเรื่องเชื้อชาติเข้ามาปนกับวัฒนธรรม ส่วนสองเรื่องหลังเป็นผลที่สืบเนื่องมาจาก 2 เรื่องแรก
@@@@@@@
สุโขทัย “ไม่ใช่” ราชธานีแห่งแรก
เรื่องการตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของชนชาติไทย ประวัติศาสตร์ตอนนี้มีอย่างย่อๆ ว่าชนชาติไทยอพยพเข้ามาในดินแดนประเทศไทยแล้วแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 มาอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพวกขอม ต่อมาเมื่อขอมเสื่อมอำนาจลงชาวไทยที่อยู่ทางตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอันมีพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด และพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง ได้ขับไล่ขุนนางขอมที่ปกครองเมืองสุโขทัยได้สำเร็จ แล้วตั้งตัวเป็นอิสระ มีพ่อขุนบางกลางหาวปกครองกรุงสุโขทัย ทรงพระนามว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แต่นั้นมาอำนาจของสุโขทัยก็แผ่ไปทั่วดินแดนในประเทศไทย จึงถือกันว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของเมืองไทย
เรื่องราวประวัติศาสตร์ตอนนี้ นักประวัติศาสตร์ท่านสร้างขึ้นจากข้อมูล 2 อย่างด้วยกัน
- อย่างแรก เป็นเรื่องสมมุติขึ้นตามความเชื่อในเรื่องเชื้อชาติ และทฤษฎีในเรื่อง ชัยชนะ คือเรื่องที่ว่าคนไทยอพยพเข้ามาในดินแดนประเทศไทย แต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 แล้วเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจขอม เรื่องดังกล่าวนี้ไม่มีอยู่ในหลักฐานทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเลย
- ข้อมูล อย่างที่สอง คือเรื่องเกี่ยวกับพ่อขุนผาเมือง พ่อขุนบางกลางหาว และการก่อตั้งกรุงสุโขทัยนั้นมีอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 2 ของกรุงสุโขทัย
@@@@@@@
แต่ในเรื่องราวที่มีอยู่ในศิลาจารึกนั้นไม่มีอะไรเพียงพอเลยที่จะระบุว่าพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวรบพุ่งชิงเมืองสุโขทัยจากขุนนางขอมที่กรุงกัมพูชาส่งมาปกครองดินแดนในประเทศไทย หรืออีกนัยหนึ่งจารึกไม่ได้กล่าวเลยว่าการรบพุ่งชิงเมืองสุโขทัย และการขึ้นครองราชย์ของพ่อขุนบางกลางหาวนั้นเป็นการที่คนไทยตั้งตัวเป็นอิสระจากพวกขอม นักประวัติศาสตร์ท่านมีความลำเอียงและเชื่อในเรื่องเชื้อชาติและทฤษฎีแห่งชัยชนะอยู่แล้ว พอพบอะไรในจารึกที่เกี่ยวกับขอมหน่อยก็เลยลากเอาไปเข้าเป็นเรื่องเป็นราวปะติดปะต่อกับสิ่งที่ตนคิดไว้ก่อนแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้จึงละเลยข้อมูลอื่นๆ ที่มีอยู่ในจารึกที่เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องเสีย
อันที่จริงถ้านักประวัติศาสตร์ท่านไม่หลงในเรื่องเชื้อชาติและทฤษฎีแห่งชัยชนะแล้ว และพิจารณาข้อมูลในศิลาจารึกกรุงสุโขทัยหลักที่ 2 และหลักอื่นๆ ตลอดจนเอกสารในด้านตำนานและพงศาวดารให้ดีแล้วก็น่าจะพบเรื่องราวการรบพุ่งชิงเมืองสุโขทัยของพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวนั้น ตีความได้แต่เพียงว่าเป็นการรบพุ่งชิงบ้านเมืองกันเองในระหว่างบ้านเมืองในแคว้นสุโขทัยในดินแดนประเทศไทยเท่านั้น หาได้เกี่ยวข้องในเรื่องการที่กรุงกัมพูชามีอำนาจปกครองดินแดนในประเทศไทยไม่ การเกี่ยวข้องกับกรุงกัมพูชานั้นเป็นในด้านไมตรีและการแต่งงานระหว่างกษัตริย์ในดินแดนประเทศไทยกับกัมพูชาเท่านั้น “แดนเนรมิต” สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย สนองการเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” (ภาพกลางเมืองสุโขทัย ที่ถูกทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว)อยุธยา มีต้นกำเนิดจากอโยธยา
เรื่องพระเจ้าอู่ทองหนีโรคระบาดมาสร้างพระนครศรีอยุธยา ประวัติศาสตร์ตอนนี้ ต่อเนื่องมาจากประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย พอสรุปได้โดยย่อว่าในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ของชาวทางใต้กรุงสุโขทัยที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอันมีพระเจ้าอู่ทองทรงครองอยู่ ณ เมืองอู่ทอง ได้รวบรวมผู้คนไว้มีกำลังกล้าแข็ง ตั้งตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงสุโขทัย
ต่อมาเมื่อเมืองอู่ทองเกิดกันดารน้ำมีโรคระบาดผู้คนล้มตาย พระเจ้าอู่ทองต้องทรงอพยพผู้คนมาสร้างเมืองใหม่ในเขตเมืองอโยธยาร้าง ซึ่งเคยเป็นเมืองหน้าด่านของขอมอยู่ก่อน ทรงสร้างเมืองอยู่ 3 ปี ก็แล้วเสร็จใน พ.ศ.1893 ขนานนามราชธานีว่ากรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา
กรุงศรีอยุธยามีอำนาจแผ่ขยายอาณาเขตกว้างขวางในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) นั้น ปรากฏมีหัวเมืองขึ้นมากมายสามารถยกกองทัพไปปราบปรามอาณาจักรกัมพูชาไว้ได้ แม้ทางกรุงสุโขทัยเองสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยยังต้องทรงขอเป็นไมตรีด้วย
@@@@@@@
ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยตอนนี้ ถ้าหากนักประวัติศาสตร์ท่านไม่ งมงายในเรื่องทฤษฎีแห่งชัยชนะจนเกินไปแล้ว และหันมาศึกษาแปลความกันตามหลักฐานที่ศิลาจารึก ตำนาน พงศาวดาร ตลอดจนลักษณะตำแหน่งที่ตั้งของโบราณสถานวัตถุและเมืองโบราณแล้ว ท่านก็น่าจะพบว่ากรุงศรีอยุธยานั้นเป็นแคว้นหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามานานแล้วก่อนการสร้างเมืองอยุธยาเสียอีก เป็นแคว้นที่มีวัฒนธรรมศิลปกรรมในทางพุทธศาสนาคติหินยานสืบเนื่องเรื่อยมาแต่สมัยทวารวดีและลพบุรี
ไม่มีหลักฐานอะไรที่บ่งเลยว่าพระเจ้าอู่ทองตลอดจนผู้คนของพระองค์ที่เป็นชาวอยุธยานั้น เป็นชาวไทยที่อพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนขอมทางตอนใต้ของกรุงสุโขทัยแล้วขับไล่ขอมออกไป และต่อมาก็ประกาศเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงสุโขทัย
ถ้าหากเราเชื่อว่าแต่เดิมมีพวกมอญและขอมครอบครองดินแดนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาก่อนแล้ว พระเจ้าอู่ทองและประชาชนของท่านก็น่าจะเป็นลูกหลานของพวกมอญและขอมนั้น คงไม่ใช่คนไทยที่อพยพมาจากดินแดนในเมืองจีนอย่างแน่นอน
สรุปแล้ว สุโขทัย “ไม่ใช่” ราชธานีแห่งแรกของไทย จึงไม่เป็นแหล่งกำเนิดอะไรๆ ที่เป็นไทยๆ เพราะอโยธยาต่างหากที่เป็นต้นกำเนิดคนไทย, ภาษาไทย, ประเทศไทย ดังนั้น เมืองอโยธยามีความหมายสำคัญมากต่อความเป็นประเทศไทย • ขอขอบคุณ :- ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กันยายน 2566 คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ.2566 website : https://www.matichonweekly.com/column/article_712280
|
|
|
22
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เตรียมจัด “นั่งสมาธิ” บันทึกสถิติโลก งานสมโภช 338 ปี วัดมหาธาตุฯ
|
เมื่อ: กันยายน 26, 2023, 06:54:25 am
|
เตรียมจัด “นั่งสมาธิ” บันทึกสถิติโลก งานสมโภช 338 ปี วัดมหาธาตุฯวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เตรียมจัดงาน สมโภชพระอาราม ครบ 338 ปี วันที่ 27 ธ.ค.2566 – 2 ม.ค.2567
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มีการแถลงข่าวสมโภชพระอาราม ครบ 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยพระพรหมวชิราธิบดี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ กล่าวว่า ปี 2566นี้ วัดมหาธาตุฯ จะมีอายุครบ 338 ปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการ คุณงามความดีที่บูรพมหากษัตริย์และบูรพาจารย์ผู้ได้สร้างวัดมหาธาตุฯให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของอนุชนคนรุ่นหลัง เป็นจุดเริ่มต้นของการสอนวิปัสสนากรรมฐานแนวสติปัฏฐาน 4
ดังนั้นคณะสงฆ์วัดมหาธาตุฯ และคณะศิษยานุศิษย์จึงจัดให้มีการสมโภชพระอารามขึ้น ในวันที่ 27 ธ.ค.2566 – 2 ม.ค.2567 ภายใต้ชื่อ “งานสมโภชพระอารามหลวงครบ 338 ปี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วัดมหาธาตุฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนาพระอารามแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2326 เป็นสถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎก มีการก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยแห่งแรกขึ้น นับเป็นวัดแรกที่ใช้นาม “วิทยาลัย” ในประเทศไทย จากมหาธาตุวิทยาลัย สู่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
การจัดงานดังกล่าวเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา ใน ปี 2567 และเพื่อรำลึกถึงบูรพพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์และเหล่าบูรพาจารย์ ที่ได้สร้างและทำนุบำรุงวัดมหาธาตุฯ ให้เจริญรุ่งเรืองสืบมาถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ภายในงานจะมีการปฏิบัติธรรมเจริญจิตตภาวนา กิจกรรมสั่งสมเสบียงบุญ สวดมนต์ข้ามปี เจริญสมาธิพร้อมกันทั่วโลก หรือการนั่งสมาธิที่มีจำนวนคนเข้าร่วมมากที่สุดในโลกเพื่อบันทึกสถิติลงใน Guinness World Records ด้วย
@@@@@@@
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า วธ.ร่วมสืบสานให้วัดมหาธาตุฯ เป็นจุดหมายแห่งการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมทั้งของชาวไทยและชาวต่างชาติ ภายในวัดมี 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัด ได้แก่
- พระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ (พระเจดีย์ทอง) - พระศรีสรรเพชญ์ พระประธานใหญ่ในพระอุโบสถ - บวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก - พระประธานศิลาแลง (หลวงพ่อหิน) พระประธานในอุโบสถวัดสลัก (ชื่อเดิมของวัดมหาธาตุ) ปัจจุบันประดิษฐานในพระวิหารหลวง - และต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งพระสมณทูตไทยได้นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราธปุระ มาปลูกไว้ที่วัดมหาธาตุฯ เมื่อปี 2361 ปัจจุบันมีอายุ 205 ปี
นางฐนิวรรณ กุลมงคล กรรมการอำนวยการจัดงาน กล่าวว่า ภายในงานสมโภชพระอารามหลวงครบ 338 ปี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะมีการจัดการแสดง ILLUMINATE LIGHTING SHOW โดยการใช้แสง สี และ MAPPING ใน Concept “การเดินทางด้วยแสงแห่งปัญญา : JOURNEYING THROUGH LIGHT OF WISDOM”
การแสดง ILLUMINATE WITH THAI JAZZ CONCERT ดนตรีที่เชื่อมโยงความงามของวัฒนธรรมไทย ประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความผูกพันและศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนากับสังคมไทยใน Concept “MINIMAL MUSIC” : ดนตรีเล่าเรื่อง โดยเป็นการจัดการแสดง คอนเสิร์ตผสมผสานกับ Mapping Laser Building ลงไปที่ตัวอาคารตามจังหวะเสียงดนตรี
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาเรื่องงานของพระธรรมทูต , นิทรรศการทางการศึกษาของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ และการจัดแสดงนิทรรศการ 338 ปี วัดมหาธาตุฯ Thank to : https://www.dailynews.co.th/news/2751593/25 กันยายน 2566 19:32 น. | การศึกษา-ไอที
|
|
|
23
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / วัดมหาธาตุฯ แถลงข่าวจัด งานสมโภชพระอารามหลวง 338 ปี
|
เมื่อ: กันยายน 26, 2023, 06:47:32 am
|
วัดมหาธาตุฯ แถลงข่าวจัด งานสมโภชพระอารามหลวง 338 ปีเตรียมพบงานบุญใหญ่ ส่งท้ายปี วัดมหาธาตุฯ แถลงข่าวจัด งานสมโภชพระอารามหลวง 338 ปี วางการแสดงสุดอลังการ รับนักท่องเที่ยว
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร แถลงข่าวการจัดงานสมโภชพระอารามหลวง ครบ 338 ปี โดยมี พระพรหมวชิราธิบดี อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ เป็นประธานการแถลงข่าว พร้อมด้วยผู้แทนจากหลายๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันจัดงานในปี 2566 นี้ เช่น ททท. กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงวัฒนธรรม, สน.ชนะสงคราม, สำนักนายกฯ, กรมการศาสนา, กทม. ไฮไลท์สำคัญสำหรับการจัดงานในปีนี้ ทางคณะผู้จัดงานเตรียมการแสดง แสง Illuminate lighting show ซึ่งจะเป็นการใช้ สี แสง มา Mapping ในคอนเซ็ป Journeying through light of wisdom หรือ การเดินทางด้วยแสงแห่งปัญญา
การแสดงดนตรีเชื่อมโยงวัฒนธรรมไทย ผ่านดนตรีแจ๊ส ในการแสดงชุด Illuminate with thai jazz concert หัวข้อดนตรีเล่าเรื่อง ในคอนเซ็ป Minimal Music เครื่องดนตรีน้อยแต่เห็นภาพและสร้างสรรค์ ซึ่งจะถ่ายทอดผ่านการ Mapping แสง สี ไปที่ตัวอาคาร เคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรี นอกจาก 2 การแสดงข้างต้น ยังมีการแสดงทางวัฒนธรรมอีกหลากหลาย, มีตลาดย้อนยุค, มีตลาดงานคร๊าฟ, การสวดมนต์ข้ามปีในวันขึ้นปีใหม่ ตอนนี้วางแผนเบื้องต้นไว้ว่า ในงานจะมีมัคคุเทศน์ หลายภาษาคอยให้ความรู้เกี่ยวกับวัดด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้น ในระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 66 - 2 ม.ค. 67 รวม 7 วัน
งานนี้ ทางคณะผู้จัดการ หมายมั่นปั้นมือ ให้สามารถกระจายการรับรู้ถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ให้นักท่องเที่ยว บอกเล่าวัฒนธรรมอันดีของไทย ในด้านของศาสนา, เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา และเพิ่มมูลค่าของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทย เปิดให้คนได้ทำความรู้จักกับวัดมหาธาตุฯแห่งนี้มากขึ้น
งานใหญ่ๆแบบนี้ พลาดไม่ได้นะครับ ปักหมุดรอได้เลย
Thank to : https://www.ejan.co/general-news/0c16o8ncysพิพรรธ ไทยเล็ก (เล็ก อีจัน) | เผยแพร่เมื่อ : 25 ก.ย. 2023, 19:38 1 นาทีในการอ่าน
|
|
|
24
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ขับรถทางไกลแล้วดับเครื่องทันที เครื่องยนต์พังจริงหรือ.?
|
เมื่อ: กันยายน 25, 2023, 08:39:08 am
|
. ขับรถทางไกลแล้วดับเครื่องทันที เครื่องยนต์พังจริงหรือ.?หลายคนมีความเชื่อว่าหากขับรถทางไกล หากจอดรถแล้วไม่ควรดับเครื่องยนต์ในทันที เพราะจะทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้ แท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่?
ความเชื่อดังกล่าวถือเป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน ว่าหากขับรถระยะทางไกลๆ หรือใช้รอบเครื่องยนต์สูงเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบที่พบได้ในรถกระบะทั่วไป ควรปล่อยให้เครื่องยนต์อยู่ในรอบเดินเบาประมาณ 2-3 นาทีก่อนดับเครื่องยนต์ มิเช่นนั้นแล้วจะทำให้เครื่องยนต์หรือแกนเทอร์โบเสียหายได้
ผลจากความเชื่อที่ว่านั้น ทำให้เจ้าของรถบางรายนำรถไปติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่เรียกว่า Turbo Timer เพื่อยืดระยะให้เครื่องยนต์ทำงานต่อเนื่องจนถึงเวลาที่ตั้งไว้ จากนั้นเครื่องยนต์จะดับลงเองโดยอัตโนมัติแม้ว่าผู้ขับขี่จะไม่ได้อยู่ภายในรถแล้วก็ตาม
แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการดับเครื่องยนต์ทันทีหลังจากเดินทางไกล จะทำให้เครื่องยนต์หรือเทอร์โบได้รับความเสียหายจากความร้อนสะสมภายในระบบ เนื่องจากปัจจุบันวิศวกรต่างพัฒนาระบบระบายความร้อนมาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว จึงเรียกได้ว่าเป็นความเชื่อสมัยเก่าที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์เทอร์โบยุคแรกๆ ที่ระบบระบายความร้อนยังไม่ดีพอนั่นเอง
หากคู่มือรถยนต์แต่ละรุ่นไม่ได้ระบุข้อแนะนำว่าต้องติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ภายหลังจากเดินทางไกลแล้วล่ะก็ คงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเสียเวลานั่งรอ 2-3 นาทีจนกว่าจะได้ลงจากรถ หรือซื้อหา Turbo Timer มาติดตั้งให้เสียเงินฟรีๆ (แต่ได้ความสบายใจไปแทน) นอกจากนี้ การติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ยังเป็นสาเหตุของมลพิษในอากาศ โดยเฉพาะพื้นที่ปิด เช่น ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า หรือภายในอาคารสำนักงาน จะเป็นการเพิ่มปริมาณของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), ก๊าซกลุ่มไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น
สิ่งสำคัญแท้จริงที่จะช่วยรักษาเครื่องยนต์ให้มีสภาพดีอยู่เสมอ คือ การนำรถเข้ารับการตรวจเช็คระยะตามที่ผู้ผลิตกำหนด เปลี่ยนถ่ายของเหลวและชิ้นส่วนต่างๆ ให้มีสภาพดีอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการใช้สารแปลกปลอม เช่น หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง, หัวเชื้อน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ยืดอายุเครื่องยนต์อยู่ในสภาพดีไปอีกยาวนานแล้วล่ะครับ Thank to : https://www.sanook.com/auto/79387/S! Auto : สนับสนุนเนื้อหา | 07 ก.ย. 66 (10:38 น.)
|
|
|
25
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ทำไมเราต้องรับประทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบกันนะ
|
เมื่อ: กันยายน 25, 2023, 08:34:03 am
|
ทำไมเราต้องรับประทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบกันนะ ในปัจจุบันเทรนการรักษาสุขภาพได้กลับมาเป็นที่นิยมปฏิบัติกันมากขึ้น หลังจากที่ได้เกิดวิกฤตโรคระบาด ทุกๆคนเริ่มหันมาสนใจพร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่เสมอ ดังคำที่บอกไว้ว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” วันนี้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาหาร 5 หมู่ที่ให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เพื่อเป็นเป้าหมายของการมีสุขภาพดีกันเถอะ
อาหาร 5 หมู่ มีอะไรบ้าง
อาหาร 5 หมู่ เป็นสารอาหารที่เราทุกคนได้รับจากการบริโภคที่หลากหลายในแต่ละวัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็น รวมทั้งเพียงพอต่อร่างกายของเรา ทั้งยังทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ ทั้งยังมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งสารอาหารเหล่านี้จะประกอบไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต เกลือแร่/ แร่ธาตุ วิตามิน รวมทั้งไขมัน หากร่างกายขาดสารอาหารเหล่านี้จึงจะส่งผลให้ระบบการทำงานภายในร่างกายของคนเราเกิดความผิดปกติได้นั้นเอง
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเรามาทำความรู้จักกับอาหารทั้ง 5 หมู่นี้ รวมถึงรายละเอียดอัตราความต้องการสารอาหารที่จำเป็นของร่างกายกันเถอะ
@@@@@@@
สารอาหารของอาหาร 5 หมู่ ประกอบก้วยอาหารชนิดไหนกันบ้างนะ?
สารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายดำรงชีวิต การเจริญเติบโตของคนเราด้วยการกิน ซึ่งสารอาหารเหล่านี้จะช่วยสร้าง พร้อมทั้งซ่อมแซมในสวนที่สึกหรอของร่างกาย ทั้งยังระบบย่อยอาหาร สารอาหารเหล่านี้สามารถแบ่งได้ ดังนี้
อาหาร 5 หมู่ ประเภท 1 : โปรตีน
ประกอบด้วย เนื้อสัตว์ต่างๆ นม ไข่ ถั่วเมล็ด ถั่วเหลือง
อาหาร 5 หมู่ ประเภท 2 : คาร์โบไฮเดรต
ประกอบด้วย อาหารจำพวกข้าว แป้ง ขนมปัง เผือกมัน น้ำตาล รวมทั้งธัญพืชชนิดอื่นๆที่ไม่ผ่านการขัดสี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง
อาหาร 5 หมู่ ประเภท 3 : เกลือแร่ และแร่ธาตุต่าง ๆ
ประกอบด้วยผักชนิดต่างๆ ดังเช่น ผักกาดขาว ผักบุ้ง ตำลึง แตงกวา ฟักเขียว ฟักทอง แครอท คะน้า
อาหาร 5 หมู่ ประเภท 4 : วิตามิน
ประกอบด้วยสารอาหารที่มาจากอาหารประเภทผลไม้ต่างๆ เช่นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ต่างๆ รวมถึงผลไม้ที่หาได้ตามท้องตลาด ได้แก่ ส้ม ลูกพีช องุ่น เสาวรส ส้มโอ มะละกอ กล้วย แอปเปิล มังคุด เป็นต้น
อาหาร 5 หมู่ ประเภท 5 : ไขมัน
ประกอบด้วยเนย ครีม ชีส น้ำมันมะพร้าว น้ำมันรำข้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันงา น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย
@@@@@@@
ในแต่ละวันควรรับประทานสารอาหาร 5 หมู่ให้ครบได้อย่างไรบ้าง
• สารอาหารประเภทโปรตีน : ในวัยผู้ใหญ่ท่านควรได้รับโปรตีนต่อวัน ระหว่าง 46 – 63 กรัม / ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรรับประทานโปรตีนมากถึง 65 กรัมต่อวัน • สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต : ในวัยผู้ใหญ่ท่านควรได้รับคาร์โบไฮเดรตต่อวัน ระหว่าง 45 – 65 กรัม • สารอาหารประเภทเกลือแร่หรือแร่ธาตุต่างๆ : ในวัยผู้ใหญ่ท่านควรได้รับสารอาหารประเภทนี้ ระหว่าง 920 – 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน • สารอาหารประเภทวิตามิน : ในวัยผู้ใหญ่ท่านควรได้รับสารอาหารประเภทนี้ ระหว่าง 60 มิลลิกรัมต่อวัน / ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ควรได้รับสารอาหารระหว่าง 70 – 96 มิลลิกรัมต่อวัน • สารอาหารประเภทไขมัน : ในวัยผู้ใหญ่ท่านควรได้รับสารอาหารประเภทนี้ ประมาณ 70 กรัมต่อวัน
หากท่านไม่รับประทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบ จะส่งผลเสียอย่างไรต่อร่างกายบ้าง
เนื่องจากอาหาร 5 หมู่ที่ร่างกายต้องการ มีความจำเป็นต่อการใช้พลังงานจากสารอาหารเหล่านั้น หากเราขาดสารอาหารเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือรับประทานแต่อาหารที่เดิมซ้ำๆเป็นประจำก็อาจจะส่งผลต่อร่างกายของเราได้ อาการที่ส่งผลต่อร่างกายเมื่อเราขาดสารอาหารจะมีอะไรบ้าง เราไปดูกันเถอะ
กรณีที่ร่างกายเกิดการขาดสารอาหารในช่วงระยะเวลาหนึ่งจะส่งผลได้ดังนี้
• น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่งผลให้ผมร่วง ตัวซีดง่าย ง่วงอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ บางรายอาจมีอาการอยากอาหารมากกว่าปกติ ระบบการขับถ่าย/การย่อยอาหารไม่ดีจนทำให้ท้องผูก บางวันส่งผลให้ไม่มีสมาธิในการเรียน หรือไม่มีสมาธิในการทำงานวอกแวกได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อการหายใจ พร้อมทั้งไม่สามารถออกกำลังกายหนักได้ รู้สึกเสียว/ชาในบริเวณข้อต่อของร่างกาย ใจสั่นเป็นลมหมดสติ บางรายอาจจจะหดหู่ถึงกับเป็นรโรคซึมเศร้า สำหรับฝ่ายหญิงจะทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ รวมทั้งผู้ป่วยในเด็กจะทำให้การเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ ได้นั้นเอง กรณีที่ร่างกายขาดสารอาหาร 5 หมู่เป็นระยะเวลานาน หรือบางท่านรับประทานอาหารแบบเดิมซ้ำเป็นประจำจะส่งผลได้ดังนี้
• ร่างกายเกิดโรคขาดโปรตีน • โรคโลหิตจาง • โรคตาบอด • โรคเหน็บชา • โรคปากนกกระจอก • โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ • โรคคอพอก • โรคไขมันในเลือดสูง • โรคอ้วน • โรคหัวใจ
สารอาหาร 5 หมู่ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยที่ร่างกายต้องการ
การรับประทานอาหารก็เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหาร วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันนั้น คือการที่ท่านรับประทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบทุกประเภท ตามเกณฑ์อัตราความต้องการทางโภชนาการของร่างกายที่เหมาะสม โดยเน้นอาหารที่มีคุณภาพ ประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย ดังเช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชที่ไม่ขัดสีรวมทั้งการรับประทานอาหารจำพวกแป้งให้เหมาะสม เช่นข้าว ขนมปัง เป็นต้น และอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เนื้อปลา ไข่ และนมได้อย่างลงตัว
เพื่อให้หลายท่านๆได้สามารถคำนวณการรับประทานอาหาร 5 หมู่ ให้ครบนั้น เรามาดูข้อมูลสารอาหารที่ร่างกายควรจะได้รับ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้สุขภาพแข็งแรงกันเถอะ
@@@@@@@
สำหรับวัยทารก อายุระหว่าง
• แรกเกิดจนถึง 6 เดือน : การรับประทานนมแม่จึงเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกในวัยนี้ • 6 เดือนจนถึง 1 ปี: เริ่มให้อาหารบดละเอียดทีละชนิด เพื่อให้ทารกได้รู้จักการบดเคี้ยว รวมถึงคุณแม่จะได้สังเกตอาการแพ้อาหารชนิดต่างของบุตร
สำหรับวัยเด็ก จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ช่วงวัย
1. เด็กวัยก่อนเรียน อายุระหว่าง 1 ปีจนถึง 5 ปี
• ควรจัดอาหารเป็นมื้อเล็กๆ ให้บุตรของท่านได้ฝึกการกินผัก โดยแบ่งขนาดของผักเป็นชิ้นเล็กๆแทรกในระหว่างอาหาร 5 หมู่หรืออาหารว่างที่มีประโยชน์ รวมถึงฝึกให้บุตรของท่านได้ฝึกหยิบจับอาหาร กล้าลอง กล้าเลอะ
2. เด็กวัยเรียน อายุระหว่าง 6 ปีจนถึง 12 ปี
• ควรรับประทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบทุกประเภท โดยให้ความสำคัญกับมื้อแรกของวัน / อาหารเช้า ซึ่งเด็กในวัยนี้มักจะเลือกอาหารที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายทั้งใน และนอกโรงเรียน รวมถึงบริเวณใกล้เคียงกับที่พักอาศัย เพื่อให้เด็กได้รับรู้ความสำคัญของโภชนาการต่างๆ คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับวัยได้ในช่วงระยะเวลานี้
สำหรับวัยรุ่น
• เป็นวัยที่ต้องการอาหารที่ให้พลังงานสูง พร้อมทั้งให้คุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วน ซึ่งวัยรุ่นมักจะให้ความสำคัญในการรักษารูปร่าง แต่ไม่ควรงดอาหารเพื่อลดน้ำหนักในการรักษาสัดส่วนที่ต้องการ ทางออกที่ดีที่สุดจึงเป็นการออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอนั้นเอง
สำหรับวัยผู้ใหญ่
• ควรเลือกรับประทานข้าว / แป้งที่ไม่ขัดสี ดังเช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท รวมถึงธัญพืชต่างๆ และอาหารที่สามารถให้โปรตีนพอประมาณ มีไขมันมีการปรุงแต่งอาหารแทรกเล็กน้อย พร้อมทั้งควรควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมกับส่วนสูงของแต่ละบุคคล
สำหรับผู้สูงอายุ
• ท่านควรรับประทานอาหารที่สามารถย่อยได้ง่าย ทั้งให้คุณค่าทางโภชนาการสูงคุณค่าทางอาหาร 5 หมู่ครบถ้วน ควรเลือกโปรตีนจากไข่ ปลา และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ พร้อมทั้งสามารถบำรุงกระดูกด้วยนม หรือผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้ รวมถึงผักใบเขียวเข้มเป็นประจำ
@@@@@@@
สรุป
การทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบในแต่ละประเภทต่อวันนั้น จึงจะช่วยให้ร่างกายของท่านมีสุขภาพที่แข็งแรง มีการทำงานอย่างเป็นระบบ มีความปกติต่อการย่อยอาหาร ส่งผลให้ท่านมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค ทั้งยังไม่ส่งผลให้ท่านเกิดโรคที่ไม่พึงประสงค์เช่นโรคอ้วน หรือไขมันในเลือดสูง จนต้องเข้ารับการรักษาให้ยางยาก แต่การที่จะรักษาสุขภาพให้แข็งแรงได้นั้น ท่านควรออกกำลังควบคู่กับการรับประทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบด้วยนั้นเองThank to : https://www.silpa-mag.com/news/article_116872เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ.2566
|
|
|
26
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / กฎหมายเพื่อรักษาพระศาสนา
|
เมื่อ: กันยายน 25, 2023, 07:11:23 am
|
ภาพในอดีต ผมบันทึกไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ คือเมื่อ ๔ ปีมาแล้วกฎหมายเพื่อรักษาพระศาสนาโปรดทราบก่อนว่า ภาพประกอบเรื่องนี้ไม่ใช่ภาพปัจจุบันนะครับ เป็นภาพในอดีต ผมบันทึกไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ คือเมื่อ ๔ ปีมาแล้ว จนถึงวันนี้ จังหวัดบึงกาฬมี “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำจังหวัด” เรียบร้อยไปแล้ว หรือเป็นอย่างไรไปแล้ว ผมไม่ทราบ ใครรู้ข่าว เอามาบอกเล่าสู่กันฟังบ้างก็จะเป็นการดี เมื่อตอนที่มีภาพนี้ปรากฏในเฟซบุ๊ก ผมแสดงความคิดเห็นไปแล้วเล็กน้อย วันนี้ขออนุญาตนำมาขยายความ ดังต่อไปนี้
@@@@@@@
บึงกาฬโมเดล บึงกาฬประกาศให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำจังหวัด
ขออนุโมทนาสาธุอย่างยิ่งกับจังหวัดบึงกาฬครับที่ประกาศออกมาอย่างนั้น ปัญหาที่ควรจะมีคำตอบที่ชัดเจนก็คือ-ถ้าเกิดมีคนหัวหมอร้องถามขึ้นมาว่า ประกาศแบบนี้มีกฎหมายรองรับหรือเปล่า.? เราจะตอบว่าอย่างไร.? อย่าให้กลายเป็นว่า-จังหวัดไหนอยากประกาศก็ประกาศไป แต่ไม่มีผลตามกฎหมาย
คนส่วนมากจะรู้สึก จะคิด หรือจะเข้าใจกันว่า ประเทศเราเป็นเมืองพุทธมาตลอดเวลาอยู่แล้ว อย่างกรณีเรียกร้องให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก็มีคนบอกว่า ชาติของเรามีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติอยู่แล้ว ไม่เห็นจำเป็นจะต้องไปบัญญัติอะไรอีก
ความคิดเห็นหรือทัศนะแบบนี้แหละครับ คือทางมาแห่งมหันตภัยของพระศาสนา เรื่องนี้พอจะเทียบเคียงให้เข้าใจได้ชัดๆ-เหมือนสามีภรรยา สมมุติว่า ภรรยาคนที่ ๑ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย สามีไปมีภรรยาคนที่ ๒ และจดทะเบียนสมรส
ภรรยาคนที่ ๑ จะมามัวนอนใจไม่ได้เลยว่ายังไงๆ ฉันก็เป็นภรรยาอยู่แล้ว ฉันเป็นภรรยามาก่อนเธอ ที่นอนใจไม่ได้ก็เพราะกฎหมายรับรองเฉพาะภรรยาที่จดทะเบียน จะเป็นภรรยามาก่อนหรือเป็นทีหลัง กฎหมายไม่รับทราบ กฎหมายรับทราบเฉพาะภรรยาที่จดทะเบียน ภรรยาที่จดทะเบียนมีสิทธิ์ ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนหมดสิทธิ์ นี่คือข้อเท็จจริง
กรณีศาสนาประจำจังหวัดหรือศาสนาประจำชาตินี่ก็ทำนองเดียวกัน เรานอนใจว่าเราเป็นพุทธอยู่แล้ว บ้านเมืองเราผู้คนนับถือศาสนาพุทธตั้งมากมาย แต่ถ้าวันหนึ่งมีกฎหมายออกมาว่า “ประเทศไทยมีศาสนา x (ซึ่งไม่ใช่พระพุทธศาสนา) เป็นศาสนาประจำชาติ”
ศาสนาพุทธก็จอดสนิท ทั้งๆ ที่มีผู้คนนับถืออยู่เต็มบ้านเต็มเมืองนั่นแหละ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพราะเราอยู่ในระบบนิติรัฐ คือถือกฎหมายเป็นสำคัญเรื่องแบบนี้ก็คือที่เรารู้จักกันในคำว่า นิตินัย-พฤตินัย นั่นเองเวลานี้นิตินัยสำคัญที่สุด ระบบราชการทั้งหมดอยู่ภายใต้นิตินัย
@@@@@@@
สมมุติว่ามีกฎหมายหรือมีระเบียบกำหนดไว้ว่า “ผู้นับถือศาสนา x เดินทางไปแสวงบุญต่างประเทศ รัฐบาลไทยต้องสนับสนุนอย่างนี้ๆ ตั้งแต่ไปจนกลับ” ถ้ามีกฎหมายหรือมีระเบียบกำหนดไว้แบบนี้ หน่วยราชการไหนเกี่ยวข้องก็ต้องสนับสนุนทั้งหมด แม้แต่คนที่ไม่ได้นับถือศาสนา x ถ้ามีตำแหน่งฐานะเกี่ยวข้อง ก็ต้องสนับสนุน ไม่สนับสนุน ผิดกฎหมาย นี่คือผลที่เกิดตามมาจากการที่มีกฎหมายรองรับ
และตรงจุดนี้แหละที่คนส่วนมากยังไม่ได้ตระหนักสำนึกกัน คนส่วนมากยังมัวนอนใจว่าเราเป็นพุทธอยู่แล้ว พุทธเรามีมากกว่า จะต้องไปกลัวอะไร และคนส่วนมากที่ยังไม่ตระหนักสำนึกในเรื่องนี้ก็คือบรรดา “ชาววัด” ทั้งหลาย โดยเฉพาะชาววัดที่มีตำแหน่งเป็นพระสังฆาธิการตั้งแต่ระดับเจ้าอาวาสขึ้นไป จนกระทั่งถึงกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นที่สุด
ขอถวายไว้เป็น “กิจของสงฆ์” อย่างสำคัญที่สุด คือ กิจการพระศาสนาไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ หาทางทำให้มีกฎหมายรองรับไว้ก่อน เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ชาวบ้านก็ต้องช่วยด้วย แต่เรื่องนี้ชาววัดต้องเป็นหลัก
ผมไม่ทราบว่าใน มจร และ มมร มีคณะหรือมีภาควิชานิติศาสตร์หรือเปล่า ถ้ายังไม่มี ก็สมควรเปิดให้มี ถ้ามีอยู่แล้วก็ยิ่งดี แต่ต้องวางเป้าหมายไว้ให้ชัดว่า เราจะเปิดสอนวิชานี้เพื่ออบรมบ่มเพาะให้ชาววัดมีวิสัยทัศน์ทางกฎหมายที่กว้างไกลและทันเกม เพื่อใช้กฎหมายรักษาพระศาสนาเป็นสำคัญ อย่าคิดเพียงแค่-จะได้มีวุฒิการศึกษาเพิ่มขึ้นอีกสาขาหนึ่ง เหมือนกับที่ชาวบ้านเขาเรียนกันอยู่แล้ว
ถ้าผู้บริหารการพระศาสนาไม่ตระหนักถึงประโยชน์ของพระศาสนาที่จะได้มาจากกฎหมาย เราก็ปล่อยโอกาสดีๆ ให้หลุดหายไปทุกวัน และถ้าผู้บริหารการพระศาสนาไม่ตระหนักถึงภัยที่จะมาจากกฎหมาย พระศาสนาก็ฉิบหายได้เร็วพลัน
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ๑๖ กันยายน ๒๕๖๕ , ๑๗:๑๗Thank to : https://dhamtara.com/?p=26831Admin : suriyan bunthae , 1 พฤษภาคม 2023
|
|
|
27
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / คณกโมคคัลลานสูตร ว่าด้วย ข้อศึกษาและข้อปฏิบัติโดยลำดับ
|
เมื่อ: กันยายน 24, 2023, 07:43:26 am
|
คณกโมคคัลลานสูตร ว่าด้วย ข้อศึกษาและข้อปฏิบัติโดยลำดับเหตุการณ์ : พราหมณ์คณกะโมคคัลลานะถามพระพุทธเจ้าถึงการศึกษาและปฏิบัติโดยลำดับ เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจบ พราหมณ์คณกะโมคคัลลานะ ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนไตรเป็นสรณะ
สำหรับผู้ที่ไม่รู้จะศึกษาและปฏิบัติอย่างไร พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงการศึกษาและการปฏิบัติโดยลำดับไว้ในพระสูตรนี้ เหมาะกับผู้ที่ต้องการศึกษาและปฏิบัติตามลำดับด้วยตนเอง
@@@@@@@
การศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ สำหรับภิกษุที่ยังเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุพระอรหัตมรรค
๑. เธอจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด ฯ ๒. เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย อย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์ บุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่พึงถูกอกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ๓. เธอจงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ๔. เธอจงเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่นอยู่ ๕. เธอจงเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ๖. เธอจงพอใจเสนาสนะอันสงัด นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า ละอภิชฌาในโลกแล้ว มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌาได้ ละนิวรณ์ ๕ ได้ ๗. เธอครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการ จึงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุรูปฌาณ ๔
ส่วนภิกษุพวกที่เป็นอรหันตขีณาสพ ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่สบายในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ
@@@@@@@
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ พราหมณ์คณกะโมคคัลลานะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า สาวกของพระองค์ เมื่อพระองค์ให้โอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ ย่อมยินดีนิพพาทุกรูปทีเดียว หรือว่าบางพวกก็ไม่ยินดี
พระผู้มีพระถาคตรัสว่า แม้นิพพานก็ยังดำรงอยู่ ทางให้ถึงนิพพานก็ยังดำรงอยู่ ผู้ชักชวนก็ยังดำรงอยู่ แต่สาวกของพระโคดมผู้เจริญเพียงส่วนน้อยยินดีนิพพาน บางพวกถึงโดยสวัสดี บางพวกก็ไม่ยินดี จำทางผิด กลับเดินไปเสียตรงกันข้าม ในเรื่องนี้จะทรงทำอย่างไรได้ ทรงเป็นแต่ผู้บอกหนทางให้ขอขอบคุณ :- อ้างอิง : คณกโมคคัลลานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๙๓-๑๐๔ หน้า ๖๒-๖๗ websit : https://uttayarndham.org/node/1321
|
|
|
29
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เชื่อผิดมาตลอด.! เกลียดใครอย่าไปกรวดน้ำให้ แต่ควรทำแบบนี้
|
เมื่อ: กันยายน 24, 2023, 06:44:50 am
|
เชื่อผิดมาตลอด.! เกลียดใครอย่าไปกรวดน้ำให้ แต่ควรทำแบบนี้ได้ยินกันจนชินหู เกลียดใครให้กรวดน้ำให้ ด้วยเชื่อว่าจะช่วยลดทุเลาความโกรธแค้นในใจของตนเองบ้าง หรือได้ผลบุญช่วยลดการกระทำร้าย ๆ ของเขาต่อตนเองบ้าง บางคนก็กรวดในทำนองสาปส่งระบายความอาฆาตแค้นในใจ เรื่องนี้มาทำความเข้าใจกันใหม่ โหรรัตนโกสินทร์บอกเลยว่า “เกลียดใครอย่าไปกรวดน้ำให้” เพราะเหตุนี้
“เกลียดใครอย่าไปกรวดน้ำ เค้าจะยิ่งทรงพลังยิ่งมีอิทธิฤทธิ์”
ปกติหลังทำบุญทำทาน จะมีบทสวดที่ตัดมาจากพระไตรปิฎก เรียกสั้นๆ “ยะถาให้ผี สัพพีให้คน”
บทยถา อุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณผู้ล่วงลับ บทสัพพี อวยพรให้ผู้ถวายทานปราศจากอันตราย
ดังนั้น ถ้าเกลียดใครอย่าไปกรวดน้ำ เค้าจะยิ่งเกลียดเราหนักขึ้น เหมือนไปล้อเล่นว่าเค้าตาย..
หลวงพ่อจรัญ สอนว่า “การให้อภัย เป็นทานชั้นยอดเหนือทานใดๆ” ไม่ใช่เป็นการให้โอกาสผู้อื่นเท่านั้น แต่เป็นการให้โอกาสตัวเราเอง หลุดพ้นจากความทุกข์ใจ ไม่ถูกไฟแห่งความโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาทเผาไหม้.. บทแผ่เมตตา ช่วยให้จิตใจสงบสุข..
คนที่จะ “แบ่งของ”ให้ใคร อย่างน้อยต้องมีสิ่งนั้นอยู่บ้าง คือต้องมีความเมตตา ตั้งใจจะยุติความบาดหมางด้วยใจจริง
@@@@@@@
บทแผ่เมตตาให้ตัวเอง
อะหัง สุขิโต โหมิ อะหัง นิททุกโข โหมิ อะหัง อะเวโร โหมิ อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ
คำแปล
ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวร ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากอุปสรรคอันตรายทั้งปวง ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขกายสุขใจ รักษากายวาจาใจให้พ้นจากความทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด
บทแผ่เมตตาทั่วไป
สัพเพ สัตตา อะเวราโหนตุ อัพ๎ยาปัชฌาโหนตุ อะนีฆาโหนตุ สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ
คำแปล
สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากโรคภัยด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นเถิด Thank to : https://www.sanook.com/horoscope/262135/โหรรัตนโกสินทร์ : สนับสนุนเนื้อหา | 22 ก.ย. 66 (15:20 น.)
|
|
|
31
|
เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / กึสุ โลกสฺมิ ชาคโร - อะไรหนอ.? เป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก.!!
|
เมื่อ: กันยายน 23, 2023, 08:19:18 am
|
. สติ โลกสฺมิ ชาคโร (บาลีวันละคำ 3,984) เรียนบาลีจากคำผิด
"สติ โลกสฺมิ ชาคโร" คำบาลีที่ยกขึ้นตั้งข้างต้นเป็น “คาถา” 1 บาท หรือ 1 วรรค คำว่า “คาถา” หมายถึงบทร้อยกรองในภาษาบาลี อย่างที่พูดในภาษาไทยว่า กาพย์กลอนโคลงฉันท์
“คาถา” นั้น ในบาลีนิยมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉันท์” แต่อาจแยกความหมายได้ดังนี้ :-
- เมื่อหมายถึงบทร้อยกรองทั่วไปในภาษาบาลี เรียกว่า“คาถา” - เมื่อหมายถึงชนิดหรือประเภทของบทร้อยกรองนั้นๆ (ชนิดหรือประเภทของคาถา) เรียกว่า “ฉันท์”
“ฉันท์” นั้นมีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ฉันท์ทุกชนิดมีข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานกลางเหมือนกัน คือ 4 บาท เป็น 1 บท (ในภาษาไทย คำว่า “บาท” เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วรรค”)
ความแตกต่างของฉันท์แต่ละชนิดกำหนดด้วย (1) จำนวนพยางค์ใน 1 บาท และ (2) ลำดับคำที่เป็นครุหรือลหุในแต่ละบาท คือในแต่ละบาท คำที่เท่าไรต้องเป็นครุ คำที่เท่าไรต้องเป็นลหุ ข้อกำหนดว่าด้วยคำ ครุ-ลหุ นี้ เรียกว่า “คณะฉันท์” รู้ไว้คร่าวๆ เท่านี้ก่อน ผู้สนใจพึงศึกษารายละเอียดต่อไป
คำบาลีที่ยกขึ้นตั้งข้างต้นเป็นคาถาชนิดที่มีชื่อว่า “ปัฐยาวัตฉันท์” ฉันท์ชนิดนี้มีกำหนดว่า 1 บาทมี 8 พยางค์ (โปรดนับพยางค์ในคำบาลีข้างต้นนั้นดู)
ข้อความที่เป็นคาถาหรือฉันท์นั้น ถ้าอ่านในเล่มคัมภีร์จะรู้ได้ง่าย เพราะคัมภีร์ที่พิมพ์เป็นเล่มนิยมแบ่งวรรค แบ่งบรรทัด ให้เห็นได้ชัดเจนว่าข้อความนั้นเป็นคาถา แต่ถ้ายกเฉพาะบาทคาถามาเขียนเป็นต่างหาก ผู้ที่ไม่ได้เรียนบาลีหรือนักเรียนบาลีที่ยังเรียนไม่ถึงวิชาแต่งฉันท์ ก็อาจจะไม่รู้ว่า คำบาลีที่เห็นนั้นเป็นคาถาหรือว่าเป็นคำธรรมดา
“สติ โลกสฺมิ ชาคโร” เป็นคาถาปัฐยาวัตฉันท์ 1 บาทหรือ 1 วรรค เขียนแบบคำอ่านเป็น “สะติ โลกัส๎มิ ชาคะโร”
@@@@@@@
ศึกษาศัพท์
(๑) “สติ” อ่านว่า สะ-ติ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > ส) : สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท”
“สติ” (อิตถีลิงค์) หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า... “สติ : (คำนาม) ความรู้สึก, ความรู้สึกตัว, เช่น ได้สติ ฟื้นคืนสติ สิ้นสติ, ความรู้สึกผิดชอบ เช่น มีสติ ไร้สติ, ความระลึกได้ เช่น ตั้งสติ กำหนดสติ. (ป.; ส. สฺมฺฤติ).”
(๒) “โลกสฺมิ” อ่านว่า โล-กัด-สมิ , สฺ ออกเสียงครึ่งเสียง ถ้าอ่านแยกพยางค์เด็ดขาดเพื่อนับจำนวนพยางค์ ก็อ่านว่า โล-กัด-มิ เป็น 3 พยางค์ แต่เวลาอ่านจริง –มิ มีเสียง สะ นำหน้าครึ่งเสียง คือไม่ใช่ สะ-มิ แต่เป็น สฺมิ คล้ายกับจะออกเสียงว่า สิม แต่ปลายเสียงเป็น -มิ
“โลกสฺมิ” รูปคำเดิมเป็น “โลก” อ่านว่า โล-กะ รากศัพท์มาจาก (1) ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ช เป็น ก แผลง อุ เป็น โอ : ลุชฺ > ลุก > โลก + ณ = โลกณ > โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป” (2) ลุจฺ (ธาตุ = ย่อยยับ, พินาศ) + อ (อะ) ปัจจัย แปลง จ เป็น ก แผลง อุ เป็น โอ : ลุจฺ > ลุก > โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป” (3) โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ปรากฏ; ตั้งอยู่) + อ (อะ) ปัจจัย : โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างอันเขาเห็นอยู่” (2) “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น”
“โลก” (ปุงลิงค์) มีความหมายดังนี้ (1) ดินแดน แผ่นดิน วัตถุธาตุ หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง คือโลกที่เรามองเห็นและอาศัยอยู่นี้ รวมทั้งดาวดวงอื่น (2) สิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ เช่นในคำว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม (3) สังคม หมู่ชน ชุมชน เช่นในคำว่า โลกติเตียน เมตตาธรรมค้ำจุนโลก (4) ชีวิต อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ของแต่ละคน ที่สำนวนเก่าเรียกว่า “โลกคือกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก” (5) วิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ (6) ค่านิยม ความคิดจิตใจ ความประพฤติแบบหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” เช่น – ดื่ม กิน เที่ยว เสพสุข เป็น “โลก” สงบ สำรวม ควบคุมขัดเกลาตนเอง เป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า... “โลก, โลก– : (คำนาม) แผ่นดิน, โดยปริยายหมายถึงหมู่มนุษย์ เช่น ให้โลกนิยม; ส่วนหนึ่งแห่งสกลจักรวาล เช่น มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก โลกพระอังคาร; (คำที่ใช้ในภูมิศาสตร์) ดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๕ ในระบบสุริยะ เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ลักษณะอย่างรูปทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ศูนย์สูตรยาว ๑๒,๗๕๕ กิโลเมตร ศูนย์กลางที่ขั้วโลกยาว ๑๒,๗๑๑ กิโลเมตร มีเนื้อที่บนผิวโลก ๕๑๐,๙๐๓,๔๐๐ ตารางกิโลเมตร. (ป., ส.).”
บาลี “โลก” (โล-กะ) แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “โลกสฺมิ” แปลว่า “ในโลก”
โปรดเปรียบเทียบ “โลก” (โล-กะ) แปลว่า “โลก” “โลกสฺมิ” แปลว่า “ในโลก”
(๓) “ชาคโร” อ่านว่า ชา-คะ-โร รูปคำเดิมเป็น “ชาคร” อ่านว่า ชา-คะ-ระ รากศัพท์มาจาก “ชาครฺ” (ธาตุ = สิ้นความหลับ) + อ (อะ) ปัจจัย : ชาครฺ + อ = ชาคร แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ตื่นตัว” หมายถึง ตื่น, เฝ้าสังเกต, คอยเอาใจใส่, ระวังระไว, ตั้งตาคอยดู (waking, watchful, careful, vigilant)
“ชาคร” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ชาคโร”
หมายเหตุ : “ชาคร” มักใช้เป็นคุณศัพท์ (วิเสสนะ) แต่ใช้เป็นคำนามก็มี “ชาคร” ที่ใช้เป็นคำนามเป็นทั้งปุงลิงค์และนปุงสกลิงค์ ขยายความ
“สติ โลกสฺมิ ชาคโร” (สะติ โลกัส๎มิ ชาคะโร) แปลว่า “สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก”
ข้อความเต็มของคาถาบทนี้อยู่ในปัชโชตสูตรในพระไตรปิฎก ขอนำข้อความเต็มๆ มาแสดงไว้ในที่นี้เป็นการศึกษาเพื่อเจริญปัญญา ดังนี้
(เทวดาทูลถามว่า) กึสุ โลกสฺมิ ปชฺโชโต - อะไรหนอเป็นแสงสว่างในโลก กึสุ โลกสฺมิ ชาคโร - อะไรหนอเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก กึสุ กมฺเม สชีวานํ - อะไรหนอเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วยการงาน กึสุ จสฺส อิริยาปโถ - อะไรหนอเป็นเครื่องสืบต่อชีวิตของเขา กึสุ อลสํ อนลสญฺจ มาตา ปุตฺตํว โปสติ - อะไรหนอย่อมเลี้ยงบุคคลผู้เกียจคร้านบ้าง ไม่เกียจคร้านบ้าง ดุจมารดาเลี้ยงดูบุตร กึสุ ภูตา อุปชีวนฺติ เย ปาณา ปฐวึ สิตาติฯ - เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน อาศัยอะไรหนอเลี้ยงชีวิต
(พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า) ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต - ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก สติ โลกสฺมิ ชาคโร - สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก คาโว กมฺเม สชีวานํ - ฝูงโคเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วยการงาน สีตสฺส อิริยาปโถ - ไถเป็นเครื่องต่อชีวิตของเขา วุฏฺฐิ อลสํ อนลสญฺจ มาตา ปุตฺตํว โปสติ - ฝนย่อมเลี้ยงบุคคลผู้เกียจคร้านบ้าง ไม่เกียจคร้านบ้าง เหมือนมารดาเลี้ยงบุตร วุฏฺฐึ ภูตา อุปชีวนฺติ เย ปาณา ปฐวึ สิตาติฯ - เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน อาศัยฝนเลี้ยงชีวิต________________________________________ ที่มา : ปัชโชตสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 217, 218 @@@@@@@
แถม
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ โปรดดูภาพประกอบเพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ ภาพประกอบเป็นภาพปกหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว โปรดดูข้อความบรรทัดบนสุดที่ปรากฏบนปกเปรียบเทียบกับข้อความที่นำมาจากพระไตรปิฎก และที่อธิบายมา ท่านสามารถบอกได้หรือไม่ว่าข้อความบนปกหนังสือผิดพลาดคลาดเคลื่อนตรงไหน เรื่องนี้ไม่ใช่การจับผิด แต่เป็นการถือโอกาสเรียนบาลีจากคำผิด
สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ก็คือ ถ้อยคำภาษาหรือข้อธรรม เมื่อมีการพูดผิด เขียนผิด นำมาแสดงผิด ก็มักไม่มีใครสนใจหรือติดใจที่จะชี้แจงแก้ไข มักอ้างว่าเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เหตุผลสำคัญคือเพราะเกรงกลัวคำประณามที่จะตามมาว่า “ดีแต่เที่ยวตำหนิคนอื่น” หรือ “ดีแต่เที่ยวจับผิดชาวบ้าน”
สังคมเรามาถึงขั้นที่แยกไม่ออกบอกไม่เป็นแล้วว่า อย่างไรคือจับผิด อย่างไรคือชี้โทษ เพราะฉะนั้น ความวิปริตทั้งทางโลกและทางพระศาสนาก็นับวันจะแพร่หลายขยายตัวออกไปทุกทีๆ และสักวันหนึ่งก็จะถึงขั้นที่แยกไม่ออกบอกไม่เป็นว่า อะไรถูกอะไรผิด อะไรชั่วอะไรดี อะไรควรเว้นอะไรควรทำ เห็นสิ่งควรทำเป็นสิ่งควรเว้น และเห็นสิ่งควรเว้นเป็นสิ่งควรทำ และเมื่อถึงวันนั้น มนุษย์ก็จะอยู่ร่วมกันแบบ-ไม่ต่างไปจากสัตว์
ดูก่อนภราดา.! เห็นการชี้โทษเป็นการจับผิด คือให้สิทธิ์คนสร้างความวิปริตได้อย่างเสรี
Thank to : https://dhamtara.com/?p=27187บาลีวันละคำ (3,984) | admin : suriyan bunthae | 24 สิงหาคม 2023
|
|
|
33
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / “คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” เปิดภาพพร้อมข้อความบน “จารึกเมืองศรีเทพ”
|
เมื่อ: กันยายน 22, 2023, 09:03:38 am
|
. “คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” เปิดภาพพร้อมข้อความบน “จารึกเมืองศรีเทพ”“คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” เผยแพร่ภาพพร้อมข้อความบน “จารึกเมืองศรีเทพ”
เพจเฟซบุ๊ก คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้เผยแพร่ภาพที่หาชมได้ยาก และข้อมูลใน “จารึกเมืองศรีเทพ” โดยระบุว่า ในโอกาสที่ “เมืองโบราณศรีเทพ” ได้รับการประกาศจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments : เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานในสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง
จึงขอนำเสนอโบราณวัตถุในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คือ “จารึกเมืองศรีเทพ” ตามประวัติระบุว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพบที่เมืองโบราณศรีเทพ เมื่อ พ.ศ. 2449 ตรงกับ ร.ศ. 125 เมืองศรีเทพปัจจุบันอยู่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จารึกนี้ส่งมาเก็บรักษาที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2550
มีลักษณะเป็นเสากลมรูปคล้ายตะปูหัวเห็ดหรือคล้ายดอกบัวตูม ทำจากหินทรายเนื้อละเอียด จารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต จำนวน 1 ด้าน มี 6 บรรทัด มีคำว่า “ขีลัง” ซึ่งแปลว่า “หลัก” โดยปรากฏในหนังสือเรื่อง เที่ยวที่ต่างๆ ภาค 3 เล่าเรื่องเที่ยวมณฑลเพชรบูรณ์ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หน้า 20 ความว่า
@@@@@@@
“ …ศิลาจารึกพบที่เมืองศรีเทพครั้งนี้แปลกมาก สัณฐานคล้ายตะปูหัวเห็ด ข้างปลายที่เสี้ยมแหลมเป็นแต่ถากโคลน สำหรับฝังดินขัดเกลี้ยง แต่ที่หัวเห็ดจารึกอักษรไว้ที่นั้นเป็นอักษรคฤนถ์ชั้นก่อนหนังสือขอม แต่ตรงที่จารึกแตกชำรุดเสียมาก ได้เอาศิลานี้มาที่กรุงเทพ (หอวชิรญาณ) ให้อ่าน ดูเป็นภาษาสันสกฤตมีคำว่า ขีลัง ซึ่งแปลว่าหลัก จึงเข้าใจว่าศิลาแท่งนี้คือ หลักเมืองศรีเทพแบบโบราณ เขาทำเป็นรูปตะปูตอกไว้ลงในแผ่นดิน ประสงค์ว่าให้มั่นคง…”
และต่อมานายชะเอม แก้วคล้าย มีการอ่านชำระใหม่ เป็นคำว่า “ขิลํ” จากถ้อยความว่า “เวตฺตย ขิลํ สโจทฺยม” แปลว่า เขาเป็นผู้รู้ความรุ่งเรืองทั้งสิ้น
เนื่องจากเนื้อหินด้านหนึ่งของจารึกแตกหาย ข้อความจารึกแต่ละบรรทัดจึงเหลืออยู่เฉพาะช่วงกลาง เนื้อหาที่เหลือโดยสรุป กล่าวถึงการสรรเสริญบุคคลว่า เป็นผู้เปี่ยมด้วยความรู้และยังเป็นผู้มีธรรม ซึ่งอาจเป็นพระราชาหรือเชื้อพระวงศ์ที่ปกครองเมืองศรีเทพ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 11 ขอบคุณที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/2738829/21 กันยายน 2566 ,14:01 น. |การศึกษา-ไอที
|
|
|
34
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / “ตำนานหลวงพ่อพระใส – เมรุลอย – อุ้มพระดำน้ำ” ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมปี 65
|
เมื่อ: กันยายน 22, 2023, 08:03:17 am
|
“ตำนานหลวงพ่อพระใส – เมรุลอย – อุ้มพระดำน้ำ” ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมปี 65กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดงาน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี 2565 จำนวน 14 รายการ
เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) มีการจัดงาน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในช่วงเช้ามีพิธีเปิดการประชุมวิชาการทางวัฒนธรรม “วิจัยวัฒนธรรม ครั้งที่ 13” และกิจกรรมการบรรยาย การเสวนาทางวิชาการมรดกภูมิปัญญาที่เตรียมนำเสนอยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียน โดยนายโกวิท ผกามาศ อธิบดี สวธ. กล่าวว่า
การประชุมครั้งนี้เพื่อนำเสนอสาระความรู้ทางวัฒนธรรมในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม พร้อมเผยแพร่สาระงานวิจัยทางวัฒนธรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสวธ. เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีทั้งการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางวัฒนธรรมภายใต้ การเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกยุคใหม่”
โดยรศ.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา การเสวนา “งานวิจัยภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อการใช้ประโยชน์” 2 เรื่อง คือ “หนังใหญ่และการขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโก” โดย ผศ.เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ และเรื่อง “การสืบทอดละครชาตรี ชุมชนนางเลิ้ง” โดย ผศ.สิทธิชัย สุขธรรมสถิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ
จากนั้นเป็นการเสวนาพิเศษ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เตรียมขอขึ้นทะเบียนยูเนสโก ในปีพ.ศ. 2567” จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ “ชุดไทยพระราชนิยม” โดย ผศ.อนุชา ทีรคานนท์ จาก ม.ธรรมศาสตร์ เรื่อง “ประเพณีลอยกระทง” โดย รศ.ฤทธิรงค์ จิวากานนท์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “มวยไทย” โดย ดร.ประไพร จันทะบัณฑิต จากมรภ.หมู่บ้านจอมบึง จากนั้นช่วงบ่าย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานพิธียกย่องเชิดชูบุคคล องค์กร หน่วยงานผู้ทำคุณประโยชน์ต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พร้อมทั้งการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี 2565 จำนวน 14 รายการ คือ
บ่อเกลือ, ตำนานนางผมหอม, ตำนานหลวงพ่อพระใส, แห่นกบุหรงซีงอ, ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ, นาเกลือ, น้ำผักสะทอน, ผ้าไหมหางกระรอกโคราช, ผ้าซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์, ผ้าโฮลสุรินทร์, เมรุลอย, การเส็งกลองกิ่ง, การเล่นโหวด และเรือบก การมอบโล่รางวัล “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น”
ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) และการมอบโล่รางวัลโครงการคัดเลือกโรงเรียนดนตรีไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ระดับดีเด่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 11 โรงเรียน นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาล และวธ. ให้ความสำคัญกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงเกียรติและความภูมิใจของคนในท้องถิ่น และคนในชาติ ทำให้เกิดความรัก หวงแหน และเห็นคุณค่าในวัฒนธรรมไทยที่ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมา ทั้งก่อให้เกิดความรู้สึก ความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ เพราะวัฒนธรรมนับเป็นฐานรากของชุมชน สังคม และประเทศ ที่แสดงถึงการดำเนินวิถีชีวิตของคนในสังคม ประเทศไทยมีเสน่ห์มรดกทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งจากวิถีชีวิต จึงทำให้คนไทยแตกต่างจากชาติอื่นในโลก เช่น การมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ตลอดจนจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น เรื่องของศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ ความเป็นไทย อาหารไทย ดังนั้นเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และวิถีชีวิตของครอบครัว และชุมชน จะเติบโตอย่างแข็งแรงได้โดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างคุณค่าทางสังคม ต่อยอดให้เกิดมูลค่า ทางเศรษฐกิจ ทำวัฒนธรรมไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ผลักดันให้เกิดค่านิยม ที่มีอิทธิพลกับความคิดของสังคมและประชาชนในประเทศ และต่างประเทศ ภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ด้วย “รัฐบาลมองให้วธ.เป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับประชาชน ผลิตแบงค์ให้ประชาชน และในเร็วๆนี้วธ.จะได้รับมอบหมายงานใหญ่จากรัฐบาล เพราะถือเป็นอีกหนึ่งกระทรวงที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้ประชาชนได้” นายเสริมศักดิ์ กล่าวThank to : https://www.dailynews.co.th/news/2740729/21 กันยายน 2566 ,22:16 น. \ การศึกษา-ไอที
|
|
|
37
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / วัดไตรสามัคคี ดินแดนพญานาคแห่งศรีสะเกษ วัดสวยที่ควรค่าแก่การไปชม
|
เมื่อ: กันยายน 21, 2023, 07:25:10 am
|
วัดไตรสามัคคี ดินแดนพญานาคแห่งศรีสะเกษ วัดสวยที่ควรค่าแก่การไปชมศรีสะเกษ ใครว่าไม่มีที่เที่ยว วันนี้ Sanook Travel จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวัดไตรสามัคคี วัดสวยแห่งศรีสะเกษ ที่รับสมญานามว่าเป็นดินแดนพญานาคแห่งศรีสะเกษ สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของเกาะนาค เมืองบาดาล ที่รวบรวมเอารูปปั้นองค์พญานาคเอาไว้มากมายหลายองค์ หากมองในด้านพุทธศิลป์ที่นี่จะดูงดงามวิจิตรตระการตา ราวกับอยู่ในเมืองบาดาล อีกทั้งยังขึ้นชื่อในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์หลายๆ คนไปขอพรแล้วก็มักจะสมหวังกันเสมอ ถือเป็นอีกหนึ่งพิกัดสายมูที่ต้องไม่พลาดสำหรับคนชอบเรื่องสายมู
ใครมีแพลนไปเที่ยวศรีสะเกษ ลองแวะไปเช็กอิน ไปไหว้พระทำบุญ ให้เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตกันได้ที่วัดไตรสามัคคีแห่งนี้ครับ รับรองสวยงามประทับใจแน่นอน
ข้อมูลเพิ่มเติม
ที่ตั้ง : อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ พิกัด : maps.app.goo.gl/bDdVCvsSBbybQ36NA?g_st=ic เวลาเปิด - ปิด : 6.00 - 18.00 น. ติดต่อ : 093 462 7547ขอขอบคุณ :- ภาพ : Tassanee Sangkrai Peeranut P. : ผู้เขียน | 19 ก.ย. 66 (14:10 น.) website : https://www.sanook.com/travel/1441999/
|
|
|
39
|
เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ฤกษ์จุดธูปขอขมากรรม 23 กันยายน 2566 ฤกษ์ดีถอนคำสาบาน คำสาปแช่ง
|
เมื่อ: กันยายน 21, 2023, 07:13:39 am
|
ฤกษ์จุดธูปขอขมากรรม 23 กันยายน 2566 ฤกษ์ดีถอนคำสาบาน คำสาปแช่งวันที่ 23 กันยายน 2566 อาจารย์สุทธิธรรม พากเพียร ผู้เชี่ยวชาญวิชาโหราศาสตร์ไทย และโหราศาสตร์สากล และเจ้าของเพจ ดูดวงโหราศาสตร์ไทยระบบรังสีดาว ได้คำนวณฤกษ์เอาไว้ว่าเป็นวันดีในการจุดธูปขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง ต่อเจ้ากรรมนายเวร เจ้าเกณฑ์ดวงชะตา แก้ไขดวงด้วยตนเอง โดยวันที่ 23 กันยายน 2566 เป็นวันศารทวิษุวัต หรือภาษาไทยเรียกว่า วันราตรีเสมอภาค ซึ่งเป็นวันที่มีเวลา กลางวันกับกลางคืนเท่ากัน จึงเป็นช่วงเวลาที่ ห้วงมิติแต่ละภพเชื่อมต่อถึงกัน โลกมนุษย์ โลกวิญญาณ โลกบาดาล
เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณ
ฤกษ์จุดธูปขอขมากรรม
• วันที่ 23 กันยายน 2566 • เวลา 06.09 น. - 18.09 น.
@@@@@@@
การทำพิธี
• จุดธูป 18 ดอก • หันหน้าไปทางทิศตะวันออก กลางแจ้ง หรือในร่มก็ได้ ถ้าอยู่ในร่มหันหน้าไปหาพระ หรือทิศใดก็ได้ตามสะดวก (อย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยในสถานที่ที่ใช้จุดธูป) • กล่าวนะโมฯ 3 จบ • และกล่าว อิมัง มิฉา อธิษฐานัง ปันจุทัดธาราปิ ทุติยัมปิ อิมัง มิจฉา อธิษฐานัง ปันจุทัดธาราปิ ตะติยัมปิ อิมัง มิจฉา อธิษฐานัง ปันจุทัดธาราปิ
ข้าพเจ้า (ชื่อ-นามสกุล) ขอถอดถอนคำอธิษฐาน ขอถอดถอนคำสาบาน ขอถอดถอนคำสาบคำแช่ง ขอถอดถอนคำบนบานศาลกล่าว ขอถอดถอนคำสัญญาที่ข้าพเจ้าได้ตั้งขึ้น พร้อมแล้วด้วยกิเลส ด้วยตัณหา ด้วยอุปทาน ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ ด้วยมานะ ด้วยมิจฉาทิฐิ ที่ข้าพเจ้าได้อธิษฐานไว้ สาปแช่งไว้ บนบานศาลกล่าวไว้ สาบานไว้ สัญญาไว้ ในอดีตชาติก็ดี ปัจจุบันชาติก็ดี
ข้าพเจ้า น้อมขออำนาจพระบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระรัตนตรัยและเทพพรหมทั้ง 16 ชั้นฟ้า 15 ชั้นดิน แม่พระธรณี ได้โปรดเป็นทิพย์พยานในการที่ข้าพเจ้า ขอถอดถอนคำอธิษฐานเหล่านั้น ถอนคำแช่ง คำสาบาน คำบนบานศาลกล่าว คำสัญญา ร้อยหน พันหน ณ กาล บัดนี้เทอญ
นะถอน โมถอน พุทธถอน ธาถอน ยะถอน นะคลอน โมคลอน พุทคลอน ธาคลอน ยะคลอน ถอนด้วย นะโมพุทธายะ นะมามิหัง
ข้าพเจ้า (เอ่ยชื่อ นามสกุล ปัจจุบันของท่าน) ขอขมากรรม ในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไป ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ต่อท่านทั้งหลาย ไม่ว่าจะรู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี ระลึกได้ หรือ ไม่ได้ก็ดี ขอท่านผู้มีฤทธิ์ มีอำนาจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเจ้ากรรมนายเวร เจ้าบุญนายคุณ เจ้ากรรมนายเวร เจ้าเกณฑ์ดวงชะตาของข้าพเจ้าทั้งหลาย
โปรดอโหสิกรรมให้กับข้าพเจ้าด้วยเถิด อย่าได้โกรธเคือง อย่าได้จองเวรต่อข้าพเจ้าอีกต่อไป และโปรดถอดถอนคำสาปแช่งที่ให้แก่ข้าพเจ้า หรือคำสาปใด ๆ อันเกิดจากข้าพเจ้าได้เป็นผู้กระทำ หรือถูกกระทำจากท่านทั้งหลายก็ดี ขอจงดับหมดสิ้นไป
ด้วยอนุภาพ พระบารมีแห่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ และด้วยบารมีแห่งองค์มหาโพธิสัตว์เจ้า และองค์มหาเทพ โปรดเมตตาและประทานพรแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด และช่วยเปิดทาง และแสงสว่างทั้งทางโลกและทางธรรม และให้การดำรงชีวิตของข้าพเจ้า จงมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ขอให้ข้าพเจ้าจงมีโชค มีลาภ มีเงินมีทอง เหลือกินเหลือใช้เหลือเก็บเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีด้วยเถิด และขอให้ข้าพเจ้าได้พบแต่คนดีมีคุณธรรมอยู่ในศีล ในธรรม เข้ามาช่วยเหลือข้าพเจ้าด้วยเถิด สาธุ สาธุ สาธุ
ปะโตเมตัง ปะระชีวินัง สุขะโตจุติ จิตตะ เมตตะ นิพพานัง สุขะโตจุติ (กล่าว 3 จบ)
• เมื่ออธิษฐานในสิ่งที่ท่านปรารถนาแล้ว ให้ปักธูปลงในกระถาง หรือภาชนะที่เตรียมไว้หรือ ดินบริเวณนั้น
@@@@@@@
ทั้งนี้ ในวันดังกล่าว เวลา 06.30 น. อาจารย์สุทธิธรรม พากเพียร จะนำทุกกท่านขอขมากรรมไปพร้อมกันที่เฟซบุ๊ก Sutthitham Phakphian และเพจ ดูดวงโหราศาสตร์ไทยระบบรังสีดาว หากใครดูไลฟ์ไม่ทันก็ให้รอฟังที่บันทึกแล้วกล่าวตาม ได้ตามสะดวกจนถึงก่อนพระอาทิตย์ ตกดิน คือเวลา 18.09 น.ขอขอบคุณ :- ข้อมูล : Sutthitham Phakphian, ดูดวงโหราศาสตร์ไทยระบบรังสีดาว website : https://www.sanook.com/horoscope/262043/S! Horoscope : สนับสนุนเนื้อหา | 20 ก.ย. 66 (10:38 น.)
|
|
|
|