ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
 11 
 เมื่อ: มีนาคม 27, 2024, 11:05:17 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



๒. ผัคคุณสูตร ว่าด้วยพระผัคคุณะอาพาธ

[๕๖] สมัยนั้นแล ท่านพระผัคคุณะ อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้นท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระผัคคุณะอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะถึงที่อยู่เถิด”
     พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยพระอาการดุษณี
             
ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น(๑-) เสด็จเข้าไปหาท่านพระผัคคุณะถึงที่อยู่ ท่านพระผัคคุณะได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล จึงลุกขึ้นจากเตียง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระผัคคุณะว่า
    “อย่าเลยผัคคุณะ เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะที่ภิกษุอื่นปูลาดไว้ยังมีอยู่ เราจักนั่งบนอาสนะนั้น”

     พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้ตรัสถามท่านพระผัคคุณะดังนี้ว่า
    “ผัคคุณะ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลา ไม่กำเริบหรืออาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ(๒-)”

         
     @@@@@@@
                                         
ท่านพระผัคคุณะกราบทูลว่า
    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สบายจะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ

     เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงใช้เหล็กแหลมที่คมแทงศีรษะ ฉันใด ลมอันแรงกล้าก็เสียดแทงศีรษะของข้าพระองค์ ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ

     เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรง พึงใช้เชือกหนังที่เหนียวรัดที่ศีรษะ ฉันใด ความเจ็บปวดในศีรษะของข้าพระองค์ก็มีประมาณยิ่งฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ไม่สบายจะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ

    เปรียบเหมือนคนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญพึงใช้มีดแล่เนื้อที่คมกรีดท้อง ฉันใด ลมอันแรงกล้าก็เสียดแทงท้องของข้าพระองค์ ฉันนั้นเหมือนกันข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้นไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ

    เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรง ๒ คนพึงจับแขนคนที่อ่อนแอกว่าคนละข้าง ย่างให้ร้อนบนหลุมถ่านเพลิง ฉันใด ความเร่าร้อนในกายของข้าพระองค์ก็มีมากยิ่งฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ(๓-)”
             
    @@@@@@@

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้ท่านพระผัคคุณะเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากพุทธอาสน์จากไป

ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน ท่านพระผัคคุณะได้มรณภาพแล้ว ในเวลามรณภาพ อินทรีย์(๔-)ของท่านผ่องใสยิ่งนัก

ต่อมาท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
     “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน ท่านพระผัคคุณะได้มรณภาพแล้ว และในเวลามรณภาพอินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก”





อานิสงส์การฟังธรรม

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ อินทรีย์ ของผัคคุณภิกษุจักไม่ผ่องใสได้อย่างไร แรกทีเดียวจิตของผัคคุณภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์(สังโยชน์เบื้องต่ำ) ๕ ประการ แต่เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของผัคคุณภิกษุจึงหลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ

     อานนท์ การฟังธรรมตามกาล การพิจารณาเนื้อความตามกาลมีอานิสงส์ ๖ ประการนี้


     @@@@@@@

     อานิสงส์ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ

     ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอได้เห็นตถาคต ตถาคตแสดงธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของเธอจึงหลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ ในการฟังธรรมตามกาล
             
     ๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นตถาคตเลย แต่ได้เห็นสาวกของตถาคต สาวกของตถาคตแสดงธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่านกลาง มีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของเธอจึงหลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ ในการฟังธรรมตามกาล

     ๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นตถาคต ทั้งไม่ได้เห็นสาวกของตถาคต แต่ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรม ตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตามตรองตามเพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ได้เรียนมา จิตของเธอจึงหลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการนี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ ในการพิจารณาเนื้อความตามกาล

     @@@@@@@

     ๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม(๕-) ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอได้เห็นตถาคตตถาคตย่อมแสดงธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง ฯลฯ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของเธอจึงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ ในการฟังธรรมตามกาล

     ๕. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ แต่จิตของเธอไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นตถาคตแต่เธอได้เห็นสาวกของตถาคต สาวกของตถาคตแสดงธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น ฯลฯ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของเธอจึงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ ในการฟังธรรมตามกาล

     ๖. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ แต่จิตของเธอไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นทั้งตถาคตทั้งไม่ได้เห็นสาวกของตถาคต แต่เธอตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมาตามที่ตนได้เรียนมา จิตของเธอจึงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๖ ในการพิจารณาเนื้อความตามกาล”
             
    อานนท์ การพิจารณาเนื้อความตามกาลมีอานิสงส์ ๖ ประการนี้แล

                                   ผัคคุณสูตรที่ ๒ จบ


เชิงอรรถ :-
(๑-) ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๗ (โสปปสูตร) หน้า ๔๓๙ ในเล่มนี้
(๒-) ดู สํ.สฬา. ๑๘/๗๔/๖๖
(๓-) ดู ม.มู. ๑๒/๓๗๘/๓๓๙-๓๔๐, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๘๗/๘๑
(๔-) อินทรีย์ ในที่นี้หมายถึงอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๖/๑๓๘)
(๕-) ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึง นิพพาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๖/๑๓๘)




ขอขอบคุณ :-
ภาพ : https://www.pinterest.ca/pin/536350636891090161/
ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๓๙ - ๕๔๒ ,
, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ , พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต , ๒. ผัคคุณสูตร ว่าด้วยพระผัคคุณะอาพาธ
URL : https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=22&siri=307


 :25: :25: :25:

อรรถกถาผัคคุณสูตรที่ ๒   
           
พึงทราบวินิจฉัยในผัคคุณสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สมญฺโจปิ ได้แก่ แสดงอาการลุกขึ้น.
บทว่า ปฏิกฺกมนฺติ ได้แก่ ทุเลาลง.

บทว่า โน อภิกฺกมนฺติ ได้แก่ ไม่กำเริบ.
บทว่า สีสเวฐนํ ทเทยฺย ได้แก่ พันศีรษะแล้วเอาไม้ขันเวียนรอบ (ศีรษะ).
บทว่า อินฺทฺริยานิ วิปฺปสีทึสุ ความว่า ในเวลาใกล้ตายนั้น อินทรีย์ ๖ ผ่องใส.

บทว่า อตฺถุปปริกฺขาย ได้แก่ ด้วยการใคร่ครวญถึงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ คือเหตุและมิใช่เหตุ.
บทว่า อนุตฺตเร อุปธิสงฺขเย ได้แก่ ในนิพพาน.
บทว่า อธิมุตฺตํ โหติ ได้แก่ น้อมไปด้วยอรหัตผล.

               จบ อรรถกถาผัคคุณสูตรที่ ๒             



ขอบคุณที่มา : อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๑ | ๒. ผัคคุณสูตร
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=327

 12 
 เมื่อ: มีนาคม 27, 2024, 10:57:43 am 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
เลื่อนกระทู้

 13 
 เมื่อ: มีนาคม 27, 2024, 10:08:48 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



อานิสงส์ในการฟังธรรม และใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรม
จาก ผัคคุณสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานิสงส์ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ๖ ประการ คือ

    @@@@@@@

จิตของภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕

    • ในเวลาใกล้ตาย เธอได้เห็นตถาคต ตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑. ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร

    • ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคตเลย แต่ได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒. ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร

    • ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคต และไม่ได้เห็นสาวกของตถาคตเลย แต่เธอย่อมตรึกตรอง เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓. ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร


    @@@@@@@

จิตของมนุษย์ในธรรมวินัยนี้ ได้หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้

    • ในเวลาใกล้ตาย เธอได้เห็นพระตถาคต พระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔. ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร

    • ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นพระตถาคต แต่เธอได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕. ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร

    • ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นพระตถาคต และไม่ได้เห็นสาวกของพระตถาคตเลย แต่เธอย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมาเมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๖. ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร

    @@@@@@@

    "ตถาคต สาวกของพระตถาคต ย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น" พุทธพจน์






ขอขอบคุณ :-
ภาพ : https://www.pinterest.ca/pin/631981760239855321/
ที่มา : หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ สุคติ สุคโต สำหรับแจกเป็นธรรมานุเคราะห์ จัดทำถวายพระศาสนาโดย
โครงการแสงธรรมแห่งพระไตรปิฎก มูลนิธิอุทยานธรรม ผู้กอปรกิจ และเจ้าภาพทุกท่าน E-Mail : tripitaka@uttayarndham.org

 14 
 เมื่อ: มีนาคม 27, 2024, 09:49:00 am 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

 15 
 เมื่อ: มีนาคม 27, 2024, 07:38:34 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



เขม้นมอง “ผ้าขาวม้า” ไทยหรือเทศ.?

คําว่า “ผ้าขาวม้า” หรือ “ผ้าขะม้า” มักได้ยินคนไทยส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นไทย มีจิตวิญญาณ “ไทยแท้” เสียยิ่งกว่าภาพลักษณ์ของ “ตุ๊กตุ๊ก” และ “สุวรรณเจดีย์” เสียอีก

จนเชื่อกันว่า หากดีไซเนอร์สามารถดึงเอาหัวใจของผ้าขาวม้าออกมาปอกเปลือกแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ให้กิ๊บเก๋ร่วมสมัย ออกแบบให้สาวงามผู้เข้าประกวดเวทีนางงามระดับจักรวาลใส่อย่างเหมาะสม ย่อมทำให้คนทั่วโลกตื่นตะลึง

แถมไม่ต้องได้รับคำวิจารณ์เสียดสีอย่างเสียๆ หายๆ เหมือนอย่างความพยายามที่จะฝืนไปใช้สัญลักษณ์อื่นใด ที่ดูอ่อนไหวบอบบาง อาจไปกระทบกระเทือนเรื่องศาสนา หรือสุนทรียศาสตร์เอาได้

คำถามมีอยู่ว่า ตุ๊กตุ๊กก็ดี สุวรรณเจดีย์ก็ดี รวมทั้งผ้าขาวม้านั้น ตกลงแล้วเป็นวัฒนธรรมเฉพาะเพียงแค่ของสยามประเทศชาติเดียวเท่านั้นเองล่ะหรือ





ใกล้ตัวสุด ผ้าขะม้า แผลงจากผ้าขอขมา

หากมองรากศัพท์ที่มาและความหมายของ “ผ้าขาวม้า” แบบลากให้ใกล้ตัว โยงหาความเป็นไทยมากที่สุด ก็อาจฟันธงไปเลยว่า ผ้าขาวม้า หรือ “ผ้าขะม้า” แผลงมาจาก “ผ้าขอขมา” โดยอิงกับประเพณีของคนดีศรีสยามในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า คนไทยต้องซื้อหา “ผ้าขะม้า” ไปไหว้ผู้ใหญ่เพื่อ “กราบขอขมา”

ผ้าขมาใช้สำหรับไหว้ผู้ใหญ่ (ชาย) ในการรดน้ำดำหัว และยังใช้เป็นผ้าไหว้ในพิธีแต่งงานกับโอกาสต่างๆ ที่จะ “ขอขมา” ผู้ใหญ่ ด้วยเป็นของหาง่ายและได้ใช้ประจำวัน

แนวคิดนี้ สอดคล้องกับข้อมูลในหนังสือเรื่อง “ผ้าทออีสาน ฉบับเชิดชูเกียรติแม่ครูช่างแถบอีสานใต้” มีการอธิบายผ้าขะม้าในกัมพูชา เว่า “ผ้ากรรมา” เป็นผ้าที่มอบให้ผู้ใหญ่เพื่อขอล้างกรรม ทำให้มีผู้เชื่อต่อว่า “ผ้ากรรมา” คงแผลงเป็น “ผ้ากำมา” เมื่อเข้าสู่ราชสำนักอยุธยา ครั้นพอเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์จึงกลายเสียงเป็น “ผ้ากำม้า” และค่อยๆ แผลงเป็น “ผ้าขะม้า” หรือ “ผ้าขาวม้า” ในที่สุด

นี่คือทฤษฎีแรก ขนาดที่เชื่อว่าผ้าขะม้าเป็นของไทยแท้แล้วเชียว ก็ไม่วายยังอุตส่าห์ถูกโยงดึงไปเกี่ยวข้องกับกัมพูชาอีกจนได้





อีสาน-ล้านนา-ปักษ์ใต้

เรียกนามตามกรรมต่างวาระ ในเมื่อเปิดประเด็น เสนอมุมมองว่า “ผ้าขะม้า” มีความเกี่ยวข้องกับการ “ขอขมา” ผู้ใหญ่ ดังนั้นมิอาจมองข้าม “ภาษาพื้นถิ่น” ของแต่ละภูมิภาคไปได้เลย ลองหันมาพินิจทีละภาษา บนพื้นฐานของการตั้งสมมติฐานว่า ผ้าขะม้าเกี่ยวข้องกับการไปไหว้สา สมมา สูมาคารวะ ดำหัว ผู้ใหญ่หรือไม่ และกลุ่มชนแต่ละภาคเรียกกันอย่างไร

ทางอีสานเอิ้น “ผ้าอีโป้”

บางพื้นที่เรียก “ผ้าด้าม” หรือ “ผ้าแพรด้าม” เป็นคำเรียกที่เก่ามาก ยังเหลือแถบกาฬสินธุ์ ในชีวิตจริงไม่มีใครเรียก “ผ้าขะมา” หรือ “ผ้าสุมมา” แต่อย่างใด

ฝ่ายล้านนาเรียก “ผ้าต่อง” หรือ “ผ้าหัว” สะท้อนวัฒนธรรมการโพกศีรษะที่พบในชนชาติไท/ไตแทบทุกกลุ่มทั้งหญิงและชาย

อ.ศักดิ์ รัตนชัย ปราชญ์เมืองนครลำปาง วัยย่าง 90 ปี เล่าว่า “ผ้าขะม้าของชาวลำปางในอดีตเป็นผ้าทอแบบมีลายทางเดียว ไม่เป็นตาหมากรุก จึงเชื่อว่า “ผ้าขะม้า” ไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของล้านนาโบราณ ลายผ้ารูปแบบชุดนักรบล้านนาคราวกอบกู้เมืองลำปางสมัย “หนานทิพย์ช้าง” เมื่อ พ.ศ.2275 เป็นเสื้อสีขาว มีผ้าคาดเอว (แต่ไม่ได้เรียกว่าผ้าขาวม้า) ยุคนั้นลำปางจะเรียกอย่างไรไม่ทราบ แต่ภาษาทางเชียงใหม่เรียกผ้าต่อง

ผ้านุ่งปิดส่วนล่างที่ม้วนถลกขึ้นมาพันขัดง่าม ลอดหว่างขาแบบโจงกระเบน แต่ดึงติ้วกว่าชิดแน่น เหมือนขี่ม้าก้านกล้วย คล้ายถกเขมรโชว์แก้มก้นนั้น เรียกผ้า “เค็ดม่ำ/เฟ็ดม่าม/เก๊นม่าม” แล้วแต่สำเนียงซึ่งเป็นภาษาที่มีอิทธิพลพม่าเข้ามาปะปน แต่ปัจจุบันไม่มีใครนิยมเรียกว่าเค็ดม่ำอีกแล้ว มักเรียกการนุ่งผ้าแบบถกเขมรโดยรวมว่า “ผ้าต้อย/ผ้าต่อง” มากกว่า”

ปักษ์ใต้เรียก “ผ้าชักอาบ” บ้างเรียก “ผ้าชุบ” มาจากวิธีการใช้ชุบน้ำเช็ดหน้าเช็ดตัว

พบว่า ในวัฒนธรรมพื้นถิ่นทั้งสามภาค ไม่มีคำเรียกใดที่ใกล้เคียงกับคำว่า “ผ้าขาวม้า/ผ้าขะมา/ผ้าสมมา/ผ้าสุมา” แต่อย่างใดเลย

อนึ่ง ในวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่มหนึ่ง มีการอธิบายว่า สมัยอยุธยารับอิทธิพลรูปแบบ “ผ้าเคียนหัว” จากสุโขทัยมาใช้ แต่รับชื่อมาจากเขมร แผลงผ้ากรรมา เป็นผ้ากำมา แต่วัตถุประสงค์เริ่มจากพันหัว หากเปิดพจนานุกรมจะมีคำอธิบายว่า ผ้าขะม้า เรียกอีกอย่างได้ว่า “ผ้าเคียนพุง” เป็นอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นภาษาที่อธิบายถึงวิธีการใช้งาน

สรุปว่า “ผ้าขะม้า” สามารถใช้ได้ทั้ง “เคียนพุง” และ “เคียนหัว”

ประโยชน์ของผ้าขะม้ามีมากมาย ในวัฒนธรรมล้านนา ใช้รักษาโรค มีท่ารัดอก ท่าตั้งวงแขน ขา ทำให้ร่างกายได้รับการผ่อนคลาย เรียก “วิถีแห่งผ้าต่อง”

โดยการใช้สอยในอีสานนั้น เป็นผ้าโพกหัว พัดวี อู่นอนลูกหลาน ปัดไล่แมลง เช็ดให้แห้งให้สะอาด เคียนเอว ห่มนั่งห่มนอน เบี่ยงบ้ายในยามอยู่ในพิธีบุญ นุ่งอาบน้ำ ห่อของ เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ในวิถีเกษตรกร ส่วนในทางพิธีกรรมนั้น ถือเป็นของสมมา ของฝากของต้อน

ทางปักษ์ใต้ชุมชนลุ่มน้ำปากพนังเรียกว่า “ผ้าขาม้า” มีที่มาจากเวลาชิงเปรต เทศกาลงานบุญเดือนสิบ

แน่นอนว่า ภาษาถิ่น ทั้งอีสาน ล้านนา ปักษ์ใต้ในปัจจุบัน จะเรียก ผ้าขะม้า ว่าอะไรก็ได้ แล้วแต่สะดวก ขึ้นอยู่กับหน้าที่ใช้สอยในแต่ละพื้นถิ่น แต่ในเมื่อ “ผ้าขะม้า” เป็นของกลาง มิใช่ของภาคใดภาคหนึ่ง จึงควรช่วยกันสืบค้นว่า “ผ้าขะม้า” มีที่มาอย่างไรกันแน่





มอญม่านมลายู พี่น้องอุษาคเนย์

ภาษามอญเรียก “ผ้าขะม้า” ว่าอย่างไร อาจจะช่วยเป็นเครื่องมือในการคลำทางด้านนิรุกติศาสตร์มากยิ่งขึ้น อ.องค์ บรรจุน ผู้เชี่ยวชาญภาษามอญ บอกรียกว่า “ยาดกะบอย” ภาษามอญค่อนข้างห่างไกลผิดกับภาษาเขมร ที่เรียก ผ้ากรรมา แต่ในวัฒนธรรมมอญ กลับมีการใช้ผ้าขะม้าอย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะคำพูดที่ได้ยินจนชินหูว่า “นุ่งผ้าตาหมากรุกของรามัญฯ” แสดงให้เห็นว่า ผ้านุ่งชายมอญจะทอเป็นลายตาราง ซึ่งยังคงใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ต่างกันที่มอญในไทย ใช้ลายตารางตาใหญ่คล้ายกับลายผ้าขะม้าในหลายวัฒนธรรมในไทย แต่มอญในพม่า ใช้โสร่งแดงลายตารางตาเล็ก ซึ่งเป็นการสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาใหม่หลังจากถูกวัฒนธรรมพม่ากลืนไป (อ้างอิงจากข้อมูล ของ อ.องค์ บรรจุน)

ปกติ ชายชาวมอญในไทยจะใช้ผ้าขะม้าในโอกาสต่างๆ กัน อาทิ
เข้าวัด – ใช้นุ่งเฉวียงบ่า เป็นผ้าสไบ อาจใช้เป็นผ้าปูกราบด้วย
งานพิธีที่เป็นทางการ – พับให้แคบ พับครึ่ง แล้วพาดบ่า โดยให้ชายผ้าอยู่ข้างหลัง
งานรื่นเริง – คล้องบ่า ห้อยไหล่ โดยให้ชายสองข้างห้อยอยู่ด้านหลัง เป็นสองชาย
ทำงานใช้แรง – มัดเอว

เมื่อเปรียบเทียบดูกับวัฒนธรรมไท/ไต และชาติพันธุ์อื่นในอุษาคเนย์ พบว่าผ้าขาวม้าปรากฏอยู่ทั่วไป เป็นผ้าอเนกประสงค์ ใช้ได้สารพัดประโยชน์ คำเรียกจึงมีหลากหลายตามหน้าที่ใชสอย รูปแบบก็แยกย่อย

ทว่า สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ไม่เคยเปลี่ยนคือ ลายตารางหมากรุก หรือศัพท์ผ้าทอเรียก “ตาโก้ง/ตาแสง” คำว่า “ผ้าลายตาโก้ง” ไม่เกี่ยวข้องกับชื่อ “เมืองตะโก้ง” ในพม่า แต่อย่างใด แต่เป็นคำไทย หมายถึงผ้าลายตาๆ ส่วนโก้งก็คือลายด่าง เช่น พูดว่า “เสื้อโก้งเสื้อลาย” คำว่า “ตาแสง” ก็ใช้เรียกลวดลายตาสี่เหลี่ยม เช่น “รั้วตาแสง” คือรั้วไม้ไผ่ลายตาราง

มีผู้เชี่ยวชาญภาษาชวาเสนอว่า ในภาษาอินโด มีคำว่า Garis-การีส แปลว่า ขูด ขีด เขียน (คล้ายคำว่า กา) กับอีกคำ Mata-มาตา แปลว่าดวงตา รวมสองคำเป็น Garismata ก็คือ การขีดเขียนตาสมัยนี้ หรืออีกนัยคือการขีดตารางก็ว่าได้

คำว่า Garis ยังแตกหน่อออกไปเป็น Keris-เคอริส หรือกริชในภาษาไทย มีคมสองด้านยาวเรียวแหลม และปลอกหรือซองใส่กริชเรียก Sarung-ซารุง ซึ่งยังใช้ในความหมายของซารุงหรือผ้าโสร่ง ผ้าตารางหมากรุก ในแบบเดียวกับผ้าขะม้า ที่น่าจะหดสั้นจากคำยาว “การีสมาตา” เป็น “กามา”



ฮากามะ


“ผ้าก่าม่า” “ฮากามะ” ของญี่ปุ่น

อีกทฤษฎีหนึ่ง มีโอกาสไปฟังการบรรยายของ อ.จิราภรณ์ อรัณยะนาค อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุของกรมศิลปากร จัดโดย “มิวเซียมสยาม” ท่านบอกว่า พบผ้าขาวม้าผืนเก่าแก่มากในประเทศญี่ปุ่น ทำเป็นตารางหมากรุกเหมือนของเรา มีอายุร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา ญี่ปุ่นเรียกผ้านั้นว่า “ผ้าก่าม่า”

ผ้าก่าม่ามีลักษณะการนุ่งร่วมกับ “ฮากามะ” (Hakama) ที่เป็นกางเกงขายาวอัดพลีทบานคล้ายกระโปรง ส่วนผ้านุ่งพันแบบกางเกงชั้นใน คล้ายนุ่งเค็ดม่ำของคนล้านนา/พม่าและถกเขมร เปิดแก้มก้นคล้ายนักมวยปล้ำซูโม่นุ่งกัน เรียกว่า ฟุนโดชิ (Fundoshi)

น่าสนใจยิ่งนัก เนื่องจากญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กับสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ตกลงใคร “รับ” หรือ “ส่ง” อิทธิพลผ้าขะม้าให้ใครกันแน่ ญี่ปุ่นรับ “ผ้าก่าม่า” จากอยุธยา หรืออยุธยารับ “ผ้าขะม้า” จากญี่ปุ่น

ผู้รู้บางท่านบอกว่า ญี่ปุ่นรับอิทธิพลวัฒนธรรมจากอยุธยาไปมากโดยผ่านทางริวกิว (หรือโอกินาว่า อดีตเป็นประเทศหนึ่ง) ตัวอย่างที่ชัดคือ เหล้าสาเก เพราะแต่เดิมในญี่ปุ่นมีแต่เหล้าทำจากมันฝรั่ง

@@@@@@@
 
หรือจะจบลงด้วยทฤษฎีเปอร์เซียน

ในภาษาเปอร์เซียน หรืออิหร่าน มีคำว่า “คะมัร” ซึ่งแปลว่า “เอว” ส่วน ผ้าคะมัร=ผ้าคาดเอว ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาเปอร์เซียนจึงเชื่อว่า ขาวม้า/ขะม้า มาจากคำว่า คะมัร ในภาษาเปอร์เซียน

ยังมีคำภาษาไทยอีกมากที่มีที่มาจากเปอร์เซีย อาทิ
ฉัตร : (ชัทร)
กะหล่ำ : (คะลัม)
หลาบ : (โกลอบ) ฯลฯ

อาจเป็นไปได้ว่า คะมัร ของเปอร์เซียอาจเป็นรากศัพท์ “ตัวแม่” ที่ส่งอิทธิพลทางภาษาให้แก่ กามัร กรรมา การีสมาตา ก่าม่า เค็ดม่ำ ขมา ขาม้า ขาวม้า ให้แก่ประชาคมเอเชียนานาชาติพันธุ์ที่เข้ามาปะทะสังสรรค์กันแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาโน้นแล้ว

ที่มาและรากศัพท์ของ “ผ้าขะม้า-ผ้าขาวม้า” คงต้องสืบค้นกันต่อไป ฟังดูเหมือนง่าย แต่กลับไม่ง่ายเหมือนที่คิด เพราะพอสืบสาวเอาเข้าจริงๆ แล้วมีข้อมูลทะลักมหาศาล มึนหัวพอสมควร

การสืบค้นเรื่อง “ผ้าขะม้าของคนเอเชีย” ไม่ได้ง่ายดาย เหมือนการได้มาซึ่งภรรยาหลายคน ของอดีตนายกรัฐมนตรีไทยผู้หนึ่งซึ่งมีฉายาว่า “จอมพลผ้าขะม้าแดง”






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มิถุนายน 2559
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_5028

 16 
 เมื่อ: มีนาคม 27, 2024, 07:14:43 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



5 สิ่ง “เขมร-ไทย” ในประเด็นตามหา

หลังทวงคืนปราสาทเขาพระวิหารกับศาลโลกเมื่อ 6 ทศวรรษก่อน ตอกย้ำความสำเร็จบนเวทีนานาชาติ ตอกย้ำความสำเร็จแต่ครั้งประเดิมคืนเอกราชจากฝรั่งเศสแล้วอย่างยิ่งยวดโดยมิโอ้อวดประวัติศาสตร์เลยนั้น เป็นความจริงทีเดียวสมัยสีหนุราช

แต่แล้วความภาคภูมิใจทั้งหมดก็ถูดลดเลือนโดยระบอบเขมรแดงและสงครามกลางเมือง ที่สุดจะเยียวยาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กลับสู่ยุคใหม่ทั้งหมดฟื้นฟูระบอบกษัตริย์และการปกครองในปี พ.ศ.2536 แต่ความขัดแย้งก็ยังไม่สิ้น จนปี 2546 เมื่อสมเด็จฯ ฮุน เซน ชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลแต่เพียงพรรคเดียว

ก่อนหน้านั้นเขาหลงทางไปกับนโยบายโยนบาปตามแนวพรมแดนเพื่อแสวงหาวิถีรักชาติจากประชาชนกัมพูชา และพบว่ามันไม่อาจยั่งยืน แต่นั้นมาเขาก็หันไปหาความสำเร็จแนวใหม่ นั่นคือแนวรบทางวัฒนธรรม และช่างบังเอิญว่า เมื่อกัมพูชากลับมาสู่ความสงบเรียบร้อยของความเป็นประเทศแล้ว ความถวิลหาวัฒนธรรมแห่งอดีตที่ยิ่งใหญ่ก็ตามมา โดยเฉพาะระหว่างปี 2513-2518 ที่ทำให้ขนบจารีตเขมรหลายอย่างได้บัดบ่งสูญหาย และช่างบังเอิญกระไร ที่ประดาเรื่องทั้งหมดดูจะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไทย จนคล้ายเป็นเรื่องเดียวกัน

@@@@@@@

1. ระบำราชสำนัก : ละครรำสยาม

ไม่มีใครสนใจว่า จุดเริ่มต้นของต้นทุนวัฒนธรรมที่คนทั้งโลกจะรำลึกถึงกัมพูชานี้มาจากที่ใด

สำหรับระบำราชสำนักกัมพูชา ที่เดิมทีนักวิจัยฝรั่งเศสลงความเห็นว่า ราชสำนักกัมโพชรับมาจากสยาม และถูกบันทึกความสำคัญอย่างยิ่งยวดคราวที่พระบาทสีโสวัฒถิ์ (2447-2470) นำไปแสดงในฝรั่งเศส

คราบไคลในความเป็นสยามของนาฏศิลป์แขนงนี้ก็ดูจะหายไป และพัฒนาต่อยอดในแบบฉบับระบำอัปสราในอีก 2 รัชกาลถัดมา นี่คือสิ่งที่ทำให้ระบำราชสำนักของกัมพูชาโดดเด่นไปด้วยอัตลักษณ์เฉพาะตน จนยูเนสโก-องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2553 และนับแต่นั้นมา ระบำราชสำนักกัมพูชาก็กลายเป็นโมเดลแห่งความสำเร็จทางวัฒนธรรม


@@@@@@@

2. โขลเรียมเกร์ : โขนรามเกียรติ์

จุดบ่งชี้ที่เริ่มทำให้เห็นว่า ความสำเร็จจากชัยชนะในระบำเขมรอาจเป็นเรื่องง่ายเกินไปเพราะอยู่ในยุคที่ไร้คู่ต่อกร แต่สำหรับละครโขนรามเกียรติ์หรือละครโขลเรียมเกร์เขมรนั้นไม่ใช่ นี่คือจุดเริ่มต้นของการตามหาสิ่งที่สูญหายทั้งภายในประเทศเองและระดับนานาชาติ รวมทั้งความหมายของประเด็นชนชั้นล่าง-รวมทั้งศิลปินพื้นบ้านซึ่งเป็นผู้ก่อการการแสดงโขลในรูปแบบนานามาแต่ต้น

ก่อนหน้านั้น วัฒนธรรมโขลถือเป็นการแสดงชั้นสูงและถูกกีดกันจากราชสำนักผู้ปกครอง ทำให้โขลเขมรถูกจำกัด และแทบไม่มีตัวตนเชิงสาธารณะนอกจากบทร้องเรียมเกร์ของศิลปินพื้นบ้าน ที่พบก่อนปี พ.ศ.2518 โดยนักวิชาการฝรั่งเศส และยุคเขมรสาธารณรัฐหลังโค่นล้มกษัตริย์ไปแล้ว หลักฐานหลงเหลือของบทร้องเรียมเกร์โดยศิลปินพื้นบ้านคนสุดท้ายเพิ่งจะค้นพบเมื่อไม่นานนี้ คือบทร้องเรียมเกร์ของตาครุด

แต่อาจจะด้วยการถูกกดทับแสนนานหรือไม่ที่ทำให้เรียมเกร์เขมรมีลักษณะการเติบโตที่แตกต่างจากพื้นบ้านและการกลับมารื้อฟื้นอีกครั้งก็เกิดขึ้นโดยศิลปินท้องถิ่น โดยเฉพาะในลักษณะของความเป็นวัฒนธรรมจากฐานรากของชุมชนอย่างเป็นองค์รวม

ยูเนสโกขึ้นทะเบียนโขลเรียมเกร์ว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ สาขาอนุรักษ์/เสี่ยงการสูญหาย และขึ้นทะเบียนโขนไทยไว้ในสาขาเอกลักษณ์ชาติ แต่ประเด็นวิวาทะก็ยังเป็นดราม่า อันเกิดจากวัฒนธรรมร่วมสมัยแต่ไม่ร่วมชาติในบางครั้ง

@@@@@@@

3. มวยไทย : กบัจคุน

กบัจคุนเป็นชื่อเดียวกับ “มวยไทย” ตามที่ชาวเขมรเรียก ก่อนหน้านั้นจากหลักฐานบุน จันมุล (บุนจันทร์ มุล) ที่ขณะนั้นชาวเขมรโดยรวมเรียกขานตัวเองว่ากัมปูเจีย นักเขียนและนักต่อสู้แนวทางซึง งอกทันห์ ท่านนี้ยอมรับศิลปะมวยไทยแต่ไหนแต่ไร และเคยไปดู “ประฎาล” ศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าระหว่างไทยกับเขมรราวครั้งหนึ่งที่พระตะบอง จันมุลเห็นว่ามีความสูสีกันมากและไทยขณะนั้นดูจะมีชั้นเชิงและชื่อเสียงมากกว่าเขมรนิดหน่อย โดยเฉพาะด้านเทคนิค

บุน จันมุล ลาโลกไปราว 30 ปี ประฎาลที่เขารู้จักก็ถูกยกระดับให้เป็น “กบัจคุน” กบัจคุนโบราณ คุนเขมร โบกะตอ หรือชื่ออะไรต่างๆ ดังที่รัฐกัมพูชาพยายามผลักดัน และแม้ชาวเขมรทั่วไปก็ยังติดปากเรียกประฎาล

แน่นอน วัฒนธรรมกีฬาสำหรับกัมพูชาแล้ว มิใช่แต่ความสนุก บันเทิงหรือท่องเที่ยว แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองและความมั่นคงที่จำเป็นต้องปลุกเร้าให้เกิดอัตลักษณ์แห่งความเป็นชนชาติอีกด้วย เพียงแต่ว่า ตอนที่เห็นคุณค่าเช่นนั้น กัมพูชาอยู่ในช่วงอันมืดมน และใครจะไปรู้ล่ะว่า ศิลปะการต่อสู้แขนงนี้นับวันจะกลายเป็นอัตลักษณ์แห่งความเป็นชาติและอนาคต ตลอดจนมิติความเป็นสากลที่นับวันจะมีมูลค่ามหาศาล!

และเหตุนั้น กบัจคุนจึงเป็นเหมือนคู่ต่อกรตลอดกาล ตราบใดก็ตามที่ประเด็นมวยไทยถูกกล่าวขานบนเวทีนานาชาติ และความสำเร็จของมวยไทยที่ชาวโลกขานรับอย่างมากมาย แต่ตราบใดที่คำว่า “มวยไทย” ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็น “อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะตน” ไปได้ ความหมายของคำว่ามวยไทยบนเวทีนานาชาติก็ไม่อาจสง่างาม สำหรับเวทีกลางแห่งสากล

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกันที่ว่า ทั้งโขลเรียมเกร์และระบำเขมรโบราณ ต่างเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับไทยอย่างเห็นได้ เช่นเดียวกับกบัจคุนกับมวยไทย และความพยายามยกระดับกบัจคุนเทียบเท่ากับศิลปะการต่อสู้ที่รุ่งเรืองสมัยพระนคร-นครธมยังคงดำเนินไป เช่นเดียวกับกองทัพกัมพูชาที่บรรจุให้ศิลปะแขนงนี้เป็นนโยบายเอกแห่งการฝึกซ้อมและธำรงวินัย


@@@@@@@

4. พระแก้วมรกต : พระแก้วมรกต

มานานระยะหนึ่งแล้วที่หลักฐานเถรวาทกัมพูชาอ้างถึงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ว่าเป็นรัตนสมบัติ หรือ “ปฏิกภรณ์” ของฝ่ายตนนั้น

นับไปก่อนหน้า แต่ครั้งฝรั่งเศสสร้างพระราชวังจตุรมงคลและปราสาทพระที่นั่งเทวาวินิจฉัยถวายแก่กษัตริย์นโรดม (2403-2447) ตามพระองค์ร้องขอ ซึ่งแทบจะจำลองเอาพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัยไปไว้ที่กรุงพนมเปญเสียทั้งหมด รวมทั้งวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มองความสัมพันธ์ชาวเขมรต่อพระแก้วมรกตที่ออกจะคลุมเครือนั้น

แต่ให้สงสัยว่า เหตุใดกษัตริย์เขมรจึงเจตนาสร้างพระรัตนารามเพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรไว้ ณ เขตพระราชฐานด้วยฉะนี้.? แม้โดยที่จริงแล้ว ราชสำนักกัมโพชเวลานั้น(และจนบัดนี้) ไม่เคยมีหรือครอบครองพระแก้วมรกตแต่อย่างใด.? และใช่แต่พระแก้วมรกตเท่านั้นที่นักวิชาการเขมรบางฝ่ายทวงถาม แต่ยังรวมถึง 1 ใน 5 ของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทย

@@@@@@@

5. พระขรรค์กัมโพช : พระขรรค์แสงชัยศรี

เล่ากันว่า พระขรรค์แสงชัยศรีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นพระขรรค์เก่าแก่ยุคขอมโบราณสมัยรัชกาลพระบาทชัยวรมันที่ 7 เลยทีเดียว ตกทอดมาถึงไทย จากที่ชาวประมงเขมรงมพบได้ในบารายและนำไปถวายเจ้าเมืองเสียมเรียบ และถูกนำไปถวายแด่กษัตริย์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กระทั่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อ 5 พฤษภาคมของปีกลาย

ทันใดนั้น ความพยายามจะกล่าวถึงพระขรรค์ของเขมรได้เกิดขึ้นอีกครั้งในหมู่ชาวเขมรบางกลุ่มและเงียบหายไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง เป็นที่ทราบว่า การสืบสันตติวงศ์แห่งระบอบกษัตริย์และสิ่งอันบ่งบอกถึงราชประเพณีได้ถูกระบอบเขมรแดงทำลายไปจนสิ้น

สำหรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และพระขรรค์ประจำราชวงศ์ และพระบาทนโรดม สุระมฤทธิ์ คือองค์สุดท้ายที่ได้ทำพิธีดังกล่าวอย่างเต็มพระยศ เมื่อ 6 มีนาคม พ.ศ.2499 เช่นเดียวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 29 ตุลาคม 2547 โดยกษัตริย์เขมรองค์ปัจจุบัน คือพระบาทนโรดม สีหมุนี ที่เรียบง่าย ปราศจากพระขรรค์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์และอำนาจใดๆ






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 กรกฎาคม 2563
คอลัมน์ : อัญเจียแขฺมร์
ผู้เขียน : อภิญญา ตะวันออก
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_323091

 17 
 เมื่อ: มีนาคม 27, 2024, 06:51:34 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



ตะลึง.!! เปิดกุฏิหลวงปู่อำคา เกจิดังเมืองอุบลฯ พบเงินสดร่วม 10 ล้าน เร่งหาพินัยกรรม

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดบ้านตำแย ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี คณะกรรมการวัด และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกันเปิดกรุกุฏิหลวงปู่อำคา อินทรสาโร หรือพระครูอินทรสารโสภณ เจ้าอาวาสวัดบ้านตำแย เพื่อตรวจสอบทรัพย์สิน หลังเจ้าอาวาสมรณภาพ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โดยมีตำรวจ ลูกศิษย์และชาวบ้านร่วมเป็นสักขีพยาน ปรากฏว่าทุกคนต้องตะลึง เมื่อพบเงินสด ทั้งแบงก์เก่า-ใหม่และเงินเหรียญ เกือบ 10 ล้านบาท หลังตรวจนับทรัพย์สินทั้งหมด ได้ส่งมอบให้เจ้าคณะตำบล และคณะกรรมการวัดที่รับผิดชอบ นำมาคัดแยก




ด้านสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุบลราชธานี ระบุว่าต้องตรวจสอบว่าเงินทั้งหมดพระครูอินทสารโสภณ เจ้าอาวาสวัดที่มรณภาพได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเขียนเป็นพินัยกรรมไว้หรือไม่ ถ้ามีพินัยกรรมก็ต้องให้ระบุตามพินัยกรรมของท่าน ถ้าในกรณีที่ท่านไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ ทรัพย์สินที่เจอหลังจากที่มรณภาพก็จะตกเป็นของวัดที่สังกัดอยู่เป็นวัดสุดท้าย ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ทั้งนี้ เพื่อนำเงินมาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต่อไป



นางบุญฮู้ จันทร์กอง อายุ 71 ปี เปิดเผยว่า คณะกรรมการวัดตรวจสอบภายในกุฏิเจ้าอาวาสพบเงินสดแบงก์เก่า-ใหม่และเงินเหรียญ เกือบ 10 ล้านบาทเก็บไว้ในกระติกน้ำ ในกล่องพลาสติก ในถังน้ำ เก็บเงินวันแรกได้ประมาณ 6-7 ล้านบาท ต่อมาค้นภายในกุฏิก็พบอีกเป็นเงินเหรียญ ก็มีรวมแล้วประมาณ 10 ล้านบาท เงินทั้งหมดเจ้าอาวาสไม่ได้สั่งเสียไว้





ทั้งนี้ หลวงปู่อำคา อินทรสาโร หรือพระครูอินทรสารโสภณ เจ้าอาวาสวัดบ้านตำแย ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้ละสังขารอย่างสงบที่โรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ จังหวัดอุบลราชธานี สิริอายุ 91 ปี 70 พรรษา หลวงปู่อำคา เป็นทายาทธรรมหลวงปู่บุญมี โชติปาโล




ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/region/news_4493130
วันที่ 26 มีนาคม 2567 - 13:40 น.   

 18 
 เมื่อ: มีนาคม 27, 2024, 06:38:52 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



ไขปริศนาเช็งเม้ง “สีตัวอักษรที่ฮวงซุ้ย” หมายความว่าอะไร.!?

เคยสังเกตไหมว่า สีตัวอักษรที่จารึกไว้ที่ฮวงซุ้ย มีทั้งสีแดง สีเขียว และบางครั้งเป็นสีทอง สีเหล่านี้หมายความว่าอะไรกันนะ

ในประเทศไทย วันเช็งเม้ง 2567 ตรงกับวันที่ 5 เมษายน จะเป็นช่วงที่มีการเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งจริง ๆ แล้วจะกำหนดไว้ที่ประมาณ 7 วัน คือตั้งแต่วันที่ 2 - 8 เมษายนของทุกปี แต่หลายครอบครัวก็เริ่มเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษกันตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว

และหากเราสังเกตที่ฮวงซุ้ย ก็จะมีตัวอักษรจีนสลักอยู่บนแผ่นหินที่ฮวงซุ้ย เรียกว่า 石碑 “เจียะปี” โดยตัวอักษรเหล่านั้น มีความหมายอยู่มากมาย รวมถึงความหมายของการใช้สีตัวอักษรด้วย



ความหมายของตัวอักษรจีนบนฮวงซุ้ย


ตัวอักษรจีนบนฮวงซุ้ย (เจียะปี) คืออะไร.?

ลูกหลานส่วนมากได้เห็นตัวอักษรจีนเหล่านี้ ก็อาจจะต้องสงสัยว่าตัวอักษรจีนมากมายขนาดนี้ แปลความหมายออกมาว่าอย่างไร วันนี้มาไขข้อสงสัยกัน

    • ตัวอักษรบนสุด ที่เขียนว่า 祖 หมายถึง บรรพชน บรรพบุรุษ
    • ตัวอักษรแถวริมขวาสุด (แถวสุดท้าย) จะเป็นการระบุที่อยู่ ภูมิลำเนาเดิมที่ประเทศจีน
    • ตัวอักษรแถวริมซ้ายสุด (แถวแรก) จะเป็นวัน เดือน ปี ที่สร้างฮวงซุ้ยนี้ขึ้น
    • ตัวอักษรแถวขวา (แถวที่สาม) เขียนว่า 考 เป็นสรรพนามคำขึ้นต้นชื่อของฝ่ายชายที่นอนอยู่ในฮวงซุ้ย แล้วตามด้วยชื่อ
    • ตัวอักษรแถวซ้าย (แถวที่สอง) เขียนว่า 妣 เป็นสรรพนามคำขึ้นต้นของฝ่ายหญิง แล้วตามด้วยชื่อ

เหตุผลที่มีทั้งชื่อฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงอยู่ในฮวงซุ้ยเดียวกันนั้น เพราะคนจีนนิยมซื้อฮวงซุ้ยคู่

    • หลังจากสรรพนาม ชื่อ แล้วจึงตามด้วยแซ่ (นามสกุล)
    • ส่วนบรรทัดสุดท้ายของทั้งแถวขวา และซ้าย คือการแยก นาย และนาง นั่นเอง

แต่สิ่งที่ไม่สังเกตเห็นไม่ได้เลย คือทำไมต้องมีทั้งตัวอักษรสีแดง และสีเขียว.!?


@@@@@@@

สีตัวอักษรบนฮวงซุ้ย (เจียะปี) หมายถึงอะไร.?

แท้จริงแล้ว ตัวอักษรแต่ละสี บ่งบอกถึงการเสียชีวิต และการมีชีวิตอยู่ นั่นคือ

        • สีแดง หมายถึง ยังมีชีวิตอยู่
        • สีเขียว หมายถึง เสียชีวิตแล้ว

คนจีนมักสร้างฮวงซุ้ยไว้ล่วงหน้า จะมีการสลักชื่อไว้เรียบร้อยแล้ว แต่มักจะใช้สีแดงไว้ก่อน หากมีการเสียชีวิต ก็จะมาเขียนทับด้วยสีเขียวนั่นเอง

แต่ในปัจจุบัน ก็มีการใช้สีทองล้วนมากขึ้น ไม่ว่าจะเสียชีวิตแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม

 




Thank to : https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/220299
โดย PPTV Online | เผยแพร่ 26 มี.ค. 2567 ,15:12น.
ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์ภาษาจีนฟิวเจอร์ซี, กินอยู่เป็น

 19 
 เมื่อ: มีนาคม 27, 2024, 06:30:37 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



พิธีเปลี่ยนผ้าไตรจีวร สรีระสังขาร "หลวงพ่อจันทร์" พระเกจิดัง ร่างไม่เน่าเปื่อย

ศิษยานุศิษย์ แห่ร่วมพิธีเปลี่ยนผ้าไตรจีวร "หลวงพ่อจันทร์" พระเกจิร่างไม่เน่าเปื่อย ฮือฮา เห็นคล้ายตัวเลขที่ใบหน้าของท่าน

วันที่ 25 มี.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ วัดวังเวิน ต.หล่มเก่า อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ คณะศิษยานุศิษย์ได้จัดพิธีทำบุญสวดทักษิณาเปลี่ยนผ้าไตรจีวรอุทิศถวายแด่ พระครูพัชรกิตติญาณ หรือ หลวงพ่อจันทร์ กิตติญาโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดวังเวิน ต.หล่มเก่า อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เนื่องในวันครบรอบ 11 ปี วันมรณภาพ




พิธีเริ่มในเวลา 12.09 น. พระสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมประกอบพิธีขอขมาต่อดวงวิญญาณหลวงพ่อจันทร์กิตติญาโณ เสร็จแล้วได้นำร่างที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงพ่อออกมาด้านนอกโลงแก้ว พร้อมทั้งให้คณะศิษย์ได้กราบสักการะอย่างใกล้ชิด จากนั้นได้ประกอบพิธีเปลี่ยนผ้าไตรจีวรของหลวงพ่อ และได้นำร่างของท่านบรรจุไว้ในโลงแก้วเช่นเดิม



ประวัติ พระครูพัชรกิตติญาณ หรือ หลวงพ่อจันทร์ กิตติญาโณ ท่านเป็นศิษย์ หลวงพ่อทบ เกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ท่านได้ชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความเมตตา เมื่อครั้งยังไม่มรณภาพท่านชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านทั้งในยามเจ็บป่วยและในยามที่เดือดเนื้อร้อนใจก็จะมาให้ท่านประพรมน้ำมนต์ให้

หลวงพ่อจันทร์ กิตติญาโณ เกิดวันที่ 2 มิถุนายน 2467 และได้มรณภาพวันที่ 25 มี.ค.2556 ตรงกับวันจันทร์ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง เวลา 18.00 น. รวมสิริอายุ 89 ปี 68 พรรษาแต่ร่างไม่เน่าเปื่อย ผิวหนังยังคงมีสีเหลืองคล้ายคนปกติทั่วไป คณะศิษย์จึงได้บรรจุร่างของท่านไว้ในโลงแก้วเพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาได้กราบสักการะบูชา




ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในขณะที่นำร่างของท่านออกมาจากโลงแก้ว และให้ผู้ร่วมพิธีได้กราบสักการะอย่างใกล้ชิด ได้มีผู้สังเกตเห็นคล้ายตัวเลข 135 ที่ใบหน้าของท่าน ต่างก็บอกต่อๆ กันไปเพื่อที่จะเป็นแนวทางในการเสี่ยงโชค งวดวันที่1 เมษายน 2567

 



Thank to : https://www.amarintv.com/news/detail/211654
26 มี.ค. 67

 20 
 เมื่อ: มีนาคม 26, 2024, 02:36:24 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
เลื่อนกระทู้

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10