ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กรรมของสัตว์  (อ่าน 977 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
กรรมของสัตว์
« เมื่อ: กันยายน 23, 2022, 06:54:09 am »
0



เสฐียรพงษ์ วรรณปก : กรรมของสัตว์

เหตุการณ์มัวหมองแก่พระศาสนา ซึ่งก่อโดยอลัชชีผู้ไร้ยางอาย สร้างความกระทบกระเทือนแก่บรรดาชาวพุทธไทยทั่วทั้งประเทศ รวมถึงชาวพุทธในต่างประเทศด้วย คงยังจำกันได้ว่า มีภิกษุรูปหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าต้องอาบัติปาราชิก และอาบัติรองลงมาหลายกระทงคือ

     1. ละเมิดปาราชิก ข้อที่หนึ่ง “เสพเมถุน” หรือมีเพศสัมพันธ์กับสตรี จนมีบุตรและกับสตรีทั้งไทยและชาวต่างประเทศอีกหลายคน

     2. ละเมิดปาราชิก ข้อที่สอง “ลักทรัพย์” คือขโมยบทกวีของ ดร.ระวี ภาวิไล มาเป็นของตน

     3 . ละเมิดปาราชิก ข้อที่สี่ “อวดอุตริมนุสสธรรม” คืออวดอ้างว่าตนบรรลุคุณวิเศษ หรือแสดงอาการให้เข้าใจว่า ตนเป็นพระอริยะ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

     4. ใช้เครดิตการ์ดในสถานที่เริงรมย์ หรือซ่องโสเภณี หลายครั้ง ซึ่งมีความผิดสองสถานคือ ไม่เป็นปาราชิก ก็สังฆาทิเสส สถานใดสถานหนึ่ง

     5. เช่ารถไปท่องเที่ยวสองต่อสองกับสตรี พักค้างคืนที่โมเต็ลเดียวกัน และห้องเดียวกันกับสตรี เป็นเวลา 8 วัน มีความผิดสองสถานคือ ไม่ปาราชิก ก็สังฆาทิเสส

     6. เช่าบ้านอยู่กันโดยลำพังกับสตรีที่มีบุตรด้วยกันกับตน ที่ประเทศยูโกสลาเวีย เป็นเวลา 8 เดือน มีความผิดสองสถานคือ ไม่เป็นปาราชิก ก็สังฆาทิเสส

     7. ทำความผิด หรือประพฤติไม่เหมาะสมแก่สมณะอีกเป็นอันมาก เช่น แต่งตัวเป็นเจงกิสข่าน ขี่ช้าง ขี่วัว เล่นลูกข่าง เล่นสกี พายเรือเล่น ฯลฯ มีความผิดสถานเบาคือ ปาจิตตีย์ หรือทุกกฎ

ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่ภิกษุรูปนี้ก่อขึ้นมาด้วยตนเอง และได้ทำต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานปี จนกระทั่งเป็นที่รับรู้ของชาวพุทธจำนวนหนึ่ง และรู้กันแพร่หลายเมื่อมีการร้องเรียน กล่าวหาจากกลุ่มสีกาจำนวนหนึ่ง เมื่อต้นปี 2537 และแพร่ขยายฉาวโฉ่ยิ่งขึ้น เมื่อสื่อมวลชนทุกแขนงได้ประโคมข่าวอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเรื่องราวถูกเปิดเผยขึ้น ถึงขั้นคณะสงฆ์สั่งให้สอบสวน จนกระทั่งในที่สุด มหาเถรสมาคม รอกระบวนการสอบสวนอันล่าช้า และส่อว่า “ซูเอี๋ยกัน” ระหว่างคณะกรรมการและจำเลยไม่ไหว จึงใช้อำนาจที่มีอยู่สั่งให้พระรูปนี้สละสมณเพศ คือ ให้สึกเสีย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2538 ที่ผ่านมา

@@@@@@@

อดีตพระดังรูปนี้ ได้กล่าวตลอดเวลาว่า ตนเองบริสุทธิ์ ไม่ได้ทำผิดดังที่กล่าวหา ที่เขาต้องรับชะตากรรมถึงต้องสึกนี้ เพราะถูกกลั่นแกล้ง ถูกให้ร้ายป้ายสีผู้ที่ทำลายเขา (ความเข้าใจของเขา) คือ

     1. ขบวนการนารีพิฆาต คือ องค์กรต่างศาสนา (เน้นไปที่ศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก) จ้างผู้หญิงมาทำลายพระดังเช่นเขา และรูปอื่นๆ อีกด้วยเงินจำนวนมาก ว่ากันว่าเป็นพันล้านบาท

     2. พระภิกษุบางรูปที่อยากดัง และไม่ดังเท่ากับเขา เกิดความอิจฉาในความดังของเขา พยายามให้ร้าย และหาทางกำจัดเขา ภิกษุดังกล่าวคือ พระพยอม กัลยาโณ วัดสวนแก้ว

     3. กลุ่มสตรีผู้เสียผลประโยชน์ บางคนอยากเป็นผู้ใกล้ชิด แล้วถูกศิษย์คนอื่นกีดกันก็โกรธ จึงหาทางแก้แค้น ด้วยการป้ายสีให้เขามัวหมอง

     4. กลุ่มนักวิชาการ ได้รับจ้างมาเพื่อทำลายเขา ไม่ระบุว่าได้มาจากไหน จำนวนเป็นพันล้านเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายเสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นหัวหอกคนสำคัญที่ไปกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช และพระผู้ใหญ่อื่นๆ ตลอดจนจ้างคนให้มาก่อม็อบต่อต้านตน โดยจ่ายให้คนละ 500 บาทต่อวัน

     5. สื่อมวลชนทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ (โดยเฉพาะข่าวสด มติชน) วิทยุ โทรทัศน์ (โดยเฉพาะ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ดร.เสรี วงษ์มณฑา และ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ผู้จัดทำรายการ ตามรอยยันตระในต่างแดน และสลิปรักทะเลใต้) มีความอิจฉาริษยาเป็นส่วนตัว บิดเบือนความจริง ให้ร้ายป้ายสี ด้วยการสร้างหลักฐานขึ้นมาใหม่

     6. คนใกล้ชิดในอดีตผู้ผิดหวังในตัวเขา เพราะเขาไม่สนองความต้องการบางอย่าง เช่น คุณรัตนา มาลีนนท์ คุณอิทธิชาติ มานะเลิศ หรือโยมอ่อง สร้างหลักฐานปลอมขึ้นมากล่าวร้ายเขา เช่น สลิปบัตรเครดิต เป็นต้น

สรุปแล้ว วินัย หรือยันตระ อมโร หรือละอองสุวรรณ คนนี้ มองไม่เห็นแม้แต่นิดว่า ผลที่เขาได้รับอยู่นี้เป็น “กรรม” หรือการกระทำของเขาเอง ได้แต่โทษคนอื่นถ่ายเดียว เข้าทำนองสุภาษิตว่า
      โทษคนอื่น แลเห็น เป็นภูเขา
      โทษของเรา แลไม่เห็น เท่าเส้นผม
      ตดคนอื่น เหม็นเบื่อ เหลืออดทน
      ตดของตน ถึงเหม็น ไม่เป็นไร



ถ้าจะดูตั้งแต่ต้น จะเห็นว่า วินัย อมโร ได้สะสมกรรมที่เป็นอกุศล หรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่ดีงามมาตลอด เช่น

     1. บวชมาใหม่ๆ มิได้ถือพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เท่าที่พระภิกษุทั่วไปจะพึงทำ คือไม่ได้อยู่ภายใต้การอบรมของอุปัชฌาย์เป็นเวลา 5 ปี ตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ บวชไม่นานก็ออกจาก “อ้อมอก” ของอุปัชฌาย์ไปจำพรรษาอยู่เดียวดายในสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง การกระทำ (หรือกรรม) ครั้งนี้เป็นการกระทำที่ไม่ดี เพราะไม่เอื้อเฟื้อพระวินัย การกระทำไม่ดีครั้งแรกนี้ ส่งผลในเวลาต่อมา นั่นก็คือ

      2. ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน เพราะมัวแต่ไปเที่ยวสัญจรในที่ต่างๆ เมื่อไม่ได้เรียนก็ไม่มีความรู้ในพระธรรมวินัย ไม่รู้ว่าทำอย่างไรถูก ทำอย่างไรผิด การปฏิบัติจึงคลาดเคลื่อน หรือวิปริตจากหลักพระธรรมวินัย เช่น ให้ศิษย์ดื่มปัสสาวะของตน ด้วยเข้าใจว่าเป็นการ “ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า” ดังที่ระบุไว้ใน “นวโกวาท”
      ในพระวินัย อนุญาตให้ใช้ปัสสาวะของตนเอง (เน้นของตนเอง) ดองสมอหรือมะขามป้อม ทำเป็นยารักษาโรค แต่นายวินัยเข้าใจว่า ให้เอาปัสสาวะของเขาแจกจ่ายให้ศิษย์อื่น แสดงถึงความเป็นผู้เคร่งครัดในพระวินัย ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน

     3. เมื่อมีผู้เคารพนับถือมากขึ้นๆ นายวินัย อมโร เห็นช่องทางสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเอง โดยค้นพบว่า ตนเองมีรูปร่างหน้าตาหล่อ มีเสียงนุ่มนวล (จากเสียงชมของคนข้างๆ) เจตนาอันไม่บริสุทธิ์ก็เริ่มก่อตัว เมื่อมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ก็เริ่มกระทำการต่างๆ อันจะนำมาซึ่งชื่อเสียง ลาภสักการะเช่น วางรูปแบบของการยืน เดิน นั่ง นอน กริยาท่าทางคล้ายพระพุทธเจ้า แสร้งทำสำรวมให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดความสนใจ
     ใช้วิชาไสยศาสตร์ที่ตนเรียนมาบ้าง สร้างปาฏิหาริย์ให้คนอัศจรรย์ บางครั้งก็ใช้เทคนิคการถ่ายภาพเพื่อให้เห็นแสงหรือรัศมีฉายออกจากร่าง สร้างบารมีโดยการเหยียบผ้าขาว ให้คนนำไปบูชา และสร้างมวลชนด้วยการจัดฉากบิณฑบาตด้วยถั่วงา บิณฑบาตครั้งละเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อแสดงให้เห็นศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของมหาชนที่มีต่อตน ฯลฯ กรรม หรือการกระทำทั้งหมดนี้ เป็นอกุศลกรรม หรือกรรมชั่ว เพราะกระทำด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์

      4. เขาพอใจที่มีคนแห่แหนแวดล้อมจำนวนมากๆ พอใจที่จะให้มีคนติดตามเป็นร้อยเป็นพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีทั้งหลาย พากันติดตามห้อมล้อม เรียกว่า “คลั่งไคล้” เลยก็ว่าได้ ในฐานะที่เขาเป็นภิกษุ เขาเห็นผู้คน “ติด” ในตัวเขาด้วยความศรัทธาที่มืดบอด เขาน่าจะตักเตือนสั่งสอนให้เขาหูตาสว่างขึ้น แต่เขากลับพอใจที่จะให้เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อพวกเขาคลั่งไคล้ใหลหลงในตัวเขามากๆ เขาก็ได้เงินบริจาคมาก กลายสภาพจากพระจนๆ เป็นพระ “อาเสี่ย” มีเงินเป็นสิบเป็นร้อยล้าน

      5. เมื่อมีเงิน ผู้หญิงก็ตามมา เขามิได้ฝึกฝนอบรมจิต ไม่มีภูมิคุ้มกันพอที่จะรักษาตนให้รอดพ้นปากเหยี่ยว ปากกาได้ แถมยังพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส เสียอีก จึงตกเป็นเหยื่อแห่งกามราคะ ถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กับสตรีมากหน้าหลายตา เขาได้ทำกรรมหนักขั้นปาราชิก ขาดจากความเป็นพระ ยากที่จะแก้ไขให้กลับคืน เปรียบเสมือนศพที่รอวันเน่าเปื่อย
       เมื่อทำชั่วได้ครั้งหนึ่ง ครั้งที่สอง สาม สี่ก็ตามมา ความละอายและเกรงกลัวต่อบาปก็ไม่มีอีกต่อไป เมื่อมีโอกาสไปสัมผัสกับบรรยากาศต่างประเทศ เห็นช่องทางที่จะทำชั่วโดยไม่มีใครเห็นจึงวางแผนไปต่างประเทศบ่อยครั้ง อ้างว่าไปเผยแผ่ธรรมให้แก่ชาวต่างประเทศ แท้ที่จริงก็คือหาเวลาหลบไปเสพสุขทางกามารมณ์

      6. กรรมชั่วที่ทำไว้ ต่างกรรม ต่างวาระ ก็สุกงอม สีกากลุ่มหนึ่ง บางคนตกเป็นเหยื่อกามของเขา ได้เข้าร้องเรียนต่อสมเด็จพระสังฆราช และภายหลังร้องเรียนต่อกระทรวงศึกษาธิการ

      7. หลังจากนั้นมา กรรมชั่วที่ทำไว้ และปกปิดมานานปีก็ค่อยๆ เปิดเผยทีละนิดละหน่อย เขาเองก็พยายามจะ “หยุด” วิบากกรรมของตน โดยสร้างกรรมชั่วใหม่เพิ่มเข้ามานั่นก็คือ ใช้อำนาจเงิน เพื่อให้ปกป้องช่วยเหลือตนเอง เมื่อทางคณะสงฆ์ประกาศใช้กฎนิคหกรรม คือให้กรรมการสอบสวนความผิด


@@@@@@@@

คณะกรรมการผู้พิจารณาก็พยายามช่วยเหลือเพื่อให้เขาบริสุทธิ์จากข้อกล่าวหา โดยวิธีการต่างๆ เช่น

     1. พยายามให้ผู้กล่าวหา “วางมือ” เช่น แสดงให้เห็นว่า ข้อกล่าวหาต่างๆ นั้นไม่มีน้ำหนัก ความผิดที่กล่าวหานั้นหาพยานไม่ได้ ถ้าจะเอาผิดก็ผิดน้อยเท่านั้น ไม่คุ้มกับที่เหน็ดเหนื่อยตรากตรำมาฟ้องร้อง ให้ถอนคดีเสีย แล้วเลิกราต่อกัน

     2. เมื่อฝ่ายร้องเรียนยืนกรานจะดำเนินการให้ถึงที่สุด ก็หาทางให้ผู้ร้องเรียนถูก “ข่มขู่” ดังได้ถูกประชาชนซ้อมจนสลบไสล ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว และก็ได้ผล ผู้ร้องเรียนได้ประกาศวางมือตั้งแต่นั้นมา

     3. แต่วิบากกรรมรอจะให้ผลมีอีกมาก จึงไม่ยอมให้เรื่องยุติเพียงแค่นั้น ทั้งๆ ที่กรรมการพิจารณากำลังจะ “จำหน่ายคดี” อยู่แล้ว การที่สตรีผู้ร้องเรียนถูกซ้อมจนสลบ ก่อความสะเทือนใจแก่ประชาชนมาก จึงไม่ยอมให้เรื่องหายไป โดยเฉพาะสื่อมวลชนได้เสนอข่าวอย่างครึกโครม และเรียกร้องผู้รับผิดชอบให้เร่งดำเนินการให้ถึงที่สุด

     4. เมื่อถูกกล่าวหาว่ามีบุตรกับสตรีนางหนึ่ง จึงมีผู้เสนอให้ตรวจดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์ความเป็นพ่อ แม่ ลูก โดยได้ตั้งคณะนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในวิศวพันธุกรรมศาสตร์ ดำเนินการเรื่องนี้ แต่อาจเป็นเพราะกรรมยังบังตาหรืออย่างไร นายวินัยก็ไม่ยอมให้เจาะเลือด อ้างว่าไม่มีในพระธรรมวินัย
       ครั้นนักปราชญ์ทางพระศาสนาบอกว่า การเจาะเลือดเพื่อหาความจริง ไม่ผิดพระธรรมวินัย ก็อ้างต่อไปว่า ตนพร้อมจะยินยอมให้เจาะเลือด ถ้าหากคณะสงฆ์ผู้ปกครองสูงสุด คือมหาเถรสมาคมสั่ง ครั้นต่อมาเมื่อมหาเถรสมาคมสั่งว่า วินัย “ควรจะพิจารณา” หมายถึงควรเจาะเลือดเพื่อพิสูจน์ความจริง เรื่องจะได้จบ ก็อ้างว่า มหาเถระให้พิจารณาเขาก็พิจารณาแล้ว แต่พิจารณาว่า ไม่ยอมเจาะ เขากล่าวทิ้งท้ายว่า เขาจะไม่ยอมให้เจาะเลือด จนกว่าประชาชนจะรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด

      5. กรรมก็เลยบันดาลให้ข้อเท็จจริงที่ยังปกปิดอยู่เปิดเผยขึ้น โดยหลักฐานเรื่องการเช่ารถไปเที่ยว และค้างคืนที่โมเต็ลในต่างแดนกับสตรี หลักฐานการเที่ยวซ่องโสเภณี ผ่านสลิปบัตรเครดิต ก็ถูกตีแผ่ทางสื่อมวลชน เขาก็อ้างว่า เป็นหลักฐานปลอม สร้างขึ้นมาเพื่อทำลายเขา กรรมจึงบันดาลให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานทำการพิสูจน์ และรับรองว่าเป็นหลักฐานจริง
       กรรมได้บันดาลให้ผู้จัดทำสารคดี บริษัทแปซิฟิค (ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล และคณะ) ต้องไปแกะรอย สืบหาความจริง ตามหลักฐานที่ระบุ จนกระทั่งได้ความจริงออกมาว่า นายวินัย อมโร ได้ไปเที่ยวซ่องจริง ได้ให้สาวขับรถพาไปเสพสุขกันตามโมเต็ลต่างๆ จริง ความจริงก็ยิ่งปรากฏชัดขึ้นจนไม่มีอะไรเคลือบแคลงสงสัยอีกต่อไป
       กรรมอีกนั่นแหละ ที่บันดาลให้มีการนำหลักฐานสลิปบัตรเครดิต และหลักฐานการไปเช่าบ้านพักอยู่ต่างแดนกับเมียและลูก หลักฐานเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตจ่ายค่าบริการทางเพศ เข้าสู่มหาเถรสมาคม กรรมการมหาเถรสมาคมบางท่าน ซึ่งก่อนนั้นไม่เชื่อว่าวินัย อมโร ทำผิด เมื่อเห็นข้อมูล และได้รับการอธิบายเป็นที่เข้าใจแล้ว ก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
       กรรมจึงบันดาลให้กรรมการมหาเถรสมาคมลงมติในการประชุมครั้งต่อมาด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ สั่งให้วินัย อมโร สละสมณเพศ คือสึกภายในสามวัน นับตั้งแต่วันออกคำสั่ง และในที่สุด วินัย อมโร จึงต้องสึกไป

      6. กรรมยังไม่หมด แทนที่จะสึกจริง กลับเปลี่ยนเพียงสีผ้าห่มเท่านั้น วินัย อมโร ยังทำตนดุจพระอยู่ ให้พระลูกศิษย์กราบไหว้อยู่ ออกบิณฑบาตดุจพระภิกษุทั่วไป อันเป็นการกระทำผิดอาญา ทางการบ้านเมืองจะต้องจับฐานไม่ใช่พระ แต่แต่งกายเลียนแบบพระ

@@@@@@@@

ในที่สุด วินัย อมโร หรือละอองสุวรรณ ก็คงจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในคุกเพราะกรรมชั่วที่ทำไว้ส่งผล ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลของการกระทำของเขาเองทั้งสิ้น เขาผิดเขาชั่วก็เพราะเขาทำเอง เขาได้รับผลอันเป็นความเสื่อมเสีย ก็เพราะเขาทำมาเอง มองให้ดี มองให้ชัดเถิดวินัยเอ๋ย ทำอย่างใดก็ย่อมได้อย่างนั้น อย่ามัวแต่ซัดทอดคนอื่นเลย






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 กรกฎาคม 2561
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน   : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2561
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_120454
Photo : pinterest
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ