ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “1 ตลาด 3 วัด” ลัดเลาะเที่ยวเมืองคนกล้า “สิงห์บุรี”  (อ่าน 625 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

วิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ วัดโพธิ์เก้าต้น


“1 ตลาด 3 วัด” ลัดเลาะเที่ยวเมืองคนกล้า “สิงห์บุรี”

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินชื่อเสียงความกล้าหาญของเหล่าวีรชนคนกล้าบางระจัน ที่ร่วมกันต่อสู้กับข้าศึกในช่วงก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ด้วยวีรกรรมกล้าหาญนี้ก็มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อรำลึก ณ อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี

และอีกจุดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็คือที่ “วัดโพธิ์เก้าต้น” อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี ซึ่งที่นี่เดิมเคยเป็นที่ตั้งของบ้านบางระจัน และเป็นฐานที่มั่นของค่ายบางระจันในการต่อสู้กับกองทัพพม่าที่ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2308


บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ในวัดโพธิ์เก้าต้น

ปัจจุบัน หากมาถึงที่วัดก็จะเห็นเป็นกำแพงที่สร้างจำลองมาจากกำแพงค่ายบางระจันเมื่อยุคปลายกรุงศรีอยุธยา ภายในวัดมีวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ ประดิษฐานรูปปฏิมากรรมของพระอาจารย์ธรรมโชติอยู่ โดยพระอาจารย์ธรรมโชติ เป็นที่เคารพของชาวสิงห์บุรีมาอย่างช้านาน เนื่องจากท่านเป็นมิ่งขวัญและกำลังใจแก่เหล่าวีรชนชาวบ้านบางระจันในการต่อสู้กับข้าศึก

ใกล้ๆ กับวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ จะเห็นว่ามีบ่อน้ำอยู่ โดยบ่อน้ำแห่งนี้ถือว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากในช่วงที่ชาวบ้านบางระจันต่อสู้กับกองทัพพม่า ต้องการขวัญและกำลังใจอย่างมาก พระอาจารย์ธรรมโชติจึงทำน้ำมนต์ใส่สระขนาดใหญ่เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้าน เลยถือกันว่าน้ำในบ่อเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบัน หากใครที่มาบนบานศาลกล่าว หรือขอพรที่นี่แล้วได้สิ่งที่ต้องการ ก็จะมาแก้บนด้วยการหาบน้ำมาเทลงในบ่อศักดิ์สิทธิ์ตามจำนวนหาบที่บนไว้


ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน

จับจ่ายใช้สอยในตลาด

ทำบุญที่วัดกันแล้ว ต้องไม่พลาดที่จะไปจับจ่ายใช้สอยกันต่อที่ “ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน” (เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.30-17.00 น.) ที่ตั้งอยู่ภายในวัดนั่นเอง ตลาดย้อนยุคแห่งนี้เกิดขึ้นจากการที่ พระครูวิชิต วุฒิคุณ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์เก้าต้น อยากช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ โดยเริ่มจากการให้ชาวบ้านนำผลผลิตทางการเกษตรมาขายอยู่ในพื้นที่วัดอยู่หลายปีโดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่ และมาในช่วงงานลอยกระทง พ.ศ.2559 ชาวบ้านย้ายไปจัดตลาดและงานลอยกระทงที่บริเวณท่าน้ำหลังวัด และใช้พื้นที่บริเวณนี้จัดเป็นตลาดย้อนยุคตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา

ผัดไทยฝีมือนักรบบางระจัน

เริ่มเดินเข้ามาในตลาดก็จะได้ยินเสียงพ่อค้าแม่ค้าเรียกซื้อของแบบภาษาโบราณ เป็นต้นว่า “รับน้ำดื่มเย็นๆ สักแก้วไหมเจ้าคะ” “ผัดไทยผัดกันร้อนๆ เลยนะขอรับ” แถมยังแต่งชุดไทย นุ่งโจง ห่มสไบ ใส่ผ้าแถบ ช่วยสร้างบรรยากาศย้อนยุคให้แบบสุดๆ

และพูดถึงบางระจัน ก็ต้องนึกถึงเหล่านักรบบางระจัน ที่ตลาดก็มีเดินขวักไขว่อยู่หลายคน โดยเฉพาะบริเวณปากประตูค่าย สามารถเดินเข้าไปขอถ่ายภาพได้เลย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (แต่จะมีกล่องรับบริจาคเพื่อเป็นทุนสำหรับดูแลตลาด) บางทีก็จะเห็นเหล่านักรบวิ่งถือดาบมา หรือเดินเล่นอยู่ในตลาด


นั่งสบายๆ ริมน้ำ

ส่วนของร้านค้าต่างๆ นั้น เน้นหนักไปในด้านของกิน โดยเฉพาะของอร่อยขึ้นชื่อของจังหวัดสิงห์บุรี มีทั้งของคาว ของหวาน อาทิ ผัดไทย กุนเชียงหมู/กุนเชียงปลา ปลาเห็ด (ทอดมัน) ปลาร้าสับ ขนมไทยโบราณ ผักผลไม้สดๆ จากสวน ก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บ ขนมจีน ฯลฯ

บรรยากาศในตลาดก็ถือว่าร่มรื่นน่าเดิน ได้ทั้งความร่มจากเงาไม้ใหญ่ และหลังคามุงจากกับวัสดุธรรมชาติที่ช่วยกันแสงแดด เดินชอปอยู่แล้วเริ่มเมื่อย ก็จะมีแคร่ให้นั่งพักขาเป็นระยะ หรือถ้าหากอยากได้ที่นั่งแบบชิลๆ แนะนำให้เดินมาบริเวณริมน้ำ ทางตลาดจัดเก้าอี้ไว้ให้มานั่งพักผ่อนกัน หรือจะซื้อของกินมานั่งกินบริเวณนี้ก็ได้ จะได้รับลมเย็นๆ จากคลอง แล้วก็มีร่มเงาจากต้นไม้ต้นใหญ่ให้พักพิง

พระนอนจักรสีห์

และหากว่ามาถึงที่สิงห์บุรีแล้ว ก็อย่าลืมแวะไปสักการะพระพุทธไสยาสน์ที่มีความยาวติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ที่ “วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร” ใน อ.เมือง จ.สิงห์บุรี

ปิดทององค์พระนอนจำลอง

ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างวัด และสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อไร แต่มีตำนานหนึ่งเล่าว่า สิงหพาหุซึ่งมีบิดาเป็นราชสีห์ มารดาเป็นธิดาของเศรษฐี เมื่อสิงหพาหุโตขึ้นเกิดความรู้สึกรังเกียจที่มีบิดาเป็นสัตว์เดียรัจฉาน จึงได้กระทำปิตุฆาต แต่ภายหลังสำนึกบาปจึงได้สร้างวัดพระนอนขึ้นเพื่อเป็นการชำระล้างบาป ซึ่งหากพิจารณาลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้าง ทั้งพระวิหารและพระอุโบสถแล้ว พบว่ามีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายหนจนไม่อาจระบุสมัยได้อย่างชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นก่อนสมัยอยุธยาตอนปลาย


เดินชมของเก่าในวิหารพระนอน

ภายในวัดพระนอนจักรสีห์ มีพระวิหารเป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระนอนจักรสีห์” พระพุทธรูปไสยาสน์ (พระนอน) ปางโปรดอสุรินทราหู เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น องค์พระมีความยาว 1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว ที่พระรัศมีมีเสากลมยอดบัวรองรับ หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก ปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสิงห์บุรี ใครที่ผ่านไปผ่านมาก็มักจะแวะมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลกับตัวเอง โดยด้านหน้าพระวิหารจะมีพระนอนองค์จำลองให้ได้มาปิดทองกันด้วย

และนอกจากนั้นภายในพระวิหารยังประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญคือ “พระแก้ว-พระกาฬ” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ เพื่อให้เป็นพระคู่บารมีพระพุทธไสยาสน์ เมื่อครั้งที่พระองค์มาประทับ ณ วัดพระนอนจักรสีห์ในระหว่างบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร แล้วก็ยังมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในสมัยก่อนให้ได้เดินชมกันด้วย


หลวงพ่อใหญ่ วัดพิกุลทอง

อีกวัดหนึ่งมีชื่อเสียงไม่น้อยของสิงห์บุรีก็คือ “วัดพิกุลทอง” (อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี) หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “วัดหลวงพ่อแพ” เนื่องจากความเลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อแพ (พระเทพสิงหบุราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี) อดีตเจ้าอาวาสของวัดแห่งนี้ซึ่งเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่งที่ทำประโยชน์ต่อพุทธศาสนามากมาย ทั้งยังมีส่วนทำให้วัดพิกุลทองแห่งนี้สวยงามอยู่ตลอดเวลา

รูปเหมือนหลวงพ่อแพ

ภายในวัดมีจุดเด่นอยู่ที่ “หลวงพ่อใหญ่” หรือ “พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย มีขนาดหน้าตักกว้าง 11 วา 2 ศอก สูง 21 วา 1 คืบ 3 นิ้ว ภายในเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กประดับด้วยโมเสกทองคำธรรมชาติชนิด 24 สามารถมองเห็นองค์พระสีเหลืองทองได้แต่ไกล

แวะชอปก่อนกลับบ้าน

ใกล้ๆ กับองค์หลวงพ่อใหญ่เป็นวิหารที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อแพ ที่ก่อสร้างด้วยทองเหลืองลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 6 เมตร ภายในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะอีกหลายจุด แล้วอย่าลืมแวะเข้าไปที่ “พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ” ซึ่งเป็นที่ตั้งศพของหลวงพ่อแพ และรูปเหมือนหุ่นขึ้นผึ้งขนาดเท่าจริงของหลวงพ่อแพ

ทำบุญในวัดเสร็จแล้ว ก็ยังตลาดเล็กๆ ให้แวะชอปจับจ่ายซื้อหาของฝากกลับบ้านกันไปแบบอิ่มใจและอิ่มท้องกันด้วย



ขอบคุณ : https://mgronline.com/travel/detail/9620000032810
เผยแพร่ : 7 เม.ย. 2562 12:37 โดย : ผู้จัดการออนไลน์
Facebook :Travel @ Manager
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ