ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ตถาคตโพธิสัทธา” ความเชื่อมั่นในหลัก “กรรม” ของชาวพุทธ  (อ่าน 943 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


“ตถาคตโพธิสัทธา” ความเชื่อมั่นในหลัก “กรรม” ของชาวพุทธ

คำว่า “โพธิสัทธา” จะเขียนอย่างสันสกฤตว่า “โพธิศรัทธา” ก็ได้ นะครับ แปลว่า ความเชื่อมั่น หรือความมั่นใจในปัญญาตรัสรู้ ซึ่งหมายถึง ศักยภาพของมนุษย์อย่างหนึ่ง หมายความว่า “โพธิ” หรือการตรัสรู้ อันเป็นปัญญาหรือญาณ (ความรู้) ที่ทำให้ลืมกิเลส-สิ้นทุกข์ โดยสิ้นเชิงนั้น เป็นวิสัยหรือเป็นความสามารถที่มนุษย์เข้าถึงได้

เคยสงสัยว่า ทำไมจึงใช้คำว่า “ตถาคต” ไม่ใช้คำว่า “พุทธ” หรือ “สัมมาสัมพุทธ” ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้.?

ภาษาในพระไตรปิฎก ซึ่งนักวิจัยชาวตะวันตกกำลังวิจัยศึกษาว่า น่าจะเป็น “ภาษาบาลี” มากกว่าเป็น “ภาษามคธ” อันเป็นภาษาท้องถิ่นในสมัยพุทธกาล คือน่าจะเป็นภาษากลางที่ใช้ในพุทธศาสนา (เถรวาท) มากกว่านั้น น่าทึ่งอย่างหนึ่ง คือ แต่ละคำ ถ้าพิจารณาให้ดี จะพบความรัดกุมในการใช้ภาษาอย่างยิ่ง

ทำไมจึงใช้คำว่า “ตถาคต” (ในคำว่า “ตถาคตโพธิสัทธา”.).?

คำว่า “ตถาคต” มักจะเข้าใจว่า หมายถึงพระพุทธเจ้า (เพราะในหลายที่ พระพุทธเจ้าหรือพระสมณะโคดม เรียกพระองค์เองว่า ตถาคต) แต่ความจริง พระพุทธเจ้าไม่เรียกพระองค์เองว่า “พุทธะ” (แม้จะเคยตรัสว่า ทรงเป็นพุทธะ- ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง หรือเป็น “สัมมาสัมพุทธะ) แสดงว่า คำว่า ตถาคต ไม่ใช่คำยกยอหรืออวดอ้างตัวเองว่า เป็นพระพุทธเจ้า แต่มีความหมายเพียงว่าเป็น “สัตว์โลก” คนหนึ่งเท่านั้นเอง

แต่ที่มีความหมายพิเศษว่าสัตว์โลกทั่วไป ก็เพราะตถาคตเป็นสัตว์โลกที่พูดอย่างไร หรือทำอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นได้ เป็นสัตว์โลกอย่าง “ตถาคต” ว่าอย่างนั้นเถิด

คำว่า “ตถาคตโพธิสัทธา” จึงมีความหมายว่า ความเชื่อมั่นในศักยภาพที่จะตรัสรู้ได้ของสัตว์โลก หมายความว่า การตรัสรู้หรือการมีญาณ (ความรู้) เพื่อความสิ้นกิเลส-สิ้นทุกข์นั้น สัตว์โลกก็เข้าถึงได้ คือ ความเชื่อมั่นว่า สัตว์โลกสามารถที่จะตรัสรู้ได้ อันสอดคล้องกับหลัก “กรรม” ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่บอกว่า กรรมคือการกระทำของสัตว์โลกเอง เมื่อต้องการจะสิ้นกิเลสหรือสิ้นทุกข์ ก็ต้องทำกรรมเอง (เพื่อให้สิ้นกิเลสหรือสิ้นทุกข์)

(แต่ก็จะพบคำแปล “ตถาคต” ว่า “พระพุทธเจ้า” อยู่นั่นแหละเพียงแต่ผมคิดว่า ภาษาบาลีในพระไตรปิฎก มีความน่าทึ่งอย่างลึกซึ้งเมื่อพิจารณาให้ดี)


@@@@@@

คำอธิบายเรื่องการเกิดทุกข์และการดับทุกข์ในปฏิจจสมุปบาทนั้น น่าพิจารณาให้ดีที่คำว่า “วิญญาณ” เกิดจากสังขาร กับ “วิญญาณ” ในนามรูปที่เกิดจาก “วิญญาณ” (วิญญาณปจฺจยา นามรูปํ) ว่า เป็นวิญญาณชนิดเดียวกันหรือไม่ และน่าพิจารณาคำว่า “วิญญาณโสตํ” (กระแสแห่งวิญญาณ) ชวนให้คิดว่า วิญญาณที่ล่องลอยไปเป็นดวง (อย่าง “สัมภเวสี”) ไม่มีในภาษาบาลีในพระไตรปิฎก (เถรวาท) เลย

ความรู้ในพระไตรปิฎกบาลีนั้น น่าสังเกตว่า เป็นความรู้ที่ต่างจากความรู้ทั่วไป จนใช้คำว่า “โพธิ” ซึ่งหมายถึงความรู้ที่เกิดจากการตรัสรู้ เป็นความรู้ที่เกิดจากสมาธิหรือฌาน

สมาธิหรือณานในพุทธศาสนาที่นำไปสู่การตรัสรู้นั้น เป็นสมาธิหรือฌานที่ยังใช้สติปัญญาในระดับขันธ์ 5 หยั่งรู้สิ่งต่างๆได้ เป็นสมาธิหรือฌานระดับจตุตถฌาน ยังไปเป็นอรูปฌาน ซึ่งละเอียดเกินไปจนใช้งานในการหยั่งรู้อะไรไม่ได้

เมื่อพระพุทธเจ้า (ก่อนตรัสรู้) ไปฝึกเข้าฌานหรือสมาธิกับสำนักดาบสทั้งสอง (คือสำนักอุททกดาบส และสำนักอาฬารดาบส) นั้น น่าสังเกตว่า ทรงเรียนรู้ได้เร็ว (คือเข้าฌานตามสำนักได้เร็ว) จนเห็นว่า ฌานในแบบเก่าๆ ของนักบวชสมัยนั้นไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอรูปฌานใช้พิจารณาหยั่งรู้อะไรไม่ได้ แม้จะเป็นฌานดิ่งลึก ก็ไม่มีทีท่าว่าจะช่วยกำจัดกิเลสได้ ไม่ใช่ทางตรัสรู้ธรรม จึงปลีกพระองค์ไปจากสำนักทั้งสอง ไปเพียรเพ่ง(เข้าฌาน) ที่ใต้ต้นโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพียรลำพังจนในที่สุด ก็ใช้ฌานขั้นต้น คือ จตุตถฌาน พิจารณาธรรมตามลำดับ

การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หยั่งรู้ได้จากการระลึกชาติได้ตามที่ต้องการ และหยั่งรู้การตายการเกิดในสังสารวัฏฏ์ของสัตว์โลกทั้งมวลว่าเป็นไปตามกรรมอย่างไร เป็นการระลึกชาติทั้งของพระองค์เองและของสัตว์โลกอื่นๆได้ อย่างที่ไม่เคยหยั่งรู้มาก่อน

และญาณ(การหยั่งรู้) สุดท้าย ที่ทำให้แน่พระทัยว่าได้ตรัสรู้แล้ว คือ “อาสวักขยญาณ” คือหยั่งรู้ว่า กิเลสในพระทัยทั้งปวงของพระองค์ หมดสิ้น ไม่เหลือตกค้างอยู่แม้แต่น้อย

@@@@@@

น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ในการแสดงธรรมหรือในการเทศน์สั่งสอนคนนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทรงใช้สมาธิทุกครั้ง แสดงว่าการเข้าฌานของพระพุทธเจ้าเป็นไปด้วยความชำนาญอย่างยิ่ง คือจะเข้าฌานเมื่อไร อย่างไรก็ได้

คำกล่าวของ “หลวงปู่ไข่” ที่ฟังจากพระธุดงค์รูปหนึ่งที่ว่าพุทธศาสนา ไม่ใช่ทั้ง “ศาสนา” (แบบของชาวตะวันตก) และไม่ใช่ทั้ง “ปรัชญา” (เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่มีเจ้าของ อย่างทฤษฎีทางปรัชญาของนักปรัชญาต่างๆ เป็นคำกล่าวที่ยังไม่ถูกต้องครบถ้วน เพราะพระธุดงค์รูปนั้นลืมไปว่า ในคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่ความรู้อันเกิดจากการครุ่นคิดหาเหตุผล (logic) อย่างความรู้ของนักคิดหรือนักปรัชญาชาวตะวันตก แต่เป็นความรู้ที่เกิดจากสมาธิหรือฌาน ซึ่งเกิดขึ้นทันทีโดยไม่ต้องครุ่นคิดแต่อย่างใด

จึงอาจเป็นไปได้เหมือนกันว่า มีความรู้หรือธรรมะแปลกปลอมปะปนอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าบ้างเป็นแน่ แต่ก็พอจะพิจารณาได้จาก “แนวธรรม” (ซึ่งขัดต่อหลักกรรมและอนัตตาในคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง)

ทั้งหมดที่เขียนหรือกล่าวมานี้ ยังโยงอยู่กับเรื่อง “วิญญาณ” ที่หมอปลาใช้คำว่า “สัมภเวสี” นั่น

ความเข้าใจหรือความเชื่อเรื่องสัมภเวสี ของชาวพุทธ(และของพระสงฆ์ทั่วไป) นั้น เป็นความเชื่อแบบลัทธิพราหมณ์โบราณ คือเชื่อว่า วิญญาณเป็น “อาตมัน” อย่างหนึ่ง ซึ่งแตกออกมาหรือเป็นส่วนหนึ่งของปรมาตมัน (จิตดวงใหญ่ของพระพรหม) ความเชื่ออย่างนั้น ทำให้เรื่องวิญญาณหรือจิต อธิบายกรรม (ที่ติดอยู่กับวิญญาณหรือจิต) ไม่ได้ เพราะวิญญาณหรือจิตอย่างนั้นแยกอยู่ต่างหากจากผู้ทำกรรม

@@@@@@

ในคำสอนของพระพุทธเจ้า มีกล่าวว่า “กัมมุนา วัตตตี โลโก” (สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม) และว่า “กัมมัง สัตตัง วิภชติ” (กรรมย่อมจำแนกสัตว์) ฯลฯ ล้วนแต่บอกว่า สัตว์โลกเป็นไป (รวมถึงไปเกิด) ตามกรรมอย่างไร

มีความรู้บางอย่าง ที่เกินวิสัยของการคิดหาเหตุผลแบบ logic (ตรรกะ) แต่ความรู้อย่างนั้น ปรากฏเองในฌานหรือสมาธิเช่นเดียวกับความรู้เรื่องโลก (ดวงดาว) และเรื่องจักรวาล ในพระไตรปิฎก ซึ่งน่าคิดว่า ในพระไตรปิฎกเห็นจักรวาลเป็นส่วนย่อยของโลก ธาตุ ส่วนทางวิทยาศาสตร์เห็นโลก (ดวงแต่ละดวง) เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล

แต่อย่าลืมว่า นักวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์ ผู้มีสมองคิดได้ว่องไวและได้กว้างไกลกลับเห็นว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งจักรวาล (cosmic religion) แสดงว่า ความรู้จากการตรัสรู้หรือจากการหยั่งรู้ด้วยฌานของพระพุทธเจ้า (ในพระไตรปิฎก) เป็นความรู้อีกอย่างหนึ่ง ที่รอการพิสูจน์อยู่

ผมมีความเชื่อ(แต่ยังอธิบายไม่ได้) ว่า วิญญาณ (ในปฏิจจสมุปบาท) ที่เกิดจากสังขาร (กรรม) ก็คือ วิญญาณใน “นามรูป” (ในปฏิจจสมุปบาทเช่นกัน) นั่นเอง แต่คงไม่ใช่แค่การรับรู้อย่างวิญญาณที่ทำงานในขันธ์ 5 ก็เลยมีความคิดอย่าง “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” ที่กล่าวว่า “เวทนา สัญญา สังขาร (เจตนา) และ วิญญาณ” ในขันธ์ 5 เป็นอาการของจิต คือ ผมเชื่อว่า วิญญาณที่หมอปลาเรียกว่า “สัมภเวสี” นั้น ก็คือ วิญญาณในขันธ์ 5 ที่ไปเกิดแล้วนั่นเอง

แต่ผมก็อธิบายไม่ได้ (เพราะไม่เห็นด้วยฌาน) ว่า วิญญาณนั้นมีสภาพเป็นอย่างไรเมื่อร่างกายหรือ “รูป” ดับลง คิดแต่ว่า มีจิตหรือวิญญาณ (รวมเรียกว่า “นาม”) ซึ่งเนื่องอยู่กับขันธ์ 5 นั่นเอง เมื่อวิญญาณไปเกิดในภพใหม่ ก็ไปโดยวิธี “วิภชติ” ของกรรมนั่นเอง คือ กรรมเป็นผู้จัดสรรให้วิญญาณไปอยู่ในภพใหม่ที่เหมาะสมเอง

ผมก็คิดได้เท่านี้แหละครับ เป็นความคิดแบบหาเหตุผลอย่างนักปรัชญาทั่วไป ซึ่งหลวงปู่มั่นท่านกล่าวว่า วิธีที่จะรู้ว่าวิญญาณไปเกิดอย่างไรนั้น ไม่มีวิธีอื่น นอกจากหยั่งรู้ได้ด้วยฌานหรือสมาธิเท่านั้น

@@@@@@

ผมมีความเห็นว่า วิชา (ความรู้) ในพระอภิธรรมปิฎก ไม่ใช่ “พุทธวจนะ” โดยตรง แต่เป็นคำอธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องที่เข้าใจยาก เช่น เรื่อง จิต เจตสิก เรื่อง รูป (ทั้งรูปหยาบและรูปละเอียดในขันธ์ 5) และเรื่อง นิพพาน แม้พระอภิธรรมปิฎกจะไม่ใช่พุทธวจนะโดยตรง แต่ก็อธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง ความรู้เรื่อง วิญญาณและ “สัมภเวสี” นั้น เห็นจะต้องอาศัยพระอภิธรรมปิฎกช่วยอธิบายอีกทางหนึ่ง จึงจะรู้ว่า วิญญาณ เป็น “กระแส” อย่างไร และจะได้คำตอบว่า สัมภเวสี เป็นสัตว์โลกในอีกภพหนึ่งอย่างไร

ในวิชาพระอภิธรรมกล่าวว่า ที่อยู่ของจิต(หรือวิญญาณ) เป็นคูหา (ถ้ำ) ชี้ไปที่ “หทัย” (ซึ่งเป็นหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดโลหิต) ส่วนนักสรีรวิทยากำลังคิดว่า “สมอง” ทำหน้าที่คิดมากกว่า ไม่น่าจะเป็น “หทัย” (หรือหัวใจ) แต่อย่าลืมว่า ถ้าสมองมีปัญหาขาดเลือดจากหัวใจ (หรืออะไรก็ตามที่ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปยังสมอง) สมองก็ทำงานไม่เป็นปกติเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ผมก็คิดไม่ออกอยู่ดีว่า วิญญาณ (ที่เรียกว่า สัมภเวสี) ไปอยู่ในร่างคนได้อย่างไร ถ้าเป็นอย่างที่หมอปลาขับไล่สัมภเวสีหรือวิญญาณออกจากร่างหรือจากบ้านเรือน ก็แสดงว่าสัมภเวสี มีขันธ์ 5 สามารถรับรู้อะไรต่างๆได้เหมือนสัตว์โลกอื่นๆหรืออย่างไร

ก็นี่แหละ ในพระไตรปิฎกจึงมีคำสอนเรื่อง “อจินไตย” ให้สำรวมระวังในการแสดงความรู้ไว้ด้วย ในอจินไตย มีเรื่องกรรม เรื่องโลก และเรื่องพุทธวิสัย ว่าเป็นเรื่องที่คิดแล้วบ้า.! นั่นแหละ

ครับ ผมกำลังเอาเรื่อง “สัมภเวสี” มาครุ่นคิดอยู่




ขอบคุณ : https://siamrath.co.th/n/153376
สยามรัฐออนไลน์ ,9 พฤษภาคม 2563 00:10 น. ,ศาสนา-ความเชื่อ ,คนข้างวัด อุทัย บุญเย็น
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ