ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธทาสสร้างสโมสรเพื่อกรีด “เลือดบ้า” ออกจากหัวคนหนุ่ม เลือดบ้าที่ว่ามีอะไรบ้าง?  (อ่าน 453 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ท่านพุทธทาส (กลาง) คณะสงฆ์ และฆราวาส


พุทธทาสสร้างสโมสร เพื่อกรีด “เลือดบ้า” ออกจากหัวคนหนุ่ม เลือดบ้าที่ว่า มีอะไรบ้าง.?

พุทธทาสสร้างสโมสรเพื่อกรีด“เลือดบ้า”ออกจากหัวคนหนุ่ม บ้าเลื่อนลอย, ฉุนเฉียว และอวดดี

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปญฺโญ) หรือ “พุทธทาสภิกขุ” (27 พฤษภาคม 2449 – 8 กรกฎาคม 2536) ท่านปวารณาตนเองเป็น “พุทธทาส” เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด และเป็นผู้ก่อตั้ง “สวนโมกพลาราม” หรือวัดธารน้ำไหล

บทความนี้เป็นการคัดย่อจากบันทึกประจำวันที่ท่านพุทธทาสเขียนในปี 2485 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2485 เกี่ยวกับเรื่อง เลือดบ้าที่ต้องกรีดออกเสียจากศีรษะของคนหนุ่ม ว่า

อาทิตย์ 15 กุมภ. หอสมุด

[20.30] เช้าแล้ว ท่านปลัดมาคุยด้วย ถามถึงเรื่องได้ยินน้าจูดว่าจะสร้างอะไรอย่างหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าอะไร เลยอธิบายให้ฟังถึงจุดประสงค์ของ “สโมสร” ที่จะสร้าง…

…เราบอกให้รู้ว่า มีความประสงค์จะเปิด “สโมสรคนหนุ่ม” ขึ้น โดยวัตถุประสงค์จะทำการ “กรีดเลือดบ้า ออกจากหัวคนหนุ่ม!”


@@@@@@

สำหรับผู้ติดตามงานของท่านพุทธทาส อินทปัญโญ “คณะธรรมทาน” อันเป็นหนึ่งในสามส่วนงานสำคัญที่ท่านและท่านธรรมทาสร่วมกันริเริ่มไว้ คือ สวนโมกขพลาราม คณะธรรมทาน และวัดธารน้ำไหล ให้มีบทบาทผสมผสานกันเพื่อศึกษา ปฏิบัติ ค้นคว้าและเผยแผ่ธรรมอย่างครบครันทั้งปฏิบัติ ปริยัติ และเผยแผ่เพื่อถึงซึ่งปฏิเวธอย่างกว้างขวางนั้น “สโมสรธรรมทาน” ที่ก่อสร้างเมื่อปี 2485 ที่มีบันทึกอนุทินการก่อสร้างไว้มีความน่าสนใจมาก เพราะท่านระบุไว้ว่า “มีความประสงค์จะเปิด ‘สโมสรคนหนุ่ม’ ขึ้น โดยวัตถุประสงค์จะทำการ ‘กรีดเลือดบ้า ออกจากหัวคนหนุ่ม!’”

ท่านบันทึกปรารภในอนุทินถึง “ตัวอย่างบางประการอันสะแดงถึง ‘เลือดบ้า’ ที่จะต้องกรีดออกเสียจากศีรษะของคนหนุ่มตามความมุ่งหมายแห่งการจัดตั้งสโมสรคนหนุ่มของเรา” ว่าประกอบด้วย

อาการ “กำลังฟุ้งและมีอารมณ์อันเลื่อนลอย… ไม่มัธยัตถ์ สำรวม จะได้มีจิตต์ที่ประณีตสุขุม อันเปนจิตต์ใจที่จำทำให้คนเราครองชีวิตราบรื่นเยือกเย็นถึงที่หมายได้ทั้งด้านกายและใจ”, “โง่ อย่างมาจากอเวจี!…ฝันเร็วเกินไป”, “ใฝ่ฝันถึงแต่ความเพลิน… ใช้จ่ายในทางหาความเพลิน”, “ฉุนเฉียวและอวดดี เมื่อถูกตักเตือนหรือขัดแย้ง หรือด่าว่าก็โกรธ หรือบ่นตอบงุบงิบได้…ไม่ต่อหน้าก็ลับหลัง…เปนเชื้อโรคแห่งความไม่อดทน…จัดเปนปัจจัยแห่งการตั้งตัวไม่สำเร็จ”

@@@@@@

รวมทั้งที่บันทึกจากเหตุการณ์ที่ท่านประสบเองในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ว่า “มีผู้บอกว่า…หนุ่ม ๆ 2-3 คน… หาว่าเรารักพวกผู้หญิงในบ้านโคกหม้อ… เรื่องนี้เปนเหตุให้นึกไปถึงว่าศีลธรรมของพลเมืองไทยเรายังต่ำมากอย่างน่าสลดใจ ข้อนี้ทำให้เราเกิดความรู้สึกขึ้นในใจเราทันทีว่าถ้าเราไม่ตายเสียเร็วเกินไป เราจะขยายกิจการของคณะธรรมทานให้มีวงกว้างไปถึงการแก้ไขความต่ำทรามในทางศีลธรรมของคนหนุ่มประเภทนี้ด้วยให้จงได้เปนแน่.”

ดูความอวดดีของตัวกันสักครั้ง ท่ามกลางการสร้างธรรมสโมสร

ในบันทึกประจำวันเมื่อปี 2485 ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการเขียนบันทึกประจำวันตั้งแต่ต้นปีและเขียนอย่างสม่ำเสมอทุกวันจนตลอดปี ในหลากหลายนับร้อยเรื่องนั้น บันทึกข้างต้นเรื่องเลือดบ้ากับคนหนุ่มแสดงถึงเจตนาจริงจังอีกเรื่องของท่านตามที่ตั้งใจไว้เมื่อต้นปีว่า

“ปีนี้ นับเปนปีที่เรามีอายุ ย่างเข้าปีที่ 37  เราผ่านมา 3 รอบปีเต็ม ๆ บริบูรณ์แล้ว เวลาสำหรับเปนเด็ก สำหรับศึกษาเบื้องต้น สำหรับทดลองนั้น เราอยากจะให้สิ้นสุดกันเสียที ต่อนี้ไปเราจะทำจริง แน่วแน่จริง ทุก ๆ อย่าง แม้ที่สุดแต่การเขียนบันทึกประจำวัน”


สโมสรธรรมทาน ขณะดำเนินการก่อสร้างใกล้สำเร็จ

โดยเกือบตลอดปีที่ออกป่าหาไม้ ตัดลากไม้มาเลื่อย ฟัน หานานาวัสดุและกำลังแรงงานมาก่อสร้าง อาคารสโมสรคณะธรรมทานดังที่ท่านบันทึกในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ว่า “ตอนกลางคืนสนทนากับท่านธนเรื่องอยากสร้าง ‘สโมสรธรรมทาน’ เสียโดยเร็ว…ใช้วิธีช่วยกันทำเสียเอง…เราจะลองใช้ความพยายามดูให้เต็มที่เพื่อหาความจริงบางอย่างเกี่ยวกับการงานประเภทนี้ และการใช้หลักวิชาทางจิตตวิทยาในการขอความร่วมมือจากสังคมเพื่อดำเนินกิจการใหญ่โตข้างหน้าสืบไป… อย่างไรก็จะได้ดูความอวดดีของตัวกันสักครั้งเปนแน่.”

มีบันทึกทั้งข้อคิดและกิจที่ทำอยู่มากมายที่สะท้อนถึงกระบวนวิธีคิดและการทำงานของท่านตลอดจนชุมชนชาวไชยาที่มีส่วนร่วม โดยเฉพาะการพัฒนาด้านในและหลักคิด “ลดเลือดบ้า” มาหาการ “เป็นอยู่อย่างต่ำ กระทำอย่างสูง” หรือ “Plain Living High Thinking” เช่น

วันนี้เปนวันมาฆบูชา พระจันทร์เพ็ญแห่งมาฆฤกษ์ เปนวันที่ระลึกถึงบรรดาพระอรหันต์ทั้งมวล แต่ว่าเราเอง… กำลังพัวพันอยู่กับธุระในการสร้างธรรมสโมสร… การสงบใจและระลึกถึงธรรมเช่นนี้รู้สึกว่าทำได้หยาบไปบ้าง ไม่ประณีตสุขุมเต็มที่เหมือนปีที่ว่างจากกิจชะนิดนี้

แต่อย่างไรก็ดีอาศัยที่มีความชำนาญในทางธรรมและปรัชญาของชีวิตยิ่งขึ้นทุกปี ๆ แม้ในคราวที่ยุ่งด้วยธุระเช่นนี้ ก็ดูเหมือนจะยังซึมซาบในธรรมซึ้งกว่าปีแรก ๆ ที่ยังเปน ‘นักเรียนใหม่’ เสียอีก… การงานหรือวัตถุที่ถึงแม้จะเปนทางโลก กล่าวคือยุ่งเหยิงเพียงไรก็ตาม แต่ถ้าเรารู้จักมอง เราอาจพบธรรมที่ลึกซึ้งได้เช่นเดียวกัน…สิ่งเหล่านี้เปนบทเรียนที่เราจะต้องสอบผ่านไปให้ได้ เพื่อให้จิตต์ใจอยู่สูงกว่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้มีความสามารถรอบตัวในการเอาชนะโลก. (1 มีนาคม)

@@@@@@

จวนเย็นฝนตก ขลุกขลักดี เปนรสชาติอันใหม่ หลังคารั่วพรูไม่มีที่หลบ… พวกที่ไปผูกไม้และตามช้างต้องเปียกซอมซ่อ หนาวและคัน กลับมาถึงที่พักก็ไม่มีที่แห้ง… พวกพระเณรหลายรูปนอนบนขอนซุงที่เปิดปีกแล้วโดยไม่มีอะไรมุงอิกตามเคยนอกจากจีวรที่คลุมตัว ทั้งนี้นับว่าเปนบทเรียนทางใจได้อย่างหนึ่งทีเดียว เมื่อต่างคนต่างเห็นเพื่อนกันทนได้ ก็พลอยทนได้ไปด้วย ดูก็มีประโยชน์มากในการที่ได้ถูกเช่นนี้เสียบ้าง. (30 มีนาคม)

แล้วฝากท่านผู้สำเร็จราชการโคสนา “พุทธสาสนาสำหรับนักสึกสาหนุ่ม”

และเมื่อมีโอกาสหารือเรื่องแผนการขยายงานพระศาสนากับท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 18-19 และ 22 เดือนมิถุนายน 2485 แล้ว ท่านได้เลือกให้เรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก ส่งให้ช่วยโคสนา “พุทธสาสนาสำหรับนักสึกสาหนุ่ม” ดังในจดหมายลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2485 ถึงนายจำกัด พลางกูล เลขานุการของ ฯพณฯ ปรีดี  พนมยงค์ ด้วยคำโคสนาตอนหนึ่งว่า


@@@@@@

“เพื่อนนักสึกสาหนุ่มทั้งหลายที่ยังไม่ทราบ โปรดทราบว่า ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ ‘วิญญาณแห่งชาวพุทธ’ ส่วนมากแห่งเมืองทองของเราที่ยังค่อนข้างจะ ‘สลัว’ อยู่ ได้มีโอกาสตื่นขึ้นบ้างตามนัยที่ควรนั้น เราได้จัดองค์การน้อยๆ ต่างๆ ขึ้นนับด้วย 10 ปีมาแล้ว และเท่าที่กำลังดำเนินอยู่ในบัดนี้ตามที่สามารถจะทำได้และที่ท่านควรทราบย่อๆ คือ…

หนังสือพิมพ์ ‘พุทธสาสนา รายตรีมาส’ ออกสามเดือนครั้ง…คนะธัมทาน…เปนแหล่งกลางแห่งการติดต่อทางธุระการและสำนักงานหนังสือพิมพ์… หอสมุดธัมทาน สำนักงานน้อยๆ ที่ทำการฝ่ายวิชาการและหอสมุด…สวนโมกขพลาราม ที่ก่อกำเนิดกิจการฟื้นฟูความรู้และการปติบัติธรรม เปนที่อยู่อาสัยเฉพาะของภิกสุสามเณรผู้ยังทำการสึกสาค้นคว้าและแสวงสุข… ผู้ที่สนใจร่วมกันทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน คือ ชาวคณะธัมทาน”

เลือดบ้าในหัวคนหนุ่มจะมีกี่มากน้อยในวันนี้นั้นไม่อาจประมาณถูก แต่ที่แน่ ๆ คือ ความอวดดีของพุทธทาสและคณะธรรมทาน ที่พัฒนาสืบสานมาจนถึงทุกวันนี้กว่า 65 ปีแล้วนั้นเกินกว่าจะประมาณได้ ดังปรากฎในบันทึกตลอดปี 2485 กระบวนวิธีการทำงานของท่านอาจารย์พุทธทาส ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวรายละเอียดตลอดทั้งปีที่มีสารพัดข้อคิด กิจที่ทำการศึกษาปฏิบัติ ตลอดจนแม้เหตุการณ์บ้านเมืองที่เพิ่งประกาศสงคราม การหารือกับท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน การขอเปลี่ยนชื่อ การสำรวจสถานที่เพื่อสร้างสวนโมกข์ปัจจุบัน จนแม้การพักผ่อน “เล่น” และ “วันแสนสุข” ที่ท่านว่าล้วน

“เปนบทเรียนที่เราจะต้องสอบผ่านไปให้ได้ เพื่อให้จิตต์ใจอยู่สูงกว่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้มีความสามารถรอบตัวในการเอาชนะโลก”


สมุดบันทึกลายมือท่านพุทธทาส


ข้อมูลจาก : บัญชา พงษ์พานิช. “เมื่อท่านพุทธทาสสร้างสโมสร เพื่อกรีดเลือดบ้าออกจากหัวคนหนุ่ม”, ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2550
เผยแพร่ : วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 7 มกราคม พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_25560
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ