ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “หอผี…พราหมณ์…พุทธ” สัญญะแห่งศิลปะงานช่าง ของ ความเป็นมนุษย์ในสุวรรณภูมิ  (อ่าน 436 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




“หอผี…พราหมณ์…พุทธ” สัญญะแห่ง ศิลปะงานช่าง ของ ความเป็นมนุษย์ ในสุวรรณภูมิ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์ก็คือการมีสำนึกในการทำความเข้าใจเรื่องราวความเป็นไปของตนเองรวมถึงสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่อยู่รอบกาย และได้ขยายขอบเขตไกลไปจนถึงจักรวาล ก่อเกิดเป็นวิถีวัฒนธรรมความเชื่อ ที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ทุกหมู่เหล่า ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคม โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นระบบการรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยแสดงออกผ่านพิธีกรรมแห่งลัทธิความเชื่อไม่ว่าจะเป็นผี เทพ หรือพระเจ้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของมนุษย์ที่มีต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ โดยมักปรากฏอยู่ในรูปศาสนาผี ขณะที่ระบบความเชื่อทางศาสนาต่างๆ มักแสดงออกในลักษณะให้มนุษย์สยบยอม ซึ่งจารีตดังกล่าวยังคงสืบทอดคติมาจนถึงปัจจุบัน

โดยความเชื่อเรื่องผีถือเป็นลัทธิความเชื่อหนึ่ง ซึ่งนักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นระบบความเชื่อที่เก่าแก่และมีความสำคัญที่สุดของมนุษย์ทุกหมู่เหล่าและหากปราศจากความเชื่อเหล่านี้แล้ว ศาสนาก็จะไม่เกิดขึ้น รวมถึงมนุษย์ก็จะไม่สามารถพัฒนาสร้างอารยธรรมความเจริญของตนเอง รวมถึงการดำรงตนให้มีชีวิตรอดอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้

@@@@@@

โดยในแถบถิ่นสุวรรณภูมิ ระบบความเชื่อในการเคารพบูชาผี ถือเป็นระบบความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนในแถบถิ่นนี้ซึ่งมีมาไม่น้อยกว่า 3,000 ปีของคนในยุคปฏิวัติเทคโนโลยี ก่อนรับศาสนาพราหมณ์และพุทธ โดยศาสนาพราหมณ์-พุทธ ทำให้ศาสนาผีของชนเผ่าเหล่ากอพื้นเมืองที่เชื่อกันมาแต่เดิมต้องกระทบกระเทือนแล้วถูกปราบปรามลงเป็นบริวาร เช่น ผีนาค เป็นบริวารผู้พิทักษ์ศาสดาในศาสนาพราหมณ์และพุทธ จึงปรากฏคติการสร้างสรรค์งานช่างทางศาสนาที่มีรูปนาคเป็นสัญญะอยู่ตามศาสนสถานในฐานะบริวารผู้ปกป้องคุ้มครอง ฯลฯ แต่ผีสำคัญบางตนมีอำนาจยั่งยืนมั่นคงจนปราบไม่ได้ก็ถูกผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของศาสนาจากชมพูทวีป เช่น  ผีแถน ถูกทำให้เป็นพระอินทร์หรือเทวดา แล้วเรียกเป็นผีฟ้า เป็นต้น (สุจิตต์ วงษ์เทศ. สุวรรณภูมิ ต้นกระแสประวัติศาสตร์ไทย. 2549, น. 77.)

โดยจะเห็นได้ว่าระบบความเชื่อเหล่านี้เป็นไปในลักษณะที่อยู่เหนือลัทธิความเชื่อเดิมทั้งหมดโดยเฉพาะการแทรกซึมเข้าไปอยู่ในจิตสำนึกในลักษณะสยบยอมระหว่างคติผีที่เป็นรากเหง้าเดิมกับศาสนาใหม่ โดยมีการปรุงปรับดัดแปลงศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธ (ที่ใช้รักษากฎเกณฑ์ทางจิตวิญญาณของบุคคล) โดยไม่ขัดกับหลักความเชื่อผีอีก

ทั้งยังเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับความเชื่อเดิมของตนดังตัวอย่างพุทธพิธี บวชนาค ทำขวัญนาค บายศรีสู่ขวัญ พิธีการเก็บศพไว้หลายวัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับศาสนาผีที่ปรุงปรับเข้ากับพุทธ ทั้งนี้การนับถือผีมิได้ถูกจำกัดแต่เฉพาะผีคนตาย หากแต่หมายรวมถึงผีดีที่คอยปกป้องคุ้มครอง และผีร้าย เช่น ผีกะหรือผีปอบ ที่เชื่อว่าทำร้ายชาวบ้าน โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง ซึ่งนักมานุษยวิทยาอธิบายว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของความขัดแย้งทางชนชั้นในสังคมบ้าน


๑ หอไว้กระดูกบรรพบุรุษ เกาะบอร์เนียว, ๒ หอเก็บกระดูกในฟิลิปปินส์

ความเชื่อดังกล่าวได้ก่อเกิดนฤมิตกรรมการสร้างสรรค์ในเชิงสัญญะเพื่อใช้เป็นสื่อกลางแทนความของการมีตัวตนหรือเป็นที่อยู่ของผีหรือที่สถิตอยู่ของดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น เช่น ในกลุ่มชนพื้นเมืองต่างๆ อย่างในอีสานมักมีหิ้งผี (ผีบรรพบุรุษ) ประจำเรือน เช่น กลุ่มไทยย้อ กะเลิง จะเรียก ผีแจ หรือ ผีเชื้อ ส่วนในกลุ่มผู้ไทแถบนครพนม สกลนคร และมุกดาหาร เรียกว่า ผีวงศ์หรือผีด้ำ ก็เรียก โดยจะอยู่บริเวณที่เป็นห้องเปิงในเรือนใหญ่ และเมื่อขยายออกมาสู่ชุมชนในพื้นที่สาธารณ์ก็จะมีหอผีประจำหมู่บ้าน อย่างกลุ่มชนตระกูลไทย-ลาวก็มีคติการทำหอผีบรรพบุรุษโดยแยกออกเป็นฝ่ายหญิงฝ่ายชาย

ในภาคอีสานผีปู่ตาถือเป็นผีบรรพบุรุษของชุมชนในระดับหมู่บ้าน หากขยายไปสู่ระดับเมือง จะเปลี่ยนสถานภาพเป็นเทวดาอารักษ์ ที่เรียกกันทั่วไปว่าผีมเหสักข์หลักเมือง หรืออย่างกรณีในเวียดนามเหนือกลุ่มชาวผู้ไทก็มีการทำ หอผีบ้าน หอผีเมือง และในกลุ่มข่า กำมุ หรือที่เรียกว่ากลุ่มลาวเทิง ใน สปป.ลาวก็จะมีการสร้างหอกว๊านหรือหอก๊วน อันเป็นศาสนาคารที่อยู่ของผีกว๊านซึ่งเป็นผีใหญ่ของชุมชนที่จะคอยดูแลมวลสมาชิกในหมู่บ้าน (เหมือนผีอารักษ์ในวัฒนธรรมลาวลุ่ม) โดยหอกว๊านนี้จะเป็นอาคารที่สำคัญที่สุด (ทั้งตำแหน่งที่ตั้งตลอดจนขนาดและการตกแต่ง) ในชุมชนซึ่งตั้งอยู่บริเวณเดิ่นบ้าน หรือลานกลางบ้าน


๓ พระภูมิเจ้าที่ในวิถีใหม่ กรุงเทพฯ, ๔ พระภูมิเจ้าที่ในวิถีคนเมือง กรุงเทพฯ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความเชื่อศรัทธาแห่งศาสนาผีถือเป็นเรื่องของความหวังผลในความเป็นปัจจุบันขณะ เช่น การทรงเจ้าเข้าผี เพื่อขอให้ถูกหวย ขอให้รวย ขอให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บในวันนี้พรุ่งนี้ แต่ขณะที่ความเชื่อทางพุทธรวมถึงศาสนาอื่นๆ เป็นเรื่องของการหวังผลในโลกหน้า เช่น ทำดีได้ขึ้นสวรรค์ ทำชั่วตกนรก ฯลฯ แต่ทั้งหมดแสดงให้เราเห็นว่า ในยามที่มนุษย์สูญเสียความมั่นใจ โดยเฉพาะ “สภาวะการขาดที่พึ่ง” ไม่ว่าจะเป็นห้วงของความกลัวหรือในยามที่ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวก็ต้องอาศัยพลังอำนาจพิเศษที่เรียกว่าอำนาจเหนือธรรมชาติ และไม่ว่าจะอยู่ในรูปของศาสนาผีหรือศาสนาใดก็ตามแต่

สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งเดียวที่สามารถควบคุมความอหังการของมนุษย์ได้ดีกว่าระเบียบกฎเกณฑ์ใดๆ ภายใต้ท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ หรือความเคลือบแคลงที่มีต่อลัทธิความเชื่อใดๆ จนเป็นที่มาของวลีอมตะที่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”


๕ พระภูมิเจ้าที่ในวิถีไทบ้าน, ๖ หอพระโรงเรียนอนุบาลวารินชำราบ (ก่อวิทยาคาร) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (หน้าทางเข้าวัดหนองป่าพง)

“หอผี พราหมณ์ พุทธ” ว่าด้วยรูปแบบในเชิงช่าง ล้วนมีความหลากหลายโดยผันแปรไปตามรสนิยมทางศิลปะผสานกับความเชื่อในแต่ละลัทธิศาสนา ที่จำแนกแยกแยะตามฐานะทางสังคม อีกทั้งเงื่อนไขทางความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีวัสดุการก่อสร้าง ดังตัวอย่างที่พบเห็นได้ง่ายที่สุดคือศาลพระภูมิ (เป็นส่วนผสมระหว่างคติฮินดูกับพุทธ)

ซึ่งในวัฒนธรรมลาวจะเป็นที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษ หากแต่ในวิถีสังคมเมืองหลวงมักมีความเชื่อในการเป็นที่สิงสถิตของเจ้าที่เดิม (ผีที่ถูกยกระดับเป็นเทพ) ซึ่งมักจะลดระดับความสูงไม่ให้สูงเท่าศาลพระภูมิ และมีรูปเคารพเจว็ดหรือองค์พระภูมิ (รูปเทวดาถือพระขรรค์ด้วยมือขวาและมือซ้ายแต่เดิมถือสมุดมาในสมัยหลังเปลี่ยนเป็นถุงเงินถุงทองแทน) และเครื่องประกอบ เช่น กระถางธูป เทียน ช้าง ม้า นางรำ ผ้าแพร ซึ่งมีรูปแบบทางโครงสร้างแบบเครื่องก่อปูนกับเครื่องไม้แบบเสาเดียว (ซึ่งเชื่อมโยงกับหลักบือบ้านในคติผีหรือในคติพุทธก็มักจะตีความเป็นคติไตรภูมิ) และสี่เสาหรืออาจมีมากกว่านั้นโดยจำนวนเสารองรับนี้ในบางวัฒนธรรมก็ตีความเป็นการแบ่งระดับชั้นของผีที่ต่ำลงมา


๗ หอผีเผ่ายะเหิน บ้านห้วยจอก เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว, ๘ พระภูมิเจ้าที่ในวิถีสังคมเมืองที่ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทรสนิยมสังคมวัฒนธรรมและเทคโนโลยี

โดยทั้งนี้นิยมตั้งไว้ตามที่พักอาศัย ด้วยรูปลักษณะแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณี (แบบพื้นถิ่นภาคกลาง) ที่นำลักษณะของ วัด วัง รวมถึง เรือนไทยแบบคหบดี และในยุคสมัยหลังมีการนำรูปแบบพระปรางค์ปราสาทศิลปะเขมรมาสร้างจำลองย่อส่วน ซึ่งถือเป็นรูปแบบมาตรฐานที่พบเห็นอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีคติการสร้างศาลพระพรหม ซึ่งโดยมากจะสร้างไว้ตามห้างร้านธุรกิจขนาดใหญ่ถึงขนาดย่อม โดยมีศาลพระพรหมหน้าโรงแรมเอราวัณเป็นต้นฉบับในด้านรูปแบบโดยมีลักษณะอย่างศาลาโถงตกแต่งส่วนยอดเป็นจั่วหน้าพรหมจัตุรมุข โดยนิยมตกแต่งส่วนยอดเป็นทรงปรางค์ปราสาทแบบศิลปะเขมรเป็นส่วนใหญ่

และในปัจจุบันมีการออกแบบที่น่าสนใจ ท้าทายวิถีสังคมจารีต ด้วยรูปลักษณะสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ตามกระแสหรือบ้างก็มีการผสมผสานหรืออาจกลายพันธุ์ไปแบบสุดขั้วก็มีปรากฏอยู่เช่นกัน อันเป็นพัฒนาการแห่งรสนิยมในงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์ไปกับความเชื่อแห่งกิเลสทางโลกิยะ กับกระแสบริโภคนิยม ทั้งก่อนสมัยใหม่ สมัยใหม่ และหลังสมัยใหม่ ตามวิถีเช่นเดียวกับวัฒนธรรมความเชื่อที่มีการปะทะสังสรรค์กันอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดก็เพื่อที่จะดำรงสถานภาพความมีตัวตนอยู่ในพื้นที่วัฒนธรรมใหม่นั้นๆ อย่างกลมกลืน เช่น ศาลพระภูมิเจ้าที่รูปร่างหน้าตาแปลกๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบอย่างศิลปะกรีก โรมัน รูปแบบตึกกระจกอันนำสมัยหรือรูปแบบบ้านพักตากอากาศ ฯลฯ และอย่างสังคมชายขอบในวิถีชาวบ้านแม้แต่ปี๊บใส่น้ำก็ยังนำมาประยุกต์ใช้เป็นที่อยู่ของเจ้าที่ได้เช่นกัน

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับศรัทธาแห่งความมีและความเป็นในบริบทพื้นที่แห่งกาละเทศะ มากกว่าจะยึดติดที่รูปกายสังขารของศิลปวัตถุนั้นๆ ซึ่งล้วนเป็นมายาคติของสมมุติที่ถูกปรุงและแต่งเพื่อใช้ในการสื่อความหมายแห่งความเป็นปัจจุบันขณะของบริบทวัฒนธรรมหนึ่งๆ


 


ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2555
ผู้เขียน : ติ๊ก แสนบุญ เขียนรูปและเล่าเรื่อง
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่ครั้งแรก : เมื่อ 19 มกราคม 2560
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/culture/article_5769
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 30, 2020, 05:39:30 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ