ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อสิตดาบส บัวสี่เหล่า ตัวแทนตถาคต  (อ่าน 4728 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
อสิตดาบส บัวสี่เหล่า ตัวแทนตถาคต
« เมื่อ: พฤษภาคม 14, 2010, 01:05:16 pm »
0
อสิตดาบส บัวสี่เหล่า ตัวแทนตถาคต

เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก และเป็นสำคัญของโลกวันหนึ่งที่องค์การสหประชาชาติให้การรับรอง  ชาวพุทธทุกท่านทราบถึงความเป็นมาของวันวิสาขบูชาว่า เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระพุทธองค์ เป็นอย่างดีแล้ว ผมขออนุญาตไม่นำเสนอสิ่งนั้น
แต่ขอนำเสนออีกแง่มุมของการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน คือ

๑.การพยากรณ์ของอสิตดาบส หลังการประสูติใหม่ๆ
๒.ครั้งเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ ก่อนที่จะไปโปรดเบญจวัคคีย์ ท่านทรงคิดอย่างไรกับคนในโลก
๓.ก่อนปรินิพพาน ท่านให้ใครเป็นศาสดาแทนท่าน


พบกับคำตอบได้ ณ บัดนี้

ภาพที่ ๔
อสิตดาบสมาเยี่ยม เห็นกุมารประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะก็ถวายบังคม


   ภาพนี้เป็นตอนภายหลังพระพุทธเจ้าประสูติแล้วใหม่ๆ คือภายหลังพระพุทธบิดาทราบข่าว
พระนางมายาประสูติพระโอรสระหว่างทางที่สวนลุมพินี  แล้วรับสี่งให้เสด็จกลับเมืองแล้ว
 
   ผู้ที่มุ่นมวยผมเป็นชฎา  และมือทั้งสองประนมแค่อกที่เห็นอยู่นั้นคือ  'อสิตดาบส'  หรือบาง
แห่งเรียกว่า  'กาฬเทวินดาบส'   ท่านดาบสผู้นี้บวชเป็นฤาษีอยู่ข้างเขาหิมพานต์  หรือที่ทุกวันนี้เรียกว่าเขาหิมาลัยนั่นเอง  ท่านเป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าสุทโธทนะและของราชตระกูลนี้  และเป็นผู้คุ้นเคยด้วย
 
   เมื่อท่านทราบข่าวว่าพระเจ้าสุทโธทนะ   ประมุขกษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ทรงมีพระราชโอรส
ใหม่   จึงออกจากอาศรมเชิงเขา   เข้าไปเยี่ยมเยียนเพื่อถวายพระพรยังราชสำนัก   พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าวว่าท่านดาบสมาเยี่ยม   ก็ทรงดีพระพระทัยนักหนา    จึงตรัสสั่งให้นิมนต์ท่านนั่งบนอาสนะแล้วทรงอุ้มพระราชโอรสออกมาเพื่อให้นมัสการท่านดาบส
 
   พอท่านดาบสได้เห็นเจ้าชายสิทธัตถะ   ก็ทำกริยาผิดวิสัยสมณะ  ๓ อย่าง  คือ  ยิ้มหรือแย้ม 
หรือที่ภาษากวีในหนังสือปฐมสมโพธิเรียกอย่างหนึ่งว่า  หัวเราะแล้วร้องไห้  แล้วกราบแทบพระบาทของ
เจ้าชายสิทธัตถะ

 
   ท่านยิ้ม เพราะเห็นพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะต้องด้วยตำรับมหาบุรุษลักษณ์  ท่านเห็น
ว่า  คนที่มีลักษณะอย่างนี้ 

ถ้าอย่างครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพแผ่ไปไกล   

แต่ถ้าได้ออกบวชจะได้เป็นพระศาสดาผู้มีชื่อเสียงที่สุดในโลก


ที่ท่านร้องไห้ก็เพราะเชื่อแน่ว่าเจ้าชายราชกุมารนี้  จะต้องออกบวช  เพราะเหตุที่เชื่ออย่างนี้ 
เลยนึกถึงตัวท่านเองว่า  เรานี่แก่เกินการณ์เสียแล้ว เลยเสียใจว่ามีบุญน้อย   ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า   และที่กราบไหว้พระบาทราชกุมารที่เพิ่งประสูติใหม่  ก็เพราะเหตุเดียวที่กล่าวนี้
 
   ฝ่ายเจ้านายในราชตระกูลได้เห็นและได้ทราบข่าวว่า  ท่านดาบสกราบพระบาทราชกุมาร  ต่าง
ก็มีพระทัยนับถือพระราชกุมารยิ่งขึ้น  จึงทูลถวายโอรสของตนให้เป็นบริวารของเจ้าชายสิทธัตถะ  ตระกูลละองค์ๆ  ทุกตระกูล

--------------------------------------------

ภาพที่ ๓๓
ทรงคำนึงเห็นอุปนิสัยเวไนยสัตว์เปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่าจึงรับอาราธนา

 
   ท้าวสหัมบดีพรหมที่เสด็จมากราบทูลอาราธนา พระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมประกาศพระ
ศาสนาโปรดชาวโลก  ดังที่ได้บรรยายไว้ในภาพที่  ๓๒  นั้น  เป็นเรื่องที่กวีแต่งเป็นปุคคลาธิษฐาน  คือ  แต่งเป็นนิยายมีบุคคลเป็นตัวแสดงในเรื่อง  ถ้าถอดความเป็นธรรมาธิษฐาน  หรืออธิบายกันตรงๆ  ก็คือ   สหัมบดีพรหมนั้น  ได้แก่พระมหากรุณาของพระพุทธเจ้านั่นเอง

 
   ถึงพระพุทธเจ้าจะทรงท้อพระทัยว่าจะไม่แสดงธรรม  แต่อีกพระทัยหนึ่งซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า 
คือพระมหากรุณา    และพระมหากรุณานี่เองที่เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยว่า  จะทรงแสดงธรรม  หลังจากตัดสินพระทัยแล้ว    จึงทรงพิจารณาดูอัธยาศัยของของคนในโลก   แล้วทรงเห็นความแตกต่างแห่งระดับสติปัญญาของคนถึง  ๔  ระดับ  หรือ  ๔  จำพวก
 
   ๑.  อุคฆฏิตัญญู   ผู้อาจรู้ธรรมแต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง
   ๒.  วิปจิตัญญู   ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น
   ๓.  เนยยะ        ผู้พอแนะนำได้
   ๔.  ปทปรมะ      ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง


   จำพวกที่หนึ่ง  เหมือนดอกบัวเปี่ยมน้ำ  พอได้รับแสงอาทิตย์ก็บาน 
        ที่สอง  เหมือนดอกบัวใต้น้ำที่จะโผล่พ้นน้ำ  และที่จะบานในวันรุ่งขึ้น 
        ที่สาม  เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปหน่อย  ซึ่งจะแก่กล้าขึ้นมาบานในวันต่อๆ  ไป   
        และที่สี่  เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปมาก   ถึงขนาดไม่อาจขึ้นมาบานได้   เพราะตก
        เป็นภักษาของปลาและเต่าเสียก่อน

 
   ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาถึงบุคคลที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด  ทรงมองเห็นภาพของ
ดาบสทั้งสอง   ที่พระองค์เคยเสด็จไปทรงศึกษาอยู่ด้วย   แต่ทั้งสองนั้นก็สิ้นชีพเสียแล้ว  ทรงเห็นเบญจวัคคีย์ว่ายังมีชีวิตอยู่  จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จไปโปรดเบญจวัคคีย์เป็นอันดับแรก

--------------------------------------------

ภาพที่ ๗๖
ทรงยก พระธรรมวินัยไตรปิฎกเป็นศาสดา ประทานปัจฉิมโอวาทแล้วปรินิพพาน


   ก่อนเสด็จนิพพานเล็กน้อย  คือภายหลังทรงโปรดสุภัททะปริพาชกแล้ว  พระพุทธเจ้าประทาน
โอวาทพระสงฆ์  โอวาทนั้นเป็นพระพุทธดำรัสสั่งเป็นครั้งสุดท้าย  มีหลายเรื่องด้วยกัน  เช่น  เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับพระสงฆ์ยังใช้ถ้อยคำเรียกขานกันลักลั่นอยู่  คือ  คำว่า  'อาวุโส'  และ  'ภันเต'   อาวุโสตรงกับภาษาไทยว่า  'คุณ'  และภัตเตว่า  'ท่าน'
 

   พระพุทธเจ้าตรัสสั่งว่า  พระที่มีอายุพรรษามากให้เรียกพระบวชภายหลังตน  หรือที่อ่อนอายุ
พรรษากว่าว่า  'อาวุโส'  หรือ  'คุณ'  ส่วนพระภิกษุที่อ่อนอายุพรรษา  พึงเรียกพระที่แก่อายุพรรษากว่าตนว่า  'ภันเต'  หรือ  'ท่าน'

 
   ครั้นแล้วทรงเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ทั้งปวงทูลถาม  ว่าท่านผู้ใดสงสัยอะไรในเรื่องที่พระองค์
ทรงสั่งสอนไว้แล้วก็ให้ถามเสียจะได้ไม่เสียใจเมื่อภายหลังว่าไม่มีโอกาสถาม
 
   ปรากฏตามท้องเรื่องใน มหาปรินิพพานสูตร ว่า  ไม่มีพระสงฆ์องค์ใดทูลถามพระพุทธเจ้าใน
ข้อสงสัยที่ตนมีอยู่เลย
 
   เมื่อก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จนิพพานนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตั้งสาวกองค์ใดให้รับตำแหน่งเป็นพระศาสดาปกครองพระสงฆ์สืบต่อจากพระองค์เหมือนพระศาสดาในศาสนาอื่น  เรื่องนี้ก็ไม่มีพระสงฆ์องค์ใดทูลถามพระพุทธเจ้า   แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งพระสงฆ์ไว้ชัดเจนก่อนจะนิพพานว่า  พระภิกษุรูปใด
 
   ตรัสบอกพระอานนท์ว่า  "ดูก่อนอานนท์  ธรรมก็ดี  วินัยก็ดี  ที่เราได้แสดงไว้   และบัญญัติไว้ด้วยดี  นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่านสืบแทนเราตถาคตเมื่อเราล่วงไปแล้ว"
 
   ครั้นแล้ว  พระพุทธเจ้าตรัสเป็นปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายว่า  "ภิกษุทั้งหลาย!  บัดนี้เราขอเตือน
พวกท่านให้รู้ว่า  สิ่งทั้งหลายที่เกิดมาในโลกมีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา  ท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่นให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"
 
   หลังจากนั้นไม่ได้ตรัสอะไรอีกเลย     จนกระทั่งนิพพานในเวลาสุดท้ายของคืนวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เดือน  ๖  หรือวันเพ็ญวิสาขะ  ณ  ภายใต้ต้นสาละทั้งคู่ที่ออกดอกบานสะพรั่งเป็นพุทธบูชานั่นเอง

--------------------------------------------

ที่มา
สมุดภาพพระพุทธประวัติ
ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา โดย ครูเหม เวชกร
http://www.84000.org/tipitaka/picture/



บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ