ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ใครว่า “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน”  (อ่าน 708 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ใครว่า “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน”
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 12, 2019, 06:11:58 am »
0
แม่ให้นมลูก ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรปที่เข้ามาบันทึกชีวิตชาวสยามในปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงต้นรัชกาลที่ ๕


ใครว่า “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน”

ผู้หญิงสมัยโบราณมีความสำคัญกว่าผู้ชาย หรือจะพูดว่าผู้หญิงเป็นใหญ่กว่าผู้ชายก็ได้ แต่จะใหญ่โตมากน้อยขนาดไหน-ไม่รู้

รู้แต่ว่าในภาษาไทยเมื่อต้องการให้หมายถึงผู้เป็นหลักหรือประธานของกลุ่มหรือของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว มักใช้เพศหญิงคือคำว่า “แม่” นำหน้านามนั้น เช่น แม่น้ำ แม่เหล็ก แม่แรง แม่เตาไฟ ฯลฯ กระทั่งผู้เป็นใหญ่ในกองทหารซึ่งเป็นผู้ชายทั้งแท่งก็เรียกว่า “แม่ทัพ” (การใช้คำว่า “พ่อ” นำหน้ากลุ่มหรือเป็นประธานส่วนใหญ่แล้วเป็นคำที่พบในสมัยหลัง ๆ เช่น พ่อบ้าน พ่อเมือง พ่อขุน พ่อครัว ฯลฯ)

ร่องรอยความเป็นใหญ่ของผู้หญิงในภูมิภาคอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นถึง “หัวหน้าเผ่าพันธุ์” มีอยู่ในนิทานกำเนิดรัฐฟูนัน


@@@@

“พระราชาองค์แรกของฟูนันมีพระนามว่าโกณฑินยะ ท่านผู้นี้มาจากอินเดีย หรือแหลมมลายู หรือหมู่เกาะอินโดนีเซีย เมื่อเดินเรือมาถึงดินแดนฟูนัน นางพญาของฟูนันชื่อลิวเยหรือนางใบมะพร้าวต้องการปล้นสะดมและยึดเรือ โกณฑินยะจึงแผลงศรไปทะลุเรือของนางลิวเย นางก็ตกใจกลัว จึงยอมอ่อนน้อมเป็นภรรยาของโกณฑินยะ ขณะนั้นนางไม่ได้สวมเสื้อผ้า โกณฑินยะจึงพับผ้าเข้าแล้วสวมให้นาง ต่อจากนั้นก็ขึ้นปกครองประเทศฟูนันแล้วสืบเชื้อสายต่อมา”

นอกจากนิทานเรื่องแม่ย่านางลิวเยแล้ว ยังมีร่องรอยอยู่ในตำนานและนิทานพื้นเมืองสมัยหลังๆ อีกว่ามีพราหมณ์อินเดียเข้ามาแต่งงานกับธิดากษัตริย์พื้นเมือง ต่อมาได้เป็นกษัตริย์หรือเป็นเชื้อสายจนกลายเป็นกษัตริย์ก็มี

จึงสรุปว่าการให้ความสำคัญทางฝ่ายหญิงหรือฝ่ายแม่นี้ไม่พบในสังคมชั้นสูงของอินเดีย แต่เป็นลักษณะพิเศษของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ

@@@@@@

ประเพณีการแต่งงาน

เกี่ยวกับประเพณีการแต่งงานที่ผู้ชายจะต้องไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายผู้หญิงนั้น พวกผู้ไท (ไทดำ-ไทขาว) ในเวียดนามเหนือมีข้อกำหนดให้ผู้ชายคือ “บ่าว” ไปทำงานรับใช้ในบ้านฝ่ายผู้หญิงคือ “สาว” ชั่วระยะเวลาหนึ่ง (นับเป็นปี ๆ) เพื่อพิสูจน์ตนเองว่าขยันทำมาหากินจึงจะเป็นที่ยอมรับแล้วสามารถ “แยกครัว” ไปอยู่กินกันตามประสาผัว-เมียได้ ถ้าไม่ได้รับการยอมรับก็ถูกขับไล่ แล้วฝ่ายหญิงก็เลือกผู้ชายคนใหม่เข้ามาเป็น “บ่าว” ทดลองอีก

“บ่าว” แปลว่าขี้ข้า มักใช้คู่กับไพร่คือบ่าวไพร่ ในงานแต่งจึงเรียกผู้ชายว่า “เจ้าบ่าว” และภาษาในชีวิตประจำวันของประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงเรียกผู้ชายว่า “ผู้บ่าว” ทั้งนี้ เพราะผู้หญิงคือ “เจ้าสาว” หรือ “ผู้สาว” เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน ผู้ชายต้องไปเป็นขี้ข้าของผู้หญิงคือ “บ่าว”​ ของ “สาว”



สาวงามสยามประเทศ ผู้เป็นหลักของครอบครัว ทั้งทำมาหากินและดูแลครอบครัว


สถานะของผู้หญิงในภูมิภาคนี้เปลี่ยนไปเมื่ออารยธรรมอินเดียเข้ามามีอิทธิพลเหนือระบบความเชื่อท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนทาง “ศาสนา” ส่งผลให้เกิดคติในสมัยหลังๆ ว่า “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน”

ม.ร.ว.อคินและอาจารย์นิธิ อธิบายประเด็นนี้ว่า ผู้หญิงมีสถานภาพที่ต่ำกว่าผู้ชายในหลายเรื่อง โดยเฉพาะสถานภาพในพุทธศาสนาและเกียรติยศที่ได้รับจากโลกภายนอกหมู่บ้าน โดยเฉพาะจากการเมืองและการปกครอง เพราะผู้ชายเป็นฝ่ายสะสมเกียรติยศให้แก่ครอบครัว ลูกผู้ชายจึงเป็นฝ่ายใช้ทุนของครอบครัวในการศึกษามากกว่าลูกผู้หญิงเช่น อาจต้องยอมเสียแรงงานของลูกผู้ชายไปเป็นเวลานานๆ เพื่อให้ได้บวชเรียนและทำชื่อเสียงในวงการคณะสงฆ์

@@@@@@

แต่ในขณะเดียวกันผู้ชายแต่งงานแล้วมักไปอยู่บ้านภรรยาอย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะตั้งตัวได้ ผู้ชายจึงเป็นคนแปลกหน้าในบ้านของภรรยาซึ่งแวดล้อมด้วยพี่น้องของผู้หญิง ผู้ชายต้องอาศัยพึ่งใบบุญจากญาติของฝ่ายภรรยา เช่นอาศัยนาของพ่อตาทำไประยะหนึ่งหรือแม้แต่จะบุกเบิกที่นาของตนเอง ก็ยังต้องอาศัยกำลังของครอบครัวฝ่ายหญิงช่วยอุดหนุนจุนเจือในระยะแรก เพราะฉะนั้นผู้ชายจึงไม่สามารถใช้สถานภาพที่สูงกว่าของตนเอง “กดขี่” ผู้หญิงที่เป็นภรรยาได้ตามใจชอบ

แต่ไพร่สมัยกรุงศรีอยุธยาต้อง “กดขี่” ผู้หญิงที่เป็นภรรยาโดยมิได้ตั้งใจ เพราะมูลนายเกณฑ์ไปทำงานรับใช้จนตัวเองไร้สมรรถภาพ ลาลูแบร์บันทึกว่าพวกไพร่ผู้ชายถูกเกณฑ์ไปทำงานให้มูลนายปีละ ๖ เดือนเป็นอย่างน้อย ซึ่งฝ่ายหญิงจะต้องส่งข้าวปลาอาหารตลอด เพราะมูลนายไม่ได้เลี้ยงข้าวและไม่ให้ค่าจ้าง เมื่อพ้นเกณฑ์มาอยู่บ้านก็นั่งๆ นอนๆ ให้เมียทำมาหาเลี้ยงเนื่องจากไม่ได้ฝึกฝนอาชีพใด ๆ ให้ดีพอที่จะทำมาหากินได้


@@@@@@

ชีวิตประจำวันเมื่ออยู่บ้านคือ “ภรรยาจะปลุกให้เขาตื่นขึ้นราว ๗ โมงเช้า เอาข้าวปลาอาหารมาให้บริโภค เสร็จแล้วก็ลงนอนต่อไปใหม่ พอเที่ยงวันก็ลุกขึ้นมากินอีก แล้วมื้อเย็นอีกคำรบหนึ่ง ระหว่างเวลาอาหารมื้อกลางวันกับมื้อเย็นนี้ เขาก็เอนหลังลงพักผ่อนเสียพักหนึ่ง เวลาที่เหลืออยู่นอกนั้นก็หมดไปด้วยการพูดคุยและเล่นการพนัน”

สรุปแล้วเมียทำงานหมดทุกอย่าง รวมทั้งทำไร่ไถนา ยามว่างก็ต้องไปค้าขายด้วย มิฉะนั้นจะไม่มีอะไรจะกิน เมื่อผัวถูกเกณฑ์ก็ต้องดูแลตัวเองและลูก ถ้ามีพ่อแก่แม่เฒ่าอยู่ด้วยก็ต้องดูแลด้วย แถวยังต้องส่งข้าวส่งน้ำให้ผัวอีกต่างหาก ครั้นผัวพ้นเกณฑ์ก็ไม่ได้ช่วยแบ่งเบาอะไรเลย กลับจะหนักกว่าตอนถูกเกณฑ์เพราะอยู่ในเหย้าเรียกร้องจะเอาไอ้โน่นจะกินไอ้นี่ทั้งวัน แถมติดเหล้ากับติดการพนันเสียอีก

ซวยจริงๆ ผู้หญิงสยาม


คัดลอกบางส่วนจากบทความ “ใครว่าผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม มีนาคม ๒๕๓๖
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม ๒๕๓๖ ,เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/culture/article_18955
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 12, 2019, 06:19:40 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ