ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: #การสอบบาลี ตั้งแต่แรกเริ่มในอดีตจนถึงปัจจุบัน เรามีการสอบกันอย่างไร  (อ่าน 2904 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

supranee sabugueiro

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
๑.การศึกษาสมัยพุทธกาล
การศึกษาของคณะสงฆ์สมัยพุทธกาลศึกษาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรงบ้าง จากพระอรหันตสาวกบ้าง แล้วท่องจำไว้ด้วยปาก (มุขปาฐะ) นี้เป็นการเรียนหลักธรรมเรียกว่า คันถธุระ เรียนแล้วนำไปปฏิบัติเรียกว่า วิปัสสนาธุระ ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จดับขันปรินิพพานแล้ว พระสงสาวกได้ประชุมกันทำสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยไว้เป็นหมวดหมู่ มี ๓ หมวด คือ
๑.หมวดพระสูตร เรียกว่า พระสุตันตปิฎก
๒.หมวดพระวินัย เรียกว่า พระวินัยปิฎก
๓.หมวดพระอภิธรรม เรียกว่า พระอภิธรรมปิฎก
ทั้งหมดรวมเรียกว่า “พระไตรปิฎก” พระสงฆ์สาวกสมัยนั้นก็ศึกษากันด้วยปากเป็นคณะๆ คณะละหมวดหนึ่งบ้าง สองหมวดบ้าง ต่อมาเมื่อพระพุทธพจน์หรือพระไตรปิฎกได้จารึกเป็นมคธ หรือที่เรียกว่า ภาษาบาลี พระภิกษุสงฆ์ได้ศึกษาทั้งหลักภาษาและเนื้อหาธรรมะไปในตัว
ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายไปในนานาประเทศ บางประเทศก็ยังยึดหลักของภาษาบาลี ได้รักษาพระไตรปิฎกไว้ในรูปของภาษาบาลี แต่บางประเทศก็ปริวรรตเป็นภาษาในประเทศของตน ก็ย่อมมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง นานเข้าก็มีความคิดแตกต่าง กลายเป็นนิกายฝ่ายเหนือ-ฝ่ายใต้ ประเทศไทยของเราสืบทอดมาจากนิกายฝ่ายใต้ ที่เรียกกันว่า ฝ่ายหินยานหรือฝ่ายเถรวาท
เมื่อประมาณ พ.ศ. ๓๖๐ พระพุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่สุวรรณภูมิ โดยการนำของพระเถร ๒ รูป คือ พระโสณะกับพระอุตตระ จนกระทั่งมารุ่งเรืองขึ้นในสมัยลานนาไทย การศึกษาเจริญก้าวหน้ามาก ปรากฏว่ามีพระเถระหลายรูปที่ศึกษาอยู่ในระดับแตกฉานสามารถแต่งตำราอธิบายธรรมะเป็นภาษาบาลีได้อย่างเชี่ยวชาญ.

๒.การศึกษาสมัยล้านนาไทยและสุโขทัย
การศึกษาสมัยนี้ พระภิกษุเป็นผู้บริหารและจัดการศึกษา คือเป็นครูผู้สอนกันเอง สมัยพ่อขุนรามคำแหง การปกครองคณะสงฆ์แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายคามวาสีและฝ่ายอรัญญวาสี ทรงส่งเสริมให้มีการศึกษาพระพุทธศาสนาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก แม้พระองเองก็ทรงสั่งสอนประชาชนตามหลักธรรมเช่นกัน
สถานศึกษา
สถานศึกษาในสมัยลานนาไทยและกรุงสุโขทัยใช้วัดและวังเป็นศูนย์กลาง โดยวัดเป็นสถานศึกษาของบุตรหลานขุนนางและราษฎรทั่วไป มีพระภิกษุเป็นผู้สอน ส่วนวังเป็นสำนักราชบัณฑิตสอนเฉพาะเจ้านาย ข้าราชการ และเป็นสถานที่ศึกษาธรรมของพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น
หลักสูตรการศึกษา
การศึกษาสมัยนี้ ยังยึดหลักภาษาบาลีศึกษาในเชิงหลักภาษา และเนื้อหาธรรมะจากพระไตรปิฎก โดยแบ่งเป็นตอนๆ อันดับแรกศึกษาพระสุตตันตปิฎก เมื่อจบแล้วก็ศึกษาพระวินัยปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกตามลำดับ
การวัดผลการศึกษา
การวัดผลการศึกษาใสมัยลานาไทยและสมัยสุโขทัย ยังไม่เด่นชัด เป็นแต่การวัดผลจากวามทรงจำ และความสามารถของพระภิกษุสงฆ์เป็นพื้น.

๓.การศึกษาสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี
การศึกษาในยุคนี้ แรกๆ ถูกปล่อยปละละเลย ต่อมาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเห็นพระพุทธศาสนาถูกลัทธิภายนอกย่ำยีประชาชนมัวเมาหลงใหลเห็นผิดเป็นชอบจึงทรงรับอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ทรงโปรดจัดการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นเหมือนครั้งสุโขทัย ให้มีการสอบไล่พระปริยัติธรรม นับว่าเป็นการสอบไล่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย
ต่อมากรุงศรีอยุธยาแตกพ่าย ถูกพม่าทำลายวัดวาอารามและเผาคัมภีร์พระไตรปิฎกไปด้วย พระภิกษุสงฆ์แตกกระจัดกระจายหนีภัยสงคราม ภายหลังเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชครองกรุงธนบุรีแล้ว ทรงใส่พระทัยพัฒนาการพระพุทธศาสนา รวบรวมอาราธนาพระภิกษุสงฆ์ให้ให้มาอยู่รวมกันอีกครั้งหนึ่ง ทรงแต่งตั้งสมณศักดิ์ แลสถาปนาพระอารามขึ้นหลายแห่ง ให้พระภิกษุสงฆ์ศึกษาเล่าเรียนคันถธุระ และวิปัสสนาธุระพระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกวาระหนึ่ง
หลักสูตรการศึกษา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้คณะสงฆ์อาภารธุระในการเรียนการสอนอย่างจริงจัง โดยกำหนดหลักสูตร เวลาเรียน การประเมินผล และฐานะของผู้สอบไล่ได้อย่างชัดเจน ได้ใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นหลักสูตร โดยแบ่งชั้นเรียนออกเป็น ๓ ชั้น หรือ ๓ ประโยค ดังนี้
บาเรียนตรี ต้องแปลจบพระสูตร
บาเรียนโท ต้องแปลจบพระสูตรและพระวินัย
บาเรียนเอก ต้องแปลจบพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม
ผู้เรียนจบบาเรียน ตรี-โท-เอก “มหาบาเรียนบาลี” โดยใช้อักษรย่อ บ.บ.
สถานศึกษา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ การเรียนการสอนพระปริยัติธรรม ใช้บริเวณพระบรมมาราชวังเป็นหลัก ส่วนวัดต่างๆ ได้แก่ พระมาหากษัตริย์บ้างราชบัณฑิตบ้าง พระเถระผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกบ้าง
การวัดผลการศึกษา
เริ่มแรกผู้เรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์ (หลักของภาษา) ใช้เวลาประมาณ ๒-๓ ปี จึงเรียนแปลพระไตรปิฎกที่จารึกในใบลานเป็นหนังสือแบบเรียน เมื่อมีความรู้ความสามารถในการแปลได้ดีแล้ว ครูบาอาจารย์และเจ้าสำนักก็จะกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงกราบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศการสอบไล่ความรู้ของพระภิกษุสามเณร เรียกว่า “สอบสนามหลวง” แปลว่าเป็นการสอบในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงยกย่องผู้สอบได้ให้มีสมณศักดิ์ “มหา” นำหน้าชื่อ แล้วพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นพระราชาคณะ เป็นเกียรติแก่พระพุทธศาสนาสืบไป
สถานที่สอบใช้พระบรมมหาราชวังเป็นที่สอบและใช้ระยะเวลาเรียน ๓ ปี จึงมีการสอบ ๑ ครั้ง
วิธีสอบ
เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงประกาศให้มีการสอบพระปริยัติธรรมขึ้นแล้ว พระมหาเถระและราชบัณฑิตทั้งหลายก็แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นโดยมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นประธาน การสอบแปลผู้สอบต้องต้องจับสลากตามที่คณะกรรมการกำหนดให้ถ้าจับได้ผูกใดก็แปลผูกนั้น โดยเริ่มจากพระสูตรก่อน ต้องแปลปากเปล่าต่อหน้าคณะกรรมการผิดศัพท์หรือประโยชน์ได้เพียง ๓ ครั้ง ถ้ากรรมการทักท้วงเกิน ๓ ครั้ง ถือว่าตก ถ้าแปลได้คล่องเป็นที่พอใจไม่มีการทักท้วงถือว่าสอบได้ในประโยคนั้นๆ เมื่อผ่านพระสูตร ก็ให้เกียรติคุณเป็น “บาเรียนตรี” เรียนพระวินัยปิฎกต่อไปอีก ๓ ปี สอบผ่านก็เป็น “บาเรียนโท” จากนั้นศึกษาพระอภิธรรมปิฎกอีก ๓ ปี สอบผ่านก็ได้เป็น “บาเรียนเอก”

 ๔.การศึกษาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ยุครัชกาลที่ ๑-๔
หลังจากสร้างกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์แล้ว พระมหากษัตริย์ก็ทรงใส่พระทัยถึงการพระศาสนา ทรงแก้ไขปัญหาต่างๆเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ.๒๓๓๑ ทรงปรารภที่จะสังคายนาพระไตรปิฎก จึงทรงอาราธนาพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ และราชบัณฑิตเป็นกรรมการชำระพระไตรปิฎก จารึกเป็นอักษรขอมขึ้น ใช้เวลา ๕ เดือนจึงเสร็จสมบูรณ์ เป็นจำนวน ๕๓๔ คัมภีร์ คือ พระวินัย ๘๑ คัมภีร์ พระสูตร ๑๑๐ คัมภีร์ พระอภิธรรม ๖๑ คัมภีร์ และสัททวิเสส ๕๐ คัมภีร์ เป็นหนังสือใบลาน ๓๖๘๖ ผูก เรียกชื่อว่า ฉบับทองใหญ่ ต่อมาทรงโปรดให้สร้างอีก ๒ ฉบับ คือ ฉบับรองทรง มีจำนวน ๓๐๕ คัมภีร์ เป็นหนังสือใบลาน ๓,๖๔๙ ผูก และฉบับทองชุบ มีเพียง ๓๕ คัมภีร์ ทั้ง ๓ ฉบับเป็นแม่แบบในการพิมพ์ครั้งต่อมา
หลักสูตรการศึกษา
ในยุคแรกเริ่มต้น หลักสูตรยังใช้พระไตรปิฎก เรียน ๓ ปีต่อการสอบ ๑ ครั้งเหมือนเดิมและแบ่งชั้นดังนี้
บาเรียนตรี ใช้พระสูตรเป็นในการเรียนการสอน
บาเรียนโท ใช้พระสูตรและพระวินัย
บาเรียนเอก ใช้พระสูตร พระวินัยและพระอภิธรรม
ตั้งแต่ยุคราชกาลที่ ๒ เป็นต้นมาได้มีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนขึ้นใหม่โดยอาศัยหลัก ๒ ประการ คือ
พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ประกอบด้วยองค์ ๙ คือ สุตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
พระธรรมคำสอนอันเป็นโลกุตตรธรรมมี ๙ อย่าง คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ดังนั้นจึงจัดหลักสูตรแบ่งเป็น ๙ ชั้นดังนี้
๑.ประโยค ๑-๒-๓ ใช้คัมภีร์อรรถกถาธรรมบทเป็นแบบเรียน (แปลคราวเดียวกัน ๓ ประโยคจึงเป็นบาเรียน)
๒.ประโยค ๔ ใช้คัมภีร์มังคลัตถทีปนีภาคแรก (ภายหลังใช้ ๒ ภาค)
๓.ประโยค ๕ ใช้คัมภีร์บาลีมุตตกะ (แล้วเปลี่ยนเป็นคัมภีร์สารัตถสังคหะ ภายหลังเปลี่ยนเป็นบาลีมุตตกะเหมือนเดิม)
๔.ประโยค ๖ ใช้คัมภีร์มังครัตถทีปนีภาค ๒
๕.ประโยค ๗ ใช้คัมภีร์อรรถกถาวินัยสมันตปาสาทิกา
๖.ประโยค ๘ ใช้คัมภีร์ปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค
๗.ประโยค ๙ ใช้คัมภีร์กาสารัตถทีปนี (ภายหลังเปลี่ยนเป็นฎีกาอภิธัมมัตถวิภาวินี) สำหรับประโยค ๗ -๘-๙ เรียกว่าบาเรียนเอก โดยเรียนย่อยดังนี้ว่า
ประโยค ๗ เรียกว่า เอกสามัญ (เอก ส.)
ประโยค ๘ เรียกว่า เอกมัธยม (เอก ม.)
ประโยค ๙ เรียกว่า เอกอุดม (เอก อ.)

สถานศึกษา
ยุคราชกาลที่ ๑ โปรดเกล้า ฯ ให้ใช้พระที่นั่งมณเฑียรธรรมในวัดพระศรี รัตนศาสดารามข้างท้องพระโรงบ้าง สร้างศาลาต่างหากบ้าง หรือบางทีใช้บ้านขุนนางชั้นผู้ใหญ่เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและ
เจ้านาย ส่วนข้าราชการชั้นผู้น้อยให้ไปศึกษาตามวัดต่างๆ
ยุครัชการที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ใช้อารามบ้าง ทรงให้สร้างเก๋งบริเวณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ภายในพระบรมมหาราชวัง เป็นสถานศึกษาเล่าเรียน โปรดให้เลี้ยงเพลพระภิกษุและพระราชทานรางวัลด้วย ภายหลังสถานที่ไม่เพียงพอ จึงโปรดให้ใช้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ยุครัชการที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเก๋งขึ้น ๔ หลัง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อใช้เป็นสถานศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติม
การวัดผลการศึกษา
ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การสอบพระปริยัติธรรมยังเหมือนปลายกรุงศรีอยุธยา ๓ ปีต่อการสอบ ๑ ครั้ง ต่อมายุครัชการที่ ๓ เมื่อนักเรียนคนใดจะสอบ ต้องผ่านการจับสลากถูกซองไหนก็แปลซองนั้น ก่อนแปลกรรมการจะให้เวลาเล็กน้อยให้หายตื่นเต้น แล้วจึงเรียกเข้าไปแปลหน้าต่อไป ต้องแปลครั้งเดียวให้ผ่าน ๓ ประโยคจึงจะเป็น “บาเรียน” ผ่านเพียง ๒ ครั้งถือว่าตก หรือคณะกรรมการทักท้วงเกิน ๓ ครั้งนับว่าตก พระภิกษุสามเณรที่เรียนเก่งก็สามารถแปลสอบตั้งแต่ประโยค ๑-๙ รวดเดียวได้
สถานที่และวันเวลาในการสอบ
การสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร นับเป็นราชการแผ่นดินประเภทหนึ่งเพราะอยู่ในพระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นศาสนูปถัมภก ดังนั้นส่วนใหญ่จึงใช้สถานที่พระบรมมหาราชวังเป็นหลัก
การสอบในสมัยนั้นเริ่มประมาณ ๑๕.๐๐ น. ทุกวัน เว้นเฉพาะวันโกนกับวันพระ เวลาในการสอบนั้นไม่มีกำหนด แล้วแต่ผู้ที่แปลได้เร็วหรือช้าแต่โดยปกติให้เลิกประมาณ ๑๙.๐๐ น. หรือ ๒.๐๐ น. การสอบแต่ละครั้งตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้น ใช้เวลา ใช้เวลาประมาณ ๒ เดือนเศษ

ยุครัชกาลที่ ๕-๗
ในยุครัชกาลที่ ๕ พระมหากษัตริย์ทรงเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ จึงทรงสนับสนุนการศึกษาทั่วไป สำหรับพระภิกษุได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งด้านพระปริยัติธรรมและวิชาการสมัยแผนกธรรมขึ้นควบคู่กับแผนกบาลี (ฝ่ายเปรียญ) เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นครั้งแรก และจัดครบหลักสูตรในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ แต่ยังเป็นการศึกษาเฉพาะฝ่ายสงฆ์อย่างเดียว ครั้นสมัยรัชกาลที่ ๗ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๐ จึงเปิดโอกาสให้
ฆราวาสชายหญิงเรียนด้วยโดยแยกแผนกธรรมออก สำหรับพระภิกษุสามเณรเรียกว่า “นักธรรมศึกษา” สำหรับฆราวาสเรียนเรียกว่า “ธรรมศึกษา” นักธรรมชั้นต่างๆ ยังมีความสำคัญต่อการสอบเปรียญด้วย คือ
ผู้สอบประโยค ๑-๒-๓ ต้องผ่านนักธรรมชั้นตรี
ผู้สอบประโยค ๔-๕-๖ ต้องผ่านนักธรรมชั้นโท
ผู้สอบประโยค ๗-๘-๙ ต้องผ่านนักธรรมชั้นเอก
ดังนั้นจึงรวมเรียกว่า “เปรียญธรรม” ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ.” ข้อสังเกต คำว่า “เปรียญ” เข้าใจว่าเพิ่งนำมาใช้ระหว่างรัชกาลที่ ๕-๖ เพราะในยุคแรกยังใช้คำว่า “บาเรียน” อยู่
หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี
ในยุคนี้มีหลักสูตรวิชาแปลดังนี้
๑.ประโยค ๑-๒-๓ ใช้คัมภีร์ธัมมปทัฎฐกถา
๒.ประโยค ๔ ใช้คัมภีร์มังคลัตถทีปนีภาคแรก
๓.ประโยค ๕ ใช้คัมภีร์สารัตถสังคหะ
๔.ประโยค ๖ ใช้คัมภีร์มังคลัตถทีปนี
๕.ประโยค ๗ ใช้คัมภีร์ปฐมสมันตปาสาทิกา
๖.ประโยค ๘ ใช้คัมภีร์วิสุทธิมรรค
๗.ประโยค ๙ ใช้คัมภีร์สารัตถทีปนี (ฎีกาวินัย)
สถานศึกษา
เดิมทีใช้บริเวณวิหารคดรอบพระอุโบสถและตามพระอารามต่างๆ เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนต่อมาเมื่อสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นแล้ว ก็ให้พระภิกษุสงฆ์ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและวิชาการชั้นสูงในมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งนั้น
การวัดผลการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี
ยุคแรกการสอบพระปริยัติธรรมยังเป็นไปเหมือนเดิม คือ ๓ ปีสอบ ๑ ครั้ง ต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้กำหนดให้สอบปีละ ๑ ครั้งตลอดมา
วิธีสอบพระปริยัติธรรมในสมัยรัชกาลที่ ๕ คงใช้วิธีสอบแบบเก่าๆ คือแปลสอบด้วยปาก ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้เปลี่ยนแปลงมาสอบด้วยวิธีเขียนเฉพาะประโยค ๑ และประโยค ๒ ส่วนประโยค ๓ ขึ้นไปสอบแปลด้วยปากตามแบบเดิม ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ จึงให้ยกเลิกการสอบแปลด้วยปาก เปลี่ยนมาสอบด้วยวิธีเขียนแทนทุกชั้นประโยค
อนึ่ง การสอบพระปริยัติธรรมนั้น ตามประเพณีเดิมไม่ได้กำหนดด้วยนาฬิกา แต่ใช้เทียนเป็นสัญญาณกำหนด คือเมื่อเริ่มแปลเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. ไปจนกระทั่งค่ำ แล้วจุดเทียนตั้งไว้จนกว่าจะหมดก็เป็นอันเลิกสอบในวันนั้น ถ้ายังแปลค้างอยู่ก็เป็นอันตกหมด ต่อมาจึงเลิกการใช้เทียนเป็นสัญญาณ แต่ใช้นาฬิกาแทน และกำหนดเวลาให้นักเรียนที่แปลธรรมบทรูปละ ๖๐ นาที ให้แปลหนังสือ ๓ ใบลาน คือ ๓๐ บรรทัด ภายหลังเห็นว่ายากไปไม่ทันเวลาจึงลดลงเหลือ ๒๐ บรรทัด ประโยคสูง ๙๐ นาที บางทีถ้าประโยคยากก็เพิ่มให้อีก ๓๐ นาที เป็นกรณีพิเศษ
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๑ มีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น การสอบพร้อมกันไม่สะดวก จึงแบ่งการสอบออกเป็น ๒ ภาค ดังนี้
ภาคแรก ป.ธ.๖-๗-๘-๙ สอบในวันขึ้น ๒-๓-๔-๕ ค่ำเดือน ๓ ของทุกปี
ภาคที่สอง ป.๑-๒, ป.ธ. ๓-๔-๕ สอบในวันแรม ๑๐-๑๑-๑๒ ค่ำเดือน ๓ ของทุกปี
สนามสอบส่วนกลาง ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ – ๒๔๘๕
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วัดเบญจมบพิตรฯ
วัดบวรนิเวศวิหาร
วัดมหาธาตุฯ
วัดเทพศิรินทราวาส
วัดพระเชตุพนฯ
วัดอนงคาราม
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้มีการจัดให้สอบตามมณฑลต่างๆขึ้น

๕.การศึกษายุคปัจจุบัน
ปัจจุบันการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี มีแม่กองบาลีสนามหลวงเป็นผู้รับผิดชอบแบ่งเป็น ๙ ชั้น เหมือนครั้งตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา และจะถือว่าเป็น “เปรียญธรรม” ได้ก็ตั้งแต่เปรียญธรรม ๓ ประโยค ถึง ๙ ประโยค และผู้ที่สอบได้ ถ้าเป็นพระก็ได้เป็นมหาให้เรียกคำว่า “พระมหา” นำหน้าชื่อ สมัยก่อนผู้สอบได้ ป.ธ. ๓ พระมหากษัตริย์พระราชทานพัดยศเอง แต่ปัจจุบันพระราชทานเฉพาะ ป.ธ. ๖ และ ป.ธ. ๙ ส่วนป.ธ. ๓ ทรงมอบให้สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งพัดยศแทน
การศึกษาทั้ง ๙ ชั้นนี้ จัดรวมเป็น ๓ ชั้นคือ
ประโยค๑-๒, ป.ธ. ๓ เป็นเปรียญธรรมตรี
ประโยค ป.ธ. ๔-๕-๖ เป็นเปรียญธรรมโท
ประโยค ป.ธ. ๗-๘-๙ เป็นเปรียญธรรมเอก
หลักสูตรการเรียนการสอน
ประโยค ๑-๒
วิชาไวยากรณ์ ใช้หนังสือไวยากรณ์ ๔ เล่ม
วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้หนังสือธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑-๔
เปรียญธรรม ๓ ประโยค
วิชาไวยากรณ์ ใช้หนังสือไวยากรณ์ ๔ เล่ม
วิชาสัมพันธ์ ใช้หนังสือคู่มือหลักสัมพันธ์ไทย
วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้หนังสือธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๕-๘
วิชาบุรพภาค ใช้แบบหอร์มจดหมายราชการ
เปรียญธรรม ๔ ประโยค
วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใช้หนังสือธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑
วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้หนังสือมังคลัตถทีปนี ภาค ๑
เปรียญธรรม ๕ ประโยค
วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใช้หนังสือธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๒,๓,๔
วิชาแปลมคธเป็นไทย ใชั้หนังสือมังคลัตถทีปนี ภาค ๒
เปรียญธรรม ๖ ประโยค
วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใช้หนังสือธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๕,๖,๗,๘
วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้หนังสือสมันตปาสาทิกา ภาค ๓,๔,๕
เปรียญธรรม ๗ ประโยค
วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใช้หนังสือมังคลัตถทีปนี ภาค ๑
วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้หนังสือสมันตปาสาทิกา ภาค ๑-๒
เปรียญธรรม ๘ ประโยค
วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใช้หนังสือสมันตปาสาทิกา ภาค ๑-๒
วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้หนังสือวิสุทธิมรรค ภาค ๑-๒
วิชาแต่งฉันท์มคธ กรรมการกำหนดข้อความให้
เปรียญธรรม ๙ ประโยค
วิชาแต่งภาษามคธ กรรมการกำหนดข้อความให้
วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใช้หนังสือวิสุทธิมรรค ภาค ๑-๒
วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้หนังสืออภิธัมมัตถวิภาวินี

หนังสืออ้างอิง : ประวัติการศึกษาคณะสงฆ์ ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์เมื่อ ปีพ.ศ.๒๕๒๗
 ans1 ans1 ans1 ans1
บันทึกการเข้า

ปัญญสโก ภิกขุ

  • ศิษย์ตรง
  • มีเหตุมีผล
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 403
  • อริยสโก
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า