ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สิ่งปิดบัง พระไตรลักษณ์  (อ่าน 17398 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

เมตตา

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 91
  • ขอให้ทุกชีวิต จงเป็นแต่ผู้มีความสุข เถิด
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
สิ่งปิดบัง พระไตรลักษณ์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2011, 03:31:47 pm »
0
ที่เราไม่อาจเห็นพระไตรลักษณ์ได้ชัดนั้น  ก็เพราะมีสิ่งปิดบังพระไตรลักษณ์อยู่ 3 ชนิด
1. สันตติ  ความสืบต่อ  เป็นตัวปิดบัง อนิจจัง เอาไว้
2. อิริยาบถ  เป็นตัวปิดบัง ทุกขัง เอาไว้
3. ความเป็นก้อน  เป็นตัวปิดบัง  อนัตตา  เอาไว้

ไม่ค่อยจะเข้าใจ จากหนังสือ วิปัสสนาเล่มหนึ่งกล่าวไว้อย่างนี้
ขอท่านผู้รู้ช่วยอธิบายเพิ่มด้วยคะ

 :c017:
บันทึกการเข้า

P63

  • ศิษย์ตรง
  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 51
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: สิ่งปิดบัง พระไตรลักษณ์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2011, 09:40:35 pm »
0
อธิบายเท่าที่พอเข้าใจนะครับ

1. สันตติ แปลว่า ความสืบต่อหรือความสืบเนื่อง เป็นตัวบดบัง อนิจจัง เอาไว้
    ตัวอย่าง เรามองที่กายของเราในขณะนี้ เหมือนจะไม่เห็นความเปลี้่ยนแปลงอะไร แต่จริงๆแล้ว เซลล์ต่างๆในร่างกายเราตายไปนาทีละ 3,000 ล้านเซลล์ และร่างกายก็มีการสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น ผิวหนังมีการผลัดเปลี่ยน ผิวหนังเก่าก็หลุดลอกกลายเป็นขี้ไคลที่เราขัดออกอยู่ทุกวัน
เมื่อมันมีความสืบเนื่องเช่นนี้ เราจึงมองไม่เห็นอนิจจัง คือความไม่เที่ยงของร่างกายนี้ ทั้งๆที่มันมีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา
   มีบางท่านอธิบายเปรียบเทียบกับแสงจากหลอดไฟที่เรามองเหมือนกับมันสว่างจ้าอยู่ตลอด แต่จริงๆแล้วมันกระพริบต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว โดยที่เรามองไม่เห็นความต่อเนื่องของมัน จึงคิดว่าแสงนั้นสว่างอยู่ตลอดเวลา

2. อิริยาบถ เป็นตัวบดบัง ทุกขัง เอาไว้
    อิริยาบถ คือ การปรับเปลี่ยนร่างกายในลักษณะต่างๆ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เป็นต้น
    ลองคิดดูว่า ถ้าเรายืนอย่างเดียว โดยไม่นั่งเป็นวันเป็นเดือน หรือนั่งอย่างเดียวเป็นเดือน ร่างกายหรือสังขารขันธ์เราจะเกิดความทุกข์ขนาดไหน แต่การปรับเปลี่ยนลักษณะร่างกายไปเรื่อยๆ จึงทำให้เรามองไม่เห็น
    จริงๆแล้ว ร่างกายหรือขันธ์ห้าของเรานั้นถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา คือมันทนอยู่ในลักษณะนั้นๆไม่ได้ เช่น หายใจเข้าอย่างเดียวโดยไม่หายใจออกก็ไม่ได้ ไม่กินก็ไม่ได้ กินแล้วจะไม่ถ่ายก็ไม่ได้ เป็นต้น

3. ความเป็นก้อน หรือ ฆนะ เป็นตัวปิดบัง  อนัตตา  เอาไว้  (อนัตตา  คือไม่ใช่ตัวตน)
    ลองเปรียบกับร่างกายของเราที่เห็นเป็นเนื้อหนังอยู่นี้ ที่จริงคือการประกอบกันของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลมไฟ
    ถ้าเราลองแยก ดิน ออกไปสักธาตุหนึ่ง  ผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็จะไม่มีให้เห็น  ธาตุที่เหลือก็อยู่ด้วยไม่ได้ ก็จะมองไม่เห็นเป็นรูปร่างหรือเป็นก้อนเช่นนี้ ก็จะไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน หรือบุคคลเราเขาแล้ว
   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 23, 2011, 11:13:58 am โดย P63 »
บันทึกการเข้า

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: สิ่งปิดบัง พระไตรลักษณ์
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 23, 2011, 12:12:39 pm »
0

ภาพจาก http://www.rmutphysics.com/

๕. อะไรเป็นเครื่องปิดบังความเป็นจริงของรูปนาม?
เครื่องปิดกั้นความจริงของนามรูป มีหลายประการดังนี้

๕.๑ ฆนสัญญา หมายถึง ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของรูปนามนั้นปิดบังอนัตตา ทำให้เราเห็นว่ารูปนามนั้นเป็นก้อนเป็นแท่ง เช่นเห็นว่ารูปก็มีรูปเดียว นามก็มีนามเดียว ทั้งรูปทั้งนามก็คือตัวตนของเรานี้เอง เมื่อถูกความเป็นกลุ่มก้อนปิดบังไว้เช่นนี้ ความรู้สึกว่าไม่ใช่เราก็ไม่เกิดขึ้น

๕.๒ สันตติ หมายถึง ความสืบต่อ จึงทำให้เห็นติดกัน ทำให้ปิดบังอนิจจัง คือความไม่เที่ยงไว้ ทำให้เห็นเป็นของเที่ยงเพราะความสืบต่อที่รวดเร็วจนไม่เห็นความขาดช่วงขาดตอนของรูป ของนาม

๕.๓ อิริยาบถปิดบังทุกข์เพราะเหตุที่ไม่ได้พิจารณาอิริยาบถ  จึงไม่เห็นว่ารูปนามนั้นเป็นทุกข์ เพราะอิริยาบถที่เปลี่ยนไปเช่น จากอิริยาบถเดิน เปลี่ยนเป็นนั่ง ในขณะที่นั่งใหม่ๆ ก็จะรู้สึกสุขสบาย แต่พอนั่งไปนานๆ ก็ทุกข์อีกต้องเปลี่ยนอิริยาบถอีก

อันที่จริงในขณะที่นั่งใหม่ๆ ตอนนั้นก็ทุกข์เหมือนกันแต่ทุกข์เกิดน้อยเพราะเพิ่งเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ๆ แต่พออยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ ทุกข์ก็มากขึ้นๆ จะเห็นได้ว่าอิริยาบถนั้นปิดบังทุกข์ไว้ ทำให้เห็นว่าเป็นสุข

แท้ที่จริงแล้วตอนที่สุขนั้นนั่นก็เป็นทุกข์เหมือนกันเพราะสภาพเช่นนี้ก็จะไม่คงอยู่ต้องมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงนี้เองคือสภาพของทุกข์จริงๆ คือ มีสภาพที่ทนอยู่ในไม่ได้

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ที่จะเห็นอนัตตา ว่ารูปนามนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จะต้องเข้าใจในอุบายที่จะทำลายฆนสัญญาให้กระจายออกมาเสียก่อนจึงจะเห็นอนัตตาได้


อ้างอิง บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ชุดที่ ๑๐ วิปัสสนากรรมฐาน
บรรณานุกรม
๑) ปรมัตถโชติกะ หลักสูตรชั้นมัชฌิมอาภิธรรมิกะโท โดย พระสัทธัมมโชติกะ :
อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๒) วิมุตติมรรค พระอุปติสสเถระ รจนา พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณะแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ ของพระเอฮารา พระโสมเถระ และพระเขมินทเถระ
๓) วิสุทธิมรรค ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง
๔) พระสูตร และ อรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่มที่ ๗ ภาคที่ ๑- ๒
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 12, 2012, 08:58:04 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: สิ่งปิดบัง พระไตรลักษณ์
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 23, 2011, 12:32:10 pm »
0

ภาพจาก http://www.dhammajak.net/

อนุปัสสนา ๓

อนุปัสสนา หมายความว่า การรู้เห็นเนืองๆ
อนุปัสสนา ๓ ได้แก่
๑. อนิจจานุปัสสนา
๒. ทุกขานุปัสสนา
๓. อนัตตานุปัสสนา


๑. อนิจจานุปัสสน
   อนิจจานุปัสสนา คือปัญญาที่เกิดจากการรู้เห็นเนืองๆ ในความไม่เที่ยงของรูปนาม เป็นการเห็นถึงความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม ปัญญาที่เห็นแจ้งรูปนามเช่นนี้ ชื่อว่าอนิจจานุปัสสนา

    การพิจารณารูปนามนั้นควรทราบถึงศัพท์บัญญัติที่สื่อความหมายถึงตัวของรูปนาม คือ อนิจจะลักษณะของรูปนาม คือ อนิจจลักษณะ และปัญญาที่เกิดขึ้นในการพิจาณารูปนาม คือ อนิจจานุปัสสนา

ความหมายศัพท์
อนิจจะ คือ ธรรมที่ไม่เที่ยง มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป อันได้แก่ รูปนาม
อนิจจลักขณะ คือ เครื่องหมายที่รู้ว่าไม่เที่ยง
อนิจจานุปัสสนา คือ ปัญญาที่พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงอยู่เนืองๆ


ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ต้องกำหนดระลึกรู้อยู่กับรูปนาม ต้องใส่ใจในรูปนามนั้นเป็นอารมณ์ รูปนาม ได้ชื่อว่า “อนิจจัง”

เพราะมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ทั้งรูปและนามนั้นมีอาการหรือเครื่องหมายให้รู้ว่าไม่เที่ยง มีการเกิดดับ อาการเช่นนี้เรียกว่า “อนิจจลักขณะ”

เมื่อผู้เจริญวิปัสสนาแล้วรู้เห็นความเป็นของจริงโดยเห็นแจ้งในอาการของรูปนามว่าไม่เที่ยง มีการเกิดดับ ปัญญาที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า อนิจจานุปัสสนา

(เปรียบเหมือนกับการขับรถ รถเป็นเพียงอุปกรณ์อย่างหนึ่งให้คนขับ ถ้าจะเปรียบเทียบกับการปฏิบัติแล้วอุปกรณ์การปฏิบัติก็คือรูปและนามเพราะ เป็นเพียงอุปกรณ์เครื่องอาศัยในการกำหนดรู้ การเคลื่อนไปของรถเป็นลักษณะอาการธรรมดาของรถยนต์ที่เคลื่อนที่ไปตามกำลังขับเคลื่อน เปรียบเหมือนลักษณะอาการของรูปนามที่มีการเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไป เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่านี่เองเป็นธรรมชาติของรูปและนาม คนขับเมื่อมีความเชี่ยวชาญในการขับ ความเชี่ยวชาญนั้นเปรียบเหมือนปัญญาที่ผู้ปฏิบัติเกิดขึ้นเพราะรู้ถึงลักษณะของรูปนามนั่นเอง)

เมื่อปัญญาได้รู้เห็นอนิจจลักษณะ สัญญาความจำหมายว่า รูปนามเที่ยง คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง ก็หายไป หรือเรียกว่าสัญญาวิปัลลาส เมื่อสัญญาวิปัลลาสหายไป ทิฏฐิวิปัสลาส จิตตวิปัลลาส ทั้ง ๒ ก็จะบรรเทาลงไปได้ ทำให้ความหลง ความไม่รู้ในสภาวะที่กำลังปรากฏอยู่เฉพาะหน้า และตัณหาความยินดีพอใจรักใคร่อยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย ด้วยความมีอุปาทานความยึดมั่นในอารมณ์ ด้วยอำนาจของ โลภะและทิฏฐิ ก็บรรเทาเบาบางลดลงได้

การปรากฏขึ้นของ “อนิจจานุปัสสนา” ถ้าว่าตามวิปัสสนาญาณแล้วจะปรากฏต่อเมื่อ สัมมสน-ญาณและอุทยัพพยญาณเกิดแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์แท้เท่านั้นเอง


๒ .ทุกขานุปัสสนา
    ทุกขานุปัสสนา คือปัญญาที่เกิดจากการรู้เห็นเนืองๆ โดยความเป็นทุกข์ของรูปนามขันธ์ ๕
จนทุกขลักษณะปรากฏ ปัญญานี้ได้ชื่อว่า “ทุกขานุปัสสนา”

ทุกข์(ทุกขะ) คือ จิต เจตสิก รูป
ลักษณะของทุกข์ (ทุกขลักษณะ) คือ ความทนอยู่ไม่ได้ของจิต เจตสิก รูป
ปัญญาที่รู้ลักษณะของทุกข์ (ทุกขานุปัสสนา) คือ ปัญญาที่รู้สภาพของจิต เจตสิก รูป มีการเกิดดับ


ทุกขานุปัสสนา ปัญญาที่พิจารณาเห็นความทนอยู่ไม่ได้ของรูปนาม ที่เนื่องมาจากการพบเห็นเป็นประจักษ์แห่งการเบียดเบียน โดยอาการเกิดขึ้นแล้วดับไปติดต่อกันอยู่อย่างไม่ขาดสาย ในขณะที่กำหนดรู้รูปนามตามสภาวะอยู่นั้นแหละ ปัญญานี้ชื่อว่า “ทุกขานุปัสสนา”

ความหมายศัพท์
๒.๑ ทุกขะ คือ ธรรมที่เป็นทุกข์ ได้แก่ รูปนาม
๒.๒ ทุกขลักษณะ คือ เครื่องหมายที่กำหนดว่าเป็นทุกข์ของรูปนาม ได้แก่การ เกิดดับติดต่อกันอยู่อย่างไม่ขาดสาย
๒.๓ ทุกขานุปัสสนา คือ ปัญญาที่มีการพิจารณาเห็นความเป็นทุกข์อยู่เนืองๆ ในรูป
นาม หรือขณะที่เห็นความเกิดดับของรูปนามอยู่นั้น ความรู้สึกในขณะนั้นก็เกิดขึ้นว่า กายใจนี้เป็นของน่ากลัวเป็นภัย จะหาความสุขสบายใจจากกายใจอย่างแท้จริงนั้นหาไม่ได้เลย ความรู้อย่างนี้เกิด ขึ้นจากปัญญาที่กำหนด รู้รูปนาม


ตามธรรมดาคนทั้งหลายย่อมเข้าใจในความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายว่า พรหมมีความสุข เทวดาชั้นสูงมีความสุข แต่เทวดาชั้นต่ำมีความทุกข์ มนุษย์ที่มีร่างกายสมบูรณ์มีอนามัยดีมั่งมีศรีสุข มีความสุข ร่างกายไม่สมบูรณ์ มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน อนามัยไม่ดียากจนเข็ญใจเหล่านี้เป็นทุกข์ หรือสัตว์ดิรัจฉานบางจำพวกเป็นสุข บางพวกเป็นทุกข์ เหล่านี้ก็เป็นความเข้าใจถูกต้องเหมือนกัน เพราะมองไปในด้านการเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส ของสัตว์ทั้งหลาย

แต่ความจริงแล้วสุขกายสุขใจ ทุกข์กายทุกข์ใจ ล้วนแต่มีการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปไม่คงที่ ดับแล้วก็กลับเกิดขึ้นอีกเป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยไปโดยไม่ว่างเว้น ดังนั้นรูปนามที่มีสุขหรือไม่มีสุขก็ตาม ทั้งหมดจึงล้วนแต่เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้นเพราะไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ ทุกข์มีอยู่มากมายหลายอย่างจนนับไม่ถ้วน
แต่คำว่า ทุกข์ โดยตามธรรมแล้วมี ๓ คือ


๑. ทุกขทุกข์ ชื่อว่าทุกข์ เพราะทนได้ยากเป็นทุกข์จริง ได้แก่ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ
๒. วิปริณามทุกข์ ชื่อว่าทุกข์ เพราะเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปโดยไม่หยุดยั้ง ได้แก่ สุข กาย สุขใจ
๓. สังขารทุกข์ ชื่อว่าทุกข์ เพราะมีการจัดแจงปรุงแต่งด้วยความเกิดดับได้แก่ รูป นาม หรือกาย ใจ ทั่วไป


ทุกขทุกข์ คือ ความทุกข์กายทุกข์ใจ เพราะกายมีอาการเป็นไปต่างๆ เช่น จุกเสียด เจ็บปวด เป็นต้น ส่วนใจเป็นทุกข์ก็เพราะเสียใจ โกรธ กลัว เนื่องจากได้รับภัยต่างๆ ทุกข์ทั้ง ๒ นี้ล้วนแต่ทนอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

วิปริณามทุกข์ คือ ความสุขกาย สุขใจ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงปรวนแปรไปไม่คงที่นั้นเอง เช่น เมื่อลมพัดมากระทบกายความสุขกาย สุขใจย่อมเกิดขึ้น ครั้นลมหยุดพัดความสุขกายสุขใจก็หายไป หรือขณะที่เดินจนเมื่อยล้ามากเมื่อนั่งก็จะเป็นสุข แต่นั่งไปนานๆ ก็เมื่อยล้าเป็นทุกข์อีก ต้องเปลี่ยนอิริยาบถไปอีกจึงจะสุข ความสุขใจจะมีอยู่ก็ต้องคอยปรับปรุงเพิ่มเติมอยู่มิได้ขาด ความสุขกายสุขใจนี้จึงเป็น วิปริณามทุกข์


สังขารทุกข์ รูปนามเป็นไปได้ก็เพราะมีการจัดแจงปรุงแต่งด้วยการเกิดดับ การเป็นไปของรูปนามในแต่ละช่วงแต่ละตอนนั้นถ้าพิจารณาดีๆ จะเห็นว่าเป็นไปได้เพราะการสืบต่อ เช่นเดียวกันกับภาพที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์ ภาพที่ปรากฏนั้นก็เพราะเนื่องมาจากการลำดับติดต่อกันของฟิล์มที่ถ่ายมาเป็นภาพๆ

เมื่อตัดต่อเชื่อมกันไว้เป็นอย่างดี ทำการฉายออกมาให้เห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพียงชั่ว ๑ นาที ภาพที่เป็นแต่ละภาพๆ นั้นก็ผ่านไปหลายร้อยแต่ผู้ดูบางคนก็หาได้รู้ไม่ ฉันใด การเกิดดับติดต่อกันของรูปนาม อย่างไม่ขาดสายก็ฉันนั้น

    ดังนั้นจึงกล่าวว่ารูปนามทั้งหมดเป็นสังขารทุกข์ ในทุกข์ทั้ง ๓ อย่างนี้ สังขารทุกข์อย่างเดียวที่มีอยู่ในสังขารธรรมทั่วไปทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต

ภาพจาก http://www.dhammajak.net/

ตารางสรุปเปรียบเทียบดังนี้

ศัพท์   
๑. ทุกขะ(ทุกขธรรม) คือ ธรรมที่เป็นทุกข์ ได้แก่ รูปนาม
๒. ทุกขลักษณะ คือเครื่องหมายที่กำหนดว่าเป็นทุกข์ของรูปนาม ได้แก่ การเกิดดับติดต่อกันอยู่อย่างไม่ขาดสาย

ทุกข์   
๑. ทุกขทุกข์ ชื่อว่าทุกข์เพราะทนได้ยากเป็นทุกข์จริง ได้แก่ ทุกข์กายทุกข์ใจ
๒. วิปริณามทุกข์ ชื่อว่าทุกข์เพราะเปลี่ยน แปลงแปรปรวนไปโดยไม่หยุดยั้งได้แก่ สุขกาย สุขใจนาม หรือกาย ใจ ทั่วไป
๓. สังขารทุกข์ ชื่อว่าทุกข์เพราะ มีการจัดแจงปรุงแต่งด้วยความเกิดดับได้แก่ รูป


ทุกขทุกขลักษณะ
๑. ทุกขทุกขลักษณะ เครื่องหมายอันเป็นเหตุที่ทำให้รู้ได้ว่าเป็นทุกขทุกข์ คือ ทุกข์จริงๆ ได้แก่อาการที่ทนได้ยากมีอยู่ภายในกายและใจขณะที่เสวยอารมณ์อยู่
๒. วิปริณามทุกขลักษณะ เครื่องหมายอันเป็นเหตุที่ทำให้รู้ได้ว่าเป็นวิปริณามทุกข์ คือ ไม่ใช่ทุกข์จริง
๓. สังขารทุกขลักษณะ เครื่องหมายอันเป็นเหตุทำให้รู้ได้ว่าเป็นสังขารทุกข์ คือ ทุกข์ทั่วไปที่รู้ได้ยาก ได้แก่ อาการที่เกิดขึ้นแล้วดับไปติดต่อกันไม่ขาดสาย

                         
ทุกขานุปัสสนา
๑. ทุกขทุกขานุปัสสนา ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์ที่ เป็นทุกข์แท้จริง
๒. วิปริณามทุกขานุปัสสนา ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์ที่มิใช่เป็นทุกข์จริงอันบุคคลมิได้คำนึงถึงทุกข์ชนิดนี้
สุขกาย สุขใจนาม หรือกาย ใจ ทั่วไป ไม่มีใครคำนึงถึงทุกข์ชนิดนี้ ได้แก่อาการไม่คงที่ของความสุขสบายที่มีอยู่ภายในกายและใจขณะที่เสวยอารมณ์
๓. สังขารทุกขานุปัสสนา ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์ ทั่วไปที่รู้ได้ยาก



ความต่างกันระหว่างผู้ไม่มีสติกับผู้มีสติ


ผู้ไม่มีสติในการกำหนดรู้รูปนาม
ไม่อาจรู้ได้ถึงการถูกเบียดเบียนด้วยอาการเกิดดับที่เป็นไปของรูปนามอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นไปอยู่ในทวาร ๖ ฉะนั้นเมื่อมีอาการเจ็บปวด เป็นต้น ที่เป็นทุกข์กายเกิดขึ้น ในขณะนั้น ก็ไม่รู้เห็นความทุกข์ที่มีอยู่ในกายโดยความเป็นสังขารธรรมรูปนามแต่อย่างใดเลย คงเห็นเป็นบัญญัติที่เนื่องมาจากสักกายทิฏฐิว่า เราปวด เราเจ็บ เราทุกข์ เราทรมาน

ดังนั้นทุกข์กายที่เป็นทุกขทุกข์ และสภาพทนได้ยากที่เป็นทุกขทุกขลักษณะ จึงไม่อาจปรากฏแก่ผู้นั้นโดยความเป็นสภาวปรมัตถ์ได้เลย เนื่องมาจากการเปลี่ยนอิริยาบถได้ปกปิดความทุกข์กายและสภาพทนได้ยากไว้ โดยที่ไม่มีการรู้ตัวเมื่อประสบทุกขทุกข์และทุกขทุกขลักษณะ

    จึงมิอาจจะปรากฏโดยความเป็นสภาวปรมัตถ์แก่เราได้ การปรากฏแห่งวิปริณามทุกข์และวิปริณามทุกขลักษณะ สังขารทุกข์และสังขารทุกขลักษณะ เหล่านั้นก็ยิ่งเกิดขึ้นไม่ได้


ผู้มีสติกำหนดรู้รูปนาม
ผู้ที่มีการกำหนดรู้ในรูปนามนั้น ย่อมรู้เห็นการเบียดเบียนด้วยอาการเกิดดับที่เป็นไปอยู่ในรูปนามโดยไม่ขาดในทวารทั้ง ๖ ดังนั้นเมื่อวิปริณามทุกขลักษณะปรากฏ คือความสุขกายที่เกิดขึ้น ในขณะแรกแห่งอิริยาบถ สมมุติว่าเมื่อนั่งใหม่ๆ ก็สุขกายแต่มาภายหลังความสุขนั้นได้หายไป ผู้นั้นก็สามารถรู้เห็นวิปริณามทุกขลักษณะนี้ได้ ตลอดจนสามารถรู้เห็นในการปวด เมื่อย เจ็บ ปวด ร้อน หนาว หิว กระหาย เป็นต้น

   ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นโดยความเป็นสังขารธรรมรูปนามล้วนๆ มิได้เกี่ยวกับความรู้สึกว่าเป็นเราปวด เมื่อย เป็นต้น นั้นอยู่เป็นเวลานานจนกระทั่งทนไม่ไหว มีจิตคิดจะเปลี่ยนก็รู้ถึงวาระจิตที่ต้องการจะเปลี่ยนนั้นด้วย ตลอดจนถึงกำลังทำการเปลี่ยนอิริยาบถ ครั้นเปลี่ยนแล้วความสุขกายเกิดขึ้นก็สามารถรู้ในความสุขกายนี้ได้อีก เมื่อความสุขกายหมดไปก็รู้เห็นได้อีก

เพราะการมีสติกำหนดรู้อยู่ในสังขารทุกข์และสังขารทุกขลักษณะ วิปริณามทุกข์และ วิปริณามทุกขลักษณะ ทุกขทุกข์ และทุกขทุกขลักษณะ ที่เกิดขึ้นในอิริยาบถต่างๆ ได้โดยลำดับต่อเนื่องกันไม่ขาดระยะ

    ฉะนั้นผู้ปฏิบัติรู้ในอิริยาบถ ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กล่าวนี้ การปฏิบัติเช่นนี้ได้ชื่อว่าไม่ใส่ใจในอิริยาบถ เป็นอันว่าปัญญารู้ในความเป็นจริงเกิดขึ้น ชื่อว่าทุกขานุปัสสนา



๓. อนัตตานุปัสสนา
   ปัญญาที่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ไม่มีแก่นสารปราศจากการบังคับบัญชาของรูปนามที่เนื่องมาจาก การพบเห็นเป็นประจักษ์แห่งความไม่ใช่ตัวตน เรา เขา โดยอาการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปติดต่อกันอยู่อย่างไม่ขาดสาย ในขณะที่กำหนดรู้รูปนามตามสภาวะอยู่ ปัญญานี้ชื่อว่า อนัตตานุปัสสนา

ตารางเปรียบเทียบความต่างของศัพท์
อนัตตา หมายถึง   รูปนามขันธ์ ๕ ไม่อยู่ในอำนาจ บังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น
อนัตตลักษณะ หมายถึง   อาการที่มีลักษณะเฉพาะตัว ที่ไม่เป็นไปในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด
อนัตตานุปัสสนา หมายถึงปัญญาที่พิจาณาเห็นความไม่เป็นไปในอำนาจบังคับบัญชาของรูปนาม

การพิจารณาอัตตาและอนัตต
การพิจารณาอัตตาและอนัตตา ดังตัวอย่างการเจริญกายคตาสติ เฉพาะที่กล่าวไว้ในหมวดความเป็นธาตุ ๒๐ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังพืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง ธาตุทั้ง ๒๐ นี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในสุตตันตปิฏกและอภิธรรมปิฎกว่าเป็น ปถวีธาตุ

ตราบใดที่ผู้ปฏิบัติยังพิจารณาเส้นผมโดยความยึดไว้ว่านี้เป็นเส้นผมของเราที่สวยงาม ขณะนั้นความเป็นจริงของสภาวะของปถวีธาตุก็ไม่ปรากฏ เพราะขณะนั้น ฆนะ คือ ความเป็นกลุ่มเป็นกองปิดบังความจริงไว้

ถ้าความเป็นกลุ่มกองแตกไป อนัตตลักษณะก็เห็นชัดแจ้ง คือ เห็นว่าเส้นผมนั้นเป็นเพียงปถวีธาตุ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เป็นเพียงธาตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสลายไป ผู้ปฏิบัติไม่สามารถเห็นความจริงของสภาวธรรมได้ก็เพราะอนัตตลักษณะไม่ปรากฏ อันเนื่องจากฆนะคือความเป็นกลุ่มเป็นกองได้ปกปิดไว้

    คำว่า ฆนะ หมายความว่าเกิดขึ้นเป็นกลุ่มก้อน ฆนะเป็นเหตุให้บุคคลทั้งหลายเข้าใจผิดถือว่าบุคคลสัตว์เราเขา เรียกกันว่ามีความยึดถือแบบเป็นอัตตา แต่เมื่อฆนะแตกแล้วอัตตาก็หายไป อนัตตาก็จะปรากฏชัดเจนแทนที่
   เมื่อไม่พิจาณารูปและนามแล้วจึงทำบัญญัติปรากฏชัด แต่กลับทำให้สภาพของปรมัตถ์กลับหายไป เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ในอาการ ๓๒ นั้น เส้นผมเป็นปถวีธาตุ แต่มีสัณฐานบัญญัติได้ปกปิดไว้ทำให้มองเห็นเป็นสิ่งกลมๆ ยาวๆ คนทั้งหลายเรียกกันว่าเส้นผม ส่วนความจริงอันได้แก่ปถวีธาตุที่มีสภาพสุขุมละเอียดนั้นไม่ปรากฏ

    แต่เมื่อพิจารณารูปและนามตามสภาพความเป็นจริงแล้วจะทำให้สภาวะของปรมัตถ์ปรากฏชัดและความเป็นบัญญัติก็หมดไป เมื่อผู้ปฏิบัติเข้าใจสภาวะความเป็นจริงของเส้นผมว่า สิ่งที่สมมุติเรียกว่าเส้นผมนี้ แท้จริงแล้วไม่ใช่เส้นผม เป็นเพียงปถวีธาตุ ความหนาแน่นของปถวีธาตุนี้เอง ที่เรียงติดต่ออัดแน่นอยู่ภายในเส้นที่เรียวๆ ยาวๆ นี้ เมื่อรู้ถูก พิจารณาถูก ก็จะคลายความยึดมั่นถือมั่น

ความพิเศษแห่งบัญญัติและปรมัตถ์
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้มีกล่าวถึงเรื่องบัญญัติและปรมัตถ์ไว้ ซึ่งสรุปได้ดังนี้ คือ

ถามว่า : ท่านถือเอาสภาวธรรมโดยอำนาจบัญญัติที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ มิใช่หรือ ?
ตอบว่า : ใช่ ถือเอาแต่ตอนต้นๆ เท่านั้น แต่เมื่อเจริญวิปัสสนาภาวนานานเข้าๆ จิตจะก้าวล่วงบัญญัติเสียและตั้งอยู่ในสภาวธรรมล้วนๆ


    อธิบายได้ว่าในการเจริญวิปัสสนานั้นขั้นต้นๆ เมื่อตั้งสติกำหนดรูปนาม โดยการเดินจงกรม เป็นต้น คนทั้งหลายก็อาจสงสัยในวิธีการว่า การกำหนดอย่างนี้เป็นการกำหนดบัญญัติ เมื่อกำหนดบัญญัติอยู่จะจัดเป็นการเจริญวิปัสสนาได้อย่างไร ?

   ความสงสัยเช่นนี้ก็ถูกต้อง แต่ว่าถูกไม่หมด เพราะในขั้นต้นนั้นก็พึงให้ผู้ปฏิบัติกำหนดอารมณ์บัญญัติไปก่อน มิฉะนั้นจิตจะไม่มีที่กำหนด เพราะปรมัตถ์เป็นสภาวะที่เห็นได้ยาก เมื่อกำลังภาวนา ตั้งมั่นอารมณ์บัญญัติเหล่านี้จะหายไป เหลือแต่สภาวปรมัตถ์ความเป็นรูปนามขันธ์ ๕ ล้วนๆ

    ตอนแรกเริ่มปฏิบัติการกำหนดอารมณ์ยังเป็นบัญญัติอยู่ อัตตาจึงยังปรากฏอยู่ อนัตตาก็ไม่ปรากฏ แต่เมื่อปัญญาภาวนาแก่กล้าขึ้น อารมณ์บัญญัติก็หายไป อารมณ์ปรมัตถ์ก็เกิดขึ้นแทน ในช่วงที่อารมณ์ปรมัตถ์เกิดขึ้นนี้เอง อนัตตาก็ปรากฏ อัตตาก็หายไป

   เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดพิจารณาในสังขารธรรม รูปนามขันธ์ ๕ ที่เกิดอยู่เฉพาะหน้าตามสภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัยอยู่ สันตติบัญญัติ และฆนบัญญัติ ที่ปกปิดการเกิดดับของสังขตธรรมในรูปนามขันธ์ ๕ ก็ขาดแตกไป ความเห็นที่บริสุทธิ์เช่นนี้เกิดขึ้นในเวลาใด เวลานั้นวิปัสสนาญาณของผู้ปฏิบัติก็เข้าถึงความเป็นอนัตตานุปัสสนา ก็ปรากฏขึ้นได้

    ผู้ที่ไม่มีการกำหนดในสังขตธรรมคือรูปนามขันธ์ ๕ แล้ว อย่าว่าแต่ความเกิดดับของสังขตธรรมคือรูปนามขันธ์ ๕ เลย แม้แต่รูปนามที่เกิดอยู่เฉพาะหน้าก็ไม่รู้ไม่เห็นเสียแล้ว คงรู้เห็นแต่บัญญัติ เช่น เมื่อเห็นสีก็รับรู้และเข้าใจไปแต่ในเรื่องต่างๆ ว่า เป็นหญิง ชาย เป็นต้น นี้ก็เป็นไปเพราะสันตติบัญญัติ และฆนบัญญัติได้ปกปิดอารมณ์ไว้ ผู้รับรู้อารมณ์ก็ไม่มีสติไปกำหนดพิจารณา

    สำหรับท่านที่กำหนดสังขตธรรมรูปนามขันธ์ ๕ ที่เกิดอยู่เฉพาะหน้า โดยมีสติรู้อยู่ติดต่อกันไม่ขาดสายนั้น ก็จะสามารถรู้ทะลุปรุโปร่งในฆนบัญญัติที่ปกปิด การเกิดดับของสังขตธรรมรูปนามขันธ์ ๕ ในระยะเวลาที่ได้เห็น ได้ยิน รู้รส ได้สัมผัสกับความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง เมื่อย เจ็บ ปวด ดีใจ เสียใจ คิดนึกต่างๆ เหล่านี้ ขาดลงเป็นตอนๆ ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและไม่มีแก่นสาร ปราศจากเราเขาที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการ เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ ญาณปัญญาก็เกิดขึ้นเข้าถึงความเป็นอนัตตานุปัสสนาได้



อ้างอิง บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ชุดที่ ๑๐ วิปัสสนากรรมฐาน
บรรณานุกรม
๑) ปรมัตถโชติกะ หลักสูตรชั้นมัชฌิมอาภิธรรมิกะโท โดย พระสัทธัมมโชติกะ :
อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๒) วิมุตติมรรค พระอุปติสสเถระ รจนา พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณะแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ ของพระเอฮารา พระโสมเถระ และพระเขมินทเถระ
๓) วิสุทธิมรรค ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง
๔) พระสูตร และ อรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่มที่ ๗ ภาคที่ ๑- ๒
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 12, 2012, 09:05:35 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

หมวยจ้า

  • โยคาวจรผล
  • ******
  • ผลบุญ: +40/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1336
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: สิ่งปิดบัง พระไตรลักษณ์
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 24, 2011, 06:19:41 am »
0
อนุโมทนา คร้า...ได้อ่านเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิปัสสนา รู้สึกได้เลยว่า มีภูมิธรรมส่วนนี้เพิ่มขึ้นด้วยคร้า..

 โดยเฉพาะ เรื่อง ฆนสัญญา คร้า....น่าสนใจมาก คร้า....

 :25:
บันทึกการเข้า
ถึงเป็นผู้หญิง ตัวเล็ก แต่ก็ยังสู้ได้อยู่ด้วยตัวคนเดียว
พุทโธ พุทโธ พุทโธ ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกถึง

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: สิ่งปิดบัง พระไตรลักษณ์
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 12, 2012, 09:08:12 pm »
0

ภาพจาก http://file.siam2web.com/
:25: :25: :25:
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ