ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: #เจ้านายฝ่ายเหนือ หลวงพ่อเกษม เขมโก (เจ้าเกษม ณ ลำปาง) VS เหรียญกองพันลำปาง  (อ่าน 1402 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
เหรียญหลวงพ่อเกษม รุ่นกองพันลำปาง


เหรียญกองพันลำปาง หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์

“หลวงพ่อเกษม เขมโก” สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง พระเถราจารย์ปูชนียบุคคลอีกรูป ที่มีผู้มีความเคารพศรัทธาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นเจ้านายในราชวงศ์ทิพย์จักร ที่ออกผนวชอีกด้วย

    - สำหรับวัตถุมงคลต่างๆ ที่สร้างและปลุกเสก ล้วนเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหา ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง หนึ่งในนั้นคือ “เหรียญหลวงพ่อเกษม เขมโก รุ่นกองพันลำปาง”

    - เหรียญหลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง รุ่นกองพันลำปาง จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2517 สร้างโดยสามเณรนิติรัตน์ ศิษย์ใกล้ชิดร่วมกับจังหวัดทหารบกลำปาง สร้างเพื่อแจกทหาร

    - จำนวนการสร้างรวมทั้งหมด 2,513 เหรียญ ประกอบด้วย เนื้อทองคำ 13 เหรียญ, เนื้อเงิน 300 เหรียญ, เนื้อนวะโลหะ 200 เหรียญ และเนื้อทองแดง 2,000 เหรียญ

    - ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเกษมครึ่งองค์หันหน้าตรง ด้านบนจารึกเป็นภาษาบาลี อ่านว่า “เขมโก”

    - ด้านหลัง ตรงกลางเป็นอักขระยันต์ภาษาบาลี ด้านล่างยันต์ จารึก “๒๓ ต.ค.๑๗” หมายถึงปี พ.ศ.ที่จัดสร้าง บริเวณรอบขอบเหรียญ เขียนคำว่า “หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง”

    - เหรียญรุ่นดังกล่าว มีโค้ดตอกกำกับทุกเหรียญ ได้รับความนิยมไม่แพ้เหรียญหลวงพ่อเกษมรุ่นแรกแต่อย่างใด เนื่องจากมีจำนวนการสร้างน้อย ประกอบกับผู้นำไปบูชามีประสบการณ์ จึงทำให้เหรียญนี้ได้รับความนิยมมาก จัดเป็นอีกเหรียญที่หายากในปัจจุบัน


ขอบคุณภาพจาก https://img.tnews.co.th/

ประวัติหลวงพ่อเกษม เขมโก

เดิมมีนามว่า "เจ้าเกษม ณ ลำปาง" เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2455 ตรงกับวันพุธ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ร.ศ.131 เป็นบุตรในเจ้าน้อยหนู ณ ลำปาง (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น มณีอรุณ) ปลัดอำเภอ กับเจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง และเป็นราชปนัดดาในเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย

สมัยตอนเด็ก มีคนเล่าว่าท่านซนมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งปีนต้นบ่ามั่น (ต้นฝรั่ง) เกิดผลัดตกจนมีแผลเป็นที่ศีรษะ

เมื่ออายุ 13 ปี บรรพชา ซึ่งเป็นการบรรพชาหน้าศพ (บวชหน้าไฟ) ของเจ้าอาวาสวัดป่าดั๊ว 7 วัน ได้ลาสิกขาและบรรพชาอีกครั้งเมื่ออายุ 15 ปี อยู่ที่วัดบุญยืน จังหวัดลำปาง ศึกษาด้านพระปริยัติธรรม จนสามารถสอบนักธรรมชั้นโทได้ในปี พ.ศ.2474 เข้าพิธีอุปสมบทในปีถัดมา มีพระธรรมจินดานายก เจ้าอาวาสวัดบุญวาทย์วิหาร อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำปาง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า เขมโก แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม

พระภิกษุเจ้าเกษม ศึกษาภาษาบาลีที่สำนักวัดศรีล้อม ต่อมาได้ย้ายมาศึกษาแผนกนักธรรมที่สำนักวัดเชียงราย

@@@@@@

พ.ศ.2479 สอบได้นักธรรมชั้นเอก เรียนรู้ภาษาบาลีจนสามารถเขียนและแปลได้ แต่ไม่ได้สอบเอาวุฒิ จนครูบาอาจารย์ทุกรูปต่างเข้าใจว่า ไม่ต้องการมีสมณศักดิ์สูง เรียนเพื่อจะนำเอาวิชาความรู้มาใช้ในการศึกษาค้นคว้าพระธรรมคำสอนเท่านั้น

หลังสำเร็จทางด้านพระปริยัติธรรมแล้ว เสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนา จนกระทั่งทราบข่าวว่า มีพระเกจิรูปหนึ่งมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนา คือ ครูบาแก่น สุมโน จึงฝากตัวเป็นศิษย์

ตามครูบาแก่นออกท่องธุดงค์ไปแสวงหาความวิเวกและบำเพ็ญเพียรตามป่าลึก จนถึงช่วงเข้าพรรษาจึงต้องแยกทางกับพระอาจารย์ และกลับมาจำพรรษาที่วัดบุญยืนตามเดิม พอครบกำหนดออก ก็ติดตามอาจารย์ออกธุดงค์บำเพ็ญภาวนา

ต่อมาเจ้าอธิการคำเหมย เจ้าอาวาสวัดบุญยืน มรณภาพลง คณะสงฆ์ได้ประชุมกันเพื่อหาเจ้าอาวาสรูปใหม่ และต่างลงความเห็นพ้องต้องกันเห็นควรว่า พระภิกษุเจ้าเกษม มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าอาวาส ครั้นเมื่อได้รับเลือกเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ก็ไม่ยินดียินร้าย แต่ท่านก็ห่วงทางวัด เพราะเคยจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ เห็นว่าถือเป็นภารกิจทางศาสนา ต้องการให้พระศาสนานี้ดำรงอยู่


ขอบคุณภาพจาก https://naklangbolan.com/

หลังจากนั้น ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสหลายครั้ง เนื่องจากต้องการจะออกธุดงค์ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น จึงออกจากวัดบุญยืนไปที่ศาลาวังทาน พร้อมเขียนข้อความลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสไว้ด้วย

     - เป็นพระสายวิปัสสนาธุระ ไม่ยึดติดแม้แต่สถานที่ ปฏิบัติธรรม ณ สุสานไตรลักษณ์ ตลอดชีพ เป็นพระที่เป็นที่เคารพสักการะทั้งจังหวัดลำปางและทั่วประเทศ

    - วิธีสอนของท่านมักเน้นอุปมาอุปไมยให้ไปขบคิด เรื่องที่เทศนา มุ่งเอาพุทธวจนะเป็นที่ตั้ง ครั้งหนึ่งในการเทศน์งานศพ มีคนมิตั้งใจฟัง นั่งคุยกันจนหนวกหู หลวงพ่อเกษมจึงใช้กระป๋องเนยเปล่า เป็นอุปกรณ์ช่วยขยายเสียงด้วยการสะท้อนเสียงเข้าไปในกระป๋อง เท่านั้นเสียงท่านก็ดังกังวานคล้ายวิทยุ เป็นกุศโลบายแบบหนึ่งที่ใช้จูงใจให้ใฝ่ธรรม

    - เวลา 19.40 น. วันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2539 มรณภาพลงอย่างสงบ ที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลลำปาง จ.ลำปาง สิริอายุ 84 ปี พรรษา 64



จากคอลัมน์ : โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ komkam.ks@gmail.com
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 มีนาคม - 2 เมษายน 2563
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_289447
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 31, 2020, 06:54:26 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ