ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สาธุ โข สิปฺปกํ นาม อปิ ยาทิสกีทิสํ = ขึ้นชื่อว่าศิลปะอย่างไหนก็ได้ดีทั้งนั้น  (อ่าน 1345 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

 :25: :25: :25:

สูตรสำเร็จในชีวิต (10) : ศิลปะ

สูตรแห่งความสำเร็จในชีวิตข้อต่อไป คือ สิปปะ หรือศิลปะ

ศิลปะ คำนี้คนไทยสมัยนี้จะเข้าใจอย่างไรก็ช่างเถอะครับ แต่ในมงคล 38 ประการนี้ ท่านอธิบายเน้นหนักไปในทางการเป็นช่าง หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ทำเก่ง ทำเป็น”

พาหุสัจจะ (ความคงแก่เรียน) นั้นเป็นเรื่องของ “นักรู้” แต่สิปปะ หรือศิลปะ เป็นเรื่องของ “นักทำ” รวมสองอย่างเข้าด้วยกันเรียกว่า “ศิลปวิทยา” คนมีศิลปวิทยา จึงหมายถึงคนที่รู้เรื่องนั้นๆ อย่างดีและทำได้อย่างดีด้วย

คนที่รู้เรื่องแกงส้มอย่างดี อธิบายบอกส่วนผสมปรุงแต่งฉอดๆ แต่พอให้ทำแกงส้มดูบ้าง เงอะๆ งะๆ แถมยังรสชาติไม่เอาไหน อย่างนี้เรียกได้เพียงว่าเป็นพหูสูตในเรื่องการแกงส้ม

อีกคนรู้ดีด้วยว่า แกส้งมต้องทำอย่างไร ใส่อะไรลงไปบ้างและสามารถแกงส้มออกมามีรสชาติเอร็ดอร่อยดีด้วย อย่างนี้เรียกว่าเป็น “ผู้มีศิลปวิทยาในเรื่องแกงส้ม”

@@@@@@

สุภาษิตบทหนึ่งว่า “รู้อะไรให้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” ว่ากันว่าเป็นวาทะของสุนทรภู่ ภู่จริงหรือไม่จริงก็ช่างเถอะครับ เอาเป็นว่าสุภาษิตว่าอย่างนี้แหละจำกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง สุภาษิตบทนี้มิได้หมายความเพียงการเรียนรู้อย่างเดียว หากครอบคลุมถึงการทำได้ด้วย เช่น รู้เรื่องแกงส้มต้องแกงส้มเป็น และแกงได้อร่อยเหาะด้วย อย่างนี้เกิดผลแน่นอน

ขอให้ฝีมือดีเสียอย่าง คุณจะไปหลบมุมตั้งร้านขายในตรอกซอกซอยลึกขนาดไหน ก็จะมีคน “ซอกแซก” และ “ซอกซอน” ตามไปกินจนได้แหละครับ บางที่อยู่ไกลเป็นร้อยๆ กิโลยังอุตส่าห์นั่งรถไปกินเลยครับ ไม่เชื่อถาม “อาหม่อม” ถนัดศรีของผมดูสิครับ

ทำไมคนจึงต้องลงทุนขับรถไปไกลๆ เพื่อจะไปกินแกงส้มถ้วยเดียว คำตอบก็คือ เพราะคนทำเขามี “ศิลปะ” ในเรื่องแกงส้ม เรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน (เดี๋ยวจะหาว่าได้สปอนเซอร์แนะนำแต่แกงส้ม)

เพราะฉะนั้น ผู้รู้จึงกล่าวว่า สาธุ โข สิปฺปกํ นาม อปิ ยาทิสกีทิสํ = ขึ้นชื่อว่าศิลปะอย่างไหนก็ได้ดีทั้งนั้น

เรื่องอะไรก็ตามขอให้เชี่ยวชาญเถิดมีประโยชน์ทั้งนั้น อาชีพที่สุจริตอะไรก็ได้ครับ ทำให้เก่งให้เชี่ยวชาญแล้วจะเจริญแน่นอน แต่อย่าใช้ในทางทุจริตเบียดเบียนคนอื่นล่ะ นั่นมันทางฉิบหายครับ


@@@@@@

บุรุษเปลี้ย (คนแคระ) คนหนึ่งดีดก้อนกรวดเร็วมาก ดีดใส่ใบไม้บนต้นไม้ฉลุเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ได้สวยงาม แกอาศัยศิลปะนี้เลี้ยงชีพอย่างสบาย

วันหนึ่งพระราชาทรงนำเขาเข้าวัง ซ่อนไว้หลังม่านให้ดีดขี้แพะใส่ปากปุโรหิตพูดมากคนหนึ่ง โดยเขาไม่รู้ตัว กว่าจะรู้อะไรเป็นอะไรก็กลืนขี้แพะจนเต็มพุง ตั้งแต่นั้นมา ปุโรหิตปากมากกลายเป็นคนพูดน้อย “จอมยุทธ์แคระ” ได้รับพระราชทานรางวัลมากมาย

ชายคนหนึ่งเรียนศิลปะนี้จากจอมยุทธ์แคระ ด้วยความคะนองมือ ดีดกรวดเข้าหูพระปัจเจกพุทธปรินิพพาน (ในที่นี้แปลว่าตาย) ในเวลาต่อมา ไอ้หมอนั่นยังไปคุยว่าตัวเองดีดกรวดแม่นมาก เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาท่านนี้ไม่ทิ้งร่องรอยไว้เลย ถ้าไม่บอกไม่มีใครรู้นะว่าท่านผู้นี้ตายเพราะตน เลยถูกประชาชนประชาทัณฑ์ตาย สมน้ำหน้า

แค่กรวดธรรมดาๆ ถ้าดีดเก่งดีชำนาญอย่างจอมยุทธ์แคระก็เอาตัวรอดได้ แต่ถึงจะเก่งกาจอย่างไร ถ้าใช้ความเก่งนั้นไปในทางที่ผิดก็ประสบหายนะดุจดังชายคนที่สองในนิทานนี้แล



ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 มีนาคม - 2 เมษายน 2563
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 2 เมษายน พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_291997
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ