ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ตัณหา เวลา อัตตา ฟิสิกส์  (อ่าน 540 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ตัณหา เวลา อัตตา ฟิสิกส์
« เมื่อ: กันยายน 15, 2018, 07:16:43 am »
0



ตัณหา เวลา อัตตา ฟิสิกส์
โดย ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร

ใครที่ไม่ชอบวิชาเลขอย่าเพิ่งทำหน้าเบ้หรือเปิดข้ามหน้านี้ไป ด้วยความขนพองสยองเกล้าเสียก่อนนะครับ เพราะเรื่องนี้ไม่มีการบังคับให้ต้องคำนวณหรือแก้สมการแต่อย่างใด มีแต่การนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจใกล้ตัวคุณ…

หากคุณอยากให้เวลาผ่านไปเร็วขึ้นคุณก็จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า แต่ถ้าคุณอยากให้เวลาผ่านไปช้าลง คุณก็จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วจึงอาจกล่าวได้ว่า “ตัณหาคือนาฬิกาของจิตใจ” นั่นเอง

เคยมีคนถามสุดยอดอัจฉริยะอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ว่า “ทฤษฎีสัมพัทธภาพอันก้องโลกของเขาคืออะไร และเขาสามารถอธิบายความซับซ้อนของมันให้คนทั่วไปเข้าใจได้หรือไม่…”

ไอน์สไตน์ตอบว่า “เวลาวางมือบนเตาร้อน ๆ เพียงหนึ่งนาที คุณจะรู้สึกนานเหมือนหนึ่งชั่วโมง แต่เวลานั่งคุยกับสาวสวยหนึ่งชั่วโมง คุณจะรู้สึกว่ามันรวดเร็วราวกับหนึ่งนาที นั่นแหละคือทฤษฎีสัมพัทธภาพของผม…” แน่นอนครับว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพของจริงไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้นอย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ทุกคนทราบดีว่า สิ่งที่ไอน์สไตน์พูดนั้น…คือความจริง!


@@@@@@

คำว่า “เวลาของเราไม่เท่ากัน” อาจฟังดูเหมือนคำพูดที่หลุดออกมาจากปากของพระเอกที่กำลังอกหักในละครหลังข่าว แต่เวลาของมนุษย์แต่ละคนนั้นไม่เท่ากันจริง ๆ ทั้งนี้ก็เพราะการรับรู้เวลาเกิดขึ้นในสมองของเราเอง โดยส่วนของสมองที่ใช้รับรู้เวลานั้นมีอยู่ด้วยกันหลายส่วน รวมเรียกว่า “นาฬิกาภายใน” หรือ Internal Clock ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องมากที่สุดมีชื่อว่า สเตรียตัม (Striatum) ดังนั้นผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ซึ่งสมองส่วนสเตรียตัมถูกทำลาย จึงประสบปัญหาอย่างมากในการระบุและประเมินเวลา

สิ่งมหัศจรรย์ก็คือ แม้เข็มวินาทีบนหน้าปัดนาฬิกาจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าในจังหวะเท่าเดิมตลอด แต่การรับรู้จังหวะความ “สั้น - ยาว” ของคนแต่ละคนที่มีต่อเข็มวินาทีนั้นไม่เหมือนกันเลย ทั้งนี้ก็เพราะการรับรู้เวลาในแต่ละวินาทีจะผ่านการปรุงแต่งของตัณหา (ความอยาก) ซึ่งคอยบิดเบือนความจริงที่เรารับรู้อยู่เสมอ

จะเห็นได้ว่า คนเรามักจะให้ความสนใจกับเวลามากเป็นพิเศษในยามที่เราเป็นทุกข์ เช่น คุณจะคอยเหลือบมองหน้าปัดนาฬิกาในที่ประชุมหรือในห้องเรียนที่น่าเบื่อหน่าย คุณจะเฝ้ารอเสียงระฆังดังบอกเลิกเวลาในการนั่งสมาธิ เพราะคุณเริ่มเกิดความเจ็บปวดทรมาน และคุณจะนอนนับวันเวลาที่จะได้ออกมาจากโรงพยาบาลแล้วกลับไปอยู่บ้านเสียที ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากตัณหา (ความอยาก) ที่จะให้เวลาผ่านไปเร็วขึ้น ดังนั้นแม้เข็มวินาทีจะเคลื่อนที่ไปในจังหวะที่เท่าเดิม แต่คุณกลับรู้สึกว่ามันเคลื่อนที่ “ช้าเกินไป” อยู่ดี!

@@@@@@

หลวงพ่อชา ได้สอนเรื่องตัณหาไว้อย่างยอดเยี่ยม โดยท่านให้ลูกศิษย์ดูไม้ท่อนหนึ่งแล้วถามว่า “ไม้ท่อนนี้สั้นหรือยาว” ลูกศิษย์บางคนตอบว่า “สั้น” ส่วนบางคนตอบว่า “ยาว” สุดท้ายหลวงพ่อชาจึงเฉลยว่า “หากคุณอยากได้ไม้ที่ยาวกว่านี้ ไม้ท่อนนี้มันก็สั้น แต่ถ้าหากคุณอยากได้ไม้ที่สั้นกว่านี้ไม้ท่อนนี้มันก็ยาว…ตัณหาหรือความอยากของคุณต่างหาก ทำให้มีสั้นมียาว มีดีมีชั่วมีทุกข์มีสุขขึ้นมา ละตัณหาเสียได้เท่านั้นทุกอย่างก็จบ…”

ฉันใดก็ฉันนั้น หากคุณอยากให้เวลาผ่านไปเร็วขึ้น คุณก็จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า แต่ถ้าคุณอยากให้เวลาผ่านไปช้าลง คุณก็จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วจึงอาจกล่าวได้ว่า “ตัณหาคือนาฬิกาของจิตใจ” นั่นเอง

ฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่เรามีอารมณ์ด้านลบ เช่น กลัว เบื่อ เครียด เจ็บทุกข์ ฯลฯ เมื่อนั้นตัณหาของเราจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะเราอยากหนีออกไปจากปัจจุบันที่มีแต่ความทุกข์เต็มทีแล้ว จิตของเราจึงยิ่งยึดติดอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตเหนียวแน่นมากขึ้น แต่ความจริงก็คือ ยิ่ง “อยากมาก” เท่าไหร่ เวลาก็จะยิ่งดูเหมือน “ยืดยาว” มากขึ้นเท่านั้น

@@@@@@

อีกหนึ่งคำถามที่คนมักจะสงสัยก็คือทำไมตอนเด็ก ๆ เวลาจึงดูเหมือนผ่านไปอย่างเชื่องช้า แต่พอโตขึ้นมา (โดยเฉพาะเมื่อเริ่มแก่ชรา) เวลาจึงผ่านไปอย่างรวดเร็วจนน่ากลัว! สาเหตุก็เกิดจากตัณหาอีกเช่นเคย กล่าวคือ ตอนเราเป็นวัยรุ่น เราไม่ค่อยคิดถึงเวลาที่เหลืออยู่ เพราะชีวิตเพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นาน และเราก็คิด (อย่างผิด ๆ) ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปชั่วนิรันดร์ แต่เมื่อเราเริ่มเป็นผู้ใหญ่และอายุมากขึ้น เราอยากให้เวลาผ่านไปช้า ๆ เพราะเราไม่อยากแก่ชราและจากโลกนี้ไป ตัณหาจึงทำให้เวลาดูเหมือนผ่านไปรวดเร็วกว่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้มีเครื่องยืนยันจากห้องทดลองของนักจิตวิทยา

ปีเตอร์ แมนแกน (Peter Mangan) และโจ โบลินสกี (Joe Bolinsky) ในปี 1997 ที่ระบุว่า คนในวัย 20 ต้น ๆ สามารถคาดเดาว่าเวลาผ่านไป 3 นาทีได้อย่างแม่นยำ ในขณะที่คนในวัย 60 ต้น ๆ มักจะคาดเดาพลาด โดยพวกเขาเดาว่า เวลาผ่านไปเร็วกว่ากลุ่มวัยรุ่นถึง 20 เปอร์เซ็นต์!

อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นตัวบิดเบือนการรับรู้เวลาของมนุษย์ก็คือ “อัตตา” (ความมีตัวตน) โดยอัตตาของเราจะขยายใหญ่ขึ้นเสมอในเวลาที่เรามีความทุกข์และมีตัณหาจะเห็นได้ว่า เวลาที่เรารู้สึกเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ คำพูดในสมองของเราจะเต็มไปด้วยคำว่า “ฉัน” เช่น“ทำไม ฉัน ถึงต้องป่วย” “เมื่อไหร่ ฉัน จะหายเสียที” “ทำไมเขาถึงได้ทำกับ ฉัน แบบนี้” “อีกนานเท่าไหร่ ฉัน จึงจะได้หยุดพัก” ฯลฯ

@@@@@@

เรื่องนี้มีข้อพิสูจน์จาก แคทลีน โวห์ส (Kathleen Vohs) และ แบรนดอน ชไมเซล (Brandon Schmeichel)  นักวิจัยทางจิตวิทยา ที่พบว่า การพยายามควบคุมตัวเองจะทำให้เวลาดูเหมือนเคลื่อนที่ช้าลงโดยแคทลีนและแบรนดอนพบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยที่นั่งดูคลิปภาพยนตร์ตลกความยาว 11 นาที จะเดาว่า ภาพยนตร์ดังกล่าวมีความยาวมากกว่า 11 นาที หากพวกเขาถูกห้ามไม่ให้หัวเราะ ในขณะที่ผู้เข้าร่วมวิจัยซึ่งนั่งดูคลิปโดยไม่ถูกควบคุม จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปด้วยความเร็วปกติ ทั้งนี้เนื่องจากการพยายามควบคุมตัวเอง ทำให้ผู้เข้าร่วมวิจัยไม่อาจปล่อยให้ตัวตน “หลุด” เข้าไปอยู่ในภาพยนตร์ได้อย่างเต็มที่

ตรงกันข้าม เวลาที่เรามีความสุขเราจะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำจน “ลืมตัว” ซึ่งในตอนนั้นเราจะไม่คำนึงถึงตัวตน ไม่กังวลถึงอนาคต และไม่หมกมุ่นอยู่กับอดีต เวลาจึงดูเหมือนผ่านไปอย่างรวดเร็วเพราะตัวเราไหลล่องไปกับปัจจุบันขณะโดยไม่มี “ตัณหา” มาคอยดึงจิตให้ผูกติดกับเข็มนาฬิกา

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่คนซึ่งกำลังทำในสิ่งที่เขารัก มักจะทำสิ่งนั้นไปได้เรื่อย ๆ จน “ลืมเวลา” เนื่องจากอัตตาของเขาได้กลืนหายไปกับสิ่งรอบกายและกิจกรรมที่เขากำลังทำอยู่ ทฤษฎีนี้ทางจิตวิทยาเรียกว่า “Flow” (การไหลของจิต) เป็นทฤษฎีซึ่งคิดค้นโดยนักจิตวิทยาชาวฮังการีนามว่า มีไฮ ชีกเซนต์เมอไฮ (Mihaly Csikszentmihalyi)

@@@@@@

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ดร.เฮอร์เบิร์ต เบนสัน (Dr. Herbert Benson)  ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ลองนำนักวิปัสสนากรรมฐาน จำนวน 36 คน ไปนั่งสมาธิในห้องทดลอง ผลปรากฏว่า ระหว่างที่คนเหล่านั้นกำลังอยู่ในสมาธิ ส่วนของสมองที่มีชื่อว่า โพสทีเรียร์ ซินกูเลต คอร์ติซีส (posterior cingulate cortices) ทำงานน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสมองส่วนนี้ก็คือส่วนที่ใช้ตระหนักรู้ในความเป็นตัวฉัน (“I” หรือ “Ego” นั่นเอง)

นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเมื่อจิตของเราเป็นสมาธิ เราจึงรู้สึกว่าความเป็นตัวตนลดน้อยลง และตัณหาก็เบาบางลง จึงไม่น่าแปลกใจที่ระหว่างนั่งสมาธิบางคนจะรู้สึกเหมือนตัวเองหลุดเข้าไปอยู่ในอีกมิติเวลาหนึ่ง และเมื่อลืมตาขึ้นก็รู้สึกว่า เวลาหนึ่งชั่วโมงนั้นผ่านไปไวเหมือนโกหก 

นอกจากนั้นนักจิตวิทยายังพบว่าโดพามีนซึ่งเป็นสารที่หลั่งออกมาเวลาที่เรามีความสุข มีผลทำให้สมองรับรู้เวลารวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย จึงไม่น่าแปลกที่ยาเสพติดบางชนิดซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นโดพามีนให้หลั่งออกมาเป็นจำนวนมาก เช่น โคเคน หรือ LSD จะทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนช่วงเวลาอันยาวนานผ่านไปในพริบตาเดียว (Time Warp Effect) ตรงข้ามกับผู้ที่ป่วยเป็น โรคจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งต้องกินยาลดโดพามีนในสมอง คนเหล่านี้จะรู้สึกราวกับว่าเวลาแต่ละวันผ่านไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน

@@@@@@

ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เพื่อจะสรุปในตอนท้ายนี้ว่า มนุษย์ไม่ได้แค่ “รับรู้” เวลาแต่หลายครั้งทีเดียวที่มนุษย์ “สร้าง” เวลาขึ้นมาจากความรู้สึกที่ถูกบิดเบือนและปรุงแต่งโดยตัณหาและอัตตา เพราะอันที่จริงแล้ว “เวลา” และ “นาฬิกา” เป็นเพียงสิ่งสมมุติที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิตเท่านั้น

ทุกสรรพสิ่งในจักรวาลเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของอนิจจัง ดังนั้นใครก็ตามที่ต้องการให้สิ่งที่ตนรักคงอยู่ตลอดกาล หรืออยากให้สิ่งที่ตนชังจากไปเร็วกว่าปกติ ก็แน่นอนว่าจะต้องเจอกับความทุกข์ “อันแสนยาวนาน”…เป็นธรรมดา

    Secret Box
    “เวลา” มีได้ก็เพราะมีอัตตา หากไร้ซึ่งอัตตา “เวลา” ก็ไม่มี… พุทธทาสภิกขุ

 


 
จากคอลัมน์ MIND MANAGEMENT นิตยสารซีเคร็ต
เรื่อง ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร www.facebook.com/KhunkhaoWriter
ภาพ Free-Photos on pixabay
ขอบคุณที่มา : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/96053.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ