ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระเจ้าเก้าตื้อ พระพุทธชินราชแห่งล้านนา  (อ่าน 587 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



พระเจ้าเก้าตื้อ พระพุทธชินราชแห่งล้านนา

หากจะถามว่าในล้านนามีพระพุทธรูปองค์ไหนไหมที่งดงามสร้างความประทับใจให้แก่ผู้พบเห็นมากที่สุด อีกทั้งต้องมีความยิ่งใหญ่ในด้านประวัติการสร้างและกรรมวิธีเทคนิคการหล่อ ในระนาบที่ทัดเทียมกับ “พระพุทธชินราชแห่งแคว้นสุโขทัย”

ชาวล้านนาสามารถตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “มีสิ! ก็พระเจ้าเก้าตื้อไง”

พระเจ้าเก้าตื้อแห่งวัดสวนดอกนี้ หากใครได้ศึกษาอย่างลงลึกแล้วไซร้ ก็ยากเกินจะปฏิเสธต่อฉายาที่มีผู้กล่าวว่า เปรียบเสมือนพระพุทธชินราชแห่งแผ่นดินล้านนานั้นได้เลย

(พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดสวนดอก หรือวัดบุบผาราม ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัดสำคัญของนครเชียงใหม่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามที่สุดในล้านนา)

@@@@@@

ผู้สร้างต่างเป็นธรรมราชา

พระพุทธชินราชสร้างโดยกษัตริย์สุโขทัยผู้เป็นธรรมิกราชา นั่นคือพระญาลิไท ผู้มีพระนามอย่างเป็นทางการว่า “พระมหาธรรมราชาที่ 1” แม้ว่าในเอกสารพงศาวดารเหนือ จะเขียนว่าพระพุทธชินราชสร้างโดย “พระศรีธรรมไตรปิฎก” ซึ่งนามนี้ไม่ปรากฏในเอกสารชิ้นอื่นใดของสุโขทัย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชวินิจฉัยสอดคล้องกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “พระศรีธรรมไตรปิฎก” ก็คือพระญาลิไทนั่นเอง

พระเจ้าเก้าตื้อก็สร้างโดยกษัตริย์ล้านนาผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นธรรมราชาเช่นเดียวกัน ดังที่พระเมืองแก้วได้รับราชสมัญญาว่า “พระสิริธรรมราชา” หรือ “พระญาสิริทรงธรรม”

@@@@

แม้อายุสมัยของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์จะห่างกันร่วม 145 ปี กล่าวคือ พระญาลิไทสร้างพระพุทธชินราชระหว่างปี พ.ศ.1900-1907 ส่วนพระเมืองแก้วสร้างพระเจ้าเก้าตื้อระหว่าง พ.ศ.2047-2052 แต่ว่ากันโดยศักดิ์และโดยสิทธิ์แล้ว สถานะของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ไม่ได้แตกต่างกันเลย

พระญาลิไทเป็นหลานของมหาราชองค์สำคัญคือพ่อขุนรามคำแหง ส่วนพระเมืองแก้วก็เป็นเหลนสายตรงจากพระเจ้าติโลกราชมหาราชแห่งล้านนา

สิ่งไหนหรือที่สะท้อนถึงความเป็นธรรมิกราชาของพระเจ้าแผ่นดินทั้งสอง

@@@@

คำตอบคือ การที่ทั้งสองรัชกาลต่างเป็นยุคทองของวรรณคดีทางพุทธศาสนาเหมือนๆ กัน ตัวพระญาลิไทเองทรงเป็นผู้รจนาเตภูมิกถา (ไตรภูมิพระร่วง) ความที่ทรงเป็นผู้รอบรู้พระไตรปิฎก อาจทำให้เอกสารพงศาวดารเหนือบันทึกนามของพระองค์เป็นพระศรีธรรมปิฎก ก็เป็นได้

ส่วนพระเมืองแก้วนั้นทรงอุปถัมภ์นักปราชญ์ราชบัณฑิตให้ประพันธ์บาลีปกรณ์จำนวนมาก อาทิ พระมหาสิริมังคลาจารย์ เขียนเรื่องมังคลัตถทีปนี พระรัตนปัญญาเถระ เขียนเรื่องชินกาลมาลินี เป็นต้น


@@@@@@

มูลเหตุแห่งการสร้างพระพุทธปฏิมา

พงศาวดารเหนือระบุว่า พระศรีธรรมปิฎก (พระญาลิไท) ได้หล่อพระพุทธปฏิมาพร้อมกัน 3 องค์ขึ้นที่เมืองพิษณุโลก คือ พระพุทธชินสีห์ พระ(ศรี)ศาสดา และพระพุทธชินราช

ปรากฏว่าสององค์แรกหล่อเสร็จ แต่พระพุทธชินราชมีอุปสรรคนานัปการต้องทำการหล่อหลายครั้ง นำไปสู่เรื่องเล่าที่ว่าพระอินทร์ได้แปลงกายเป็นชีปะขาวมาช่วยหล่อจึงสำเร็จ

การที่พระเมืองแก้วสร้างพระเจ้าเก้าตื้อที่เชียงใหม่ มีเอกสารของวัดสวนดอกระบุไว้แน่ชัดว่าสร้างขึ้นเพื่อเหตุผลสองประการ

@@@@

ประการแรก เพื่อจะรวมคณะสงฆ์ที่แตกแยกกัน 2 นิกาย คือนิกายสวนดอกกับนิกายป่าแดงให้หันหน้าเข้าหากัน เกิดความสมานฉันท์กัน ดังนั้น ตอนทำพิธีจึงได้นิมนต์พระจาก 2 นิกายมาร่วมสวด นิกายละ 500 รูป รวม 1,000 รูป

ประการที่สอง เมื่อพระองค์ได้ประสานความแตกแยกในวงการสงฆ์สองนิกายแล้ว ก็ได้ทำการสถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็น “จักรพรรดิราชา” ตามอย่างพระเจ้าติโลกราช ผู้เป็นทวด ด้วยการเฉลิมนามของพระพุทธปฏิมาองค์นี้ว่า “พระเจ้าสิริทรงธรรม จักรพรรดิราช”

แต่คนทั่วไปไม่ทราบชื่อเต็มของพระพุทธรูปองค์นี้ เรียกกันแต่ว่า “พระเจ้าเก้าตื้อ”

@@@@

กล่าวให้ง่ายก็คือ พระเจ้าเก้าตื้อของพระเมืองแก้วองค์นี้หล่อขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความพยายามที่จะลดความบาดหมางร้าวลึกอันยาวนานกว่า 120 ปีที่สองนิกายซึ่งอ้างว่าเป็นลังกาวงศ์ทั้งคู่แตกแยกกัน พร้อมกับถือโอกาสประกาศตนเป็นพระจักรพรรดิราชอีกด้วย

ส่วนมูลเหตุในการหล่อพระพุทธปฏิมา 3 องค์ที่พิษณุโลกนั้น ไม่มีเอกสารใดระบุไว้ว่าพระญาลิไทสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระพิเศษใดหรือไม่ แต่เชื่อได้ว่าพระญาลิไทคงมีความประสงค์ที่จะประกาศสิ่งสำคัญอะไรบางอย่างก็เป็นได้ ถึงขนาดสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่พร้อมกันถึง 3 องค์เช่นนี้

@@@@@@

กว่าจะหล่อสำเร็จเป็นพุทธปฏิมา

เมื่อเปรียบเทียบกันในด้านขนาด กับกรรมวิธีการหล่อพระพุทธปฏิมานั้น พบว่า

พระพุทธชินราช มีหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก

พระเจ้าเก้าตื้อ มีหน้าตักกว้าง 3 เมตร สูงจากฐานแท่นแก้วถึงพระโมลี 4 เมตร 70 เซนติเมตร

ต้องขอประทานโทษด้วยที่หน่วยวัดความยาวใช้กันคนละระบบ ดิฉันพยายามจะแปลงระบบศอก วา ให้เป็นหน่วยเมตรแล้ว เกรงจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ส่วนทางล้านนาก็ไม่มีบันทึกระบบเก่าว่ากี่ศอกกี่คืบ มีแต่การบันทึกเป็นระบบใหม่แบบสากลแล้ว จึงขอคงหน่วยวัดเดิมไว้ให้ท่านนำไปคำนวณศึกษาเปรียบเทียบกันเอาเอง

การหล่อพระเจ้าเก้าตื้อ ต้องใช้ทองสำริดจำนวนมากถึง 1 ตื้อ คำว่าตื้อ คือหน่วยน้ำหนักโบราณขั้นสูงสุด ต่อจากหน่วย ร้อย พัน หมื่น แสน ล้าน โกฏิ ตื้อ เทียบเป็นปัจจุบัน 1 ตื้อ = 1,200 กิโลกรัม

@@@@

ส่วนคำว่า เก้าตื้อ มีข้อถกเถียงแตกความเห็นออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกเห็นว่า ถ้า 1 ตื้อ = 1,200 กิโลกรัม ดังนั้น 9 ตื้อ ก็ต้องเอา 9 x 1,200 = 10,800 กิโลกรัม ใช่จำนวนน้ำหนักพระพุทธรูปองค์นี้หรือไม่

อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ ที่คนยุคอดีตจะสามารถหาทองสำริดจำนวนมากถึงหมื่นกว่ากิโลมาหล่อพระพุทธรูปองค์ขนาดปานกลางเช่นนี้ จึงตีความใหม่ว่า เลขเก้านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับจำนวนน้ำหนักทองสำริด แต่หมายถึง การหล่อที่แยกส่วนองค์ประกอบออกเป็น 9 ชิ้นต่างหาก ได้แก่ ส่วนพระเศียร พระโมลี พระวรกายด้านหน้า-หลัง พระพาหา 2 ข้าง บั้นพระโสนีด้านหลัง พระชงฆ์ ฐาน

@@@@

จากนั้นจึงนำคำว่า 9 (หล่อแยกส่วน 9 ชิ้น) มารวมกับตื้อ (ขนาดน้ำหนัก 1,200 กิโลกรัม) หากเป็นสูตรนี้น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า

เรื่องระยะเวลาในการหล่อนั้น เห็นได้จากทั้งพระพุทธชินราช และพระเจ้าเก้าตื้อ แต่ละองค์ต้องใช้เวลาในการหล่อ 5-7 ปี แสดงว่ามีปัญหาอุปสรรคมากพอสมควร


@@@@@@

เชียงแสนในสุโขทัย สุโขทัยในล้านนา

พุทธลักษณะของพระพุทธชินราช กล่าวกันว่า มีการระดมช่างฝีมือเยี่ยมยอดทั้งจากศรีสัชนาไลย หริภุญไชย (ลำพูน) เชียงแสน กำแพงเพชร และพิษณุโลกเอง มาร่วมวางแผนออกแบบขึ้นหุ่นปั้น จนได้พุทธศิลป์ที่งดงามที่สุดบนแผ่นดินสยาม

คือเมื่อมองแล้ว ไม่ใช่รูปแบบศิลปะสุโขทัยแท้เสียทีเดียว แต่มีจริตรสนิยมและกลิ่นอายแบบที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพใช้คำว่า “เชียงแสน” ปะปนอยู่มาก (หมายเหตุ เชียงแสนก็คือส่วนหนึ่งของล้านนา)

@@@@

ในมุมกลับกัน เมื่อพินิจพระเจ้าเก้าตื้อ ก็พบว่า ไม่ได้เป็นรูปแบบพระพุทธรูปล้านนาแท้ๆ แบบพระพุทธสิหิงค์ในวัดพระสิงห์ ดังที่นิยมเรียกกันว่า พระเชียงแสนสิงห์ 1 แต่กลับมีอิทธิพลสุโขทัยแฝงเร้นอยู่หลายจุด

ไม่ว่าการทำพระรัศมีเปลวบนพระโมลี การครองจีวรที่มีชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี การนั่งขัดสมาธิราบ การทำนิ้วพระหัตถ์เสมอกันทั้ง 4 นิ้ว สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่เคยมีมาก่อนบนแผ่นดินล้านนา แต่เป็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย

ดังนั้น ความงดงามของพระพุทธชินราช กับพระเจ้าเก้าตื้อ จึงเป็นสุนทรียะในระดับสากล ข้ามพรมแดน

@@@@@@

น้ำพระเนตรไหล ไม่ขอย้ายไปที่อื่น

มีบันทึกว่าสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ตอนเสด็จมาพิษณุโลก ปี 1981 ช่วงก่อนจะต้องกรำศึกสงครามกับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาอย่างยืดเยื้ออีก 18 ปีต่อมานั้น ทรงเห็น “น้ำพระเนตรพระพุทธชินราชตกออกมาเป็นโลหิต”

และจากนั้นไม่นาน แผ่นดินสองแคว พิษณุโลก ศรีสัชนาไลย ก็กลายเป็นสมรภูมิรบระหว่างกษัตริย์สองพระองค์ผู้มีนามคล้ายคลึงกัน แปลว่า “สามโลก” ทั้งคู่ คือระหว่างพระบรมไตรโลกนาถ และพระเจ้าติโลกราช

ต่อมา พ.ศ.2445 น้ำพระเนตรพระพุทธชินราชไหลอีกครั้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จพิษณุโลก ด้วยความตั้งพระทัยจะอัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ทำให้ท้ายที่สุดสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงต้องทรงรับสั่งให้ช่างทำการหล่อจำลององค์ใหม่ไปแทน

@@@@

ในส่วนของพระเจ้าเก้าตื้อก็เช่นกัน ตอนที่หล่อเสร็จใหม่ๆ นั้น พระเมืองแก้วตั้งพระทัยไว้ว่าจักขนย้ายพระเจ้าเก้าตื้อไปประดิษฐาน ณ พระวิหารหลวงวัดพระสิงห์ ซึ่งเป็นวัดสำคัญตั้งอยู่ในเขตคูเมืองสี่เหลี่ยมกลางเวียงเชียงใหม่ แต่น้ำพระเนตรพระเจ้าเก้าตื้อไหลพราก เสลี่ยงคานหามก็พลันหักโค่นหลายต่อหลายครั้ง

เป็นอันว่า พระเจ้าเก้าตื้อไม่ประสงค์จะให้เคลื่อนย้ายจากวัดสวนดอกไปที่วัดพระสิงห์ พระเมืองแก้วจึงต้องยอมให้พระเจ้าเก้าตื้อประดิษฐาน ณ ที่แห่งเดิมจวบจนปัจจุบัน

@@@@@@

ต้นแบบพระประธานให้แทบทุกวัด

เมื่อมีการสร้างวิหารวัดต่างๆ ทั่วภาคกลาง (ดีไม่ดีทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย) หากทางเจ้าอาวาสหรือเจ้าภาพนึกถึงรูปแบบพระพุทธรูปประธานไม่ออก ช่างปั้นมักเสนอว่าให้ใช้รูปแบบพระพุทธชินราชที่มีซุ้มเรือนแก้วเลยดีไหม

เช่นเดียวกัน วัดต่างๆ ทั่วล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเมื่อ 80-100 ปีก่อน ยุคที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นผู้นำในการก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดวาอารามทั่วล้านนามากกว่า 300 แห่งนั้น หากวัดไหนยังไม่มีพระประธาน หรือพระประธานองค์เดิมชำรุดทรุดโทรม

@@@@

ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะบอกให้ช่างปั้นไปดูต้นแบบที่วัดสวนดอก เพื่อจดจำรูปแบบนำมาปั้นพระพุทธรูปประธานให้งามเหมือน “พระเจ้าเก้าตื้อ” มีตัวอย่างวัดของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่สร้างพระประธานเลียนแบบพระเจ้าเก้าตื้ออยู่หลายวัด อาทิ วัดป่าแดง วัดบ้านปาง (ลี้ ลำพูน) เป็นต้น

ทำให้จวบปัจจุบัน พุทธศิลป์ของพระเจ้าเก้าตื้อก็กลายเป็น “พิมพ์นิยม” หรือต้นแบบให้แก่วัดต่างๆ ทั่วล้านนาไปเรียบร้อยแล้ว

กล่าวโดยสรุป ในทัศนะของดิฉันเห็นว่า ไม่ว่าจะมองในมิติใดๆ “พระเจ้าเก้าตื้อแห่งอาณาจักรล้านนา” นั้นมีความละม้ายคล้ายคลึงกับ “พระพุทธชินราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย” ยิ่งนัก




ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 2561 - 3 มกราคม 2562
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 3 มกราคม พ.ศ.2562
ขอบคุณเว็บไซต์ : https://www.matichonweekly.com/column/article_159880
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 06, 2019, 06:36:54 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ