ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: คนไทยใจบุญ มักให้ทานส่งเดช.!!  (อ่าน 1083 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
คนไทยใจบุญ มักให้ทานส่งเดช.!!
« เมื่อ: พฤษภาคม 29, 2020, 10:21:14 am »
0




สูตรสำเร็จในชีวิต (17) : การให้ทาน (1)

สูตรสำเร็จแห่งชีวิตข้อต่อไป คือ ทาน สูตรนี้สั้นๆ ง่ายๆ แต่ค่อนข้างทำยากสำหรับคนไทย ทั้งๆ ที่คนไทยเราเป็นคนใจบุญสุนทานนี่แหละ ลองมาดูกันว่ายากอย่างไร

โบราณาจารย์ท่านสอนว่า การให้มี 3 ลักษณะ คือ
     1. ให้เพื่อสงเคราะห์
     2. ให้เพื่ออนุเคราะห์ และ
     3. ให้เพื่อทำบุญ

การให้เพื่อสงเคราะห์และอนุเคราะห์ เรียกอีกอย่างว่า ให้แบบทำคุณ เพราะเป็นการให้เพื่อบุญคุณ หรือเพื่อหวังผลตอบแทน เช่นเราให้ของขวัญ ให้รางวัล เลี้ยงข้าว เลี้ยงเหล้าแก่ใคร เราก็ว่าเราให้โดยไม่หวังผลตอบแทนอะไร แต่ในส่วนลึกแห่งดวงใจเรายัง “ทวงบุญคุณ” อยู่เงียบๆ อย่างน้อยก็อยากให้เขารู้สึกขอบบุญขอบคุณในน้ำใจไมตรีของเรา ลองคิดดีๆ จะเห็นเองครับ ถ้าเราไม่เข้าข้างตัวเองเกินไป

การให้อะไรแก่ใครแล้วหวังผลตอบแทน ไม่ถือว่าให้เพื่อทำบุญ ไม่ช่วยให้จิตใจสูงหรือสะอาดขึ้น เพราะแทนที่จะกะเทาะความโลภให้หลุดไปจากจิตสันดานกลับพอกให้มันหนาขึ้น ทำไปทำมานักทำบุญแบบนี้จะกลายเป็นนักลงทุนหรือนักค้าบุญไปโดยไม่รู้ตัว

@@@@@@

ทางศาสนา (ศาสนาพุทธนะครับ ศาสนาอื่นผมไม่รู้) สอนไว้ว่า การให้จะทำให้จิตใจเราสะอาดบริสุทธิ์ขึ้น หรือทำบุญได้บุญจริงๆ นั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 ประการ คือ

    1. สิ่งที่จะให้ต้องบริสุทธิ์ หมายถึงข้าวปลาอาหารอะไรก็ตามที่เราจะให้นั้น ต้องเป็นของได้มาโดยสุจริต ไม่ได้ลักขโมยคดโกงใครเขามา ของนั้นไม่จำเป็นต้องใหญ่โต มากมาย หรือราคาแพงๆ น้ำพริกถ้วยเดียวที่ได้มาโดยสุจริตมีผลมากกว่าโต๊ะจีนราคาพันๆ ที่โกงแชร์เขามาจัดถวายพระเสียอีก

    2. เจตนาจะต้องบริสุทธิ์ ก่อนให้ กำลังให้ หลังจากให้แล้วมีจิตใจเลื่อมใสยินดีให้จริงๆ มิใช่ให้ไปแล้วนึกเสียดายภายหลังหรือให้ด้วยเจตนาอะไรแฝงอยู่ เช่น ให้เพื่อให้คนเขารู้ว่า ตนเป็นคนใจบุญสุนทาน ให้เพื่อเอาหน้า

    เคยเห็นภาพคุณหญิง คุณนาย หรืออาเสี่ยร้อยล้านพันล้านบางคน กำลังบริจาคทรัพย์ทำบุญอะไรสักอย่างไหมครับ แทนที่จะมองไปที่พระสงฆ์ที่ตนกำลังประเคนของให้ กลับหันหน้ามายิ้มหลาทางกล้อง บางทีถวายไปแล้วกล้องถ่ายไม่ทัน ต้องทำพิธีถวายใหม่ เพื่อให้กล้องบันทึกภพไว้ชัดๆ คนจะได้เห็นทั่วกัน อย่างนี้ส่อเจตนาว่าให้เพื่อเอา อย่างน้อยก็เอาหน้าว่าเป็นคนใจบุญ เจตนาบริสุทธิ์แค่ไหนก็คิดเอาเอง

    3. ผู้รับต้องบริสุทธิ์ ผู้รับทานของเราต้องมีศีล มีธรรม ควรแก่การให้ด้วย ทานจึงจะมีผลมาก ในทางศาสนาท่านสอนให้ถวายแก่พระสงฆ์ผู้มีศีลบริสุทธิ์ การให้ทานแก่อลัชชีแทนจะเป็นบุญกลับกลายเป็นว่าให้กำลังวังชาแก่อลัชชีมาบ่อนทำลายพระศาสนาเป็นบาปเสียอีกแน่ะ


@@@@@@

     บางท่านถามว่า บางครั้งอยู่บ้านดีๆ มีคนมากดกริ่งขอเรี่ยไรเงินไปสร้างโน่น สร้างนี่ มูลนิธิอะไรต่อมิอะไรชื่อประหลาดๆ มากันบ่อย อย่างนี้ควรให้หรือไม่.?
     ตอบแน่ชัดลงไปไม่ได้ดอกครับ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของท่าน ถ้าไม่แน่ใจก็ไม่ควรให้ ขอให้ถือตามพระพุทธโอวาทว่า พึงพิจารณาให้ดีก่อนจึงให้

     คนไทยใจบุญมักให้ทานส่งเดช จึงเป็นเครื่องมือหากินของพวกมิจฉาชีพ และมักไม่เข็ดด้วยนะครับ นี่พูดนี้ได้กับตัวเองบ่อยเหมือนกัน



ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2563
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_306731
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




สูตรสำเร็จในชีวิต (18) : การให้ทาน (2) และ พระพุทธพจน์

ครั้งที่แล้วได้พูดไว้ว่า การให้ทานจะเป็นบุญกุศลจริงๆ จะต้องครบองค์ประกอบ 3 อย่างคือ ของที่ให้ต้องบริสุทธิ์ เจตนาต้องบริสุทธิ์ ผู้รับก็ต้องบริสุทธิ์ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็มีผลเหมือนกัน แต่ผลไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น

พูดถึงทาน ทำให้นึกถึงอีกคำหนึ่งคือ จาคะ หรือปริจจาคะ (ไทยเขียนบริจาค) สองคำนี้ใช้แทนกันได้ ในที่ใดท่านใช้คำเดียวว่า “ทาน” ในที่นั่น ย่อมคลุมถึงความหมายของ “จาคะ” (หรือปริจจาคะ) ด้วย

    แต่ถ้าสองคำมาด้วยกัน (อย่างในทศพิธราชธรรม) ทาน หมายถึง การให้วัตถุสิ่งของ การสละวัตถุสิ่งของให้คนอื่นจะด้วยวัตถุประสงค์อะไรก็แล้วแต่ เรียกทานทั้งนั้น
    ส่วน จาคะ (หรือปริจจาคะ) ก็จะหมายเฉพาะ การเสียสละกิเลส (เช่น สละความตระหนี่เหนียวแน่น, สละความเห็นแก่ตัว)

    - ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายกว่านี้ก็ว่า จาคะ หมายถึง สละความหวงแหน สิ่งของที่ตนมี ออกจากใจ หรือ “ตัดใจ”
    - ทาน หมายถึง กิริยาอาการที่ยื่นสิ่งของนั้นให้คนที่ควรให้
    - แต่ถ้าใช้คำว่า ทานหรือจาคะโดดๆ ก็รวมทั้งสองความหมายนั้นอยู่ในคำเดียวกัน


@@@@@@

มีพระพุทธพจน์แสดงสาเหตุที่คนให้ทานต่างๆ กัน น่าสนใจดี ขอคัดมาให้ดูดังนี้

     - บางคนให้ทานเพราะหวังผล มีจิตผูกพันกันจึงให้ หวังสะสมจึงให้ คิดว่าจากโลกนี้ไปแล้วจะได้กินได้ใช้
     - บางคนให้ด้วยคิดว่า การให้เป็นการกระทำที่ดี
     - บางคนให้ด้วยคิดว่า พ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย เคยทำกันมา ไม่ควรให้เสียจารีตประเพณี
     - บางคนให้ด้วยคิดว่า เรามีอยู่มีกินควรแบ่งปันให้คนที่เขาไม่มีอยู่มีกิน บางคนให้ด้วยคิดว่า การให้ทานของตนเป็นเกียรติยศ
     - บางคนให้ด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานจิตใจจะโสมนัสแช่มชื่น บางคนให้โดยฐานเป็นอลังการเป็นบริขารของจิต (หมายถึงเป็นเครื่องปรุงแต่งจิตให้ดีขึ้น ฝึกจิตให้มีคุณภาพขึ้น)

     ความมุ่งหมายของการให้ทานของคนสมัยพระพุทธเจ้ากับสมัยปัจจุบัน คงไม่แตกต่างกันมากนัก ท่านชอบการให้แบบไหน ก็เลือกเอาก็แล้วกัน

@@@@@@

การให้ทานมีอยู่ 2 ประเภท คือ
    1. ให้เจาะจงคนให้ เรียก ปาฏิปุคคลิกทาน กับ
    2. ให้แก่สงฆ์ หรืออุทิศแก่ส่วนรวม เรียก สังฆทาน

อย่างแรก ทำได้ง่าย และถูกจริตนิสัยคนส่วนมาก เพราะเวลาอยากให้อะไรแก่ใคร ก็อยากจะให้แก่คนที่เรารัก ชอบพอหรือนับถือเป็นส่วนตัว แม้ไม่รู้จักส่วนตัว เช่น เวลาใส่บาตร บางคนยัง “เลือก” พระเลยว่าใส่รูปนี้ดีกว่าอะไรทำนองนี้

อย่างหลัง (สังฆทาน) ทำยาก เพราะการทำใจให้เป็นกลางไม่เอียงไปข้างรักข้างชังนั้น ทำไม่ได้ง่ายนัก เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญว่า การให้ทานไม่เจาะจง หรือให้อุทิศแก่สงฆ์ทั้งปวงมีอานิสงส์ (ผล) มากกว่าถวายทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียอีก


@@@@@@

คนส่วนมากยังเข้าใจผิดว่า ถวายทานแก่พระภิกษุตั้งแต่สี่รูปขึ้นไปจึงจะเรียกสังฆทาน ไม่จริงดอกครับ ถวายพระรูปเดียวก็เป็นสังฆทานได้ ขอเพียงอย่า “เจาะจง” หรือ “เลือก” ก็แล้วกัน

วิธีถวายสังฆทานก็ไม่ต้องฟัง “นักพิธีรีตอง”ที่ไหนให้มากเรื่อง ตระเตรียมข้าวปลาอาหารที่ต้องการถวาย ตั้งจิตอุทิศแก่พระสงฆ์ทั้งหมดไม่เจาะจงผู้ใด พบตัวแทนพระสงฆ์รูปใด (จะเป็นพระหรือสามเณรก็ตาม) ก็นิมนต์มารับสังฆทานที่บ้าน เท่านี้ก็เป็นสังฆทานแล้วครับ

ลองหัดให้โดยไม่เจาะจง ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ให้เพื่อการให้อย่างแท้จริงสักพักสิครับ จะรู้สึกว่าใจเราบริสุทธิ์สะอาด และสูงขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22-28 พฤษภาคม 2563
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_309231
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ