ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เมืองแปลกที่เป็นหนึ่งเดียว ใช้ "พระพิฆเนศ" เป็นยอดเสาหลักเมือง  (อ่าน 408 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ภาพจากพิพิธภัณฑ์บ้านมอญวัดคันลัด


เมืองแปลกที่เป็นหนึ่งเดียว ใช้ "พระพิฆเนศ" เป็นยอดเสาหลักเมือง ย้ายเมืองขยับตามแผ่นดินงอกเพื่อหน้าที่.!!

“พระประแดง” เป็นเมืองที่มีอายุนับพันปี สร้างมาก่อนกรุงสุโขทัยเสียอีก คือสร้างในสมัยที่ขอมครอบครองย่านลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีเมืองลพบุรีเป็นเมืองหลวงของย่านนี้

คำว่า “พระประแดง” ว่ากันว่ามาจากภาษาขอมว่า “บาแดง” หมายถึงคนเดินหมาย คนส่งข่าว จึงเป็นเมืองที่มีหน้าที่เฝ้าปากน้ำสายสำคัญนี้ ซึ่งสมัยก่อนเรียกกันว่า “ปากน้ำพระประแดง” แล้วส่งข่าวความเคลื่อนไหวไปยังเมืองลพบุรี

ในย่านนี้ ปัจจุบันยังมีสิ่งที่ตกทอดมาจากขอมอีกอย่าง ก็คือ “คลองสำโรง” ที่ขุดจากตำบลสำโรงไปจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นชื่อขอมอีกเหมือนกันทั้งคลองและจังหวัด เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง ขุดมาตั้งแต่สมัยขอมครอบครองเช่นกัน เพื่อใช้เดินทางไปถึงทะเลสาบเขมรที่เสียมราฐ

ต่อมาในปี ๒๐๔๑ สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา มีการขุดลอกคลองสำโรง ได้พบเทวรูปขอมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ๒ องค์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ มีอักขระจารึกชื่อไว้ว่า “พระยาแสนตา” องค์หนึ่ง กับ “บาทสังขกร” อีกองค์หนึ่ง โปรดให้สร้างศาลประดิษฐานไว้ที่ริมแม่น้ำปากคลองสำโรง แต่เมื่อครั้งพระยาละแวกยกทัพเรือจะมาปล้นกรุงศรีอยุธยา เมื่อปล้นไม่ได้เลยถือโอกาสขนเอาเทวรูป ๒ องค์นี้ไปเขมร


พระพิฆเนศทับอยู่บนเสาหลักเมือง

เมืองพระประแดงเดิมนั้นตั้งอยู่บริเวณที่เป็นท่าเรือคลองเตยในปัจจุบัน ตอนนั้นปากแม่น้ำเจ้าพระยาอยุ่แถวพระโขนงนี่เอง ไม่ได้อยู่ที่เมืองสมุทรปราการเหมือนเดี๋ยวนี้ วัดหน้าพระธาตุ ศูนย์กลางของเมืองพระประแดงก็อยู่ในบริเวณที่เป็นท่าเรือคลองเตย แต่เมื่อจะสร้างท่าเรือในปี ๒๔๗๘ จึงได้รื้อวัดในบริเวณนี้ออกทั้งหมด และสร้างวัดใหม่ทดแทนให้ ก็คือ วัดธาตุทองในปัจจุบัน

ตอนที่สร้างท่าเรือคลองเตย ไม่ได้รื้อเมืองพระประแดง รื้อแต่วัดประจำเมือง ก็เพราะเมืองพระประแดงได้ย้ายไปก่อนแล้ว เนื่องจากแผ่นดินปากแม่น้ำเจ้าพระยางอกออกไปเรื่อยๆ เมืองพระประแดงมีหน้าที่เฝ้าปากแม่น้ำ จึงต้องย้ายตามออกไปอยู่ที่ตำบลราษฎร์บูรณะ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกัน แถววัดบางนางเกรงในปัจจุบัน แต่ไม่เหลือร่องรอยในวันนี้ เพราะตอนที่พระเจ้าตากสินสร้างกรุงธนบุรี ได้รื้ออิฐกำแพงเมืองพระประแดงแห่งนี้ ที่ถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ไปสร้างราชธานีใหม่


ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างเมืองหน้าด่านปากแม่น้ำแห่งใหม่ขึ้นที่บริเวณลัดโพธิ์ ทรงเห็นว่าเป็นทำเลเหมาะสำหรับเฝ้าระวังปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่งอกออกไปอีก มีหน้าที่เช่นเดียวกับเมืองพระประแดง แต่เมื่อลงมือสร้างป้อมปราการก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงดำเนินการต่อ สร้างป้อมปืนขึ้นทั้งสองฝั่งเจ้าพระยา พระราชทานนามว่า “นครเขื่อนขันธ์”

โปรดเกล้าให้ สมิงทอมา บุตรเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เป็นเจ้าเมือง มีตำแหน่งเป็น “พระยานครเขื่อนขันธ์รามัญชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม” นำชาวมอญที่ติดตามพระยาเจ่ง อดีตเจ้าเมืองมอญ ที่พาผู้คนนับหมื่นเข้ามาสวามิภักดิ์ในสมัยพระเจ้าตากสิน และได้รับพระราชทานที่อยู่อาศัยแถวปากเกล็ด สามโคก จนถึงปทุมธานี ย้ายบางส่วนมาอยู่นครเขื่อนขันธ์ โดยมีพิธีฝังเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๓๕๘

เสาหลักเมืองของเมืองนครเขื่อนขันธ์ นับว่าแปลกกว่าเสาหลักเมืองของทุกเมือง มีการอัญเชิญพระพิฆเนศสลักด้วยหินองค์ใหญ่มาตั้งทับบนจุดที่ฝังอาถรรพณ์ เป็นยอดของเสาหลักเมือง เพื่อเป็นเคล็ดในการปกปักษ์รักษาเมือง มีการวิเคราะห์กันว่า การที่พระยานครเขื่อนขันธ์ คือ สมิงทอมา ทำยอดเสาหลักเมืองเป็นพระพิฆเนศ หรือช้างนั้น ก็เพื่อเป็นที่ระลึกถึงบิดา คือ พระยาเจ่ง ซึ่งแปลว่าช้าง ซึ่งต่อมาบรรดาลูกหลานที่สืบจากเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ก็ได้รับพระราชทานนามสกุลในสมัยรัชกาลที่ ๖ ว่า “คชเสนี”


คุ้งบางกะเจ้า

ลูกหลานของพระยาเจ่งยังคงรับตำแหน่งเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์มาหลายชั่วคน และชาวมอญที่อพยพเข้ามาในภายหลัง ก็ไปเพิ่มจำนวนที่นครเขื่อนขันธ์ขึ้นเรื่อยๆ

ในปี ๒๔๕๘ เมื่อนครเขื่อนขันธ์มีอายุได้ ๑๐๐ ปีพอดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า เมืองพระประแดงที่เป็นเมืองโบราณ ทำหน้าที่เฝ้าระวังปากน้ำด้านนี้มาเป็นเวลานาน ไม่ควรจะให้สูญหายไป แม้นครเขื่อนขันธ์จะไม่ได้สร้างบนพื้นที่เดิมของเมืองพระประแดง แต่ก็ทำหน้าที่เหมือนเมืองพระประแดง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อเมือง นครเขื่อนขันธ์ เป็น จังหวัดพระประแดง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โปรดเกล้าฯให้ยุบจังหวัดพระประแดง ไปเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสมุทรปราการจนถึงวันนี้


สวนศรีนครเขื่อนขันธ์

คนมอญมาอยู่ที่พระประแดงเป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปีแล้ว ก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีของมอญซึ่งใกล้เคียงกับไทยไว้อย่างมั่นคง จนเป็นเสน่ห์ของการท่องเที่ยว นอกจากศาลหลักเมืองแล้วก็มี สงกรานต์พระประแดง พิพิธภัณฑ์บ้านมอญวัดคันลัด พิพิธภัณฑ์ปลากัด บ้านประดิษฐ์หัวโขนจิ๋ว รวมทั้ง คุ้งบางกะเจ้า พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใกล้กรุงเทพฯมหานคร ที่ตั้งของตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ และวิสาหกิจชุมชนมะม่วงน้ำดอกไม้คุ้งบางกะเจ้า

พระประแดงในวันนี้ ไม่ได้มีหน้าที่เฝ้าระวังปากน้ำเจ้าพระยาแล้ว แต่เป็นสถานที่น่าท่องเที่ยวทั้งเชิงนิเวศ เชิงเกษตร ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิต ที่มีความเป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะ




ขอบคุณ : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000056694
เผยแพร่ :1 มิ.ย. 2563 10:17 ,โดย : โรม บุนนาค
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ