ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บทความเรื่อง ใช้ facebook อย่างไม่เป็นทาส  (อ่าน 1543 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

tcarisa

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +9/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 524
  • ก้าวน้อย แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บทความเรื่อง ใช้ facebook อย่างไม่เป็นทาส
« เมื่อ: สิงหาคม 10, 2011, 10:12:18 am »
0
โดย   พระไพศาล  วิสาโล
ที่มา  www.visalo.org

“เราควรเป็นนายของเทคโนโลยี ไม่ใช่เป็นทาสของมัน”

เฟซบุ๊คเป็นที่นิยม ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้คนรู้สึกเป็นปัจเจกมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ปรารถนาการติดต่อเชื่อมโยงกับผู้อื่น เพื่อให้ตัวตนเป็นที่รับรู้ของคนในวงกว้าง หาไม่จะกลายเป็น nobody ซึ่งเป็นสิ่งที่คนสมัยนี้รับได้ยาก เฟซบุ๊คเป็นการตอบสนองความต้องการส่วนลึกของผู้คนที่ต้องการประกาศตัวตน หรือเป็น somebody ในสายตาของคนอื่น โดยที่ยังรักษาความเป็นปัจเจกของตน หรือรักษาระยะห่างกับผู้คน ไม่ให้มายุ่มย่ามในชีวิตส่วนตัวของตนมากนัก

เฟซบุ๊คเปิดโอกาสให้คนที่ คิดเหมือนกัน มีรสนิยมเหมือนกัน มาพบปะกัน ในด้านหนึ่งก็เท่ากับเป็นการเสริมหรือตอกย้ำความคิดที่มีอยู่ ลักษณะการตอกย้ำหรือหนุนเสริมความคิดของกันและกัน มีแนวโน้มที่จะทำให้คนในกลุ่มมีความคิดแบบสุดโต่ง ยึด มั่นในความเห็นของตนมากขึ้น ทำให้ใจแคบ ดังนั้นจึงยอมรับความคิดที่ต่างกันได้ยาก การที่ผู้คนคบแต่คนที่คิดคล้ายกัน อ่านข่าวจากสื่อที่มีแนวคิดเหมือนกัน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น เคเบิลทีวี เว็บไซต์ และเฟซบุ๊ค ทำให้เกิดปรากฏการณ์ของความสุดโต่งท่ามกลางทางเลือกอันหลากหลายในการรับสื่อ

ความเหงาและโดดเดี่ยวท่ามกลางฝูงชน ทำให้ผู้คนหันไปหาเฟซบุ๊ค เพื่อคลายความเหงา และตอบสนองความเป็น somebody ทำให้ช่วยบรรเทาความเหงาโดดเดี่ยวและรู้สึกไร้คุณค่า ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้ผู้คนหลงใหลถึงขั้นเสพติด อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการเล่นเกม ซึ่งมีเสน่ห์ดึงดูดผู้คนให้หลงใหลเพลิดเพลินจนเสพติดได้

สติจึงมีความสำคัญในการใช้เฟซบุ๊ค ขณะเดียวกันก็ควรมีวินัยในการใช้สื่อแบบนี้ด้วย เช่น กำหนดกับตนเองว่าจะใช้วันละกี่ชั่วโมง การแบ่งเวลาให้ดี จะช่วยได้ รวมทั้งเตือนตนด้วยว่า ชุมชนที่ดีที่สดคือชุมชนที่เราเห็นหน้าเห็นตากัน ใช้ชีวิตร่วมกัน และทำกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้นจึงควรแบ่งเวลาให้กับครอบครัว และเพื่อนบ้านด้วย

ในทัศนะของพุทธศาสนา เราควรแยกแยะระหว่าง "คุณค่าแท้" กับ "คุณค่าเทียม" เช่น คุณค่าแท้ของอาหาร คือการทำให้ร่างกายอยู่ได้ มีสุขภาพดี จะได้ทำประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ส่วนคุณค่าเทียม คือ ความอร่อย ความโก้เก๋ หรือประโยชน์ส่วนเกิน ซึ่งสนองกิเลส เช่น กินเพื่อความสวยงาม ความเท่ เป็นต้น สื่อและเครื่องมือไฮเทคก็เช่นกัน เราต้องแยกแยะให้ชัดเจน ว่าคุณค่าแท้คืออะไร เช่น เป็นช่องทางการรับรู้และเผยแพร่ข่าวสาร เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา เปิดมุมมองให้กว้าง ส่วนคุณค่าเทียมนั้นได้แก่ ความบันเทิง ความสนุกสนาน หรือความเท่ หากเรามองข้ามคุณค่าแท้ ไปหลงใหลคุณค่าเทียม มันก็จะเป็นโทษแก่ตัวเรา ทั้งกายและใจ (ในเกาหลีใต้ มีบางคนที่เล่นเกมออนไลน์ติดต่อกัน ๓๖ ชั่วโมงจนตาย) อีกทั้งยังเป็นโทษแก่ผู้อื่นด้วย (ในเกาหลีใต้เช่นกัน มีผัวเมียคู่หนึ่งติดเกมออนไลน์ จนลืมลูกน้อยวัย ๓ ขวบ ปล่อยให้อดอาหารจนตาย)

สำหรับคนทั่วไป คุณค่าเทียม เช่น ความเพลิดเพลิน คงปฏิเสธยาก แต่อย่าให้มันมีความสำคัญเหนือคุณค่าแท้ ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นทาสของมัน เราควรเป็นนายเทคโนโลยี ไม่ใช่เป็นทาสของมัน แต่ถ้าขาดสติเมื่อไหร่ เราก็เป็นทาสของมันทันที
บันทึกการเข้า
เราเป็นหน่ออ่อน ที่รอการเติบโต
จึงขอสั่งสมบารมีธรรม เพื่อพระนิพพาน