ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การระลึกถึงพุทธคุณของ "โลกิยมหาชน และ อริยชนแต่ละระดับ" แตกต่างกันอย่างไร.?  (อ่าน 1646 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


การระลึกถึงพุทธคุณ
ของ "โลกิยมหาชน และ อริยชนแต่ละระดับ" แตกต่างกันอย่างไร.?
(ยกความในอรรถกถามาแสดงบางส่วน)

       พระสารีบุตรนั้นระลึกถึงพระคุณของพระทสพลอย่างนี้ว่า พระศาสดาของเราทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมในกุศลบัญญัติ ยอดเยี่ยมในอายตนบัญญัติ ยอดเยี่ยมในการก้าวลงสู่พระครรภ์ ยอดเยี่ยมในวิธีแสดงดักใจผู้ฟัง ยอดเยี่ยมในทัสสนสมบัติ ยอดเยี่ยมในบุคคลบัญญัติ ยอดเยี่ยมในปธาน ยอดเยี่ยมในปฏิทา ยอดเยี่ยมในภัสสมาจาร ยอดเยี่ยมในปุริสสีลสมาจาร ทรงยอดเยี่ยมในอนุสาสนีวิธี ยอดเยี่ยมในปรปุคคลวิมุตติญาณ ยอดเยี่ยมในปุพเพนิวาสญาณ ยอดเยี่ยมในทิพพจักขุญาณ ยอดเยี่ยมในอิทธิวิธี ยอดเยี่ยมด้วยธรรมนี้ ดังนี้
     ก็ไม่เห็นที่สุด ไม่เห็นประมาณแห่งพระคุณทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้.

     พระเถระไม่เห็นที่สุด ไม่เห็นประมาณแห่งคุณทั้งหลายของตนก่อน จักเห็นพระคุณทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้อย่างไร


      ask1 ans1 ask1 ans1


ก็ผู้ใดมีปัญญามากและมีญาณแข็งกล้า ผู้นั้นย่อมเชื่อพุทธคุณอย่างมา.

     โลกิยมหาชน ไอก็ดี จามก็ดี ดำรงอยู่ในอุปนิสัยของตนๆ ย่อมระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายว่า ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
     พระโสดาบันคนเดียวย่อมเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าโลกิยมหาชนทั้งหมด.
     พระสกทาคามีคนเดียวเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระโสดาบันตั้งร้อยตั้งพัน.
     พระอนาคามีคนเดียวเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระสกทาคามีตั้งร้อยตั้งพัน.
     พระอรหันต์องค์เดียวเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระอนาคามีตั้งร้อยตั้งพัน.
     พระอสีติมหาเถระเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระอรหันต์ที่เหลือ.
     พระมหาเถระ ๔ รูปเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระอสีติมหาเถระ.
     พระอัครสาวกทั้งสองรูปเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระมหาเถระทั้ง ๔ รูป
     บรรดาพระอัครสาวกทั้งสองนั้น พระสารีบุตรเถระเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระโมคคัลลานะ.
     พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวก็เชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระสารีบุตรเถระ
     ก็ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายพึงนั่งเอาชายสังฆาฏิกระทบกับชายสังฆาฏิในห้องแห่งจักรวาฬทั้งสิ้น แล้วระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระสัพพัญญูพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นเชื่อในพระพุทธคุณมากกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงเหล่านั้น.




        มหาชนฟั่นเชือกทั้งหลายเพื่อต้องการรู้ว่า มหาสมุทรลึก-ตื้นเท่าไร ดังนี้
     บรรดาชนเหล่านั้น บางคนฟั่นได้วาหนึ่ง บางคนฟั่นได้ ๒ วา ฯลฯ
     บางคน ๑๐ วา บางคน ๒๐ วา บางคน ๓๐ วา บางคน ๔๐ วา บางคน ๕๐ วา บางคน ๑๐๐ วา บางคนได้ ๑,๐๐๐ วา บางคนได้ ๘๔,๐๐๐ วา.

     ชนเหล่านั้นพากันลงเรือแล้ว ดำรงอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทรหรือบนภูเขาสูงเป็นต้นแล้ว หย่อนเชือกของตนๆ ลงไป
     บรรดาชนเหล่านั้น ผู้ใดมีเชือกยาววาหนึ่ง เขาก็รู้น้ำได้ในที่ประมาณวาหนึ่งเท่านั้น ฯลฯ
     ผู้ใดมีเชือกยาวถึง ๘๔,๐๐๐ วา ผู้นั้นย่อมรู้น้ำได้ ในที่ลึกประมาณ ๘๔,๐๐๐ วาเท่านั้น
     ต่อจากนั้นไป ย่อมไม่รู้ว่า น้ำในมหาสมุทรมีความลึกเท่านี้ ดังนี้.

      :25: :25: :25: :25:

     อนึ่ง น้ำในมหาสมุทร มิใช่มีประมาณเพียงเท่านั้น โดยที่แท้ย่อมมีมากหาที่สุดหาประมาณมิได้ เพราะมหาสมุทรมีความลึกถึง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด
     พึงทราบพระพุทธคุณที่โลกิยมหาชนเห็น เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ด้วยเชือก
     พึงทราบพระพุทธคุณมีอุปไมยฉันนั้น คือ ตั้งแต่วาหนึ่งจนถึง ๙ วา.
     พึงทราบพระพุทธคุณที่โลกิยมหาชนเห็น เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ด้วยเชือกตั้งแต่วาหนึ่งจนถึง ๙ วา.
     พึงทราบพระพุทธคุณที่พระโสดาบันเห็นได้ เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ในที่ประมาณ ๑๐ วาด้วยเชือกยาว ๑๐ วา.
     พึงทราบพระพุทธคุณที่พระสกิทาคามีเห็นได้ เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ในที่ลึก ๒๐ วาด้วยเชือกยาว ๒๐ วา.
     พึงทราบพระพุทธคุณที่พระอนาคามีเห็นได้เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ในที่ลึก ๓๐ วาด้วยเชือกยาว ๓๐ วา.
     พึงทราบพระพุทธคุณที่พระอรหันต์เห็นได้ เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษเห็นได้ในที่ลึก ๔๐ วาด้วยเชือกยาว ๔๐ วา.
     พึงทราบพระพุทธคุณที่พระอสีติมหาเถระเห็นได้ เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษเห็นได้ในที่ลึก ๕๐ วาด้วยเชือกยาว ๕๐ วา.
     พึงทราบพระพุทธคุณที่พระมหาเถระ ๔ รูปเห็นได้ เปรียบเหมือนน้ำที่บุรุษเห็นได้ในที่ลึก ๑๐๐ วาด้วยเชือกยาว ๑๐๐ วา.
     พึงทราบพระพุทธคุณที่พระมหาโมคคัลลานะเห็นได้ เปรียบเหมือนน้ำที่บุรุษเห็นได้ ในที่ลึก ๑,๐๐๐ วาด้วยเชือกยาว ๑,๐๐๐ วา.
     พึงทราบพระพุทธคุณที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเห็นได้ เปรียบเหมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ในที่ลึกประมาณ ๘๔,๐๐๐ วาด้วยเชือกยาว ๘๔,๐๐๐ วา.

     ในบรรดาชนเหล่านั้น บุรุษคนใดย่อมถือเอาว่า น้ำในมหาสมุทรไม่มีเพียงเท่านี้ ย่อมหาที่สุดหาประมาณมิได้ฉันใด ท่านพระสารีบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดำรงอยู่ในสาวกบารมีญาณ ระลึกถึงพระคุณของพระทศพลโดยแนวแห่งธรรม คือโดยรู้ตามกันมา อนุมาน ถือเอาโดยนัย จึงเชื่อว่า พระพุทธคุณไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ดังนี้.




   
พระพุทธคุณไม่มีที่สิ้นสุด

     ความจริง เฉพาะพระพุทธคุณที่บุคคลพึงถือเอาโดยแนวธรรม มีมากกว่าพระพุทธคุณที่พระเถระเห็นแล้ว.
     ท่านอธิบายว่า เหมือนอะไร.
     ท่านอธิบายไว้ว่า บุรุษคนหนึ่งพึงเอาบ่วงเข็มตักเอาน้ำจากแม่น้ำใหญ่ชื่อจันทรภาคา ซึ่งกำลังไหลท่วมสถานที่ถึง ๑๘ โยชน์ คือ ข้างนี้ ๙ โยชน์ ข้างโน้นอีก ๙ โยชน์ น้ำที่บุรุษมิได้ตักไปมีมากกว่าน้ำที่บุรุษเอาห่วงเข็มตัดไป
     ก็หรือบุรุษพึงเอานิ้วมือจับเอาฝุ่นจากแผ่นดินใหญ่ ฝุ่นที่เหลือนั้นแล มีมากกว่าฝุ่นที่บุรุษนั้นเอานิ้วมือจับได้มา
     ก็หรือบุรุษพึงชี้นิ้วไปยังมหาสมุทร น้ำที่เหลือนั้นแลมีมากกว่าน้ำตรงที่บุรุษชี้นิ้วไป
     และบุรุษพึงชี้นิ้วไปยังอากาศ ส่วนอากาศที่เหลือมีมากกว่าอากาศตรงที่บุรุษชี้นิ้วไป
     พระพุทธคุณทั้งหลายที่พระเถระไม่เห็นนั้นแล พึงทราบว่ามีมากกว่าพระพุทธคุณที่พระเถระได้เห็นแล้ว ฉันนั้น
     สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
     "มาตรแม้นพระพุทธเจ้าไม่ตรัสคำอื่น พึงพรรณาเฉพาะพระพุทธคุณตลอดกัลป์ กัลป์พึงสิ้นไปในระหว่างเวลายืดยาวนาน แต่พระคุณของพระตถาคตหาสิ้นไปไม่" ดังนี้.




พระสารีบุตรระลึกถึงพุทธคุณแล้วเกิดปิติและโสมนัสอย่างยิ่ง

     เมื่อพระเถระระลึกถึงคุณของตน และพระคุณของพระศาสดาอยู่อย่างนี้ ปีติและโสมนัสท่วมทับที่ในภายใน เหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลท่วมแม่น้ำใหญ่สองสาย ยังสรีระทุกส่วนให้เต็มเปี่ยม เหมือนลมทำให้ถุงลมเต็มเปี่ยม (และ) เหมือนสายน้ำที่ไหลแยกพุ่งขึ้น ยังห้วงน้ำใหญ่ให้เต็ม ฉะนั้น.

     ลำดับนั้น พระเถระคิดว่า เราผู้ได้บวชในสำนักของพระศาสดาเช่นนี้ นับว่าได้ตั้งความปรารถนาไว้ดีแล้วและการบวชเราได้ดีแล้ว. ปีติและโสมนัสอันมีกำลังมากได้เกิดแก่พระเถระผู้กำลังคิดอยู่อย่างนี้.
     ทีนั้น พระเถระคิดว่า เราควรบอกปีติและโสมนัสนี้แก่ใครหนอ ดังนี้
     แล้วคิดอีกว่า สมณะหรือพราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหมบางคน ไม่สามารถที่จะรับเอาความเลื่อมใสของเรานี้ทำให้เหมาะสมได้ เราจักกราบทูลความโสมนัสนี้แด่พระศาสดาเท่านั้น.




   
  ไม่มีใครรับเอาความโสมนัสของพระสารีบุตรได้

     พระศาสดาเท่านั้นที่จักสามารถรับเอาความโสมนัสของเราได้ ปีติโสมนัสของเรานั้นจงยกไว้ก่อน เมื่อสมณะเช่นเราร้อยหนึ่งก็ดี พันหนึ่งก็ดี แสนหนึ่งก็ดี ประกาศความโสมนัสอยู่ พระศาสดาของเราครองใจคนทั้งปวง ก็ทรงสามารถที่จะรับปีติโสมนัสนั้นได้
     เหมือนบึงหรือซอกเขาไม่สามารถที่จะรับแม่น้ำใหญ่ ชื่อจันทรภาคา ซึ่งกำลังไหลบ่าท่วมไปถึง ๑๘ โยชน์ได้ มหาสมุทรเท่านั้นที่จะรับน้ำนั้นได้ แม่น้ำใหญ่ชื่อจันทรภาคาจงยกไว้ก่อน แม่น้ำเห็นปานนี้ร้อยหนึ่งก็ดี พันหนึ่งก็ดี แสนหนึ่งก็ดี มหาสมุทรย่อมรับไว้ได้หมด ความพร่องหรือความเต็มด้วยน้ำนั้นของมหาสมุทรนั้น หาปรากฏไม่ฉันใด พระศาสดาของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน

     เมื่อพระสมณะเช่นเราร้อยหนึ่งก็ดี พันหนึ่งก็ดี แสนหนึ่งก็ดี กำลังประกาศปีติโสมนัสอยู่ ทรงครองใจคนทั้งปวงสามารถที่จะรับไว้ได้ สมณะพราหมณ์เป็นต้นที่เหลือย่อมไม่สามารถเพื่อจะรับโสมนัสของเราไว้ได้ เหมือนบึงและซอกเขาไม่สามารถที่จะรับแม่น้ำใหญ่ ชื่อจันทรภาคาไว้ได้ฉะนั้น.
     อย่ากระนั้นเลย เราจะกราบทูลปีติโสมนัสของเราแก่พระศาสดาเท่านั้นดังนี้แล้ว จึงเลิกนั่งคู้บัลลังก์สะบัดแผ่นหนังถือเข้าไปเฝ้าพระศาสดาในเวลาเย็น อันเป็นเวลาที่ดอกไม้หลุดจากขั้วหล่นลงมา เมื่อจะประกาศโสมนัสของตนจึงทูลว่า เอวํ ปสนฺโน อหํ ภนฺเต ดังนี้ เป็นต้น..ฯลฯ...



อ้างอิง :-
อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สัมปสาทนียสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=73&p=1#สาริปุตฺตสีหนาทวณฺณนา
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎกได้ที่
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=11&A=2130&Z=2536
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 29, 2015, 07:16:04 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

komol

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +7/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 643
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า
พลังจิต พลังปราณ พลังสมาธิ เป็นพลังสมดุลย์ เพื่อปัญญา

ดนัย

  • ศิษย์ตรง
  • กำลังแหวกกระแส
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 179
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า
"พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว
เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง
เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล
เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว
เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน"