ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: จ้วงมณฑลกวางสี ภาคใต้ของจีน พูดภาษาไต-ไท แต่ไม่ไทย  (อ่าน 1345 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28362
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


จ้วงมณฑลกวางสี ภาคใต้ของจีน พูดภาษาไต-ไท แต่ไม่ไทย

จ้วง พูดภาษาไต-ไท เป็นรากเหง้าของภาษาไทย แต่จ้วงไม่ใช่คนไทย ไม่เรียกตัวเองว่าไทย เรียกตัวเองว่าจ้วง ปัจจุบันมีมากกว่า 10 ล้านคน ในมณฑลกวางสี บรรพชนจ้วงไม่ได้อพยพมาจากไหน? แต่อยู่ที่กวางสีไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว และไม่ได้อพยพยกโขยงถอนรากถอนโคนมาไทย จ้วงอยู่เมืองจ้วง ไทยอยู่เมืองไทย ผมเขียนเล่าไว้ในหนังสือ คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ เมื่อ พ.ศ. 2537 จะคัดมาต่อไปนี้


ชาวจ้วง มณฑลกวางสี ทำพิธีฝังศพ (บูชายัญ) กบเพื่อขอฝน บนลานกลางนาขั้นบันได (ที่หมู่บ้านหนาลี่ซุน อำเภอเทียนเอ๋อ เมืองจ้วงกวางสี)


จ้วง-เป็นใคร.? อพยพหลบหนีมาจากไหน.?

ในทัศนะของฮั่น (จีนสมัยโบราณ) จ้วงคือกลุ่มชนป่าเถื่อนพวกหนึ่งในบรรดาพวกป่าเถื่อนนับร้อยพวกที่มีถิ่นฐานอยู่ทางใต้ (ของจีน) มาแต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ คือไม่ได้อพยพหลบหนีใครมาจากที่ไหนๆ ทั้งนั้น ปัจจุบันชนชาติจ้วงมีจำนวนประชากรมากเป็นที่สองรองจากชนชาติฮั่น และมีมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาชนชาติส่วนน้อยของจีนที่มีทั้งหมดประมาณ 55 ชนชาติ

ชาวจ้วงตั้งถิ่นฐานอยู่หลายมณฑลในเมืองจีน สถิติเมื่อ พ.ศ. 2525 มีทั้งหมดมากกว่า 13 ล้านคน ในจำนวนนี้มากกว่า 12 ล้านคนอาศัยอยู่ในมณฑลกวางสี ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงกำหนดให้เป็น “เขตปกครองตนเองจ้วง-กวางสี” (THE GUANG-XI-ZHUANG AUTONOMOUS REGION) จำนวนที่เหลือกระจายอยู่ในมณฑลยูนนานมากกว่า 8 แสนคน ในมณฑลกวางตุ้งมากกว่า 8 หมื่นคน ในมณฑลกุ้ยโจว (กุ้ยจิ๋ว) มากกว่า 2 หมื่นคน และมีที่มณฑลหูหนานกับมณฑลเสฉวนบ้างเล็กน้อย ทุกวันนี้มณฑลกวางสีจึงกลายเป็นศูนย์กลางของชนชาติจ้วงไปโดยปริยาย


แห่ศพกบไปฝังที่สุสานเก่าของหมู่บ้าน




จ้วง หมายถึงอะไร.?

คำว่า “จ้วง” มีความหมายต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปตามฐานะทางสังคมที่พวกฮั่นกำหนดและเรียก ดังเคยมีความหมายว่าสัตว์หรือป่าเถื่อนตามประเพณีฮั่นใช้เรียกคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อยู่ทางภาคใต้ หรืออุษาคเนย์สมัยโบราณ ฉะนั้นจึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีความหมายไปในทางดี

แต่นักวิชาการจีนได้รวบรวมความหมายไว้หลายแง่หลายมุม (จากหนังสือ-จ้วง : ชนชาติไทในสาธารณรัฐประชาชนจีน-จัดพิมพ์โดยศูนย์ภาษาและวรรณคดีไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคที่ 1 ภาษา (2529) ภาคที่ 2 วัฒนธรรม (2531) ปราณี กุลละวณิชย์ บรรณาธิการ) ดังต่อไปนี้

    - สมัยราชวงศ์ซ่ง (หรือซ้อง ราว พ.ศ. 1443-1822) คำว่า “จ้วง” ใช้เรียกกองทัพที่มีทหารเป็นชาวจ้วงว่า “จ้วงจยูน” หรือ “จ้วงติง”
    - สมัยราชวงศ์หยวน (ราว พ.ศ. 1749-1911) ตัวอักษรที่หมายถึงจ้วงเขียนด้วยอักษรจีน 2 ตัว ตัวแรกมีความหมายว่า “ชน” หรือ “ปะทะ” ตัวที่สองแทนเสียงว่า “จ้วง”
    - ต่อมาสมัยราชวงศ์หมิงและชิง จนถึงสมัยก๊กมินตั๋ง (พ.ศ. 2492) มีการเปลี่ยนตัวอักษรตัวแรกให้มีความหมายว่า “สัตว์” แสดงการดูถูกเหยียดหยามจ้วงเป็นชนชาติป่าเถื่อน


      :96: :96: :96: :96:

     แม้พวกฮั่นจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “จ้วง” มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง แต่คนกลุ่มนี้ไม่ชอบ เพราะต่างรู้ว่าหมายถึงอะไร จึงเรียกตนเองด้วยชื่อดั้งเดิมต่างๆ กันตามท้องถิ่นของตน เช่น ผู้ใหญ่ ผู้โต ผู้หลวง ผู้นุง ผู้ไท ผู้บ้าน ผู้หล่าว ผู้ต้ง คนโท้ ฯลฯ

     คำว่า “ผู้” ที่นำหน้าชื่อนั้นหมายถึง “คน” น่าเชื่อว่าเป็นปฏิกิริยาโต้กลับที่ถูกพวกฮั่นดูถูกดูหมิ่นว่าไม่ใช่คน หรือพวกป่าเถื่อน (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ-ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ-โดย จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์ครั้งแรก 2519)

     นับแต่ พ.ศ. 2492 เป็นต้นมามีการปรึกษาหารือเรื่องชื่อ “จ้วง” อย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกแง่ทุกมุมเพื่อกำหนดความหมายให้ดีขึ้น
     ครั้นถึง พ.ศ. 2508 รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เปลี่ยนอักษรตัวแรกให้มีความหมายว่า “เติบโต แข็งแรง” ส่วนอักษรตัวที่สองใช้แทนเสียงว่า “จ้วง” เหมือนเดิม แล้วมีมติให้ใช้ชื่อ “จ้วง” เป็นชื่อกลุ่มชนชาตินี้อย่างเป็นทางการ ชื่ออื่นๆ ก็ค่อยๆ เลือนหายไป แต่บางกลุ่มยังยืนยันชื่อเดิมของตนอย่างเป็นทางการเช่น ผู้ไท
และแม้บางกลุ่มจะไม่ได้ยืนยันชื่อเดิมอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อมีใครถามว่าเป็นจ้วงใช่ไหม? เขาจะตอบทันทีว่า-ไม่ใช่จ้วง แต่เป็นผู้ต้ง หรือชื่ออื่นๆ ที่เป็นกลุ่มของตน


พิธีฝังกบ ตีกลองทอง (มโหระทึก) ขอฝน ของชาวจ้วงยุคดึกดำบรรพ์ (ภาพเขียนร่วมสมัยจินตนาการอดีต)

ประเพณีประโคมตีมโหระทึกของชาวจ้วงที่หมู่บ้านหนาลี่ชุน อำเภอเทียนเอ๋อ เมืองจ้วงกวางสีปัจจุบัน


ภาษาจ้วง ตระกูลไทยเก่าแก่ที่สุด

เมื่อคนไทยจากประเทศไทยได้คุยกับชาวจ้วง คนไทยมักจะอุทานว่า “เฮ้ย พวกจ้วงพูดเหมือนคนไทยเลยว่ะ” ถ้าพวกจ้วงเข้าใจก็ต้องทำหน้างงๆ แล้วจะต้องตอบโต้ว่า “เออ พวกไทยทำไมพูดเหมือนจ้วงวะ” เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า “คนจ้วง” ไม่ใช่ “คนไทย” การที่จ้วงกับไทยพูดจาด้วยภาษาคล้ายคลึงกัน หรือตระกูลเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันมาแต่ดั้งเดิม เพราะ

      “โดยทางชีววิทยาแล้ว เผ่าพันธุ์ไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดเลยกับภาษา” เพราะ “เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า ภาษาสามารถแพร่กระจายไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยกลไกของประวัติศาสตร์มากกว่าจะเป็นการย้ายถิ่นแบบ ‘ทารุณ’ โดยการเคลื่อนย้ายประชาชนทั้งหมดราวกับจะปฏิบัติตามความประสงค์ของสมมติฐาน “ภาษาสัมพันธ์กับเชื้อชาติ”
(แอนโทนี่ ดิลเลอร์ – “ภาษาตระกูลไท เบื้องหลังแนวคิดแบบอุปลักษณ์” – หนังสือ “คนไทย (เดิม) ไม่ได้อยู่ที่นี่” สำนักพิมพ์เมืองโบราณ จัดพิมพ์ พฤศจิกายน 2533 หน้า 136-137)

     แม้ในภาษาจ้วงจะมีคำว่า “ไต” แต่ไม่ได้มีความหมายเหมือนคำว่า “ไทย” ในประเทศไทย และเขาก็มิได้มีสำนึกเป็น “ไทย” อย่างที่ใครๆ ชอบตีขลุมง่ายๆ เพราะเขาเป็น “จ้วง” หรือมิฉะนั้นก็เป็น “ผู้ใหญ่” หรือ “คนโถ่” หรือ “ผู้หล่าว” เท่านั้น

      :29: :29: :29: :29:

     ชาวจ้วงนับถือ “ผี” ในหมู่บ้านไม่มี “วัด” (เช่นเดียวกับพวกผู้ไทยในเวียดนามที่อิทธิพลพระพุทธศาสนาเข้าไปไม่ถึง) พูดภาษาตระกูลเดียวกับพวกไทย แต่เดิมชาวจ้วงไม่มีอักษรใช้เขียนภาษาของตน แต่มีบางกลุ่มยืมตัวอักษรจีนมาปรับใช้ ต่อมาราว พ.ศ. 2500 เริ่มใช้อักษรโรมันปนอักษรรัสเซียแทนเสียง แล้วใช้ตัวเลขอารบิค บางตัวแทนเสียงวรรณยุกต์ ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้เปลี่ยนใช้ตัวโรมันแทนเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์

     ภาษาพูดของชาวจ้วงเป็นที่สนใจของนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ไม่น้อย ฉะนั้นจึงมีงานวิชาการเกี่ยวกับภาษาจ้วงค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งผลงานของนักวิชาการตะวันตก เช่น อเมริกัน รัสเซีย และนักวิชาการตะวันออก เช่น จีน ไทย ฯลฯ (ดูรายละเอียดในหนังสือ “จ้วง : ชนชาติไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีน” ภาคที่ 1 : ภาษา – ปราณี กุลละวณิชย์ บรรณาธิการ พิมพ์เผยแพร่โดยศูนย์ภาษาและวรรณคดีไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2529)

 :s_hi: :s_hi: :s_hi: :s_hi:

นักวิชาการจีนแบ่งภาษาจ้วงในมณฑลกวางสีออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ภาษาจ้วงเหนือกับภาษาจ้วงใต้ ทั้ง 2 กลุ่มมีทั้งลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน และมีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงกัน

     - ภาษาจ้วงเหนือ มีขอบเขตกว้างขวางอยู่ทางเหนือของมณฑลกวางสี มีผู้พูดมากกว่ากลุ่มภาษาจ้วงใต้ แต่ในกลุ่มภาษาจ้วงเหนือเองยังมีความแตกต่างเรื่องเสียงวรรณยุกต์ เสียงพยัญชนะ และเสียงสระ จึงแยกเป็นภาษาถิ่นย่อยๆ ได้อีก 7 กลุ่ม มีชื่อเรียกต่างๆ กันไปตามท้องถิ่นนั้นๆ
     - ภาษาจ้วงใต้ มีขอบเขตแคบๆ อยู่ทางใต้ของมณฑลกวางสี มีผู้พูดน้อยกว่ากลุ่มภาษาจ้วงเหนือ แต่มีความแตกต่างของภาษาถิ่นมากกว่า จึงแยกเป็นภาษาถิ่นย่อยๆ ได้อีก 5 กลุ่ม มีชื่อเรียกต่างๆ กันไปตามท้องถิ่นนั้นๆ

     ด้วยความหลากหลายของภาษาถิ่นจ้วง นักภาษาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์นานาชาติส่วนใหญ่จึงสนับสนุนทฤษฎีของศาสตราจารย์เกดนีย์ (William J. Gedney) ผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นไทยเหนือ ว่าถิ่นกำเนิดของภาษาไทยอยู่แถวเส้นเขตแดนระหว่างมณฑลกวางสีของจีนและเดียนเบียนฟูของเวียดนาม ท่านผู้นี้อาศัยทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ที่ว่า “ภาษาเกิด ณ ที่ใด จะมีภาษาถิ่นมากหลายชนิดเกิดขึ้นแถบบริเวณนั้น”  (อ้างถึงในบทความเรื่อง “ประวัติศาสตร์สมัยก่อนไทยเข้ามาในเอเชียอาคเนย์” ของ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร พิมพ์อยู่ในหนังสือ “คนไทยอยู่ที่ไหนบ้าง?” สุจิตต์ วงษ์เทศ : บรรณาธิการ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม-ธันวาคม 2530)

แต่ -“ภาษา” กับ “คน” อย่าเพิ่งสับสนปนเปกัน เพราะ “คนจ้วง” ไม่ใช่ “คนไทย” และดังได้อ้างมาแล้วว่า แม้คนจ้วงกับคนไทยพูดจาด้วยภาษาคล้ายคลึงกัน หรือตระกูลเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันมาแต่ดั้งเดิม เพราะ – โดยทางชีววิทยาแล้ว เผ่าพันธุ์ไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดเลยกับภาษา



จิตร ภูมิศักดิ์ กับภาษาจ้วง

ในการสอบค้นเรื่อง “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” (พิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก พ.ศ. 2519) จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ใช้ภาษาจ้วงประกอบการศึกษาด้วย โดยอ้างถึงงานค้นคว้าของบาทหลวงฉ์วี สงซือ

บาทหลวงฉ์วี สงซือ (Rev. Princeton Shih Sung Hsu) สอนศาสนาอยู่ที่เกาลูน ฮ่องกง มีบิดาเป็นจีน มารดาเป็นจ้วง เขียนบทความเกี่ยวกับจ้วงไว้อย่างน้อย 3 เรื่อง บทความสำคัญชื่อ A Study of the Thais, Chuangs, and the Cantonese People, Hongkong 1963. (นอกจาก จิตร ภูมิศักดิ์ แปลเป็นบางตอนเพื่ออ้างถึงแล้ว ท่านศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ยังแปลและเรียบเรียง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศิลปากร ของกรมศิลปากร ปีที่ 12 เล่มที่ 2 พ.ศ. 2511 ด้วย แล้วพิมพ์ซ้ำในหนังสือ “คนไทยอยู่ที่ไหนบ้าง?” สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ เมื่อธันวาคม 2530) ดังจะสรุปสาระสำคัญมาดังต่อไปนี้

คำว่า “ไต” ในภาษาจ้วง เป็นคำนำหน้าชื่อหมู่บ้านที่นิยมใช้กันมากในมณฑลกวางตุ้งและกวางสี ในแผนที่ของราชการที่รัฐบาลของราชวงศ์เช็งตอนหลังมีชื่อทางภูมิศาสตร์กว่า 1,000 ชื่อในมณฑลกวางตุ้งที่มีคำว่า “ไต” นำหน้า เช่น ไตฟู ไตเหลือง และไตลำ ส่วนในมณฑลกวางสีมีชื่อเช่นนี้กว่า 800 ชื่อ เช่น ไตยาว ไตกอง และไตเหลือง



คำว่า “ไต” ในภาษาจ้วงแปลว่าอะไร?

คำว่าไต เมื่อเขียนด้วยตัวอักษรจีน แปลว่า “ใหญ่” แต่ในภาษาพูดของจ้วงแปลว่า “แผ่นดิน” หรือ “คนพื้นเมือง”

“ไตเหลือง” เป็นชื่อสถานที่ จึงพบมากในมณฑลกวางตุ้งและกวางสี ในภาษาจ้วงแปลว่า ดินแดนของชาวจ้วงเหลือง ทั้งนี้ เพราะในสมัยก่อนทีเดียวนั้น ชาวจ้วงแบ่งแยกกันออกเป็น 5 สาขาใหญ่ๆ ตามสีของเครื่องแต่งกาย (คือ ไตแดง ไตเหลือง ไตขาว ไตดำ และไตลาย) ชื่อภูมิสถานที่มีใช้อยู่ว่าไตหยั่น ไต่ฮน ไตลาว และไตคุน เหล่านี้ทุกชื่อล้วนแปลความว่า “คนไต” และคำว่า “คนไต” นั้นก็หมายความว่า “คนพื้นเมือง” หรือ “คนของแผ่นดิน”

แต่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลกวางสี ชาวจ้วงไม่เรียกแผ่นดิน (land) หรือดิน (earth) หรือชาวพื้นเมือง (ative) ด้วยคำว่า “ไต” แต่ชาวจ้วงถิ่นนี้ใช้คำว่า “ดิน” (Din) เพื่อแสดงความหมายอย่างเดียวกัน ฉะนั้น ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลกวางสี (รวมทั้งตะวันตกเฉียงใต้สุดของมณฑลกวางตุ้ง) จึงพบว่า มีชื่อที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ดิน” อยู่ทั่วไป เช่น ใช้คำว่า “ดินเหลือง” แทนคำว่า “ไตเหลือง” ฯลฯ

นอกจากนี้ ในหลายอำเภอของมณฑลกวางสีใช้คำว่า “ที่” แทนคำว่า “ไต” และ “ดิน” เช่น ใช้คำว่า “ที่เหลือง” แทนคำว่า “ไตเหลือง” กับ “ดินเหลือง” คำว่า “ที่” ตรงกับ “ตี้” ในภาษาจีนกลาง แปลว่าแผ่นดินหรือชาวท้องถิ่นพื้นเมือง

ฉะนั้น คำว่าไต-ดิน-ที่ ทั้งหมดจึงมีความหมายอย่างเดียวกันว่า แผ่นดิน หรือชาวพื้นเมือง เรื่องนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังไม่เชื่อสนิทนัก แต่รับฟังไว้ก่อนได้ จึงมีคำอธิบายว่าถ้าหากไตหมายถึงดินหรือที่ดิน นั่นก็หมายความว่าเป็นความหมายดั้งเดิมก่อนหน้าที่จะมีความหมายว่า “คนเมือง” คือมันเริ่มมีความหมายว่า “คนที่อยู่เป็นที่ มีหลักแหล่ง” ขึ้นก่อน เป็นอันดับแรก เพื่อแสดงว่าตนมิใช่พวกพเนจรร่อนเร่


 :sign0144: :sign0144: :sign0144: :sign0144:

การประกาศตนว่าเป็นชนชาติที่มีหลักแหล่ง ไม่ร่อนเร่พเนจรนั้น เป็นความภาคภูมิอย่างสูงอันหนึ่งของชนชาติดึกดำบรรพ์ เพราะแสดงถึงวิวัฒนาการก้าวใหญ่ของชนชาติ นั้นๆ ซึ่งก้าวจากการร่อนเร่เลี้ยงสัตว์ล่าสัตว์ มาเป็นการผลิตแบบชมรมกสิกรรม และบังเกิดศูนย์กลางแห่งอารยธรรมของชนชาติ มีประวัติศาสตร์แห่งชนชาติ-ดินแดนและสังคมขึ้นได้ บาทหลวงฉ์วี สงซือ ตั้งข้อสังเกตต่อไปอีกดังนี้

ในมณฑลกวางตุ้งและกวางสี มีหมู่บ้านเป็นจำนวนมากขึ้นต้นหรือลงท้ายด้วยคำภาษาจ้วงว่า “เซียน” บางแห่งใช้ว่า “ซือ” แปลว่า “หมู่บ้าน” และตรงกับภาษาไทยว่า เชียง-เจียง-เจง

คำว่า “เซียน” ที่ภาษาจ้วงแปลว่าหมู่บ้านนี้เอง ที่จีนเรียกและเขียนเพี้ยนมาเป็นเซียน-เสี่ยม-สิ่ม ซึ่งใช้เรียกเมืองไทยในปัจจุบัน และนี่เองคือรากเหง้าดั้งเดิมของคำว่า “เสียม” – “สยาม”

คำว่า “เซียน” นี้ ถ้าเขียนด้วยตัวอักษรจีนจะแปลว่า เทวดา จึงมีเรื่องเล่ากันมานานแล้วว่า เมื่อกว่า 2,700 ปีมาแล้ว พวกเซียนไปที่เมืองกวางตุ้ง พร้อมกับนำเมล็ดข้าวอันงามไปด้วย เซียนทั้ง 5 คนนี้มีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นเทวดาผู้ที่มาจากฟ้า 5 คน ความจริงทั้ง 5 คนนี้ก็คือคนพื้นเมือง 5 คนจากหมู่บ้านจ้วง 5 หมู่ (คือ 5 เซียน) เรื่องนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ เห็นว่าตามลิ้นของจีนแล้ว คำไทยว่า เชียง-เจียง-เจง นั้น จีนอาจจะถ่ายเสียงเป็น ส้าน-ส่าน-ฉ่าน-ชาง-จิ่ง-เซียน-ซือ-ฯลฯ หรืออะไรก็ได้ มีขอบเขตเป็นไปได้กว้างเหลือเกิน

แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับคำเรียกคนไทยในภาษาอื่นโดยรอบด้านแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า ส่าน-ส้าน-เซียน ในภาษาจีนนั้น เห็นจะมิได้ประสงค์จะถ่ายเสียงคำว่า เชียง-เจง คงประสงค์จะถ่ายเสียงคำอื่นมากกว่า และชื่อหมู่บ้านในมณฑลกวางตุ้งกับกวางสีที่เรียก “เซียน” นั้น อาจจะตรงกับคำว่า “เชียง” ได้จริง แต่ต้องเป็นคนละคำกับชื่อ ส้าน-เซียน ที่ใช้เรียกชนชาติไทย

[พรุ่งนี้ อ่าน- อำนาจของภาษาและวรรณกรรม แพร่กระจายจากมณฑลกวางสี ถึงลุ่มน้ำโขง]



ผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ
ที่มา : มติชนออนไลน์
เผยแพร่ : 30 ก.ค. 59
http://www.matichon.co.th/news/230625
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 03, 2016, 08:08:14 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

komol

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +7/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 643
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
ข้อเขียน คุณสุจิตต์ ยังพอได้ เพราะยังมีเรื่อง ประวัติศาสตร์ แนวการเที่ยวของเขา แต่ของ นิธิ แนวมันชัดล้ม พุทธ ข้อเขียนของเขาไม่เชิงรุกตรง เป็นการชี้ช่อง
บันทึกการเข้า
พลังจิต พลังปราณ พลังสมาธิ เป็นพลังสมดุลย์ เพื่อปัญญา