ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การเข้าอุโบสถศีล เป็นการประพฤติเยี่ยงพรหม | เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นของพระอนาคามี  (อ่าน 739 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



"การเข้าอุโบสถศีล" เป็นการประพฤติเยี่ยง 'พรหม' | เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นของ "พระอนาคามี"

“อุโบสถ” หมายถึง การเข้าจำ ณ สถานที่ใดที่หนึ่ง สิ้นวันหนึ่ง-คืนหนึ่ง เพื่อทำกิจของคฤหัสถ์ที่เรียกว่า “พรหมจารี” คือ การประพฤติที่ประเสริฐ (การประพฤติเยี่่ยงพรหม)

อุโบสถศีล ๘ ประการ

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการฆ่าสัตว์

๒. อทินฺนา ทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการขโมยสิ่งของที่คนอื่นไม่ได้ให้

๓. อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์​ เว้นจากเรื่องที่ทำให้จิตเศร้าหมอง

๔. มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการพูดโกหก ไม่พูดหยาบคาย ส่อเสียด เพ้อเจ้อ ซึ่งเป็นสัมมาวาจา

๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการกินเหล้า ที่เป็นที่ตั้งของความไม่ระมัดระวัง

๖. วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการกินในยามวิกาล (หลังเที่ยงวันถึงรุ่งเช้าของวันใหม่)

๗. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี และประดับร่าง กายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องประดับ เครื่องทา เครื่องย้อม

๘. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการนั่งนอนเหนือเตียงตั่ง ที่เท้าสูงเกิน ภายในมีนุ่นหรือสำลี


@@@@@@@

ความพิเศษของการถือศีลอุโบสถ โดยสังเขป

๑. โดยส่วนมาก ก็ยึดเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ หรือวันแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ เป็นวันประพฤติ, (บางแห่งที่เคร่งครัด แม้วันขึ้น-แรม ๘ ค่ำ ก็มีการประพฤติกัน)

๒. จุดสำคัญของการอยู่จำอุโบสถ ก็คือ การประพฤติของคฤหัสถ์ที่ยิ่งไปกว่าการถือศีล ๕ (เบญจศีล)

๓. มีข้อวัตรข้อปฏิบัติที่ยิ่งไปกว่าศีล ๕ ก็คือการ เว้นจากสิ่งที่เรียกว่า “กามคุณอารมณ์” เป็นสำคัญ กล่าวคือ

     - ข้อ ๓ ของศีลอุโบสถ เว้นจากการประพฤติอันไม่ประเสริฐ (อพรหมจริยา เวรมณี) หรือเว้นจากการประพฤติในสิ่งที่พรหมเขาไม่ทำกัน นั่นคือ การประพฤติดุจเป็นอยู่ผู้เดียว(โสด) ไม่ประพฤติแบบอยู่เป็นคู่ อย่างสามี-ภรรยา

     - พวกพรหม(ตามหลักพุทธฯ) จัดว่าเป็นผู้ละกามได้แล้ว โดยวิกขัมภณปหาณ เพราะฉะนั้น พรหมจึงไม่มีเพศ ไม่มีอวัยเพศ ไม่มีภาวรูป เพราะเป็นสิ่งที่เกื้อกูลแก่กามคุณ, พวกพรหม ไม่มี ฆานะ,ชิวหา,กาย ทั้งส่วนที่เป็นนาม- และเป็นรูป (คือไม่มีปสาทรูป-และฆานะ,ชิวหา,กายวิญญาณทางทวารทั้ง ๓ นั้น) เพราะอวัยวะทั้ง ๓ คือ ฆานะ,ชิวหา,กายะ เป็นอวัยะที่เกื้อกูลแก่กามคุณเป็นส่วนมาก.

     - ศีลข้อ ๓ ของศีลห้า ของคฤหัสถ์ทั่วไป ไม่ห้ามการมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาตน แต่ห้ามการมีเพศสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับหญิง ๒๐ จำพวก ส่วนศีลของอุโบสถ ข้อ “อพรหมจริยา” แม้ภรรยา-สามี ตนเอง ก็อยู่ร่วม-มีเพศสัมพันธ์ ไม่ได้

    - เพราะความที่พวกพรหม ไม่มีเพศ, ไม่มี ฆานะ, ชิวหา, กายะ เพราะฉะนั้น ศีลของอุโบสถ จึงเลียนแบบภาวะและความเป็นไปของพวกพรหม ท่านจึงบัญญัติศีลให้เข้ากับการเป็นไปของพวกพรหม คือ

    - ศีลข้อ ๓ เว้นการมีเพศสัมพันธ์โดยประการทั้งปวง (ทำตนดุจคนไม่มีเพศ เหมือนพรหมนั่นเอง)

    - ศีลข้อที่ ๖ เว้นการทานอาหารในเวลาวิกาล, แม้ทานอาหารในกาลปกติ ก็มีการพิจารณา (ปัจเวกขณะ) ก็คือ การพยายามเว้นจากกามคุณที่จะผ่านมาทางชิวหาทวาร (ทางลิ้น) นั่นเอง

    - ศีลข้อที่ ๗ เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี และประดับร่าง กายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องประดับ เครื่องทา เครื่องย้อม  ข้อนี้ ก็ชี้ให้เห็นชัดว่า “ไม่ต้องการให้หมกมุ่นกับกามคุณอารมณ์ ทางตา, ทางหู, ทางจมูก, และทางกาย (กายสัมผัส) ด้วย”

    - ศีลข้อที่ ๘ เว้นจากการนั่งนอนเหนือเตียงตั่ง ที่เท้าสูงเกิน ภายในมีนุ่นหรือสำลี ข้อนี้ ก็เว้นกามคุณทางกายสัมผัส (โผฏฐัพพารมณ์) เป็นหลักโดยตรง

๔. การประพฤติแบบอุโบสถศีลนี้ จัดเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นของพระอนาคามีเลยทีเดียว เพราะผู้ที่สำเร็จเป็นพระอนาคามี ถ้ายังถือเพศเป็นคฤหัสถ์อยู่ ก็จะประพฤติอย่างนี้ (แต่โดยส่วนมาก จะบวชเป็นภิกษุ)




ชื่อบทความเดิม : เรื่องการเข้าจำอุโบสถ (ตามหลักของพุทธศาสนา)
ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2019/05/11/เรื่องการเข้าจำอุโบสถ-ต/
เขียนโดย VeeZa ,๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒
11 พฤษภาคม 2019 posted by admin.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 22, 2021, 06:04:20 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ