ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: นิยามความหมาย กับคำถามที่ว่า “ทุกคนเกิดมาทำหน้าที่อะไร.?”  (อ่าน 661 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


นิยามความหมาย กับคำถามที่ว่า “ทุกคนเกิดมาทำหน้าที่อะไร.?”

คำว่า “หน้าที่” ภาษาบาลีใช้คำว่า “กิจฺจ, กิจฺจํ” มีภาวะความเป็นไป ๒ อย่าง คือ

๑) หน้าที่ที่เป็นไปตามสภาวธรรมนั้น ๆ
๒) หน้าที่ที่เป็นไปตามบัญญัติธรรม อันเป็นไปตามแบบแผนประเพณีของขาวโลก

หน้าที่ที่เป็นไปตามสภาวธรรมนั้น ๆ เช่น จิต แต่ละอย่าง แต่ละชนิด ย่อมมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน เช่น จักขุวิญญาณ ก็มีหน้าที่เห็น (ทัสสนกิจ), โสตวิญญาณ ก็มีหน้าที่ได้ยิน (สวนกิจ) โลภมูลจิต ก็มีหน้าที่เสพอารมณ์ เป็นต้น

หน้าที่อันเป็นไปเพื่อปฏิสัมพันธ์กับคนตนเองและคนในสังคม ครอบครัว และสังคมใหญ่ เรียกว่า “หน้าที่ที่เป็นไปตามบัญญัติธรรม” เช่น พ่อ-แม่ มีหน้าที่เลี้ยงดูบุตร, ครู อาจารย์ มีหน้าที่สั่งสอน อบรมศิษย์ ชาวนา มีหน้าที่ทำนา ข้าราชการก็มีหน้าที่นั้นๆ ตามกฎเกณฑ์สิ่งที่รับมอบหมายอันเกี่ยวเนื่องกับสังคม

นิยามของ กับคำถามที่ว่า “ทุกคนเกิดมาทำหน้าที่อะไร ?” ผู้เขียนแสดงความเห็นสั้นๆว่า
    “มนุษย์เกิดมา มีหน้าที่อะไร.?”
     คำนิยามสั้น ๆ คือ “ทุกคนเกิดมามีหน้าที่ตามสถานะของตนๆ”

ไม่มีการกำหนดเจาะจงลงไปว่า บุคคลพึงทำหน้าที่อะไร แต่การทำหน้าที่ตามสถานะของตนๆนั้น ก็จะเป็นไปใน ๒ ลักษณะ คือ
     ๑) เป็นไปเพื่อตน, หรือเพื่อประโยชน์ตนเอง
     ๒) เป็นไปเพื่อผู้อื่น, หรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น คือสังคม


@@@@@@@

อภิปราย :-

“หน้าที่” คือกิจ ที่พึงกระทำ คือ แสดงออกมาทางกาย และวาจา (ทั้งกายและวาจา ก็เนื่องมาจากจิตใจ)ในทางอภิธรรม คือ “กายวิญญัตติ, วจีวิญญัติ” คือการเคลื่อนไหว กาย วาจา อันสำเร็จมาแต่จิต นั่นเอง (วิญญัติรูป มีจิต เป็นสมุฏฐาน) การเคลื่อนไหวกาย(ทำทางกาย) และวาจา(คือการพูด หรือสื่อเทียมการพูด) เป็นไปในลักษณะ ๒ อย่าง คือ

    ๑) มีเจตนา จงใจเข้าลักษณะของการกระทำกรรมอันเรียกว่า “กุศลกรรมบถ, และ อกุศลกรรมบถ”
    ๒) ไม่มีเจตนา ไม่จงใจ คือการกระทำนั้น ๆ ไม่จัดเข้าในองค์ของกุศลหรืออกุศลกรรมบถ แต่เป็นปกติของการเคลื่อนไหวกาย วาจานั้น เท่านั้น

โดยความมุ่งหมาย เมื่อพูดถึงคำว่า “หน้าที่” ในที่นี้แปลว่า “กิจที่บุคคลพึงทำหรือต้องทำ” ก็ต้องหมายเอา “การเคลื่อนไหวกาย วาจาที่มีเจตนา มีความจงใจที่จะทำกิจนั้น ๆ ซึ่งจะต้องมีกรรมบถเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”

กิจหรือหน้าที่ที่บุคคลต้องกระทำ หรือพึงกระทำ ย่อมมีมากมายนับไม่ถ้วน เมื่อเกี่ยวข้องกับสถานะของบุคคล ซึ่่งอาจแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆก่อน คือ
     ๑) สถานะของนักบวช (บรรพชิต)
     ๒) สถานะคฤหัสถ์ (ฆราวาส) ผู้ครองเรือน

@@@@@@@

“นักบวช” ผู้ที่ถือข้อวัตรปฏิบัติในศาสนา ประพฤติปฏิบัติไปตามครรลอง หรือข้อกำหนดของศาสนานั้นๆ ซึ่งก็แตกต่างกันไป ภารกิจ หน้าที่ก็แตกต่างกันออกไปทั้งชายและหญิง และนักบวชนั้น ก็มีสถานะที่ลดหลั่นกันลงไป เช่นนักบวชในพุทธศาสนา ก็มี
     – ภิกษุ
     – ภิกษุณี
     – สามเณร
     – สามเณรี
     – สิกขมานา

ก็จะมีศีล ข้อวัตรปฏิบัติแตกต่างกันออกไป แต่ศีลและข้อวัตรปฏิบัติทั้งหมด จะแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ
     ๑) เป็นไปเพื่อประโยชน์ตน
     ๒) เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น หรือสังคม

ผู้ที่ไม่ได้เป็นนักบวช ผู้เป็นคฤหัสถ์ ครองเรือน ก็ย่อมมีกิจ คือหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไปตามสถาน เช่น เป็น พ่อ-แม่ เป็นเกษตรกร เป็นครู-อาจารย์,นักเรียน-นักศึกษา, เป็น ทหาร ตำรวจ พ่อค้า นักการเมือง รัฐบาล ทุกคน มีกิจ มีหน้าที่ที่จะพึงกระทำด้วยกันทั้งนั้นฯ และกิจหรือหน้าที่ของบุคคลนั้นๆ ก็จะจัดอยู่ใน ๒ ลักษณะดังกล่าวแล้ว คือ เป็นไปเพื่อตน และเป็นไปเพื่อผู้อื่น
     – ไม่มีใคร มุ่งทำกิจเพื่อตนอย่างเดียว
     – และไม่มีใครมุ่งทำกิจเพื่อผู้อื่นอย่างเดียว

แต่ทุกคนทำกิจหน้าที่ทั้งเพื่อตนเอง และผู้อื่นด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่า ส่วนไหนจะมาก-น้อยกว่ากัน และทำอย่างถูกต้องครบถ้วน สมบูรณ์หรือไม่ อย่างไร.? ไม่มีใครจะสามารถไปกำหนดกฎเกณฑ์ว่า ควรทำกิจเพื่อตนน้อย ทำเพื่อผู้อื่นให้มากๆ หรือทำเพื่อผู้อื่นให้น้อยๆ ทำเพื่อตนเองให้มากๆ หรือทำให้พอดีๆ สม่ำเสมอ ทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์คนอื่น อาจจะหาข้อกำหนดกฎเกณฑ์ไม่ได้ว่า อย่างไหนน้อย อย่างไหนมาก หรือเท่าไรถึงพอดีๆ


@@@@@@@

ข้อสำคัญในทางพุทธศาสนา กำหนดในเบื้องต้นว่า

     ๑) บุคคลจะอยู่ในสถานะใด เพศใด ภาวะใด จะทำกิจเพื่อตนหรือเพื่อบุคคลอื่น ควรให้กิจนั้นเป็นไปอย่างสุจริต ไม่ล่วงละเมิดอกุศลกรรมบถ ไม่ละเมิดหรือเบียดเบียนสิทธิของผู้อื่น
     ๒) เมื่อบุคคลมีความสามารถ มีปัญญา บุคคลนั้น ๆ ก็จะทราบเองว่า กิจของตน ประโยชน์ของตน มีขอบเขตแค่ไหนเพียงไร, กิจเพื่อผู้อื่น ประโยชน์ของผู้อื่น มีขอบเขตมากน้อย แค่ไหนเพียงไร, ผู้นั้นจะกระทำกิจนั้น ๆ ตามความเหมาะสม ตามโอกาส และตามความสามารถของตนเอง

ว่าโดยหลักการแห่งพุทธศาสนา ประโยชน์ที่ตนเองจะพึงได้พึงถึง มี ๓ อย่างคือ
     ๑) ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในปัจจุบันชาตินี้
     ๒) สัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในปัจจุบันชาติหน้า
     ๓) ปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์อย่างยิ่ง หมายเอาพระนิพพาน

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และเหล่าพระอรหันตสาวก จัดว่าเป็นผู้ทำกิจเพื่อตนเองให้บริบูรณ์แล้ว และได้ทำกิจเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยส่วนเดียว แต่สิ่งที่ท่านเหล่านั้นกระทำ บางครั้งก็ไม่อาจเติมเต็มให้สัตว์ทั้งหลายบริบูรณ์ได้ทั้งหมดได้ ย่อมทำให้บริบูรณ์ได้ในบางพวกบางเหล่าเท่านั้น ทั้งนี้ จะต้องขึ้นอยู่กับบุญ-บารมี อินทรีย์ทั้ง ๕ ประการของสัตว์เหล่านั้นๆด้วย

บางครั้งเป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่า บุคคลในโลกนี้ มี ๔ จำพวก คือ
     ๑) บุคคลที่ทำกิจของตนบริบูรณ์แล้ว และช่วยทำกิจคือทำประโยชน์ให้ผู้อื่นด้วย
     ๒) บุคคลที่ทำกิจของตนบริบูรณ์แล้ว แต่ไม่ช่วยทำกิจคือทำประโยชน์ให้ผู้อื่นเลย
     ๓) บุคคลที่ยังไม่ทำกิจของตนให้บริบูรณ์ แต่ช่วยทำกิจคือทำประโยชน์ให้ผู้อื่น
     ๔) บุคคลที่ยังไม่ทำกิจของตนให้บริบูรณ์ และไม่ช่วยทำกิจคือทำประโยชน์ให้ผู้อื่นเลย

@@@@@@@

บุคคลผู้ทำกิจของตนให้สมบูรณ์ บริบูรณ์ด้วยดีแล้ว จึงจะสามารถทำกิจของผู้อื่นให้บริบูรณ์ได้โดยไม่มีข้อบกพร่อง หรือคำติฉินจากผู้อื่น ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

     “อตฺตานเมว ปฐมํ ปฏิรูเป นิเวสเย ยถญฺญมนุสาเสยฺย น กิลิสฺเสยฺย ปณฺฑิโต”
     “บัณฑิต พึงตั้งตนไว้ในฐานะที่สมควรก่อน จึงค่อยสั่งสอนผู้อื่น จะทำให้ไม่ต้องเศร้าหมองในภายหลัง”
      (ธรรมบท ภาคที่ ๖ อัตตวรรค)

แต่อย่างไรก็ตาม แม้บุคคลในลำดับที่ ๒, และที่ ๓ คือ
     – บุคคลที่ทำกิจของตนบริบูรณ์แล้ว แต่ไม่ช่วยทำกิจคือทำประโยชน์ให้ผู้อื่นเลย
     – บุคคลที่ยังไม่ทำกิจของตนให้บริบูรณ์ แต่ช่วยทำกิจคือทำประโยชน์ให้ผู้อื่น
ก็ยังจัดได้ว่า ช่วยขวนขวายในกิจตน และกิจผู้อื่น ย่อมยังประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้ในส่วนหนึ่ง




 
ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2019/11/24/นิยามของผม-กับคำถามที่ว/
เขียนโดย VeeZa ,๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
24 พฤศจิกายน 2019 ,posted by admin.   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 29, 2021, 06:40:48 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ