ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การปรากฏของ “กะเทย” ในเอกสารประวัติศาสตร์ ยุคแรกหมายถึงคนกลุ่มใด.?  (อ่าน 231 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยุธยา


การปรากฏของ “กะเทย” ในเอกสารประวัติศาสตร์ ยุคแรกหมายถึงคนกลุ่มใด.?

ก่อนจะมี เกย์ เก้ง ตุ๊ด ฯลฯ คำว่า “กะเทย” คือคำแรก ๆ ที่นิยามถึงบุคคลเพศที่สามอันนอกเหนือจากชายและหญิง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำว่า “กะเทย” คือ “(1) น. คนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง, คนที่มีจิตใจและกิริยาอาการตรงข้ามกับเพศของตน (อะหม ว่า เทย)”

การปรากฏคำว่า กะเทย ในเอกสารประวัติศาสตร์ยุคแรก ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ในสังคมล้านนาสมัยโบราณ จากเอกสาร “ตํานานไทยวน” กล่าวถึงการสร้างมนุษย์แบบระบบ 3 เพศ อันได้แก่ เพศชาย เพศหญิง และไม่มีเพศ การจัดประเภทเช่นนี้ก็เพื่อแยกสภาวะความเป็นชายออกจากเพศสภาวะอื่น ๆ ที่อาจแฝงปรากฏบนเพศสรีระของชาย เนื่องจากตํานานการสร้างโลกของไทยวนได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธ

โดยตํานานการสร้างโลกของไทยวนเรียกว่า “ปฐมมูลมูลี” พบคําว่า “นบุํสกลิงคฯ์” แปลเป็นภาษาบาลีว่า “นปุงสกลิงค์” หมายถึง บุคคลไม่มีเพศ ทั้งนี้ไม่อาจยืนยันได้ว่ามีความหมายตรงกับเพศวิถีใดตามแนวคิดของสังคมในปัจจุบัน แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่ามีระบบเรื่องเพศมากกว่าชายและหญิงมาตั้งแต่อดีต

ในสังคมลาวสมัยโบราณ จากเอกสาร “คัมภีร์สุวรรณมุข” ก็มีการกล่าวถึง กะเทย ว่าด้วยข้อห้ามและผลของการที่ชายหญิงลอบเป็นชู้กัน เมื่อตายไปแล้วเกิดชาติใหม่เป็นหญิงเลว 500 ชาติ และเกิดเป็น “มอง” 500 ชาติ คำว่า “มอง” หมายความว่าคนหรือสัตว์ที่ไม่ปรากฏเพศชัดว่าเป็นชายหรือหญิง หรือก็คือ กะเทย นั่นเอง ซึ่งคำว่า มอง ไปพ้องความหมายของคำว่า “กะเทิย (น. คำนาม)” ในภาษาล้านนา ตามที่ปรากฏในพจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง ความว่า “คนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง คนที่มีจิตใจและกริยาอาการตรงข้ามกับเพศของตน (สมัยก่อนใช้ แซ, ทุย, เทิน, มอง, มองทุย, หน้อง)”


@@@@@@@

ในสังคมไทยสมัยโบราณ จากเอกสาร “กฎหมายตราสามดวง” ในส่วนของพระไอยการลักษณภญาน ก็กล่าวถึง กะเทย (กับบัณเฑาะก์) ว่าเป็นหนึ่งในคน 33 จำพวกที่ไม่สามารถเป็นพยานได้ เว้นแต่โจทก์หรือจำเลยยินยอม ความว่า “คน 33 จำพวกนี้ อย่าให้ฟังเอาเปนพญาณ ถ้า โจท/จำเลย ยอมให้สืบ ฟังเอาเปนพญาณได้”

ด้วยเหตุที่ “กฎหมายตราสามดวง” แยก กะเทย ออกจาก บัณเฑาะก์ เป็นคนละพวกกัน ย่อมหมายความว่าในสมัยนั้นให้นิยามต่างกัน บัณเฑาะก์ อาจหมายถึงคนที่ไม่ปรากฏเพศชายหรือหญิง หรือคนที่มีอวัยวะเพศกำกวม ไม่สามารถที่จะบอกเพศได้อย่างแน่ชัด ซึ่งโดยรวมแล้วน่าจะหมายความว่าเป็น “กะเทยทางกายภาพ” ส่วนคำว่า กะเทย นั้น อาจหมายความว่าเป็น “กะเทยทางสังคม” คือบุคคลที่มีลักษณะกิริยาท่าทางตรงข้ามกับเพศของตน แตกต่างไปจากชายและหญิง จนสามารถแยกออกมาเป็นบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งได้ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถกล่าวได้ว่า กะเทย ใน “กฎหมายตราสามดวง” มีพฤติกรรมรักร่วมเพศระหว่างชาย-ชาย

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นปรากฏพฤติกรรมรักร่วมเพศ เช่น กรณีลูกสวาท คือพระสงฆ์อุปการะเลี้ยงเด็กชาย “กอดจูบหลับนอนเคล้าคลึงไปไหนเอาไปด้วย” หรือกรณีพระสงฆ์สมัยรัชกาลที่ 2 “พอใจลูบคลำเล่นของที่ลับพวกลูกศิษย์ที่รุ่นหนุ่มสวย ๆ” จนถูกสึก

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศจะไม่กล่าวถึง “กะเทย” หรือ “ความเป็นกะเทย” แต่อย่างใด โดยคำว่า “เล่นสวาท” (ชาย-ชาย) หรือ “เล่นเพื่อน” (หญิง-หญิง) จะเป็นคำที่ถูกนำมาใช้อธิบายและเชื่อมโยงกับพฤติกรรมรักร่วมเพศ ในขณะที่คำว่า กะเทย เป็นคำนามที่บ่งบอกถึงคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่ชายและหญิง ไม่ได้เหมารวมว่าคนที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ = กะเทย

@@@@@@@

ในส่วนของคำว่า “กะเทย” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ได้กล่าวไว้ว่าคนไทอะหมก็มีคำว่า “เทย” ใช้ในความหมายเดียวกัน, กะเทย ในภาษาเขมรก็มีคำว่า “เขทิย” มีความหมายเช่นเดียวกัน ขณะที่พจนานุกรมเขมร-ไทย ฉบับของพระยาอนุมานราชธน กล่าวถึง กะเทย ว่า “เขฺทีย (เขฺตย) 1. กระเทย [สะกดตามต้นฉบับ] 2. นอกคอก นอกรีต”

กาญจนา นาคสกุล ตั้งข้อสังเกตว่ามีคำในภาษาไทยและภาษาเขมรหลายคำที่พ้องกันโดยไม่สามารถตัดสินได้ว่าเป็นคำไทยเดิมหรือคำเขมรเดิม ดังนั้น คำว่า เขทิย ก็อาจเป็นหนึ่งในคำพ้องเหล่านั้น อาจเป็นไปได้ว่าคำว่า กะเทย, เทย และเขทิย เป็นคำที่ใช้เรียกลักษณะของสิ่งที่ไม่ปรากฏเพศ หรือมีลักษณะกลาง ๆ ไม่เป็นเพศใดเพศหนึ่งที่ใช้กันอยู่เดิมในภูมิภาคนี้ก็เป็นได้

ขณะที่ “สัพะ พะจะนะ พาสาไท” พจนานุกรมของสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ที่จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2397 สมัยรัชกาลที่ 4 ให้ความหมายของคำว่า กะเทย ว่าตรงกับภาษาอังกฤษว่า Hermaphrodite เช่นเดียวกับ “อักขราภิธานศรับท์” พจนานุกรมของหมอบรัดเลย์ ที่จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2416 ให้ความหมายของ กะเทย ว่า “คนไม่เปนเภษชาย ไม่เปนเภษหญิง มีแต่ทางปัศสาวะ”

โดยสรุปแล้วคำว่า กะเทย ในยุคแรกหมายถึงลักษณะที่กำกวมของอวัยะเพศ (อาจมีสองเพศในคนเดียว) และหมายถึงคนอีกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะทางจิตใจและกิริยาที่ไม่เป็นชายไม่เป็นหญิง นอกจากนี้ คนที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศก็ไม่ได้ถือว่าเป็น กะเทย แต่อย่างใด

@@@@@@@

จากเอกสารเหล่านี้ ทำให้เห็นว่า กะเทย ในยุคแรกถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่พึงประสงค์ หากทำกรรมชั่ว ผิดประเวณี ลอบเป็นชู้ ชาติหน้าก็จะเกิดเป็นกะเทย ถูกกีดกัดจากระบบยุติธรรม ถูกจัดเป็นหนึ่งในคน 33 จำพวกที่ไม่สามารถเป็นพยานในคดีความได้ ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่ได้รับอิทธิพลแนวคิดจากศาสนาทั้งสิ้น

แม้มีเอกสารหลายชิ้นที่ระบุถึง กะเทย อยู่บ้าง แต่แทบไม่พบส่วนที่กล่าวถึงชีวิตของคนกลุ่มนี้เลย ลำพังเรื่องราวของชาวบ้านสามัญก็แทบจะไม่ถูกบันทึกลงบนเอกสารทางประวัติศาสตร์ ยิ่งเป็น กะเทย ซึ่งเป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งในสังคมด้วยแล้ว ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะถูกบันทึกไว้เป็นเรื่องเป็นราว

อย่างไรก็ตาม มีเอกสารชิ้นหนึ่งคือ “บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ” โดยโจวต้ากวาน ราชทูตจีนสมัยราชวงศ์หยวนที่ได้เดินทางไปยังเขมรในสมัยพุทธศตวรรษที่ 19 ราว 700 ปีก่อน ได้บันทึกถึง กะเทย ไว้ว่า “ในประเทศนี้มีพวกกะเทยอยู่มากมาย ทุกวันจะไปเดินตามตลาดเป็นหมู่ ๆ ละ 10 คน มักจะชอบชักชวนชาวจีนและกลับได้ของให้อย่างงาม ช่างน่าเกลียดและน่าบัดสีเสียนี่กระไร”

อภิญญา ตะวันออก อธิบายความตอนนี้เพิ่มเติมว่า “กะเทยสมัยนครธม ดูจะมีเสรีภาพอย่างเพียงพอในการแสดงออกต่อสาธารณชน โดยเพียงบรรทัดเดียวก็ทำให้เข้าใจว่า ณ ตลาดชุมชนของเมืองพระนคร ได้มีพ่อค้าจีนถูกชาวเพศที่ 3 แห่งเมืองพระนครคุกคามด้วยพฤติกรรมอันน่ารังเกียจจากเอาตัวเข้าพัวพันเพื่อหวังทรัพย์สินมีค่าบางอย่าง…ชาวกะเทยเมืองพระนคร มิได้ถูกจำกัดสิทธิเยี่ยงทาสไพร่แต่อย่างใด”

@@@@@@@

นอกจากนี้ อภิญญา ตะวันออก ยังตั้งข้อสังเกตว่าชาวเขมรเมืองพระนครที่ประกอบอาชีพค้าขายส่วนใหญ่เป็นหญิง บางครั้งจึงต้องอาศัยกะเทยเป็นตัวแทนเพื่อทำการติดต่อเจรจากับพ่อค้าบางกลุ่ม โดยเฉพาะกรณีที่เป็นชาวต่างชาติ

นี่ดูจะเป็นบันทึกที่กล่าวถึง “กะเทย” ได้อย่างเห็นภาพชัดเจนและมีสีสันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง อย่างน้อยบันทึกของโจวต้ากวานก็ทำให้เห็นว่าในอดีตกะเทยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มมีสัมพันธ์แน่นแฟ้น เหมือนคำกล่าวในปัจจุบันที่ว่า “กะเทยตาย กะเทยเผา”





อ้างอิง :-
- อนุมานราชธน, พระยา. พจนานุกรมเขมร-ไทย เล่ม 1 ก-ต. กรุงเทพฯ : จงเจริญการพิมพ์, 2517.
- โจวต้ากวาน เขียน, เฉลิม ยงบุญเกิด แปล. บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ. กรุงเทพฯ : มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2543.
- วัชรวุฒิ ซื่อสัตย์, พัชรินทร์ สิรสุนทร และฐานิดา บุญวรรโณ. การปรากฏอัตลักษณ์ กายา และอาณาบริเวณทางสังคมของกะเทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (พ.ศ. 2470-2516) ใน, ดำรงวิชาการ, มกราคม-มิถุนายน 2565.
- เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. จาก “กะเทย” ถึง “เกย์” ประวัติศาสตร์ชายรักร่วมเพศในสังคมไทย ใน, วารสารอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. มกราคม-มิถุนายน 2546.
- อภิญญา ตะวันออก. อัญเจียแขมร์ : เมืองนคร – ตอนทาสไพร่ – กะเทย ใน, มติชนสุดสัปดาห์, 15-21 พฤศจิกายน 2562.

ขอขอบตุณ :-
ผู้เขียน   : สมานฉันท์ ปฐมวงส์
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2565
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2565
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_96855
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ