ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ตามติดศิษย์ตถาคต 'ปั่นเพื่อโลก'  (อ่าน 1874 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ตามติดศิษย์ตถาคต 'ปั่นเพื่อโลก'
« เมื่อ: ธันวาคม 14, 2012, 02:17:07 pm »
0

ตามติดศิษย์ตถาคต 'ปั่นเพื่อโลก'

'สังคมต้องการคนรับผิดชอบร่วมกันในทุกส่วน' ตามติดศิษย์ตถาคต'ปั่นเพื่อโลก' : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพระชาย วรธัมโม เรื่อง เสือออย และนนลนีย์ อึ้งวิวัฒน์กุล

       หากใครสัญจรบนถนนราชดำเนินในบ่ายวันอังคารที่ ๔ ธันวาคมที่ผ่านมาคงต้องประหลาดใจที่เห็นพระภิกษุ ๒ รูปกับแม่ชีอีก ๑ ท่าน กำลังปั่นและนำขบวนจักรยานอีกประมาณ ๓๐๐ คัน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ข้ามสะพานพระปิ่นเกล้าไปยังโรงพยาบาลศิริราชอย่างช้าๆ

       ขบวนจักรยานมากมายเกือบ ๓๐๐ คัน โดยมีพระภิกษุและแม่ชีนำขบวนครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันของนักปั่นจักรยานที่มาจาก ๔ ทิศ คือ เหนือ ใต้ อีสาน และกลาง เพื่อรณรงค์ให้คนหันมาใช้จักรยานแทนการใช้น้ำมันและก๊าซ ภายใต้โครงการ '๔ ทิศรวมใจไทยเป็นหนึ่งเดียว' เป็นการนัดพบกันของนักปั่นจาก ๔ ภาค ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าก่อนจะมุ่งหน้าสู่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อถวายพระพรแด่ในหลวงเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวา ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ ๓ แล้ว แต่ที่พิเศษกว่าปีอื่นๆ เพราะขบวนจักรยานนำโดยพระภิกษุและแม่ชี

        เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นหากไม่มี คุณสัจจา ขุทรานนท์ ประธานเครือข่ายชุมชนคนใช้จักรยานแห่งชาติเป็นผู้ประสานงานและเป็นผู้คิดโครงการนี้ขึ้นมา



        สำหรับ พระอาจารย์สมบูรณ์ สุมังคโล อายุ ๕๔ พรรษา ๒๗ แห่งวัดป่าลานหินตัด จ.บุรีรัมย์ เราทราบกันดีว่าท่านหันมาใช้จักรยานได้ ๙ ปีแล้ว เนื่องจากต้องไปสอนธรรมะในโรงเรียนที่ห่างไกล ท่านไม่มีรถยนต์และไม่ได้ร่ำรวยเหมือนวัดอื่นๆ ทางเดียวที่สะดวกคือต้องพึ่งตนเอง จักรยานจึงเป็นคำตอบ

      พระอาจารย์สมบูรณ์ให้สัมภาษณ์ว่า “ใช้เวลา ๕ วันกว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ จริงๆ แล้วไม่อยากเข้ามาเพราะเสี่ยงกับวิธีคิดที่ไม่เปิดกว้างของญาติโยมที่นี่ เคยมีโยมนิมนต์เหมือนกันแต่ก็ปฏิเสธไป แต่คราวนี้เห็นว่าเป็นการรวมตัวกันของนักปั่นจาก ๔ ภาคซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ หากเราไม่มาก็คงพลาดโอกาสในการพบเจอนักปั่นที่มีอุดมการณ์ต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน รวมทั้งเป็นการปั่นเพื่อถวายพระพรแด่ในหลวงก็เลยยอมเสี่ยงเข้ามา ถึงจะเสี่ยงแต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี ถ้าเราไม่มาก็คงไม่มีวันนี้”

      ท่านเผยถึงความรู้สึกขณะปั่นจักรยานในกรุงให้ฟังว่า รู้สึกดี การปั่นเข้ามาในกรุงเทพฯ ต้องมีสติเต็มร้อย ตอนแรกวิตกกังวล กลัวโน่น กลัวนี่ กลัวคนประท้วงไม่ยอมรับ

      "พอเอาเข้าจริงก็ไม่มีอะไร เราตีตนไปก่อนไข้เอง บางคนก็ตาค้าง บางคนพนมมือไหว้ก็มี”


       พระสงฆ์รูปถัดมา หลวงพี่หมู หรือ พระศุภชัย สิริปัญโญ อายุ ๔๐ ปี พรรษา ๑๔ แห่งวัดเชิงผา จ.สุโขทัย หลวงพี่หมูรู้จักพระอาจารย์สมบูรณ์จากการเข้าไปเป็นนักเรียนของกลุ่มเสขิยธรรม รุ่นปี ๒๕๔๐ ท่านกล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อพระอาจารย์สมบูรณ์ว่า “ผมศรัทธาพระที่ทำจริง ท่านจับแล้วไม่ปล่อย พระที่ลงมือทำเพื่อสังคมแล้วมีคำตอบให้สังคมชัดเจนแบบนี้หายาก ผมศรัทธา”

      กับคำถามว่าเหนื่อยไหมกับระยะทาง ๔๕๐ กิโลเมตรกว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ หลวงพี่หมูตอบว่า “ทรมานมากกว่า โดนแดดเผาทั้งวัน ผมไม่ได้สวมหมวกกันน็อกเพราะเห็นว่าหมวกมันป้องกันผิวทำให้เกิดความสบาย เราออกธุดงค์ด้วยจักรยานควรจะเรียนรู้ความทุกข์ เราควรเผชิญกับความทุกข์ ไม่หวั่นไหวไปกับความทุกข์ แต่ในที่สุดก็ต้องใส่หมวกเพราะมันทุกข์จนเกินจะทน”

      เมื่อถามถึงความรู้สึกเมื่อตอนปั่นจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังโรงพยาบาลศิริราช หลวงพี่หมูตอบว่า รู้สึกกดดัน ในเมืองใหญ่ๆ ไม่เคยมีวัฒนธรรมให้พระปั่นจักรยาน มันเสี่ยงกับความเข้าใจของชาวพุทธที่นี่

      "ผมรู้สึกกดดันถึง ๓ ครั้งทีเดียว คือ วัดที่เราเข้าไปพัก ลานพระบรมรูป และโรงพยาบาลศิริราช ผมได้ยินเสียงพูดว่า ‘เฮ้ย นั่นพระรึเปล่า ?’ และมีเสียงตอบว่า ‘ไม่ใช่ ๆ’ บางคนก็มองตาค้างด้วยความงง ทำให้ผู้คนมีแต่ความสงสัยไม่ได้คำตอบ ผมอยากสื่อสารว่าสังคมต้องการคนรับผิดชอบร่วมกันในทุกส่วน เช่น การพึ่งตนเอง

      "ทุกวันนี้คนติดเทคโนโลยีกันมากติดสบายกัน การปั่นจักรยานเป็นการทำให้ชาวพุทธหันกลับมาพึ่งตนเอง เราควรพึ่งตนเองในทุกมิติของชีวิต การที่พระออกมาปั่นจักรยานก็เพื่อกระตุกสังคมให้หันกลับมาทบทวนหลักธรรมเรื่องการพึ่งตนเอง ผมจำคำพูดของพระพรหมคุณาภรณ์ได้ว่า

       ชาวพุทธสูญเสียความสามารถในการพึ่งตนเอง จักรยานเป็นเครื่องมือหนึ่งในการกลับมาพึ่งตนเอง มันคือจิตสำนึก ทุกฝ่ายต้องหันมาดูแลโลก หากพระสงฆ์เราหันมารณรงค์เรื่องจักรยานจะช่วยสังคมได้มาก พระสงฆ์ยังเป็นหนี้บุญคุณโลก หากมีคำถามว่านี่ใช่กิจสงฆ์หรือไม่ ผมตอบได้ทันทีว่านี่แหละเป็นหน้าที่ของสงฆ์โดยตรงเลย”


       นักบวชท่านสุดท้ายเป็นนักบวชหญิงและเป็นสุภาพสตรีคนเดียวในกลุ่มที่ปั่นมาจากภาคอีสาน เธอชื่อ แม่ชีต้อย หรือ แม่ชีสมสวัสดิ์ มหาโคตร อายุ ๓๖ ปี พรรษา ๕ แม่ชีรู้จักพระอาจารย์สมบูรณ์เมื่อปี ๒๕๕๒ โดยเพื่อนแม่ชีแนะนำให้มาจำพรรษาที่วัดป่าลานหินตัด ครั้งแรกที่รู้จักพระอาจารย์สมบูรณ์แม่ชีรู้สึกแปลกใจ ที่มีพระทำกิจกรรมกับเยาวชน เพราะปกติเคยเห็นแต่พระประกอบพิธีกรรม สวดมนต์ แล้วก็เทศน์
 

         “เมื่อตัดสินใจว่าไม่กลัวลำบากเป็นไงเป็นกัน ไปธุดงค์อยู่ป่าอยู่เขาก็เคยมาแล้ว ปั่นจักรยานธุดงค์คงไม่ยากเท่าไหร่ ปกติปั่น ๒๐ กม.ต่อชั่วโมง พอปั่นเข้ากลุ่มใหญ่ช่วงถึงชานเมืองก่อนเข้ากรุงเทพฯ ต้องเร่งเป็น ๓๐ กม.ต่อชั่วโมงเพราะกลุ่มใหญ่เขาปั่นกันเร็วมากเลยปวดขาบ้างแต่ก็อยู่ตัว โดยเฉพาะเส้นทางในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยคุ้นเหมือนในชนบท”

         กับคำถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการปั่นที่พระบรมรูปทรงม้าไปยังโรงพยาบาลศิริราชในวันนั้น แม่ชีตอบว่า ไม่ได้รู้สึกกดดันเหมือนกับพระอาจารย์ทั้งสอง คงเพราะไม่ได้ถูกคาดหวังอะไรจากสังคม เป็นแค่นักบวชชั้นสองคล้ายๆ กับพลเมืองชั้นสอง เหมือนบางคนบอกว่าเป็นไส้ติ่งของศาสนาก็เลยไม่ได้รู้สึกอะไรมาก

      "แต่ถามว่าเป็นพระเป็นชีปั่นจักรยานผิดหรือไม่ ตอบได้ว่ามันไม่ผิด ขอให้มองย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล นักบวชอาจมีการขี่ช้างขี่ม้าเป็นพาหนะ ถ้าสมัยพุทธกาลมีจักรยานก็น่าจะขี่ได้เพราะใช้พลังงานจากกายเราเอง ถ้าเราไปขี่หลังสัตว์ก็ทำให้สัตว์ต้องทรมานอีก



     "วันนั้นกลับรู้สึกตื่นเต้น สนุกดี ใครๆ ก็เห็นเราชัดเจน มีแต่คนมองมาที่พระและแม่ชีเป็นจุดเดียวแถมมีจักรยานตามมาอีกเป็นฝูงมีรถตำรวจนำอีกต่างหาก เลยกลายเป็นจุดสนใจ รู้สึกภูมิใจและเป็นวาระพิเศษที่ได้ปั่นจักรยานถวายพระพรแด่ในหลวง น่าจะเป็นตัวอย่างให้แม่ชีในชนบทได้หันมาใช้จักรยานกัน มีเพื่อนที่สุรินทร์เห็นพระอาจารย์สมบูรณ์ขี่จักรยาน

     ก็เลยกลับไปสร้างความเข้าใจกับญาติโยมในหมู่บ้านว่าแม่ชีจะขี่จักรยานกลับไปดูแลแม่ชราภาพที่บ้านทุกวัน แม่ชีไม่มีรายได้ไม่มีกิจนิมนต์การสัญจรในชนบทก็ลำบาก จึงขอให้ญาติโยมเข้าใจในกิจอันนี้ญาติโยมก็เข้าใจยอมรับได้ เพื่อนแม่ชีจึงขี่จักรยานกลับไปดูแลแม่ทุกวัน”


       นั่นเป็นประสบการณ์ของนักบวชทั้งสามท่าน แต่ภารกิจยังไม่จบเท่านี้ พวกท่านยังมีสถิติ ๒,๖๐๐ กิโลเมตรรอสะสมให้ครบเนื่องในโอกาสโคตมะพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ ๒,๖๐๐ ปี พวกเขาวางเส้นทางไปสู่ภาคตะวันออกแล้ววกขึ้นสู่ภาคอีสานเพื่อกลับถึงวัดในที่สุด

       เราขอให้คณะธุดงค์จักรยาตราคณะนี้เดินทางโดยสะดวกปลอดภัย และกลับถึงวัดโดยสวัสดิภาพ


ขอบคุณภาพบทความจาก
www.komchadluek.net/detail/20121213/147040/ตามติดศิษย์ตถาคตปั่นเพื่อโลก.html#.UMrPEazjrRd
http://www.pixgang.com/,http://www.oknation.net/,http://www.phitsanulokhotnews.com/,http://p.s1sf.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

ยอดชาย

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 96
  • ยอดชายแท้ ก็คือยอดมนุษย์
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: ตามติดศิษย์ตถาคต 'ปั่นเพื่อโลก'
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 14, 2012, 04:32:33 pm »
0
อย่างนี้ ถ้าเป็น มอร์เตอร์ไซค์ ก็ไม่น่าจะผิดอะไร ใช่หรือไม่ครับ
  อาจจะรวมถึง รถยนต์ กันด้วย

  หรือ ว่า อนุญาตไว้ขั้นสูงแค่ จักรยาน

   ถ้าเป็น สเก็ตบอร์ด ได้หรือไม่ครับ หรือรองเท้า สเก็ตต์

   :13: :c017:
บันทึกการเข้า
ลูกผู้ชายนักสู้