ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 'ยักษ์' ปักหลั่นกลางพงไพร กับ ต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก.!  (อ่าน 1622 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28362
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


'ยักษ์' ปักหลั่นกลางพงไพร กับ ต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก!

สารคดีไทยรัฐออนไลน์สัปดาห์นี้ พบกับเรื่องราวต้นไม้ใหญ่ที่สุดในโลก เรื่องราวที่คุณต้องทึ่งแน่นอน...

บนเนินที่ลาดเอียงเล็กน้อยในอุทยานแห่งชาติซีคัวยา ณ ความสูงราว 2,100 เมตรเหนือระดับทะเลในเทือกเขาเซียร์ราเนวาดาตอนใต้ ต้นไม้ใหญ่ยักษ์ต้นหนึ่งยืนต้นตระหง่านอยู่ ลำต้นของมันเป็นสีแดงสนิม อวบหนาด้วยชั้นเปลือกไม้เป็นร่อง และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เมตรที่โคนต้น หากจะมองให้เห็นยอดคงไม่วายต้องแหงนหน้ามองจนปวดคอ พูดง่ายๆก็คือ

ต้นไม้ต้นนี้สูงใหญ่เสียจนสายตาเราเก็บภาพได้ไม่หมดทั้งต้นยักษ์ใหญ่แห่งพงไพรเจ้าของสมญานามว่า เดอะเพรสซิเดนต์ (The President) หรือ “ท่านประธานาธิบดี” ต้นนี้คือ สนซีคัวยายักษ์ (Giant Sequoia) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sequoiadendron giganteum

กระนั้น นี่ก็ยังไม่ใช่ต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ในแง่ปริมาตรเนื้อไม้) หากเป็นลำดับที่สอง การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ของ สตีฟ ซิลเลตต์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮัมโบลต์สเตต และทีมงานยืนยันว่า เดอะเพรสซิเดนต์จัดอยู่ในอันดับสองของกลุ่มต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เคยมีการวัดขนาด และทีมงานของซิลเลตต์ก็วัดมาแล้วพอสมควร แม้จะไม่ยืนต้นสูงเท่าต้นเรดวูดชายฝั่งที่สูงที่สุดหรือต้นยูคาลิปตัสในออสเตรเลีย

แต่ความสูงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย สนซีคัวยายักษ์คือต้นไม้ที่ใหญ่กว่าต้นเรดวูดชายฝั่งหรือต้นยูคาลิปตัสมาก ยอดที่ตายซากเนื่องจากฟ้าผ่าสูงตระหง่านถึง 75 เมตรเหนือพื้นดิน ส่วนกิ่งก้านขนาดใหญ่ทั้งสี่ซึ่งแต่ละกิ่งใหญ่โตราวต้นไม้ต้นเขื่องยื่นหักศอกออกจากกลางลำต้นสูงจากพื้นดินขึ้นมาตั้งแต่ 35 ถึง 50 เมตร แม้ว่าลำต้นจะไม่ใหญ่โตเท่า “นายพลเชอร์แมน” (General Sherman) สนซีคัวยายักษ์เจ้าของสถิติต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เรือนยอดของเดอะเพรสซิเดนต์นั้นดกหนากว่ามาก



การที่ต้นไม้เติบโตจนสูงใหญ่และแผ่เรือนยอดกว้างนั้นเป็นการแข่งขันกับต้นไม้อื่น ทั้งทะยานขึ้นและแผ่กิ่งก้านออกไปเพื่อหาแสงอาทิตย์และน้ำ ต้นไม้ไม่เคยหยุดเติบโต และเสริมความแข็งแกร่งให้โครงสร้างด้วยการสร้างเนื้อไม้อย่างต่อเนื่อง ด้วยความจำเป็นที่ต้องแสวงหาทรัพยากรในการดำรงชีวิตจากท้องฟ้าและผืนดิน และด้วยเวลาที่เพียงพอ ต้นไม้สามารถเติบใหญ่ได้มากและยังคงเติบโตต่อไป การที่สนซีคัวยายักษ์มีขนาดมหึมาได้ถึงเพียงนี้ก็เพราะพวกมันมีอายุเก่าแก่มากนั่นเอง

สนเหล่านี้มีอายุมากก็เพราะพวกมันเอาตัวรอดจากภัยคุกคามทั้งปวงที่อาจทำให้ล้มตายมาได้ พวกมันแข็งแกร่งเกินกว่ากระแสลมจะพัดจนหักโค่น ส่วนแก่นและเปลือกไม้ก็อุดมไปด้วยน้ำฝาด (tannic acid) และสารเคมีอื่นๆ ที่ช่วยป้องกันการเน่าเปื่อยจากเชื้อรา แมลงปีกแข็งที่ชอบเจาะและกัดกินเนื้อไม้ยังไม่ระคายผิว อีกทั้งเปลือกไม้หนาๆ ยังทนไฟอีกด้วย

อันที่จริง ไฟพื้นดิน (ground fire) กลับเป็นประโยชน์สำหรับประชากรสนซีคัวยาเสียด้วยซ้ำ เพราะช่วยกำจัดคู่แข่ง ทำให้ลูกสนแตกตัว เปิดโอกาสให้ต้นกล้าซีคัวยาได้เติบโตท่ามกลางแสงอาทิตย์ และเถ้าถ่านที่อุดมด้วยสารอาหาร ฟ้าผ่าอาจทำร้ายต้นไม้เต็มวัยบ้าง แต่โดยมากก็ไม่ถึงกับทำให้หักโค่นล้มตาย ดังนั้นพวกมันจึงแก่ตัวขึ้นและเติบใหญ่ข้ามสหัสวรรษ

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่สามารถจบชีวิตของไม้ใหญ่ได้อย่างไม่ต้องสงสัยคือการทำไม้ สนซีคัวยายักษ์จำนวนมากต้องสังเวยให้กับคมขวานในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้าและต้นศตวรรษที่ยี่สิบ แต่เนื้อไม้ของยักษ์แก่เหล่านี้เปราะหักง่ายเสียจนไม่มีมูลค่านักในฐานะไม้ซุง

จึงมักนำไปใช้เป็นแผ่นไม้มุงหลังคา รั้วไม้ปลูกองุ่น และชิ้นงานจากเศษไม้ อุทยานแห่งชาติซีคัวยา (Sequoia National Park) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1890 และในไม่ช้าความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมก็แสดงให้เห็นว่า สนซีคัวยายักษ์ที่ยืนต้นตระหง่านมีค่ามากกว่ามากนัก



ในบรรดาการค้นพบอันน่าทึ่งหลายประการของทีมงานซิลเลตต์ เรื่องหนึ่งคืออัตราการเจริญเติบโตของต้นไม้ใหญ่ซึ่งไม่ใช่แค่ความสูงและปริมาตร สามารถเพิ่มขึ้นได้แม้จะมีอายุมาก อันที่จริงยักษ์ใหญ่วัยชราอย่างเดอะเพรสซิเดนต์สร้างเนื้อไม้ใหม่ในแต่ละปีได้มากกว่าต้นไม้รุ่นเยาว์ที่แข็งแกร่งกว่าเสียอีก โดยสร้างเนื้อไม้รอบลำต้นให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและพอกพูนกิ่งก้านให้อวบใหญ่ขึ้น

การค้นพบนี้แย้งกับสมมุติฐานทางนิเวศวิทยาป่าไม้ที่เชื่อกันมานานว่า เมื่อต้นไม้อายุมากขึ้น การสร้างเนื้อไม้จะลดลง สมมุติฐานดังกล่าวซึ่งมีส่วนในการตัดสินใจเชิงบริหารที่สนับสนุนการปลูกไม้โตเร็วและการทำไม้วงจรสั้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน อาจเหมาะหรือสอดคล้องกับต้นไม้บางประเภทในบางพื้นที่

แต่ไม่ใช่สำหรับสนซีคัวยายักษ์ ซิลเลตต์และทีมงานหักล้างสมมุติฐานนี้ด้วยการทำในสิ่งที่นักนิเวศวิทยาป่าไม้รุ่นก่อนๆ ไม่ทำกัน คือการปีนขึ้นต้นไม้ใหญ่ตั้งแต่โคนต้นจรดปลายยอด และวัดขนาดโดยละเอียดทุกตารางนิ้ว


ทีมงานของซิลเลตต์ขึงเชือกเหนือยอดของเดอะเพรสซิเดนต์ และตอกหมุดโยงเชือกตามจุดที่กำหนด สวมสายรัดโรยตัวและหมวกนิรภัย ก่อนจะปีนขึ้นไป พวกเขาวัดขนาดลำต้นที่ระดับความสูงต่างกัน ทั้งยังวัดขนาดกิ่ง ก้าน และปุ่มไม้ ตลอดจน นับจำนวนลูกสน เก็บตัวอย่างเนื้อไม้ด้วยเครื่องเจาะปลอดเชื้อ

จากนั้นจึงป้อนตัวเลขที่ได้ผ่านแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ร่วมกับข้อมูลเสริมจากสนซีคัวยายักษ์ต้นอื่นๆ กระบวนการทั้งหมด ทำให้พวกเขาทราบว่า เดอะเพรสซิเดนต์มีปริมาตรเนื้อไม้และเปลือกไม้รวมกันอย่างน้อย 1,530 ลูกบาศก์เมตร และยังทำให้ตรวจพบด้วยว่ายักษ์ชราอายุร่วม 3,200 ปี

ต้นนี้ยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งยังดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฮือกใหญ่และกักเก็บคาร์บอนไว้ในเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนิน ในช่วงฤดูเติบโตที่สะดุดลงในช่วงหกเดือน อันหนาวเหน็บและหิมะตก นับว่าไม่เลวทีเดียวสำหรับต้นไม้ในวัยสนธยาเช่นนี้



ซิลเลตต์บอกผมว่า นั่นเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก “ครึ่งปีเชียวนะครับที่พวกมันไม่มีการเจริญเติบโตเหนือพื้นดิน [ไม่รวมถึงระบบราก] แต่จมอยู่ในกองหิมะ”

ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่ไมเคิล (นิค) นิโคลส์ จะเก็บภาพของเดอะเพรสซิเดนต์ท่ามกลางหิมะ นิคและจิม เคมป์เบลล์ สปิกเคลอร์ นักปีนเขาและนักตอกหมุดชั้นเซียน คิดแผนงานร่วมกัน ทีมงานเดินทางมาถึงที่นี่ตอนกลางเดือนกุมภาพันธ์ ในช่วงที่กองหิมะข้างถนนสูงถึง 3.5 เมตร พวกเขาโยงเชือกเข้ากับหมุดบนเดอะเพรสซิเดนต์และต้นไม้สูงอีกต้นที่อยู่ติดกัน

เพื่อให้ทีมงานปีนขึ้นไปและชักรอกกล้อง พวกเขาเฝ้ารอตั้งแต่ช่วงที่ท้องฟ้าสดใส หิมะเริ่มละลาย และหมอกโรยตัวปกคลุม จนกระทั่งสภาพอากาศเปลี่ยน และหิมะตกอีกครั้ง แล้วจังหวะเวลาที่เหมาะสมก็มาถึง พวกเขาจึงได้ภาพที่ต้องการ

แต่ก่อนที่เชือกเส้นสุดท้ายจะถูกปลดลง นิคซึ่งคอยควบคุมงานอยู่บนพื้นดินนานกว่าสองสัปดาห์ ต้องการปีนขึ้นไปด้วยตนเอง เขาอธิบายว่าไม่ใช่เพื่อถ่ายภาพ “แค่ไปบอกลาน่ะครับ” เขาจัดแจงสวมสายรัดโรยตัวและหมวกนิรภัย เกี่ยวตัวเองเข้ากับเชือก แล้วไต่ขึ้นไป

บ่ายวันรุ่งขึ้น เมื่อนิคและคนอื่นๆ กลับไปแล้ว ผมสวมรองเท้าหิมะเดินทอดน่องกลับไปหาเดอะเพรสซิเดนต์โดยลำพัง มีอะไรให้ผมซึมซับมากมายเหลือเกิน และผมอยากกลับไปดูอีกสักครั้ง ผมตะลึงกับต้นไม้เบื้องหน้าอยู่ครู่ใหญ่ ภาพที่เห็นช่างอัศจรรย์เหลือเกิน เจ้ายักษ์ปักหลั่นยืนสงบนิ่งไม่ไหวติงในสายลมยืนหยัดมั่นคงเกินกว่าจะโอนเอน

ผมครุ่นคิดถึงเรื่องราวที่ผ่านมาของมัน ใคร่ครวญถึงความทรหดทนทายาดของมัน วันนี้อากาศค่อนข้างอบอุ่น และขณะที่ผมยืนอยู่ตรงนี้ เดอะเพรสซิเดนต์ก็สลัดก้อนหิมะที่กำลังละลายจากกิ่งเบื้องบนลงมา หิมะแตกกระจายร่วงพรู เกล็ดและผลึกน้ำแข็งชิ้นเล็กชิ้นน้อยต้องแสงแดดเป็นประกายขณะร่วงหล่นลงใส่ผม

“ขอให้อายุมั่นขวัญยืนนะ” ผมบอกลาเจ้ายักษ์ใหญ่

เรื่อง เดวิด ควาเมน ภาพถ่าย ไมเคิล นิโคลส์ ข้อมูลจากนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย http://www.ngthai.com/ngm/1212/default.asp


ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.thairath.co.th/content/life/312316
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

ยอดชาย

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 96
  • ยอดชายแท้ ก็คือยอดมนุษย์
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
สุดยอดจริง ๆ เป็นต้นไม้ ที่ไม่ได้เห็นในเมืองไทยเลย

 :c017:
บันทึกการเข้า
ลูกผู้ชายนักสู้