ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
  • สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน
แสดงกระทู้
This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.
    Messages   Topics Attachments  

  Messages - อาราม นิวส์ FACEBOOK
หน้า: [1] 2 3 4
1  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / หลวงพ่อโหพัฒน์ พระอริยะเจ้าอนัมนิกาย เมื่อ: ธันวาคม 05, 2014, 09:49:08 pm
หลวงพ่อโหพัฒน์ (Hổ Phách) พระในคณะสงฆ์อนัมนิกาย เป็นชาวกาญจบุรีโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีมะโรง พ.ศ.2447 ที่ต.วังขนาย อ.ท่าม่วง กาญจนบุรี



เมื่อเจริญวัยได้ 11 ปี จึงได้มาบวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดถารวรารามเมืองกาญจน์ เมื่ออายุครบ 20 ปี จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดถาวรวราราม โดยมีหลวงพ่อเทียม เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า "โหพัฒน์"

ต่อมาภายหลังท่านได้ย้ายไปอยู่ ณ วัดมงคลสมาคม ถนนแปลงนาม เขตสัมพันธวงศ์กรุงเทพฯ ขณะนั้นมีพระครูคณะบับสมณาจาร์ย (เหมิกโหงน) เป็นเจ้าอาวาสอยู่ เมื่อเจ้าอาวาสได้มรณภาพลงแล้ว พระอาจาร์ยโหพัฒน์จึงได้ย้ายไปอยู่ ณ วัดอุทัยบำรุง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ

เมื่อมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2487 ท่านได้มาพำนักอยู่ ณ วัดถ้ำเขาน้อย อ.ท่าม่วง กาญจนบุรี ยุคเดียวกับพระอารย์ย๊ากเหมิง แต่ท่านอาจารย์โหพัฒน์ ได้อยู่ที่วัดถ้ำเขาน้อย ได้ระยะหนึ่งไม่นานนัก ท่านก็ได้ไปพำนักที่วัดสงฆ์จีน ทางภาคใต้ จังหวัดยะลา ต่อมาภายหลังได้กลับมาอยู่ที่โรงเจ "เข่งซิ่วตั๊ว" ตลาดท่าเรือ อ.ท่ามะกา กาญจนบุรี นับแต่นั้นก็บำเพ็ญภาวนาในสมณเพศเรื่อยมาจนมรณภาพ

ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในวินัย บำเพ็ญภาวนาเป็นนิจ ทั้งสวดมนต์ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนเชื่อกันว่าท่านสำเร็จมีญานรู้เห็น มีตาทิพย์ หูทิพย์ รู้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ ทั้งยังช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้ผู้ตกทุกข์ได้ยาก จึงเป็นที่เคารพศรัทธาโดยทั่วไป

และยังมีเรื่องราวเหนือธรรมชาติอีกมากมายเกี่ยวกับท่าน เล่ากันว่า คุณวิเศษเหล่านี้เป็นผลมาจากการบำเพ็ญเพียรภาวนา ซึ่งท่านจะฉันอาหารเจวันละ 1 มื้อตอนเพล ถือศีลปฏิบัติธรรมในห้องเล็ก ๆ และไม่พูดจามากนัก หากจะติดต่อให้เขียนกระดาษสอดเข้าไปในกุฏิท่านเท่านั้น

หลังจากมรณะภาพได้ 7 วัน ปรากฎว่าสังขารท่านนุ่มนิ่มเหมือนยังมีชีวิต ศิษยานุศิษย์จึงนำร่างท่านไปเก็บรักษาไว้ เตรียมการฌาปนกิจต่อไป 3 ปี จึงทำพิธีเปิดโลงศพ ปรากฏว่าสภาพศพไม่เน่าเปื่อย ผิวเนื้อแห้ง ดวงตาเปิดเล็กน้อย มองดูเหมือนมีชีวิต อีกทั้งยังอยู่ในท่านั่งสมาธิมือพนมเหมือนเช่นเดิมเป็นที่น่าประหลาดใจ อันแสดงว่าท่านบรรลุมรรคผล

นอกจากนี้ ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ท่านอยู่ในท่าพนมมือแสดงว่าท่านดับขันธ์ขณะภาวนา "นโม อมิตาภพุทธ" เป็นลักษณะการดับขันธ์ที่จะพบได้ยากยิ่ง เมื่อเห็นอัศจรรย์ดังนั้นแล้วคณะศิษยานุศิษย์จึงได้ทำการปิดทองร่างของท่าน แล้วนำไปประดิษฐาน ณ โรงเจเข่งซิ่วตั๊ว ต.ท่าเรือ อ.ท่ามะกา กาญจนบุรี ตราบจนปัจจุบัน
2  เรื่องทั่วไป / IT สาระประโยชน์ชาวธรรม / พระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทคัดตัดตอน เผยแพร่ในแอปพลิเคชั่น “สุขพอที่พ่อสอน” เมื่อ: ธันวาคม 04, 2014, 01:32:33 pm


สำนักราชเลขาธิการ ร่วมกับ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทคัดตัดตอน เผยแพร่ในแอปพลิเคชั่น “สุขพอที่พ่อสอน” โดยแบ่งเป็น ๙ หมวดหมู่ ได้แก่ การศึกษา ความยุติธรรม รู้รักสามัคคี ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ประโยชน์ส่วนรวม การพัฒนา ความพอเพียง คุณธรรมจริยธรรม ความสุขและความปรารถนาดี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิม พระชนมพรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗



แอปพลิเคชั่น “สุขพอที่พ่อสอน” นี้ เผยแพร่เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้น้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดประโยชน์ เกิดความสุขที่แท้จริงอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายเรื่องค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการ ซึ่งในข้อ ๙ คือ มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ตัวอย่าง :


ชื่อแอป " สุขพอที่พ่อสอน " ดาวน์โหลด ได้ทั้ง แอรดรอย และ ไอโอเอส
แอนดรอย ดาวน์โหลด ได้ที่ : https://play.google.com/store/apps/details?id=th.or.ega.ad.royalwords&hl=th
3  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / พระยอดกตัญญู พระศิริ รัตนชัย อายุ 56 ปี 24 พรรษา อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อ: พฤศจิกายน 30, 2014, 08:46:29 pm




พระยอดกตัญญู

วันนี้ (6 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ว่า ที่สำนักสงฆ์ถ้ำนางพญาเลือดขาวโมกขธรรม ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 11 บ้านเขารูปช้าง ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา มีพระยอดกตัญญูได้พาแม่ที่ป่วยเป็นอัมพาต และน้องชายที่สติไม่สมประกอบมาเลี้ยงดู และดูแลเป็นอย่างดีภายในที่พัก สร้างความซาบซึ้งให้กับญาติโยมที่ไปทำบุญเป็นอย่างมาก

หลังจากที่ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังที่สำนักสงฆ์ดังกล่าว ทราบว่า พระยอดกตัญญูรูปนี้ คือ พระศิริ รัตนชัย อายุ 56 ปี ได้บวชมาแล้ว 24 พรรษา จำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำนางพญาเลือดขาวโมกขธรรม มาตั้งแต่ พ.ศ.2531 ซึ่งนอกเหนือจากจะปฏิบัติตามกิจของสงฆ์แล้ว พระศิริได้พาแม่ที่ป่วยเป็นอัมพาต และน้องชายที่สติไม่ดีมาดูแลที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ด้วย โดยอยู่ร่วมกันภายในที่พักสงฆ์

พระศิริ เผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ก่อนวันเข้าพรรษาเพียง 1 วันได้พาแม่และน้องชายมาอยู่ด้วยกัน จากปกติที่ก่อนหน้านี้พักอยู่กับญาติพี่น้องที่บ้านเกิดใน อ.บางแก้ว จ.พัทลุง และตนได้กลับไปดูแลเป็นครั้งคราว แต่เนื่องจากญาติพี่น้องคนอื่นๆ ที่มีอยู่ด้วยกัน5 คน ตนเป็นคนที่ 4 มีภาระและไม่สามารถดูแลแม่และน้องชายได้อย่างเต็มที่ ตนจึงตัดสินใจนำมาเลี้ยงดูที่สำนักสงฆ์ ซึ่งมีเพียงตนกับพระอีกหนึ่งรูปพักอยู่

สำหรับแม่ของ พระศริ คือ นางคล่อง รัตนชัย อายุ 77 ปี ป่วยเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ ส่วนน้องชายชื่อ นายสมเกียรติ์ รัตนชัย อายุ 51 ปี สติไม่ดี ความจำเลอะเลือน พูดและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทุกวันพระศิริ ต้องซักผ้าของแม่ และน้องชาย หุงข้าว ทำกับข้าว ล้างถ้วยล้างชาม แปรงฟันล้างหน้าให้แม่ ป้อนข้าว เช็ดตัว ทำแผล และแผลกดทับทั้งเช้าและเย็น เช่นเดียวกับการดูแลน้องชายจะช่วยเปลี่ยนกางเกง แปรงฟัน พาไปถ่ายหนัก ถ่ายเบา อาบน้ำให้ หาข้าวให้กิน ทำให้ปัจจุบันพระศิริไม่ค่อยได้ออกไปบิณฑบาต เนื่องจากมีภาระต้องดูแลแม่และน้องชาย แต่ได้มีญาติโยมที่ใจบุญที่มีความเมตตานำข้าวสารอาหารแห้ง หรืออาหารสดมาใส่ตู้เย็นไว้ให้

พระศิริ เผยถึงความรู้สึกว่า ได้ยึดคำสอนของพระพุทธเจ้า และหลักศาสนาพุทธที่สมัยพระพุทธเจ้าเคยมีพระภิกษุรูปหนึ่งที่จะสึก เพื่อที่จะออกมาดูแลแม่ที่ป่วย แต่ทางพระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นพระก็ดูแลได้ ไม่ผิดหลัก โดยเฉพาะข้าวที่บิณฑบาตมาได้นั้น ให้แม่ฉันก่อนได้และจะดีเสียกว่าที่ลูกจะได้กินเศษข้าวจากแม่ และหากเราสามารถดูแลแม่ในขณะยังครองผ้าเหลืองอยูได้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดแล้ว

ทั้งนี้ หากผู้มีจิตศรัทธาหรือหน่วยงานใดต้องการช่วยเหลือแม่และน้องชายก็ยินดีโดยมาเยี่ยมที่สำนักสงฆ์ได้ตลอด



4  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / ‎บาลีวันละคำ‬ (921) นาคบาศ เมื่อ: พฤศจิกายน 27, 2014, 12:01:03 pm
‪‎บาลีวันละคำ‬ (921)
นาคบาศ
ประกอบด้วยคำว่า นาค + บาศ
(๑) “นาค”
บาลีอ่านว่า นา-คะ ใช้ในภาษาไทยคำเดียว อ่านว่า นาก ถ้ามีคำอื่นมาสมาสท้าย อ่านว่า นา-คะ- หรือ นาก-คะ-
คำว่า “นาค” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง ดังนี้ -
(1) งูใหญ่มีหงอน ที่เรามักเรียกกันว่า “พญานาค” ภาษาบาลีว่า นาคราชา (นา-คะ-รา-ชา) เป็นความหมายที่เราคุ้นกันมากที่สุด
(2) “สัตว์ที่มองเห็นเป็นเหมือนภูเขา” = ช้าง หมายถึงช้างที่ฝึกหัดเป็นอย่างดีแล้ว เช่นช้างศึก
(3) “ต้นไม้ที่ไปไหนไม่ได้” = ไม้กากะทิง (ใบและผลคล้ายสารภี แต่ใบขึ้นสันมากและผลกลมกว่า เปลือกเมล็ดแข็ง ใช้ทําลูกฉลากหรือกระบวยของเล่น, สารภีทะเล หรือ กระทึง ก็เรียก)
(4) “ผู้ไม่มีผู้ที่เลิศกว่า” = ผู้เลิศ, พระอรหันต์
(5) “ผู้ไม่ทำบาปกรรม, ผู้ไม่มีบาป” = ผู้มุ่งจะบวช
การเรียกคนที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวชหรือกําลังจะบวชว่า “นาค” มีมูลเหตุมาจากในเวลาทำพิธีบวช จะต้องระบุชื่อผู้บวชเป็นภาษาบาลี (ที่เรียกว่า “ฉายา” – ดูคำนี้) ในยุคแรกๆ มักสมมุติชื่อผู้บวชว่า “นาโค” ทุกคน (ปัจจุบันตั้งฉายาต่างกันออกไปเหมือนตั้งชื่อ)
คำว่า “นาโค = นาค” จึงเรียกกันติดปาก ใครจะบวชก็เรียกกันว่า “นาค” มาจนทุกวันนี้
(๒) “บาศ”
บาลีเป็น “ปาส” (ปา-สะ) สันสกฤตเป็น “ปาศ” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บาศ” คำแปลที่คุ้นกันคือ “บ่วง”
ในภาษาไทยมีคำว่า “บ่วงบาศ” น่าจะเป็นคำซ้อน “บ่วง” คือ “บาศ” และ “บาศ” ก็คือ “บ่วง” แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“บ่วงบาศ : (คำนาม) บ่วงสําหรับโยนไปคล้อง.”
“ปาส” ในบาลียังแปลอย่างอื่นได้อีก คือ บ่วงแร้ว, กับดัก, เครื่องผูกรัด, โซ่ตรวน, มวยผม, รูลูกดุม
นาค + ปาส = นาคปาส (นา-คะ-ปา-สะ) > นาคบาศ ภาษาไทยอ่านว่า นาก-คะ-บาด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“นาคบาศ : บ่วงที่เป็นงู เป็นชื่อศรของอินทรชิตที่แผลงไปเป็นงู. (ส.).”
สมญาภิธานรามเกียรติ ของท่าน “นาคะประทีป” แถลงคำว่า “นาคบาศ” ไว้สั้นๆ ว่า “ศรที่พระพรหมประทานอินทรชิต”
และที่คำว่า “อินทรชิต” ขยายความไว้ว่า -
“เมื่อศึกติดลงกา กุมภกรรณออกรบจนตายแล้ว, (อินทรชิต) ได้เป็นจอมทัพออกทำสงคราม, ครั้งแรก รบกับพระลักษมณ์ไม่แพ้ชนะกัน ครั้งที่สอง ทำพิธีชุบศรนาคบาศ, ถูกชามพุวราชทำลายพิธี, ออกรบกับพระลักษมณ์ แผลงศรเป็นนาคมัดพระลักษมณ์กับทหารล้มกลิ้งทั้งกองทัพ.”
ในคัมภีร์สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส (คุหฏุกสุตตนิทเทส) หน้า 145 ตอนอธิบายเรื่องกาม ว่าเป็นสิ่งที่ละได้ยาก ท่านใช้ศัพท์ว่า “นาคปาส” ในคำอุปมา ดังข้อความว่า -
“นาคปาสํ วิย ทุพฺพินิเวฐยา”
แปลว่า "กามทั้งหลายแหวกออกได้โดยยากดุจนาคบาศ”
สามบ่วง :
๏ มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว...พันคอ
ทรัพย์ผูกบาทาคลอ.....หน่วงไว้
ภรรยาเยี่ยงบ่วงปอ.......รึงรัด มือนา
สามบ่วงใครพ้นได้.......จึ่งพ้นสงสาร๚ะ๛
(โคลงโลกนิติ-สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร)
5  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / ‎บาลีวันละคำ‬ (922) สมณโวหาร เมื่อ: พฤศจิกายน 26, 2014, 10:10:29 pm
‪‎บาลีวันละคำ‬ (922)
สมณโวหาร
ภาษาไทยอ่านว่า สะ-มะ-นะ-โว-หาน
บาลีอ่านว่า สะ-มะ-นะ-โว-หา-ระ
ประกอบด้วย สมณ + โวหาร
“สมณ” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบ” “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ)
“โวหาร” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า -
“ชั้นเชิงหรือสํานวนแต่งหนังสือหรือพูด เช่น มีโวหารดี, ถ้อยคําที่เล่นเป็นสําบัดสํานวน เช่น อย่ามาตีโวหาร เขาชอบเล่นโวหาร. (ป.)."
ในภาษาไทย “โวหาร” เล็งถึง “คำพูด” แต่ในภาษาบาลี “โวหาร” มีความหมายอย่างอื่นอีก คือ -
(1) การค้า, ธุรกิจ (trade, business)
(2) ชื่อหรือการเรียกขานที่ใช้กันในเวลานั้น, การใช้ภาษาร่วมกัน, ตรรกวิทยา, วิธีปกติธรรมดาของการนิยาม, วิธีใช้, ตำแหน่ง, ฉายา (current appellation, common use, popular logic, common way of defining, usage, designation, term, cognomen)
(3) คดีความ, กฎหมาย, พันธะทางกฎหมาย; วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับคดีความ, วิชาธรรมศาสตร์ (lawsuit, law, lawful obligation; juridical practice, jurisprudence)
สมณ + โวหาร = สมณโวหาร แปลตามศัพท์ว่า “คำพูดของสมณะ”
ในคัมภีร์สารัตถทีปนี ฎีกาวินัย ภาค 3 มีศัพท์ว่า “สมณโวหาร” ใช้อธิบายคำว่า “สมณกปฺป”
“กปฺป” (กับ-ปะ) มีความหมายว่า เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)
สรุปว่าในที่นี้ กปฺป = โวหาร ดังนั้น “สมณโวหาร” จึงมีความหมายว่า ถ้อยคำที่เหมาะสมแก่สมณะ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“สมณโวหาร : (คำนาม) ถ้อยคําที่ควรแก่สมณะ เช่น อาตมา ฉันจังหัน กัปปิยภัณฑ์. (ป.).”
ขยายความ :
คนธรรมดาเมื่อบวชเป็นภิกษุสามเณรแล้ว มีธรรมเนียมให้ใช้คำพูดบางอย่างแตกต่างจากคนทั่วไป ดังหลักที่ให้บรรพชิตพิจารณาเนืองๆ ข้อหนึ่งว่า “บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ”
“สมณโวหาร” ที่ควรทราบเป็นเบื้องต้นก็เช่น :
“ผม” สรรพนามแทนตัวเองเมื่อพูดกับฆราวาส ใช้ว่า “อาตมา” หรือ “อาตมภาพ”
“ครับ” (คำรับ) เมื่อพูดกับฆราวาส ใช้ว่า “เจริญพร”
“รับประทาน” (กิน) ใช้ว่า “ฉัน”
“รับประทานอาหาร” ใช้ว่า “ฉันจังหัน”
“เชิญ” (ให้ไปในงานหรือเพื่อให้ทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง) ใช้ว่า “นิมนต์”
“ไปในงานที่ได้รับเชิญ” ใช้ว่า “ไปกิจนิมนต์”
“นอน” ใช้ว่า “จำวัด”
“ตาย” (พูดถึงพระภิกษุสามเณร) ใช้ว่า “มรณภาพ”
ฯลฯ
: คำงามไม่จำเป็นต้องออกมาจากรูปงาม
: แต่ควรออกมาจากใจงาม
6  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / บาลีวันละคำ (ในเจ็ดตำนาน) เมื่อ: พฤศจิกายน 25, 2014, 07:01:36 pm
รตนสูตร
(ลำดับ 2 ในเจ็ดตำนาน)
“รตนสูตร” อ่านว่า ระ-ตะ-นะ-สูด
คำนี้อานจเขียนเป็น “รัตนสูตร” ก็ได้ อ่านว่า รัด-ตะ-นะ-สูด
“รตนสูตร” บาลีเป็น “รตนสุตฺต” ประกอบด้วย รตน + สุตฺต
(ความหมายของ “สุตฺต” ดูที่ “มงคลสูตร”)
“รตน” (ระ-ตะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ขยายความยินดี” (คือเพิ่มความยินดีให้มากขึ้น) (2) “สิ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้คน” (3) “สิ่งที่นำไปสู่ความยินดี” (4) “สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิดขึ้น”
“รตน” ความหมายที่เข้าใจกันคือ แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง
ในภาษาไทยเขียนเป็น รัตน-, รัตน์, รัตนะ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า -
(1) แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง เช่น อิตถีรัตนะ คือ นางแก้ว หัตถิรัตนะ คือ ช้างแก้ว.
(2) คน สัตว์ หรือสิ่งของที่ถือว่าวิเศษและมีค่ามาก เช่น รัตนะ ๗ ของพระเจ้าจักรพรรดิ ได้แก่ ๑. จักรรัตนะ-จักรแก้ว ๒. หัตถิรัตนะ-ช้างแก้ว ๓. อัสสรัตนะ-ม้าแก้ว ๔. มณิรัตนะ-มณีแก้ว ๕. อิตถีรัตนะ-นางแก้ว ๖. คหปติรัตนะ-ขุนคลังแก้ว ๗. ปริณายกรัตนะ-ขุนพลแก้ว.
(3) ของประเสริฐสุด, ของยอดเยี่ยม, เช่น รัตนะ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วอันประเสริฐสุดของพุทธศาสนิกชน.
(4) ใช้ประกอบคําอื่นหมายถึงยอดเยี่ยมในพวกนั้น ๆ เช่น บุรุษรัตน์ นารีรัตน์ รัตนกวี.
ตามแนวคิดของชาวพุทธ คำว่า “รตน” ใช้เป็นคำเปรียบสำหรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมเรียกว่า “รัตนตรัย” หรือ “ไตรรัตน์” หมายถึง แก้วอันมีค่าสามดวง
ในแง่นี้นักอักษรศาสตร์เอาคำว่า “รตน” มาแยกเป็นอักษร 3 ตัว คือ ร-ต-น และให้ความหมายดังนี้ -
(1) “ร” มาจาก รมุ ธาตุ (รากศัพท์) = ยินดี (รมิตพฺพํ รมนฺติ เอตฺถาติ รํ = สิ่งที่ผู้คนชื่นชอบ)
: ร = สิ่งที่น่าพอใจ น่ายินดี นำมาซึ่งความรื่นรมย์แห่งใจ
(2) “ต” มาจาก ตรฺ ธาตุ = ข้าม (อตฺตานํ ภชนฺเต อุปเสวนฺเต ทุคฺคติโต สํสารมหณฺณวโต วา ตาเรตีติ ตํ = สิ่งที่ทำให้ผู้ซ่องเสพตนข้ามพ้นจากทุคติหรือห้วงมหรรณพคือสังสารวัฏได้)
: ต = สิ่งที่ช่วยให้ข้ามพ้นจากปัญหา
(3) “น” มาจาก นี ธาตุ = นำไป (อตฺตานํ อนุสฺสรนฺเต สุคตินิพฺพานานิ เนตีติ นํ = สิ่งที่นำผู้ระลึกถึงตนบรรลุถึงสวรรค์นิพพานได้)
: น = สิ่งที่นำส่งให้ถึงสวรรค์นิพพาน
ร + ต + น = รตน = สิ่งที่ผู้คนชื่นชมเพราะทำให้ผู้ปฏิบัติตามข้ามพ้นวัฏสังสารบรรลุถึงพระนิพพานได้จริง
บรรยายความ:
บทรตนสูตรเป็นบทที่ว่าด้วยคุณค่าและอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าประทานแก่ชาวเมืองเวสาลีเมื่อคราวประสบวิกฤตการณ์อันเลวร้าย
อรรถกถาเล่าว่า คราวหนึ่ง ที่เมืองเวสาลี ได้เกิดทุพภิกขภัยใหญ่ ผู้คนล้มตาย ซากศพเกลื่อนเมือง พวกอมนุษย์ก็เข้ามา แถมอหิวาตกโรคซ้ำอีก ในที่สุด กษัตริย์ลิจฉวีตกลงไปอาราธนาพระพุทธเจ้า ซึ่งเวลานั้นประทับที่เมืองราชคฤห์ (ยังอยู่ในรัชกาลของพระเจ้าพิมพิสาร) ขอให้เสด็จมา พระพุทธองค์ประทับเรือเสด็จมา เมื่อถึงเขตแดน พอย่างพระบาทลงทรงเหยียบฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็ตกลงมาจนน้ำท่วม พัดพาซากศพลอยลงแม่น้ำคงคาไปหมด และเมื่อเสด็จถึงเมืองเวสาลี ท้าวสักกะและประดาเทพก็มาชุมนุมรับเสด็จ เป็นเหตุให้พวกอมนุษย์หวาดกลัว พากันหนีไป
ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสรตนสูตรให้พระอานนท์เรียนและเดินทำปริตรไปในระหว่างกำแพงเมืองทั้ง 3 ชั้น พระอานนท์เรียนรตนสูตรนั้นแล้วสวดเพื่อเป็นปริตร คือเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน พร้อมทั้งถือบาตรของพระพุทธเจ้าใส่น้ำเดินพรมไปทั่วทั้งเมือง
เป็นอันว่า ทั้งภัยแล้ง ภัยอมนุษย์ และภัยจากโรค ก็สงบสิ้นไป
พระพุทธเจ้าประทับที่เมืองเวสาลีครึ่งเดือนจึงเสด็จกลับ มีการชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อส่งเสด็จ เรียกว่า “คงคาโรหณสมาคม” แปลว่า การชุมนุมในคราวเสด็จลงแม่น้ำคงคาเพื่อเสด็จกลับสู่เมืองราชคฤห์
พระสูตรนี้แสดงคุณของพระรัตนตรัย จึงเรียกว่า “รตนสูตร” (ในมิลินทปัญหาบางฉบับเรียกว่า “สุวัตถิสูตร” เพราะแต่ละคาถาลงท้ายว่า “สุวตฺถิ โหตุ” – ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี)
เรื่องที่อรรถกถาเล่านี้ น่าจะเป็นที่มาของประเพณีการเอาน้ำใส่บาตรทำน้ำมนต์ แล้วพรมน้ำมนต์เพื่อความสุขสวัสดี
ในการเจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคลแต่เดิมนั้นจะสวดรตนสูตรเต็มสูตร ภายหลังเห็นว่ายาวเกินไป จึงลดลงสวดแต่เพียงบทสำคัญๆ เท่านั้น รตนสูตรนี้นิยมเรียกกันว่า “สูตรน้ำมนต์” เพราะเมื่อจะทำน้ำพุทธมนต์จะขาดบทนี้ไม่ได้ บางตำรากล่าวว่านิยมให้พระเถระผู้เป็นประธานหยอดหยดเทียนน้ำมนต์เมื่อเริ่มสวดพระสูตรนี้ และเมื่อจะดับเทียนน้ำมนต์ก็ให้ดับในท้ายสูตรนี้ด้วย (คือตรงบาทพระคาถาว่า นิพพันติ ธีรา ยะถายัมปะทีโป – นักปราชญ์ย่อมดับสนิท เหมือนประทีปดวงนี้อันดับไปฉะนั้น) ดังนั้น ในการเจริญพระพุทธมนต์ทุกครั้งจึงขาดบทนี้ไม่ได้ เพราะเป็นบทที่กล่าวถึงคุณพระรัตนตรัย และมีประวัติความเป็นมาที่แสดงให้เห็นว่า รตนสูตรนี้เป็นที่พึ่งแก่ประชาชนเมื่อมีสถานการณ์ที่เลวร้ายทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม
(ประมวลความจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต หัวข้อ “ปริตร” และ อธิบายบทสวดมนต์ วัดสุทัศนเทพวราราม หน้า 79-82 พระมหาสุทธิพงษ์ อภิวํโส เรียบเรียง)
ขออัญเชิญพระคาถาบางบทในรตนสูตรมาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อเจริญศรัทธา:
ยังกิญจิ วิตตัง อิธะ วา หุรัง วา
สะเคสุ วา ยัง ระตะนัง ปะณีตัง
นะ โน สะมัง อัตถิ ตะถาคะเตนะ
อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.
ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้ หรือในโลกอื่น
หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์
ทรัพย์และรัตนะนั้นที่จะเสมอด้วยพระตถาคตไม่มีเลย
พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันล้ำเลิศ
ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
ขะยัง วิราคัง อะมะตัง ปะณีตัง
ยะทัชฌะคา สักยะมุนี สะมาหิโต
นะ เตนะ ธัมเมนะ สะมัตถิ กิญจิ
อิทัมปิ ธัมเม ระตะนัง ปะณีตัง
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.
พระศากยมุนีมีพระหฤทัยดำรงมั่น ได้บรรลุธรรมอันใด
เป็นที่สิ้นกิเลส เป็นที่สำรอกกิเลส เป็นอมฤตธรรมอันล้ำเลิศ
สิ่งไรๆ ที่จะเสมอด้วยพระธรรมนั้นย่อมไม่มี
ธรรมรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันล้ำเลิศ
ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
เย ปุคคะลา อัฏฐะ สะตัง ปะสัฏฐา
จัตตาริ เอตานิ ยุคานิ โหนติ
เต ทักขิเณยยา สุคะตัสสะ สาวะกา
เอเตสุ ทินนานิ มะหัปผะลานิ
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.
บุคคลแปดจำพวก สี่คู่ อันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว
บุคคลเหล่านั้นเป็นสาวกของพระตถาคต ควรแก่ทักษิณาทาน
ทานที่บุคคลถวายแล้วในท่านเหล่านั้นย่อมมีผลมาก
สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันล้ำเลิศ
ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
รตน : แก้วมีค่า
: ถ้าไม่รู้คุณค่า แม้จะมีล้นฟ้าก็ป่วยการ
: ถ้ารู้คุณค่า เพียงสามดวงก็นำพาไปถึงพระนิพพาน
7  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / บาลีวันละคำ อนุโลม-ปฏิโลม เมื่อ: พฤศจิกายน 24, 2014, 10:39:31 pm
อนุโลม-ปฏิโลม
อ่านว่า อะ-นุ-โลม / ปะ-ติ-โลม
บาลีอ่านว่า อะ-นุ-โล-มะ / ปะ-ติ-โล-มะ
ประกอบด้วย อนุ + โลม - ปฏิ + โลม
“อนุ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า น้อย, ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ, บ่อยๆ
“โลม” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาตัดเมื่อยาวขึ้น” “สิ่งที่ควรตัดทิ้ง” หมายถึง ขนที่ขึ้นตามร่างกาย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โลม” แบบให้คำจำกัดความว่า the hair of the body และเพื่อให้เห็นว่าต่างจาก “ผม” จึงขยายความไว้ว่า whereas kesa is the hair of the head only (ส่วน “เกส” คือ ขนของศีรษะเท่านั้น)
อนุ + โลม = อนุโลม แปลตามศัพท์ว่า “ตามเส้นขน” (with the hair) และใช้เป็นสำนวน (ไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร) ว่า ตามลำดับปกติ, เหมาะสม, เหมาะเจาะ, ปรับเข้ากันได้, ตรงไปตรงมา (in natural order, suitable, fit, adapted to, adaptable, straight forward)
ในภาษาไทย พจน.54 บอกความหมายของ “อนุโลม” ไว้ว่า -
(1) ใช้แทนกันได้ตามความเหมาะสม
(2) คล้อยตาม
(3) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) นำมาใช้โดยอาศัยหลักการอย่างเดียวกัน แต่ให้แก้ไขในรายละเอียดได้ตามควรแก่กรณี
(4) (คำวิเศษณ์) ตามลําดับ เช่น ท่องแบบอนุโลม, คู่กับ ปฏิโลม คือ ย้อนลําดับ
“ปฏิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ
“ปฏิโลม” (< ปฏิ+โลม) แปลตามศัพท์ว่า “ย้อนเส้นขน” (against the hair) หมายถึง ในทางกลับกัน, ตรงกันข้าม, ขัดกัน, ถอยหลัง (in reverse order, opposite, contrary, backward)
อนุโลม กับ ปฏิโลม เมื่อพูดคู่กันเป็น “อนุโลมปฏิโลม” มีความหมายว่า ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายและตั้งแต่ปลายจนถึงต้น, เดินหน้าถอยหลัง, ทบทวนกลับไปกลับมา (in regular order & reversed, forward & backward)
ตัวอย่างที่ชัดเจนในการใช้คำว่า “อนุโลมปฏิโลม” คู่กันก็คือ บทเจริญตจปัญจกกรรมฐาน -
: เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ - อย่างนี้เรียก “อนุโลม” (ว่าตามลำดับ)
: ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา - อย่างนี้เรียก “ปฏิโลม” (ว่าย้อนลำดับ)
ในภาษาไทยมีคำพูดว่า “โอ้โลมปฏิโลม”  พูดเอาอกเอาใจ, พูดเกลี้ยกล่อม) ก็น่าจะกลายมาจาก “อนุโลมปฏิโลม” คำนี้เอง
: ทุจริต คิดทบทวนก่อนจะทำ
: วิบากกรรมไม่อนุโลมให้ใคร
8  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / รับสั่งออกมาทันทีนั้นว่า “ไม่ต้องพูดอะไรกันมาก อาจารย์เดียวกัน” เมื่อ: พฤศจิกายน 24, 2014, 10:18:21 pm


พระมหากรุณาอันมีมาแต่บุญ
-----------------------------
เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๗ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จัดงานเปิดร้านหนังสือแว่นแก้ว สาขาสำนักงานใหญ่ ณ ที่ทำการบริษัท ถนนสุขุมวิท ซอย ๓๑ ทางบริษัทได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในงาน
บริษัทนานมีบุ๊คส์ได้เชิญนักเขียนที่บริษัทนำผลงานไปพิมพ์เผยแพร่ให้ไปร่วมเฝ้ารับเสด็จในงานนี้ด้วย
ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับเชิญในฐานะ “นักเขียน” อันเนื่องมาจากนานมีบุ๊คส์นำเอา “บาลีวันละคำ” ไปพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้
-------------
เมื่อเสร็จพิธีการรับเสด็จที่ห้องประชุมใหญ่แล้ว เขาก็เชิญให้บรรดานักเขียนทั้งหลายไปรอเฝ้ารับเสด็จตรงชั้นหนังสือที่มีหนังสือของตัวเองจัดวางไว้ให้ทอดพระเนตร และให้นักเขียนได้ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือของตัวเองด้วย
เฉพาะตัวผม เจ้าของบริษัทแนะว่าตอนกราบทูลรายงานตัวให้เอ่ยถึงฐานะเป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือด้วย-ก็จะดี
ผมก็งงๆ อยู่ว่า ผมมาเฝ้ารับเสด็จในฐานะผู้เขียนหนังสือ “บาลีวันละคำ” จะกราบทูลให้ไปเกี่ยวกับฐานะผู้แต่งกาพย์เห่เรือได้อย่างไร
เมื่อทรงพระดำเนินทอดพระเนตรร้านหนังสือแว่นแก้วมาถึงที่ผมยืนเฝ้าอยู่ ผมก็กราบทูลเบิกตัวเองว่า
ข้าพระพุทธเจ้า นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย อดีตอนุศาสนาจารย์ทหารเรือ ผู้แต่งกาพย์เห่เรือในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคตั้งแต่ปีกาญจนาภิเษกเป็นต้นมา เป็นผู้เขียนหนังสือ บาลีวันละคำ พระพุทธเจ้าข้า
แล้วผมก็คุกเข่าทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือ
ทรงรับหนังสือไปเปิดทอดพระเนตรพร้อมกับรับสั่งว่า “ดี”
ระหว่างที่ทอดพระเตรหนังสือบาลีวันละคำอยู่นั้นผมได้กราบทูลต่อไปว่า
ข้าพระพุทธเจ้าเป็นศิษย์ท่านอาจารย์นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง พระพุทธเจ้าข้า
ผมสังเกตว่าพระพักตร์ที่ยิ้มแย้มตลอดเวลานั้นยิ่งทรงเบิกบานพระทัยเป็นอันมากเมื่อทรงได้ยินชื่อท่านอาจารย์แย้ม
รับสั่งออกมาทันทีนั้นว่า
“ไม่ต้องพูดอะไรกันมาก อาจารย์เดียวกัน”
แล้วก็ทรงมีพระราชานุญาตให้ช่างภาพฉายพระรูปพระองค์ท่านโดยมีผมเฝ้าอยู่ข้างๆ
เป็นพระเมตตาและพระมหากรุณาล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้
------------------
ผมเรียนบาลีเมื่ออายุ ๑๘
ครูคนแรกคือ พระมหาถวิล (ถวิล เรืองจรูญ) เปรียญธรรม ๓ ประโยค สอนวิชาไวยากรณ์ เปรียบเสมือนผู้ควักเอาดินมาปั้นขึ้นรูป
และสุดท้ายผมมาได้ท่านอาจารย์นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง เปรียญธรรม ๙ ประโยค เป็นครูสอนวิชาแต่งฉันท์ และยังได้แนะนำสั่งสอนเพิ่มเติมอีกสารพัด รวมทั้งการวางตัวและการครองชีวิต เปรียบเสมือนผู้ขัดแต่งดินก้อนนั้นจนกลายมาเป็นผมอยู่ทุกวันนี้
อาศัยวิชาที่รับถ่ายทอดมาจากครูบาอาจารย์พอมีความรู้เขียน “บาลีวันละคำ” จนได้ทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตร ได้รับพระราชทานพระราชกระแสว่า “ดี”
คำเดียว แต่ครอบคลุมไว้ได้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง
บุญของครูบาอาจารย์ชักนำพระบารมีปกแผ่มาถึงผมโดยแท้
ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เทอญ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๗
9  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / ปิดทองหลังพระ (บรรยายด้วยภาพ) ภาพที่มีทุกบ้าน เมื่อ: พฤศจิกายน 24, 2014, 10:08:33 pm
10  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / เรื่องเหล่าจากเฟส 1,000 ศพ เมื่อ: พฤศจิกายน 24, 2014, 10:04:26 pm




1,000 ศพ

ตั้งแต่พ.ศ.2543 ถึงปัจจุบัน บริจาคโลงใส่ศพผู้ไร้ญาติ คนจน คนอนาถา และคนตายตามที่มีญาติแจ้งขอ ให้สถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาลตำรวจ ในอดีตบริจาคเป็นประจำทุกเดือนๆละประมาณ 30-50 ใบ ราคาใบละ 1,200 - 1,500 บาท ครั้งนึงเคยได้ร่วมนำศพอนาถาลงโลงทันทีที่บริจาค รวมจำนวนแล้วประมาณ 1,000 ใบได้สงเคราะห์ใส่ร่างอันไร้ชีวิต 1,000 ราย

สำหรับในภาพเป็นการบริจาคโลงศพ 100 ใบ ให้อาสาสมัครป้ิงกันภัยฝ่ายพลเรือนอำเภอบ้านนา นครนายก ในโอกาสทำบุญอนุสรณ์อายุครบ 37 ปี

ที่มา เฟสบุุ๊ค เสี่ยอู๊ด คุณสิทธิกร บุญฉิม



11  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / พระใหม่วันนี้ !!! เชิญร่วมอนุโมทนาด้วยเทอญ เมื่อ: พฤศจิกายน 24, 2014, 09:54:57 pm




การบวชดีนักแล บวชเพื่อตนเองรู้ดีรู้ชัว บวชเพื่อพ่อแม่มีความสุข บวชต่ออายุศาสนาให้ยืนยาวสืบไป วันนี้ท่ีวัดป่าดาราภิรมย์ มีอุปสมบท 6 รูป เชิญร่วมอนุโมทนาด้วยเทอญ

จากเฟสบุ๊ค
วัดป่าดาราภิรมย์ พุทธพจนวราภรณ์


12  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / บาลีวันละคำ ปัญหาในพาหุง เมื่อ: พฤศจิกายน 23, 2014, 10:18:22 pm
ปัญหาในพาหุง
----------------
“พาหุง” เป็นบทสวดมนต์ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยรู้จักแพร่หลายมาก มีผู้ท่องจำกันได้ทั่วไป
แต่ก็เป็นบทที่มีปัญหามากด้วย เช่น -
พาหุงเป็นงานของนักปราชญ์ชาติไหน อินเดีย ลังกา พม่า ไทย ?
แต่งขึ้นในสมัยไหน ?
ใครเป็นผู้แต่ง ?
ปัญหาเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบที่เด็ดขาด
และปัญหาข้อใหญ่ที่จะขออนุญาตตั้งเป็นกระทู้ถามไว้ในที่นี้
โปรดอ่านพาหุงบทแรกแล้วจึงค่อยตอบ
------------
พาหุํ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ
คฺรีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ
ทานาทิธมฺมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ.
(พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ค๎รีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ.)
พระจอมมุนีได้ชนะพญามารผู้เนรมิตแขนมากตั้งพันถืออาวุธครบมือ
ขี่คชสารคีรีเมขละพร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องก้องกึก
ด้วยธรรมวิธีมีทานบารมีเป็นต้น
ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน.
-----------
คำถามคือ -
คำว่า “ชยมงฺคลานิ” เป็นประธานในประโยค เป็นพหุวจนะ (พหูพจน์)
คำว่า “ภวตุ” เป็นกิริยา (กริยา) ในประโยค เป็นเอกวจนะ (เอกพจน์)
จงอธิบายว่า ทำไมประธานกับกิริยาจึงมีวจนะไม่ตรงกัน
มีสูตร หรือกฎเกณฑ์อะไรที่อนุญาตให้เป็นเช่นนี้ได้
เป็นไปได้หรือที่ผู้สามารถรจนาคาถาวสันตดิลกฉันท์สุดคลาสสิกขนาดนี้จะแต่งผิดไวยากรณ์
แล้วก็ไม่ใช่บทเดียว แต่ผิดซ้ำๆ กันถึง ๘ บท
-------------
สำหรับญาติมิตรที่ไม่มีพื้นทางบาลีอาจไม่รู้สึกสนุกกับปัญหานี้
เพราะฉะนั้นขออนุญาตเทียบกับภาษาอังกฤษซึ่งเชื่อว่าเรามักคุ้นกันอยู่พอสมควร
ตัวอย่างง่ายๆ -
ในภาษาอังกฤษ ถ้าประธานเป็น it (มัน-สรรพนาม) เอกพจน์ กริยาต้องเป็น is
ถ้าประธานเป็น they พหูพจน์ กริยาต้องเป็น are
ถ้าเกิดประธานเป็น it แต่กริยาเป็น are
หรือประธานเป็น they แต่กริยาเป็น is
ก็คือผิดไวยากรณ์
ปัญหาในพาหุง “ชยมงฺคลานิ” ก็เท่ากับ they -พหูพจน์
“ภวตุ” ก็เท่ากับ is -เอกพจน์
ผิดไวยากรณ์ครับ
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
พอจะนึกสนุกแล้วใช่ไหมครับ
--------------
ปัญหาในพาหุงนี้ท่านเห็นกันมานานแล้ว และคิดหาคำตอบกันมาหลายสมัยแล้วด้วย แต่ยังไม่มีใครตอบได้
ทราบว่าคณะสงฆ์ธรรมยุตแก้ด้วยการแปลงคำว่า “ชยมงฺคลานิ” เป็น “ชยมงฺคลคฺคํ” (ชะยะมังคะลัคคัง-ชัยมงคลอันเลิศ) ซึ่งเป็นรูปเอกพจน์ จะได้ตรงกับกริยา “ภวตุ” ที่เป็นเอกพจน์
แต่ก็ยังไม่ได้ไขปัญหาอยู่นั่นเองว่า บทที่ท่านแต่งไว้ทำไมประธานกับกริยาจึงมีพจน์ไม่ตรงกัน
ผมสังเกตเห็นว่านักบาลีสมัยนี้มีความรู้ได้ระดับ
มีการอ้างสูตรจากคัมภีร์นั่นนี่โน่นแพรวพราวอยู่เสมอ
ช่วยหาสูตรมาอธิบายปัญหาพาหุงนี่หน่อยเถอะขอรับ
ขอเรียนว่านี่ไม่ใช่ลองภูมิ แต่ไม่รู้จริงๆ
ท่านผู้ใดรู้ หรือรู้ว่ามีท่านผู้ใดอธิบายไขความเรื่องนี้ไว้ที่ไหน
ขอได้โปรดแบ่งปันเป็นวิทยาทานด้วย เทอญ
กราบขอบพระคุณล่วงหน้าขอรับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
13  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / นครคีรีวัน นครบาลี ชี้แจงบทบาลีที่พิรุธ (สุนฺทรสมุทฺทตฺเถรวตฺถุ ธป. อฏฺ. ๘/๑๕๖) เมื่อ: พฤศจิกายน 23, 2014, 09:07:57 pm
คีรีวัน มารัญชยะ
ชี้แจงบทบาลีที่พิรุธ
(สุนฺทรสมุทฺทตฺเถรวตฺถุ ธป. อฏฺ. ๘/๑๕๖)
_______________________________________
Alattakakatāpādā, pādukāruyha vesiyā;
Tuvampi daharo mama, ahampi daharā tava;
Ubhopi pabbajissāma, jiṇṇā daṇḍaparāyaṇā.
อลตฺตกกตาปาทา¹ ____ปาทุการุยฺห เวสิยา
ตุวมฺปิ² ทหโร มม______อหมฺปิ ทหรา ตว
อุโภปิ ปพฺพชิสฺสาม____ชิณฺณา ทณฺฑปรายณา.³
"หญิงแพศยาผู้มีเท้าย้อมแล้วด้วยน้ำครั่ง สวม
เขียงเท้า (กล่าวแล้วว่า) แม้ท่านก็เป็นชายหนุ่ม
สำหรับดิฉัน และแม้ดิฉันเป็นหญิงสาวสำหรับท่าน,
แม้เราทั้ง ๒ แก่แล้ว มีไม้เท้ากรานไปข้างหน้า
จึงจักบวช."
..........คำว่า อลตฺตกกตาปาทา ในที่นี้เป็นบทสมาส ธัมมปทัฏฐกถาฉบับ
มหามกุฏราชวิทยาลัยมีรูปที่พิรุธและแยกออกเป็นสองบทว่า อลฺลตฺตกกตา
ปาทา และแปลกันโดยพยัญชนะมาว่า "มีเท้าย้อมแล้วด้วยครั่งสด" ด้วยคงจะเห็นว่ามีคำว่า อลฺล (สด) อยู่จึงชวนให้แปลเช่นนั้น ที่จริงศัพท์นี้มาจาก อลตฺตก⁴ (Alattaka) ตรงกับรูปสันสกฤตว่า อลกฺตก (alaktaka) ที่แปลว่า ครั่ง, สีที่ได้จากตัวครั่ง (lac, a red animal dye : THE PALI TEXT SOCIETY ' S PALI-ENGLISH DICTIONARY pg. 79)
..........ในอรรถกถาฉบับฉัฏฐสังคายนา (theragā. 459, 462); อธิบายไว้ว่า
Alattakakatāpādāti pariṇatajayasumanapupphavaṇṇena
lākhārasena rañjitacaraṇayugaḷā. Samāsapadañhetaṃ, ‘‘alattakakatapādā’’ti vattabbe gāthāsukhatthaṃ dīghaṃ
katvā vuttaṃ.
..........อลตฺตกกตาปาทาติ ปริณตชยสุมนปุปฺผวณฺเณน ลาขารเสน รญฺชิต-
จรณยุคลา. สมาสปทญฺเหตํ, อลตฺตกกตปาทาติ วตฺตพฺเพ คาถาสุขตฺถํ ทีฆํ
กตฺวา วุตฺตํ.
..........บทว่า อลตฺตกกตปาทา ได้แก่ มีเท้าทั้งคู่ย้อมด้วยน้ำครั่งที่มีสีเหมือนดอกมะลิที่โรยแล้ว ก็คำนี้เป็นบทสมาส เมื่อควรกล่าวว่า อลตฺตกกตปาทา ดังนี้ กลับกล่าวว่า [อลตฺตกกตาปาทา] โดยทำทีฆะ เพื่อที่จะ [ให้ออกเสียง] ง่ายในคาถา
..........ดังนั้นบทบาลีดังกล่าวจึงควรมีรูปว่า อลตฺตกกตาปาทา และเป็นบทสมาสตามคำชี้แจงของอรรถกถา มิใช่ อลฺลตฺตกกตา ปาทา แต่อย่างใด
..........หมายเหตุ : คำว่า กต (ถูกกระทำ) อรรถกถาท่านแก้ว่า รญฺชิต (ถูกย้อม) ดังนั้นจึงแปลเอาความตามอรรถของ √รญฺช ธาตุได้
_________________
¹ ฉบับของไทยมีรูปว่า อลฺลตฺตกกตา ปาทา
² ฉบับของไทยมีรูปว่า ตุวญฺจาปิ
³ ฉบับของไทยมีรูปว่า ทณฺฑปรายนา
⁴ อรรถกถาไขคำนี้ไว้ด้วย ลาขา ศัพท์

วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ แยกว่า อลตฺตกกตา ปาทา / ปาทา ก็สามารถแปลว่า ผู้มีเท้า ได้เช่นกันนะครับ อย่างคำว่า มม ปุตฺโต สารีปุตฺโต สารีบุตร ผู้เป็นบุตรของเรา

คีรีวัน มารัญชยะ ศัพท์ที่แสดงชื่ออวัยวะควรควรใช้เป็นบทสมาสครับ
เช่น จตุปฺปาโท, สตปที etc. ถ้ามาโดดๆ ควรจะเป็น ปาที / ปาทินี
แต่จะเป็นที่นิยมใช้กันหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะถ้าใช้ ปาที
/ ปาทินี คงก็จะกินความหมายกว้างไป

       มม ในคำว่า มม ปุตฺโต ในที่นี้แสดงความเป็นเจ้าของบุตรอยู่ในฐานะเป็นวิเสสนะได้ ถ้าแปลแบบไม่ต้องเอาความไพเราะในภาษาไทยก็แปลได้ว่า "ผู้บุตรของเรา" คำว่า เป็น จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าอยู่ในฐานะเป็นวิกติกัตตาก็ว่าไปอีกอย่าง

       ที่ว่าพิรุธในที่นี้ก็คือ อลตฺตก ครับฉบับของเราเป็น
อลฺลตฺตก ส่วน กตา ปาทา เราต้องยึดตามที่อรรถกถาท่านแก้ไว้ว่ามาจากรูปเดิมคือ อลตฺตกกตปาทา และทำทีฆะเพื่อให้ออกเสียงสะดวก เพราะคำว่า...ตกกต...ดูเหมือนว่าจะขัดแข้งขัดขากันอยู่ นอกจากนี้แล้วการทำทีฆะในที่นี้ยังเป็นไปเพื่อฉันทานุรักษ์ (ฉนฺทานุรกฺขณตฺถํ) อีกด้วย

วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ล เกินมา ๑ ตัว ใช่ไหมครับของฉบับไทย

คีรีวัน มารัญชยะ ครับ เขาก็เลยแปลกันว่า ครั่งสด คำว่า สด คือ อลฺล แล้วคำว่า ครั่ง คือตัวไหน ปัญหาอยู่ตรงนี้ครับ

        คำว่า อลตฺตก อรรถกถาแก้ด้วยศัพท์ว่า ลาขารส จึงควรแปลว่า น้ำครั่ง ไม่เห็นมีคำว่า สด อยู่เลย
14  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / บาลีวันละคำ น้ำปานะ เมื่อ: พฤศจิกายน 14, 2014, 01:48:54 pm
นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย
บาลีวันละคำ‬ (909)  น้ำปานะ
คำว่า “น้ำปานะ” เมื่อใช้พูดในหมู่ชาวพุทธ หมายถึงเครื่องดื่มที่ถวายพระภิกษุสามเณรหลังเที่ยงวันไปแล้ว
ธรรมเนียมชาวพุทธนิยมอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณร 2 เวลา คือ ก่อนเที่ยงถวายภัตตาหาร หลังเที่ยงถวายน้ำปานะ
“น้ำปานะ” เป็นคำที่ตัดมาจากคำว่า “อัฏฐปานะ” (อัด-ถะ-ปา-นะ) ใช้ในภาษาไทยว่า “อัฐบาน” (อัด-ถะ-บาน) สะกดเป็น “อัฏฐบาน” ก็มี
“อัฐบาน” บาลีเขียน “อฏฺฐปาน” ประกอบด้วย อฏฺฐ + ปาน
“อฏฺฐ” (อัด-ถะ) แปลว่า แปด (จำนวน 8)
“ปาน” (ปา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “อันควรดื่ม” หมายถึง น้ำดื่ม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาน” ว่า drink, including water as well as any other liquid (เครื่องดื่ม รวมถึงน้ำและของเหลวชนิดอื่นๆ)
อฏฺฐ + ปาน = อฏฺฐปาน แปลว่า เครื่องดื่ม 8 ชนิด
เครื่องดื่ม 8 ชนิดที่ระบุไว้ในคัมภีร์ ได้แก่ -
(1) อมฺพปานํ น้ำมะม่วง
(2) ชมฺพุปานํ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า
(3) โจจปานํ น้ำกล้วยมีเม็ด
(4) โมจปานํ น้ำกล้วยไม่มีเม็ด
(5) มธุกปานํ น้ำมะซาง
(6) มุทฺทิกปานํ น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น
(7) สาลุกปานํ น้ำเหง้าอุบล
(8) ผารุสกปานํ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“อัฐบาน : น. นํ้าที่คั้นจากผลไม้ มี ๘ อย่าง คือ นํ้ามะม่วง นํ้าชมพู่หรือนํ้าหว้า นํ้ากล้วยมีเม็ด นํ้ากล้วยไม่มีเม็ด นํ้ามะซาง นํ้าลูกจันทน์หรือน้ำองุ่น นํ้าเหง้าอุบล นํ้ามะปรางหรือน้ำลิ้นจี่, เขียนว่า อัฏฐบาน ก็มี.”
อัฏฐปานะ คนเก่าเรียกว่า “น้ำอัฐบาน”
เดี๋ยวนี้นิยมเรียกว่า “น้ำปานะ”
ปัญหา :
ปัจจุบันมีเครื่องดื่มและเครื่องปรุงที่ชงเป็นเครื่องดื่มที่ผลิตขึ้นใหม่ๆ หลากหลายชนิดนอกเหนือไปจากเครื่องดื่ม 8 ชนิดที่ระบุไว้ในคัมภีร์ เวลานำไปถวายพระภิกษุสามเณรก็เรียกคลุมๆ ไปว่า “น้ำปานะ”
ปัญหาก็คือ เครื่องดื่ม/เครื่องปรุงชนิดไหนบ้างที่พระภิกษุสามเณรควรดื่มหรือไม่ควรดื่ม ขณะนี้ดูเหมือนจะขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสำนัก แต่ยังไม่มีมาตรฐานกลางของคณะสงฆ์
: สัตว์ มองลัดแค่-กิน
: คนทั่วไป มองไกลไปที่-วิธีหากิน
: บัณฑิต มองพินิจลงไปว่า-ควรกินหรือไม่ควรกิน
-----------------
(ใช้หนี้ให้ Metha Luongpee ผู้เป็นเจ้าหนี้มาตั้งแต่ 29 มิ.ย.57-และขออภัยในความไม่สะดวก)

Kunanan Pakdee ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำปานะ ๘ ชนิด คือ
น้ำปานะทำด้วยผลมะม่วง ๑
น้ำปานะทำด้วยผลหว้า ๑
น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด ๑
น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด ๑
น้ำปานะทำด้วยผลมะทราง ๑
น้ำปานะทำด้วยผลจันทน์หรือองุ่น ๑
น้ำปานะทำด้วยเง่าบัว ๑
น้ำปานะทำด้วยผลมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะทราง.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด.

(ภาษาไทย) มหา. วิ. ๕/๙๘/๘๖: คลิกดูพระสูตร

    ในพุทธานุญาตน้ำอัฏฐบาน สังเกตตรง... ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด....

นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายเรื่องน้ำปานะที่ควรรู้เพิ่มเติมไว้ดังนี้ -

พึงทราบคำอธิบายเพิ่มเติมว่า น้ำผลธัญชาติที่ต้องห้าม ได้แก่น้ำจากผลของ ธัญชาติ ๗ เช่น เมล็ดข้าว (น้ำซาวข้าว, น้ำข้าว) นอกจากนั้น ผลไม้ใหญ่ (มหาผล) ๙ ชนิด (จำพวกผลไม้ที่ทำกับข้าว) ได้แก่ ลูกตาล มะพร้าว ขนุน สาเก (“ลพุช” แปลกันว่า สาเก บ้าง ขนุนสำมะลอ บ้าง) น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไทย แตงโม ฟักทอง และพวกอปรัณณะ เช่น ถั่วเขียว ท่านจัดอนุโลมเข้ากับธัญผล เป็นของต้องห้ามด้วย; จะเห็นว่า มะซางเป็นพืชที่มีข้อจำกัดมากสักหน่อย น้ำดอกมะซางนั้นต้องห้ามเลยทีเดียว ส่วนน้ำผลมะซาง จะฉันล้วนๆ ไม่ได้ ต้องผสมน้ำ จึงจะควร ทั้งนี้เพราะกลายเป็นของเมาได้ง่าย วิธีทำปานะที่ท่านแนะไว้ คือ ถ้าผลยังดิบ ก็ผ่าฝานหั่นใส่ในน้ำ ให้สุกด้วยแดด ถ้าสุกแล้ว ก็ปอกหรือคว้าน เอาผ้าห่อ บิดให้ตึงอัดเนื้อผลไม้ให้คายน้ำออกจากผ้า เติมน้ำลงให้พอดี (จะไม่เติมน้ำก็ได้ เว้นแต่ผลมะซางซึ่งท่านระบุว่าต้องเจือน้ำจึงควร) แล้วผสมน้ำตาลและเกลือเป็นต้นลงไปพอให้ได้รสดี ข้อจำกัดที่พึงทราบคือ

๑. ปานะนี้ให้ใช้ของสด ห้ามมิให้ต้มด้วยไฟ ให้เป็นของเย็นหรือสุกด้วยแดด (ข้อนี้พระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่า ในบาลีไม่ได้ห้ามน้ำสุก แม้สุกก็ไม่น่ารังเกียจ)

๒. ต้องเป็นของที่อนุปสัมบันทำ จึงควรฉันในเวลาวิกาล (ถ้าภิกษุทำ ถือเป็นเหมือนยาวกาลิก เพราะรับประเคนมาทั้งผล)

๓. ของประกอบเช่นน้ำตาลและเกลือ ไม่ให้เอาของที่รับประเคนค้างคืนไว้มาใช้ (แสดงว่ามุ่งให้เป็นปานะที่อนุปสัมบันทำถวายด้วยของของเขาเอง)   

ในมหานิทเทส (ขุ.ม.๒๙/๗๔๒/๔๔๙) ท่านแสดงปานะ ๘ (อัฏฐบาน) ไว้ ๒ ชุดๆแรกตรงกับที่เป็นพุทธานุญาตในพระวินัย ส่วนชุดที่ ๒ อันต่างหาก ได้แก่ น้ำผลสะคร้อ น้ำผลเล็บเหยี่ยว น้ำผลพุทรา ปานะทำด้วยเปรียง ปานะน้ำมัน ปานะน้ำยาคู (ยาคุปานะ) ปานะน้ำนม (ปโยปานะ) ปานะน้ำคั้น (รสปานะ),

ในพระวินัย เคยมีเรื่องที่พราหมณ์ผู้หนึ่งจัดถวายปโยปานะ คือปานะน้ำนม แก่สงฆ์ (ในเรื่องไม่แจ้งว่าเป็นเวลาใด) และภิกษุทั้งหลายดื่มน้ำนมมีเสียงดัง “สุรุสุรุ” เป็นต้นบัญญัติแห่งเสขิยวัตรสิกขาบทที่ ๕๑ (วินย.๒/๘๕๑/๕๕๓)

Pramaha Nuntasit Satsitapong ในแบบเรียนของ ป.ธ.๕
หนังสือมังคลัตถทีปนี ภาค ๒ ข้อ [๙]
มีเนื้อความว่า "อรรถกถาตุวัฏฏกสูตรนั้น" ว่า น้ำที่ทำจากมะม่วงสุกหรือดิบ ชื่อว่า "อมฺพปานํ" (น้ำมะม่วง) ฯ ในบรรดามะม่วงที่สุกหรือดิบเหล่านั้น เมื่อภิกษุทำด้วยมะม่วงดิบ พึงทุบมะม่วงอ่อนๆ แล้วแช่ไว้ในน้ำ ตากแดดให้สุกด้วยแสงอาทิตย์ และกรองปรุงด้วยน้ำผึ้ง, น้ำตาลกรวด, และการบูรเป็นต้น ที่รับประเคนในวันนั้นๆ ฯ น้ำที่ทำจากผลหว้าทั้งหลาย ชื่อว่า "ชมฺพุปานํ" (น้ำหว้า) ฯ น้ำที่ทำจากผลกล้วยไม่มีเมล็ดทั้งหลาย ชื่อว่า "โจจปานํ" (น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด) ฯ น้ำที่ทำจากผลกล้วยทั้งหลายที่ไม่มีเมล็ด ชื่อว่า "โมจปานํ" (น้ำกล้วยไม่มีเม็ด) ฯ น้ำที่ทำจากรสแห่งมะซาง ชื่อว่า "มธุกปานํ" (น้ำรสมะซาง) ฯ ก็น้ำมะซางนั้น เจือด้วยน้ำจึงควร ล้วนๆไม่ควร ฯ น้ำที่ขยำผลจันทร์ในน้ำ ทำเหมือนน้ำมะม่วง ชื่อว่า "มุทฺทิกปานํ" (น้ำผลจันทร์) ฯ น้ำที่คั้นเง่าบัวแดงและบัวเขียวทั้งหลายเป็นต้นทำ ชื่อว่า "สาลุกปานํ" (น้ำเง่าบัว) ฯ น้ำที่ทำจากมะปราง เหมือนน้ำมะม่วง ชือว่า "ผารุสกปานํ" (น้ำมะปราง) ฯ น้ำที่ทำจากผลเล็บเหยี่ยว ชื่อว่า "โกสมฺพปานํ" (น้ำผลเล็บเหยี่ยว) ฯ น้ำที่ทำจากผลพุทราเล็กทั้งหลาย ชื่อว่า "โกลปานํ" (น้ำผลพุทราเล็ก) ฯ น้ำที่ทำจากผลพุทราใหญ่ทั้งหลาย ชื่อว่า "พทรปานํ" (น้ำผลพุทราใหญ่) ฯ ปานะทั้ง ๑๑ อย่างเหล่านี้ เย็นก็ดี สุกเพราะแสงอาทิตย์ก็ดี ย่อมควร ฯ น้ำเนยใส ชื่อว่า "ฆฏปานํ" (น้ำเนยใส) ฯ น้ำมีน้ำมันที่ทำจากงาเป็นต้น ชื่อว่า "เตลปานํ" (น้ำมัน) ฯ น้ำนม ชื่อว่า "ปโยปานํ" (น้ำนม) ฯ น้ำข้าวยาคู มีรสเปรี้ยวเป็นต้น ชื่อว่า "ยาคุปานํ" (น้ำข้าวยาคู) ฯ น้ำปรุงด้วยรสมีผักดองเป็นต้น ชื่อว่า "รสปานํ" (น้ำรส) ฯ
   
       ประโยคสุดท้าย
"รสปานนฺติ สากาทิรสปานนฺติ ตพฺพณฺณา ฯ"

Metha Luongpee น้ำรส คือ น้ำผักดอง ใช่ไหม ครับ ?

Pramaha Nuntasit Satsitapong เจริญพร คุณโยม Metha Luongpee
น้ำปรุงด้วยรส มี(รส)ผักดองเป็นต้น
อาตมาเดาว่าน่าจะเป็น น้ำปรุงรสต่างๆ อย่างที่โยมอาจารย์ทองย้อยว่าไว้ ว่า "ปานะน้ำคั้น" เพราะท่านใช้คำว่า "รสปานํ" (น้ำรส)
แต่ที่ว่า "น้ำรส มีผักดอง{เป็นต้น}" คือที่ เช่น น้ำ(ที่ใช้ผักดอง)คั้น "เป็นต้น"
แปลว่า อย่างอื่นก็น่าจะได้ เช่นน้ำผัก (แครอท)เป็นต้น
หรืออาจจะแปลว่า น้ำรส มีรสผักดองเป็นต้น ชื่อว่า "น้ำรส" ก็ได้
(เดาว่าอย่างนั้น) เจริญพร
แต่ภิกษุก็ทำเองได้ (แต่ต้องรับประเคนในวันนั้น) จากความใน ประโยคที่ ๒ ของ อรรถกถา ตุวัฏฏกสูตร ว่า
ตตฺถ อาเมหิ ภิกฺขุนา กโรนฺเตน อมฺพตรุณานิ ภินฺทิตฺวา ...... กาตพฺพํ ฯ

15  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / นครคีรีวัน นครบาลี โลกย ในคำว่า วัดโมลีโลกยาราม แปลว่าอะไร ? เมื่อ: พฤศจิกายน 13, 2014, 12:49:38 pm
หนุ่มสุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ เปิดประเด็นบ้าง
คำว่า โลกย ในคำว่า วัดโมลีโลกยาราม แปลว่าอะไร และสำเร็จรูปมาอย่างไร ?
 เกริ่นนำ พจนานุกรมฯ ใช้ว่า โลกย์, โลกยะ, โลกัย ว. ของโลก (ส. โลกฺย)
 บาลีอาจเป็น โลกิย หรือ โลกีย

นายพระยา ฤทธิภักดี เท่าที่เห็นมีใช้ เป็น โลกฺยํ ก็มี โลกยํ ก็มี

หนุ่มสุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ (ขอดูหลักฐานจากคัมภีร์บาลีด้วยครับ ขอบคุณ)

นายพระยา ฤทธิภักดี โลกฺยํ และ โลกยํ ปรากฏในเล่มที่ 28

Pongkhante Phramahaasomchai Punyawachiro เข้าใจว่า เป็น โลก+อิย (อีย) +อาราม นะครับ ลบ อิ จึงใส่ พินทุ ที่ ก น่ะครับ บาลีจึงเป็น โลกฺยาราม คงเทียบได้กับ อุทรียํ (โภชนํ) เขียนเป็นภาษาไทยจึงเป็น โมลีโลกยาราม ผิดถูกอย่างไร ช่วยกันสากัจฉานะครับ.. ขอท่านปัณฑิตาจารย์ ร่วมเสวนา..

มังกร นพเก้า รมณียสถาน โลกยาราม รมณียาราม

คีรีวัน มารัญชยะ ฝากข้อเสนอดังนี้
1) โลกี+อาราม (อี เป็น ย = โลกฺย) = โลกฺยาราม
2) โลกฺย มาจาก โลกิย (ลบ อิ เพื่อต้องการแผลงเป็นรูปว่า โลกย์) ลองค้นดูเอกสารเก่าดูอาจพบชื่อว่า วัดโมลีโลกย์ แม้พระนามของล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 ดูเหมือนเอกสารเก่าท่านใช้ จุฬาโลกย์ (ถ้าจำไม่ผิด)
๏ ตามข้อ 1 : โลกี อาจเป็นคำที่เติมเสียงสระในภาษาไทยเป็น โลกี โลกา (ความหมายเท่ากับ โลก) เมื่อนำคำว่า อาราม มาเป็นสร้อยพ่วงท้ายจึงทำการเชื่อมสนธิแบบบาลีเป็น โลกฺยาราม
๏ โมลีโลกย์ (โมลีโลก) หมายถึง ปิ่นโลกา / มิ่งโลกา
๏ โมลีโลกยาราม หมายถึง อารามที่พระผู้เป็นมิ่งโลกา (พระมหากษัตริย์) ทรงสถาปนาขึ้น

มังกร นพเก้า ขนฺตฺยาคโม โลกฺยาราโม

หนุ่มสุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดนี้ เคยมีชื่อว่า วัดโมลีโลกย์สุธารา มอาวาศวรมหาวิหารพระอารามหลวง เรียกสั้นๆว่า วัดโมลีโลกย์สุธาราม (และเป็นชื่อวัดอย่างปัจจุบัน) ดังนั้น คำเดิมจึงน่าจะเป็น โลกย (หรือโลกย์) นั่นแหละ คงไม่ได้แปลง ... เป็น ย เพราะสระอยู่หลัง (เนื่องจาก สุธาราม ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ส) ประเด็นปัญหาก็คือ คำนั้น ตรงกับคำบาลีหรือสันสกฤตว่าอย่างไร แปลและทำตัว/สำเร็จรูปทางไวยากรณ์อย่างไร ?

นายพระยา ฤทธิภักดี ในอรรถกถา อธิบาย คำว่า โลกฺยํ ว่า
โลกฺยนฺติ เอวํ ปาปปวาหนสมตฺถํ โลกสมฺมตํ.

มังกร นพเก้า ชฺยาสนา กตา พุทฺธา เชตฺวา มารํ สวาหนํ
ตรง ชฺยาสนา ยังงัยครับ
อิ เป็น เอ ๆ เป็น อฺย หรือยังงัยครับ ?

หนุ่มสุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ ชฺยาสนา แปลและแยกว่า ?

มังกร นพเก้า ชิ + อาสนา อิ เป็น เอ ๆ เป็น อฺย ใช่ป่ะ ?

คีรีวัน มารัญชยะ ชฺยา (สายธนู) เป็นภาษาสันสกฤต ในภาษาบาลีมีรูปว่า ชิยา โดยแทรกเสียง อิ ที่ต้นคำตามหลัก Svarabhakti (สระภักดี : The helping vowel or fraction vowel) เหมือน สํ. สฺมรติ ป. สุมรติ (รูปบาลีจริงๆ เป็น สรติ) etc.
    ถ้าเช่นนั้น คำว่า โลกฺย คงเป็นรูปหดของ โลกิย กระมัง เทียบ ปทุมํ-ปทฺมํ / วิทฺธํสิตํ-วิทฺธสฺตํ / กิริยา-กฺริยา etc. วิธีเช่นนี้บาลีเรียกว่า วัณณสังโกจนนัย (วิธีย่ออักษร)

มังกร นพเก้า พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม

หนุ่มสุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ ขนฺตฺยาคโม คงเป็นรูปธรรมดา จาก ขนฺติ + อาคโม แปลง อิ เป็น ยฺ เพราะสระอยู่หลัง, ส่วน โลกฺย เป็นรูปพิเศษ
     แต่ ชยาสนา ... ดูจากคำแปลแล้ว น่าจะแยกเป็น ชย (ชัยชนะ) + อาสน (อาสนะ, ที่นั่ง)
(ส่วน โลกฺย ในกระทู้นี้ ยังไม่ได้ข้อยุติ)

Pongkhante Phramahaasomchai Punyawachiro ได้อ่านแนวคิด/มุมมองของนักปราชญ์ทุกท่าน...แหม..ขอบอกตรง ๆว่า ชอบจริง ๆ ลุ้นไปตลอดเลย..กับความคิดอับแยบยล ช่างโยนิโส (เจาะลึก) จังเลย ..ปญฺญา สากจฺฉาย เวทิตพฺพา " อิอิ ขออนุญาตครับ

คีรีวัน มารัญชยะ บางฉบับสวดว่า ชิยาสนากตา ชิยา (สาย)+อสน (ลูกศร)+อกต (ไม่สร้าง/ไม่กระทำ) นอ. (พิเศษ) แย้ม ประพัฒน์ทองท่านแปลว่า โดยไม่ต้องใช้สายและศร (มาสู้รบ) ถ้าอยากรู้รายละเอียดหาอ่านได้จากหนังสือพินิจพระคาถาชินบัญชรของท่านอาจารย์ นอ.ทองย้อย แสงสินชัยครับ ท่านเจาะลึกรายละเอียดไว้พอสมควร

นายพระยา ฤทธิภักดี http://jinapanjara-gatha.blogspot.com/2011/08/blog-post.html

หนุ่มสุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ ในพินิจฯ กล่าวว่าเป็นปัฐยาวัตร บาลีว่า ชิยา... หรือ ชยา.. ก็ครบ 8 พยางค์พอดี , แต่ถ้าเป็น ชฺยา (รูปหดของ ชิยา) ดูเหมือนไม่ครบ 8 พยางค์? ฝากพินิจร่วมกันครับ

คีรีวัน มารัญชยะ ท่านคีรีวันพินิจเพิ่มจากของอาจารย์ทองย้อยโดยส่งไปให้ท่านร่วมพินิจด้วยดังนี้:-
๏ ทีนี้เราลองมาพินิจคาถาแรกที่ว่า ชิยาสนากตา, ชิยาสรากตา ที่แปลว่า ไม่ต้องใช้สายและศร (มาทำการสู้รบ) กันอีกทีหนึ่ง ตามรูปศัพท์และคำแปลดังกล่าว ถ้าว่าตามลักษณะภาษาบาลีจริงๆ แล้ว เป็นการแปลในลักษณะให้พอไปกันได้ ซึ่งผู้รู้บาลีพยายามโมเมทึกทักดึงดันที่จะแปลให้ได้ เพื่อเอาใจคนไม่รู้บาลีถือเป็นการโกหกตนเองและผู้ไม่รู้บาลีได้หรือไม่ ตามปกติศัพท์บาลีที่เป็นคำปฏิเสธเมื่อใช้เป็นคุณศัพท์แล้วจะไม่นิยมเข้าสมาสในลักษณะเช่นนี้ คือ จะใช้เป็นตัปปุริสสมาสไม่ได้ เช่น ภาษาไทยว่า “ไม่มาแล้วสู่บ้าน” จะแต่งเป็นบทสมาสว่า คามานาคโต ดังนี้ เป็นอันผิดลักษณะภาษาบาลี ที่ถูกจะต้องแยกประกอบวิภัตติว่า คามํ อนาคโต คำว่า ชิยาสนากตา และ ชิยาสรากตา ก็เช่นกัน ถ้าหากจะใช้เป็นคุณนามปฏิเสธควรประกอบรูปศัพท์เป็นพหุพพีหิสมาสว่า อกตชิยาสนา หรือ อกตชิยาสรา แปลว่า “ผู้มีสายและศรอันไม่กระทำแล้ว” ดังนี้ถึงจะถูก
๏ การเปลี่ยนเสียงสระ อ ตรง ชยาสนคตา มาเป็น ชิยา- ก็คงเข้าลักษณะการเปลี่ยน พกุล, วรุณ มาเป็น พิกุล, พิรุณ ในภาษาไทยนั่นเอง ส่วนการเพิ่มสระ อา มาข้างหลัง น เป็น ชิยาสนา ก็เพื่อจะให้สัมผัสกับคำว่า ยา ข้างหน้า ส่วน คตา เพี้ยนเป็น กตา นั้นได้ชี้แจงไว้ข้างต้นแล้ว
๏ อนึ่งคำว่า ชยาสนากตา ตามฉบับวัดระฆังฯ ที่พิมพ์เผยแพร่ทั่วไปนั้น ถ้าตัดบทว่า ชย+อาสน+อากตา หรือ ชย+อาสน+กตา (ทำทีฆะหน้า กต) โดยถือว่า อากตา - กตา มาจาก อาคตา - คตา ตามที่วิเคราะห์ไว้ในเชิงอรรถหน้า ๔๐ (อ้างถึง : ข้อความในหนังสือรวมบทสวดพระคาถาชินบัญชรนานาชาติ) ก็ยังไม่มีเหตุผลที่พอทำให้น่าเชื่อถือได้แต่อย่างใด
๏ ส่วนที่แปลและพินิจไว้ว่า “โดยที่มิได้เขยื้อนจากชัยอาสน์” และว่า “ไม่ทำการขยับจากอาสนะชัย” โดยถือว่ามาจากคำเดิมว่า ชยาสนาสนากตา (ลบ อาสน หรือ อสน ศัพท์ : ชยาสน+(อสน)+อกตา / ชย+(อาสน)+อสนากตา = ชยาสนากตา) นั้นก็เป็นการแปลในลักษณะให้พอไปกันได้เช่นกัน
      ชิยา ชฺยา นี้แยกประเด็นมาจาก โลกฺย นะครับ เพราะมีเพื่อนสมาชิกบางท่านหลงเข้าใจว่า ชฺยาสนา คงจะแยกสนธิว่า ชิ+อาสนา กระมัง ? โดยเอาไปเทียบกับคำว่า โลกฺย นั่นเอง ในเมื่อมีผู้ใคร่รู้เราก็ไปเสาะแสวงหามาให้เพื่อเป็นการประเทืองปัญญาจะได้เพิ่มพูนความรู้มากยิ่งขึ้นครับ

นายพระยา ฤทธิภักดี เอาฉบับลังกามาฝาก ครับ..



คีรีวัน มารัญชยะ (อาหุํ อานนฺทราหุลา) สงสัยเฉพาะ อาหุํ นะ ทำไมไม่เป็น อหุํ หรือ อาสุํ

อาหุ (กล่าวแล้ว) อาหุํ....?

นายพระยา ฤทธิภักดี http://issuu.com/volunteerspirit/docs/sangharajab014

คีรีวัน มารัญชยะ ถ้า อาหุํ มาจาก อาสุํ แสดงว่าสียง ส กลายไปเป็น ห เหมือนคำว่า อสุร ในภาษาบาลีสันสกฤต ออกเสียงเป็น อาหุร ในภาษาอเวสตะ (Ahura-mazdā)

Pongkhante Phramahaasomchai Punyawachiro ในความคิดของกระผมนั้นว่า อาหุง (ขออภัยครับ) พิมพ์ อุ กับ อํ ไม่ได้ เพราะไม่ได้ติดตั้งฟ๊อนต์บาลี) บทนั้น น่าจะ มาจาก หุ ธาตุ อ อาคม อุง อัชชัตตนีวิภัตติ น่ะครับ ที่มีค่าเท่ากับ อาสุง แปลเหมือนกันว่า "ได้มีแล้ว" อันหนึ่งเป็น อสฺ ธาตุ อันหนึ่งเป็น หุ ธาตุ..อ้อ ทีฆะต้นธาตุด้วย สำหรับ อาหุง..
    เพราะมีหลายบทนะครับ ผิดแผกจากที่ในประเทศไทย จัดพิมพ์ อย่างสีเส เป็น สิเร อย่างนี้เป็นต้น แปลกอย่างหนึ่ง คือ โมคฺคลฺลาโนสิ นี่แหละ.. ฯลฯ ??

คีรีวัน มารัญชยะ อาหม-อาสาม-อัสสัม (Skr. kāmarūpa) / หินฺทุ (Skr. hindu)-สินฺธุ (สินฺทุ ?) etc.
   สีเส (ศีรษะ) / สิเร (เศียร) เป็น synonym ไม่มีปัญหาครับ|
         อาสิ (อ+อสฺ+อี) / อาสุํ (อ+อสฺ+อุํ) จึงเป็นเสียงยาวได้
   โมคฺคลฺลาโนสิ (โมคฺคลฺลาโน+อสิ) ถึงแม้รูปศัพท์จะเป็นวัตตมานา แต่ความบ่งว่าเป็นปัญจมี เวลาแปลต้องแปลว่า ขอพระโมคคัลลานะจงมาอยู่ที่ข้างซ้าย (วามเก) ในสันสกฤตมีพบทั่วไปครับ อย่างเช่นใช้ ชยติ แทน ชยตุ etc.

Pongkhante Phramahaasomchai Punyawachiro อ๋อ..ชัดเจน ทั้งนั้นเลย ดูแล้ว ส่วนมาก อสฺ ธาตุ กับ หุ ธาตุ ...

คีรีวัน มารัญชยะ อีกนัยหนึ่ง โมคฺคลฺลาโนสิ (โมคฺคลฺลาโน+อาสิ) ตรงนี้อัชชตนีใช้แทนปัญจมีได้เลย (ในสัททนีติมีอธิบายไว้อยู่) มีอุทาหรณ์ในรูปสิทธิอ้างว่า โมคฺคลฺลาโนสิ พีชโก (ลองไปเปิดดู) ครับ  ถ้าเป็น √หู (√หุ สนล.) ควรมีรูปว่า อหุํ ครับ ดังพระบาลีในมหาสมยสูตรว่า ทิสา สพฺพา ผุฏา อหุํ. อาหุํ อานนฺทราหุลา ในที่นี้ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะต้องรักษาฉันท์ดังนั้นควรเป็น อหุํ มากกว่าครับ

วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ รูปว่า อาหุํ นี้ แปลง พฺรู ธาตุ ในการกล่าว เป็น อาห แล้วลง อุํ อัชชัตตนี ได้ไหมครับ

นายพระยา ฤทธิภักดี ผมว่าโดยบริบท น่าจะไปทาง ที่แปลว่า มี , เป็น มากกว่า ที่จะมาจากศัพท์ที่แปลว่า กล่าว...

Pongkhante Phramahaasomchai Punyawachiro สนับสนุนครับ หุ อสฺ ธาตุ มี,เป็น ชัดเจนกว่าครับ ฟันธง(ดีไหม) ??

วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ถ้าเป็น อาสุํ นะหายสงสัยเลย อิอิ หรือเป็นการเล่นคำของนักปราชญ์รุ่นเก่า โดยแปลง สฺ เป็น ห ฺ อย่างท่านอาจารย์คีรีวัน ว่าเนาะ

คีรีวัน มารัญชยะ [เพิ่มเติมจาก...อีกนัยหนึ่ง โมคฺคลฺลาโนสิ (โมคฺคลฺลาโน+อาสิ)..] ในสัททนีติ ธาตุมาลา (360-361) รุธาทิฉกฺก ตนาทิคณิก
กล่าวไว้ว่า แม้จะระบุถึงกิริยาที่เป็นอดีตกาลก็ตาม แต่เนื่องจากประกอบกับ มา ศัพท์ จึงเป็นอนุตตกาลลงในอรรถปัญจมีวิภัตติได้ ดัง อุ.ว่า
๏ มา เมตํ อกรา กมฺมํ มา เม อุทกมาหริ. (ขุ.ชา.28/396)
๏ ชราธมฺมํ มา ชีรีติ อลพฺภเนยฺยํ ฐานํ. (องฺ.ปญฺจก 22/59)
๏ ณ ที่นั้นท่านแสดงว่า อัชชตนีวิภัตติจะใช้ในอรรถปัญจมีวิภัตติได้ต้องประกอบกับ มา ศัพท์เท่านั้น แต่ในอรรถกถาท่านใช้ในอรรถสัตตมีวิภัตติบ้าง เพราะจัดเป็นอนุตตกาลเหมือนกันดังนี้
๏ มา ตํ โลโภ อธมฺโม จ จิรํ ทุกฺขาย รนฺธยุํ (ธป.อฏฺ.7/20)
(แก้อรรถ) จิรํ ทุกฺขาย รนฺธยุนฺติ: จิรํ กาลํ นิรยทุกฺขาทีนํ อตฺถาย เอเต ธมฺมา มา ฆาเตนฺตุ มา มทฺทนฺตูติ อตฺโถ. (ธป.อฏฺ.7/21)
๏ ภิกฺขุ วิสฺสาส¹ มาปาทิ อปฺปตฺโต อาสวกฺขยํ.
(แก้อรรถ)...อาสวกฺขยสงฺขาตํ อรหตฺตํ อปฺปตฺโต หุตฺวา ภิกฺขุ นาม วิสฺสาสํ
น อาปชฺเชยฺย. (ธป.อฏฺ.7/56)
(ท่านแก้ มา อาปาทิ เป็น น อาปชฺเชยฺย)
๏ แต่ในสันสกฤตแม้ในที่ไม่ได้ประกอบกับ มา ศัพท์หรือ น ศัพท์ ก็ควรทั้งนั้น เพราะในสันสกฤตบางครั้งประกอบกริยาปัจจุบันกาลแต่ท่านเติม สฺม นิบาตมาท้ายศัพท์ก็กลายเป็นอดีตกาลไปเหมือนกัน เช่น วิหรติ สฺม (विहरति स्म) สฺมรติ สฺม (स्मरति स्म) มีอรรถเท่ากับ วิหาสิ / สริ ในบาลี มีสาธกยืนยันจากอรรถกถาดังนี้
๏ สุมรติ นาควนสฺส กุญฺชโร. (ธป.อฏฺ.7/145)
"พญาช้างระลึกถึงแต่ป่าที่อยู่ของช้าง"
อรรถกถาแก้ สุมรติ นาควนสฺส เป็น นาควนํ สริ.²
๏ มีใครเคยคิดบ้าง คำว่า วิหรติ ที่ปรากฏในคำเริ่มต้นพระสูตรเช่น สาวตฺถิยํ วิหรติ etc. เป็นปัจจุบันกาลใช้ในอรรถอดีต แทนที่เราจะมาอธิบายกันว่ามันเป็นสำนวนพระสูตรโดยเฉพาะ ความหมายในที่นี้ก็คือ มันเป็นปัจจุบันกาลทุกยุคทุกสมัย (คือเป็นปัจจุบันกาล ณ ขณะนั้น) แต่ถ้าเราลองไปเปิดพระสูตรของทางฝ่ายมหายานดูบ้างเราก็จะพบรูปว่า วิหรติ สฺม. เท่านั้น เมื่อมาสู่ภาษาบาลี สฺม นิบาตไม่ได้มีความหมายอะไร ท่านจึงตัดออกไป แต่ในเวลาอธิบายท่านใช้วิภัตติหมวดอัชชตนีมาอธิบายแทน

_____________________________

¹ คำว่า วิสฺสาส ในที่นี้เป็นทุติยันตบทที่ลบ อํ วิภัตติ ดังนั้นในแก้อรรถจึงเป็น
วิสฺสาสํ พบในที่อื่นบ้าง อุ. มเมว กต มญฺญนฺตุ. กต = กตํ (ธป..3/166)
² คำว่า สุมรติ เป็นคำบาลีแปลงจากสันสกฤตว่า สฺมรติ โดยการแทรกเสียง อุ เข้ามาข้างหน้าตามหลัก svarabhakti (สฺวรภกฺติ) คำนี้มีรูปเป็นบาลีจริงๆ ว่า สรติ แต่เนื่องจากเป็นอิทธิพลจากสันสกฤตที่มีรูปเป็น Habitual Past Tense (Historical Tense or Historical present) ว่า สฺมรติ สฺม ดังนั้นในอรรถกถาจึงแก้เป็น สริ.
     คำว่า มา รนฺธยุํ ก็ดี มา อาปาทิ ก็ดี ถ้าแปลตามที่อรรถกถาแนะนำก็ต้องแปลว่า "จงอย่ารบกวน" "ไม่ควรถึง"   วงการสนามหลวงต้องเปิดใจกว้างและยอมรับมากกว่านี้

วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ไม่แน่ใจคับสนามหลวงจะรับไหม มีครั้งนึงท่านเจ้าคุนพระธรรมกิตติวงษ์ ท่านไปเยี่ยมเยียนวัดหาดใหญ่ ฯ ท่านบอกหลายที่ที่สนามหลวงรู้ว่าผิด แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ ท่านได้กล่าววลีเด็ดที่จำได้ไม่เคยลืม ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ ถ้าไม่ตามใจแป๊ะ เดวแปีะถีบตกเรือ เด้ดมาก ๆ เลยครับ

คีรีวัน มารัญชยะ เคยได้ยินมาเหมือนกัน ในเมื่อเรือแป๊ะรั่ว ทำไมเราไม่พยายามคว่ำเรือแป๊ะล่ะ ต้องช่วยกันผลักดัน ว่านะ เอ๊า ฮุย เล ฮุย !!!

วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ อาจารย์ขาโหดดดเลย นำทัพเลยครับ ผมเคยคิดเหมือน ขอให้ถึงฝั่ง ป.ธ.๙ ก่อน จะกลับมาจัดแป๊ะ

Pongkhante Phramahaasomchai Punyawachiro ๕๕๕๕ เคยได้ยินท่านพูดสมัยที่เรียนกับท่านที่วัดสามพระยาเหมือนกันวลีนี้.."ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ ถ้าไม่ตามใจแป๊ะ เดวแปีะถีบตกเรือ เด้ดมาก ๆ"

คีรีวัน มารัญชยะ เรียนบาลีอย่าทิ้งอรรถกถาฏีกาเพราะเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้รองลงมาจากพระบาลี พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายได้ชื่อว่า พุทธมตัญญู (ผู้รู้พระบรมพุทธาธิบาย) และเป็นมหาเวยยากรณะ (นักไวยากรณ์ผู้ยิ่งใหญ่) ลองไปเปิดนิคมธัมมปทัฏฐกถาดูก็จะรู้

วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ อรรถกถา ฎีกา คือคลังข้อมูลอย่างมหาศาลเลยครับ ได้ตื่นตาต่ืนใจกับรูปวิเคาระห์แปลก ๆ วิธีวิเคราะห์ศัพท์แปลก ๆ รวมทั้งแนวคิดของผู้แต่งคัมภีร์เลยครับ

คีรีวัน มารัญชยะ (เพิ่มเติมจาก วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่) √พฺรู อาเทสเป็น อาห มีเฉพาะในบาลีครับ ด้วยสูตรว่า พฺรูภูนมาหภูวา ปโรกฺขายํ. "ในปโรกขาวิภัตติให้อาเทส พฺรู เป็น อาห และ ภู เป็น ภูว" (กจฺ.๔๗๕ / รู.๔๖๕) ส่วนในสันสกฤตคำว่า อาห อาหุะ (อาหุ ในบาลี) เป็นรูปที่ทำ reduplicatoin (ทฺวิตฺว หรือ เทฺวภาว ในภาษาบาลี) สำเร็จมาจาก √อหฺ+อ และ √อหฺ+อุสฺ (อุะ) ทำทฺวิตฺวเป็น ออหฺ+อ / ออหฺ+อุสฺ (อุะ) อ+อ สนธิกันจึงเป็น อา ครับ
๏ ส่วนในอัชชตนีไม่มีรูปว่า อาหุํ ครับเพราะในสูตร พฺรูภูนมาหภูวา ปโรกฺขายํ. คำว่า ปโรกฺขายํ บังคับไว้ชัดเจน

วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ครับผม ผมก้เปิดในรูปสิทธิดูครับ ก็เลยตั้งสมมุติฐานครับ

คีรีวัน มารัญชยะ ต่อไปในทศวรรษอันใกล้นี้ค่านิยมที่ว่า เรียนบาลีเพื่อหวังให้สอบได้คงจะถูกขจัดให้ลดลงไปบ้าง เพราะทุกวันนี้มีฆราวาสญาติโยมที่สนใจหันมาเรียนบาลีเพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะบาลีใหญ่) บางท่านไม่สนใจที่จะเข้าสอบ แต่เป็นการเรียนเพื่อรู้จริงๆ นับวันสยามประเทศนี้จะหาพระเณรที่มีความรู้บาลีดีมาต่อกรกับฆราวาสที่แตกฉานในบาลียากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นเราต้องช่วยกัน ใช่ว่าจะเรียนไปเพื่อแข่งขันและเอาความรู้มาวัดภูมิและเบ่งใส่กัน ที่สำคัญพระเณรเราต้องตระหนักในอันที่จะศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นงานหลัก วิชาทางโลกเป็นงานรอง เพราะมีโอกาสและเวลาที่จะศึกษามากกว่าฆราวาสญาติโยมนั่นเอง ถ้าเราหันหลังให้กับการเรียนบาลีเสียแล้วก็อายญาติโยมที่มีความรู้บาลีดีโดยที่ไม่ได้ผ่านการบวชเรียนมาก่อน

Mahapali Vijjalaya ได้จุดเชื้อปลุกในเรื่อง "สอบบาลี" นี้ไว้บ้างเช่นกัน http://mahapali.com/main.php?url=news_view&id=106&cat=B  และช่วงท้าย ๆ ตรงนี้ http://mahapali.com/main.php?url=news_view&id=79&cat=B


คีรีวัน มารัญชยะ (กลับสู่ประเด็นหลัก) คำว่า โลกย์ อาจมาจาก โลก ก็ได้ แต่เป็นการสะกดตามความนิยมในยุคสมัยหนึ่ง ดูพจนานุกรมไทยฉบับแรกของหมอบรัดเลย์พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2416 ท่านใช้ชื่อหนังสือว่า อักขราภิธานศรับท์ คำว่า อาศัย เมื่อก่อนใช้ อาไศรย คำว่า เสลด เคยใช้ เศลษม์ (สํ.เศฺลษฺมนฺ) ประสบ ควรเป็น ประสพ (สํ. ปฺรสว ป. ปสว) คำว่า ค้อน ใช้มาตั้งฉบับหมอบรัดเลย์ (มีในศิลาจารึกวัดศรีชุม ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๖๕-๖๖ ด้วย แต่ในจารึกเขียนเป็น ฅ๋อน ในความว่า ฅ๋อนตีหางนาคราช ส่วนที่พบในหนังสือเก่าใช้คำว่า ฆ้อน เป็นเครื่องมือ อาจเป็นการใช้ที่คลาดเคลื่อน) สุข ก็เคยใช้ ศุข เป็นต้น
  คำว่า อาศัย เดิมเขียน อาไศรย
____________________________________________________

..........คำว่า อาศัย เดิมเขียน อาไศรย นั้นเห็นว่าใกล้เคียงกับทางสันสกฤตมากกว่า เพราะในสันสกฤตเดิมมีรูปว่า อาศฺรย (อา+√ศฺริ : resort+อจฺ) ดังนั้นรูปที่ถูกต้องตรงตามต้นฉบับต้องเขียนว่า อาศรัย แต่เนื่องจากสมัยโบราณไม่ค่อยเคร่งครัดในอักขระวิธีเท่าไหร่นัก และยังไม่มีการบัญญัติสระ อัย ขึ้นใช้ จึงใช้ไม้มลายแทนโดยมาก ส่วนคำว่า อาศัย ที่ใช้ในปัจจุบันนั้น คงเป็นบาลีผสมสันสกฤต เพราะในบาลีมีคำว่า อาสย (อาสัย) หลักฐานสนับสนุนคำว่า อาศัย เดิมเขียน อาไศรย นั้น ปรากฏในคำภาษาถิ่นล้านนาคือ อาไสฺร (อ่านว่า อา-สะ-ไหร) แสดงว่าแผลงมาจาก อาศฺรย นั่นเอง (ภาษาล้านนาโบราณใช้หลักการถอดเสียงให้ใกล้เคียงมากกว่าแผลงให้ตรงมูลศัพท์)
..........คำนี้อาจไม่มีใช้โดยตรงในรูปของคำนามในภาษาสันสกฤต แต่ปรากฏใช้ในรูปกริยาดังนี้:- อถ ตตฺร วฺฤกฺเษ กศฺจิทฺ วฺยนฺตระ สมาศฺริตฺย อาสีตฺ. (pañcat.5 kathā 7) "ที่ต้นไม้นั้นมีรุกขเทวดาตนหนึ่งอาศัยอยู่"
..........คำว่า สมาศฺริตฺย แยกบทว่า สมฺ+อา+ศฺริ+ตฺวา รูปนี้ตรงกับคำนามว่า สมาศฺรย (สมาศรัย)
..........คำว่า สมาสัย ใน ราชประชาสมาสัย ถือว่าแผลงจากภาษาบาลีถูกต้อง ถึงแม้จะเป็นคำสมาสระหว่างสันสกฤตกับบาลีก็ตาม
..........ส่วนคำว่า ปราศรัย นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ามาจากศัพท์เดิมคืออะไรกันแน่ ระหว่าง ปฺร+อาศฺรย หรือ ปรา+ศฺรย ต้องอาศัยผู้รู้ช่วยสืบค้นกันต่อไป (ในภาษาล้านนาเขียน ปฺราไสฺร แต่อ่านว่า ผา-สะ-ไหร)
(ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่)
http://www.sac.or.th/.../2012-04-26-08-52-30/691--16-118   หลักฐานคำว่า อาไศรย อีกแห่งหนึ่ง http://th.wikisource.org/.../%E0%B9%98-%E0%B9%91%E0%B9%97  ปราศรัย ตามความเห็นของอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1264
The Royal Institute - Thailand
royin.go.th
16  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / พระพุทธเจ้าในการ์ตูนในฝรั่งเศส LA LEGENDE DE BOUDDHA VDO 1.27นาที เมื่อ: พฤศจิกายน 13, 2014, 11:44:30 am
https://www.youtube.com/watch?v=2jY5rtHTb-U
17  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / นครคีรีวัน นครบาลี คัมภีร์นิฆัณฏุศาสตร์หรืออภิธานศัพท์ เมื่อ: พฤศจิกายน 13, 2014, 11:41:45 am

(รูปภาพประกอบ) คัมภีร์หลายุธโกศ หรือ อภิธานรัตนมาลา ของศรี
หลายุธภัฏฏะ

คัมภีร์นิฆัณฏุศาสตร์หรืออภิธานศัพท์
__________________________________________________
๏ คัมภีร์นิฆัณฏุศาสตร์ (นิฆัณฑุศาสตร์) ได้แก่ คัมภีร์ที่แสดงชื่อศัพท์และความหมายของศัพท์ ตรงกับคำว่า พจนานุกรม ในภาษาไทย และคำว่า Dictionary ในภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีชื่ออื่นๆ ที่ใช้เรียกอีกได้แก่ คัมภีร์อภิธาน และคัมภีร์โกศะ (โกษะ) เป็นต้น คัมภีร์ดังกล่าวข้างต้นเป็นคัมภีร์ที่แสดงชื่อศัพท์และความหมายของศัพท์ในภาษาสันสกฤตโดยเฉพาะ ซึ่งเปรียบเสมือนคลังเป็นที่รวบรวมคำศัพท์ต่างๆ ภายหลังมารวมเอาคัมภีร์อภิธานบาลีและปรากฤตเข้าด้วย
๏ คัมภีร์นิฆัณฏุศาสตร์นับว่ามีความสำคัญมากสำหรับผู้เรียนภาษาสันสกฤตเพราะจัดเข้าในเวทางคศาสตร์ (คัมภีร์ที่เป็นองค์ประกอบของพระเวท) ว่าด้วยวิชาประกอบการศึกษาพระเวท มี 6 คัมภีร์ คือ 1. ศึกษา (วิธีออกเสียงคำในพระเวทให้ถูกต้อง) 2.ไวยากรณ์ (หลักภาษา) 3. ฉันท์ (คำประพันธ์ที่เป็นร้อยกรอง) 4. โชยติษ (ดาราศาสตร์) 5. นิรุกติ (ความเป็นมาของคำ) และ 6. กัลปะ (วิธีประกอบพิธีกรรม)
๏ คัมภีร์นิฆัณฏุหรืออภิธานภาษาสันสกฤตที่ค้นพบมีอยู่มากมายเป็นร้อยๆ คัมภีร์ซึ่งนักปราชญ์ฝ่ายสันสกฤตได้รจนาแต่งตั้งไว้ด้วยโศลกภาษาสันสกฤตล้วนๆ เพื่อง่ายแก่การนำไปท่องจำ คัมภีร์อภิธานที่มีชื่อเสียงและนิยมนำมาศึกษาเช่น อมรโกศ (อมรโกษ) ของอมรสิงหะ, อภิธานรัตนมาลา (หรือหลายุธโกศ) ของหลายุธภัฏฏะ, อภิธานจินตามณิ ของเหมจันทรไชนะ, ไวชยันตี ของยาทวประกาศะ, วิศวประกาศ ของมเหศวรสูริ, เมทินีโกศ ของเมทินีกร, ศัพทรัตนากร ของพาณภัฏฏะ และนานารถารณวสังเกษป
ของเกศวสวามิน เป็นต้น ในขณะที่ฝ่ายบาลีพบเพียงคัมภีร์เดียวคือ
อภิธานัปปทีปิกาของพระโมคคัลลานเถระ ชาวศรีลังกา


(รูปภาพประกอบ) คัมภีร์หลายุธโกศ หรือ อภิธานรัตนมาลา ของศรี
หลายุธภัฏฏะ

๏ คัมภีร์อภิธานสันสกฤตเท่าที่ค้นพบในปัจจุบันนี้และจัดพิมพ์เผยแพร่บ้างแล้วเป็นบางคัมภีร์มี 192 คัมภีร์ดังนี้
ชื่อคัมภีร์......................................................ผู้แต่ง
1) นามลิงฺคานุศาสน (อมรโกศ)....................อมรสิงหะ
2) นานารฺถสํคฺรห.........................................อชยปาละ
3) นานารฺถธฺวนิมญฺชรี...................................คทสิงหะ
4) ศพฺทจนฺทฺริกา..........................................จักรปาณิ
5) ปรฺยายนานารฺถโกศ.................................ชฏาธราจารย์
6) นานารฺถรตฺนมาลา....................................ทัณฑาธินาถะ
7) ธาตุทีปิกา...............................................ทุรคาทาสวิทยาวาคีศะ
8) นามมาลา................................................ธนัญชยกวิ
9) สารสํคฺรหนามก-อเนการฺถสมุจฺจย...............ธนิกทาสพราหมณะ
10) นิฆณฺฏุราช (ราชนิฆณฺฏุ).........................นรสิงหะ กาลีปัณฑิตะ
11) ราชวลฺลภ.............................................นารายณทัตตกวิราช
12) ภูริปฺรโยค.............................................ปัทมนาภทัตตทวิชะ
13) เอกากฺษรโกศ.......................................ปุรุโษตตมเทวะ
14) ทฺวิรูปโกศ............................................ปุรุโษตตมเทวะ
15) ตฺริกาณฺฑเศษ.......................................ปุรุโษตตมเทวะ
16) หาราวลี...............................................ปุรุโษตตมเทวะ
17) ภาวปฺรกาศ...........................................ภาวมิศระ
18) ศพฺทรตฺนาวลี........................................มยุเรศปัณฑิตะ
19) วิศฺวปฺรกาศ...........................................มเหศวรไวทยะ (มเหศวรสูริ)
20) นานารฺถศพฺทโกศ..................................เมทินีกรไวทยะ
21) ศพฺทมาลา............................................ราเมศวรศรมา
22) อายุรฺเวทารฺณโวตฺถิต-ปรฺยายรตฺนมาลา.....รัตนมาลากรไวทยะ
23) กวิกลฺปทฺรุม (ธาตุทีปิกา) .......................โวปเทวมิศระ
24) วรฺณาภิธาน...........................................ศรีนันทนภัฏฏาจารย์
25) อุณาทิโกษ...........................................ศรีรามศรมา
26) อภิธานรตฺนมาลา...................................หลายุธภัฏฏะ
27) อภิธานจินฺตามณิ...................................เหมจันทรไชนะ
28) นานารฺถารฺณวสํเกฺษป............................เกศวสวามิน
29) อภิธานวิศฺวโลจน (อภิธานมุกฺตาวลี) .......ศรีธรเสนะ เป็นต้น
๏ คัมภีร์อภิธานเหล่านี้นับว่ามีอุปการะต่อผู้เรียนสันสกฤตและบาลีมากทีเดียว เหตุที่คัมภีร์อภิธานฝ่ายบาลีมีไม่เพียงพอจึงต้องอิงอาศัยอภิธานสันสกฤตด้วย ปัจจุบันเมื่อร้อยปีล่วงมานี้มีนักปราชญ์ทางฝ่ายสันสกฤตหลายท่านได้รวบรวมคำศัพท์จากคัมภีร์อภิธานต่างๆ เหล่านี้ตลอดจนถึงคำศัพท์ที่ปรากฏในคัมภีร์สันสกฤตทั้งหลายแล้วเรียบเรียงเป็นพจนานุกรมแบบสมัยใหม่เพื่อสะดวกต่อการศึกษายิ่งขึ้น โดยจัดเรียงตามลำดับตัวอักษรมีทั้งที่ให้ความหมายเป็นภาษาสันสกฤต, ฮินดี, คุชราตี, เบงกาลี, อังกฤษ และ
รัสเซีย เป็นต้น รวมสามสิบกว่าเล่มอาทิ ศพฺทโสฺตมมหานิธิ ของศรีตารนาถภัฏฏาจารย์, ศพฺทกลฺปทฺรุม ของศรีราธากานตเทวะ (5 เล่ม), วาจสฺปตฺยมฺ ของศรีตารนาถตรรกวาจัสปติ (6เล่ม), ศพฺทสาคร ของบัณฑิตชีวานันทะ, Sanskrit-English Dictionary ของ SIR Monier williams ของ Vaman shivaram apte, และ Sanskrit Dictionary ของ Otto Böhtlingk (7 เล่ม : คำแปลภาษาเยอรมัน) etc. ในเมืองไทยเท่าที่ทราบมีอยู่สองเล่มคือ ปทานุกรมบาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ และ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ของร้อยเอก หลวงบวรบรรณารักษ์ (นิยม รักไทย) ส่วนอภิธานปรากฤตที่จัดพิมพ์แล้วเท่าที่ทราบคือ อภิธานราเชนฺทฺร ของศรีวิชยราเชนทรสูริ ซึ่งเทียบสันสกฤตเอาไว้ด้วย (มีทั้งหมด 7 เล่ม) และ ปาอิอ-สทฺท-มหณฺณโว ของ Pandit Hargovind Das T.Sheth
18  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / เรื่องเหล่าจากเฟส จิตสำนึกของเด็กไทย เมื่อ: พฤศจิกายน 13, 2014, 11:38:16 am


จิตสำนึกของเด็กไทย

ขอร่วมแชร์เหตุการณ์ดีดี ในสังคมไทยที่ทำให้ ผมประทับใจ ในขณะที่อยู่ในรถไฟฟ้าใต้ดินผมเห็นเด็กผู้ชายในรูปน่าจะอายุไม่เกิน 10 ขวบ ดูจากหน้าอกเสื้อที่ปักเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬา เด็กคนนี้นั่งอยู่ในรถไฟฟ้าขณะที่รถจอดที่สถานีสีลมก็มีหญิงชราขึ้นมาในขบวนรถ เด็กคนนี้ได้แสดงความมีน้ำใจลุกให้หญิงชรานั่ง แต่ด้วยความอาวุโสและมีน้ำใจของหญิงชราก็ได้ปฎิเสธความหวังดีของเด็ก และต่อมาก็มีผู้ใหญ่อีกคนลุกให้หญิงชรานั่งแทน

ซึ่งเรื่องราวที่ประสบมามันสะท้อนถึงสังคมครอบครัวและสถาบันการศึกษาที่ช่วยบ่มเพาะให้เด็กรู้จักเสียสละและมีน้ำใจ ผมจึงถือวิสาสะขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่ของเด็กมา ณ ที่นี้ที่นำรูปเด็กน้อยผู้มีน้ำใจมาลงเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลายครอบครัวร่วมกันบ่มเพาะปลูกฝังลูกหลานของท่านให้เติบโตเป็นคนดีของสังคมในอนาคตและเพื่อสังคมไทยที่น่ารัก!!

Credit by Foo Fotobank
19  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / นครคีรีวัน นครบาลี วิทยาธรคืออะไร ? เมื่อ: พฤศจิกายน 13, 2014, 11:30:37 am
วิทยาธรคืออะไร (ตอน ๒) โดย..พระคันธสาราภิวงศ์
___________________________________________________
๏ ชาวพม่าสนใจเรื่องลึกลับไม่น้อย มีตำราพม่าเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติให้เป็นวิทยาธรหลายเล่ม บางเล่มกล่าวว่า บุคคลบรรลุความเป็นวิทยาธรด้วยวิธี ๑๒ อย่าง นอกไปจาก ๓ อย่างที่กล่าวมาแล้ว คือ สมถภาวนาที่เป็นการดูลมหายใจ การชักลูกประคำด้วยการระลึกถึงพระพุทธคุณ ยันต์ โหราศาสตร์ และการเล่นแร่แปรธาตุ เป็นต้น
๏ การเล่นแร่แปรธาตุ คือ การพยายามทำโลหะที่มีค่าต่ำเช่นตะกั่วให้กลายเป็นทองคำตามความเชื่อแต่โบราณ (ราชบัณฑตยสถาน หน้า ๗๔๑) ปัจจุบันแทบไม่มีในเมืองไทยแล้ว แต่ในพม่ายังพอมีอยู่บ้างตามบ้านนอก
๏ คนเล่นแร่แปรธาตุจะเอาตะกั่วมาใส่ในภาชนะใต้เตาไฟ มีลูกสูบเป่าลมเข้าสู่เตาไฟตลอดเวลา เขาจะต้องดูแลให้ไฟในเตาลุกโพรงตลอดเวลา ยกเว้นเวลาพักผ่อนเท่านั้น
๏ ในประวัติของมันลีสยาดอ (พระชวนเถระ) เมืองมันลี รัฐฉาน กล่าวว่า ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ มีพระลูกวัดรูปหนึ่งพำนักอยู่ในวัดของท่าน ชื่อว่า พระญาณะ ท่านญาณะชอบเล่นแร่แปรธาตุจนถึงระดับเสพติด ได้รื้อกุฏิไม้ของวัดทิ้งแล้วนำไม้จากกุฏิไปเป็นฟืนเผาไฟ ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ จึงประท้วงขับไล่ท่านออกจากวัด
๏ ท่านออกจากวัดไปอยู่ป่าใกล้ๆ หมู่บ้าน ไม่ทราบว่าท่านสำเร็จเป็นวิทยาธรด้วยการเล่นแร่แปรธาตุ หรือด้วยวิธีอื่น ต่อจากนั้นไม่นาน ท่านเข้าไปเยี่ยมมันลีสยาดอแล้วกล่าวว่า "กระผมสำเร็จเป็นวิทยาธรแล้ว ท่านอาจารย์ต้องการอะไร กระผมอาจทำให้สำเร็จได้"
ท่านอาจารย์มันลีสยาดอกล่าวว่า "ผมเป็นอัมพาตมาหลายสิบปี เดินไม่ได้มานานแล้ว ต้องนั่งรถเข็นตลอดทั้งวัน ทำให้เป็นโรคปวดเมื่อย สิ่งที่ผมต้องการ คือ ไม่อยากปวดเมื่อยอีกต่อไป และขอให้ร่างกายของผมไม่เน่าเปื่อยหลังเสียชีวิตแล้ว"
พระญาณะได้ใช้มือลำลำตัวของมันลีสยาดอ แล้วพูดว่า "สิ่งที่ท่านอาจารย์ปรารถนา จงสำเร็จตามต้องการ" หลังจากนั้นจึงกลับไป
๏ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา มันลีสยาดอไม่เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายอีกเลย แล้วสังขารของท่านก็ไม่เน่าเปื่อยเหมือนพระอรหันต์ ยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน
เครดิต : พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ ธรรมาจริยะ

คีรีวัน มารัญชยะ ตามรูปภาพน่าจะเป็นจำพวกที่ ๓ คือ เภสัชวิทยาธร


คัมภีร์อภิธานสันสกฤตแสดงศัพท์ที่เป็นชื่อวิทยาธรไว้ดังนี้:-
วิทฺยาธราสฺตุ ทฺยุจราะ เขจราะ สตฺยเยาวนาะ |
ปิศาจะ สฺยาตฺกาปิเศโย’นฺฤชุรฺทรฺวศฺจ ปิณฺฑกะ || ไวชยนฺตี 1.3.4

ธฺฤตราษฺฏฺรี หํสปตฺนฺยำ นภศฺจโร วิหงฺคเม |
วิทฺยาธโร ฆเน วาเต นิศาจรสฺตุ รกฺษสิ || เมทินี-รานฺตวรฺค-272

.............ความจริงวิทยาธรนี้น่าจะจัดเข้าในจำพวกวยันตระ (A spirit; supernatural being) แต่คัมภีร์ทั้งหลายกล่าวว่าวยันตระมี ๘ จำพวกดังนี้:-

สฺยุะ ปิศาจา ภูตา ยกฺษา รากฺษสาะ กินฺนรา อปิ |
กิมฺปุรุษา มโหรคา คนฺธรฺวา วฺยนฺตรา อมี || อภิธานจินฺตามณิ 2.5

.............ส่วนในคัมภีร์หลายุธโกศหรืออภิธานรัตนมาลาจัดวิทยาธรเข้าในกลุ่มเทพกำเนิดจำนวน ๑๐ ประเภท ได้แก่ ยักษ์ รากษส คนธรรพ์ สิทธะ กินนร
คุหยกะ วิทยาธร อัปสร ภูต ปิศาจ ดังโศลกว่า:-

ยกฺษรากฺษสคนฺธรฺวสิทฺธกินฺนรคุหฺยกาะ |
วิทฺยาธราปฺสโรภูตปิศาจา เทวโยนยะ || หลายุธ 1.87
.............ในหนังสือ SANSKRIT–ENGLISH DICTIONARY ของ SIR M. MONIER WILLIAMS (1899) หน้า 974 ให้ความหมายของคำ วฺยนฺตร ไว้ดังนี้
vy-antara, as, m. a kind of supernatural being, (eight classes are enumerated, viz. Piśāca, Bhūta, Yaksha, Rākshasa, Kinnara, Kimpurusha, Mahoraga, and Gandharva.)

.............ว่าตามมติคัมภีร์อภิธานทั้งหลาย กินนร กับ กิมบุรุษ เห็นว่าซ้ำกัน ชะรอยท่านจะแยกประเภทออกเป็นหญิง-ชายดังนี้กระมัง แต่ในหลายุธโกศท่านไม่ได้แยกประเภทไว้ จึงเหลือเพียง ๖ โดยตัด มโหรคะ ออกไป แล้วเพิ่ม สิทธะ (ผู้สำเร็จวิชากายสิทธิ์) คุหยกะ (ผู้กำบังตนล่องหนหายตัวได้) วิทยาธร และนางอัปสรเข้ามารวมเป็น ๑๐ ประเภท
      ท่านให้ความหมาย วิทยาธร เป็นภาษาอังกฤษไว้ดังนี้:-
magical-knowledge holder.
a kind of spirit residing in the air and assuming any shape.

คีรีวัน มารัญชยะ อปฺสรสฺ (ป.อจฺฉรา : นางอัปสร) แปลตามศัพท์ว่า ผู้ไปหรืออยู่ในน้ำ (อปฺ+√สร+อสฺ ; going in the waters or between the waters of the clouds) น่าจะได้แก่พรายน้ำจำพวกหนึ่ง ตามคัมภีร์ของชาวฮินดูกล่าวว่าสามารถล่องหนหายตัวได้ แต่ตามคัมภีร์พุทธศาสนาปรากฏว่านางอัปสรอยู่บนสวรรค์ เราจึงแปลกันว่า นางฟ้า หรือเทพอัปสร (เทวจฺฉรา)

คีรีวัน มารัญชยะ มโหรคะ (งูใหญ่) จัดเข้าในวยันตระจำพวกหนึ่งดังที่คัมภีร์ศิวตัตตวรัตนากรแสดงไว้ว่า

ye viparyastajihvāḥ syuḥ sarpās te vyantarāḥ smṛtāḥ /
ṣaṭtriṃśatphaṇināṃ bhedā gonasānāṃ tu ṣoḍaśa // 26.19 //

เย วิปรฺยสฺตชิหฺวาะ สฺยุะ สรฺปาสฺเต วฺยนฺตราะ สฺมฺฤตาะ |
ษฏฺตฺรึศตฺผณินำ เภทา โคนสานำ ตุ โษฑศ ||

(ข้อความปริวรรตเป็นบาลี)
เย วิปลฺลตฺถชิวฺหา สิยุํ....สปฺปา เต วฺยนฺตรา มตา
ฉตฺตึส ผณีนํ เภทา....... โคนสานํ ตุ โสฬส.
งูที่มีลิ้นผิดแผกเรียกว่า วยันตระ ประเภทของงูมี ๓๖ ชนิด ส่วนงูใหญ่มี ๑๖ ชนิด

คีรีวัน มารัญชยะ วยันตระทั้ง ๘ ประเภทนี้ท่านแสดงรายละเอียดไว้ในตริษัษฏิศลากาปุรุษจริตไว้ดังนี้ ปิศาจมีกาลและมหากาลเป็นหัวหน้า ภูตมีสุรูปและอประติรูปเป็นหัวหน้า ยักษ์มีปูรณภัทรและมาณิภัทรเป็นหัวหน้า รากษสมีภีมะและมหาภีมะเป็นหัวหน้า กินนรมีกินนรและกิมบุรุษเป็นหัวหน้า กิมบุรุษมีสัตบุรุษและมหาบุรุษเป็นหัวหน้า มโหรคะมีอติกายและมหากายเป็นหัวหน้า คนธรรพ์มี
คีตรติและคีตยศเป็นหัวหน้า ทั้ง ๑๖ ท่านนี้เป็นใหญ่กว่าวยันตระทั้งปวง
20  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / นครคีรีวัน นครบาลี เมื่อ: พฤศจิกายน 13, 2014, 11:25:52 am
วิทยาธรคืออะไร (ตอน ๑) โดย..พระคันธสาราภิวงศ์
___________________________________________________
๏ วิทยาธร แปลตามศัพท์ว่า "ผู้ทรงวิทยาคม" คือ ผู้มีความสามารถพิเศษที่เหาะเหินเดินอากาศ รู้ใจผู้อื่น มีอายุยืนยาวนานมากกว่าคนทั่วไป
๏ ตำราพม่ากล่าวว่า วิทยาธรมี ๓ จำพวก คือ
๑. ดาบวิทยาธร คือ วิทยาธรที่มีดาบศักดิ์สิทธิ์ เหาะได้ด้วยดาบ
๒. มนต์วิทยาธร คือ วิทยาธรที่มีมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เหาะได้ด้วยมนต์
๓. เภสัชวิทยาธร คือ วิทยาธรที่มียาศักดิ์สิทธิ์ เหาะได้ด้วยยา
๏ มนต์ที่สอนให้เป็นวิทยาธรนั้น มีมนุษย์สอนให้บ้าง เทวดาหรือยักษ์สอนให้บ้าง จะเห็นได้ว่า โจรองคุลิมาลตอนอยู่ในป่าพบกับยักษ์ที่เคยเป็นสหายของตน ยักษ์จึงสอนมนต์ให้โจรองคุลิมาล ทำให้เขาวิ่งเร็วกว่าลม มีกำลังมากกว่าช้างสาร ไม่มีใครปราบได้ แม้พบกองทัพเป็นร้อยพันคนก็สามารถต่อสู้ได้
๏ นอกจากนั้น ในอัมพัฏฐสูตรมีเรื่องเล่าของฤษีคนหนึ่ง ชื่อว่า กาฬะ เป็นบุตรของนางทาสี ต่อมาเป็นเรียนมนต์เป็นวิทยาธร สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ด้วยมนต์
๏ ส่วนเภสัชวิทยาธรเป็นคนที่กินยาอยู่ในหลุม ๓ ปีโดยไม่ออกมาจากหลุมเลย เมื่อครบ ๓ ปีแล้วญาติพี่น้องจึงขุดออกจากหลุมมารักษาเลี้ยงดูให้ดี ถ้ารอดชีวิตได้ด้วยการเลี้ยงดูถูกวิธี เขาจะกลายเป็นเภสัชวิทยาธรที่เหาะเหินเดินอากาศไ้ด้เช่นกัน
๏ ในประวัติศาสตร์ของพุกาม มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเภสัชวิทยาธรว่า มีเภสัชวิทยาธรคนหนึ่งฝังตัวอยู่ในในหลุมกินยาเพื่อเป็นวิทยาธร ต่อมาตัวของเขาเล็กลงเหมือนเด็กอายุไม่กี่ขวบ แล้วบังเอิญมีสองพี่น้องหาของป่าไปพบเข้าในป่า
๏ สองพี่น้องเคยได้ยินว่า ถ้าฆ่าวิทยาธรแล้วกินเนื้อเขา ก็จะกลายเป็นคนมีอิทธิฤทธิ์ จึงฆ่าวิทยาธรคนนี้แล้วกินเนื้อ ส่งผลให้ทั้งสองคนกลายเป็นคนมีอิทธิฤทธิ์ คนหนึ่งสามารถหายตัวได้ คนหนึ่งวิ่งเร็วเหมือนลม
๏ ในสงครามระหว่างพระเจ้ามนูหากับพระเจ้าอโนรธามังช่อ ทั้งสองคนถูกฆ่าตายแล้วทำให้เป็นผีเฝ้ากำแพงเมืองของพระเจ้ามนูหา ส่งผลให้พระเจ้าอโนรธามังช่อไม่อาจตีเมืองสะโทงได้เพราะมีผีคุ้มกันอยู่
๏ ในที่สุดพระเจ้าอโนรธามังช่อต้องแก้เคล็ดด้วยวิธีไสยศาสตร์ โดยปราบผีสองพี่น้องก่อน ต่อจากนั้นจึงสามารถตีเมืองสะโทงได้สำเร็จ
เครดิต : พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ ธรรมาจริยะ

คีรีวัน มารัญชยะ คำว่า วฺยนฺตร (วยันดร) บางทีก็หมายถึงรุกขเทวดา (A deity haunting in a tree) เทพเจ้าป่า (forest god) เทพพื้นเมือง (folk deity) ดังปรากฏข้อความในปัญจตันตระว่า อถ ตตฺร วฺฤกฺเษ กศฺจิทฺ วฺยนฺตระ สมาศฺริตฺย อาสีตฺ. (pañcat.5 kathā 7) "ที่ต้นไม้นั้นมีรุกขเทวดาตนหนึ่งอาศัยอยู่" ในภาษาปรากฤตมีรูปเป็น มํตร (mam̃tara) หรือ มนฺตร (mantara)¹ ดังปรากฏข้อความในกัลปสูตร ไชนจริตว่า :- ตเอ นํ เส สิทฺธตฺเถ ขตฺติเอ ภวณวอิ-วาณ-มํตร-โชอิส-เวมาณิเอหึ เทเวหึ...

_________________

¹ ที่เป็นดังนี้เพราะเสียง ว - ม อาจใช้แทนกันได้ในบางท้องถิ่น ยกตัวอย่าง skr. วยํ (วยมฺ) - pl. มยํ / skr. มีมำสา - pl. วีมํสา / skr. ทฺราวิฑ (Dravidian) - pl. ทามิฬ / pkr. อาเวล - pkr. อาเมล (Agarland; chaplet worn on the head) / pl. อนมตคฺค - pkr. อณวทคฺค / skr. มนฺมถ - pkr. วมฺมห / pl. , skr. เอวํ (เอวมฺ) - ap. เอม / skr. ปริชฺมา - skr. ปริชฺวา (etc.) คำนี้สำเร็จมาจาก ปริ+√ชุ+กนินฺ (กนฺ) ปัจจัย โดยเอา อุ เป็น ว ตามมติของท่านอุชชวลทัตตะ แต่ตามมติของนักไวยากรณ์ท่านอื่นๆ ประสงค์เอาเพียงรูปว่า ปริชฺมา เท่านั้น โดยสำเร็จมาจาก ปริ+√ชนฺ (หรือ √ชนี)+กนินฺ (กนฺ) ลบอุปธาของธาตุ (สระที่ถัดจากพยัญชนะที่สุดธาตุเข้ามา คือ อ ที่ ชฺ) และแปลง น ที่สุดธาตุเป็น ม ลบ ก อนุพันธ์ ได้รูปเป็น ปริชฺมนฺ (1 sing. ปริชฺมา) มีผู้คัดค้านมติของอุชชวลทัตตะไว้ดังนี้

เกจิตฺตุ โชรฺยณาเทเศ ปริเชฺวติ พภาษิเร |
น ตตฺ สาธุ ยโต ลกฺษฺยวิโรธะ สรฺวตะ สฺผุฏะ ||
(A.p. 1.816)

๏ “อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ปริชฺวา ดังนี้ เพราะแปลง อุ ของ ช เป็น ว แต่คำนั้นไม่ดี เพราะผิดจากสูตรที่ปรากฏทั่วไป”

๏ ความเห็นนี้เป็นของท่านเปรุสูริผู้รจนาเอาณาทิกปทารณวะ อีกมติหนึ่งมีกล่าวถึงในเปฺราฒมโนรมาโดยระบุถึงท่านอุชชวลทัตตะไว้โดยตรงดังนี้

๏ อุชฺชฺวลทตฺตสฺตุ ปริเชฺวติ ปฐิตฺวา ชุ อิติ เสาโตฺร ธาตุะ ปริปูรฺวะ ยณาเทศะ
ปริชฺวา จนฺทฺร อิตฺยาห | ตลฺลกฺษฺยวิโรธาทุเปกฺษฺยมฺ || (P.m. 763)

๏ “ส่วนท่านอุชชวลทัตตะออกเสียงเป็น ปริชฺวา แล้วกล่าวว่า เป็น √ชุ
เสาตรธาตุ (ธาตุที่ปรากฏในสูตร) มี ปริ เป็นบทหน้า แปลง อุ เ ป็น ว ได้รูปเป็น
ปริชฺวา หมายถึง พระจันทร์ คำนั้น ควรพิจารณาเพราะผิดจากสูตรที่ท่านกำหนดไว้”
๏ ที่จริงเมื่อว่าตามหลักสัทศาสตร์แล้ว ความเห็นของอุชชวลทัตตะก็ไม่ถือว่าผิดแต่อย่างใด เพราะบางท้องถิ่นอาจจะออกเสียง ม เป็น ว นั่นเอง

*skr. = สันสกฤต *pl. = บาลี * pkr. = ปรากฤต *ap. = อปภรังศะ

คีรีวัน มารัญชยะ วจนัตถะของ วฺยนฺตร : วิวิเธษุ ไศลกนฺทรานฺตรวนวิวราทิษุ ปฺรติวสนฺตีติ วฺยนฺตราะ. เรียกว่า วยันตระ เพราะอาศัยในสถานที่ต่างๆ ได้แก่ระหว่างภูเขาหิน ซอกเขา และโพรงไม้เป็นต้น

คีรีวัน มารัญชยะ (เพิ่มเติมรายละเอียดภาษาปรากฤตจาก..ภวณวอิ-
วาณ-มํตร-โชอิส-เวมาณิเอหึ เทเวหึ...)

๏ ภวณวอิ (ภวนปติ) เป็นชื่อของเทพกุมารมีกล่าวถึงในคัมภีร์ของไชนะ ๑๐ ชื่อด้วยกันได้แก่ อสุร, นาค, วิทยุตฺ (ตฑิต), สุปรฺณ, วหฺนิ, วายุ (อนิล), สฺตนิต, อุทธิ, ทฺวีป, ทิกฺกุมาร ดังที่อภิธานจินฺตามณิกล่าวไว้ว่า

อสุรา นาคาสฺตฑิตะ สุปรฺรกา วหฺนโย’นิลาะ สฺตนิตาะ |
อุทธิทฺวีปทิโศ ทศ ภวนาธีศาะ กุมารานฺตาะ | อภิ.จินฺต.2.4

๏ โชอิส (โชฺยติษฺก) เป็นชื่อของเทพกลุ่มดาวมี ๕ คือ จนฺทฺร, อรฺก, คฺรห, นกฺษตฺร, ตารก

๏ เวมาณิอ (ไวมานิก) เป็นชื่อของเทพที่มีวิมานเป็นที่อยู่แบ่งออกเป็น ๒ พวกใหญ่คือ กัลปภวะ และ กัลปาตีตะ

๏ กัลปภวเทพมี ๑๒ คือ เสาธรฺมช, ไอศานช, สนตฺกุมารช, มาเหนฺทฺรช, พฺรหฺมช, ลานฺตกช, มหาศุกฺรช, มหสฺรารช, อานตช,
ปฺราณตช, อารณช, อจฺยุตช

๏ กัลปาตีตเทพมี ๑๔ แบ่งเป็นไคฺรเวยก ๙ และ อนุตฺตร ๕ ดังที่อภิธานจินฺตามณิแสดงไว้ดังนี้

โชฺยติษฺกาะ ปญฺจ จนฺทารฺกคฺรหนกฺษตฺรตารกาะ
ไวมานิกาะ ปุนะ กลฺปภวาทฺวาทศ เต ตฺวมี |

เสาธรฺเมศานสนตฺกุมารมาเหนฺทฺรพฺรหฺมลานฺตกชาะ
ศุกฺรสหสฺรารานตปฺราณตชา อารณาจฺยุตชาะ |

กลฺปาตีตา นว ไคฺรเวยกาะ ปญฺจ ตฺวนุตฺตราะ | อภิ.จินฺต.2.6-7-8

๏ ส่วน วาณ ในอภิธานราเชนฺทฺรเล่มที่ 6 หน้า 1070 ว่าได้แก่ ไทตฺย (แทตย์) จำพวกหนึ่ง (ไทตฺยเภเท)
21  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / ล่าสุด น้องไอนซ์ !!! นางฟ้าตัวน้อย !!! เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2014, 10:57:59 pm




สุโข ปุญญสส อุจจโย
การสั่งสมซึ่งบุญนำสุขมาให้
กราบขอบพระคุณในเมตตา
พระเดชพระคุณพระธรรมมังคลาจารย์ วิ. (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล)
เมทรินทร์ เนาวรัตน์พงษ์และครอบครัว





Nareerat A Naovaratpong ที่ Ramathibodi Hospital | โรงพยาบาลรามาธิบดี 30 ตุลาคม



น้องไอส์ สู้ สู้   :character0029:   :58:
22  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / สาธยายพระไตรปิฎก ตลอดพรรษา 3 เดือน เมื่อ: กรกฎาคม 13, 2014, 08:12:15 pm


ช่วงเข้าพรรษานี้ พี สะเดิด ขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยพุทธทุกคนมาร่วมกันสาธยายพระไตรปิฎก ฉบับธรรมาภิสมัย ที่วัดสระเกศ (วัดภูเขาทอง) ทุกวัน ตั้งแต่ 5 โมงเย็น ถึง 2 ทุ่ม โดยอนิสงส์ของการสาธยายพระไตรปิฎกจะสามารถทำให้พี่น้องชาวไทยพุทธมีความร่มเย็นในชีวิต
23  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / ประมวลภาพ พิธีทำบุญตักบาตร ถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน วันอาสาฬหบูชา เมื่อ: กรกฎาคม 13, 2014, 07:40:38 pm




 คณะสงฆ์วัดสระเกศ โดยพระเดชพระคุณพระพรหมสุธี เจ้าอาวาสวัดสระเกศ นำคณะสาธุชนทำวัตรเย็น จากนั้น พระราชปัญญาโสภณ แสดงพระธรรมเทศนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชา โปรดศรัทธาสาธุชน แล้วกล่าวนำคำบูชาดอกไม้สำหรับเวียนเทียน รำลึกความสำคัญแห่งวันอาสาฬหบูชา และเวียนเทียนทำประทักษิณรอบพระอุโบสถ จำนวน ๓ รอบ ขบวนนำโดยคณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนตามลำดับ พระเมธีสุทธิกร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ได้นำสวดบทสรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ จนครบ





















:25:           :25:           :25:          :25:           :25:
24  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / สรุปกำหนดการ ไหว้ครู ขึ้นกรรมฐานใหญ่ ประจำปี ๕๗ ณ คณะ 5 วัดราชสิทธาราม ไม่ไปไม่ได้แล้วงานนี เมื่อ: กรกฎาคม 12, 2014, 09:59:40 pm
สรุปกำหนดการ
ขึ้นกรรมฐานใหญ่ประจำปี๕๗ และอธิฐานจิต พระศิวลี(สิงหาราชินี)
วันเสาร์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙
๐๘.๐๐น.- ๑๒.๐๐น. ลงทะเบียน ขึ้นกรรมฐาน นั่งกรรมฐาน รับประทานอาหารเพล
๑๓.๐๐น.-๑๕.๐๐น. นั่งกรรมฐาน ตามอัชยาศัย
๑๖.๐๐น.๑๘.๐๐น. สวดมนต์ทำวัตร-นั่งกรรมฐาน เข้านอน
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ (วันพระ)
๐๘.๐๐น.-๐๙.๓๐น. บวงสรวง ครูอาจารย์ และเทพยดา
๑๐.๐๐น.- ๑๒.๐๐น. พระสวดธรรมจักร ถวายอาหารเพล
๑๓.๐๐น.-๑๔.๐๐น. ขึ้นกรรมฐานใหญ่ นั่งกรรมฐาน ตามอัชยาศัย
๑๗.๐๐น.๑๘.๐๐น. พระสงฆ์จตุวรรค สวดพุธาภิเษก และอธิฐานจิต
วันจันทร์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙
๐๘.๐๐น.- ๑๒.๐๐น. รับทานอาหารเช้า ลงสวดมนต์ในพระอุโบสถ รับประทานอาหารเพล
๑๓.๐๐น.-๑๕.๐๐น. นั่งกรรมฐาน ตามอัชยาศัย
๑๖.๐๐น.๑๘.๐๐น. สวดมนต์ทำวัตร-นั่งกรรมฐาน
วันอังคารที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๙ (สิงหาราชินี)
๐๘.๐๐น.-๑๒.๐๐น. รับทานอาหารเช้า ลงสวดมนต์ในพระอุโบสถ รับประทานอาหารเพล
๑๓.๐๐น.-๑๕.๐๐น. นั่งกรรมฐาน ตามอัชยาศัย
๑๖.๐๐น.๑๗.๐๐น. สวดถวายพระพร –นั่งกรรมฐานถวายราชินี

:25:                  :25:                  :25:                   :25:                   :25:
25  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / ไหว้ครู ขึ้นกรรมฐานใหญ่ ประจำปี ๕๗ ณ คณะ 5 วัดราชสิทธาราม ไม่ไปไม่ได้แล้วงานนี้!!!!! เมื่อ: กรกฎาคม 12, 2014, 09:55:51 pm


ขึ้นกรรมฐานใหญ่ประจำปี๕๗ และอธิฐานจิต พระศิวลี(สิงหาราชินี)






วันเสาร์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙



๐๘.๐๐น.- ๑๒.๐๐น. ลงทะเบียน ขึ้นกรรมฐาน นั่งกรรมฐาน รับประทานอาหารเพล





๑๓.๐๐น.-๑๕.๐๐น. นั่งกรรมฐาน ตามอัชยาศัย
๑๖.๐๐น.๑๘.๐๐น. สวดมนต์ทำวัตร-นั่งกรรมฐาน เข้านอน





วันอาทิตย์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ (วันพระ)
๐๘.๐๐น.-๐๙.๓๐น. บวงสรวง ครูอาจารย์ และเทพยดา
๑๐.๐๐น.- ๑๒.๐๐น. พระสวดธรรมจักร ถวายอาหารเพล





๑๓.๐๐น.-๑๔.๐๐น. ขึ้นกรรมฐานใหญ่ นั่งกรรมฐาน ตามอัชยาศัย
๑๗.๐๐น.๑๘.๐๐น. พระสงฆ์จตุวรรค สวดพุธาภิเษก และอธิฐานจิต







วันจันทร์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙
๐๘.๐๐น.- ๑๒.๐๐น. รับทานอาหารเช้า ลงสวดมนต์ในพระอุโบสถ รับประทานอาหารเพล
๑๓.๐๐น.-๑๕.๐๐น. นั่งกรรมฐาน ตามอัชยาศัย
๑๖.๐๐น.๑๘.๐๐น. สวดมนต์ทำวัตร-นั่งกรรมฐาน




วันอังคารที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๙ (สิงหาราชินี)
๐๘.๐๐น.-๑๒.๐๐น. รับทานอาหารเช้า ลงสวดมนต์ในพระอุโบสถ รับประทานอาหารเพล




๑๓.๐๐น.-๑๕.๐๐น. นั่งกรรมฐาน ตามอัชยาศัย
๑๖.๐๐น.๑๗.๐๐น. สวดถวายพระพร –นั่งกรรมฐานถวายราชินี

26  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / "ลุงเอี่ยม ขอทานใจบุญ" สวมชุดสูทตัดใหม่ มอบเงิน 2 ล้าน ถวายวัดไร่ขิง เมื่อ: กรกฎาคม 12, 2014, 09:27:15 pm


"ลุงเอี่ยม ขอทานใจบุญ"
สวมชุดสูทตัดใหม่ มอบเงิน 2 ล้าน ถวายวัดไร่ขิง เผยปีหน้าหากได้เงินถึง 3 ล้าน จะบริจาคทั้งหมด ขณะที่ทางวัด ปล่อยลูกโป่งเขียนชื่อลุงเอี่ยม 3,000 ใบ
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเอี่ยม คัมภิรานนท์ อายุ 64 ปี หรือ "ลุงเอี่ยม" ขอทานใจบุญ ได้สวมชุดสูทใหม่ พร้อมนำเงินจำนวน 2 ล้านบาท ใส่พานพร้อมดอกบัวเข้าไปถวายแก่พระราชวิริยาลังการ เจ้าคณะอำเภอพุทธมณฑล เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เพื่อร่วมซื้อดอกบัวถวายหลวงพ่อวัดไร่ขิงในงานประจำปี โดยทางเจ้าอาวาส เป็นผู้รับมอบเงินดังกล่าว เพื่อให้นำเงินไปบูรณะซ่อมแซมวัดไม่ให้ทรุดโทรม







27  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / ถวายเทียนและผ้าอาบน้ำฝน วัดราชสิทธาราม เมื่อ: กรกฎาคม 12, 2014, 08:20:15 pm


กำลังเตรียมถวายเทียนและผ้าอาบน้ำฝนค่ะ








แม่ชีอุ่นเรือน  เนียมลิ้ม รองประธานสถาบันแม่ชีไทย  กล่าว
วันนี้อิ่มบุญกันทุกท่านนะจ๊ะเห็นแล้วชื่นใจจริงๆสมกับเป็นชาวพุทธจ่ะ
28  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / ประมวลภาพ พิธีทำบุญตักบาตร ถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน วันอาสาฬหบูชา เมื่อ: กรกฎาคม 11, 2014, 11:06:12 am


วันศุกร์ ที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๗
ณ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่





:25:           :25:            :25:            :25:           :25:


วัดศรีโยธิน พระครูวุฒิวชิรสาร



:25:           :25:           :25:           :25:          :25:


วัดคลองเม่า อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี





 :25:           :25:           :25:           :25:           :25:


ที่วัดบ้านแสลงคงโคกเพชร





 :25:           :25:            :25:             :25:              :25:
29  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / สาธยายพระไตรปิฎก ตลอดพรรษา 3 เดือน เมื่อ: กรกฎาคม 10, 2014, 08:40:06 pm


พระพรหมสิทธิ(ธงชัย สุขญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า จากการที่วัดสระเกศ ได้ประดิษฐานพระธรรมเจดีย์ อายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี ซึ่งนับว่าเป็นต้นกำเนิดของการจารึกพระไตรปิฎก และเป็นส่วนของคัมภีร์ล้ำค่า โบราณ และเก่าแก่ที่สุดในโลก จากหุบเขาบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถานนั้น เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ทางวัดสระเกศ จึงจัดโครงการสาธยายพระไตรปิฎกขึ้น ตลอดพรรษา 3 เดือน เปิดให้พุทธศาสนิกชน ร่วมกันสวดสาธยายพระไตรปิฏก ณ ศาลาพระธรรมเจดีย์ ตั้งอยู่บริเวณเชิงบันไดทางขึ้นภูเขาทอง ระหว่างเวลา 17.00 น. - 20.00 น. ของทุกวัน เพื่อให้ชาวพุทธเข้าใจ และปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนได้อย่างถูกต้องปลูกจิตสำนึกให้ชาวพุทธช่วยกันปฏิบัติหน้าที่สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พระมหาจิมก่าย สุตญาโณ โทร.08-5299-3997 ดร.ประสิทธิ์ บุตรศรี โทร.08-1823-4130 หรือดูได้ที่ www.jariyatam.com,www.facebook.com/Phratripitaka



อานิสงส์ การสาธยายพระไตรปิฎก

๑. ผู้สาธยายพระไตรปิฎกแล้ว สามารถที่จะรู้ได้ว่า สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ทำให้เป็นสัมมาทิฎฐิ นำไปสู่ความสำเร็จทุกเรื่องที่ปรารถนา และเป็นหนทางเข้าสู่พระนิพพาน

๒. เปรียบเสมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้ฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สอนให้บุคคลนั้น ดำรงชีวิตด้วยความถูกต้อง และได้ฟังแต่สิ่งที่เป็นมงคล การพูดก็ดี สุขภาพจิตก็ดี มีจิตใจที่ผ่องใส เมื่อจิตใจผ่องใส ความคิดก็ดี ความจำก็ดี

๓. สามารถสัมผัสถึงรสของพระธรรมนั้น มีความอิ่มในรสของพระธรรม เมื่อคนเราได้ลิ้มรส ของพระธรรมแล้ว จะทำให้ร่างกายผ่องใส ทั้งภายในและภายนอก ทั้งจะเป็นการช่วยรักษาโรคได้อีกวิธี

๕. ทำให้มีสภาพที่ผ่องใส ทั้งภายในและภายนอก กายที่เบา ไม่เชื่องช้า เลือดลมในตัวเรา ที่เรียกว่า ธาตุ ๔ นั้น ก็จะสมบูรณ์

๖. สามารถเข้าถึงความเป็นผู้มีใจที่วิเศษอันยิ่ง ใจดี ใจผ่องใส ใจเบิกบาน จิตใจเป็นกุศล ก็สามารถบรรลุคุณธรรมทางพระพุทธศาสนา คือ เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และพระอรหันต์ ในที่สุด

๗. พระไตรปิฏก ถือว่าเป็นครู-อาจารย์ ที่วิเศษอันยิ่ง คือ ผู้สอนให้ผู้สาธยาย ได้รู้และเข้าใจว่า สิ่งใด เป็นกุศล คุณงามความดี หรือเป็นสิ่งที่เป็นอกุศล อันไม่พึงปฏิบัติ

๘. พระไตรปิฏก ถือว่าเป็นบิดา-มารดา ที่วิเศษอันยิ่ง พ่อแม่ไม่ได้หวังค่าตอบแทนจากลูกฉันใด การสาธยายพระไตรปิฎก ก็ฉันนั้น คือ เป็นผู้แนะนำให้ผู้สาธยาย ได้รู้ทุกอย่างที่เรายังไม่เคยรู้ นำทางให้เราเข้าถึงความเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ แล้วแต่ทางดำเนินชีวิต อันทำให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือพระนิพพาน

๙. พระไตรปิฏก ถือว่า เป็นมิตร และเข็มทิศ ที่วิเศษอันยิ่ง เมื่อบุคคลได้สาธยาย ก็จะมีแต่มิตร นำทางไปสู่สิ่งที่ดี นำชีวิตไปสู่ความสุข ทั้งตัวเอง ครอบครัว และสังคม ที่ดี นำทางไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

๑๐. ผู้สาธยายพระไตรปิฎกแล้ว สามารถแก้กรรมเก่า ที่ว่า “กรรมเก่าไม่มีใครลบล้างได้” กรรมปัจจุบันจะช่วยได้ เหมือนอย่าง พระพุทธองค์ ตรัสแก่นางโรหหิณีว่า “เธอจงจำไว้ กรรมที่ทำด้วยเจตนา ไม่ว่าดี หรือชั่ว ย่อมมีผลต่อผู้กระทำทั้งสิ้น ไม่มีพรหม เทพ องค์ใด จะช่วยลบล้างกรรมนั้นได้ เธอจงช่วยตนเอง ด้วยการสวดมนต์ ภาวนา สาธยายพระไตรปิฏก แผ่เมตตา ผลแห่งบุญ อันเป็นกรรมปัจจุบัน จะช่วยเธอได้”
30  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / ธรรมโอวาทเนื่องในวันอาสาฬหบูชา เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เมื่อ: กรกฎาคม 10, 2014, 09:00:36 am


ธรรมโอวาทเนื่องในวันอาสาฬหบูชา พุทธศักราช ๒๕๕๗
เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.๙)
ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
31  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / อาลัย พระเถระ สมเด็จพระเทพทรงเสด็จ เมื่อ: กรกฎาคม 07, 2014, 06:22:23 pm


สมเด็จพระเทพทรงเสด็จในพิธีพระราชทานเพลิงศพพระพุทธวรญาณ. ณ.วันที่ 6/7/2557





32  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / Re: อาลัย พระเถระ เมื่อ: กรกฎาคม 07, 2014, 06:19:00 pm


ประกาศข่าวจากวัดป่าท่าสุด อ แม่แตง จ เชียงใหม่ ขอปรกาศข่าวให้ญาิโยมทราบว่า หลวงปู่ชม เจ้าอาวาสวัดป่าท่าสุด อายุ 90 ปี พรรษา 33 ได้ถึงมรณภาพ เมื่อสามทุ่ม สี่สิบห้านาทีท่ีผ่านมา(5 กรกฎาคม 2557)

33  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / พระใหม่วันนี้ !!! เมื่อ: กรกฎาคม 07, 2014, 02:23:48 pm


พิธีอุปสมบท ณ อุโบสถวัดบ้านใหญ่ พระครูสุวรรณธรรมโกศล วัดชับยาง พระอุปัชฌาย์,พระครูพิมลกิจจาทร,พระครูกิตติพัฒนคุณ เพิ่มศาสนทายาททางพระพุทธศาสนา รวม6รูป ขออนุโมทนาสาธุ 6ก.ค.57


34  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / "เที่ยวให้รู้ ดูให้คุ้ม" กับบัตร Muse Pass 199 บาท เที่ยวพิพิธภัณฑ์ 20 แห่ง เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2014, 01:40:43 pm


บัตร Muse Pass 199 บาท เที่ยวพิพิธภัณฑ์ 20 แห่ง
"เที่ยวให้รู้ ดูให้คุ้ม" กับบัตร Muse Pass 199 บาท เที่ยวพิพิธภัณฑ์ 20 แห่ง

3 ศิลป์รัตนโกสินทร์ ร่วมกับ 19 พิพิธภัณฑ์ จัดกิจกรรม “มิว พาส (Muse Pass) เทศกาลเที่ยวพิพิธภัณฑ์” ชวนทุกท่านมาสนุกสนานอย่างมีสาระกับพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจกว่า 20 แห่ง ได้แก่ 3 ศิลป์รัตนโกสินทร์ มรภ.สวนสุนันทา , นิทรรศน์รัตนโกสินทร์, พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิพิธภัณฑ์ศิริราช, พระราชวังพญาไท, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา, พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย, หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน, หอศิลป์กรุงไทย, พิพิธภัณฑ์สื่อสาธารณะ, พิพิธภัณฑ์ตำรวจวังปารุสกวัน, จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. , ไปรษนียาคาร, บ้านสัตว์ประหลาดสยาม, พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก, พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน และมิวเซียมสยาม พร้อมร่วมกิจกรรม ส่วนลดร้านค้าร่วมรายการกว่า 200 แห่ง และอื่นๆ อีกมากมาย

*บัตร Muse Pass จำหน่ายในราคา 199 บาท
**ระยะเวลาการใช้ตั้งแต่วันนี้ - 31 มี.ค. 2558

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2160-1218
35  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / อาลัย พระเถระ พระราชทานเพลิงศพ พระพุทธวรญาณ เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2014, 01:38:10 pm


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์
ในการพระราชทานเพลิงศพ
พระพุทธวรญาณ (ทอง สุวณฺณสารมหาเถร)
อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานเพลิงศพ
วันอาทิตย์ที่ ๖ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
เวลา ๑๗.๐๐ น.
ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร



36  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / อนุโมทนา พระเณร หลวงปู่ อนาลโย เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2014, 01:31:57 pm


ขอคารวะยกย่องเชิดชูบูชา พระภิกษุผู้มีอายุกาลผ่านวัยมามาก
นามว่า "พระบุญลือ (หลวงปู่) ฉายา อนาลโย" อายุ 84 ปี พรรษา 16
ผู้มีความมุ่งมั่นวิริยะอุตสาหะพยายามในการสอบมหาเปรียญธรรมนานถึง 15 ปี พึ่งจะประสบผลสำเร็จสอบได้เปรียญธรรมประโยค 3 (ป.ธ.3) ในปี 2557 นี้
นับเป็นบุคคลที่เป็นแบบอย่างที่น่ายกย่อง น่าทึ่งมากจริงๆ...
ฝากแชร์ ประกาศยกย่องเกียรติคุณของท่านด้วยนะ...

37  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / อนุโมทนา พระเณร หลวงพ่อใหญ่พระธรรมโสถณ เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2014, 01:28:57 pm


หลวงปู่อุทัย เข้าถวายสักการะหลวงพ่อใหญ่พระธรรมโสถณ เนื่องในโอกาสอายุวัฒนมงคล 90 ปี. ณ วัดสุทธจินดาวรวิหาร นครราชสีมา.

38  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / อาลัย พระเถระ พระครูอาทรถิรธรรม เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2014, 01:26:08 pm






พระมหาทวี วิสารโท จต.ช่องกุ่ม-แซร์ออ ประธานจุดธูปเทียนหน้าศพ พระครูอาทรถิรธรรม





39  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / อนุโมทนา พระเณร ทุนเล่าเรียนหลวง เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2014, 01:14:27 pm


พิธีถวายทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประจำปี ๒๕๕๗
วันพฤหัสบดี ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗
ณ ศาลาปฏิบัติธรรมพระชินวงศ์สภา โดยอุปถัมภ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และพุทธศาสนิกชน
วัดพิชยญาติการาม วรวิหาร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ

40  เรื่องทั่วไป / ข่าวสารเพื่อนถึงเพื่อน / อนุโมทนา พระเณร เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2014, 01:06:30 pm


วันที่ 3 กรกฎาคม 2557 เวลา 16.00 น.
สามเณรนาคหลวงที่สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคในขณะเป็นสามเณร ปีพุทธศักราช 2557 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าถวายสักการะเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์และรับฉายาจากเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ประกอบด้วย (ขวามาซ้าย)
.
ส.ณ.จุมพล สุยะต๊ะ วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา
ได้รับฉายาว่า “จริมพโล”
ส.ณ.ปรเมศวร์ ประพิณ วัดสร้อยทอง กรุงเทพมหานคร
ได้รับฉายาว่า “ปรมิสฺสโร”
ส.ณ.ธีรศักดิ์ โสมสุด วัดไร่เกาะต้นสำโรง จ.นครปฐม
ได้รับฉายาว่า “ธีรสกฺโก”
.
มีกำหนดการเข้ารับการอุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในวันศุกร์ ที่ 4 กรกฎาคม 2557 เวลา 09.00 น. โดยมี เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองบาลีสนามหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์
หน้า: [1] 2 3 4