ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: แผนการปฏิบัติมหาสติปัฏฐาน 4 (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)  (อ่าน 2434 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
แผนการปฏิบัติมหาสติปัฏฐาน 4
พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)


               ต่อไปนี้ขอเชิญทุกท่านกำหนดจิตทำสมาธิในท่านั่ง   ในกายของเรานี้มีจิตเป็นใหญ่  มีจิตเป็นหัวหน้า มีจิตเป็นประธาน  ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จแล้วแต่จิต   ในขณะนี้กายกับจิตของท่านยังมีความสัมพันธ์ คือรับรู้กันอยู่   เมื่อท่านกำหนดรู้ที่จิต   ท่านก็ยังรู้ว่ากายยังมี    เมื่อกายยังมีอยู่  จิตของท่านก็รู้เรื่องของกายโดยไม่ได้ตั้งใจ   เวลานี้ท่านนั่งอยู่  กายสบายมั๊ย  ท่านก็รู้    มีอะไรมาสัมผัสกายท่านมั๊ย  ท่านก็รู้   ความเจ็บปวดเกิดขึ้นที่กาย   ท่านก็รู้   เพราะกายกับจิตของท่านยังอยู่ด้วยกัน   ยังไม่แยกจากกัน  

   ถ้าหากว่าจิตของท่านกำหนดรู้ความสุขและความทุกข์  หรือ ความเฉยๆ  ที่เกิดที่กาย  สุขก็ดี   ทุกข์ก็ดี   เกิดขึ้นเมื่อกายยังปรากฏอยู่กับความรู้สึก  เมื่อท่านกำหนดรู้กายอยู่สติก็ตั้งอยู่ที่กาย   ระลึกรู้อยู่ที่กาย   โดยเพียงแค่นึกรู้สึกว่ากายมีอยู่   แล้วเมื่อท่านไม่ได้นึกเช่นนั้น  ท่านก็ยังรู้ว่ากายมีอยู่  เมื่อจิตของท่านรู้สึกว่ากายมีอยู่  เวทนาสุขทุกข์ย่อมเกิดขึ้นที่กาย   เมื่อท่านมีสติรู้อยู่   ท่านก็รู้ว่าเวทนามี   สุข ทุกข์เรียกว่าเวทนา  สุขเรียกว่าสุขเวทนา เมื่อสติของท่านกำหนดรู้เวทนา   สติไปตั้งอยู่ที่นั่นก็เรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน 

   ความรู้  ความคิด  คิดว่านี่กาย  นี่เวทนา  นี่สุขเวทนา  นี่ทุกขเวทนา  นี่อุเบกขาเวทนา   ความคิดหรือรู้เป็นอาการของจิต  เมื่อสติมากำหนดรู้พร้อมอยู่กับความคิดเช่นนั้น  ถ้าสติตั้งมั่น หรือสติตามรู้  รู้ความคิดอันนั้นเรียกว่าจิตตานุปัสสนา ถ้าสติตั้งมั่นอยู่กับความคิดนั้น เรียกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

               เมื่อหากว่าสุขเวทนาเกิดขึ้น   ทุกขเวทนาเกิดขึ้น  จิตปรุงแต่ง  ธรรมชาติของคนเรามีความรู้สึกชอบความสบาย  ถ้าหากจิตของท่านใฝ่หาความสบายโดยไม่อยากทำอะไร  ไม่ปฏิบัติ  บางทีอาจไปคิดว่าเลิกปฏิบัติซะดีกว่า  อยู่เฉยๆ สบายดี    แสดงว่าจิตของท่านใคร่ต่อความสบาย  ติดความสบาย  เมื่อจิตติดความสุข
ความสบาย  จิตก็มีความใคร่ในกาม   กามก็คือความสบายใคร่ในความสุข  คือไม่อยากทำอะไร  เรียกว่ากามฉันทะ

   ความใคร่พอใจในความสบาย  เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตปรุงแต่งว่าจะปฏิบัติต่อไปดีหรือจะหยุดเพียงแค่นี้   
ความคิดเช่นนี้เป็นลักษณะของพยาบาท คือเป็นความคิดที่จะตัดรอนคุณความดี
   

   เกิดความคิดกังวลสงสัยว่าจะเอาดีหรือไม่เอาดี  ความหงุดหงิดงุ่นง่านรำคาญบังเกิดขึ้นเรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ  เมื่อมีความฟุ้งซ่านรำคาญบังเกิดขึ้น 
   ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้นมาแทรก 
   จิตก็ปรุงแต่งขึ้นมาว่าจะเอาดีหรือไม่เอาดีหรือจะหยุดกันเพียงแค่นี้ เป็นวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย  ลังเลใจ ไม่แน่ใจ   เมื่อตัดสินใจเด็ดขาดลงไปไม่เอาล่ะ เลิกดีกว่า  พยาปาทะวิ่งเข้ามาตัดรอน
 
   เมื่อจิตมากำหนดรู้อยู่ที่นิวรณ์ 5 คือ กามฉันทะ  ความใคร่ในความสุขสบาย พยาปาทะ  ความคิดริดรอนหรือตัดรอน  อุทธัจจกุกกุจจะ  ความฟุ้งซ่านและรำคาญ  ถีนมิทธะความง่วงเหงา
หาวนอน  วิจิกิจฉา ความสงสัยไม่เอาจริง 


    ถ้าจิตมากำหนดดูอยู่ที่ตรงนี้  อันนี้เป็นธรรมฝ่ายอกุศล  เป็นนิวารณะธรรม  เป็นธรรมที่คอยกางกั้นคุณงามความดีไม่ให้บังเกิดขึ้นจึงเรียกว่า นิวรณ์  หรือ นิวารณะ  แปลว่าจิตปิดกั้น  กั้นสมาธิไม่ให้เกิด  กั้นปัญญาไม่ให้เกิด   กั้นกุศลไม่ให้เกิด  เพราะอันนี้เป็นธรรมฝ่ายอกุศล 

    เมื่อจิตมากำหนดรู้ธรรมที่เป็นกุศล  อกุศล  เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถ้าสติมากำหนดตั้งมั่นพิจารณาอยู่ที่ธรรม ก็เรียกว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ธรรมะเป็นฐานที่ตั้งของสติ 

    จิตรู้ว่ากายมีอยู่  และมีสติตั้งมั่นอยู่ที่กาย  อย่างน้อยก็ตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก  ลมหายใจเข้าออกก็เป็นส่วนหนึ่งของกาย  เพราะปอดเป็นผู้มีหน้าที่  ทำหน้าที่ หายใจเข้า  หายใจออก  เมื่อสติไปตั้งอยู่ที่ลมหายใจ ก็ได้ชื่อว่าสติไปตั้งอยู่ที่กาย  จัดเป็นอานาปาณุสติด้วย   
 

   กายานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วย   ในมหาสติปัฏฐานบรรพัท   ท่านจำแนกแจกวิธีการพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมไว้อย่างกว้างขวางพิศดาร  แต่อันนั้นเป็นภาคปฏิบัติ   ท่านเริ่มต้นแต่ให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก  โดยความเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดบ้าง   โดยความเป็นธาตุ 4  ดิน น้ำ ลม ไฟ บ้าง  เพื่อจะให้จิตหรือสติไปตั้งอยู่ที่กาย  จะได้เกิดความรู้ว่ากายสักแต่ว่ากาย  ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา 

   ท่านให้เริ่มพิจารณาตั้งแต่กายภายนอก  คือกายของคนอื่น หรือพิจารณาซากอสุ  หมายถึง ซากอสุภะ  แล้วก็น้อมเข้ามาเปรียบเทียบกับตนเอง  เช่นอย่างไปเห็นซากศพที่นอนตายอยู่  ท่านให้พิจารณาซากศพว่าเมื่อก่อนนี้ซากศพก็มีชีวิตจิตใจเดินเหินไปมาได้เหมือนเรา 

   บัดนี้เขาปราศจากวิญญาณแล้ว   เขามีแต่จะเน่าเปื่อยผุพัง  แล้วก็น้อมเข้ามาเปรียบเทียบกับตนเองว่า   แม้เราก็เช่นกัน  เวลานี้ เรามีกาย  มีจิต  มีวิญญาณ  เราก็ยังเดินเหินไปไหนมาไหนได้  ทำอะไรได้จิปาถะ  เมื่อวิญญาณออกจากร่างแล้ว  ร่างกายก็มีแต่จะเน่าเปื่อยผุพังทับถมแผ่นดินเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก 

   เมื่อสลายตัวไปก็จะเป็นธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ หาสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี  ร่างกายภายนอกกับกายภายในเป็นเช่นไร  กายภายนอกเป็นเช่นไร  กายภายในก็ย่อมเป็นเช่นนั้น  ทีนี้การพิจารณากายภายนอก  สักแต่ว่ากาย  แต่ว่ามันเป็นกายของคนอื่น   อันนั้นเรียกว่าเห็นกายภายนอก   

   แต่เมื่อมาพิจารณากายของตนเอง  ให้เห็นว่ากายของเราก็จักเป็นเช่นนั้น   ผม ขน  เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก    แม้ปัจจุบันนี้จะยังสดสวยงดงามพอดูกันได้   แต่เมื่อกายสลายตัวลงไปแล้วก็จะเน่าเปื่อยผุพัง
เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก 


   แล้วเราจะได้รู้ได้เห็นว่ากายของเรานี้สักแต่ว่ากายไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา  กายเป็นแต่เพียงกาย   กายเป็นแต่เพียงสมมติบัญญัติ   กายนี้ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัว ตน เรา เขา  แต่ที่สมมติว่าบุคคลตัวตนเราเขาและสัตว์นั้นเป็นแต่เพียงสมมติบัญญัติ    ตามภาษารูป  แต่เมื่อความเป็นจริงแล้ว  สมมติบัญญัติอันนี้เป็นกาย  ก็สักแต่ว่ากายเท่านั้น   

   ในเมื่อเรามาพิจารณาเห็นกายภายในคือกายของเราเป็นเช่นนั้น เรียกว่า  พิจารณากายในกาย   ถ้าสติไปตั้งมั่นอยู่ในการพิจารณากาย โดยยึดเอากายเป็นอารมณ์ตั้งมั่นอยู่ที่ตรงนั้น   จนกระทั่งว่าในขณะที่พิจารณาในสมาธิก็เป็นเช่นนั้น    ออกจากสมาธิไปแล้ว  สติก็กำหนดตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด  ซึ่งเป็นเรื่องของกาย  ก็เรียกว่าสติไปตั้งอยู่ที่กาย เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
   
   ถ้าสติเพียงแค่ว่าควบคุมบังคับให้ระลึกไปในกาย คือระลึกถึง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น  อันนี้เรียกว่าเป็นภาคปฏิบัติ เป็นสติปัญญาธรรมดา แต่ถ้าหากว่จิตมีสติกำหนดรู้เรื่องของกายอยู่ตลอดเวลาโดยอัติโนมัติ  จะตั้งใจก็กำหนดรู้   ไม่ตั้งใจก็กำหนดรู้   กำหนดรู้อยู่ตลอดเวลาทุกขณะจิตทุกลมหายใจ  สติไม่พรากจากกาย   ไม่ว่าเราจะยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน  ดื่ม ทำ พูด คิด  สติก็รู้พร้อมอยู่ที่กายตลอดเวลา   อันนี้เรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  เอาสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหวก็เป็นมหาสติปัฏฐาน   ในเมื่อสติมาตั้งมั่นอยู่ที่กาย ระลึกรู้  รู้อยู่ที่กายตลอดเวลา
   
เรื่องเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน  เราไม่ได้ตั้งใจจะกำหนดรู้   ไม่ได้ตั้งใจจะพิจารณา  จิตของเราก็รู้เอง  เพราะจิตมีกาย  กายเป็นที่เกิดแห่งเวทนา   

         

   เมื่อจิตมาจดจ่อเอาใจใส่ต่อกาย  อะไรเกิดขึ้นที่กาย  จิตของเรารู้หมดไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจิตมาตั้งมั่นอยู่ที่กาย   เอากายเป็นอารมณ์สติตั้งมั่นอยู่ที่กาย   แม้แต่ความคิดที่เกิดขึ้นก็เพราะอาศัยกายนั่นแหละเป็นเครื่องมือ  เมื่อมีกายอยู่จิตย่อมมีความคิด  ความคิดที่เกิดขึ้นนั้น  แม้เราไม่ได้ตั้งใจจะกำหนดรู้   จิตของเราก็จะรู้เพราะการคิดเป็นเรื่องของจิต   

   ในเมื่อสติของเราไปตั้งมั่นอยู่กับความคิดที่คิดอยู่ในปัจจุบัน   คิดอะไรขึ้นมาก็รู้  คิดอะไรขึ้นมาก็รู้แต่ความคิดนั้น   คิดแล้วก็ปล่อยวางไป  ไม่ยึดมั่นอะไรไว้สร้างปัญหาให้ตัวเองเดือดร้อน   สติกำหนดตั้งมั่นอยู่ที่ความคิดนั้น เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน 

   ทีนี้ความคิดที่ปรุงแต่งนั้นอาศัยเวทนาเป็นสิ่งหนุน   สุขเวทนาเป็นเหตุให้จิตมีความเพลิดเพลินยินดี   ทุกขเวทนาเป็นเหตุให้จิตเกิดความไม่พอใจ  หรือบางทีอาจจะเกิดคับแคบใจ  ในเมื่อกิเลสที่เป็นตัวการ คือการเสพความสุขความสบายซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในขณะนั้น   ทีนี้พอนั่งๆ ไป ปฏิบัติไป  บางทีก็เกิดทุกขเวทนาบางอย่างเกิดขึ้น   มีความรู้สึกว่ามีอาการง่วงๆ  แล้วก็เกิดปวดต้นคอ  หรือบางทีหายใจอึดอัดซึ่งนักปฏิบัติทั้งหลายจะต้องผ่านสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น  และเป็นชนวนให้เกิดความหงุดหงิดงุ่นง่านรำคาญ

   
   ในเมื่อจิตมากำหนดรู้อยู่ที่ความหงุดหงิดงุ่นง่านรำคาญ  จิตก็เริ่มกำหนดรู้เรื่องของธรรมแล้วก็จะมองเห็นนิวรณ์ทั้ง 5 ได้ชัดเจน  คือมองเห็นความใคร่ในความสุขสบาย  ทำให้เกิดขี้เกียจขี้คร้านมองเห็นได้ชัด   แล้วก็มองเห็นความหงุดหงิดรำคาญ อุทธัจจกุกกุจจะได้ชัดเจน   และยิ่งเกิดความง่วงเหงาหาวนอนขึ้นมาแทรกด้วย  เราก็มองเห็นได้ชัดเจน

            เราเกิดสงสัยว่าจะปฏิบัติต่อไปดีหรือจะหยุดเพียงแค่นี้   เราก็มองเห็นได้ชัดเจน   ในเมื่อเราเกิดความสงสัยว่าจะปฏิบัติต่อไปหรือจะหยุดแค่นี้   พยาปาทะคือตัวคอยตัดรอนได้โอกาสก็วิ่งเข้าไปตัด   พอตัดลงไปแล้ว 

เราก็จะนึกว่าเอาแค่นี้พอแล้ว   เอาไว้วันหลังปฏิบัติต่อใหม่   ทีนี้ถ้าหากว่าจิตของเราเป็นอย่างนี้เรื่อยไป 
พอเกิดหงุดหงิดขึ้นมาแล้วก็บอกว่า  เอาล่ะ แค่นี้ ฝากไว้วันหลังจึงปฏิบัติต่อใหม่   เราก็จะไม่ได้ประสบกับ
ความสำเร็จเพราะอันนี้มันเป็นนิวรณ์ที่คอยตัดรอนคุณงามความดี   ถ้าจิตของเรามาตั้งสติพิจารณาคุณโทษ
แห่งนิวรณ์ 5 ดังที่กล่าวแล้วก็พยายามหาอุบายปลดเปลื้อง

             อุบายปลดเปลื้องนิวรณ์ 5 ก็คือเอาตัวนิวรณ์ 5 นั้นแหละเป็นเครื่องแก้   คือพิจารณาให้เห็นโทษของนิวรณ์  เลยพิจารณาว่ากามฉันทะ  ถ้าเราทำจิตให้ไปติดในความสุขความสบายจนเกินไปอย่างไม่มีเหตุผล  ก็จะทำให้เราเสีย กาลเสียเวลาเสียการปฏิบัติเพราะการปฏิบัตินี่ก็ย่อมลงทุนลงแรงบ้างพอสมควร  ต้องอาศัยความอดทน  ถ้าเราใช้ขันติ ความอดทนปฏิบัติไปสักพักหนึ่งนิวรณ์ 5 ทั้งหลายนั้นย่อมสงบระงับไปได้เพราะพลังของสมาธิ   

ถ้าหากกามฉันทะความใคร่ในความสุขเกิดขึ้น  ให้กำหนดสติรู้ 
ถ้าพยาปาทะมันเกิดขึ้น  ก็กำหนดสติรู้   
ถ้าอุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญเกิดขึ้นก็กำหนดสติรู้   
ถ้าถีนมิทธะความง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้น  กำหนดสติรู้ 
ความลังเลสงสัยเกิดขึ้น  กำหนดสติรู้ 
โดยเอาสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ของจิตเป็นที่ระลึกของสติ  กำหนดจดจ้องพิจารณาอยู่อย่างนั้น 


   ในเมื่อสติสัมปชัญญะมีพลังแก่กล้าขึ้น   แล้วก็จะเกิดสมาธิความมั่นใจซึ่งอาศัยขันติความอดทนพิจารณาให้จิตของเรารู้แจ้งเห็นชัดในคุณในโทษของธรรม คือ นิวรณ์

            เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงรู้ชัดแล้ว   จิตของเราก็จะปล่อยวางเข้าไปสู่ความสงบ  แล้วเราก็จะได้สมาธิเพราะอาศัยธรรมะคือนิวรณ์เป็นที่ตั้งของสติ เป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นที่ตั้งของสติเป็นเครื่องรู้ของจิต   ธรรมชาติของจิตถ้ามีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก   ถ้าเราตั้งใจจดจ่อพิจารณาเพ่งดูอยู่  จิตจะสงบเป็นสมาธิ 


   เพราะฉะนั้นแผนการปฏิบัติมหาสติปัฏฐาน 4  กำหนดพิจารณากาย เวทนา จิตและธรรม   เรากำหนดหมายเอาง่ายๆ คือพอนั่งสมาธิปั๊ปลงไปกำหนดรู้จิต   กิริยาที่ตั้งใจกำหนดรู้จิตนั้น   เราอาศัยประสาททางกายเป็นเครื่องช่วย   ถ้าจิตไม่มีกายแล้ว  ไม่มีความตั้งใจจะทำอะไร  จะคิดอะไร  เพราะจิตเป็นธาตุรู้อยู่เฉยๆ   ถ้าลำพังแต่จิตดวงเดียวที่ถอดออกไปจากร่างอันนี้
 
   เขาจะไปลอยเด่นใสสว่างไม่มีตัว ไม่มีตน คิดไม่เป็น อยู่เฉยๆ  แต่ถ้ายังมีความสัมพันธ์กับกายนี้อยู่  คิดเป็นเพราะมีเครื่องมือ  จิตเป็นแต่เพียงพลังงาน  ร่างกายเป็นเครื่องมือ   จิตเหมือนกระแสไฟฟ้า   ในเมื่อกระแสไฟฟ้าวิ่งเข้าไปสู่แม่เหล็กและทองแดงเกิดความหมุน   พอหมุนแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เกิดความเคลื่อนไหว   ทำให้เกิดพลังต่างๆ ขึ้นมาได้ 

           ดังนั้นในเมื่อกายมีอยู่  จิตย่อมมีความคิดเพราะกระแสของจิตไปกระทบกับร่างกายเครื่องมือของกาย   เราคิดได้เพราะอาศัยประสาททางสมอง   เพราะฉะนั้นในเมื่อเรากำหนดรู้ที่จิตของเรา   เราย่อมรู้ว่าในกายของเรานี่มีอะไรบ้าง  อย่างน้อยก็รู้ว่ากายของเรามีศรีษะ 1 มีแขน 2 ขา 2  มีลำตัว  มีตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ

            เมื่อเราตั้งใจกำหนดรู้อย่างนี้เรียกว่ากำหนดรู้กาย  ทีนี้ในเมื่อเรากำหนดรู้กายอยู่  เพราะกายเป็นที่เกิดของสิ่งต่างๆ  สุขเกิดที่กาย  ทุกข์เกิดที่กาย  แต่ว่าใจเป็นผู้ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในกายนี้   กายเป็นที่เกิดของความเจ็บ  แต่ความเจ็บอันนี้  จิตเป็นผู้รับรู้  ทีนี้ถ้าจิตไม่มีกายก็ไม่รู้จักเจ็บเพราะฉะนั้นเวทนาเกิดที่กาย  สุขเวทนาก็เกิดที่กาย   ทุกขเวทนาก็เกิดที่กาย  หรือไม่สุขไม่ทุกข์ก็เกิดที่กาย
 
   เมื่อเรากำหนดรู้ว่ากายมีอยู่   เราจะรู้พร้อมทั้งเวทนา จิตและธรรม   จิตก็คือตัวผู้รู้   ธรรมก็คือสิ่งที่กำหนดรู้อยู่   เรากำหนดรู้จิต  กำหนดรู้อารมณ์  คือจิตกำหนดรู้อยู่ในอารมณ์ปัจจุบัน ในเมื่อจิตเสวยสุขซึ่งเกิดจากปีติ  นิวรณ์ 5  กามฉันทะ  พยาบาท  ถีนมิทธะ  อุทธัจจกุกกุจจะก็หายไป   ทีนี้เมื่อสมาธิจิตสงบละเอียดลงไปจนกระทั่งตัวหายไปหมดแล้ว  วิตก  วิจาร  ปีติสุขก็หายไปหมดเพราะสิ่งเหล่านี้อาศัยกายเกิด    ถ้าไม่มีกาย  วิตกวิจารปีติสุขก็ไม่มีได้   

   เพราะฉะนั้นเมื่อกายหายไปแล้วยังเหลือแต่จิตดวงเดียว  จึงได้ชื่อว่ามีแต่จิตดวงเดียวซึ่งเรียกว่าเอกัคคตากับอุเบกขา  ความเป็นกลางของจิต   ร่างกายตนตัวหายไปหมดเพราะฉะนั้นการบำเพ็ญสมาธิซึ่งเดินตามหลักของมหาสติปัฏฐาน 4   จึงเป็นอุบายทำจิตให้สงบตั้งมั่นลงเป็นสมาธิ 

   เพื่อขจัดนิวรณ์ธรรม 5 ประการ ให้หมดไปจากจิตในขณะที่มีสมาธิ   จิตของเราจะได้ดำเนินไปสู่ภูมิจิตภูมิธรรมตามลำดับขั้นตอน  ซึ่งสุดแล้วแต่พลังจิตพลังสมาธิของท่านผู้ใด  จะปฏิวัติจิตของตนเองให้เป็นไปได้ 
เพราะฉะนั้นการฝึกฝนอบรมสมาธินี้

 
   เราอาศัยหลัก ภาวิตา อบรมให้มากๆ  พหุลีกะตา ทำให้มากๆ ทำให้คล่องตัว ทำจนชำนิชำนาญ  ทำจนกระทั่งถึงขั้นเป็นเอง  ในเมื่อจิตได้ดำเนินตามหลักของมหาสติปัฏฐานทั้ง 4 ประการ  จึงเป็นฐานที่ให้เกิดธรรมะอันเป็นองค์คุณแห่งการตรัสรู้ คือ สติสัมโพชฌงค์
 

            ในเมื่อเรามาทำสมาธิจิตรวมเป็นหนึ่งเป็นเอกมรรค  เอกธรรม  สติเป็นเองโดยอัตโนมัติสามารถที่จะ
กำหนดรู้กายจิต สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมได้เองโดยตลอดเวลา  ก็เรียกว่ามีสติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ที่การยืนเดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด  ได้ชื่อว่าจิตได้สติสัมโพชฌงค์เป็นองค์แห่งการตรัสรู้   
เวลาแห่งการบรรยายธรรมะตามหลักแห่งมหาสติปัฏฐาน 4 ก็จบลงด้วยเวลาเพียงเท่านี้


คัดลอกมาจาก
http://www.geocities.com/thaniyo/
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9899
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ