ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "คิริมานนทสูตร"เป็นธรรมโอสถเหมือนกับ"โพชฌงคสูตร"  (อ่าน 9705 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
สัญญา ๑๐  (ความกำหนดหมาย, แนวความคิดความเข้าใจ สำหรับใช้กำหนดพิจารณาในการเจริญกรรมฐาน)
 
๑. อนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)

๒. อนัตตสัญญา (กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย)

๓. อสุภสัญญา (กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย)

๔. อาทีนวสัญญา (กำหนดหมายโทษทุกข์ของกายอันมีความเจ็บไข้ต่างๆ)

๕. ปหานสัญญา (กำหนดหมายวิราคะว่าเป็นธรรมละเอียดประณีต)

๖. วิราคสัญญา (กำหนดหมายวิราคะว่าเป็นธรรมละเอียดประณีต)

๗. นิโรธสัญญา (กำหนดหมายนิโรธว่าเป็นธรรมละเอียดประณีต)

๘. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา (กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง)

๙. สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา (กำหนดหมายความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง)

๑๐. อานาปานสติ (สติกำหนดลมหายใจเข้าออก)


ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม (ป.อ.ปยุตโต)

อ้างอิง  ที.ปา.๑๑/๔๗๓/๓๔๐; องฺ.ทสก.๒๔/๖๐/๑๑๖

พระไตรปิฎก(สยามรัฐ) เล่ม ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
ทสุตตรสูตร ว่าด้วยธรรม หมวด ๑ ถึงหมวด ๑๐               
               
พระไตรปิฎก(สยามรัฐ)  เล่ม ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๖ อังคุตตรนิกาย ปฐมปัณณาสก์
อาพาธสูตร(คิริมานนทสูตร)



               
สัญญา ๑๐ ประการ ที่ควรเจริญ
บทความ - วิมุตตะมิติ - มหัศจรรย์แห่งโลกภายใน
เขียนโดย สิริอัญญา

 

กัมมัฏฐาน วิธีแบบอสุภสัญญา 10 วิธีนั้น ความสำคัญอยู่ตรงที่สัญญา คือความทรงจำกำหนดหมาย โดยถือเอาซากศพเป็นสิ่งกำหนดอารมณ์ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นเพียงแม่บทแม่แบบเท่านั้น

เพราะสามารถกำหนดสิ่งอื่นเป็นอารมณ์ในการทรงจำกำหนดหมายได้อีกมากหลาย เนื่องจากสิ่งใดก็ตามที่เอามากำหนดเป็นอารมณ์ในการทรงจำกำหนดหมายแล้ว ก็เป็นกัมมัฏฐานวิธีที่เป็นประเภทสัญญาทั้งสิ้น


การที่ท่านโบราณาจารย์ได้ยกเอาอสุภสัญญา 10 วิธีเป็นแบบวิธีหลักก็เพราะเป็นวิธีที่โลดโผนแปลกประหลาดและมุ่งผลเฉพาะใน การข่มความกำหนัด สำหรับเวไนยสัตว์ที่มีความกำหนัดแรงกล้าจนเป็นอุปสรรคขนาดใหญ่ที่ขวางกั้น การเข้าถึงหรือสัมผัสได้ซึ่งรสพระธรรมอันประเสริฐ ดังนั้นจึงต้องข่มหรือขจัดอุปสรรคนั้นด้วยกัมมัฏฐานวิธีที่โลดโผนคืออสุภะ

อสุภะจัดว่าเป็นรูปชนิดหนึ่ง ดังนั้นในการเจริญกัมมัฏฐานจึงต้องกระทำอุคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตเพื่อก่อเป็นองค์แห่งปฐมฌานในกาลข้างหน้า

แต่เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติ เห็นสมควรที่จะได้พรรณนากัมมัฏฐานวิธีจำพวกสัญญาอีกประเภทหนึ่งเป็นพิเศษ นั่นคือกัมมัฏฐานวิธีจำพวกสัญญาประเภทที่ไม่มีรูป ซึ่งแม้ว่าท่านโบราณาจารย์จะมิได้กำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของกัมมัฏฐานวิธี 38 วิธีหรือ 40 วิธีก็ตาม

เพราะกัมมัฏฐานวิธีจำพวกสัญญาประเภทที่ไม่มีรูปนั้นมีบางสิ่งบางอย่างที่ ต่างออกไปจากอสุภสัญญา ทั้ง ๆ ที่เป็นกัมมัฏฐานวิธีจำพวกสัญญาด้วยกัน ทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อเวไนยสัตว์ที่มีอัชฌาสัยถนัดชอบพอหรือคุ้นเคยกับการ เจริญสัญญา ในขณะที่ไม่มากด้วยความกำหนัด ไม่มีความกำหนัดที่แรงกล้าเหมือนกับเวไนยสัตว์ที่จำเป็นต้องใช้กัมมัฏฐาน วิธีจำพวกอสุภสัญญาเข้าแก้อุปสรรค


ความ จริง กัมมัฏฐานวิธีจำพวกสัญญาประเภทที่ไม่มีรูปนั้นก็เป็นกัมมัฏฐานวิธีที่สำคัญ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเวไนยสัตว์ทั่ว ๆ ไป ใกล้เคียงไปทางอนุสติวิธี แต่ก็ยังอยู่ในเขตขอบของกัมมัฏฐานวิธีจำพวกสัญญา ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นยังเป็นกัมมัฏฐานวิธีที่พระบรมศาสดาทรงตรัสสอนโดยตรง อย่างเป็นระบบและอย่างชัดเจน

นั่นคือคำตรัสสอนที่ปรากฏในคิริมานันทสูตร ซึ่งขอให้ตั้งความสังเกตอย่างจริงจังด้วยว่าการที่พระบรมศาสดาทรงปรารภหรือ ตรัสสอนกัมมัฏฐานวิธีจำพวกสัญญาแบบไม่มีรูป

ดังที่ปรากฏในคิริมานันทสูตรนั้น เกิดจากเหตุที่ทรงปรารภเพื่อหวังอานิสงส์ในการบำบัดรักษาอาพาธหนักของพระ สาวกรูปหนึ่ง คือพระคิริมานันเถระซึ่งเป็นพระเถระผู้อาวุโส มีพรรษาสูง มีภูมิธรรมสูง และกำลังอาพาธหนัก ผลจากการแสดงพระสูตรนี้ทำให้พระคิริมานันเถระหายจากอาพาธหนักนั้น เป็นลักษณะเดียวกันกับการเจริญโพชฌงค์ ที่พระบรมศาสดาทรงตรัสสรรเสริญไว้เป็นอันมาก

พระสูตรดังกล่าวมีใจความว่า สมัยหนึ่งในขณะที่พระบรมศาสดาประทับที่เชตวันมหาวิหาร ใกล้เมืองสาวัตถีนั้น พระอานนพุทธอุปัฎฐากได้เข้าไปกราบทูลว่าบัดนี้พระคิริมานันเถระผู้มีอาวุโส ด้วยพรรษาได้อาพาธหนัก มีทุกขเวทนามาก ขอ กราบทูลเชิญพระบรมศาสดาเสด็จไปโปรด เพื่อยังปิติให้เกิดขึ้นและคลายอาพาธนั้น

พระตถาคตเจ้าจึงได้ตรัสสั่งพระอานนว่าเธอนั่นแหละพึงเข้าไปอนุเคราะห์พระ คิริมานันเถระ และให้เธอแสดงสัญญา 10 แก่พระคิริมานันเถระ อาพาธนั้นก็จะหาย

พระบรมศาสดาตรัสสั่งพระอานนท์ให้แสดงสัญญา 10 แก่พระคิริมานันเถระว่า ให้กำหนดหมายความไม่เที่ยงหนึ่ง ความไม่ใช่ตัวตนหนึ่ง ความไม่งามหนึ่ง ความเป็นโทษหนึ่ง การละกิเลสหนึ่ง ธรรมอันปราศจากราคะหนึ่ง ธรรมที่เป็นไปเพื่อความดับหนึ่ง ความไม่ยินดีในโลกทั้งปวงหนึ่ง ความไม่ปรารถนาในสังขารทั้งปวงหนึ่ง และกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์อีกหนึ่ง รวมเป็น 10 ประการ

ใน 10 ประการนี้ได้รวมอานาปานสติไว้เป็นประการสุดท้ายด้วย นี่คือคำตรัสสอนของพระบรมศาสดาที่ชัดเจนว่าการเจริญกัมมัฏฐานวิธีจำพวกสัญญา นอกเหนือจากอสุภสัญญาแล้วยังมีกัมมัฏฐานวิธีจำพวกสัญญาอย่างอื่นอีก
 

ทรงตรัสสอนโดยตรงเกี่ยวกับการเจริญสัญญาแต่ละวิธีอย่างชัดเจนว่า

วิธีที่ 1 การกำหนดหมายความไม่เที่ยง หรือการเจริญอนิจจะสัญญา ทรงตรัสสอนว่า “เธอย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่ารูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง เธอย่อมเป็นผู้พิจารณาเนือง ๆ โดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ทั้งห้าอย่างนี้ อันนี้ตถาคตกล่าวว่าอนิจจะสัญญา”

วิธีที่ 2 การกำหนดหมายความไม่ใช่ตัวตน หรือการเจริญอนัตตะสัญญา ทรงตรัสสอนว่า “เธอย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่าตาไม่ใช่ตัวตน รูปไม่ใช่ตัวตน หูไม่ใช่ตัวตน เสียงไม่ใช่ตัวตน จมูกไม่ใช่ตัวตน กลิ่นไม่ใช่ตัวตน ลิ้นไม่ใช่ตัวตน รสไม่ใช่ตัวตน กายไม่ใช่ตัวตน ความสัมผัสทางกายไม่ใช่ตัวตน ใจไม่ใช่ตัวตน อารมณ์ที่เกิดกับใจไม่ใช่ตัวตน เธอย่อมพิจารณาเนือง ๆ โดยความเป็นของไม่ใช่ตัวตน ในอายตนะทั้งภายในและภายนอก 6 นี้ อันนี้ตถาคตกล่าวว่าเป็นอนัตตะสัญญา”

วิธีที่ 3 การกำหนดหมายความไม่งาม หรือการเจริญอสุภสัญญา ทรงตรัสสอนว่า “เธอย่อมพิจารณากายนี้นี่แหละ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ คือ

ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร เธอย่อมเป็นผู้พิจารณาเนือง ๆ โดยความไม่งามแห่งกายนี้ อย่างนี้ อันนี้ตถาคตกล่าวว่าอสุภสัญญา”


วิธีที่ 4 การกำหนดหมายความเป็นโทษ หรือการเจริญอาทีนวสัญญา ทรงตรัสสอนว่า “เธอย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่ากายอันนี้แหละมีทุกข์มาก มีโทษมาก ความเจ็บไข้อาพาธต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นในกายมีประการต่าง ๆ คือ

โรคในตา โรคในหู โรคในจมูก โรคในลิ้น โรคในกาย โรคในศีรษะ โรคในปาก โรคที่เกิดกับประสาทหู โรคที่ฟัน ไอ หืด หวัด ไข้พิษ ไข้เชื่อมมัว โรคในท้อง ลมจับด้วยอาการสลบอ่อนหวิว สวิงสวาย โรคบิดลงท้อง จุกเสียดปวดท้อง โรคลงราก โรคเรื้อน ฝี กลาก มองคร่อ ลมบ้าหมู หิดเปื่อย หิดด้าน คุดทะราด หูด ละลอก คุดทะราดบอน อาเจียนโลหิต ดีพิการ เบาหวาน ริดสีดวง พุพอง ริดสีดวงลำไส้

 ความเจ็บเกิดแต่ดีให้โทษ ความเจ็บเกิดแต่เสมหะให้โทษ ไข้สันนิบาต หรือความเจ็บที่เกิดแต่ดี เสมหะ ลม ผสมกันให้โทษ ความเจ็บเกิดแต่ฤดูแปรปรวน ความเจ็บเกิดแต่การผลัดเปลี่ยนอริยาบถไม่สม่ำเสมอ ความเจ็บเกิดแต่ความเพียร ความเจ็บเกิดแต่วิบากกรรม ความป่วยอันเกิดจากความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย อุจจาระ ปัสสาวะไม่ปกติ เธอย่อมเป็นผู้พิจารณาเนือง ๆ โดยความเป็นโทษในกายนี้อย่างนี้ อันนี้ตถาคตกล่าวว่าอาทีนวสัญญา”

วิธีที่ 5 การกำหนดหมายในการละ หรือการเจริญปหานสัญญา ทรงตรัสสอนว่า “เธอย่อมไม่รับ ย่อมละเสีย ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้พินาศ ย่อมทำไม่ให้เกิดอีกต่อไป ซึ่งกามวิตก หรือความหมกมุ่นอยู่ในกามที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งพยาบาทวิตกหรือความคิดปองร้ายสาปแช่งสัตว์อื่นให้ถึงความพินาศที่เกิด ขึ้นแล้ว ซึ่งวิหิงสาวิตก หรือความหมกมุ่นคิดเบียนเบียนสัตว์อื่นที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเหล่าธรรมอันเป็นบาปเป็นอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว อันนี้ตถาคตกล่าวว่าปหานสัญญา”

วิธีที่ 6 การกำหนดหมายในธรรมอันปราศจากราคะ หรือการเจริญวิราคะสัญญา ทรงตรัสสอนว่า “เธอย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่าธรรมชาตินั่นละเอียดประณีต คือเป็นเครื่องระงับสังขารทั้งปวง เป็นเครื่องละกิเลสทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นเครื่องสำรอกออกจากตัณหา อันนี้ตถาคตกล่าวว่าวิราคะสัญญา”

วิธีที่ 7 การกำหนดหมายในธรรมเป็นที่ดับ หรือการเจริญนิโรธสัญญา ทรงตรัสสอนว่า “เธอย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่าธรรมชาตินั่นละเอียดประณีต คือธรรมเป็นเครื่องระงับสังขารทั้งปวง เป็นเครื่องละกิเลสทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นที่ดับสนิทของตัณหา เป็นเครื่องออกจากตัณหา อันนี้ตถาคตกล่าวว่านิโรธสัญญา”

วิธีที่ 8 การกำหนดหมายในความไม่ยินดีในโลกทั้งปวง หรือการเจริญสัพพโลเกอนภิรตสัญญา ทรงตรัสสอนว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นแจ้งในเหตุอันทำให้เกิดความถือมั่นเหล่าใดในโลก มีความถือมั่นด้วยความตั้งจิตไว้เป็นอนุสัยนอนอยูในสันดาน เธอละเหตุแห่งความถือมั่นเหล่านั้นเสีย ไม่ถือมั่น ย่อมงดเว้นเสียซึ่งความถือมั่นเหล่านั้น อันนี้ตถาคตกล่าวว่าสัพพโลเกอนภิรตสัญญา”

วิธีที่ 9 การกำหนดหมายความไม่ปรารถนาในสังขารทั้งปวง หรือการเจริญสัพพสังขาเรสุอนิจจะสัญญา ทรงตรัสสอนว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอย่อมเบื่อหน่าย ย่อมระอา ย่อมเกลียดชังสังขารหรือการปรุงแต่งทั้งปวง อันนี้ตถาคตกล่าวว่าสัพพสังขาเรสุอนิจจะสัญญา”

วิธีที่ 10 การกำหนดหมายลมหายใจไว้กับสติ หรือการเจริญอานาปานสติ ได้พรรณนามาแล้ว จักไม่กล่าวซ้ำอีก

ยกเว้นแต่วิธีที่ 10 ซึ่งได้พรรณนาโดยพิสดารแล้วในภาคว่าด้วยปัญญาวิมุต

กัมมัฏฐานวิธีที่ 1-9 ที่พระบรมศาสดาทรงตรัสสอนโดยตรงนั้น คือแบบวิธีฝึกฝนปฏิบัติกัมมัฏฐานวิธีจำพวกสัญญา

โดยวิธีที่ 3 เป็นเรื่องอสุภสัญญาโดยตรง แต่ทรงแสดงถึงความสกปรก ความไม่สะอาด ของบรรดาสิ่งทั้งหลายที่อยู่ภายในร่างกายนี้ ซึ่งแม้จะตรัสเกี่ยวกับรูป แต่ความจริงก็ไม่เห็นรูป เพราะทรงตรัสให้มุ่งเน้นในการพิจารณาซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ปัญญาพิจารณา ตามความเป็นจริง

พึงสังเกตว่ากัมมัฏฐานวิธีจำพวกสัญญา 10 วิธี ที่ทรงตรัสในคิริมานันทสูตรนั้นทรงเน้นย้ำคำว่า “เธอย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่า” นั่นคือเป็นการใช้ปัญญาในการพิจารณาตามความเป็นจริง จัดเป็นกัมมัฏฐานวิธีในภาคเจโตวิมุตที่มุ่งเน้นปัญญามากเป็นพิเศษ


แต่ถึงกระนั้นก็ยังอยู่ภายในเขตขอบของเรื่องเจโตวิมุตอยู่นั่นเอง เพราะวิถีทางหลักยังคงเป็นไปในการสร้างความแข็งแกร่งและสมรรถนะของจิต โดยมีปัญญาเป็นกำลังหนุน เป็นแต่ทรงเน้นเรื่องปัญญามากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากพระคิริมานันเถระมีกำลังจิตและภูมิธรรมสูงอยู่แล้ว หากทราบและเข้าใจภูมิหลังของการตรัสสอนในพระสูตรนี้ก็จะเข้าใจได้ชัดเช่น นี้

นอกจากวิธีอานาปานสติในวิธีที่ 10 แล้ว วิธีการที่ทรงตรัสสอนทั้ง 9 วิธีซึ่งรวมอสุภสัญญาที่ทรงตรัสสอนในลักษณะวิธีนี้มุ่งเน้นไปที่การพิจารณา โดยผู้ฝึกฝนปฏิบัติต้องมีกำลังจิตแข็งกล้าอยู่ก่อนหน้าแล้ว และมีภูมิธรรมสูงอยู่ก่อนแล้ว มิฉะนั้นก็ไม่อาจรองรับกัมมัฏฐานวิธีจำพวกนี้ได้เลย ดังนั้นการจะเลือกกัมมัฏฐานวิธีตามพระสูตรนี้จึงต้องคำนึงถึงเงื่อนไขทั้ง สองประการดังกล่าวด้วย

ผู้มีภูมิธรรมที่สูงพอ ประมาณ มีกำลังจิตที่แข็งกล้าพอประมาณ หากได้ฟังหรือได้เจริญกัมมัฏฐานวิธีทั้ง 10 วิธีที่ทรงแสดงนี้แล้วก็จะเป็นธรรมโอสถที่บำบัดรักษาโรคาพาธให้หายได้เช่น เดียวกับที่ปรากฏในโพชฌงค์สูตร จึงจัดว่าเป็นยาอายุวัฒนะประเภทธรรมโอสถชนิดหนึ่ง

ทั้ง 10 วิธีที่ว่านี้จะไม่มุ่งเน้นไปที่การทำอุคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต แต่จะลัดไปสู่การขจัดนิวรณ์หรืออุปกิเลส 5 ประการ และก่อองค์ห้าแห่งปฐมฌานโดยตรงทีเดียว

ท่าน ทั้งปวงผู้ได้เห็นได้สดับคิริมานันทสูตรแล้วคงจะเห็นเป็นอย่างเดียวกันว่า ความตรัสรู้ของพระบรมศาสดานั้นทำให้ทรงรู้แจ้งในโลกทั้งปวงจริง ๆ เพราะเพียงแค่การกล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ ในร่างกายนี้และโรคต่างๆ ที่เกิดกับร่างกายนี้ก็มีความพิสดารยิ่งนัก.

ที่มา  เว็บพลังจิต โดยคุณ aMANwalking



อ่านคิริมานนทสูตรเต็มๆได้ที่

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖
อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔  บรรทัดที่ ๒๕๙๗ - ๒๗๑๑.  หน้าที่  ๑๑๑ - ๑๑๖.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=24&A=2597&Z=2711&pagebreak=0

ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=60[/size]



ผมขอยกเครดิตการนำเสนอบทความนี้ให้กับ

คุณtranslate  และคุณรักหนอ

 :welcome: :c017:
ขอให้ธรรมคุ้มครอง

 :25: :25: :25:
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 02, 2010, 01:37:07 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ