ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การถวายตัวแก่อาจารย์ และโทษที่ไม่ถวายตัวแก่อาจารย์  (อ่าน 3432 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28409
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




วิธีเรียนเอากัมมัฏฐาน
      ก็แหละ คำว่า เรียน นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ :–
    อันโยคีบุคคลนั้น พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้มีลักษณาการตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาในหัวข้อว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้พระกัมมัฏฐาน ฉะนี้แล้ว พึงถวายตัวแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าหรือแก่พระอาจารย์ แล้วพึงทำตนให้เป็นผู้มีอัชฌาสัยอันสมบูรณ์ และมีอธิมุติอันสมบูรณ์ แล้วพึงขอเอาพระกัมมัฏฐานเถิด


คำถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า
      ในการถวายตัวนั้น โยคีบุคคลพึงกล่าวคำถวายตัวแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าว่าดังนี้ :-
     คำบาลี : อิมาหํ ภควา อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ
     คำไทย : ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายอัตภาพร่างกายอันนี้ แด่พระพุทธองค์


โทษที่ไม่ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า
    จริงอยู่ โยคีบุคคลครั้นไม่ได้ถวายตนอย่างนี้แล้ว เมื่อหลีกไปอยู่ที่เสนาสนะอันเงียบสงัด ครั้นอารมณ์อันน่ากลัวมาปรากฏให้เห็นในคลองแห่งจักษุ ก็ไม่สามารถที่จะยับยั้งตั้งตนได้ จะเลี่ยงหนีไปยังแดนหมู่บ้าน เกิดเป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์ ทำการแสวงหาลาภสักการะอันไม่สมควร ก็จะพึงถึงซึ่งความฉิบหายเสีย

อานิสงส์ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า
    ส่วนโยคีบุคคลผู้ได้ถวายตัวแล้ว ถึงแม้จะมีอารมณ์อันน่ากลัวมาปรากฏให้เห็นในคลองแห่งจักษุ ก็จะไม่เกิดความหวาดกลัวแต่อย่างใด มีแต่จะเกิดความโสมนัสอย่างเดียวโดยที่จะได้เตือนตนว่า พ่อบัณฑิต ก็วันก่อนนั้น เจ้าได้ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้าแล้วมิใช่หรือ.? เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งจะพึงมีผ้ากาสิกพัสตร์ (ผ้าที่ทำในแว่นแคว้นกาสี) อย่างดีที่สุด เมื่อผ้านั้นถูกหนูหรือพวกแมลงสาบกัด เขาก็จะพึงเกิดความโทมนัสเสียใจ แต่ถ้าเขาจะพึงถวายผ้านั้นแก่ภิกษุผู้ไม่มีจีวรไปเสีย แต่นั้นถึงเขาจะได้เห็นผ้านั้นอันภิกษุเอามาตัดทำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เขาก็จะพึงเกิดแต่ความโสมนัสอย่างเดียว ฉันใด แม้คำอุปไมยนี้ นักศึกษาก็พึงทราบเหมือนฉันนั้น




คำถวายตัวแก่อาจารย์
    โยคีบุคคล แม้เมื่อจะถวายตัวแก่พระอาจารย์ ก็พึงกล่าวคำถวายตัวดังนี้ :-
    คำบาลี : อิมาหํ ภนฺเต อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ
    คำไทย : ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้เจริญ กระผมขอมอบถวายอัตภาพร่างกายอันนี้แก่ท่านอาจารย์


โทษที่ไม่ถวายตัวแก่อาจารย์
    จริงอยู่ โยคีบุคคลผู้ไม่ได้ถวายตัวอย่างนี้ ย่อมจะเป็นคนอันใค ๆ ขัดขวางไม่ได้ บางทีก็จะเป็นคนว่ายากไม่เชื่อฟังโอวาท บางทีก็จะเป็นคนตามแต่ใจตนเอง อยากไปไหนก็จะไปโดยไม่บอกลาอาจารย์ก่อน โยคีบุคคลเช่นนี้นั้น อาจารย์ก็จะไม่รับสงเคราะห์ด้วยอามิส หรือด้วยธรรมคือการสั่งสอน จะไม่ให้ศึกษาวิชากัมมัฏฐานอันสุขุมลึกซึ้ง เมื่อเธอไม่ได้รับการสงเคราะห์ ๒ ประการนี้แล้ว ก็จะไม่ได้ที่พึ่งในพระศาสนา ไม่ช้าไม่นานก็จะถึงซึ่งความเป็นคนทุศีล หรือเป็นคฤหัสถ์ไปเลย

อานิสงส์ที่ถวายตัวแก่อาจารย์
    ส่วนโยคีบุคคลผู้ถวายตัวแล้ว จะไม่เป็นคนอันใคร ๆ ขัดขวางไม่ได้ ไม่เป็นคนตามแต่ใจตนเอง จะเป็นคนว่าง่าย มีความประพฤติติดเนื่องอยู่กับอาจารย์ เมื่อเธอได้รับการสงเคราะห์ ๒ ประการจากอาจารย์แล้ว ก็จะถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระศาสนา เหมือนอย่างพวกศิษย์อันเตวาสิกของพระจูฬปิณฑปาติกติสสเถระเป็นตัวอย่าง




เรื่องศิษย์พระติสสเถระ
     มีเรื่องเล่าว่า มีภิกษุ ๓ รูป ได้มาสู่สำนักพระติสสเถระแล้ว ใน ๓ รูปนั้น
     รูปหนึ่งกราบเรียนอาสาแก่พระเถระว่า
     “ท่านขอรับ เมื่อมีใครๆ ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้ว กระผมสามารถที่จะกระโดดลงไปในเหวลึกชั่วร้อยบุรุษ”
     รูปที่สองกราบเรียนอาสาว่า
     “ท่านขอรับ เมื่อมีใคร ๆ ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้ว กระผมสามารถที่จะเอาร่างกายนี้ฝนที่พื้นหินให้กร่อนไปตั้งแต่ส้นเท้าจนกระทั่งไม่มีร่างกายเหลืออยู่”
     รูปที่สามกราบเรียนอาสาว่า
     “ท่านขอรับ เมื่อมีใคร ๆ ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้วกระผมสามารถที่จะกลั้นลมอัสสะปัสสาสะทำกาลกิริยาตายได้”

     ฝ่ายพระเถระพิจารณาเห็นว่า
     “ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้มีความสมควรแล้ว” จึงได้บอกพระกัมมัฎฐานให้ ภิกษุเหล่านั้นดำรงตนอยู่ในโอวาทของพระเถระ ได้บรรลุซึ่งพระอรหัตแม้ทั้ง ๓ รูปแล

     นี้เป็นอานิสงส์ในการมอบถวายตัว ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวไว้ว่า พึงมอบถวายตัวแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าหรือแก่อาจารย์ ฉะนี้


     ยังมีต่อ.....


อ้างอิง :-
วิสุทธิมรรค รจนาโดย พระพุทธโฆสะ
ฉบับแปลโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสโภ) และคณะ
วิสุทธิมรรค เล่ม ๑ ภาคสมาธิ ปริเฉทที่ ๓ กัมมัฏฐานคหณนิเทศ (หน้าที่ 186 - หน้าที่ 188)
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

fan

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 139
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28409
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


โยคีผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์
    ก็แหละ ในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วว่า เป็นผู้มีอัชฌาสัยอันสมบูรณ์และมีอธิมุติอันสมบูรณ์ ฉะนี้นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ :-
    อันโยคีบุคคลนั้น พึงเป็นผู้มีอัชฌาสัยอันสมบูรณ์ โดยอาการ ๖ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งธรรมมีอโลภะเป็นต้น


อรรถาธิบายของฏีกาจารย์
    ในอธิการนี้ ท่านฏีกาจารย์ได้อรรถาธิบายไว้อย่างพิสดารดังนี้ :-
    ธรรมทั้งหลายมีอโลภะ เป็นต้น มีอุปการะมากแก่สัตว์ทั้งหลายและแก่โยคีบุคคลโดยพิเศษ ทั้งนี้เพราะเป็นเหตุกำจัดเสียซึ่งโทษอย่างอนันต์ และเป็นเหตุนำมาซึ่งคุณอย่างมหันต์

    เป็นความจริงอย่างนั้น ธรรมทั้งหลายมีอโลภะ เป็นต้น ย่อมเป็นไปโดยความเป็นปฏิปักษ์แก่มลทินทั้งหลายมีมลทินคือความตระหนี่เป็นต้น สมจริงตามที่ท่านอรรถกถาจารย์แสดงไว้ในอรรถกถาแห่งอภิธรรม ดังต่อไปนี้  :-
    อโลภะ เป็นปฏิปักษ์แก่มลทินคือ ความตระหนี่
    อโทสะ เป็นปฏิปักษ์แก่มลทินคือ ความทุศีล
    อโมหะ เป็นปฏิปักษ์แก่ การไม่ภาวนาในกุศลธรรมทั้งหลาย

    แหละใน ๓ เหตุนั้น
    อโลภะ เป็นเหตุแห่งทาน
    อโทสะ เป็นเหตุแห่งศีล
    อโมหะ เป็นเหตุแห่งภาวนา

    แหละใน ๓ เหตุนั้น
    บุคคลย่อมถืออย่างไม่ตรึงเครียดด้วย อโลภะ เพราะคนที่โลภแล้ว ย่อมถืออย่างตรึงเครียด
    บุคคลย่อมถืออย่างไม่หย่อนยานด้วย อโทสะ เพราะคนที่โกรธแล้ว ย่อมถืออย่างหย่อนยาน
    บุคคลย่อมถืออย่างไม่วิปริตผิดเพี้ยนด้วย อโมหะ เพราะคนที่หลงแล้วย่อมถืออย่างวิปริตผิดเพี้ยน


     :96: :96: :96: :96:

      อีกอย่างหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น
      บุคคลทรงจำโทษอันมีอยู่ไว้โดยความเป็นโทษและประพฤติเป็นไปในโทษนั้นด้วย อโลภะ เพราะคนที่โลภแล้วย่อมปกปิดโทษไว้
      บุคคลทรงจำคุณอันมีอยู่ไว้โดยความเป็นคุณและประพฤติเป็นไปในคุณนั้นด้วย อโทสะ เพราะคนที่โกรธแล้วย่อมลบล้างคุณเสีย
      บุคคลทรงจำซึ่งสภาวะที่เป็นจริงโดยเป็นสภาวะที่เป็นจริงและประพฤติเป็นไปในสภาวะที่เป็นจริงนั้นด้วย อโมหะ เพราะคนหลงแล้ว ย่อมยึดถือสิ่งที่เปล่าว่าไม่เปล่า และสิ่งที่ไม่เปล่าว่าเปล่า

      อนึ่ง ทุกข์เพราะพรากจากสิ่งที่รัก ย่อมไม่เกิดมีด้วย อโลภะ เป็นเหตุ เพราะคนที่โลภแล้วเป็นแดนเกิดแห่งสิ่งเป็นที่รักด้วย เพราะอดกลั้นไว้ไม่ได้ต่อการพรากจากสิ่งที่รักด้วย
      ทุกข์เพราะประจวบกับสิ่งไม่เป็นมี่รัก ย่อมไม่เกิดมีด้วย อโทสะ เป็นเหตุ เพราะคนโกรธแล้วเป็นแดนเกิดแห่งสิ่งไม่เป็นที่รักด้วย
      ทุกข์เพราะไม่ได้สมหวัง ย่อมไม่เกิดมี ด้วย อโมหะ เป็นเหตุ เพราะคนที่ไม่หลงเป็นแดนเกิดแห่งการใคร่ครวญพิจารณาว่าข้อนั้นจะพึงได้ ณ ที่นี้ แต่ที่ไหนเล่า ?

       :25: :25: :25: :25:

      อีกประการหนึ่ง ในเหตุ ๓ อย่างนั้น
      ชาติทุกข์ไม่มี ด้วย อโลภะ เป็นเหตุ เพราะอโลภะเป็นปฏิปักษ์แก่ตัณหา เพราะชาติทุกข์มีตัณหาเป็นมูลราก
      ชราทุกข์ไม่มีด้วย อโทสะ เป็นเหตุ เพราะความโกรธอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้แก่เร็ว มรณทุกข์ไม่มีด้วย
      อโมหะ เป็นเหตุ เพราะความหลงตายเป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ และมรณทุกข์นั้นย่อมไม่มีแก่คนที่ไม่หลง

      อนึ่ง ความอยู่ร่วมกันอย่างสบาย ย่อมมีแก่คฤหัสถ์ทั้งหลายด้วย อโลภะ เป็นเหตุ
      ความอยู่ร่วมกันอย่างสบายย่อมมีแก่บรรพชิตทั้งหลายด้วย อโมหะ เป็นเหตุ
      ส่วนความอยู่ร่วมกันอย่างสบายสำหรับคนทุกเพศ ย่อมมีได้ด้วย อโทสะ เป็นเหตุ

      อีกประการหนึ่ง เมื่อว่าโดยพิเศษแล้ว ในเหตุ ๓ นั้น
      ด้วย อโลภเหตุ จึงไม่มีการบังเกิดในเปตติวิสัย จริงอยู่ ส่วนมากสัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงเปตติวิสัยด้วยตัณหา และอโลภะก็เป็นปฏิปักษ์แก่ตัณหาด้วย
      ด้วย อโทสเหตุ จึงไม่มีการบังเกิดในนรก จริงอยู่สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงนรกอันคล้ายกับโทสะด้วยโทสะเป็นเหตุ เพราะเป็นผู้มีสันดานดุร้าย และอโทสะก็เป็นปฏิปักษ์แก่โทสะด้วย
      ด้วย อโมหเหตุ จึงไม่มีการบังเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงกำเนิดเดรัจฉานอันหลงอยู่ตลอดกาล ด้วยโมหะเป็นเหตุ และอโมหะก็เป็นปฏิปักษ์แก่โมหะด้วย

      อนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น
      อโลภเหตุ ทำให้ไม่มีการประจวบด้วยอำนาจราคะ
      อโทสเหตุ ทำให้ไม่มีการพลัดพรากด้วยอำนาจโทสะ
      อโมหเหตุ ทำให้ไม่มีความไม่เป็นกลางด้วยอำนาจโมหะ





      อีกประการหนึ่ง สัญญา ๓ เหล่านี้ คือ
      เนกขัมมสัญญา สัญญาในการออกจากกาม ๑
      อัพยาปาทสัญญา สัญญาในอันไม่พยาบาท ๑
      อวิหิงสาสัญญา สัญญาในอันไม่เบียดเบียน ๑

      และสัญญาอีก ๓ เหล่านี้ คือ
      อสุภสัญญา สัญญาในความไม่งาม ๑
      อัปปมาณสัญญา สัญญาในอันไม่มีประมาณ ๑
      ธาตุสัญญา สัญญาในความเป็นธาตุ ๑ ย่อมมีได้ด้วยเหตุแม้ทั้ง ๓ ประการนี้โดยลำดับ

     อนึ่ง การงดเว้นซึ่งขอบทางคือ กามสุขัลลิกานุโยค ย่อมมีได้ด้วย อโลภะ
     การงดเว้นซึ่งขอบทางคือ อัตตกิลมถานุโยคย่อมมีได้ด้วย อโทสะ
     การดำเนินไปสู่ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง ย่อมมีได้ด้วย อโมหะ

     อนึ่ง การทำลายอภิชฌากายคันถะย่อมมีได้ด้วย อโลภะ
     การทำลายพยาบาทกายคันถะ ย่อมมีได้ด้วย อโทสะ
     การทำลายคันถะ ๒ ที่เหลือ คือ สีลัพพตปรามาส และอิทังสัจจาภินิเวส ย่อมมีได้ด้วย อโมหะ

     อนึ่ง สตปัฏฐาน ๒ ข้อต้น ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพของกุศลเหตุ ๒ ข้างต้น สติปัฏฐาน ๒ ข้อหลัง ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพของกุศลเหตุข้อหลังข้อเดียว

      st11 st11 st11 st11

    อีกประการหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น
     อโลภเหตุ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ความไม่มีโรค จริงอยู่คนที่ไม่มีโลภย่อมไม่เสพอาหารอันไม่เป็นที่สบาย แม้ที่เร้าให้อยากกิน จึงเป็นผู้ไม่มีโรคด้วยเหตุนั้น
     อโทสเหตุ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ความเป็นหนุ่ม จริงอยู่ คนที่ไม่โกรธ อันไฟคือความโกรธไม่เผาผลาญด้วยอำนาจทำหนังให้เหี่ยวและทำผมให้หงอก ย่อมเป็นหนุ่มอยู่ได้นาน ๆ
     อโมหเหตุ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ความมีอายุยืน จริงอยู่ คนที่ไม่หลง รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แล้ว ละเว้นเสียซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส้องเสพแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน

      อีกประการหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น
      อโลภะ ย่อมเป็นปัจจัยแก่โภคสมบัติ เพราะเหตุที่คนจะได้โภคสมบัติด้วยการบริจาค
      อโทสะ เป็นปัจจัยแก่มิตตสมบัติ เพราะเหตุที่คนจะได้มิตรทั้งหลายด้วยเมตตา และเพราะไม่เสื่อมมิตรก็ด้วยเมตตา
      อโมหะ เป็นปัจจัยแก่อัตตสมบัติ จริงอยู่ คนที่ไม่หลง ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนอย่างเดียว ย่อมทำตนให้สมบูรณ์

      อนึ่ง อโลภะ เป็นปัจจัยแก่การอยู่อย่างเทวดา
      อโทสะ เป็นปัจจัยแก่การอยู่อย่างพรหม
      อโมหะ เป็นปัจจัยแก่การอยู่อย่างพระอริยเจ้า


       ask1 ask1 ask1 ask1

      อีกประการหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น
      บุคคลเป็นผู้ดับเสียได้ในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายของตนด้วย อโลภะ เป็นเหตุ เพราะทุกข์ซึ่งเป็นเหตุปรุงแต่งไม่มีเพราะสัตว์และสังขารเหล่านั้นพินาศไป
      บุคคลเป็นผู้ดับเสียได้ในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายของคนอื่นด้วย อโทสะ เป็นเหตุ เพราะความจองเวรแม้ในคนคู่เวรทั้งหลายไม่มีสำหรับคนที่ไม่โกรธ
      บุคคลเป็นผู้ดับเสียได้ในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายเป็นกลางๆ ด้วย อโมหะ เป็นเหตุ เพราะความปรุงแต่งทั้งปวงไม่มีสำหรับคนที่ไม่หลง

      อีกอย่างหนึ่ง การเห็นอนิจจัง ย่อมมีได้ด้วย อโลภะ จริงอยู่ คนที่โลภแล้วย่อมไม่เห็นสังขารทั้งหลายแม้ที่ไม่เที่ยงโดยความเป็นของไม่เที่ยง ด้วยหวังในการส้องเสพอยู่
      การเห็นทุกขังย่อมมีได้ด้วย อโทสะ จริงอยู่ คนที่มีอัชฌาสัยไม่โกรธ เป็นผู้ปล่อยวางอาฆาตวัตถุแล้วย่อมเห็นสังขารทั้งหลายโดยความเป็นทุกข์
      การเห็นอนัตตาย่อมมีได้ด้วย อโมหะ จริงอยู่ คนที่ไม่หลง เป็นผู้ฉลาดในการถือเอาตามความจริง ย่อมรู้แจ้งขันธ์ ๕ อันไม่ได้เป็นผู้นำ
      อนึ่ง ทรรศนะทั้งหลายมีการเห็นไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมมีได้

       ans1 ans1 ans1 ans1 ans1

      ด้วยเหตุทั้งหลายมี อโลภะ เป็นต้นเหล่านี้ ฉันใด แม้เหตุทั้งหลายมีอโลภะ เป็นต้น เหล่านี้ก็มีได้ด้วยทรรศนะทั้งหลายมี การเห็นอนิจจัง เป็นต้น เช่นเดียวกัน
      จริงอยู่ อโลภะ ย่อมมีได้ด้วยการเห็นอนิจจัง อโทสะ ย่อมมีได้ด้วยการเห็นทุกขัง อโมหะ ย่อมมีได้ด้วยการเห็นอนัตตา ก็ใครเล่ารู้โดยถูกต้องว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นทุกข์แล้ว จะพึงยังความรักให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ขันธ์ ๕ นั้น หรือรู้สังขารทั้งหลายว่าเป็นทุกข์แล้ว จะพึงยังทุกข์เพราะความโกรธอันคมกล้าที่สุดแม้อื่นอีกให้เกิดขึ้น และรู้ความว่างเปล่าจากตัวตนของสังขารทั้งหลายแล้ว จะพึงยังความหลงงมงายให้เกิดขึ้นอีกต่อไป

      ด้วยเหตุดังพรรณนามานี้ ท่านฏีกาจารย์จึงให้อรรถาธิบายคำว่า ผู้มีอัฌชาสัยสมบูรณ์ไว้ว่า อัฌชาสัยของบุคคลนี้สมบูรณ์แล้ว ด้วยอำนาจการยังศีลสมบัติ เป็นต้น อันเป็นส่วนเบื้องต้นให้สำเร็จ และด้วยความเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่โลกุตตรธรรมทั้งหลาย
      เหตุนั้น บุคคลนี้จึงชื่อว่า สมฺปนฺนชฺฌาสโย ผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์แล้ว ฉะนี้





อัชฌาสัย ๖ ประการ
    มีความจริงอยู่ว่า โยคีบุคคลผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์เห็นปานฉะนี้ ย่อมจะบรรลุพระโพธิญาณ ๓ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง สมกับที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า :-

    อัชฌาสัย ๖ ประการ ย่อมเป็นไปด้วยความแก่แห่งโพธิญาณของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย คือ
    ๑. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยไม่โลภ เห็นโทษในความโลภ
    ๒. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยไม่โกรธ เห็นโทษในความโกรธ
    ๓. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยไม่หลง เห็นโทษในความหลง
    ๔. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยในการออกบวช เห็นโทษในฆราวาส
    ๕. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยชอบความสงัด เห็นโทษในการคลุกคลีกับหมู่คณะ และ
    ๖. พระโพธิสัตว์ทังหลาย ผู้มีอัชฌาสัยในพระนิพพาน เห็นโทษในภพและคติทั้งปวง

    ก็แหละ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระขีณาสพ พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่จะมีมาในอนาคต ทั้งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ทั้งหมดนั้นได้บรรลุแล้วซึ่งคุณวิเศษอันตนและตน พึงบรรลุด้วยอาการทั้งหลาย ๖ ประการนี้นั่นเทียว
    เพราะฉะนั้น อันโยคีบุคคลพึงเป็นผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์ด้วยอาการ ๖ ประการเหล่านี้


โยคีผู้มีอธิมุติสมบูรณ์
    ก็แหละ อันโยคีบุคคลนั้น พึงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอธิมุติ ด้วยความเป็นผู้น้อมจิตไปเพื่อประโยชน์นั้น อธิบายว่า พึงเป็นผู้น้อมจิตไปในสมาธิ เป็นผู้หนักในสมาธิ เป็นผู้โน้มจิตไปในสมาธิ และพึงเป็นผู้น้อมจิตไปในนิพพาน เป็นผู้หนักในนิพพาน เป็นผู้โน้มจิตไปในนิพพาน




วิธีสอนกัมมัฏฐาน
     ก็แหละ เมื่อโยคีบุคคลนั้นซึ่งมีอัชฌาสัยและอธิมุติสมบูรณ์ได้ที่แล้ว ดังพรรณนามานี้ขอเอากัมมัฏฐาน อันอาจารย์ผู้ได้สำเร็จเจโตปริยญาณ พึงตรวจสอบวารจิตให้ทราบจริยาเสียก่อน
     สำหรับอาจารย์ที่ไม่ได้สำเร็จเจโตปริยญาณนอกนี้ พึงทราบจริยาโดยสอบถามโยคีบุคคลโดยนัยมีอาทิว่า เธอเป็นคนจริตอะไร หรือธรรมอะไรบ้างรบกวนเธอมาก หรือเมื่อเธอพิจารณาถึงกัมมัฏฐานข้อไหน จึงมีความผาสุกสบาย หรือจิตของเธอน้อมไปในกัมมัฏฐานข้อไหน ครั้นทราบจริยาอย่างนี่แล้ว จึงสอนกัมมัฏฐานอันเหมาะสมแก่จริยาต่อไป


พึงสอนกัมมัฏฐานด้วย ๓ วิธี
     ก็แหละ อันอาจารย์นั้น เมื่อจะสอนกัมมัฏฐานพึงสอนด้วยวิธี ๓ ประการ คือ
     สำหรับโยคีบุคคลผู้เรียนกัมมัฏฐานอยู่แล้วตามปกติ พึงให้สาธยายให้ฟังต่อหน้าสัก ๑ หรือ ๒ ที่นั่ง (๑-๒ จบ) แล้วจึงมอบให้ อย่างหนึ่ง
     สำหรับผู้ที่อยู่ประจำในสำนัก พึงสอนให้ทุกๆครั้งที่เธอมาหา อย่างหนึ่ง
     สำหรับผู้ที่เรียนเอาแล้วประสงค์จะไปปฏิบัติ ณ ที่อื่น พึงสอนอย่าให้ย่อเกินไป อย่าให้พิสดารเกินไป อย่างหนึ่ง


พึงสอนให้ทราบอาการ ๙ อย่าง
    ในกัมมัฏฐานเหล่านั้น เมื่ออาจารย์จะสอนปถวีกสิณกัมมัฏฐานเป็นประการแรก พึงสอนให้ทราบอาการ ๙ เหล่านั้น คือ
            โทษแห่งกสิณ ๔ อย่าง ๑
            วิธีทำดวงกสิณ ๑
            วิธีภาวนาซึ่งกสิณที่ทำแล้ว ๑
            นิมิต ๒ อย่าง ๑
            สมาธิ ๒ อย่าง ๑
            ธรรมเป็นที่สบายและไม่เป็นที่สบาย ๗ อย่าง ๑
            ความเป็นผู้ฉลาดในอัปปนา ๑๐ อย่าง ๑
            การทำความเพียรให้สม่ำเสมอ ๑
            วิธีแห่งอัปปนา ๑
    แม้ในกัมมัฏฐานที่เหลือทั้งหลาย ก็พึงสอนอาการอันสมควรแก่กัมมัฏฐานนั้นๆ อาการทั้งหมดนั้นจักแจ้งชัดในวิธีภาวนาของกัมมัฏฐานทั้งหลายเหล่านั้น



โยคีบุคคลต้องจำให้แม่นยำ
    ก็แหละ เมื่ออาจารย์สอนกัมมัฏฐานให้อยู่ด้วยอาการอย่างนี้ อันโยคีบุคคลนั้นพึงตั้งใจฟัง จำเอานิมิตนั้นให้ได้ คือเอาอาการนั้นๆ มาผูกไว้ในใจอย่างนี้ว่า นี้เป็นบทหลังนี้เป็นบทหน้า นี้เป็นใจความของบทนั้น นี้เป็นอธิบายของบทนั้น และบทนี้เป็นคำอุปมา

    ก็แหละ เมื่อโยคีบุคคลฟังอยู่โดยความเคารพ จำเอานิมิตได้อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นอันชื่อว่า เรียนเอากัมมัฏฐานด้วยดีแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ การบรรลุคุณวิเศษ ก็จะสำเร็จแก่เธอ เพราะอาศัยการเรียนเอาด้วยดีแล้วนั้น แต่ย่อมจะไม่สำเร็จแก่โยคีบุคคลผู้ไม่ได้เรียนเอาด้วยดีนอกนี้

    อรรถาธิบายความแห่งคำว่าเรียนนี้ ยุติเพียงเท่านี้
    ด้วยอรรถาธิบายเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าบทอันเป็นหัวข้อสังเขปว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรแล้ว เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ อันเหมาะสมแก่จริตจริยาของตน ดังนี้ อันข้าพเจ้าได้อธิบายให้พิสดารแล้วโดยสิ้นเชิง ด้วยประการฉะนี้แล

    กัมมัฏฐานคหณนิเทศ ปริเฉทที่ ๓ ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรคอันข้าพเจ้ารจนาขึ้นเพื่อความปราโมชแห่สาธุชน ยุติลงด้วยประการฉะนี้


อ้างอิง :-
วิสุทธิมรรค รจนาโดย พระพุทธโฆสะ
ฉบับแปลโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสโภ) และคณะ
วิสุทธิมรรค เล่ม ๑ ภาคสมาธิ ปริเฉทที่ ๓ กัมมัฏฐานคหณนิเทศ(หน้าที่ 189-194)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 01, 2015, 10:00:44 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

sinjai

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 144
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0

       ขออนุโมทนาสาธุ
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28409
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



คำขอขมา พระรัตนตรัย (ก่อนอาราธนาพระกรรมฐาน)

          อุกาสะ วันทามิ ภันเต สัพพัง,
          อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต,
          มะยา กะตัง ปุญ  ญัง สามินา อนุโมทิตัพพัง,
          สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง,
          ทาตัพพัง   สาธุ สาธุ อนุโมทามิ,
          สัพพัง  อะปะราธัง ขะมะถะ เม  ภันเต (กราบ ๑ ครั้ง)

          (คำแปล) ข้าพเจ้าขอกราบไหว้ ขอท่านจงอดโทษแก่ข้าพเจ้า
          บุญที่ข้าพเจ้าทำแล้ว ขอท่านพึงอนุโมทนาเถิด
          บุญที่ท่านทำ ท่านก็พึงให้แก่ข้าพเจ้าด้วย

          สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเมภันเต,
          อุกาสะ  ทวารัตตะเยนะ กะตัง,
          สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต,
          อุกาสะ ขะมามิ ภันเต  (กราบ ๑ ครั้ง)
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ