ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วิจิตรตระการตา "วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร" วัดประจำรัชกาลที่ ๑๐  (อ่าน 613 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร


วิจิตรตระการตา "วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร" วัดประจำรัชกาลที่ ๑๐

ตลอดยุคสมัยต่างๆ ที่ผ่านมา กษัตริย์ในแผ่นดินไทยแต่ละพระองค์ต่างก็ทรงมีความเลื่อมใส และให้การสนับสนุนพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างวัดต่างๆ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางและศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธขึ้นมากมาย

ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ก็เช่นกัน กษัตริย์แต่ละพระองค์ก็ได้ทรงสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ขึ้น ด้วยเหตุนี้ ในภายหลัง เราจึงยกย่องให้วัดซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงมีความผูกพันเหล่านี้เป็นวัดประจำรัชกาลของแต่ละพระองค์

เหตุผลของการยึดถือวัดใดวัดหนึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลนั้น จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ได้ให้เหตุผลไว้ว่า

“วัดซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลนั้น มักจะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ท่านทรงสร้าง หรือปฏิสังขรณ์ และให้ความสนใจกับวัดนี้เป็นพิเศษ หรือมีความผูกพันกับวัดนี้มากๆ เมื่อพระองค์สวรรคต พระบรมอัฐิก็จะถูกนำไปบรรจุอยู่ที่ฐานของพระประธาน แต่การประกาศว่าวัดไหนเป็นวัดประจำรัชกาลนี้ ไม่ได้มีการประกาศออกเป็นทางการ เพียงแต่เกิดจากการที่คนพูดกันว่าวัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลนี้ๆ และดูจากความผูกพันที่พระองค์ท่านทรงมีให้กับวัดนั้นๆ มากกว่า”


ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในส่วนของความเป็นมาของการกลายมาเป็นวัดประจำแต่ละรัชกาลนั้น ก็นับได้ว่ามีความน่าสนใจไม่แพ้ตัววัดเลยทีเดียว

สำหรับวัดประจำรัชกาลที่ ๑๐ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร พระอารามหลวงในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) นับได้ว่าเป็นวัดที่มีความเป็นมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว

วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร ตั้งอยู่ในซอย 101/1 สุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ เดิมวัดแห่งนี้ชื่อ วัดทุ่งสาธิต มีคหบดีชาวลาวเป็นผู้สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.2399 มีการเล่าต่อกันมาว่าเป็นวัดร้างมาก่อน โดยคหบดีชาวลาวท่านนี้อพยพมาสมัยเวียงจันทน์แตก หลังจากคหบดีท่านถึงแก่กรรม วัดนี้จึงถูกทิ้งร้าง ประกอบกับเจ้าอาวาสองค์สุดท้ายมรณภาพลงจึงไม่มีใครสืบสาน และก็สมัยก่อนนั้นวัดนี้อยู่ห่างไกลความเจริญ เป็นทุ่งนาส่วนใหญ่


พระอุโบสถ วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร

กระทั่ง อดีตเจ้าอาวาสพระโสภณวชิรธรรม (สาธิต ฐานวโร) ได้มาบูรณะ จากวัดร้างจึงกลายเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2506 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พระบรมราชอิสริยยศรัชกาลที่ ๙ ในขณะนั้น) มีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงรับวัดทุ่งสาธิต ไว้ในพระอุปถัมภ์ และได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร”

จากวัดร้างจึงเป็นวัดราษฎร์ ต่อมาในปี พ.ศ.2515 จากวัดราษฎร์ มาเป็น พระอารามหลวง และวัดพัฒนาตัวอย่างในปี พ.ศ.2519 ในที่สุด ทั้งยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพระโขนงอีกด้วย โดยมี พระราชวชิรโสภณ (ข่าย อาคโม) เป็นเจ้าอาวาสปัจจุบัน


ภายในพระอุโบสถ

หลวงพ่อวัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร เล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ที่วัดนี้อยู่หลายครั้ง และเมื่อปี 2543 เสด็จฯ บำเพ็ญกุศลถวายผ้า พระกฐินพระราชทาน ณ พระอุโบสถ ในขณะนั้นก็มีชาวบ้านที่อยู่ละแวกนี้มารอรับเสด็จมากมาย ต่อมาหลังจากที่ประชาชนทราบข่าวว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑๐ ก็มีพุทธศาสนิกชนต่างเดินทางมาชมและมาทำบุญเพิ่มขึ้น

ขณะนี้ทางวัดได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซมในส่วนของเจดีย์ และภายในวิหารบางส่วน ซึ่งได้มีการบูรณะเรื่อยมาหลังจากที่เห็นว่ามีบางส่วนเริ่มมีความทรุดโทรม


ภายในพระวิหาร

ด้านแม่ค้าขายเครื่องสังฆภัณฑ์ เล่าให้ฟังว่า ตนอาศัยอยู่ที่นี่มานานกว่า 40 ปีแล้ว และเคยรอรับเสด็จฯ อยู่สองครั้ง ส่วนตัวรู้สึกปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเฝ้ารอรับเสด็จฯ ถือเป็นสิริมงคลของชีวิต และหลังจากที่ประชาชนทราบข่าวว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑๐ ก็มีญาติโยมเดินทางมาเพิ่มมากขึ้น บ้างก็เป็นชาวบ้านในพื้นที่ บ้างก็มาจากต่างจังหวัด หากใครมาแล้วก็อยากให้เข้าไปกราบสักการะหลวงปู่บัวขาวด้วย ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านชุมชนแห่งนี้

พระพุทธมหามุนีศรีหริภุญชัย

โดยความหมายของชื่อ วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร ทางวัดได้อธิบายไว้ดังนี้
วชิร = วชิราลงกรณ์
ธรรม = คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
สาธิต = นามเดิมพระโสภณวชิรธรรม
วรวิหาร = พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร

ภายในวัดแห่งนี้มีพระอุโบสถที่สวยงามและพระเจดีย์จุฬามณีศรีล้านนา ซึ่งได้จำลองมาจากพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 25 องค์ พระอรหันต์สาวกธาตุ 289 องค์ และพุทธรูปทองคำอีก 2 องค์


รูปหล่ออดีตเจ้าอาวาสวัด

ส่วนพระอุโบสถปูด้วยไม้สักปาเก้ประตู-หน้าต่างทำด้วยไม้สักซึ่งแกะสลักอย่างวิจิตรงดงามโดยฝีมือช่างชาวเหนือ ภายในพระอุโบสถ มีพระปรางค์ 3 องค์ องค์กลางบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ขององค์ขวาและองค์ซ้าย บรรจุพระธาตุทอง พระอัครสาวกทั้งสอง คือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ นอกจากนี้ภายในอุโบสถหลังเก่ายังมีภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเยาว์วัยด้วย

และมีพระเจดีย์จุฬามณีศรีลานนา มีความกว้าง 25 ศอก 9 นิ้ว ความสูง 49 ศอก ภายในพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 25 องค์ พระธาตุอรหันตสาวก 289 องค์ พระพุทธรูปทองคำ 2 องค์


วิหารหลวงพ่อปู่ดอกบัวขาว

ถัดไปมีพระวิหารพุทธมหามุนีศรีหริภุญชัยที่จำลองมาจากวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ ปูด้วยไม้สักปาเก้ ภายในประดับด้วยลวดลายดอกปูน ศิลปะล้านนา เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระพุทธมหามุนีศรีหริภุญชัย

และยังมีสังเวชเจดีย์ ที่มีการจำลองมาจากพระ เจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย บรรจุดินสังเวชนียสถาน 4 ตำบล พร้อมด้วยรัตนปราการ และพระบรมสารีริกธาตุ มีพระเจดีย์ 5 องค์ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และด้านหลังมีอาคารพระปริยัติธรรม พร้อมทั้งให้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ “ม.ว.ก.” ขึ้นประดิษฐานที่หน้าบันของอาคารด้วย


หลวงพ่อปู่ดอกบัวขาว

พระนามาภิไธยย่อ “ม.ว.ก.” ด้านหน้าของอาคาร

หากใครมีโอกาสเดินทางมาแถวเขตพระโขนง ก็อย่างลืมแวะมาทำบุญ ไหว้พระประธานภายในพระอุโบสถ พร้อมชมความงดงามของวัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร โดยภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่มากมายให้ได้ชมกัน

พระเจดีย์จุฬามณีศรีล้านนา จำลองมาจากพระธาตุหริภุญชัย

โดยวัดประจำรัชกาล 10 รัชกาล ได้แก่

วัดประจำรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์
วัดประจำรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คือวัดอรุณราชวราราม วรมหาวิหาร หรือวัดแจ้ง
วัดประจำรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร หรือเดิมชื่อวัดจอมทอง
วัดประจำรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรมหาวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ วัดบวรนิเวศวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้มีการสร้างวัด แต่พระองค์ท่านได้ปฏิสังขรณ์วัดของพระราชบิดา หรือรัชกาลที่ ๕ แทน จึงถือว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำทั้งรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๗ เช่นกัน
วัดประจำรัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล คือ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ วัดพระราม 9 กาญนาภิเษก
วัดประจำรัชกาลที่ ๑๐ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร



ขอบคุณที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9620000044990
เผยแพร่ : 10 พ.ค. 2562 18:00 ,ปรับปรุง : 10 พ.ค. 2562 22:32 , โดย : ผู้จัดการออนไลน์
Facebook :Travel @ Manager
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ