ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “เขาคิชฌกูฏ” ดินแดนที่เปรตชุกชุม  (อ่าน 475 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
“เขาคิชฌกูฏ” ดินแดนที่เปรตชุกชุม
« เมื่อ: พฤษภาคม 20, 2019, 08:35:10 am »
0




ดินแดนที่เปรตชุกชุม

สมัยผมยังเล็กได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่เล่าเรื่องเปรตแล้วขนลุกด้วยความกลัว แต่ก็อยากฟัง ภาพของเปรตในจินตนาการก็คือ ตัวสูงกว่าลำตาล แลบลิ้นยาวเฟื้อย มีอยู่ชุกชุมที่วัดสุทัศน์ จึงมักมีคำพูดติดปากว่า“เปรตวัดสุทัศน์” (ทำไมต้องวัดสุทัศน์ไม่ทราบ)

นี่คือความรับรู้ของผมเกี่ยวกับเรื่องเปรตสมัยยังเด็ก พอโตมาได้บวชเป็นเณรน้อย เรียนบาลี แปลหนังสือบาลีออกแล้ว จึงรับรู้เรื่องเปรตได้อย่างกว้างขวาง เชื่อไหมครับ คัมภีร์พระศาสนาได้พูดถึงเปรตมากเป็นพิเศษถึงขนาดรวบรวมเป็นตอนหนึ่งเลยเรียกว่า “เปรตวัตถุ” (เรื่องของเปรต) คู่กับ“วิมานวัตถุ” (เรื่องของเทวดาที่อยู่บนสวรรค์วิมาน)

เอาไว้ว่างๆ ผมจะนำมาขยายให้ฟัง วันนี้ขอพูดถึงสถานที่ที่มีเปรตชุกชุมตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์ก่อน สถานที่นั้นคือ “เขาคิชฌกูฏ” ครับ


@@@@@@

เขาคิชฌกูฏ แปลกันว่าเขานกแร้ง เพราะเหตุผลสองประการคือ ประการที่หนึ่งมีอีแร้งมากมายพากันมาจับอยู่ตามชะง่อนผาคอยกินซากศพ ว่ากันว่า ณ หุบเหวแห่งหนึ่งที่เขานี้เป็นสถานที่ที่เขานำโจรลือชื่อที่ต้องโทษประหารมาโยนทิ้งให้ตายทั้งเป็น จนมีคนเรียกเหวนี้ว่า “เหวทิ้งโจร” อีแร้งจึงพากันมารอจับกินซากศพกันเป็นฝูง

อีกเหตุผลหนึ่งว่ากันว่าเขานี้รูปร่างคล้ายอีแร้ง เวลามองมาแต่ไกลจะมองเห็นเหมือนอีแร้งตัวเบ้อเร่อจับอยู่ ว่าอย่างนั้น ผมเคยไปอินเดียสองครั้ง จ้องเขาคิชฌกูฏ อย่างพินิจพิเคราะห์ มองยังไงๆ ก็ไม่เห็นเค้าว่ามันจะเหมือนอีแร้งตรงไหน หรือว่าอีแร้งแขกกับอีแร้งไทยมันไม่เหมือนกันก็ไม่รู้สิครับ

บนยอดเขาคิชฌกูฏมีพระคันธกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้าและกุฏิของพระอานนท์อยู่ถัดมา ปัจจุบันนี้ยังมีซากปรักหักพังหลงเหลืออยู่ รัฐบาลอินเดียอนุรักษ์ไว้อย่างดี เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้มาชมวันละหลายคณะ

@@@@@@

ลดหลั่นลงมาอีกนิดก็เป็นสถานที่ที่พระเทวทัตกลิ้งก้อนหินจะให้ทับพระพุทธเจ้า (สถานที่นี้ไม่มีเขียนบอกไว้ ได้แต่สันนิษฐานกันเอา) ต่ำลงมาอีกก็เป็นถ้ำ “สุกรขาตา” (ถ้ำหมูขุดหรือถ้ำคางหมู) ที่เรียกว่าถ้ำคางหมูนี้มองออก เพราะดูคล้ายคางหมูจริงๆ ถ้ำนี้พระสารีบุตรชอบมาเข้าฌานสมาบัติ เป็นสถานที่ที่ท่านได้บรรลุอรหันต์ด้วย

ต่ำลงมาอีกเป็นสถานที่พักพลของพระเจ้าพิมพิสาร เล่ากันว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้เคารพพระพุทธเจ้ามาก มีเวลาว่างเมื่อใดก็จะเสด็จมาฟังธรรม เมื่อขบวนเสด็จตามขึ้นเขามาถึงตรงจุดนี้ พระองค์จะทรงถอดเครื่องทรงออกหมด ทรงฉลองพระองค์อย่างอุบาสกธรรมดาคนหนึ่ง สั่งให้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จพักรออยู่ ณ จุดนี้ พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินโดยพระบาทไปเฝ้าพระพุทธเจ้าตามลำพัง

อีกมุมหนึ่งเป็นเหวทิ้งโจรดังที่กล่าวแล้ว ไม่มีป้ายปักบอกไว้ได้แต่เดาเอาเองว่าน่าจะเป็นที่นั้นที่นี้

อีกมุมหนึ่งไม่รู้มุมไหน รู้แต่ว่าพวกเปรตมันมาชุมนุมกันสลอนทีเดียวแหละครับ พระสงฆ์สาวกพากันเดินขึ้นเดินลงเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกวัน ไม่มีท่านใดเห็นเปรตพวกนี้ มีอยู่ท่านหนึ่งที่มักจะเห็นบ่อยๆ


@@@@@@

ท่านรูปนี้ชื่อพระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธองค์ ท่านไปไหนมาไหนจะมีศิษย์ติดตามใกล้ชิดอยู่รูปหนึ่งชื่อพระลักขณะ เมื่อท่านโมคคัลลานะเห็นเปรตแต่ละครั้ง ท่านจะยิ้มน้อยๆ ที่มุมปาก

พระลักขณะจะถามว่าท่านยิ้มทำไม
“ผมเห็นเปรตตัวหนึ่ง รูปร่างพิลึกพิลั่นเหลือประมาณ” ท่านบอกลูกศิษย์

ครั้นลูกศิษย์รบเร้าให้เล่าให้ฟัง ท่านจะบอกว่าเอาไว้ถามเวลาอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธองค์ บอกตรงนี้เดี๋ยวจะหาว่าพูดไม่จริงให้พระพุทธองค์ทรงเป็นสักขีพยาน

ทุกครั้งที่พระโมคคัลลานะเล่าว่าได้เห็นเปรตรูปร่างอย่างนั้นๆ พระพุทธองค์ตรัสว่า โมคคัลลานะเห็นจริง เปรตตัวนี้เราก็เคยเห็นแต่ไม่บอกใคร แล้วพระองค์จะทรงเล่าบุพกรรมของมันให้เหล่าสาวกฟังว่า มันทำบาปกรรมอะไรไว้จึงมาเกิดเป็นเปรตหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวอย่างนั้น

@@@@@@

มีอยู่คราวหนึ่งพระโมคคัลลานะเล่าว่าเห็นเปรตอัณฑะใหญ่มาก ไปไหนมันจะแบกอัณฑะสองลูกนั้นไปอย่างทุลักทุเล แบกไปล้มไป เพราะมันหนักมาก พระพุทธองค์ตรัสยิ้มๆ ว่า รู้ไหมชาติก่อนเปรตตัวนี้ทำบาปอะไร เมื่อพระสงฆ์นั่งเงียบ พระองค์ตรัสต่อไปว่า

“มันเป็นผู้พิพากษา นั่งตัดสินความ ทำคนถูกให้ผิด ทำคนผิดให้ถูก เพราะมันรับสินบนเขามา ตัดสินคดีความไม่ยุติธรรม ตายไปจึงมาเกิดเป็นเปรตแบกลูกอัณฑะ”

ใครมีอาชีพเกี่ยวกับกฎหมาย ถ้าไม่อยากแบกไข่มหาศาลก็ฟังไว้นะขอรับ



คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ : ดินแดนที่เปรตชุกชุม โดยเสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 19 พฤษภาคม 2562 - 13:00 น.
ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/columnists/news_1499438
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ