สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 29, 2019, 06:06:26 am



หัวข้อ: ไม่นานหนอ.! ร่างกายนี้จักปราศจากวิญญาณ นอนทับแผ่นดิน ดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้..!?
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 29, 2019, 06:06:26 am
(https://static.posttoday.com/media/content/2017/09/09/F03B357E213A4793BA3ADF63DB304C71.jpg)



คาถา “บังสุกุลเป็น” ครั้งแรก เกิดขึ้นที่ไหน เกิดได้อย่างไร.?

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (37) : คาถา “บังสุกุลเป็น” ครั้งแรก

ผู้บวชเป็นพระภิกษุ โดยหลักการต้องละทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมีในเพศผู้ครองเรือน อย่าว่าแต่ทรัพย์สมบัติเลย แม้ชื่อเสียงเรียงนามก็ละหมดไปใช้ชื่อใหม่อันเรียกในภาษาพระว่า “ฉายา” เช่น สมมุติชื่อเดิม “ขรรค์ชัย บุนปาน” ก็ต้องทิ้งไป เพราะนามขรรค์ชัย บุนปาน มันใหญ่ไป มีอิทธิพลทำให้คนเกรงกลัว ข้าราชการผู้ใหญ่รับตำแหน่งใหม่มาเยี่ยมยังบอกว่า มารับนโยบายใหญ่เกินไปจะทำให้เกิดทิฐิมานะ บวชแล้วต้องเปลี่ยนเป็น “ปุญฺญปาโน” (ผู้ดื่มบุญ) อะไรทำนองนี้

สมัยพุทธกาล เมื่อครั้งเจ้าชายศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ 6 พระองค์ออกบวช มี นายภูษามาลา หรือ “บาร์เบอร์” คนหนึ่งชื่ออุบาลีบวชด้วย เจ้าชายทั้งหลายอนุญาตให้นายภูษามาลาบวชก่อน ทั้งนี้เพื่อจะ “ถอนทิฐิมานะ” ให้ลูกน้องบวชก่อนอายุพรรษามากกว่า พวกตนจะได้กราบไหว้

ยิ่งไปกว่านี้ บวชแล้วถือว่าตัดขาดจากตระกูลวงศ์ เป็นคนของพระศาสนา ไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกันอีกต่อไป มีสกุลวงศ์ใหม่คือ “ศากยปุตติยวงศ์” วงศ์แห่งพระสมณะศากยบุตร มีพระบรมศาสดาเป็นพ่อ มีเพื่อนพระภิกษุด้วยกันเป็นพี่น้อง คอยช่วยเหลือดูแลกัน นี้ว่าโดยหลักการ แต่โดยการปฏิบัติก็อาจย่อหย่อนไปบ้าง

@@@@@@

ดังเกิดกรณีพระปูติคัตตะขึ้น นามเดิมท่าน ติสสะ ต่อมาได้สมญานามว่า ปูติคัตติ (แปลว่า ผู้มีกายเน่าเหม็น) สาเหตุที่ท่านได้นามอันไม่พึงปรารถนาเช่นนี้ เนื่องมาจากท่านป่วยเป็นโรคผิวหนัง แรกๆ ก็ไม่เป็นอะไรมาก แต่เนื่องจากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้อง ร่างกายก็เกิดตุ่มขึ้นเต็มตัว คันยุบยิบ ยิ่งเกาก็ยิ่งแสบยิ่งคัน หนักเข้าก็เป็นหนองแตกไหลเยิ้มไปทั่วร่าง ส่งกลิ่นไม่พึงปรารถนา เพื่อนสหธัมมิกด้วยกันต่างก็รังเกียจเดียดฉันท์ ปล่อยให้เธอดูแลตัวเองตามบุญตามกรรม ท้ายสุด เธอถูกเพื่อนพระด้วยกันทอดทิ้งนอนแซ่วอยู่บนแคร่ รอความตายอย่างน่าสงสาร

พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณ จึงทรงชักชวนพระอานนท์เสด็จไปยังสถานที่อยู่ของท่านติสสะ ไปถึงก็รับสั่งให้พระอานนท์ก่อไฟตั้งน้ำ น้ำเดือดแล้วทรงผสมน้ำอุ่นด้วยพระองค์เอง ทรงยกถังน้ำอุ่นไปเช็ดตัวให้ท่านติสสะ โดยมิได้ทรงรังเกียจในกลิ่นเหม็นเน่าแต่ประการใด

ภิกษุทั้งหลายเห็นพระพุทธเจ้าทรง “ลงมือทำ” ด้วยพระองค์เอง ดังนั้น ก็รู้สึกสำนึกผิดกัน มารับอาสาทำเอง พระองค์ตรัสว่า “ไม่ต้อง ตถาคตทำเอง”

@@@@@@

หลังจากพระพุทธองค์ทรงเช็ดร่างกายให้สักพัก ภิกษุหนุ่มก็มีร่างกายเบา เธอรู้สึกปลื้มปีติเป็นล้นพ้นที่พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาต่อตน ทั้งๆ ที่เพื่อนพระภิกษุด้วยกันไม่เหลียวแลแล้ว เมื่อร่างกายเบา จิตใจก็สงบรำงับขึ้น พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาเตือนสติสั้นๆ ว่า

     "ไม่นานหนอ ร่างกายนี้จักปราศจากวิญญาณนอนทับแผ่นดิน ดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่า หาประโยชน์อะไรมิได้ ฉะนั้น"

เธอพิจารณาไปตามกระแสพระพุทธดำรัส ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับสิ้นชีวิต เป็นพระอรหัตที่ตำราเรียกว่า “สมสีสี” (อ่าน “สะ-มะ-สี-สี” แปลว่า ผู้ดับกิเลสและดับชีวิตพร้อมกัน) เป็นอันว่าเธอได้พ้นทุกข์แล้ว เป็นการพ้นทุกข์จากสังขารวัฏจักรอย่างถาวร ก็ยังเหลือแต่ภิกษุทั้งหลายซึ่งเป็นเพื่อนสหธัมมิกของติสสะนั้นแหละจะต้องเวียนว่ายต่อไป

      พระผู้มีพระภาคทรงหันมายังภิกษุทั้งหลายที่ยืนอยู่ข้างๆ ตรัสสอนว่า
     “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอละบ้านเรือนมา ไม่มีพ่อไม่มีแม่ ไม่มีญาติพี่น้อง พวกเธอพึงดูแลกันและกัน ถ้าพวกเธอไม่ดูแลกันเอง แล้วใครเล่าจะมาดูแล”

     แล้วตรัสต่อไปว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าใครพึงหวังจะอุปฐากตถาคต ก็พึงอุปฐากดูแลภิกษุไข้เถิด”
     ความหมายของพระองค์ก็คือ อย่ามัวเอาใจพระพุทธเจ้าเลย จงไปดูแลภิกษุไข้เถิด การดูแลภิกษุไข้ มีอานิสงส์เท่ากับดูแลพระพุทธทีเดียว

     @@@@@@@

     พุทธภาษิตที่ตรัสสอนพระภิกษุหนุ่ม “ปูติคัตตะ” ว่า
     อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวี อธิเสสฺสติ
     ฉุฑฺโฑ อเปตวิญญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ

     ไม่นานหนอ ร่างกายนี้จักปราศจากวิญญาณนอนทับแผ่นดิน
     ดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้หาประโยชน์มิได้ฉะนั้น

ว่ากันว่า เป็นที่มาของคาถา “บังสุกุลเป็น” มาจนปัจจุบันนี้ (เดี๋ยวนี้ ประเพณีจะดูหายไปเกือบหมดสิ้น)



ที่มา : ฉบับวันที่ 20-26 ธันวาคม 2562
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_259219 (https://www.matichonweekly.com/column/article_259219)
ขอบคุณภาพจาก : https://www.posttoday.com/ (https://www.posttoday.com/)