ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ไหลเรือไฟ...ใหญ่กว่าดิจิทัลคือศรัทธา  (อ่าน 833 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ไหลเรือไฟ...ใหญ่กว่าดิจิทัลคือศรัทธา
« เมื่อ: กันยายน 19, 2014, 07:34:44 pm »
0


ไหลเรือไฟ...ใหญ่กว่าดิจิทัลคือศรัทธา
ท่องไปกับใจตน : ไหลเรือไฟ...ใหญ่กว่าดิจิทัลคือศรัทธา : โดย...ธีรภาพ โลหิตกุล teeraparb108smile@gmail.com

รู้ทั้งรู้ ว่า ประเพณีลอยเรือไฟ หรือ ไหลเฮือไฟ เป็นภูมิปัญญาแต่โบราณนานมาของชาวสองฝั่งโขง แต่ถึงวันที่การสร้างเรือไฟในฝั่งไทย พัฒนาไปไกลขนาดสูงใหญ่เท่าตึกสี่ชั้น ก็อดคิดไม่ได้ว่า สมัยนี้คงต้องมีเทคโนโลยีมาช่วย มิฉะนั้น คงไม่สามารถเนรมิตให้ดวงไฟนับหมื่นดวงสว่างไสวไปทั้งคุ้งน้ำ อย่างที่เห็นในภาพข่าวช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี ตราบจนกระทั่ง...ตุลาคม 2556 ได้สัญจรไปพิสูจน์ให้เห็นกับตา จนกระจ่างในหัวใจ ถึงจุดกำเนิดเรือไฟ ณ ริมฝั่งโขง จังหวัดนครพนม ก็ถึงกับอึ้งในภาพแห่งความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า และตะลึงกับตัวเลขสถิติที่ไม่คาดคิดมาก่อน จนต้องอุทานกับใจตน ว่ากี่ครั้งแล้วที่นายประเมินพลังศรัทธาของชาวบ้านต่ำเกินไป
 
และนี่คือข้อมูลทางกายภาพของเรือไฟประจำปี 2556 ของอำเภอนาทม จังหวัดนครพนม เรือมีขนาดความยาว 100 เมตร สูง 28 เมตร (ตึกสี่ชั้น) ใช้กระป๋องกาแฟทำเป็นตะเกียงน้ำมัน ประมาณ 25,000 ใบ ใช้แรงงานในการสร้างโครงและติดตั้งกระป๋องตะเกียงราว 100 คน ใช้คน 150 คน จุดไฟกระป๋องตะเกียงพร้อมๆ กัน เพื่อให้เป็น “เรือไฟ” ลอยไปในแม่น้ำราว 4 ชั่วโมง ในค่ำคืนวันออกพรรษา ใช้เวลาในการสร้างราว 1 เดือน ใช้งบประมาณราว 500,000 บาท!

 

นั่นหมายความว่า ภาพเรือไฟอันตระการตาที่เห็นนั้น แต่ละดวงเกิดจากมือคนจุดขึ้นมาแบบ “อนาล็อก” หาได้มีรีโมทกดสั่งให้ไฟเปิด-ปิด ได้พร้อมกันพรึบพรับแต่ประการใด ด้วยเหตุนี้ ระหว่างที่เรือลอยลำสว่างไสวไปในลำโขง จึงยังต้องมีมนุษย์งานอีกนับสิบชีวิต เสียสละทนเปลวร้อนและควันไฟคละคลุ้ง คอยปีนป่ายไปทั่วเรือ เพื่อจุดซ่อมไฟในกระป๋องกาแฟบางดวงที่อาจโดนลมพัดดับ รวมทั้งคอยช่วยกันดับเพลิง ในกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย ด้วยไฟอาจลามไหม้เรือที่สร้างจากไม้ไผ่ลำนี้ได้
 
ที่เล่าให้ฟังนี้ คือเรือไฟที่เข้าร่วมประเพณีไหลเรือไฟจากอำเภอเดียว แต่ยังมีเรือไฟจากอำเภออื่น และหน่วยงานอื่นๆ อีกนับสิบลำ พื้นที่ว่างริมฝั่งโขง เขตอำเภอเมืองนครพนม ใกล้ศูนย์กลางงาน จึงกลายสภาพเป็นหมู่บ้านย่อยๆ ของเหล่านักสร้างเรือไฟ ที่เป็นตัวแทนจากอำเภอต่างๆ มาชุมนุมกันนานนับเดือน ชนิดที่ต้องตั้งครัวหุงข้าวเลี้ยงดูกันเป็นเรื่องเป็นราว โดยมีหน่วยงานอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้การสนับสนุน
 
กระป๋องกาแฟที่ใช้แล้ว อุปกรณ์สำคัญที่ทำให้เรือไม้กลายเป็น “เรือไฟ” ถูกกว้านซื้อจากแทบทุกจังหวัดในภาคอีสาน ถือเป็นมหกรรม “รีไซเคิล” ระดับบันลือโลก เพราะผลผลิตจากการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ไม่ใช่ก้อนโลหะตามปกติธรรมดา หากคือ “สินค้าทางวัฒนธรรม” ที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ภายใต้ชื่อ “ประเพณีไหลเรือไฟและงานกาชาดจังหวัดนครพนม” เป็นงานประจำปีที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศจากทุกสารทิศ ตอบคำถามค้างคาใจใครต่อใครว่า แล้วสังคมและชุมชนจะได้อะไรจากการทุ่มทุนสร้างเรือไฟกันลำหนึ่งนับแสนๆ บาท

 


เหนือสิ่งอื่นใด คือพลังแห่งพุทธศรัทธามหาศาล กับภูมิปัญญาพื้นบ้าน และวัฒนธรรมพื้นถิ่นล้ำเลอค่า ยังได้รับการรักษาและสืบสานไว้ในสังคมดิจิทัล ให้ชนรุ่นหลังและโลกยุคใหม่ได้รับรู้ว่า ประเพณีนี้เริ่มจากแรงศรัทธาของชาวลุ่มน้ำโขง ที่ปรารถนาจะสักการบูชารอยพระพุทธบาทแห่งองค์พระศาสดา ที่ประทับไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมนที เมื่อครั้งเสด็จไปแสดงธรรมเทศนาโปรดพญานาคตามที่ปรากฏใน “อรรถกถาปุณโณวาทสูตร” รวมถึงธรรมเนียมการลอยประทีปบูชาเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เลื่อนไหลถ่ายเทมาจากสังคมอินเดีย จึงได้สร้างเรือลำเล็กๆ จากไม้ไผ่และหยวกกล้วย ประดับดอกไม้บูชา แล้วนำผ้าสบงจีวรเก่าของพระมาฉีกเป็นริ้ว ชโลมด้วยน้ำมันจากไม้สนหรือไม้ยาง นำไปตากให้แห้งแล้วผูกเป็นปม หรือมัดด้วยลวดไว้ตลอดลำเรือ
 
ที่น่าสนใจคือธรรมเนียมการทำเรือไฟแต่โบราณ ชาวบ้านจะช่วยกันบริจาคเสื้อผ้า ผ้าห่ม  ขนมนมเนย ผลไม้ ใส่ลงไปในลำเรือ เพื่อให้ทานแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากสองฟากฝั่งลำน้ำด้วย โดยเลือกที่จะลอย หรือ “ไหล” เรือไฟบูชารอยพระพุทธบาทนั้น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา ซึ่ง “เทโวโรหณะสูตร” ระบุว่าเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับลงมาโปรดสัตว์ในมนุษยโลก หลังเสด็จไปแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วจากเรือไฟหยวกกล้วยลำเล็ก พัฒนาสู่เรือที่ออกแบบเป็นพญานาค พญาครุฑ พญาหงส์ ฯลฯ ลำใหญ่ขึ้น จากผ้าสบงจีวรชุบน้ำมันสน น้ำมันยาง มาสู่การใช้ขี้ไต้ที่ทำให้เรือไฟสว่างนานขึ้น

 


จนถึงยุคน้ำมันก๊าซบรรจุในกระป๋องกาแฟ บวกกับเคล็ดลับเฉพาะของทีมสร้างแต่ละอำเภอ ที่จะทำให้กระป๋องไฟส่องสว่างได้นานนับ 4 ชั่วโมง ที่เรือไฟลำใหญ่มหึมาราวตึกสี่ชั้น ไหลลอยไปอวดสายตามหาชนสองฟากฝั่งโขง ในคืนวันออกพรรษา น่าดีใจที่คณะผู้จัดงานประเพณีไหลเรือไฟฯ นครพนม ยังเห็นคุณค่าแห่งภูมิปัญญาโบราณ จึงจัดให้มีการจำลองเรือไฟยุคหยวกกล้วยไว้ให้ชมช่วงหกโมงเย็น ก่อนขบวนเรือไฟใหญ่ยักษ์จะพาเหรดออกมาอวดโฉมช่วงค่ำ 
 
ประเพณีไหลเรือไฟและงานกาชาดจังหวัดนครพนม จะจัดนานถึง 9 วัน 9 คืน แต่วันสำคัญสุดคือ วันออกพรรษา ปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 8 ตุลาคม 2557 เริ่มจากตอนสาย จะมีพิธีรำบูชาองค์พระธาตุพนมของเจ็ดชนเผ่า อันตระการตาด้วยนางรำในชุดประจำเผ่าหลากสีสัน ครั้นตกตอนบ่าย ไม่น่าพลาดชมกระบวนการจุดไฟทีละดวงของเรือแต่ละลำ ที่จุดเริ่มต้นตามแนวถนนสุนทรวิจิตร ที่เลียบไปตามลำโขง เขตอำเภอเมืองนครพนม พอแดดร่มลมตก ก็ไปชมการไหลเรือไฟยุคโบราณ ณ ริมฝั่งโขงใกล้เวทีกลาง ก่อนตะลึงกับเรือไฟสมัยใหม่ของจริง ซึ่งมีการจุดพลุไฟอันอลังการกลางลำโขงเป็นการส่งท้าย ยังไม่นับการแสดงวัฒนธรรมบนเวที และการแสดงสินค้าหลากหลาย อันเป็นส่วนหนึ่งของงานกาชาดจังหวัด
 
เหนื่อยครับ ถ้าจะดูให้ถึงกึ๋นจริงๆ ยอมรับว่าเหนื่อย ผู้คนก็เดินกันล้นหลาม แต่ก็สุดคุ้มกับประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตอันล้ำค่า!


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20140914/191991.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ