ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ไปเชียงราย ไหว้ดอยตุง ทำ "ตุงล้านนา" ที่บ้านครูจารินทร์  (อ่าน 751 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ครูจารินทร์กำลังบรรยายเรื่องตุงล้านนา

ไปเชียงราย ไหว้ดอยตุง ทำ "ตุงล้านนา" ที่บ้านครูจารินทร์

จังหวัดเชียงรายมี “พระธาตุดอยตุง” เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญ โดยตามตำนานเล่าว่า เมื่อ 1,000 กว่าปีล่วงมาแล้ว พระมหากัสสปะเถระพร้อมด้วยพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธ์ ร่วมกับข้าราชบริพารได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสถิตไว้บนดอยแห่งนี้ และได้ปัก “ตุง” หรือธงเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ เป็นตุงตะขาบมีความยาวถึง 1,000 วา เมื่อชายตุงปลิวสะบัดถึงที่ใดก็ให้หมายเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ ดอยลูกนี้จึงได้ชื่อว่า “ดอยตุง” ด้วยประการฉะนี้

ตำนานดังกล่าวนอกจากจะเล่าเรื่องราวที่มาของการสร้างพระธาตุดอยตุงแล้ว ยังทำให้เห็นว่า “ตุง” ถือเป็นเครื่องสักการะที่ถวายเป็นพุทธบูชาอันสำคัญของคนล้านนามาแต่โบราณ แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่คนเหนือก็อาจจะยังไม่ทราบถึงความสำคัญและความหมายของตุง และอาจจะยังไม่รู้ว่าตุงนั้นมีหลากหลายชนิด ดังนั้นหากใครมาเยือนเชียงราย มาไหว้พระธาตุดอยตุงและพอมีเวลาอยากไปเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับตุงแล้วละก็ ขอแนะนำให้มาที่ “แหล่งเรียนรู้ครูจารินทร์” ซึ่งอยู่ที่บ้านสันยาว ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย นั่นเอง


ตุงจ้อน้อย หรือตุงช่อน้อย

“ครูจารินทร์” หรือศิริพร ทุนอินทร์ เป็นครูเกษียณอายุที่ยังคงไม่หยุดการทำงานในฐานะครูผู้เผยแพร่ความรู้ภูมิปัญญาล้านนา โดยเฉพาะเรื่องของ “ตุง” ซึ่งถือเป็นเครื่องสักการะอย่างหนึ่งของชาวล้านนา ครูจารินทร์เล่าว่า ชาวล้านนาใช้ตุงเป็นพุทธบูชา โดยมีความเชื่อว่าการได้ถวายตานตุง (ถวายทานตุง) เป็นการสร้างกุศลให้กับตนเอง และยังเป็นการการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้หมดไป การทำตุงถวายพระยังเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยอานิสงส์ของการถวายตุงจะส่งผลให้ผู้ล่วงลับได้ไปสถิตอยู่ในสวรรค์ พ้นจากความทุกข์ยากลำบากในการใช้กรรมในปรโลก

จากนั้นครูจารินทร์ยังได้เล่าถึงตุงชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “ตุงจ้อน้อย” หรือ “ตุงช่อน้อย” มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยม ทำด้วยกระดาษสาด้วยกระดาษสีต่างๆ มีลวดลายได้ตามใจ นิยมตัดขอบตุงเป็นขั้นบันได เปรียบเสมือนการสั่งสมความดีไปเรื่อยๆ เพื่อก้าวขึ้นเกิ๋น หรือคันได หรือบันไดไปสู่สวรรค์ (นิพพาน) ใช้ปักบนเจดีย์ทราย หรือทำถวายในงานปอยหลวง งานกฐิน ฯลฯ โดยหากมีขนาดใหญ่หน่อยก็เรียกว่า "ตุงจ้อจ๊าง" หรือ "ตุงช่อช้าง"


ตุงทราย รูปรางเหมือนเทวดาองค์เล็กๆ

“ตุงทราย” เป็นตุงที่ใช้ปักเจดีย์ทรายช่วงปีใหม่สงกรานต์ มีหลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งที่นิยมทำก็คือทำเป็นรูปเทวดา โดยจุดมุ่งหมายก็เพื่อทำบุญถวายเทพเทวดาที่รักษาดูแลรักษาตัวเราและขอขมาสิ่งที่ได้ล่วงเกิน และนำไปไปปักบนเจดีย์ทรายพร้อมกับตุงอื่นๆ เช่น ตุงช่อน้อย ซึ่งเมื่อโดนลมก็จะปลิวไสวสวยงามอยู่บนเจดีย์ทราย

“ตุงไส้ช้าง” หรือ “ตุงไส้หมู” หรือที่ภาคกลางเรียก “พวงมโหตร” ก็เป็นตุงระย้าที่ใช้ประดับในงานสงกรานต์เช่นเดียวกัน ส่วน “ตุงชัย” นั้นเป็นตุงแห่งความสำเร็จ มักใช้ในการเฉลิมฉลองหรืองานสมโภชต่างๆ เช่นเมื่อวัดแห่งใดมีงานปอยหลวง หรือสร้างโบสถ์สร้างวิหารสำเร็จและจะมีงานฉลอง ชาวบ้านก็นำตุงชัยไปปักตั้งแต่ปากทางไปจนถึงวัด คนที่ผ่านมาเห็นก็จะรู้ว่าที่บ้านนี้วัดนี้กำลังจะมีงานฉลอง หรือถ้าเห็นบ้านไหนปักตุงชัยก็จะรู้ว่าจะมีงานฉลองในการทำการงานที่ตั้งใจไว้ได้สำเร็จนั่นเอง


ตุงไส้ช้าง หรือตุงไส้หมู

นอกจากนั้นก็ยังมี “ตุง 12 ราศี” หรือ “ตุงนักษัตร” หรือ “ตุงปี๋ใหม่เมือง” คือตุงที่มีลวดลายของนักษัตรทั้ง 12 ราศี ตุงนี้ก็ใช้ในช่วงงานสงกรานต์เช่นกัน บางคนก็ทำทั้ง 12 นักษัตร แต่บางคนก็ทำตุงตัวเปิ้น คือทำแต่นักษัตรของตัวเอง บ้างก็ทำเพื่อสะเดาะเคราะห์ด้วย เช่นเดียวกับ “ตุงค่าคิง” ซึ่งเป็นตุงรูปร่างเหมือนคนที่มีความยาวเท่ากับความสูงของผู้ถวาย ทั้งยังวาดมีหน้าตาจมูกปาก ผู้ที่ทำตุงค่าคิงเสร็จแล้วจะถวายไว้ที่วัดเพื่อเป็นการสืบชะตา

ตุงนักษัตร (ซ้าย) และตุงชัย (ขวา)

แต่ตุงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดต้องยกให้ “ตุงซาววา” ซึ่งเป็นตุงชัยขนาดใหญ่ มีความยาวตั้งแต่หัวจดหางถึงซาววา หรือ 20 วา ทั้งยังมีลวดลายที่สวยงาม ประดับตกแต่งด้วยใบไม้จำลองเรียกว่าใบไฮ หรือใบไทร โดยเขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วใบไฮเพื่ออุทิศบุญกุศลไปให้ หรือเขียนชื่อตัวเองและครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อสะสมบุญไว้ภายภาคหน้า การทำตุงซาววาซึ่งมีขนาดใหญ่ก็จะต้องมีคนช่วยทำหลายคน เวลาแห่ไปถวายก็ต้องมีคนช่วยกันยกหลายคน จึงถือว่าเป็นการทำบุญใหญ่ที่มีคนมาร่วมบุญกันเป็นจำนวนมาก ทั้งยังแสดงถึงศรัทธาและสามัคคีอีกด้วย

ตุงซาววา ตุงขนาดใหญ่ที่มีความยาวถึง 20 วา

และนอกจากตุงมงคลต่างๆ ที่ใช้ในงานบุญเหล่านี้แล้ว ก็ยังมีตุงอวมงคลที่เกี่ยวกับคนตายหรือใช้ในงานศพ เช่น ตุงแดง ตุงสามหาง เรียกได้ว่าแทบทุกงานบุญงานฉลองหรือแม้แต่งานศพ ตุงก็เข้าไปมีส่วนร่วมกับคนล้านนาในทุกๆ เมื่อ

แน่นอนว่าได้ฟังเรื่องราวและเห็นถึงรูปแบบของตุงแต่ละชนิดแล้ว ครูจารินทร์ยังลองให้เราได้ทำตุงแบบง่ายๆ ด้วยอุปกรณ์ที่มีเตรียมไว้ ซึ่งเมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้วครูก็จะนำไปถวายที่วัดใกล้บ้านให้ในโอกาสที่เหมาะสม เรียกว่าในครั้งนี้ได้ทั้งความรู้เกี่ยวกับตุงอันหลากหลาย ได้ความเพลิดเพลินกับการทำงานฝีมือ ใครที่อยากมาลองทำงานเวิร์คชอปเล็กๆ แบบชิลๆ หากมาที่แม่สาย จ.เชียงราย ก็อย่าลืมมาที่แหล่งเรียนรู้ครูจารินทร์กันได้


เรียนรู้และทดลองทำตุงด้วยตัวเอง

ใครสนใจเรื่องโคมล้านนา ครูจารินทร์ก็สอนได้

แหล่งเรียนรู้ครูจารินทร์ บ้านสันยาว อ.แม่สาย จ.เชียงราย

"แหล่งเรียนรู้ครูจารินทร์" ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 บ้านสันยาว อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดบมีโปรแกรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลา 1-3 ชั่วโมง โดยมีโปรแกรมให้เลือกดังนี้ 1. ตุงในวิถีล้านนา 2. โคมล้านนา 3. ดอกไม้ประดิษฐ์ และ 4. งานใบตอง ใบเตย รวมถึงมีบริการอาหารว่างและสามารถนำผลงานกลับบ้านได้ สอบถามรายละเอียดและค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ที่ โทร.09 5675 6090



ขอบคุณที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9620000052700
เผยแพร่ : 4 มิ.ย. 2562 14:56 , โดย : ผู้จัดการออนไลน์
Facebook : Travel @ Manager
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ