สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ เมษายน 17, 2019, 06:37:20 am



หัวข้อ: บันทึกประวัติศาสตร์ นานาชาติว่าไทยเป็นเสียงเดียวกัน “ขี้เกียจ ขี้ขลาด ขี้โกง”
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 17, 2019, 06:37:20 am


(https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2018/05/Thai02-696x472.jpg)


บันทึกประวัติศาสตร์ นานาชาติว่าไทยเป็นเสียงเดียวกัน “ขี้เกียจ ขี้ขลาด ขี้โกง”

ท่านเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างหรือไม่ว่ามีฝรั่งหลายชาติหลายภาษานินทาคนไทย “ขี้เกียจ ขี้ขลาด ขี้โกง” ข้อกล่าวหาดังกล่าวเราทุกคนยากที่จะยอมรับ เพราะเราดูตัวเราเอง เราก็เป็นคนขยัน ทำมาหากินตัวเป็นเกลียว…แต่เราไม่อยากรู้บ้างหรือว่าทำไมต่างชาติจึงมองเราเช่นนั้น คำกล่าวหานี้มาทุกยุคทุกสมัย

เมื่อ 500 ปีที่แล้ว ฝรั่งโปรตุเกสเริ่มเข้ามาเมืองไทยในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ก็เขียนหนังสือกล่าวว่า “การคิดอ่านที่โหดร้ายและการกระทำอันร้ายการ (ในการแย่งชิงอำนาจ) ได้แย่งชิงเอาความมีภูมิธรรมสูงส่วนใหญ่ไป”

เมื่อ 400 ปีที่แล้วมีชาวฮอลันดาเข้ามาตั้งห้างค้าขาย ก็กล่าวอย่างนี้ เมื่อ 200 ปีที่แล้วเป็นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชาวอังกฤษก็โจมตีอย่างหนัก ในรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ชาวเยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ก็ยืนยันว่า ขี้เกียจ ขี้ขลาด ขี้โกง

@@@@@@

ทัศนะดังกล่าวเป็นของฝรั่งชาติต่างๆ 5 ชาติ จำนวน 9 นาย ได้แก่

    1. นายปินโต ชาวโปรตุเกส เข้ามาเป็นทหารรับจ้างอยู่ในกองทัพพระไชยราชาธิราช ในการทำสงครามกับรัฐเชียงใหม่ โดยนำปืนใหญ่ไปใช้รบครั้งแรกในเมืองไทย
    2. นายเซาเตน ชาวฮอลันดา เข้ามาเป็นหัวหน้าสถานีการค้าฮอลันดาในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม
    3. นายวันวลิต เป็นหัวหน้าสถานีการค้าสืบจากนายเซาเตน เขาเขียนประวัติศาสตร์ไทย นับเป็นฉบับแรกของประเทศนี้
    4. นายฟอร์บัง เป็นนายทหารฝรั่งเศส เข้ามารับราชการเป็นขุนนางไทยได้ยศออกพระศักดิ์สงคราม คุมทหารที่ฝึกแบบยุโรป (มีปืนและหอกเป็นอาวุธ ประจำกาย) จำนวน 2,000 คน ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ธนบุรี
    5. นายยอห์น ครอเฟิด คนไทยเรียก “กาลาผัด” เป็นทูตอังกฤษ เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 2 ของกรุงรัตนโกสินทร์ เขาเขียนรายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษ เจาะลึกในทุกด้านของไทยเป็นจำนวน 183 หัวข้อ
    6. นายคาร์ล กุตสลาฟ คนไทยเรียกว่า “หมอกิศลับ” ชาวเยอรมัน เป็นมิชชันนารีฝ่ายโปรเตสแตนต์คนแรกที่เข้ามาเมืองไทย เขารู้ภาษาไทยขนาดทำพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย เป็นฉบับแรก
    7. นายมัลลอก พ่อค้าอังกฤษ มาในสมัยรัชกาลที่ 4 เขามาสำรวจอย่างละเอียดในเรื่องทรัพยากร การค้าและเศรษฐกิจของเมืองไทย ตลอดทั้งความมั่นคงเป็นรายงานที่ยาวถึง 122 หน้า
    8. นายมูโอต์ นักธรรมชาติวิทยา ชาวฝรั่งเศส เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 เขาใช้เวลา 3 ปี สำรวจภูมิประเทศและการดำรงชีวิตของคนไทย
    9. เซอร์เฮนรี นอร์แมน เป็นขุนนางอังกฤษ เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5

@@@@@@

รายชื่อ “ฝรั่ง” ที่กล่าวหาไทยไม่ใช่แค่ตัวฝรั่งปากพล่อยๆ ที่ไม่มีความรู้ ไม่มีวุฒิภาวะ ฯลฯ แต่เป็นคนที่มีภูมิปัญญา ตัวอย่างคำวิจารณ์จุดอ่อนของคนไทยใน สายตาชาวต่างชาติ 2-3 รายมาเป็นตัวอย่างดังนี้

หมอกิศลับ กล่าวถึงความโลเลคนไทยว่า
    “ชาวสยามเป็นพวกโลเลมาก วันนี้มีความคิดอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้เปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่ง มิตรภาพของพวกเขาจึงเอาแน่นอนไม่ค่อยได้ การยอมรับคำสอนของพระเยซูเป็นไปอย่างไม่จริงใจ พวกเราจึงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก…”

หรือความไม่ซื่อสัตย์ที่หมอกิศลับกล่าวไว้ว่า
    “โดยส่วนใหญ่แล้ว ชาวสยามเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในด้านความซื่อสัตย์สุจริต แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ข้าพเจ้ากลับไม่ได้เห็นชาวสยามที่มีชื่อเสียงเช่นนี้เลยสักคน เท่าที่สำรวจดูจากคนใกล้ๆ ตัว ชาวสยามค่อนข้างปราศจากในข้อนี้เหมือนกันหมด”

@@@@@@

ขณะที่รายงานเกี่ยวกับเมืองไทย 183 ข้อ ของนายครอเฟิด เสนอต่อรัฐบาลอังกฤษ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เช่น

     “ข้อ 84 ถ้าพิจารณาในแง่ที่ว่า ชาวสยามมีนิสัยขี้ขลาดตาขาว อันเป็นผลจากการบีบคั้นทางด้านสถาบันการเมืองเราก็อาจลงความเห็นว่า ชาวสยามไม่น่าจะทำศึกมีชัยชนะ และสามารถรักษาความเหนือกว่าพวกชาติเล็กๆ ที่กล้าหาญชาญชัยที่อยู่โดยรอบกรุงสยาม
      สิ่งที่น่าจะเป็นได้ตามความคิดเห็นของข้าพเจ้า ก็คือเรื่องทั้งหลายคงเกิดจากความเหนือกว่าในแง่ความเจริญ ซึ่งก็คงขึ้นอยู่กับความเหนือกว่าในแง่ทรัพยากร ความมั่งคั่งร่ำรวยที่เหนือกว่า และจำนวนประชากรที่มีมากกว่า มีความรู้สึกเคารพผู้มีอำนาจดีกว่า และความสามารถที่จะปรองดองกันกิจการบางอย่าง ที่ต้องการความคิดอ่านร่วมกัน ที่ดีกว่าชาติอื่น”

@@@@@@

ส่วนดีก็มีเพียงความใจกว้างในการถือศาสนา และรู้จักเพียงพอ

นิสัยคนไทยเป็นอย่างไรต้องดูกันนานๆ ดูให้ลึกลงไปถึงปู่ย่าตายาย ก็พอจะมองเห็นกรรมพันธุ์ได้บ้าง แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ยังมีกฎของโลกที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ มี “ความเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิรันดร” คนไทยวันนี้ย่อมไม่เหมือนคนไทยในอดีต



คัดความจาก จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา. จุดอ่อนคนไทย ในสายต่างชาติ, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2549, มีนาคม และเมษายน 2550
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_17212 (https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_17212)
เผยแพร่ : วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ.2562