สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มิถุนายน 23, 2022, 06:34:28 am



หัวข้อ: รอยจาร ที่ไม่มีวันลบเลือน - อนุรักษ์พระไตรปิฎกใบลาน(MPSC)
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มิถุนายน 23, 2022, 06:34:28 am

(https://obs.line-scdn.net/0hOidXVgj-EEZZIQSNYA9vEQ93EylqTQNFPRdBRQVPHiMnE15AbEBDKHgmG2pxEVYZeRRdJXg9SiVzF1UYNkENJX5xTn4mRFMZbEIaISt1R3InFl8/w1200)


รอยจาร ที่ไม่มีวันลบเลือน - อนุรักษ์พระไตรปิฎกใบลาน(MPSC)

การเขียนด้วยดินสอหรือปากกา หากผิดก็ใช้ยางลบหรือน้ำยาลบคำผิดแก้ไข แต่รอยจารที่ลบไม่ออกผู้เขียนหนังสือใบลานก็มีกรรมวิธีหลากหลายที่จะแก้ไข เป็น ‘รอยลบ’ ที่ไม่เคยจะ ‘ลบเลือน’

พระภิกษุสูงวัยใช้มือหนึ่งจับเหล็กจารปลายแหลมและอีกมือหนึ่งช่วยประคองขณะขีดเขียนเนื้อความพระไตรปิฎกบนแผ่นใบลานที่วางอยู่บนเข่าอย่างชำนาญ น้ำหนักมือที่ลงอย่างพอดีกอปรกับความรู้ในพระธรรมวินัยที่ได้ศึกษามาตลอดระยะเวลาหลายพรรษา


(https://obs.line-scdn.net/0hvj29ITDQKUUPQD2ONpZWElkWKio8LDpGa3Z4RlMucncmeTsQNiR6JS4TJ2kncWpAL3YydCpcd3whcGdBMHFkJiMSd31wImYVNSYjIn0UfnFxdm4/w1200)

ทำให้ลายเส้นของ แต่ละอักขระคมชัด เรียงเป็นแถวเป็นระเบียบงดงาม ทั้งเนื้อความก็ครบถ้วนสมบูรณ์ไร้ร่องรอยการแก้ไข ซึ่งการจะจารใบลานให้สวยงามเช่นนี้ได้ ต้องผ่านการศึกษา ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ และต้องอาศัยสมาธิที่จดจ่อ มิเช่นนั้นอาจจารตัวอักษรผิดพลาด คัดลอกเนื้อหาไม่ตรงกับต้นฉบับ หรือจารเนื้อหาไม่ครบถ้วน

ผู้จารคัมภีร์ใบลานมีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ที่ผ่านการบวชเรียนมาก่อน ผู้จารที่มีฝีมือดีเรียกว่า “ช่างจาร” ส่วนผู้จารที่อยู่ในราชสำนัก เรียกว่า “อาลักษณ์”

วิธีการจารจะใช้เหล็กจารซึ่งมีลักษณะคล้ายดินสอหรือปากกา ส่วนปลายเป็นเหล็กแหลม ด้ามจับทำด้วยวัสดุหลากหลาย อาทิ ไม้ งาช้าง เขาสัตว์ หรือโลหะ

เหล็กจารที่ใช้ในประเทศไทยโดยทั่วไปมีความยาวประมาณ 18-25 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร


(https://obs.line-scdn.net/0hfrKV0_8gOV12Ly2WT-lGCiB5OjJFQypeEhloXipBZ2xYGysDH0hqaFQsMHFeHi1fVhkhbwQzND9eFyleSUp1M1IsZ2UJSnoDT0wzOgR7bmkIFn4/w1200)

การจับเหล็กจารคล้ายกับการจับปากกาหรือดินสอ คือ ใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง แต่การเขียนกับการจารใบลานนั้นมีข้อที่แตกต่างกันที่การใช้มือและทิศทางของตัวอักษร

การเขียนใช้มือที่ถนัดเพียงข้างเดียว โดยพาดดินสอหรือปากกาไว้บนนิ้วกลาง แล้วใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้เป็นตัวควบคุมการขยับ สามารถเขียนเนื้อความได้ทั้งจากซ้ายไปขวา จากขวามาซ้าย หรือจากบนลงล่างแล้วแต่ธรรมเนียม


(https://obs.line-scdn.net/0hOernlmbSEEpPFwSBdtlvHRlBEyV8ewNJKyFBSRN5GnhjIFcdenZDL24VHmZnd1BPb3gMe28LGilqL1MdJCUNKWMUTnIwclAdc3AaLT1DR34xLl8/w1200)

แต่การจารนั้นต้องใช้ 2 มือ คือ ใช้มือขวาจับเหล็กจารคล้ายกับการจับดินสอหรือปากกา และใช้มือซ้ายจับสนับโดยมีนิ้วหัวแม่มือซ้ายคอยดันเหล็กจาร ทิศทางการจารจะจารจากซ้ายไปขวาโดยให้ตัวอักษรอยู่ใต้เส้นที่ตีไว้บนแผ่นลาน

สำหรับผู้จารที่ชำนาญแล้วสามารถจารใบลานโดยไม่ใช้สนับรอง เพียงวางใบลานไว้บนเข่าและใช้มือซ้ายประคองเหล็กจารก็สามารถจารได้อย่างคล่องแคล่ว สวยงาม

การจะได้ใบลานที่จารได้สวยงามนั้น ผู้จารต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดหรือมีการแก้ไขให้น้อยที่สุด เพราะหากจารผิดจะไม่สามารถลบออกได้เหมือนการใช้ยางลบ


(https://obs.line-scdn.net/0hVCMtOkxtCWxwDR2nSf52OyZbCgNDYRpvFDtYbyxjB1wPbk08TjtaWAALU0BYPktqUGMRDlIRUltUNE4_GD5ADFQOV1QPb0YySGgDCwJZXlgONUs/w1200)

เมื่อปลายเหล็กจารขีดลงบนเนื้อลานเป็นร่องลายเส้น ซึ่งอาจปรากฏเพียงลายเส้นจางๆ แต่เมื่อจารเสร็จแล้ว ผู้จารจะนำเขม่าจากควันไฟหรือถ่านบดละเอียดผสมน้ำมันยางมาลูบให้ทั่วบนพื้นลาน

จากนั้นจะทำการ “ลบใบลาน” โดยใช้ทรายร้อนหรือแกลบมาลบหมึกหรือเขม่าดำๆ ออก ซึ่งในขั้นตอนนี้ เขม่าสีดำบริเวณพื้นลานที่ไม่ได้จารตัวอักษรลงไปจะถูกลบออก แต่ตรงบริเวณที่มีการจาร น้ำหมึกสีดำจะไหลไปฝังตามร่องลายเส้นปรากฏเป็นตัวอักษรสีดำที่อ่านได้อย่างชัดเจน


(https://obs.line-scdn.net/0hEsNrDyevGlxzCw6XSuxlCyVdGTNAZwlfFz1LXy9lRG0KbFsPHWRJPF8PTHBbOF0NU2RTbl4XFz4KMwleSGoCaQVeRGQMbloKRm0QOwFfTWgNa1w/w1200)

ดังนั้นหากผู้จารทำสัญลักษณ์แก้ไขตัวสะกดหรือจารข้อความผิดพลาด เมื่อลบใบลานแล้วจะเห็นร่องรอยการแก้ไขบนหน้าแผ่นลานอย่างชัดเจน

คัมภีร์ใบลานที่ใช้ในพิธีสำคัญหรือ “คัมภีร์ฉบับหลวง” ที่สร้างขึ้นภายใต้การสนับสนุนของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์จะมีความประณีต วิจิตรบรรจง ไม่มีการแก้ไข เพราะหากจารผิดจะต้องเปลี่ยนแผ่นลานและเริ่มจารเนื้อความในหน้านั้นใหม่ตั้งแต่ต้น


(https://obs.line-scdn.net/0h03dRtadSbxxZK3vXYMAQSw99bHNqR3wfPR0-HwVFN38kEyBKMh08f3wpZTBxHSkeeURzL3Q3Yit8HX9IbE1wLSktMSQhGiFIZk9leyt_OCgnS3o/w1200)

แต่หากเป็นคัมภีร์ใบลานทั่วไปที่สร้างโดยสามัญชน ที่เรียกว่า “คัมภีร์ฉบับราษฎร์” หรือ “คัมภีร์เชลยศักดิ์” หากเกิดความผิดพลาดผู้จารอาจใช้วิธีเริ่มจารใบลานใหม่ หรือทำการแก้ไขข้อความที่ผิดพลาดหรือตกหล่น

โดยการเขียนตัวอักษรที่ถูกทับไปบนตัวที่เขียนผิด การป้ายทับตัวอักษรที่ผิดด้วยยางไม้ การทำสัญลักษณ์การจารแทรกข้อความที่ตกหล่น หรือเริ่มจารใหม่นี้ไม่เพียงแต่เป็นการเสียเวลาเท่านั้นแต่ยังเสียทรัพย์เพิ่มด้วย เพราะกว่าจะได้แผ่นลานแต่ละแผ่นต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนและใช้เวลานานอีกทั้งบางยุคใบลานก็มีราคาสูง

ดังนั้นผู้ที่จะจารคัมภีร์ใบลานที่ทรงเนื้อหาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ไร้ตำหนิและไม่สิ้นเปลือง จะต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะจาร มีความระมัดระวังและใช้สมาธิขณะจารอย่างมากทีเดียว

วิธีแก้ไขตัวสะกดผิด ผู้จารนิยมทำสัญลักษณ์เป็นเลขศูนย์เล็กๆ ตรงกลางตัวอักษรที่จารผิด ขีดเส้นกลางตัวอักษร หรือทำขีดเล็กๆ หลายๆ ขีดบนตัวอักษร เพื่อเป็นการบอกว่าไม่ต้องการใช้อักษรตัวดังกล่าว แล้วจารตัวอักษรที่ถูกต่อมา

บางครั้งพบว่าเมื่อผู้จารเผลอจารผิดและรู้ตัวทันก็จะปล่อยตัวอักษรนั้นจารค้างไว้ครึ่งตัว แล้วจารตัวที่ถูกต้องแทน หรือผู้จารอาจใช้วิธีจารตัวอักษรที่ถูกทับบนอักษรที่ผิดเลยก็มี

ในกรณีข้อผิดพลาดเป็นข้อความยาวอาจใช้วิธีทำวงเล็บคร่อมหรือขีดเส้นกลางอักษรตลอดช่วงที่ไม่ต้องการ แต่หากจารเนื้อความตกหล่นจะใช้การทำสัญลักษณ์กากบาทเล็กๆ ตรงช่วงที่ต้องการเพิ่มข้อความแล้วจารข้อความที่ต้องการเพิ่มด้วยอักษรขนาดเล็กพอที่พื้นที่ว่างระหว่างบรรทัดจะอำนวย หากเป็นการแก้ไขในยุคหลังบางครั้งจะใช้หมึกดำหรือเขียนเพิ่ม


(https://obs.line-scdn.net/0h5PzGw43ean9HPn60frEVKBFoaRB0Unl8Iwg7fBtQYBhpDiQof105EDZsMFNvDy8pZwt1GGAiMkxiDyssflx2SmFrNEc4Wyorf1lgGDVqPUs5XCQ/w1200)

การแก้ไขอีกวิธีที่พบก็คือ การป้ายคำผิดด้วยหรดาลสีเหลือง วิธีนี้พบมากในใบลานที่พบในประเทศไทยคัมภีร์บางฉบับที่เพิ่งจารในยุคหลังใช้วิธีลบโดยใช้สีฝุ่นสีขาวทาบนตัวที่ไม่ต้องการ

ส่วนใบลานที่พบในประเทศพม่าบางครั้งใช้สีแดงป้ายปิด เมื่อป้ายแล้วส่วนใหญ่จะเว้นไม่จารทับเนื้อความตรงส่วนที่ป้าย แต่จารเนื้อหาที่ถูกต้องต่อจากส่วนที่ป้ายไว้

การแก้ไขข้อผิดพลาดด้วยวิธีต่างๆ ดังกล่าวมีผลต่อการทำความสะอาดใบลานเพื่ออนุรักษ์ เพราะหากใบลานขึ้นราต้องทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ขณะเช็ดก็ต้องระวังไม่ให้แอลกอฮอล์โดนหมึกที่เขียนเพิ่มหรือที่แก้ไขเนื้อความ หรือสีที่ป้ายปิดข้อผิดพลาด มิเช่นนั้นอาจทำให้หมึกละลายหรือสีที่ป้ายไว้หลุดออกได้

หรือในกรณีที่ตัวอักษรเริ่มจางและต้องลงหมึกสีดำที่ได้จากเขม่าหรือถ่านบดละเอียดเพื่อเพิ่มความเข้มหากไม่ระวังปล่อยให้หมึกไปโดนสีที่ป้ายไว้ เมื่อนำผ้าหรือสำลีเช็ดออก จะเกิดรอยปื้นสีดำบนหรดาลสีเหลืองหรือสีฝุ่น ทำให้ใบลานดูไม่สวยงาม

(https://obs.line-scdn.net/0hK4UCTox9FBtoOgDQUY9rTD5sF3RbVgcYDAxFGDRUHnkVCFYZAFVHLUw4TzdAXgEeSAxfeEUmHysSCQBNVVVSfExqSiMQCVNKVFgefBpuQy8WX1A/w1200)

ทุกเส้นจารที่ขีดเขียนลงบนใบลานนั้นมีคุณค่า ที่ผู้จารบรรจงลงอักขระเพื่อส่งต่อความรู้ บอกเล่าประสบการณ์เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญไม่แพ้วัสดุชิ้นใดที่มนุษยชาติเคยใช้บันทึกลายลักษณ์อักษร

แต่ในการประดิดประดอยสมบัติล้ำค่าชิ้นนี้ ไม่ว่าผู้จารจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ความเหนื่อยล้า ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจทำให้เกิดการผิดพลาดขึ้นในระหว่างการจารใบลานได้ แต่เมื่อผิดพลาดแล้วผู้จารได้แก้ไขตามกรรมวิธีต่างๆ หรือมีการอ่านทวนโดยผู้รู้ เมื่อพบข้อผิดพลาดจึงได้แก้ไขให้ถูกต้อง


(https://obs.line-scdn.net/0hlK0adKlKM2QNGCevNL5MM1tOMAs-dCBnaS5iZ1F2b1YgfyY3OXZgASsQPkglK3wyLXd4CikEOV0gKX07ZisvBSBNbVx1K3Q1Nn85A39MZFBzfHQ/w1200)

แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพของใบลานที่อย่างไรก็ไม่อาจลบคำหรือส่วนที่จารผิดให้เลือนหายได้ ผู้จารหรือผู้แก้ไขจึงได้ทำในสิ่งที่ดีที่สุดที่นวัตกรรมสมัยนั้นๆ จะเอื้ออำนวย แก้ไขสิ่งผิดพลาดให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้ลูกหลานที่ตามมาศึกษาภายหลังเข้าใจและนำไปใช้ผิดๆ ซึ่งความเข้าใจผิดนั้นเป็นอันตรายที่บางครั้งอาจจะก่อให้เกิดภัยใหญ่หลวงได้

ใบลานที่จารผิดแม้ไม่สวยงามแต่ก็มีคุณค่า ทำให้เรารู้ว่าใบลานนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจไม่ใช่สักแต่ว่าจาร และยังบอกเล่าให้เรารู้ว่า ใบลานนี้มีผู้นำมาศึกษา ไม่ใช่จารเอาไว้บูชาแต่ไม่เคยนำถ้อยคำสอนและประสบการณ์ล้ำค่าเหล่านั้นมาศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ขึ้นกับตนเองและผู้อื่นเลย


(https://obs.line-scdn.net/0h0p_wS5XNb19iDnuUW6UQCDRYbDBRYnxcBjg-XD5gN2xKOy1dDGs8bUZdM3NKOHgJQjgmbkISOW9HbiwKX24pPE8JMWcaPyEOWWBlOBBaOGscano/w1200)





อ้างอิง :-
- สุรสิทธิ์ ไทยรัตน์. (2556). คัมภีร์ใบลานในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- โดย กลุ่มอนุรักษ์และศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน (MPSC) โครงการพระไตรปิฎกวิชาการ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิสถาบันธรรมชัย

Thank to : https://today.line.me/th/v2/article/Op1RYPE?view=topic&referral=linetodayshowcase
เผยแพร่ 19 มิ.ย. เวลา 15.00 น. • อนุรักษ์พระไตรปิฎกใบลาน(MPSC)