ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
 21 
 เมื่อ: เมษายน 22, 2024, 07:00:50 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



กรุยทางสร้างบุญบารมีด้วยการสวดมนต์

การสวดมนต์เริ่มต้นตั้งแต่พุทธกาล แต่ในครั้งนั้นยังไม่มีการบันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นตัวหนังสืออย่างพระไตรปิฎกในปัจจุบัน ใช้วิธีการท่องจำที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนอะไรไว้ พระภิกษุก็จะท่องจำแล้วจึงบอกต่อๆ กันจนกระจายไปทั่วทั้งแผ่นดิน
         
การสวดมนต์คือ การสาธยายธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้ ถือเป็นการทบทวนบ่อยๆ เพื่อป้องกันการลืมเลือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นหัวข้อธรรมที่สำคัญๆ ก็ยิ่งต้องท่องจำจนขึ้นใจ ส่วนหัวข้อธรรมที่นานๆ ใช้ครั้ง ก็ต้องแบ่งหน้าที่กันว่า พระภิกษุรูปใดจะท่องจำหัวข้อธรรมเรื่องอะไร

ธรรมเรื่องหลักๆ เช่น คุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือเรื่องการพิจารณาขันธ์ 5 ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นเรื่องธรรมดาต่างๆนั้น จะต้องทบทวนเป็นประจำ จึงรวบรวมมาเป็นบทสวดมนต์ทำวัตรที่เราใช้สวดกันในปัจจุบัน ถ้ายังเป็นเด็กก็ให้ท่องบทสวดสั้นๆ ว่า “อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา ....” คือ ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ ชาวพุทธโดยทั่วไปส่วนใหญ่ สวดมนต์เป็นตั้งแต่ยังเด็กๆ แล้ว

การสวดมนต์ทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็นนั้น เป็นการสวดเพื่อรำลึกนึกถึงพระรัตนตรัย ซึ่งผู้สวดจะได้รับประโยชน์นานัปการเลยทีเดียว เราพบว่าหลายคนที่เรียนดี เรียนเก่งนั้นมีเคล็ดลับโดยการนั่งสมาธิ การสวดมนต์ ถือว่าเป็นการเตรียมใจให้พร้อมเบื้องต้น สำหรับการทำสมาธิก็ว่าได้ หากพิเคราะห์วิถีชาวพุทธที่ประกอบด้วยทาน ศีล ภาวนา คำว่า “ภาวนา” ครอบคลุมทั้งการสวดมนต์ นั่งสมาธิ

เพราะฉะนั้นการสวดมนต์ถือเป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง อานิสงส์ประการแรกคือ ทำให้ใจสงบ เป็นสมาธิ พอใจสงบเป็นสมาธิแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ได้ผลดี และประสบความสำเร็จ ประการต่อมา ทำให้เป็นทางมาแห่งบุญ หมายความว่า การสวดมนต์นี้ได้บุญ ท่านเรียกว่า “ภาวนามัย” คือ บุญที่เกิดจากการทำภาวนา


@@@@@@@

สวดมนต์ทำให้เทวดาลงรักษา

ใครก็ตามที่สวดมนต์บ่อยๆ หากต้องพบเหตุการณ์ร้ายๆ ก็แคล้วคลาดไป แล้วสิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้น ท่านว่าเทวดาจะลงรักษา เพราะเทวดาและนางฟ้าล้วนอยากได้บุญ แต่ท่านเหล่านั้นอยู่ในภาวะเป็นกายละเอียด อยู่ในช่วงเสวยบุญ ทำบุญด้วยตัวเองไม่สะดวก

ดังนั้น เมื่ออยากได้บุญ เหล่าเทวดานางฟ้า จะดูว่าในโลกนี้มีใครที่เป็นคนดีแล้วทำความดีบ้างเขาก็จะลงรักษา เมื่อคนนั้นไปทำความดี เทวดา นางฟ้า ก็จะได้ส่วนบุญนั้นด้วย ในฐานะเป็นผู้สนับสนุน ลองทบทวนดูก็ได้ว่า ตอนที่เราเป็นเด็ก มีหลายครั้งหลายหนที่ดูเหมือนว่า เราไม่น่าจะรอดชีวิตมาได้ จนถึงปัจจุบัน เช่น อาจจะเคยมีเหตุการณ์ ที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่า เราน่าจะโดนรถชนไปแล้ว เราน่าจะตกต้นไม้ไปแล้ว เราน่าจะตกบันไดไปแล้ว แต่เราก็รอดมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ความจริงไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นเพราะบุญในตัวเราที่มีอยู่ ทำให้เทวดานางฟ้าลงรักษา เราจึงอยู่รอดปลอดภัยมาถึงปัจจุบัน

อาตมภาพเคยเจอเหตุการณ์ที่เด็กกลิ้งตกบันได ท่าทางหัวจะปักพื้นแน่แล้วจู่ๆ คอเสื้อก็ไปเกี่ยวกับตะปู ตัวเลยห้อยต่องแต่ง แล้วก็รอดมาได้ หรือเด็กบางคนที่ปีนต้นไม้ จะไปเก็บผลสุกที่ปลายสุดกิ่งไม้ ซึ่งกิ่งไม้นั้นเล็กนิดเดียว พอลมพัดก็เอนไปเอียงมา ทำท่าจะหัก แต่สุดท้ายเขาก็รอดมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ อย่างนี้เรียกว่า “แคล้วคลาด”

@@@@@@@

สวดมนต์สั้นหรือยาว ได้บุญมากน้อยต่างกันหรือไม่.?

ในการสวดมนต์นั้น เราไม่ถึงต้องขนาดกำหนดว่าควรสวดมนต์สั้นยาวแค่ไหน ได้ผลเท่าไร แต่ให้นึกถึงว่า ควรสวดอย่างสม่ำเสมอด้วยใจที่สงบ คือระหว่างสวดมนต์ก็ทำใจนิ่งๆ เป็นสมาธิ ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าไปด้วย อาจระลึกนึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เราเคารพเป็นพิเศษ นึกภาพท่านได้ง่าย ก็นึกให้เห็นองค์ท่านใสๆ อยู่ที่กลางท้องของเรา ถ้าสวดมนต์บ่อยๆ แล้วเราจะรู้หลัก เมื่อสวดแล้วใจจะสงบ พอสงบแล้วผลดีเกิด บุญเกิด ยิ่งใจสงบมากเท่าไร บุญก็ยิ่งเกิดมาเป็นตามส่วน

ยกตัวอย่างเด็กๆ สวดบูชาพระรัตนตรัยบทสั้นๆ ว่า “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา ....” อย่างนี้ถือเป็นบันไดขั้นแรกของการทำใจให้สงบ เมื่อโตขึ้นอีกหน่อยก็ให้สวด “นะโม ตัสสะ ....” แถมเข้าไปด้วย แล้วถ้าโตขึ้นอีกนิดก็แถมบทสวด “อิติปิโส ภะคะวา ....” ไม่นานก็จะท่องได้คล่องไปโดยปริยาย

การสวดมนต์ถือเป็นบันไดขั้นแรกในการทำจิตใจให้สงบ เมื่อสวดแล้วได้บุญและแคล้วคลาด อีกทั้งยังเป็นการทบทวนคำสอนที่สำคัญๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ต้องถึงขนาดที่ว่าระหว่างสวดมนต์ ต้องคิดคำสอนไปด้วย แต่ให้เน้นหลักทำใจให้สงบ ระหว่างสวดมนต์เป็นสมาธิ ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ในระดับที่ลึกกว่า คือ ด้วยใจที่นิ่งและมีความซาบซึ้ง เพราะการที่ใจนิ่งแล้วสวดมนต์นั่นเอง ความเคารพบูชา ซาบซึ้งในพระรัตนตรัย จะเกิดได้อย่างเต็มที่

หลังจากนั้น ระหว่างที่เรามีเวลาว่าง ก็ให้หยิบหนังสือสวดมนต์ พร้อมบทแปลมาพลิกดูบ้าง จะได้รู้ว่าบทสวดมนต์ ที่เราสวดไปนั้นมีเนื้อหาความหมายว่าอย่างไร ถือเป็นการทบทวนธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกทางหนึ่งด้วย


@@@@@@@

สวดมนต์โดยไม่รู้ความหมาย ได้ประโยชน์หรือไม่.?

ในระหว่างที่เราสวดมนต์ แม้ว่าเราจะไม่ทราบความหมาย ของบทสวดนั้น ก็อย่าไปคิดว่าสวดอะไรไปก็ไม่รู้ หรือคิดไปว่าการที่เราไปฟังพระสวดทั้งที่ไม่รู้ความหมายนั้นไม่ได้ประโยชน์ ความจริงแล้วการฟังพระท่านสวดมนต์ ไม่ว่าจะในงานสวดพระอภิธรรมก็ตาม ถวายภัตตาหารพระภิกษุก็ตาม แม้เราไม่รู้ความหมาย แต่เราก็รู้ว่า ที่ท่านสวดคือการบูชาพระรัตนตรัย แล้วมีนัยความหมายที่ดี ให้เราตั้งใจฟังคำสวดโดยทำใจนิ่งๆ สงบๆ เพียงเท่านี้บุญก็เกิดขึ้นอย่างมหาศาลแล้ว

พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านเปรียบไว้ว่า การทำใจให้สงบแม้เพียงช่วงสั้นๆ เพียงแค่ “ช้างกระพือหู งูแลบลิ้น” อานิสงส์มหาศาลยิ่งกว่าสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร ลองคิดดูว่าช้างกระพือหูนั้นแป๊บเดียว ยิ่งถ้างูแลบลิ้นนั้นใช้เวลาไม่ถึง 1 วินาที ใจสงบแค่นั้นบุญยังเกิดมหาศาล เพราะฉะนั้นในขณะที่พระท่านกำลังสวดมนต์ใช้เวลาเป็นสิบๆนาที หากเราทำสมาธิแล้วฟังด้วยใจที่สงบ ตั้งใจฟัง ไม่พูดคุยกัน เราย่อมได้บุญมหาศาล

ดังนั้น เมื่อมีพระมาเจริญพุทธมนต์ที่บ้านก็ตาม เข้าไปร่วมงานศพฟังพระท่านสวดพระอภิธรรมก็ตาม ไม่ว่าจะมีการสวดมนต์ในงานใดก็ตาม ขอให้ตั้งใจฟัง พนมมือแล้วหลับตา ทำใจนิ่งๆ อยู่ที่กลางท้องของเรา ที่จุดศูย์กลางกายฐานที่ 7 เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ ให้สบายๆ สงบๆ แล้วฟังเสียงพระเจริญพระพุทธมนต์ ระลึกถึงพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง ปฏิบัติอย่างถูกหลักวิชา บุญกุศลจะเกิดขึ้นกับเราอย่างมหาศาล

เคยมีเหตุเกิดมาแล้วในอดีต มีพระภิกษุท่านสาธยายธรรมขณะนั้นเองมีค้างคาวอยู่ท้ายวัดได้ฟังธรรม ทั้งๆที่ค้างคาวฟังไม่รู้เรื่องแต่เมื่อฟังแล้วใจเกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ฟังแล้วรู้สึกสบาย ฟังแล้วมีความสุข อานิสงส์ของการฟังพระภิกษุสาธยายธรรมนั้น หนุนนำให้เมื่อตายจากค้างคาวไปเกิดเป็นเทวดา แค่ฟังแล้วส่งใจไปตามกระแสเสียงสวดมนต์ของพระท่าน บุญยังส่งให้เป็นเทพบุตร เพราะฉะนั้นอย่าดูเบาเรื่องการสวดมนต์ ยิ่งถ้าเราสวดเองด้วยแล้ว ยิ่งได้บุญทับทวีคูณ

@@@@@@@

เหตุใด.? เราจึงสวดมนต์เป็นภาษาบาลี

ภาษาบาลีเป็นภาษาที่คงไว้ซึ่งพุทธพจน์ เป็นภาษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ในการสั่งสอนธรรม แล้วภาษาบาลีเวลาสวดแล้วจังหวะจะเชื่อมต่อกันอย่างราบรื่น ทำให้ใจเป็นสมาธิกว่าภาษาอื่นๆ เพราะฉะนั้นเราจึงเน้นสวดมนต์ด้วยภาษาบาลีเป็นหลัก บางท่านถามว่าสวดบทแปลสลับกับภาษาบาลีดีหรือไม่ ตอบว่าถ้าบทสวดสั้นๆ ก็ได้ แต่ถ้าเป็นบทสวดยาวๆ สวดบาลียาวไปเลยจะดีกว่า เพราะพอสวดคำแปลด้วย บางบทมีการเอื้อนจะทำให้จังหวะไม่เหมือนกัน เกิดอาการติดขัดได้

ดังนั้น เราควรเน้นสวดภาษาบาลีเป็นหลัก ยกเว้นบางบทที่อยากจะให้รู้จริงถึงความหมายสั้นๆ ไม่กี่นาที ก็ให้แถมบทแปลไปด้วยก็ได้ แต่โดยภาพรวมทั้งหมด ถ้าสวดเป็นภาษาบาลีจะดีกว่า ซึ่งไม่เกี่ยวกับความขลัง แต่เกี่ยวกับความราบรื่นของใจ ที่สงบและเป็นสมาธิ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะสวดบทแปลหรือไม่แปล “สวดก็ย่อมดีกว่าไม่สวด”




ขอขอบคุณ :-
ภาพ : https://www.pinterest.ca/
บทความ : เพราะไม่รู้สินะ ตัวเราไม่ธรรมดา - กรุยทางสร้างบุญบารมีด้วยการสวดมนต์ โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
URL : https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=8630
วันที่ 14 กค. พ.ศ.2558






สวดมนต์รักษาสุขภาพ

ปัจจุบันมีผลการวิจัยของนักวิจัยชาวตะวันตกเรื่องการสวดมนต์ สามารถรักษาสุขภาพได้ โดยสามารถอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า มนุษย์ประกอบด้วยกายกับใจ ทั้งสองส่วนส่งผลสืบเนื่องกัน ให้ลองสังเกตว่า ถ้าตอนไหนเรามีเรื่องเครียด ไม่สบายใจกลัดกลุ้มใจ พอหลายๆวันเข้า ร่างกายของเราอาจจะป่วยได้ ไม่สบายเป็นโรคท้องอืด ท้องเฟ้อ นอนไม่หลับ ความดันสูง สารพัดโรคเกิดขึ้นได้มากมาย แต่ถ้าตอนไหนเรารู้สึกสบายใจ อารมณ์ดี รู้สึกว่ากำลังมีสิ่งดีๆเกิดขึ้น ในชีวิต หน้าตาผิวพรรณของเราก็จะสดใส

ในทำนองเดียวกัน ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง เกิดอาการป่วยไข้ นานวันเข้าใจย่อมหดหู่ตามไปด้วย แต่ถ้าร่างกายแข็งแรง ใจเราก็จะมีโอกาสสดชื่นได้มากกว่า กายกับใจส่งผลซึ่งกันและกันอย่างนี้

การสวดมนต์ทำให้ใจเรานิ่งสงบ แล้วเกิดความสบายใจ พอสบายใจใจได้สมดุล ย่อมนำไปสู่ภาวะร่างกายที่สมดุลด้วย เพราะฉะนั้นร่างกายป่วย อาการไม่สบายก็จะทุเลาลง แล้วค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ ถ้าสุขภาพดีอยู่แล้วก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก

ผลึกน้ำกับกระแสใจ

คนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันมักจะชื่นชอบอะไรที่เป็นรูปธรรม มองเห็นได้ จับต้องได้ ถ้ามีคนมาบอกเราว่าสวดมนต์แล้วดี เราฟังแล้วอาจจะคิดตามเพียงเห็นดีด้วย แต่ยังไม่เห็นภาพชัดเจนเป็นรูปธรรม
   
มีผู้เชี่ยวชาญในญี่ปุ่นท่านหนึ่งทำการทดลองเรื่อง “ น้ำ ” อย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมา เขาทำการทดลองโดยนำน้ำมาทำให้แข็งตัว คือ เย็นจนกระทั่งจับผลึก พอได้ผลึกน้ำแล้วก็มาส่องกล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูว่าลักษณะของผลึกน้ำนั้นเป็นอย่างไร

จากนั้นก็ทดลองโดยใช้น้ำที่มาจากแหล่งน้ำเดียวกัน นำมาแยกเป็น 2 ขวด โดยน้ำขวดหนึ่งเราพูดจาไพเราะกับมัน ส่วนอีกขวดหนึ่งเราพูดด้วยถ้อยคำร้ายๆ เช่น แย่ เลว ผลปรากฎว่าผลึกน้ำนั้นมีลักษณะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง น้ำในขวดที่เราพูดไพเราะด้วยนั้น มีลักษณะของผลึกที่เป็นรูปหกเหลี่ยมสวยงาม แต่น้ำในขวดที่เราพูดไม่ดีด้วยนั้น กลับมีลักษณะของผลึกที่ไม่เป็นรูปเป็นร่าง อย่างกับคนหัวใจสลาย

มีตัวอย่างผลึกของน้ำจากเขื่อนฟูจิวาร่า ก่อนได้ฟังสียงสวดมนต์ลักษณะของผลึกไม่เป็นรูปทรง แต่พอสวดมนต์ให้ฟังทุกวันๆระยะหนึ่ง ผลปรากฎว่าผลึกน้ำกลายเป็นรูปหกเหลี่ยม คล้ายอัญมณีที่มีความงดงาม นี่คือการทดลองวิทยาศาสตร์ที่สามารถทำซ้ำได้ ไม่ว่าจะทดลองซ้ำอีกกี่ครั้ง ก็ปรากฎผลลัพธ์ที่เหมือนเดิม

แม้แต่การทดลองที่นำข้าวสุกที่หุงเสร็จเรียบร้อยแล้วมาใส่ขวดโหลแยกออกเป็น 2 ขวด แล้วปิดฝาไว้ ขวดหนึ่งพูดด้วยคำพูดที่ไพเราะ อ่อนโยน อีกขวดหนึ่งพูดด้วยถ้อยคำที่ไม่ดี ผ่านไปเพียงไม่กี่วันช้าวในขวดโหลที่เราพูดจาไพเราะด้วยนั้นมีสีเหลืองนวลสวย แต่ข้าวอีกขวดหนึ่งที่เราพูดไม่ดีด้วยทุกๆวันนั้นกลับมีสีดำ

จากผลการทดลองชี้ให้เห็นว่า ข้าวก็ตาม น้ำก็ตามไม่ได้เข้าใจภาษาแต่อย่างใด ยกตัวอย่างในการทดลองนี้โดยใช้ภาษาญี่ปุ่นพูดกับข้าวกระปุกหนึ่งว่า “ อาริงาโตะ ” แปลว่า “ ขอบคุณ ” ส่วนข้าวอีกกระปุกหนึ่งพูดว่า “ บากะ ” ซึ่งแปลว่า “ ไอ้โง่ ” ถามว่าข้าวเข้าใจภาษาญี่ปุ่นด้วยหรือ แล้วถ้าเราเปลี่ยนมาพูดภาษาไทยว่า “ ขอบคุณ ” กับ “ ไอ้โง่ ” หรือพูดภาษาต่างประเทศล่ะ ข้าวจะรู้เรื่องหรือไม่

ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องของภาษา แต่เป็นเรื่องของกระแสใจ คือ ในขณะที่เราพูดว่า “ ขอบคุณ ” โดยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นภาษาใดก็ตาม กระแสใจที่ออกมาในขณะที่พูดนั้นจะเป็นกระแสของความรู้สึกดี เป็นกระแสทางบวก แต่ถ้าเราพูดว่า “ ไอ้โง่ ” ถึงแม้ว่าเราจะแกล้งพูดก็ตาม ภาพที่เกิดขึ้นมาในใจเราขณะที่พูดคำไม่ไพเราะนั้น กระแสใจเราจะเริ่มเปลี่ยนแล้ว ยิ่งถ้าเกิดเรารู้สึกอย่างที่พูดจริงๆ กระแสใจในแง่ลบก็จะยิ่งแรงขึ้น ยิ่งถ้าเราพูดซ้ำๆ ทุกวันก็ยิ่งส่งผลรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

ข้าวเอย น้ำเอย ไม่มีชีวิต ไม่รู้ภาษามนุษย์ แต่มันสัมผัสถึงกระแสใจเราที่ส่งออกไปได้ โดยกระแสที่ออกไปนั้น ส่งผลต่อลำดับโครงสร้างโมเลกุลของน้ำ ส่งปลต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในข้าว
   
เพราะฉะนั้นคลื่นเสียงเป็นสื่อของคลื่นใจ เริ่มต้นมาจากใจ แล้วส่งออกไปเป็นคลื่นเสียง ถ้าคลื่นใจดี คลื่นเสียงที่ส่งออกไปจะมีจังหวะที่ดีด้วย ถ้าคลื่นใจเสียก็จะส่งผลไม่ดีออกไปด้วยเช่นกัน แล้วส่งผลไปถึงทุกสรรพสิ่ง

ดังนั้น หากเราสวดมนต์ทุกวันหมั่นสร้างคลื่นใจที่ดีให้กับตัวเองจากภายในด้วยความดื่มด่ำซาบซึ้งในคุณของพระรัตนตรัย กระแสดีๆ ก็จะออกมาจากใจเรา สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้นในชีวิต ทั้งเลือดและน้ำในตัวเราทั้งหมดจะเกิดเป็นผลึกที่สวยงาม ผิวพรรณวรรณะก็จะผ่องใส เพราะฉะนั้นถ้าปรารถนาให้ตัวเรามีสุขภาพแข็งแรง มีความเบิกบานผ่องใส ก็ให้หมั่นสวดมนต์เป็นประจำสม่ำเสมอ ไม่ว่าเครื่องสำอางค์ราคาแพงยี่ห้อไหนก็สู้การสวดมนต์ไม่ได้
   
ที่สำคัญการสวดมนต์เป็นการทบทวนคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตของเราก็จะดำเนินไปในทางบวก สุขภาพร่างกายแข็งแรง จิตใจเบิกบาน ผ่องใสทั้งการเรียนและหน้าที่การงาน ดำเนินไปอย่างได้ผลดี

@@@@@@@

เรื่องราวที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์

ณ กรุงพาราณสี มีเด็กสองคนเป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งอยู่ในครอบครัวสัมมาทิฐิ มีความเห็นชอบ ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ส่วนเด็กอีกคนหนึ่งอยู่ในครอบครัวมิจฉาทิฐิ มักเห็นกงจักรเป็นดอกบัว

เมื่อถึงเวลาแข่งกีฬาตีคลี เด็กที่มาจากครอบครัวสัมมาทิฐิมักจะสวดมนต์บทสวดสั้นๆก่อนลงแข่งเสมอว่า “นะโมพุทธายะ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ส่วนเด็กที่มาจากครอบครัวมิจฉาทิฐิ มักจะกล่าวบูชาพระพรหมว่า “ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพรหม” เพียงเท่านั้นไม่กล่าวบูชาพระรัตนตรัย

ครั้นผลการแข่งออกมา ปรากฎว่าเด็กคนแรกมักจะกุมชัยชนะเสมอ จนเด็กคนที่สองเกิดความสงสัย จึงเอ่ยถามเพื่อนว่า “เธอมีเคล็ดลับอะไรถึงได้ชนะฉันทุกครั้งไป”
   
เด็กคนแรกได้ยินดังนั้น จึงสอนให้เพื่อนสวดมนต์เหมือนกับตนเองว่า “ นะโมพุทธายะ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” เด็กคนที่สองก็ทำตามทั้งที่ไม่รู้เรื่อง เพียงเห็นว่าท่องสั้นดี และหวังจะให้ทุกอย่างออกมาราบรื่นบ้าง

เวลาต่อมา เด็กชายในครอบครัวมิจฉาทิฐิได้ตามพ่อของเขา เข้าไปตัดต้นไม้ในป่าใหญ่ ครั้นเมื่อผู้เป็นพ่อตัดต้นไม้เสร็จ ปรากฎว่าโคที่เทียมเกวียนหนีเตลิดหายเข้าไปในป่า พ่อจึงออกไปตามหาโคจนมืดค่ำ

เด็กน้อยนี่งรอพ่ออยู่ก็เกิดความหวาดกลัว จึงหลบไปนอนรอพ่ออยู่ใต้เกวียน โดยหารู้ไม่ว่าในป่าใหญ่นี้มียักษ์อยู่ 2 ตน ยักษ์ตนหนึ่งเป็นสัมมาทิฐิ ไม่รังแกคน แต่ยักษ์อีกตนหนึ่งเป็นมิจฉาทิฐิ ชอบรังแกคนบ้าง จับกินเป็นอาหารบ้าง

เมื่อยักษ์ทั้งสองเดินทางผ่านมาพบกับเกวียนที่จอดนิ่งอยู่กลางป่าเข้าก็เกิดความรู้สึกสงสัย ยืนด้อมๆมองๆอยู่ครู่หนึ่ง ไม่นานนักเจ้ายักษ์มิจฉาทิฐิก็เหลือบไปเห็นเท้าของเด็กน้อยโผล่มาจากใต้เกวียน จึงเกิดความดีใจพร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า “วันนี้ข้าโชคดีมีลาภลอย ได้เจ้าเด็กนี่เป็นอาหารแล้ว”

ยักษ์สัมมาทิฐิได้ยินดังนั้นจึงพูดแย้งขึ้นว่า “อย่าไปยุ่งเลย เราไปหาผลไม้กินกันก็ได้” เจ้ายักษ์มิจฉาทิฐิไม่ฟังเสียง คว้าขาเด็กน้อยได้ก็ลากออกมาทันที เด็กตกใจจึงรีบท่องคำที่เพื่อนเคยสอน “นะโมพุทธายะ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ทันใดนั้นเจ้ายักษ์มิจฉาทิฐิก็รู้สึกร้อนเหมือนจับโดนเหล็กเผาไฟ มันสะดุ้งแล้วรีบคลายมือที่จับขาเด็กน้อยออกทันที ด้วยอานิสงส์ของการกล่าววาจานอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า เจ้ายักษ์ มิจฉาทิฐิรู้ได้ในทันทีว่าเด็กน้อยเป็นผู้มีบุญ จะไปทำอันตรายเขาไม่ได้ มันจึงหันไปปรึกษายักษ์อีกตนหนึ่ง ยักษ์ผู้มีความประพฤติดีจึงตอบเพื่อนกลับไปว่า “เจ้าทำบาปกับผู้มีบารมีแล้ว เพราะฉะนั้นเจ้าต้องกล่าวขอโทษเขา”

เจ้ายักษ์มิจฉาทิฐิเกรงกลัวบาปกรรม จึงรีบเร่งไปเก็บผลไม้มาเลี้ยงเด็กแล้วขอขมาลาโทษ ไม่นานเด็กน้อยกับพ่อก็ได้พบกัน แล้วกลับบ้านอย่างปลอดภัยในที่สุด

เรื่องราวเหล่านี้ชี้ให้เห็นอานิสงส์ของการสวดมนต์ แม้จะสวดเพียงสั้นๆ โดยไม่รู้ความหมายบุญก็เกิดได้ คนโบราณรู้หลักข้อนี้ดี เวลาเกิดเหตุให้ตกใจก็มักอุทานว่า “คุณพระช่วย” แต่ถ้าเป็นในสมัยพุทธกาลเขาอุทานกันว่า “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต....” ตกใจแต่ละทีจะต้องนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน นึกถึงพระรัตนตรัยก่อน แล้วเอาใจผูกไว้อย่างนั้น เพราะรู้ว่าผูกไว้กับพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้วจะดีขึ้น ถ้าเราเองจับหลักนี้ได้เหมือนกับปู่ย่าตายยาย ชีวิตของเราก็จะดีตาม ผลดีจะเกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว






ขอขอบคุณ :-
ภาพ : https://www.pinterest.ca/
บทความ : เพราะไม่รู้สินะ ตัวเราไม่ธรรมดา - สวดมนต์รักษาสุขภาพ โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
URL : https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=8631
วันที่ 14 กค. พ.ศ.2558






หนังสือเล่ม "เพราะไม่รู้สินะ" โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
"จะทนทุกข์ไปทำไม ในเมื่อคุณสามารถลิขิตชีวิตตนเองได้ เพียงเปลี่ยนวิธีคิด ลองมองโลกในอีกมุมที่ต่างไป ลองเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต คุณอาจได้คำตอบว่า ความสุขนั้นหาได้ง่ายๆ ถ้าคุณคิดได้และคิดเป็น"

วางแผงจำหน่ายแล้วที่ :-
- ซีเอ็ดบุ๊ค
https://www.se-ed.com/product-search/เพราะไม่รู้สินะ.aspx?keyword=เพราะไม่รู้สินะ&search=name
- ร้านนายอินทร์
https://www.naiin.com/product/detail/141416/เพราะไม่รู้สินะ
- Book Smile
http://www.booksmile.co.th/ศาสนา-ปรัชญา/เพราะไม่รู้สินะ.html

 22 
 เมื่อ: เมษายน 22, 2024, 06:14:56 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.

พระอุโบสถวัดอภัยทายาราม ที่บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่บนฐานเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2489 ภาพนี้ถ่ายจากอาคารพัชรกิติยาภา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2549)


วัดอภัยทายาราม อนุสรณ์ 200 ปี สมานฉันท์ จักรี-ธนบุรี

“วัดอภัยทายาราม” หรือที่ชาวบ้านยังเรียกกันในปัจจุบันว่า “วัดมะกอก” ตั้งอยู่ติดกับเขตโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หันหน้าเข้าสู่คลองสามเสน ใน พ.ศ. 2549 เป็นวาระที่วัดอภัยทายารามมีอายุครบ 200 ปี ซึ่งวัดแห่งนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

สาเหตุอย่างหนึ่งอาจมาจากประวัติวัด “อย่างเป็นทางการ” ของกรมการศาสนาซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 ก็ใช้อ้างอิงไม่ได้ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างวัดแห่งนี้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่หลายข้อ รวมไปถึงการระบุเจ้านายผู้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ผิดองค์

ประวัติการปฏิสังขรณ์วัด “ตัวจริง” ได้ถูกจารึกเป็นเพลงยาวไว้บนแผ่นไม้สักลงรัก เขียนทอง เก็บรักษาไว้ที่วัดมาตลอดโดยมิได้เคลื่อนย้ายไปไหน แต่ก็มิได้มีการอนุรักษ์ ซ่อมแซม จนปัจจุบันเพลงยาวที่จารึกไว้ได้ลบเลือนจนยากที่จะอ่านได้ความ

อย่างไรก็ดีคุณบุญเตือน ศรีวรพจน์ แห่งสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้พบเพลงยาวฉบับตัวเขียนในสมุดไทย เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเนื้อหาตรงกันกับเพลงยาวที่จารึกไว้บนแผ่นไม้ของวัด และได้เขียนแนะนำไว้พอสังเขปแล้วในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2548 ทำให้เราได้ “ความสมบูรณ์” ในการปฏิสังขรณ์วัดอภัยทายารามเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 1 นอกจากนี้ ทัศน์ ทองทราย ก็ได้บันทึกประวัติวัด “จากคำบอกเล่า” ของเจ้าอาวาสวัดองค์ปัจจุบัน ไว้ในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดียวกัน

แต่ในวาระที่วัดอภัยทายารามมีอายุครบ 200 ปี ในปี 2549 นอกจากประวัติการปฏิสังขรณ์วัดจากเพลงยาวและประวัติวัดจากคำบอกเล่าแล้ว ยังควรพิจารณาแง่มุมอื่นๆ ที่ยังไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน โดยเฉพาะในประเด็นของ “ชื่อวัด” และวัตถุประสงค์ในการปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้



แผ่นไม้สักขนาดใหญ่ลงรักเขียนทอง จารึกประวัติการสร้างและฉลองวัดอภัยทายาราม อายุกว่า 200 ปี https://www.nlt.go.th


ปฏิสังขรณ์วัดบ้านนอก เสมอด้วยวัดหลวง

วัดอภัยทายาราม เดิมเป็นวัดที่ทรุดโทรม ซึ่งน่าจะสร้างมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมา “เจ้าฟ้าเหม็น” พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และยังเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ คงเสด็จมาพบเข้า เห็นวัดนั้นเสื่อมโทรมไม่สมกับเป็นที่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ ดังที่เพลงยาวได้กล่าวไว้ดังนี้

ในอารามที่ปลายซองคลองสามเสน   เหนบริเวณเปนแขมคาป่ารองหนอง
ไม่รุ่งเรืองงามอรามด้วยแก้วทอง   ไร้วิหารท้องน้อยหนึ่งมุงคา
ไม่ควรสถิศพระพิชิตมาเรศ   น่าสังเวทเหมือนเสดจ์อยู่ป่าหญ่า
ทั้งฝืดเคืองเบื้องกิจสมณา   พระศรัดทาหวังประเทืองในเรืองธรรม

เมื่อเสด็จมาพบเข้าดังนี้ ก็มีพระประสงค์จะทำการกุศล จึงทรงสั่งการให้เกณฑ์ไพร่มาเตรียมการปฏิสังขรณ์ใหญ่ ณ วัดแห่งนี้ ตั้งแต่ปีจุลศักราช 1159 (พ.ศ. 2340)

ครั้นถึงปีจุลศักราช 1160 (พ.ศ. 2341) เจ้าฟ้าเหม็นจึงเสด็จถวายพระกฐินและวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ เป็นการเริ่มต้นการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ คือ สร้างใหม่ทั้งวัด อย่างไรก็ดีวันเดือนปีที่ปรากฏในเพลงยาวนั้นยังคลาดเคลื่อนกับปฏิทินอยู่บ้างเล็กน้อย คือ กำหนดพระฤกษ์วันเสด็จในการถวายพระกฐินและวางศิลาฤกษ์เพลงยาวได้ระบุว่าเป็น “สุริยวารอาสุชมาล กาลปักทวาทัสมี ปีมเมียสำฤทศกปรมาร” ถอดคำแปลออกมาเป็น วันอาทิตย์ เดือน 11 แรม 12 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1160 ซึ่งตามปฏิทินนั้นเดือนแรม ดังกล่าวจะตรงกับวันจันทร์ ไม่ใช่วันอาทิตย์

นอกจากนี้ในบทอื่นๆ ที่กล่าวถึงวันเดือนปีก็จะคลาดเคลื่อนทุกครั้ง จึงเป็นการยากที่จะถอดวันเดือนปีในเพลงยาว ให้เป็นวันเดือนปีในปฏิทินสุริยคติที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

วัดอภัยทายาราม เมื่อแรกปฏิสังขรณ์นั้นยิ่งใหญ่ และงดงามอย่างยิ่ง เสนาสนะทุกสิ่งอันล้วนวิจิตรบรรจงและอลังการ เทียบเคียงได้กับวัดสำคัญๆ ในสมัยนั้น และสิ่งที่เป็นข้อบ่งชี้ว่าวัดนี้เป็น “วัดสำคัญ” นอกกำแพงพระนครคือ “พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์” เสด็จพระราชดำเนินมาในการพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และ “วังหน้า” กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความขัดแย้งและหวาดระแวง

ที่ตั้งของวัดจะอยู่ค่อนข้างไกลจากศูนย์กลางของเมืองในขณะนั้น สามารถจัดได้ว่าเป็น “วัดบ้านนอก” ดังนั้นการเสด็จทั้ง 2 พระองค์ในครั้งนี้ย่อมมีนัยยะอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งต้อง “สืบสวน” กันอย่างละเอียดเพื่อหาเหตุผลของการเสด็จพระราชดำเนินมายัง “วัดบ้านนอก” ในครั้งนั้น



ภาพถ่ายทางอากาศ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2489 ที่ลูกศรชี้คือพระอุโบสถวัดอภัยทายารามหลังเก่าที่ “เจ้าฟ้าเหม็น” ทรงสร้าง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2549)

ขณะที่ “พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์” เสด็จพระราชดำเนินนั้น วัดยังอยู่ระหว่างก่อสร้างคือเมื่อ เดือนยี่ ปีจุลศักราช 1163 (พ.ศ. 2344) จึงไม่ได้เสด็จมาเพื่อเฉลิมฉลองหากแต่มาทรงผูกพัทธสีมา “จผูกพัดเสมาประชุมสงฆ” แต่ถึงกระนั้นก็เสด็จมาทางชลมารคด้วยกระบวนเรือ “มหึมา”

สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสององค์   ผู้ทรงธรรม์อันสถิศมหาสถาร
ก็เสดจ์ด้วยราชบริพาน   กระบวนธารชลมาศมหึมา
ถึงประทับพลับพลาอาวาสวัด   ดำรัดการที่สืบพระสาสนา
สท้านเสียงดุริยสัทโกลา   หลดนตรีก้องประโคมประโคมไชย
เสจพระราชานุกิจพิทธีกุศล   เปนวันมนทณจันทรไม่แจ่มไส
ประทีปรัตนรายเรืองแสงโคมไฟ   เสดจ์คันไลเลิกกลับแสนยากร

การปฏิสังขรณ์ใหญ่วัดอภัยทายารามใช้เวลาทั้งสิ้น 8 ปี จึงแล้วเสร็จในเดือน 3 ปีจุลศักราช 1168 (พ.ศ. 2349) ผ่านมาครบ 200 ปีในปีนี้พอดี เมื่อการปฏิสังขรณ์สำเร็จบริบูรณ์จึงมีการเฉลิมฉลองขึ้น เป็นงานใหญ่ 7 วัน 7 คืน มีมหรสพ ละคร การละเล่นอย่างยิ่งใหญ่ และเทียบเท่ากับงานเฉลิมฉลองระดับ “งานหลวง” ทั้งสิ้น องค์ประธานองค์ประธานผู้ทรงปฏิสังขรณ์ วัดเสด็จร่วมงานฉลองครบทุกวันจนจบพิธี แล้วขนานนามวัดว่า “อไภยทาราม”

ส้างวัดสิ้นเงินห้าสิบเก้าชั่ง   พระไทยหวังจไห้เป็นแก่นสานต์
ตั้งทำอยู่แปดปีจึ่งเสจการ   ขนานชื่อวัดอไภยทาราม

สิ่งที่น่าสนใจและเป็นปริศนาชวนให้ค้นหาคำตอบของ วัดอภัยทายาราม ทั้งที่ปรากฏอยู่ในเพลงยาว และอื่นๆ ไม่ใช่การปฏิสังขรณ์อย่างยิ่งใหญ่ ไม่ใช่การสร้างเสนาสนะอย่างวิจิตรบรรจง หรือแม้แต่งานฉลอง 7 วัน 7 คืน ด้วยการละเล่นดุจเดียวกับงานหลวง สิ่งเหล่านี้มีฐานะเป็นแต่เพียง “พยาน” สำคัญ ที่จะนำไปสู่การไขคำตอบสำคัญ ซึ่งก็คือเหตุอันเป็นที่มาของชื่อวัด “อไภยทาราม” นั่นเอง

@@@@@@@

วัดอไภยทาราม ไม่ได้ตั้งตามพระนามเจ้าฟ้าเหม็น

นามวัด “อภัยทายาราม” เป็นนามที่ตั้งขึ้นใหม่ในชั้นหลัง เดิมนามวัดตามที่ปรากฏในเพลงยาวขนานนามว่า “อไภยทาราม” ซึ่งก็น่าจะเป็นนามพระราชทาน ชื่อ “อไภยทาราม” นี้อาจจะดูเหมือนว่าเป็นการตั้งตามพระนามของเจ้าฟ้าเหม็น ผู้ทรงปฏิสังขรณ์วัด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ แต่พระนาม “เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์” ของเจ้าฟ้าเหม็นนั้น มิได้ใช้โดยตลอด เนื่องด้วยมีพระราชดำริเห็นว่าเป็นนามอัปมงคล!

ที่มาที่ไปของพระนามอัปมงคล เริ่มต้นและเกี่ยวพันกับพระชาติกำเนิดของเจ้าฟ้าเหม็น ในฐานะผู้ที่ทรงอยู่กึ่งกลางระหว่างความขัดแย้งของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชบิดา และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ คือพระอัยกา หรือ “คุณตา” ซึ่งได้สำเร็จโทษพระราชบิดาเจ้าฟ้าเหม็นเมื่อคราวเปลี่ยนแผ่นดิน

เจ้าฟ้าเหม็นเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ พระสนมเอก ท่านผู้นี้เป็นธิดาของเจ้าพระยาจักรี หรือต่อมาเสด็จขึ้นปกครองแผ่นดินเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 ในพระราชวงศ์จักรี

เจ้าฟ้าเหม็นประสูติในแผ่นดินกรุงธนบุรีในปีพุทธศักราช 2322 ต่อมาอีกเพียง 3 ปี “คุณตา” เจ้าพระยาจักรี ก็ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัว สถาปนาพระราชวงศ์ใหม่ โดยได้สำเร็จโทษ “เจ้าตาก” พระราชบิดาของเจ้าฟ้าเหม็น พร้อมกับพระญาติบางส่วนในเหตุการณ์ครั้งนั้น ถือเป็นอันสิ้นแผ่นดินกรุงธนบุรี

หลังจากเหตุการณ์ล้างครัว “เจ้าตาก” จบลงยังเหลือพระราชวงศ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีกบางส่วนที่ได้รับการยกเว้น รวมทั้งเจ้าฟ้าเหม็นด้วย เนื่องจาก “คุณตา” ทรงอาลัยหลานรักพระองค์นี้ยิ่งนัก ดังนั้นตลอดรัชกาลที่ 1 แม้เจ้าฟ้าเหม็นจะทรงถูก “ตัด” ออกจากราชการบ้านเมืองทั้งสิ้น แต่ก็ยังทรงเป็น “พระเจ้าหลานเธอ” พระองค์โปรดของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ตลอดรัชกาล

พระนามพระราชทานแรกของเจ้าฟ้าเหม็น ที่เป็นนาม “พ่อตั้ง” คือ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ พระนามนี้ใช้ในแผ่นดินกรุงธนบุรี ครั้นต่อมาเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินแล้ว พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ก็มีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนพระนามเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ในแผ่นดินก่อน ด้วยไม่สมควรที่จะใช้เรียกขานในแผ่นดินใหม่นี้

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่าเจ้าตากขนานพระนามพระราชนัดดาให้เรียก เจ้าฟ้าสุพันธวงษ์ ไว้แต่เดิมนั้น จะใช้คงอยู่ดูไม่สมควรแก่แผ่นดินประจุบันนี้ จึ่งพระราชทานพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าอภัยธิเบศ นเรศรสมมติวงษ พงษอิศวรราชกุมาร”

อย่างไรก็ดีพระนามเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ที่คาดว่าเป็นพระนามที่นำไปขนานนาม “วัดอไภยทาราม” นั้น ตามความเป็นจริงพระนามนี้ใช้อยู่เพียงระยะสั้น ก็มีพระราชดำริให้เลิกเสียและเปลี่ยนพระนามใหม่อีกครั้ง

“ภายหลังข้าราชการกราบบังคมทูลหาสิ้นพระนามไม่ กราบทูลแต่ว่า เจ้าฟ้าอภัย จึ่งทรงเฉลียวพระไทย แล้วมีพระราชดำรัสว่า ชื่อนี้พ้องต้องนามกับเจ้าฟ้าอภัยทัต เจ้าฟ้าปรเมศ เจ้าฟ้าอภัย ครั้งแผ่นดินกรุงเก่า ไม่เพราะหูเลย จึ่งพระราชทานโปรดเปลี่ยนพระนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ์ร นเรศว์รสมมติวงษพงษอิศวรราชกุมารแต่นั้นมาฯ” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ฉบับตัวเขียน), อมรินทร์, 2539, น. 43)

เหตุการณ์นี้บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ฉบับตัวเขียน) ในช่วงปีจุลศักราช 1145 (พ.ศ. 2326) เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลที่ 1 จึงเท่ากับว่าพระนามเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ใช้อยู่ไม่เกิน 2 ปี จึงยกเลิกเสีย ด้วยว่าเป็นพระนามอัปมงคลแก่ผู้เป็นเจ้าของ กล่าวคือพระนาม “เจ้าฟ้าอภัย” ที่ใช้ในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยานั้น เจ้าของพระนามล้วนแต่ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ทุกพระองค์

นอกจากนี้หลักฐานการเปลี่ยนพระนามยังสอดคล้องกับการอ้างถึงพระนามที่เปลี่ยนใหม่ เมื่อทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกให้ “ทรงกรม” ในปีพุทธศักราช 2350 หลังจากที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม 1 ปี ขณะนั้นทรงใช้พระนามเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์อยู่แล้ว

“โปรดตั้งพระราชนัดดา เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เป็นกรมขุนกษัตรานุชิต 1 สมเด็จพระเจ้าหลานพระองค์นี้ ครั้งกรุงธนบุรีมีพระนามว่า เจ้าฟ้าสุพันธวงศ์ ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระราชทานพระนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ข้าราชการขานพระนามโดยย่อว่า เจ้าฟ้าอภัย ได้ทรงสดับรับสั่งว่า พ้องกับพระนามเจ้าฟ้าอภัยทัต ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ และเจ้าฟ้าอภัย ครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ซึ่งไม่เป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้มีพระนามนั้น จึงโปรดให้เปลี่ยนพระนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์, กรมศิลปากร, 2531, น. 102)

ดังนั้นหากกำหนดระยะเวลาโดยสังเขปเกี่ยวกับ พระนามเจ้าฟ้าเหม็น ควรจะได้ดังนี้ เจ้าฟ้าเหม็น เป็นพระนามลำลอง คงใช้ตลอดพระชนมายุ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ ใช้แต่แรกเกิดในสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2322-5) เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ใช้เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเวลา 2 ปี (พ.ศ. 2325-6) เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ใช้เรื่อยมาจนกระทั่งทรงกรม (พ.ศ. 2326-50) และกรมขุนกษัตรานุชิต ใช้เป็นพระนามสุดท้าย (พ.ศ. 2350-2)

ระยะเวลาของการใช้พระนามแต่ละพระนามนั้นชี้ให้เห็นว่า พระนามเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์นั้นถูกยกเลิกโดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2326 หรือเป็นปีที่ 2 ในรัชกาลที่ 1 ก่อนที่จะทรงปฏิสังขรณ์วัดอไภยทารามในปีพุทธศักราช 2349 เป็นเวลานานถึง 23 ปี นอกจากนี้พระนามอภัยธิเบศร์ ยังได้รับพระราชวิจารณ์ว่า “ไม่เป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้มีพระนามนั้น” จึงไม่มีเหตุผลสมควรที่จะนำพระนามที่เลิกใช้ไปนานแล้วและเป็นอัปมงคลกลับมาใช้ใหม่ โดยนำไปตั้งเป็นชื่อวัด อันควรแก่นามสิริมงคลเท่านั้น

ดังนั้นหากชื่อวัดอไภยทารามไม่ได้ตั้งตามพระนามเจ้าฟ้าเหม็นแล้ว ชื่อวัดแห่งนี้ย่อมจะมีนัยยะอย่างใดอย่างหนึ่งแอบแฝงไว้หรือไม่?

@@@@@@@

แผนการ “ตา” ปกป้องหลาน

เมื่อเริ่มมีการลงมือปฏิสังขรณ์วัดนั้นตกอยู่ในปีพุทธศักราช 2341 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีพระชนมพรรษามากแล้วถึง 62 พรรษา แม้จะไม่ถึงเกณฑ์ชรามากนัก แต่ก็ไม่สามารถประมาทได้ ด้วยเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่าง “วังหน้า” และ “วังหลวง” ยังคงมีแฝงอยู่ตลอดรัชกาล

ซึ่งต่อมาอีกเพียง 10 ปีหลังจากการปฏิสังขรณ์วัด ก็สิ้นรัชกาลที่ 1 ด้วยพระชนมพรรษา 72 พรรษา จึงเป็นไปได้ว่าการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงเห็นชอบให้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้อย่างยิ่งใหญ่ เพราะมีพระราชประสงค์มากไปกว่าการสร้างวัดเพื่อการกุศลเท่านั้น

ย้อนกลับไปเมื่อปีมะโรง พุทธศักราช 2334 เกิดเหตุใหญ่ขึ้นที่เรียกว่า “วิกฤตวังหน้า” ถึงขั้นที่กรมพระราชวังบวรฯ ไม่เสด็จลงเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 เหมือนอย่างเคย เหตุจากความหวาดระแวงที่สะสมกันเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อมีพิธีตรุษ วังหลวงได้ลากปืนใหญ่ขึ้นป้อมเล็งตรงมายังวังหน้า กรมพระราชวังบวรฯ เห็นว่าวังหลวงอาจจะมีประสงค์ร้าย ก็มีรับสั่งให้คนไปสืบความ ครั้นได้ความว่า ปืนนั้นเพื่อการพิธีตรุษ ก็ทรงคลายพระพิโรธลง เหตุการณ์ครั้งนี้หมิ่นเหม่ถึงขั้นที่จะเกิดศึกกลางเมือง ตามที่ปรากฏอยู่ในนิพานวังน่า ดังนี้

เพราะพระปิ่นดำรงบวรสถาน   กระหึ่มหาญทุนเหี้ยมกระหยับย่ำ
เหมือนจะวางกลางเมืองเมื่อเคืองคำ   พิโรธร่ำดั่งจะรุดเข้าโรมรัน
ครั้นทรงทราบว่าพระจอมบิตุลา   ให้พลกัมพูชาลากปืนขัน
ประจุป้อมล้อมราชวังจันทร์   จึงมีบันฑูรสั่งให้สืบความ

ตรัสให้มาตุรงค์ตรงรับสั่ง   มิไปฟังราชกิจก็คิดขาม
มาสืบเรื่องพระไม่ปลงจะสงคราม   ก็ประณามทูลบาทไม่พาดพิง
ว่าคำขอมน้อมพจมานสาร   ไม่หาญเสน่หาพระนุชยิ่ง
แต่พิธีตรุศยืนลากปืนจริง   ยังนึกกิ่งกริ้วนั้นพอบันเทา

ยังมีเหตุการณ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่งอันเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพี่น้องสองวัง คือในปีพุทธศักราช 2338 หลังการถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิ สมเด็จพระชนกนาถ เมื่อวังหน้า “ลักไก่” ซ่อนฝีพายฝีมือจัดไว้ในงานแข่งขันเรือพาย ฝ่ายข้าราชการวังหลวงทราบเข้าก็ถวายรายงานให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงมีพระราชดำรัสว่า เล่นดังนี้จะเล่นด้วยที่ไหนได้ และทรงให้เลิกการแข่งเรือระหว่างสองวังตั้งแต่นั้นมา เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้กรมพระราชวังบวรฯ ไม่เสด็จลงเฝ้าอีกเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ข้อบาดหมางหวาดระแวงยังเกิดขึ้นอีกหลายเรื่อง รวมไปถึงการที่กรมพระราชวังบวรฯ ทรงกราบทูลขอพระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่ม สำหรับแจกจ่ายข้าราชการ แต่ก็ทรงถูกปฏิเสธ

แม้ว่าการกระทบกระทั่งกันอยู่เนืองๆ เช่นนี้ ที่ไม่ถึงขั้นตัดรอนขาดจากกัน ก็เพราะมีสมเด็จพระพี่นางทั้ง 2 พระองค์ทรงเป็น “กาวใจ” ประสานความแตกร้าวนี้อยู่เสมอ

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์สุดท้ายที่เป็นหลักฐานว่า พี่น้องสองวังนี้ยังคง “คาใจ” กันอยู่จนวาระสุดท้าย เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จมาทรงเยี่ยมพระอาการประชวรของกรมพระราชวังบวรฯ ก็ยังมีเหตุการณ์กระทบกระทั่งของทหารรักษาพระองค์ทั้ง 2 วัง จนกระทั่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงแสดงออกอย่างชัดเจนเมื่อมีพระราชปรารภในช่วงปลายพระชนมายุ ที่ทรงห่วงวังหน้าและลูกหลานวังหน้า เกรงว่าจะถูกเบียดเบียนจากวังหลวง

“ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุนให้แรง กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข” (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 13, คุรุสภา, 2507, น. 47)

แน่นอนว่าไม่ใช่แต่เพียงวังหน้าเคืองวังหลวงเท่านั้น เหตุการณ์ “กบฏวังหน้า” ก็ทำให้วังหลวงเคืองวังหน้าด้วยเช่นกัน ถึงขั้นตัดรอนไม่เผาผีกัน

“รักลูกยิ่งกว่าแผ่นดิน ให้สติปัญญาให้ลูกกำเริบจนคิดประทุษร้ายต่อแผ่นดิน เพราะผู้ใหญ่ไม่ดีจะไม่เผาผีแล้ว” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์, กรมศิลปากร, 2531, น. 95)

เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้านี้ ย่อมส่งผลทางตรงต่อสวัสดิภาพของเจ้าฟ้าเหม็นโดยตรง หากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จสวรรคตเสียก่อนกรมพระราชวังบวรฯ เนื่องจากกรมพระราชวังบวรฯ ทรงเป็นผู้ถวายคำแนะนำให้ “กำจัด” เจ้าฟ้าเหม็นเมื่อคราวปราบดาภิเษก ทรงเป็นเจ้าของวรรคทองที่ว่า “ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก” นั่นเอง

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังฯ เสด็จลงมาเฝ้า กราบทูลว่าบรรดาบุตรชายน้อยๆ ของเจ้าตากสินจะรับพระราชทานเอาไปใส่เรือล่มน้ำเสียให้สิ้น คำบุราณกล่าวไว้ ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก ซึ่งจะเลี้ยงไว้นั้นหาประโยชน์ไม่ จะเป็นเสี้ยนหนามไปภายหน้า” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, คลังวิทยา, 2516, น. 460)

แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วถึง 19 ปี แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีใครลืมความเป็น “ลูกเจ้าตาก” ของเจ้าฟ้าเหม็นได้ ซึ่งต้องทรงแบก “แอก” นี้ ไว้จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต

ย้อนหลังไป 2 ปี ก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงผูกพัทธสีมาที่วัดอไภยทาราม สมเด็จพระพี่นางทั้ง 2 พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ลงในปีเดียวกัน โดยเฉพาะกรมสมเด็จ พระเทพสุดาวดี พระพี่นางพระองค์ใหญ่ ที่ทรงชุบเลี้ยงเจ้าฟ้าเหม็นแทนพระมารดามาแต่ประสูติ เท่ากับร่มโพธิ์ร่มไทรหรือเกราะป้องกันภัยของเจ้าฟ้าเหม็นได้สิ้นลงไปด้วย เหลือแต่เพียง “คุณตา” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ อีกเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

การที่ “พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์” จะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมกันได้นั้น ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารมักจะเป็น “งานยักษ์” เช่น ในงานพระศพสมเด็จพระพี่นาง (พ.ศ. 2342) หรือในงานฉลองวัดพระเชตุพนฯ ปีเดียวกับที่เสด็จวัดอไภยทาราม ดังนั้นการที่พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาบำเพ็ญพระกุศลพร้อมกันที่ “วัดบ้านนอก” ของ “ลูกเจ้าตาก” จึงไม่ใช่เรื่องปรกติในเวลานั้น

@@@@@@@

วัดอไภย คือวัดไม่มีภัย

คำว่า อไภย พจนานุกรมฉบับหมอบรัดเลย์เริ่มทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แปลไว้ว่า ไม่มีไภย, เช่นคนอยู่ปราศจากไภย มีราชไภย เปนต้นนั้น. พจนานุกรมฉบับหมอคาสเวลในสมัยรัชกาลที่ 3 แปลว่า อะไภย นั้นคือขอโทษ เหมือนคำพูดว่าข้าขออไภยโทษเถิด ส่วนพจนานุกรมสมัยใหม่ฉบับมติชนแปลว่า ยกโทษให้ไม่เอาผิด และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า ยกโทษให้, ความไม่มีภัย

จากความหมายของชื่อวัดดังกล่าวนี้ กับการที่กรมพระราชวังบวรฯ ผู้ที่ทรงเคยสังฆ่าเจ้าฟ้าเหม็น โดยเสด็จฯ มายังวัดแห่งนี้พร้อมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มายัง “วัดอไภย” ซึ่งไม่ใช่ตั้งตามพระนามของเจ้าฟ้าเหม็นนี้ ย่อมมีนัยยะแห่งการ “สมานฉันท์” ระหว่างกรมพระราชวังบวรฯ กับเจ้าฟ้าเหม็น ประการหนึ่ง และอาจหมายรวมถึงการ “ยกโทษ” หรือ “ขอโทษ” แก่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปด้วยในเวลาเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าวัดอไภยทาราม เมื่อแรกปฏิสังขรณ์ นั้นไม่ใช่แค่การ “สร้างวัดให้หลานเล่น” แน่ แต่เป็นการสร้างขึ้นอย่างจริงจัง มีเสนาสนะครบบริบูรณ์อย่างวัดหลวง มีพระอุโบสถ เจดีย์ใหญ่ ลวดลายจิตรกรรมวิจิตรบรรเจิด มีการเกณฑ์ไพร่มาทำงานนับพันคน นิมนต์พระสงฆ์เกือบ 2,000 รูป มีงานฉลอง การละเล่น ละคร ของหลวง 7 วัน 7 คืน สิ่งเหล่านี้คงไม่ได้สะท้อนเพียงเพราะองค์ผู้ปฏิสังขรณ์เป็น “เจ้าฟ้า” หรือ “หลานรัก” เท่านั้น แต่สิ่งอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ล้วนแต่เหมาะสม กับการยกโทษหรือขอโทษ สำหรับราชภัยในอดีต

อย่างไรก็ดีเมื่อวัดนี้สร้างเสร็จจนมีงานฉลองในปีพุทธศักราช 2349 นั้น กรมพระราชวังบวรฯ ก็ทิวงคตไปก่อนหน้าแล้วในปีพุทธศักราช 2346 แผนการสมานฉันท์จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป และวัดอไภยทารามก็ไม่สามารถคุ้มครองเจ้าฟ้าเหม็นได้ตามพระราชประสงค์ความพยายามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ในการปกป้องหลานรักจบลงเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต

เพราะหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน เจ้าฟ้าเหม็นก็ถูกสำเร็จโทษสิ้นพระชนม์ในต้นรัชกาลที่ 2 แห่งพระราชวงศ์จักรี

อ่านเพิ่มเติม :-

    • 13 กันยายน 2352 วันสิ้นพระชนม์ “เจ้าฟ้าเหม็น” โอรสพระเจ้าตาก
    • เจ้านายผู้เป็น “ลูกกษัตริย์-หลานกษัตริย์” กลับมีพระนามอัปมงคล





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2549
ผู้เขียน : ปรามินทร์ เครือทอง
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ.2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 16 กันยายน 2565
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_93185

 23 
 เมื่อ: เมษายน 22, 2024, 05:42:51 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



เศรษฐกิจสายมู ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ส่งออก ‘พระเครื่อง’ ไกลถึง ‘จีน’

“พระเครื่อง” และจักรวาลแห่งความเชื่อในวงการพุธศาสนาไทยกำลังแสดงมนต์ขลังด้วยการเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย” เพราะดารานักแสดงทั่วโลกให้ความสนใจ แบบที่ไม่ต้องโปรโมท และกำลังกลายเป็นเศรษฐกิจสายมูที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

หรือ "ซอฟต์พาวเวอร์ไทย" จะมาในรูปแบบ "พระเครื่อง" เพราะกำลังดังไกลถึงจีน ถึงขั้นที่ดารานักแสดงชื่อดังในจีนให้ความสนใจแบบไม่ต้องโปรโมท จนพลังศรัทธาใน “พุทธคุณ” และ "ความเชื่อเรื่องมูเตลู" ทำให้เกิดการเช่าบูชาพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง จนกลายเป็น "เศรษฐกิจสายมู" ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในแง่มุมของการท่องเที่ยวและพุธพาณิชย์ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท


@@@@@@@

• “พระเครื่อง” สินค้าส่งออกที่ไม่ธรรมดา

“พระเครื่อง” ไม่ได้เป็นเพียงวัตถุมงคลที่ผู้คนเคารพสักการะ แต่ในปัจจุบันนี้ปฎิเสธไม่ได้ว่ากลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ตลาดพระเครื่องในประเทศไทยมีมูลค่าการเช่าพระ (ซื้อขาย) หมุนเวียนปีละหลายหมื่นล้านบาท และกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยว “ชาวจีน” ที่มีที่มีความเลื่อมใสในพุทธคุณและนิยมสะสมพระเครื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ในปี 2562 คาดว่าตลาดพระเครื่องในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 1.7-2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดจากการจำหน่ายให้กับเฉพาะคนไทยที่ยังไม่นับรวมที่จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือการส่งออกไปต่างประเทศ

@@@@@@@

• จากความเชื่อและศรัทธา ต่อมากลายเป็นธุรกิจ

โทมัส แพตตัน นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยซิตี้ เผยว่าเริ่มเห็นร้านค้าเกี่ยวกับเครื่องรางของขลังในฮ่องกงครั้งแรกในปี 2551 และ 2552 ซึ่งชาวฮ่องกงที่หลงใหลในโลกแห่งเครื่องรางมากที่สุด และเวทมนตร์ของไทยเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ คือชนชั้นแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2551

ขณะเดียวกัน “เปรมวดี อมราภรณ์พิสุทธิ์” หรือ “บีบี” แม่ค้าคนไทยไลฟ์สดขายสินค้าไทยไปประเทศจีนใน ผ่าน Tiktok จีน หรือ โต่วอิน เผยว่าแต่เดิมทีชาวจีน ไม่ว่าจีนแผ่นดินใหญ่หรือจีนไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า รวมทั้ง มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ล้วนมีความเชื่อและความศรัทธา ที่ต้องการบูชาพระพุทธคุณในเรื่องโชคลาภเป็นทุนเดิม แต่พระเครื่องกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อดาราจีนและฮ่องกงออกงานพร้อมกับสวมใส่ “พระเครื่อง” แทนเครื่องประดับ

เริ่มต้นจากดาราฮ่องกงอย่าง “เฉิน หลง” ใส่พระเครื่องในการแสดงหนัง รวมทั้งฉากบู้อยู่หลายครั้ง จนเกิดอุบัติเหตุระหว่างการถ่ายทำแต่ไม่มีการบาดเจ็บทำให้คนทั้งกองถ่ายแปลกใจจนให้ความสนใจกับพระเครื่องที่อยู่บนคอของเฉิน หลง คือ หลวงพ่อแพร วัดพิกุลทอง “ หรือ"จาง ป๋อ จือ" นักแสดงหญิงชาวจีน เดินทางมาเมืองไทยและตัดสินใจเช่าพระเครื่ององค์หนึ่งด้วยเงิน 150,000 ดอลลาร์ฮ่องกงฯ รวมทั้งเลี้ยง “กุมารทอง”เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ฉินเฟิน” ไอดอลหนุ่มชาวจีน ร่วมเดินพรมแดงในเทศกาลหนังเมืองคานส์ใส่เลสหลวงพ่อรวยกับสูทสีดำ

โดย“หลวงพ่อรวย” เป็นพระเครื่องได้รับความนิยมจากชาวจีนมากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งมีพุทธคุณช่วยเสริมความมั่งคั่ง ร่ำรวย เห็นผลกลับมามีชื่อเสียงโด่งดังอีกครั้ง ทำให้ชาวจีนหลั่งไหลกันมาที่วัดตะโก วัดชื่อดังแห่งอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อกราบไหว้ หลวงพ่อรวยพระเกจิอาจารย์แห่งกรุงเก่าที่เด่นดังด้านมหาลาภ เมตตามหานิยม และแคล้วคลาดปลอดภัย

    “คนจีน” มีความสนใจพระเครื่องที่มีพุธทคุณ “เรียกทรัพย์ ร่ำรวย ค้าขาย การพนัน” นิยมเล่น พระปิดตาเงินล้าน หลวงปู่โต๊ะ เซียนแปะ พระกริ่ง หลวงพ่อรวย วานรสี่หูห้าตา ยี่กอฮง และหลวงปู่ทิม

“ยีนส์ เมืองนนท์” เซียนพระในห้างสรรพสินค้าในนนทบุรี เปิดเผยกับทางกรุงเทพธุรกิจว่า ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาสอบถามพระเครื่องรวมทั้งเครื่องรางของขลังของคนไทยเป็นจำนวนมากทั้งหน้าร้านและช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีสัดส่วนเทียบเท่ากับลูกค้าชาวไทย แม้ว่าจะไม่มีความชำนาญด้านการส่องพระแท้ หรือปลอม แต่มีความเชื่อใจผู้ประกอบการชาวไทยเพราะการมีใบรับรองพระแท้

หลายครั้งลูกค้าชาวจีนเปิดเผยโดยตรงว่าเป็นการนำพระเครื่องจากประเทศไทยไปปล่อยเช่าต่อในประเทศจีน พร้อมทั้งเผยว่าชาวจีนมีความนิยมและมีความต้องการพระเครื่องไทยอย่างมาก แต่ถือว่ายังน้อยหากเทียบกับสัดส่วนประชากรในประเทศที่มีมากถึงพันกว่าล้านคน

@@@@@@@

• จักรวาลความเชื่อ=ซอฟต์พาวเวอร์ไทย

สิ่งทีี่น่าสนใจ ถ้าหากชาวจีนกำลังจะกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของตลาดพระเครื่องไทย 3 สิ่งสำคัญที่สะท้อนออกมาได้อย่างชัดเจน คือ

1. การขยายตลาดพระเครื่องไทยให้ใหญ่ขึ้น เพราะในปัจจุบันตลาดพระเครื่องไทยใหญ่ที่สุดในเอเชีย

2. จีนมีกำลังซื้อ สู้ราคาและต้องการจำนวน ทำให้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพียงแค่พระเก่าแก่อายุหลายร้อยปีเท่านั้น

3. พระไทย ต้องมาซื้อที่ไทยซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ทั้งด้านการท่องเที่ยวและเม็ดเงินที่หมุนเวียนในเศรษฐกิจมูเตลู

ไม่เพียงพระเครื่องเท่านั้นที่กำลังกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทย แต่จักรวาลความเชื่อที่เกิดขึ้นในวงการพุทธศาสนากำลังแสดงมนต์ขลังแบบที่ไม่ต้องโปรโมท เช่น ดารานักแสดงระดับโลกอย่าง "แองเจลินา โจลี" และ "แบรด พิตต์" รวมถึง “ฟาบิโอ คันนาวาโร” อดีตกองหลังทีมชาติอิตาลี ต่างหลงใหลการ“สักยันต์”ของอาจารย์หนู กันภัย หรือ “เอ็ด ชีแรน” นักร้องดังชาวอังกฤษ ได้สักยันต์กับอาจารย์เหน่งระหว่างมาทัวร์คอนเสิร์ตที่ไทย





ขอขอบคุณ :-
อ้างอิง : scmp อายุน้อยร้อยล้าน
URL : https://www.bangkokbiznews.com/world/1123076
21 เม.ย. 2024 ,เวลา 11:37 น.

 24 
 เมื่อ: เมษายน 21, 2024, 07:01:42 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 25 
 เมื่อ: เมษายน 21, 2024, 02:25:09 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 26 
 เมื่อ: เมษายน 21, 2024, 11:32:25 am 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

 27 
 เมื่อ: เมษายน 21, 2024, 10:51:15 am 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 28 
 เมื่อ: เมษายน 21, 2024, 08:19:53 am 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

 29 
 เมื่อ: เมษายน 21, 2024, 08:17:46 am 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 30 
 เมื่อ: เมษายน 21, 2024, 07:24:21 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.


คำนมัสการคุณานุคุณ

คำนมัสการคุณานุคุณ เป็นผลงานการประพันธ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อยอาจารยางกูร) มีเนื้อหาว่าด้วยการน้อมรำลึกและสำนึกในคุณงามความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา และครูอาจารย์ โดยมีความมุ่งหมายให้ผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนไทย ยึดมั่นในความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณและนำแบบอย่างอันดีงามไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

@@@@@@@

๑. ความเป็นมา

คำนมัสการคุณานุคุณที่คัดมาให้ศึกษามีเนื้อหาแบ่งออกเป็น ๕ ตอน แต่ละตอนมีที่มาจากคาถาภาษาบาลี ดังนี้

คำนมัสการพระพุทธคุณ : อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ พระผู้มีพระภาคเจ้า, เป็นพระอรหันต์ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

คำนมัสการพระธรรมคุณ : สวาก ขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมังนะมัสสามิ

คำนมัสการพระสังฆคุณ : สุปะฏิปปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ

คำนมัสการมาตาปิตุคุณ : มารดาทั้งสองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณอันหาที่สุดมิได้ ข้าพเจ้าขอไหว่เท้าทั้งสองของมารดาบิดาของข้าพเจ้าด้วยความเคารพอย่างสูง

คำนมัสการพระอาจริยคุณ : ครูอาจารย์ผู้ใหญ่และผู้น้อยทั้งหลายล้วนเป็นผู้มีพระคุณอันประเสริฐยิ่ง ได้อบรมสั่งสอนให้ศิษย์มีวิชาความรู้ ได้ให้โอวาทตักเตือนด้วยเมตตาธรรม ข้าพเจ้าขอกราบไว้คุณครูอาจารย์เหล่านั้นด้วยความเคารพ



๒. ประวัติผู้แต่ง

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารกูร) เป็นนักปราชญ์คนสำคัญของไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รอบรู้ในวิชาภาษาไทย และได้ชื่อว่าเป็นข้าราชการที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งยังเป็นครูที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม อุทิศชีวิตเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติอีกด้วย

๓. ลักษณะคำประพันธ์

คำนมัสการคุณานุคุณแต่ละตอนแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทต่างๆดังนี้

    ๓.๑ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
    อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ เป็นฉันท์ที่นำมาแต่งคำนมัสการคุณานุคุณ มาตาปิตุคุณ และอาจริยคุณ มีลักษณะบังคับ ดังแผนผังต่อไปนี้



    ๓.๒ กาพย์ฉบัง ๑๖
    กาพย์ฉบัง ๑๖ เป็นกาพย์ที่นำมาแต่งคำนมัสการพระธรรมคุณและพระสังฆคุณมีลักษณะบังคับ ดังแผนผังต่อไปนี้



๔. เนื้อเรื่อง
         
     คำนมัสการพระพุทธคุณ (อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑)

    ๏ องค์ใดพระสัมพุทธ์    สุวิสุทธสันดาน
       ตัดมลเกลศมาร    บมิหม่นมิหมองมัว
    ๏ หนึ่งในพระทัยท่าน    ก็เบิกบานคือดอกบัว
       ราคีบพันพัว       สุวคนธกำจร
    ๏ องค์ใดประกอบด้วย    พระกรุณาดังสาคร
       โปรดหมู่ประชากร    มละโอฆกันดาร
    ๏ ชี้ทางบันเทาทุกข์    และชี้สุขเกษมสานต์
       ชี้ทางพระนฤพาน    อันพ้นโศกวิโยคภัย
    ๏ พร้อมเบญจพิธจัก    ษุจรัสวิมลใส
       เห็นเหตุที่ใกล้ไกล    ก็เจนจบประจักษ์จริง
    ๏ กำจัดน้ำใจหยาบ    สันดานบาปแห่งชายหญิง
       สัตวโลกได้พึ่งพิง    มละบาปบำเพ็ญบุญ
    ๏ ข้าขอประณตน้อม    ศิรเกล้าบังคมคุณ
       สัมพุทธการุณ       ญภาพนั้นนิรันดร ฯ
                                               
     คำนมัสการพระธรรมคุณ (กาพย์ฉบัง ๑๖)

     ๏ ธรรมะคือคุณากร          ส่วนชอบสาธร
        ดุจดวงประทีปชัชวาล
     ๏ แห่งองค์พระศาสดาจารย์     ส่องสัตว์สันดาน
        สว่างกระจ่างใจมนท์
     ๏ ธรรมใดนับโดยมรรคผล      เปนแปดพึงยล
        และเก้ากับทั้งนฤพาน
     ๏ สมญาโลกอุดรพิสดาร        อันลึกโอฬาร
        พิสุทธิ์พิเศษสุกใส
     ๏ อีกธรรมต้นทางคระไล        นามขนานขานไข
       ปฏิบัติปริยัติเปนสอง
     ๏ คือทางดำเนินดุจคลอง        ให้ล่วงลุปอง
       ยังโลกอุดรโดยตรง
     ๏ ข้าขอโอนอ่อนอุตมงค์         นบธรรมจำนง
        ด้วยจิตต์และกายวาจา ฯ

     คำนมัสการพระสังฆคุณ (กาพย์ฉบัง ๑๖)

     ๏ สงฆ์ใดสาวกศาสดา       รับปฏิบัติมา
        แต่องค์สมเด็จภควันต์
     ๏ เห็นแจ้งจัตุสัจเสร็จบรร    ลุทางที่อัน
        ระงับและดับทุกข์ภัย
     ๏ โดยเสด็จพระผู้ตรัสไตร    ปัญญาผ่องใส
        สอาดและปราศมัวหมอง
     ๏ เหินห่างทางข้าศึกปอง       บมิลำพอง
        ด้วยกายและวาจาใจ
     ๏ เปนเนื้อนาบุญอันไพ       ศาลแด่โลกัย
        และเกิดพิบูลย์ภูลผล
     ๏ สมญาเอารสทศพล       มีคุณอนนต์
        อเนกจะนับเหลือตรา
     ๏ ข้าขอนบหมู่พระศรา       พกทรงคุณา
        นุคุณประดุจรำพัน
     ๏ ด้วยเดชบุญข้าอภิวันท์    พระไตรรัตน์อัน
        อุดมดิเรกนิรัติสัย
     ๏ จงช่วยขจัดโพยภัย       อันตรายใดใด
        จงดับและกลับเสื่อมสูญ ฯ

    คำนมัสการมาตาปิตุคุณ (อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑)

     ๏ ข้าขอนบชนกคุณ       ชนนีเป็นเค้ามูล
        ผู้กอบนุกูลพูน          ผดุงจวบเจริญวัย
    ๏ ฟูมฟักทะนุถนอม        บ บำราศนิราไกล
       แสนยากเท่าไรไร       บ คิดยากลำบากกาย
    ๏ ตรากทนระคนทุกข์      ถนอมเลี้ยง ฤ รู้วาย
       ปกป้องซึ่งอันตราย      จนได้รอดเป็นกายา
    ๏ เปรียบหนักชนกคุณ      ชนนีคือภูผา
       ใหญ่พื้นพสุนธรา         ก็ บ เทียบ บ เทียมทัน
    ๏ เหลือที่จะแทนทด        จะสนองคุณานันต์
       แท้บูชไนยอัน            อุดมเลิศประเสริฐคุณ

     คำนมัสการอาจริยคุณ (อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑)

     ๏ อนึ่งข้าคำนับน้อม   ต่อพระครูผู้การุณย์
        โอบเอื้อและเจือจุน   อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
     ๏ ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ   ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
       ชี้แจงและแบ่งปัน   ขยายอรรถให้ชัดเจน
     ๏ จิตมากด้วยเมตตา   และกรุณา บ เอียงเอน
        เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์   ให้ฉลาดและแหลมคม
     ๏ ขจัดเขลาบรรเทาโม   หะจิตมืดที่งุนงม
        กังขา ณ อารมณ์   ก็สว่างกระจ่างใจ
     ๏ คุณส่วนนี้ควรนับ   ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
        ควรนึกและตรึกใน   จิตน้อมนิยมชม

@@@@@@@

บทวิเคราะห์ คุณค่าด้านเนื้อหา
   
    ๑. คำนมัสการพระคุณ มีเนื้อหาสำคัญคือ การสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า
    ๒. คำนมัสการพระธรรมคุณ พระธรรมคือ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
    ๓. คำนมัสการพระสังฆคุณ ถ้าพรพุทธองค์ไม่ได้ทรงสถาปนาคณะสงฆ์ขึ้นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบย่อมสูญสิ้นไปพร้อมกับเสด็จดับขันธ์ปรินิพาน
    ๔. คำนมัสการมาตาปิตุคุณ มารดาบิดาเป็นผู้มีพระคุณก่เราเพราเป็ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเราโดยไม่หวังผลตอบแทน
    ๕. คำนมัสการอาจริยคุณ เนื่องด้วยครูอาจารย์เป็นผู้มีพระคุณแก่เราเพราะเป็นผู้อบรมสั่งสอนและถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เรา


คุณค่าด้านกลวิธีการแต่ง

     ๑. การเลือกสรรคำเหมาะกับเนื้อเรื่อง กวีเลือกสรรถ้อยคำนำมาใช้ได้อย่างไพเราะเหมาะสม
     ๒. การเลือกสรรคำที่มีเสียงเสนาะ กวีใช้ความงามและเสียงเสนาะในการอ่าน นอกเสียงโดยการใช้สัมผัสอักษรละสัมผัสสระ ได้แก่ สัมผัส การเล่นคำ
     ๓. ภาพพจน์ กวีใช้การเปรียบเทียบแบบอุปมาเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนขึ้น

เมื่อประมวลความดีเด่นด้านเนื้อหาและวรรณศิลป์แล้ว
 
คำนมัสการคุณานุคุณจึงถือว่ามีความครบเครื่องในเรื่องคุณค่าทางวรรณกรรม ควรแก่การท่องจำ เพื่อเป็นเครื่องช่วยกำกับกาย วาจา ใจ และเตือนสติให้ทุกคนโดยเฉพาะเยาวชนไทยได้สำนึกและน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา และครูอาจารย์ สมดังเจตนารมณ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร ผู้ประพันคำนมัสการคุณานุคุณ




ขอบคุณที่มา : https://docs.google.com/document/d/1uBIBxDo06VlqeS2Kf2AHs0ycpchuCrB-xOfAM0YTFiQ/edit?pli=1

หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10