ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ความเป็นมา ‘สังฆราช’ แห่งสยาม  (อ่าน 1582 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ความเป็นมา ‘สังฆราช’ แห่งสยาม
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 09, 2017, 09:20:28 am »
0


ความเป็นมา ‘สังฆราช’ แห่งสยาม

สังฆราชมีชื่อตำแหน่งอย่างเต็มว่า “สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” เป็นตำแหน่งสูงสุดในฝ่ายพุทธจักร นับเป็นประมุขของคณะสงฆ์ทั้งปวงในประเทศไทย เป็นพระมหาเถระผู้เป็นใหญ่สูงสุดในสังฆมณฑล ความหมายตามรากศัพท์ แปลว่า “ราชาของสงฆ์”

หลักฐานเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราชนั้น ปรากฏในจารึกสมัยสุโขทัย อาทิ ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท โปรดให้ราชบุรุษไปอาราธนา “พระมหาสวามีสังฆราชมาแต่ลังกาทวีป” พงศาวดารเหนือ ก็กล่าวถึงการปกครองคณะสงฆ์แบ่งเป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย โดยฝ่ายขวา ปรากฏข้อมูลระบุว่า “พระสังฆราชา อยู่วัดมหาธาตุ”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน “ตำนานคณะสงฆ์” ตอนหนึ่งว่า

“ทำเนียบคณะสงฆ์ที่ปรากฏในหนังสือพงศาวดารเหนืออาจจะเป็นการจัดขึ้นในครั้งพระมหาธรรมราชาลิไท ถ้าจริงดังนั้น เห็นได้ว่าในชั้นหลังลงมา วิธีปกครองคณะสงฆ์ครั้งสุโขทัยแปลกกว่าเดิมสองอย่างคือ แยกการปกครองออกเป็น 2 คณะอย่างหนึ่ง เกิดประเพณีมีราชทินนามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งสังฆนายกขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ทั้งสองอย่างนี้เป็นต้นเค้าของลักษณะปกครองคณะสงฆ์ซึ่งมีสืบมาในสยามประเทศจนตราบเท่าทุกวันนี้”

ที่มาของตำแหน่งพระสังฆราช มีข้อสันนิษฐานว่าได้แบบอย่างมาจากลังกา ทำเนียบสมณศักดิ์ยุคกรุงศรีอยุธยามีตำแหน่งสังฆปริณายก มีอำนาจไปถึงหัวเมือง 2 องค์ โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายคามวาสี เป็นสังฆราชขวา และสมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะฝ่ายอรัญวาสี เป็นสังฆราชซ้าย องค์ใดมีพรรษายุกาล(อาวุโส)กว่า ก็ได้เป็น “พระสังฆราช”



ทั้งนี้ หากสังเกตการเรียกพระนามสมเด็จพระสังฆราชแต่ละพระองค์ของไทยจะพบว่ามีความแตกต่างกัน โดยมีคำเรียก 3 อย่าง คือ ถ้าเป็นเชื้อพระวงศ์ จะใช้เป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” และมีพระนามโดยเฉพาะ ทรงฉัตร 5 ชั้น เช่น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

หากเป็นพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง ใช้ว่า “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” ทรงเศวตฉัตร 5 ชั้น เพิ่งใช้ครั้งแรกในรัชกาลที่ 6

ถ้าเป็นชั้นสามัญจะใช้ว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” แล้ววงเล็บชื่อเดิมไว้ตอนท้าย แต่โดยทั่วไปมักเรียกอย่างลำลองโดยใช้พระนามเดิม เช่น พระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นต้น โดยทรงฉัตร 3 ชั้น

คำว่าสมเด็จพระอริยวงศ์นี้ปรากฏใช้มาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงนิมนต์พระอุบาลีและพระอริยมุนีไปเผยแผ่ศาสนาที่ลังกา เมื่อกลับมาแล้วมีการแต่งตั้งให้พระอริยมุนีขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช นามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาบดี” หรือที่เรียกสืบมาว่า “สมเด็จพระอริยวงษญาณ” ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ มีการเติมคำว่า “คต” เข้าไป กลายเป็น “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” จวบจนทุกวันนี้

สำหรับ “พัดยศ” ประจำตำแหน่งพระสังฆราชนั้นมีมาตั้งแต่ยุคกรุงเก่า ปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุสมณทูตชาวลังกาเดินทางเข้ามาในอยุธยาในช่วงเวลาดังกล่าว มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช มีบัลลังก์ตั้งสองข้าง บนบัลลังก์มีพัดยศสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชข้างละเล่ม พัดสองเล่มนี้ด้ามทำด้วยงา ส่วนตัวพัดเล่มหนึ่งพื้นกำมะหยี่สีแดง ประดับด้วยลายทอง และเงิน สมเด็จพระสังฆราชประทับอยู่บนแท่นนั้น ทรงถือพัดขนนกบังพระหัตถ์”

พัดยศของพระสังฆราชมีความแตกต่างกันตามชาติกำเนิด กล่าวคือ หากไม่ใช่ราชวงศ์ เป็นพัดพื้นตาดเหลืองสลับตาดขาว ปักดิ้นเลื่อม ส่วนชั้นราชวงศ์ เป็นพัดพื้นตาดเหลืองสลับตาดขาว ปักดิ้นเลื่อม ใจกลางปักตราเครื่องหมายประจำรัชกาลนั้นๆ



สมเด็จพระสังฆราชนับแต่ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมาจนถึงรัชกาลที่ 9 มีทั้งสิ้น 19 องค์ การสถาปนาตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2505 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ตำแหน่งว่างลง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีพระอาวุโสสูงสุดโดยพรรษาเพื่อปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จากนั้นนำพระนามสมเด็จพระราชาคณะ 4 รูป คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วนำกราบถวายบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงวินิจฉัย โดยจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชต่อไป

ต่อมา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาได้มีประกาศเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ให้เรียกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 โดยในมาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ระบุว่า “มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

เป็นที่มาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556



สำหรับพระราชพิธีสถาปนาในสมัยโบราณกาลไม่ได้กำหนดขึ้นเป็นพิเศษ แต่จะถือเอาวันเฉลิมพระชนมพรรษาหรือวันฉัตรมงคล เป็นวันประกอบพระราชพิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใกล้กับวันใด ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2508 เมื่อครั้งจะมีการสถาปนาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นครั้งแรกของการจัดพิธีสถาปนาขึ้นเป็นพิเศษ

ลำดับพิธีการที่สืบมาแต่เดิมนั้น พระมหากษัตริย์จะทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สำนักพระราชวังจัดพิธีการ กำหนดวันเวลา และรายการตามพระราชประเพณี ท่ามกลางสังฆมณฑล อันประกอบด้วย กรรมการมหาเถรสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการจารึกพระสุพรรณบัฏ พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมายังพระอุโบสถเพื่อทรงประกอบพระราชพิธี


ทรงรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ.2448

สำหรับอำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช เดิมเมื่อยังไม่มีกฎหมายคณะสงฆ์ มีหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัย ในฐานะเป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เมื่อประกาศใช้ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 สมเด็จพระสังฆราชมีอำนาจบัญชาการคณะสงฆ์ แต่อำนาจสูงสุดอยู่ที่พระมหากษัตริย์ตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อมามีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484 อำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราชเด่นชัดขึ้นอย่างมาก

สามารถวินิจฉัยอธิกรณ์ทางคณะวินัยธร บริหารกิจการทั้งหมดในพระพุทธศาสนาโดยไม่ขัดกับพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม และกฎหมายบ้านเมือง

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทวมหาเถร) ทรงฉายร่วมกับคณะกรรมการพุทธสมาคม


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.matichon.co.th/news/456517
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

patra

  • RDNpromote
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรมรรค
  • *
  • ผลบุญ: +100/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 971
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: ความเป็นมา ‘สังฆราช’ แห่งสยาม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 09, 2017, 12:19:09 pm »
0
 :25: :25: :25: st12
บันทึกการเข้า
ข้าพจ้า สนับสนุนการเผยแผ่ พระกรรมฐาน มัชฌิมา แบบลำดับ