ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ใครหนอ ?? บรรลุธรรมวันมาฆบูชา  (อ่าน 2729 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ใครหนอ ?? บรรลุธรรมวันมาฆบูชา
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 16, 2011, 08:55:33 pm »
0




ทีฆนขะ, ปริพาชก

ชื่อปริพาชกผู้หนึ่ง ตระกูลอัคคิเวสสนะ  ซึ่งเป็นหลานของพระสารีบุตร ขณะที่พระพุทธเจ้าเทศนาเวทนาปริคคหสูตรโปรดปริพาชกผู้นี้  ณ  ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ  เขตพระนครราชคฤห์.

   ขณะนั้นพระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระพุทธองค์ได้ฟังเทศนานั้น ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์   ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน เป็นวันมาฆบูชาในเวลากลางวัน.
ส่วนทีฆนขะ  ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันแสดงตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา


   เล่ากันมาว่า  ทีฆนขปริพาชกนั้นเมื่อพระเถระบวชได้ครึ่งเดือน คิดว่าหลวงลุงของเราไปสู่ลัทธิอื่นที่ผิดแล้วดำรงอยู่เป็นเวลานาน. แต่บัดนี้เมื่อหลวงลุงไปเฝ้าพระสมณโคดมได้ครึ่งเดือนแล้วประสงค์จะไปด้วยหวังว่า  เราจะฟังข่าวของหลวงลุงนั้น.  เราจักรู้คำสอนอันรุ่งเรืองนั้นหนอ.  เพราะฉะนั้น  ทีฆนขะจึงเข้าไปเฝ้า.

ถ้ำสุกรขาตา

ปริพาชกด้วยมีหิริโอตตัปปะในหลวงลุง  จึงยืนทูลถามปัญหาด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า
สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา คือ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ควรแก่เรา.  ปริพาชกกล่าวด้วยความประสงค์ว่าปฏิสนธิทั้งหลายไม่ควร. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เป็นอันปริพาชกนั้นแสดงว่า  เราเป็นผู้มีวาทะว่าขาดสูญ.


   แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  เมื่อจะทรงพรางความประสงค์ของปริพาชกนั้น  แล้วทรงแสดงถึงโทษในความไม่ควร จึงตรัสพระดำรัสมีความว่า

        แม้ความเห็นของท่านก็ไม่ควร  คือ  แม้ความเห็นที่ท่านชอบใจ ยึดถือไว้ครั้งแรกก็ไม่ควร.

   ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำรัสว่า  เราจักให้ปริพาชก บำเพ็ญโอสถอันอมตะไว้ในหทัย  ดุจบุคคล  ใส่เนยใสและเนยข้น เป็นต้น  ลงในน้ำเต้าที่คายน้ำส้มออกแล้วฉะนั้น เมื่อจะทรงบอกวิปัสสนาแก่ปริพาชกนั้น  จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า ดูก่อนอัคคิเวสสนะ  ก็กายนี้เป็นที่ประชุมมหาภูตรูปทั้ง  ๔  ดังนี้. 
   
        ก็กล่าวไว้พิสดารแล้วในหนหลัง.  ความเยื่อใย  คือความเยื่อใยด้วยตัณหา.  ความอยู่ในอำนาจของกาย.  อธิบายว่า  กิเลสอันเข้าไปสู่กาย.

 

   พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงรูปกรรมฐานอย่างนี้แล้ว  บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงอรูปกรรมฐานจึงตรัสว่า  เมื่อจะทรงแสดงความที่เวทนา๓  เหล่านั้นไม่ปนกัน  จึงตรัสว่า
   
   ดูก่อนอัคคิเวสสนะ  โวหารใดที่ชาวโลกพูดกัน คือพูดไปตามโวหารที่ชาวโลกพูดกัน.  ไม่ยึดถือ  คือไม่ยึดถืออะไร ๆ  ด้วยการถือมั่น.  สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

ภิกษุใด  เป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้วเพราะบรรลุพระอรหัต  เป็นผู้ทรงร่างกายไว้เป็นครั้งสุดท้าย  ภิกษุนั้น  พึงกล่าวว่า  เราย่อมกล่าวดังนี้บ้าง  พึงกล่าวว่า   พวกเขาย่อมกล่าวกะเราดังนี้บ้าง  เป็นผู้ฉลาด  รู้สิ่งกำหนดรู้กันในโลก  พึงพูดไปตามโวหารนั้น.

   ท่านกล่าวต่อไปอีกว่า  ดูก่อนจิตตคฤหบดี  ตถาคตพูดไปตามสิ่งที่รู้กันในโลก  ภาษาของชาวโลก  โวหารของชาวโลก  บัญญัติของชาวโลก  แต่ไม่ยึดถือด้วยทิฏฐิ.

   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ความเที่ยงแห่งธรรมเหล่านั้นในบรรดาความเที่ยงเป็นต้นด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วจึงตรัสถึงการละความเที่ยง. ทรงรู้ความขาดสูญ  ความเที่ยงแต่บางอย่างด้วยปัญญารู้ยิ่งแล้ว จึงตรัสถึงการละความเที่ยงแต่บางอย่าง.

   ทรงรู้รูปด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วจึงตรัสถึงการละรูป  เมื่อพระสารีบุตรสำเหนียกคือเห็นตระหนัก.   จิตพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น คือ  จิตพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลายอันดับแล้วด้วยความดับสนิทคือไม่เกิดอีกเพราะไม่ถือมั่น.

 

   ด้วยเหตุประมาณเท่านี้  ท่านพระสารีบุตรดุจบุคคลบริโภคอาหารที่เขาตักให้ผู้อื่นแล้ว  บรรเทาความหิวลงได้  เมื่อส่งญาณไปในธรรมเทศนาที่ปรารภผู้อื่นจึงเจริญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัต แทงตลอดที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณและปัญญา  ๑๖  แล้วดำรงอยู่.  ส่วนทีฆนขะได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วดำรงอยู่ในสรณะทั้งหลาย.

   ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า  เมื่อดวงอาทิตย์ยังปรากฏอยู่ ทรงจบเทศนานี้แล้ว  เสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏ  เสด็จไปพระวิหารเวฬุวันได้ทรงประชุมพระสาวก. ได้มีสันนิบาตประกอบด้วยองค์  ๔. 

องค์  ๔ (จาตุรงคสันนิบาต) เหล่านี้ คือ 
วันนั้นเป็นวันอุโบสถขึ้น  ๑๕ ค่ำ  ประกอบด้วยมาฆนักษัตร  ๑
 
 ภิกษุ  ๑,๒๕๐ รูป  ประชุมกันตามธรรมดาของตน ๆ  ไม่มีใครนัดหมายมา  ๑
 
 ภิกษุเหล่านั้นไม่มีแม้สักรูปหนึ่งที่เป็นปุถุชน  หรือพระโสดาบัน  พระสกกาคามี  พระอนาคามี 
และพระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสก  ภิกษุทั้งหมดเป็นผู้ได้อภิญญาหกทั้งนั้น  ๑
 
 มิได้ปลงผมด้วยมีดโกนบวชแม้แต่รูปเดียว  ภิกษุทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ  ๑.

 



#ม.ม. ๑๓/๒๖๙-๒๗๕; ม.อ. ๒/๑/๔๗๘-๔๘๕.
ที่มา สารานุกรม พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 06, 2023, 06:23:14 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ใครหนอ ?? บรรลุธรรมวันมาฆบูชา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 12, 2023, 07:52:02 am »
0



พระสารีบุตร

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่ หน้านี้เป็นตัวอย่างการบรรลุธรรมของพระสารีบุตรตอนบรรลุเป็นพระอรหันต์นะครับ ย่อความจากพระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

@@@@@@@

ทีฆนขสูตร

(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๓๙ ข้อ : ๒๐๑)

[๒๖๙] ... สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ถ้ำสุกรขาตาเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น ปริพาชกชื่อทีฆนขะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว. ได้กราบทูล

ว่า : ท่านพระโคดม ความจริงข้าพเจ้ามีปกติกล่าวอย่างนี้ มีปกติเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : อัคคิเวสสนะ แม้ความเห็นของท่านว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรานั้น ก็ไม่ควรแก่ท่าน.

ท. ท่านพระโคดม ถ้าความเห็น (ว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา) นี้ควรแก่ข้าพเจ้า แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้น แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้น. (คือความเห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรานั้น ก็ย่อมเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรแก่เราด้วยเช่นกันนะครับ - ธัมมโชติ)

พ. อัคคิเวสสนะ ชนในโลกผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น ดังนี้ ชนเหล่านั้นละความเห็นนั้นไม่ได้ และยังยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีมาก คือมากกว่าคนที่ละได้. อัคคิเวสสนะ ชนในโลกผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น ดังนี้ ชนเหล่านั้น ละความเห็นนั้นได้ และไม่ยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีน้อยคือน้อยกว่าคนที่ยังละไม่ได้.

@@@@@@@

[๒๗๐] พ. (ต่อ) อัคคิเวสสนะ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ดังนี้ ก็มี. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ สิ่งทั้งปวง ไม่ควรแก่เรา ดังนี้ ก็มี สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่ง ควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ดังนี้ ก็มี

อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรานั้น ใกล้ข้างกิเลสอันเป็นไปกับด้วยความกำหนัด ใกล้ข้างกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุกล้ำกลืน ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุยึดมั่น.

อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรานั้น ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นไปกับด้วยความกำหนัด ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุกล้ำกลืน ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุยึดมั่น.

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆนขปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า : ท่านพระโคดมทรงยกย่องความเห็นของข้าพเจ้า ท่านพระโคดมทรงยกย่อง ความเห็นของข้าพเจ้า.

พ. อัคคิเวสสนะ ในความเห็นนั้นๆ ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรานั้น ส่วนที่เห็นว่าควร ใกล้ข้างกิเลส อันเป็นไปกับด้วยความกำหนัด ใกล้ข้างกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุกล้ำกลืน ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุยึดมั่น ส่วนที่เห็นว่าไม่ควร ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นไปด้วยความกำหนัด ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุกล้ำกลืน ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุยึดมั่น.


@@@@@@@

[๒๗๑] พ. (ต่อ) อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ในความเห็นของสมณพราหมณ์ผู้ที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรานั้น วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักว่า เราจะยึดมั่น ถือมั่นซึ่งทิฏฐิของเราว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ดังนี้ แล้วยืนยันโดยแข็งแรงว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า เราก็พึงถือผิดจากสมณพราหมณ์สองพวกนี้ คือ
    สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ๑
    สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ๑.

เมื่อความถือผิดกันมีอยู่ดังนี้ ความทุ่มเถียงกันก็มี เมื่อมีความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันก็มี. เมื่อมีความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกันก็มี. วิญญูชนนั้นพิจารณาเห็นความถือผิดกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน และความเบียดเบียนกัน ในตนดังนี้อยู่ จึงละทิฏฐินั้นเสียด้วย ไม่ยึดถือทิฎฐิอื่นด้วย การละการสละคืนทิฎฐิเหล่านี้ ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้.

พ. (ต่อ) อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ในทิฎฐิของสมณพราหมณ์ผู้ที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ดังนี้นั้น วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักว่า ถ้าเราจะยึดมั่น ถือมั่นซึ่งทิฎฐิของเราว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ดังนี้ แล้วยืนยันโดยแข็งแรงว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า เราก็พึงถือผิดจากสมณพราหมณ์สองพวกนี้ คือ
     สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ๑
     สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ๑.

เมื่อความถือผิดกันมีอยู่ดังนี้ ความทุ่มเถียงกันก็มี เมื่อมีความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันก็มี เมื่อมีความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกันก็มี. วิญญูชนนั้นพิจารณาเห็นความถือผิดกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน และความเบียดเบียนกัน ในตนดังนี้อยู่ จึงละทิฎฐินั้นเสียด้วย ไม่ยึดถือทิฎฐิอื่นด้วย. การละ การสละคืนทิฎฐิเหล่านั้น ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้.

พ. (ต่อ) อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ในทิฎฐิของสมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ดังนี้นั้น วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักว่า ถ้าเราจะยึดมั่นถือมั่น ซึ่งทิฎฐิของเราว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เราดังนี้ แล้วยืนยันโดยแข็งแรงว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า เราก็พึงถือผิดจากสมณพราหมณ์สองพวกนี้ คือ
     สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ๑
     สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ๑.

เมื่อความถือผิดกันมีอยู่ดังนี้ ความทุ่มเถียงกันก็มี เมื่อมีความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันก็มี เมื่อมีความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกันก็มี. วิญญูชนนั้นพิจารณาเห็นความถือผิดกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน และความเบียดเบียนกัน ในตนดังนี้อยู่ จึงละทิฎฐินั้นเสียด้วย ไม่ยึดถือทิฎฐิอื่นด้วย การละการสละคืนทิฎฐิเหล่านั้น ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้.



[๒๗๒] พ. (ต่อ) อัคคิเวสสนะ ก็กายนี้มีรูป เป็นที่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ (ดิน น้ำ ไฟ ลม - ธัมมโชติ) มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมสด ต้องอบและขัดสีกันเป็นนิจ มีความแตกกระจัดกระจายเป็นธรรมดา ท่านควรพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี (คือต้องคอยเยียวยารักษาเพื่อแก้ทุกข์นะครับ - ธัมมโชติ) เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น (คือไม่ใช่เรา หรือของๆ เรา - ธัมมโชติ) เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตน.

เมื่อท่านพิจารณาเห็นกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตนอยู่ ท่านย่อมละความพอใจในกาย ความเยื่อใยในกาย ความอยู่ในอำนาจของกายในกายได้. (น่าจะทรงหมายถึงการตกเป็นทาสของร่างกาย คือต้องถูกร่างกายบีบบังคับ ให้ต้องคอยประคบประหงม บำรุงรักษาเลี้ยงดูอย่างดี จิตใจไม่เป็นอิสระจากร่างกายนะครับ - ธัมมโชติ)

[๒๗๓] พ. (ต่อ) อัคคิเวสสนะ เวทนาสามอย่างนี้ คือ
         สุขเวทนา ๑
         ทุกขเวทนา ๑
         อทุกขมสุขเวทนา (เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข - ธัมมโชติ) ๑.

อัคคิเวสสนะ สมัยใดได้เสวยสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น. ในสมัยใดได้เสวยทุกขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น. ในสมัยใดได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ได้เสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น.

พ. (ต่อ) อัคคิเวสสนะ สุขเวทนาไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา. แม้ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป เป็นธรรมดา. แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา.

พ. (ต่อ) อัคคิเวสสนะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งในอทุกขมสุขเวทนา เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว (ไม่ต้องเกิดอีกแล้ว - ธัมมโชติ) พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. (คือสำเร็จเป็นพระอรหันต์นะครับ - ธัมมโชติ)

พ. (ต่อ) อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับใครๆ โวหารใดที่ชาวโลกพูดกัน ก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฎฐิ.

@@@@@@@

[๒๗๔] ก็โดยสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งถวายอยู่งานพัด ณ เบื้องพระปฤษฎางค์พระผู้มีพระภาค (คือนั่งพัดอยู่ข้างหลังพระพุทธเจ้านะครับ - ธัมมโชติ). ได้มีความดำริว่า ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคตรัสการละธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งแก่เราทั้งหลาย ได้ยินว่าพระสุคตตรัสการสละคืนธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งแก่เราทั้งหลาย เมื่อท่านพระสารีบุตรเห็นตระหนักดังนี้ จิตก็หลุดพ้นแล้ว จากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน (คือบรรลุเป็นพระอรหันต์นะครับ - ธัมมโชติ)

ธรรมจักษุปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่ทีฆนขปริพาชกว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา. (คือบรรลุธรรม ซึ่งอาจจะเป็นขั้นโสดาบัน สกทาคามี หรืออนาคามีก็ได้ครับ - ธัมมโชติ)

[๒๗๕] ลำดับนั้น ทีฆนขปริพาชกมีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันถึงแล้ว มีธรรมอันทราบแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อต่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

     ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน
     ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล.

                     จบ ทีฆนขสูตร

@@@@@@@

วิเคราะห์

พระพุทธเจ้าทรงโปรดทีฆนขปริพาชกไปตามลำดับขั้น จากขั้นหยาบไปถึงขั้นประณีตนะครับ คือ

    1. ทรงทำให้ละทิฏฐิเดิมที่เห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา และทรงแสดงให้เห็นโทษของการยึดถือทิฏฐิประเภทต่างๆ และวิธีพิจารณาเพื่อละทิฏฐิเหล่านั้น

    2. ทรงแสดงให้ละความยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย โดยแสดงเหตุที่ทำให้กายเกิดขึ้น เจริญขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป โทษของร่างกายและวิธีละความยึดมั่นในกาย

    3. ทรงแสดงให้ละความยึดมั่นถือมั่นในเวทนา โดยทรงจำแนกประเภทของเวทนา การเกิดขึ้น และดับไปของเวทนาแต่ละประเภทและวิธีละความยึดมั่นในเวทนา

    4. เมื่อได้รับการชี้ทาง พระสารีบุตรจึงเกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอด เข้าใจในธรรมชาติของสรรพสิ่ง ที่มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจ อย่างชัดเจน จนไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ เหลืออยู่อีกเลย จึงละความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไปได้ บรรลุเป็นพระอรหันต์อยู่ ณ ที่ตรงนั้นครับ

    ส่วนทีฆนขปริพาชกนั้น ก็บรรลุธรรมขั้นรองๆ ลงมา เช่นกันครับ.






ขอขอบคุณ :-
ภาพ : internet
ผู้รวบรวม : ธัมมโชติ
รวบรวมโดย : ธัมมโชติ @ 6/29/2559 02:00:00 ก่อนเที่ยง
URL : https://tripitaka-online.blogspot.com/2016/06/ex002.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ใครหนอ ?? บรรลุธรรมวันมาฆบูชา
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มีนาคม 18, 2023, 07:27:09 am »
0



ศึกษาหลักการปฏิบัติ เพื่อการบรรลุธรรม ในทีฆนขสูตร

โดย เสกสรร ศุภแสง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส
E-mail: thanee_305@hotmail.com
รับต้นฉบับ 13 มกราคม 2560 วันที่เผยแพร่ 25 มิถุนายน 2560

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ ศึกษาประวัติความเป็นมาของทีมนอสูตร หลักการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมในทีฆนขสูตร เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพภาคเอกสาร พบว่า

ทีฆนขสูตรเป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชกซึ่งเป็นหลานพระสารีบุตร ที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อเยี่ยมพระสารีบุตรซึ่งเป็นลุงและขอทราบคำสอน มีพระสารีบุตรยืนฟังการแสดงธรรม โดยถวายงานพัดแด่พระพุทธองค์อยู่ด้านหลัง พระพุทธองค์ทรงแสดงทิฏฐิทิฏฐิ ที่เป็นเหตุให้เกิดวิวาท กาย (รูป) เป็นที่ประชุมของมหาภูตรูป 4 เวทนา 3 คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา มีเหตุปัจจัยจากผัสสะ เมื่อเสวยเวทนาในเวทนาหนึ่ง ก็จะไม่ได้เสวย เวทนาอีก 2 เวทนา

หลักการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมในทีฆนขสูตร เหตุปัจจัยที่นำไปสู่การบรรลุธรรมคือ ข้อปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 เริ่มจากสัมมาทิฏฐิ อันเกิดจากปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ ด้วยการละทิฏฐิอันเป็นเหตุให้เกิดวิวาท เมื่อเห็นความเป็นจริงแล้วมีโทษหาประโยชน์มิได้

โดยการปฏิบัติตามสติปัฏฐาน 4 การละกายโดยพิจารณาอาการ 32 ของกาย ให้เห็นความจริงว่า เป็นปฏิกูล ไม่สะอาด น่าเกลียด เป็นรังของโรค ก็จะละความพอใจในกาย ละเยื่อใยในกายเสียได้ การ ละเวทนาให้เจริญวิปัสสนา พิจารณาเห็นกฎไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นสิ่งว่างเปล่า หาสาระแก่นสารมิได้ มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น มีความสิ้นไป ดับไปเป็นธรรมดา เมื่อ เห็นความจริงย่อมละเวทนา 3 นั้นเสียได้

พระสารีบุตรได้ฟังธรรมและพิจารณาธรรมด้วยโยนิโสมนสิการ จึงละ สละคืนธรรมเหล่านั้น จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วน ทีฆนขปริพาชก เกิดดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน ขอถึงพระรัตนตรัยอันมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ และแสดงตนต่อพระผู้มีพระภาคขอเป็นอุบาสกตลอดชีวิต ตั้งแต่ วันนี้เป็นต้นไป






A Study of Practical Method for Enlightenment in Dighanakhasutta

By Seksan Suphasaeng
Mahachulalongkamrajavidyalaya University Palisueksa Buddhagasa Campus
E-mail: thanee_305@hotmail.com
Retrieved January 13, 2017 Accepted June 25, 2017

ABSTRACT

This article has the objectives: 1) to study the story and significance of Buddha teaching found of Dighanakhasutta and 2) to study principle of insight development for enlightenment in Dighanakhasutta. This study is a qualitative research. From the study, it found that :-

Principle of insight development for enlightenment in Dighanakhasutta was found that according to eightfold noble path right view caused by the heard from others (Paratoghosa) and proper attention (Yonisomanasikāra) was main key for realization, one must abandon wrong views causing quarrel, affray and then follow the right views for realizing four noble truths. By following the four foundations of mindfulness. After that he must abandon bodily attachment by observing thirty-two characteristics of body as dirty, impurity, disgusting, heap of disease etc.

in order to give up bodily indulgence. The next step was to abandon three feeling attachments. In this step, one must cultivate the insight to see three common characteristics: impermanence, suffering and non-self in all conditioned thing as empty, without essence, conditioned, ending with death as their own natures. When his insight knowledge became perfect, he can abandon all feeling attachment completely.

While listening the teaching of Buddha in back side. Ven. Sariputtathera sent his mind focussing on contents of teaching with mindfulness and proper attention then attained enlightenment in the end of discourse. His mind was free from all defilements but Dighanakha sage entered to stream of enlightenment (Sotapanna), the first state of noble one, then he took the triple gems: Buddha, Dhamma and Sangha as his refuges and committed himself to be Buddhist laity (Upasaka).




บทน่า

พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญในเรื่องทิฏฐิเพราะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นจุดเปลี่ยนที่จะนำชีวิตไปสู่ความทุกข์หรือความดับทุกข์ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทิฏฐิชนิดใดเป็นตัวนำ การเริ่มต้นด้วยความเห็นหรือความเชื่อผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ (พระไตรปิฎกไทย เล่ม 17 ข้อ 154 : 245) หรืออวิชชา ก็จะทำให้กระบวนการทำงานของจิตเกิดพลาด ส่งผลให้วิถีชีวิตดำเนินไปในทางแห่งทุกข์ ทิฏฐิ คือ ความเห็น ความเข้าใจ ความใฝนิยมที่ยึดถือต่างๆ มีอิทธิพลและบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิตของ มนุษย์ในสังคมเป็นอย่างมาก

    ทิฏฐิ 2 จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ได้แก่
    1) ภวทิฏฐิ หมายถึงสัสสตทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าเที่ยง
    2) วิภวทิฏฐิ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ คือความเห็นว่าขาดสูญ

สัมมาทิฏฐิ คือความ เห็นชอบ ความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรมอันเป็นความเห็นที่รู้จัก รู้รากเหง้า โดย รู้เรื่องอกุศล กุศล อาหาร สัจจะหรืออริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท

    สัมมาทิฏฐิ 2 ได้แก่
    1) โลกีย สัมมาทิฏฐิ
    2) โลกุตตรสัมมาทิฏฐิ

    สําหรับปัจจัยที่เกิดสัมมาทิฏฐิ ได้แก่
    1) ปรโตโฆสะ เหตุเกิด ภายนอก
    2) โยนิโสมนสิการ เหตุเกิดภายใน

ในทีฆนขสูตรได้แบ่งสมณพราหมณ์เป็น 3 จำพวก ได้แก่

    จำพวกที่ 1. : เห็นว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา จะอยู่ใกล้ข้างกิเลสเป็นไปด้วยความกำหนัด เครื่อง ประกอบสัตว์ไว้ เป็นเหตุเพลิดเพลิน เป็นเหตุยึดมั่น

    จำพวกที่ 2. : เห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา จะอยู่ใกล้ข้างธรรม ไม่เป็นไปด้วยความกำหนัด ไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นเหตุ เพลิดเพลิน ไม่เป็นเหตุยึดมั่น

    จำพวกที่ 3. : เห็นว่าบางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ส่วนที่เห็น ว่าควรแก่เราจะอยู่ใกล้ข้างกิเลส เป็นไปด้วยความกำหนัด เครื่องประกอบสัตว์ไว้ เป็นเหตุ เพลิดเพลิน เป็นเหตุยึดมั่น ส่วนที่เห็นว่าไม่ควรแก่เราจะอยู่ใกล้ข้างธรรม ไม่เป็นไปด้วยความกำหนัด ไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ ไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ไม่เป็นเหตุยึดมั่น

การละทิฏฐิเกิดได้ เมื่อพวกใดพวกหนึ่งมีความยึดมั่นถือมั่นซึ่งทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา หรือสิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ เรา หรือบางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา จะมีความถือผิดจากอีกสองพวก จะเกิดความทุ่ม เถียงกัน ความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกัน ความทำลายกัน เมื่อพิจารณาเห็นโทษหาประโยชน์อันใดมิได้ของความถือผิดกันหรือขัดแย้งกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกัน การทําลายกัน อันเกิดจากการมีทิฏฐิของตนกับของผู้อื่น จึงละและสลัดคืนทิฏฐินั้นเสีย ไม่ยึดถือทิฏฐิอื่น ในทางตรงข้ามถ้าเริ่มต้นด้วยความเห็นถูกหรือสัมมาทิฏฐิ จะส่งผลให้วิถีชีวิต ดำเนินไปในเส้นทางแห่งอริยมรรคมีองค์ 8 หรือทางดับทุกข์

ดังนั้น มิจฉาทิฏฐิและสัมมาทิฏฐิ จึงได้ชื่อว่าเป็นจุดตัดแยกระหว่างทางสร้างปัญหากับสิ้นปัญหา การพัฒนาชีวิตตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลางจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่สร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นก่อนการที่จะ สร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้น เรียกว่า ปัจจัยแห่งการเกิดสัมมาทิฏฐิ มีอยู่ 2 ปัจจัย คือ
    ปัจจัยภายนอก เรียกว่า ปรโตโฆสะ และ
    ปัจจัยภายในเรียกว่า โยนิโสมนสิการ

โดยปรโตโสะ เป็นวิธีการสร้างสัมมาทิฏฐิอาศัยสภาพแวดล้อมภายนอกที่ดีงาม คือการคบกัลยาณมิตร การฟังคำแนะนำสั่งสอน รวมทั้งกระบวนการหล่อหลอมทางสังคม โดยจุดเน้นของการสร้างสัมมาทิฏฐิด้วยวิธีนี้ คือ การใช้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นพลังในการผูกโยงผู้ศึกษาเข้ากับกัลยาณมิตร สัมมาทิฏฐิที่ เกิดขึ้นด้วยวิธีนี้จึงอยู่ในศรัทธาระดับโลกิยะ ยังหาความแน่นอนมั่นคงไม่ได้

ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือ โยนิโสมนสิการ เป็นวิธีสร้างสัมมาทิฏฐิด้วยปัจจัยด้านความคิด คือการคิดอย่างถูกวิธี โดยคิดค้น จนถึงต้นเค้าสืบสาวจนถึงต้นสาย คิดแตกกระจายจนเห็นเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยง ความรู้ความเข้าใจ ที่เกิดจากความคิดอย่างถูกต้องถูกวิธี ถือว่า เป็นเหตุปัจจัยแห่งการเกิดขึ้นของสัมมาทิฏฐิระดับโลกุตตระ อันเป็นตัวนำในกระบวนการพัฒนาชีวิตเพื่อความดับทุกข์ กาย(รูป) เป็นที่ประชุมของ มหาภูตรูปทั้ง 4 คือ ธาตุดิน(20) ธาตุน้ำ(12) รวมเป็นอาการ 32 ธาตุไฟ และธาตุลม

มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมกุมมาส ต้องอบและขัดสีเป็นประจำ มีความแตก กระจัดกระจายเป็นธรรมดา ควรพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัว เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า ไม่ใช่ตน การละกาย ให้พิจารณากายเป็นปฏิกูล เป็นสิ่งสกปรก ไม่สะอาด น่ารังเกียจ ไม่งาม ให้พิจารณาแยกร่างกายออกเป็นชิ้นส่วน แล้วจะคลายความติดใจในกาย(รูป) ของตนและของผู้อื่น เมื่อพิจารณาเห็นความเป็นจริงของกายแล้ว ย่อมเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด ย่อมละความพอใจในกาย ละความเยื่อใยในกาย ไม่อยู่ในอำนาจของกาย ย่อมละกายได้

เวทนา คือ ความรู้สึกหรือการเสวยอาอารมณ์ เวทนามี 3 คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เวทนามีเหตุปัจจัยจากผัสสะ เมื่อเสวยเวทนาใดเวทนาหนึ่ง จะไม่ได้เสวยเวทนาอีกสองเวทนา ทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ล้วนไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา การละเวทนา เมื่อพิจารณาเห็นความเป็นจริงว่า เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หาสาระแก่นสารอันใดมิได้ ย่อมเบื่อ หน่ายทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา(อุเบกขาเวทนา) ย่อมคลายกําหนัด ย่อมหลุดพ้น

เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมไม่วิวาท แก่งแย่งกับใคร โวหารใดที่ชาวโลกพูดกัน ก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฏฐิ

การปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมในทีฆนขสูตร พระพุทธศาสนามีคำสอนปรากฏใน พระไตรปิฎก ภาษาไทย เล่ม ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยอริยสัจ 4 อันประกอบด้วย

    1) ทุกข์ สรุปโดยย่อ คือกายกับใจ หรือรูปนาม ขันธ์ 5 ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่ให้กำหนดรู้
    2) สมุทัย คือ เหตุที่ทําให้เกิดทุกข์ ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่ต้องละเสียให้สิ้น
    3) นิโรธ คือสภาวะที่พ้นจากทุกข์ ด้วยการ ไม่ยึดถือรูป (กาย) ไม่ยึดถือนาม (ใจ) ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่ต้องทําให้แจ้ง
    4) มรรค คือทางหรือวิธี ปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ ผู้ปฏิบัติจะต้องทําหรือเจริญให้มาก ในมรรคมีองค์ 8 สรุปได้คือศีล สมาธิ (จิตตะ) ปัญญา

การปฏิบัติจะต้องรู้จริตของตน เพื่อปฏิบัติให้ถูกกับจริตแห่งตน ต้องรู้ความจริงของรูปนามตามกฎไตรลักษณ์ คืออนิจจัง(ไม่เที่ยง) ทุกขัง(ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้) อนัตตา(บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตนที่ถาวร) ต้องตัดความห่วงความกังวลที่เรียกว่า ปลิโพธให้ได้ และต้องละสังโยชน์ กิเลส ตัณหา อุปาทาน ด้วยการเจริญโพชฌงค์ตามหลักสติปัฏฐาน 4 คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยอาตาปี(ความเพียรเผากิเลส) สัมปชาโน(การกำหนดรู้และอยู่กับปัจจุบัน) และสติมา(มีความตั้งมั่นในสมาธิ) เพื่อให้การเจริญสมาธิและวิปัสสนาภาวนาเจริญรุดหน้าใน ญาณ ขึ้นสู่ความเป็นพระอริยบุคคล บรรลุมรรคผลนิพพาน หลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาหลักการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมในทีขนขสูตร อันมีเนื้อหาหลักธรรมเกี่ยวกับทิฏฐิ กาย (รูป) เวทนา ที่เป็นเหตุให้บุคคลต้องเวียนว่ายตาย เกิดในสังสารวัฏ และการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมอย่างถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง อันเป็น แนวทางแห่งการบรรลุมรรคผล และทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ยังประโยชน์เกื้อกูลแก่พุทธศาสนิกชน ตลอดจนดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาสืบไป



วัตถุประสงค์

1. ศึกษาประวัติและความเป็นมาของทีฆนขสูตร
2. ศึกษาหลักการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมในทีฆนขสูตร

วิธีดำเนินการวิจัย

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) ด้วยการรวบรวม ข้อมูลจากเอกสารชั้นปฐมภูมิ (Primary source) ได้แก่พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 13 ฉบับมหา จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อรรถกถา ภาษาไทย และรวบรวมข้อมูลจากเอกสารชั้นทุติยภูมิ (Secondary source) ได้แก่หนังสือ ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นำมาเรียบเรียงข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้องสังเคราะห์ข้อมูล และสรุปเพื่อตอบปัญหาการศึกษาที่ตั้งไว้

ผลการวิจัย

ประวัติและความเป็นมาของทีฆนขสูตร สรุปได้ว่าเป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์แสดงแก่ ทีฆนขปริพาชก ซึ่งเป็นหลานพระสารีบุตร โดยมีพระสารีบุตรยืนถวายงานพัด ณ เบื้อง พระปฤษฎางค์(ด้านหลัง) ของพระผู้มีพระภาค ฟังพระธรรมเทศนานี้อยู่ด้วย

สาระสำคัญของพระสูตรว่าด้วยเรื่องทิฏฐิ ทิฏฐิเป็นเหตุให้เกิดวิวาท ประเด็นคำถามที่ทีฆนขปริพาชกกราบทูลถาม พระผู้มีพระภาคเกี่ยวกับทิฏฐิหรือความเห็นของตนว่า
 
    1) สิ่งทั้งปวงไม่เป็นที่พอใจแก่ตน เพราะปฏิเสธสิ่งทั้งปวงว่า ไม่เป็นที่พอใจเป็น อุจเฉทวาทะ
    2) แม้คํากล่าวนั้นก็จะพึงเป็นเช่นนั้น เพราะตนยังพอใจในทิฏฐิของตน คือ อุทเฉททิฏฐิ
    3) ท่านพระโคดมยกย่องทิฏฐิของตน หรือเพราะยังมีความเข้าใจผิดในทิฏฐิของตน หรือไม่เข้าใจและกำหนดเนื้อความที่พระพุทธองค์ตรัสนั้นไม่ได้ หรือไม่เข้าใจและยังถือทิฏฐิแห่งตนอยู่(พระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถา แปล เล่ม 20: 193)

พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนและสอนทีฆนขะเป็นทางตรง แต่ตรัสสอนพระสารีบุตรซึ่งถวายงานพัดอยู่ด้านหลังของพระองค์และฟังการแสดงธรรมอยู่ด้วย(เป็นการสอนทางอ้อม) ว่า
    "สิ่งทั้งปวงไม่เป็นที่พอใจแก่เรานั้น ก็ไม่น่าเป็นที่พอใจแก่ท่านด้วย”
    "แม้ทิฏฐิที่ท่านชอบใจพอใจยึดมั่นไว้ก่อนนั้น ก็ไม่เป็นที่พอใจแก่ท่าน"
และยังทรงตอบคำถาม ข้อ 2) และ ข้อ 3) ว่า

คนเหล่าใดกล่าวว่า “แม้คำกล่าวนั้นก็จะพึงเป็นเช่นนั้น ในโลกนี้คนเหล่านั้นละทิฏฐินั้นไม่ได้ และยังยึดถือทิฏฐิอื่นอีก(ไม่ละทรรศนะเดิม ยังยึดถือทรรศนะอื่นอีก) คนเหล่านั้นมีจำนวนมากกว่าคนที่ละได้"

และ "คนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ ว่า แม้คำกล่าวนั้นก็จะฟังเป็นเช่นนั้นๆ ในโลกนี้คนเหล่านั้นละทิฏฐินั้นได้ และไม่ยึดทิฏฐิอื่น คนเหล่านั้นมีจำนวนน้อยกว่าคนที่ละไม่ได้”

บุคคลยึดถือสัสสตทิฏฐิ(-1) ยังละทิฏฐินี้ไม่ได้ แต่ยังยึดถืออุจเฉททิฏฐิ หรือเอกิจจสัสสตทิฏฐิอีกด้วย บุคคล ถืออุทเฉททิฏฐิยังละทิฏฐินี้ไม่ได้ แต่ยังยึดถือสัสสตทิฏฐิหรือเอกิจจสัสสตทิฏฐิอีก บุคคลยึดถือแม้เอกิจจสัสสตทิฏฐิยังละทิฏฐินั้นไม่ได้ และไม่สามารถยึดถือสัสสตทิฏฐิหรืออุทเฉททิฏฐิ ส่วนบุคคลยังละสัสสตทิฏฐิเดิมไม่ได้ แต่ยังยีตถือทิฏฐิอื่นนั้นได้ ทิฏฐิเป็นเหตุให้เกิดวิวาท

(ยังมีต่อ)
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ใครหนอ ?? บรรลุธรรมวันมาฆบูชา
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มีนาคม 18, 2023, 08:19:04 am »
0

ในทีฆนขสูตรระบุทิฏฐิเป็นเหตุให้เกิดวิวาท โดย สมณพราหม์แต่ละจําพวกมีวาทะและทิฏฐิ (ความเห็น) แตกต่างกัน แยกได้ 3 จำพวก (พระไตรปิฏกพร้อมอรรถกถา แปล เล่ม 20 : 193-194)

จำพวกที่ 1. มีทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวงเป็นที่ พอใจแก่ตน จะมีพฤติกรรม
      (1) อยู่ใกล้ความกำหนัด
      (2) อยู่ใกล้กิเลสเครื่องผูกสัตว์ไว้
      (3) ใกล้ กิเลสเป็นเหตุเพลิดเพลิน
      (4) ใกล้กิเลสเป็นเหตุเกาะติด
      (5) ใกล้กิเลสเป็นเหตุยึดมั่น

________________________________________
(-1) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539), หน้า 239.

จำพวกที่ 2. มีทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวงไม่เป็นที่พอใจแก่ตน จะมีพฤติกรรม
      (1) อยู่ใกล้ความไม่กำหนัด
      (2) อยู่ใกล้ ธรรมเป็นเครื่องเปลื้องสัตว์
      (3) ใกล้ธรรมที่ไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน
      (4) ใกล้ธรรมที่ไม่เป็นเหตุ เกาะติด
      (5) ใกล้ธรรม ไม่เป็นเหตุปัดมั่น

จำพวกที่ 3. มีทิฏฐิว่า บางสิ่งเป็นที่พอใจแก่ตน บางสิ่งไม่ เป็นที่พอใจแก่ตน แยกออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
      กลุ่ม 1. พวกที่เห็นว่า เป็นที่พอใจแก่ตน จะมี พฤติกรรมเช่นเดียวกับจ๋าพวกที่ 1
      กลุ่ม 2. พวกที่เห็นว่าไม่เป็นที่พอใจแก่ตน จะมีพฤติกรรม เช่นเดียวกับจำพวกที่ 2 การละ สลัดทิ้งทิฏฐิ (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 13 ข้อ 203: 241)

@@@@@@@

โดยสมณพราหมณ์จำพวกที่ 1. เมื่อยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิของตนแล้วยืนยันอย่างแข็งขันว่า “นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง” เป็นการเห็นผิดจากจำพวกที่ 2. และจำพวกที่ 3. เป็นเหตุให้เกิดวิวาท มีการทุ่มเถียงกัน ทำลายกัน การเบียดเบียนกัน เมื่อพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการถึงเหตุนั้น เห็นโทษ ความถือผิดอันหาประโยชน์มิได้ จึงละทิฏฐิ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทั้งของตนและทิฏฐิอื่น ย่อมละ ย่อมสลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้นเสียได้ (เปลี่ยนแนวคิดจากมิจฉาทิฏฐิเป็นสัมมาทิฏฐิ)

จำพวกที่ 2. มีความเห็นว่า "นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง” ก็ถือผิดเช่นเดียวกันเหมือนจำพวกที่ 1. และ 3. อันเป็นเหตุให้เกิดวิวาท จะมีการทุ่มเถียงกัน ทำลายกัน และมีการเบียดเบียนกันในตน เมื่อ พิจารณาความเห็นผิดเช่นเดียวกับจ่าพวกที่ 1. และจำพวกที่ 3. จึงละทิฏฐิ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทั้ง ของตนและทิฏฐิอื่น จากการพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการถึงเหตุนั้นย่อมละ ย่อมสลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้นเสียได้เช่นกัน

จำพวกที่ 3. มีความเห็นว่า “บางสิ่งเป็นที่พอใจแก่ตน บางสิ่งไม่เป็นที่พอใจแก่ตน" ย่อมพิจารณาเห็นว่า ถ้าจะยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิ ดังว่านี้แล้วยืนยันอย่างแข็งขันว่า “นี้เท่านั้นจริงอย่างอื่นไม่จริง” ก็จะพึงเห็นผิดเช่นเดียวกันกับ 2 จำพวกแรก อันเป็นเหตุให้เกิด วิวาทจึงละทิฏฐิ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทั้งของตนเองและทิฏฐิอื่นเช่นเดียวกับจำพวก 1. และจำพวก 2. จากการพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการถึงเหตุนั้น ย่อมละ ย่อมสลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้นเสียได้เช่นเดียวกัน


กาย(รูป) เกิดจากมหาภูตรูป ได้แก่ธาตุทั้ง 4 อันประกอบด้วย (พระไตรปิฎก ภาษาไทย เล่ม 13 ข้อ 205 : 242)

      (1) ปฐวีธาตุหรือธาตุดิน เป็นส่วนที่แขนแข็งบรรดาที่มีอยู่ภายใน กายนี้ ได้แก่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้เล็กหรือสายรัดไส้ อาหารใหม่ อาหารเก่า (อุจจาระ) เยื่อในสมอง รวมเป็นอาการ 20

      (2) อาโปธาตุหรือธาตุน้ำ เป็นส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลบรรดาที่มีอยู่ภายในกายนี้ ได้แก่น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำตา น้ำลาย มันข้น มันเหลว น้ำมูก มูตร รวมเป็น 12 ธาตุดินรวมกับธาตุน้ำ เป็นอาการ 32)

      (3) เตโชธาตุหรือธาตุไฟ เป็นส่วนที่อบอุ่นบรรดามีอยู่ ภายในกายนี้ทำให้ร่างกายชำรุดทรุดโทรม ไฟที่ทำให้ร่างกายเร่าร้อน ไฟที่ย่อยอาหาร คือช่วย ย่อยอาหารในลำไส้

      (4) วาโยธาตุหรือธาตุลม เป็นส่วนที่พัดไหวบรรดาที่มีอยู่ภายในกายนี้ ได้แก่ ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้หรือในกระเพาะ ลมที่พัดไปมา ตลอดอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลาย ลมอัสสาสะ (ลมหายใจเข้า) ลมปัสสาสะ (ลมหายใจออก)

@@@@@@@

มหาภูตรูป 4 ประกอบเข้าเป็นกาย เมื่อธาตุทั้ง 4 ยังคุมกันอยู่ กายนี้ก็ย่อมดำรงอยู่ คือ กายมีชีวิต เมื่อธาตุทั้ง 4 แตกสลาย ความดำรงอยู่แห่งกายก็สิ้นไปชีวิตก็สิ้นไป กาย(รูป) มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญเติบโตด้วยข้าวสุกและขนมกุมมาส มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นของไม่สะอาด ไม่งาม เป็นสิ่งปฏิกูล กายนี้ต้องมีการไล้ทา บีบนวด ต้องอบและขัดสีเป็นประจำ เป็นสิ่งคับแค้น เป็นสิ่งเบียดเบียน เป็นของว่างเปล่า เป็นดุจผู้อื่น เป็นดุจโรค เป็นดุจหัว เป็นดุจลูกศร เป็นสิ่งที่ต้องแตกสลาย กระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา เป็นอนัตตา

ให้กำหนดรู้ด้วยปัญญา เพื่อพิจารณากาย(รูป)ว่า มีลักษณะไม่งาม ไม่สะอาด เป็นสิ่งปฏิกูล ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัว เป็น ลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน การละกาย(รูปกรรมฐาน) โดยพิจารณาเห็นว่า ร่างกายที่สกปรกนี้ไร้แก่นสาร และที่สำคัญผิดคิดว่าสวยว่างาม จึงหลงบำรุงบำเรอดูแล ส่วนประกอบของรูปกาย แต่งเติมเสริมสวย ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ดูสวยงาม ไม่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา นับเป็นความเห็นผิดและขัดกับกฏไตรลักษณ์

เมื่อพิจารณาเห็นความเป็นจริงของกายแล้ว ย่อมเกิดนิพพิทาคือ ความเบื่อหน่าย คลายความกำหนัด คลายความมัวเมา คลายความหลงใหลไปทั้งในกายตนและของผู้อื่น เมื่อเห็นความจริงเช่นนี้ ย่อมละความพอใจในกาย คือความทะยานอยากในกาย ละความเยื่อใยในกาย เพราะไม่อยู่ในสุข และไม่อยู่ในอำนาจของกาย คือตัณหา และละความยอมตามกายได้ คือ ไม่ตกเป็นทาสกิเลสที่เป็นไปตามกาย อีกต่อไป

@@@@@@@

เวทนา 3 ได้แก่
    1) สุขเวทนา
    2) ทุกขเวทนา
    3) อทุกขมสุขเวทนา

แต่ละเวทนาจะบังเกิด ขึ้นไม่พร้อมกัน โดยเสวยครั้งละ 1 เวทนาเท่านั้น เวทนาอื่นหามีไม่ ย่อมไม่เกิดขึ้นเลย เวทนาเกิดจากผัสสะ คือ เป็นการกระทบกันระหว่างอายตนะภายใน ได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบกับ อายตนะภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ จึงเกิดความรู้สึกหรืออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งในสาม

แต่ละเวทนานั้นไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป และดับไปเป็นธรรมดา การละเวทนา(อรูปกรรมฐาน) ผู้ได้สดับแล้วและเห็นจริง ย่อมเบื่อหน่ายเวทนาทั้ง 3 ย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนดจิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะต้องทำอีกต่อไป(-2) (พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ , เวทนา 3 , หน้า 243)



ผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วจะไม่ทะเลาะวิวาททุ่มเถียงกับใคร ๆ โวหารใดที่ชาวโลกนิยมพูด ก็พูดไปแต่ไม่ยึดมั่น ถือมั่นธรรมใด ๆ เพียงแต่กล่าวไปตามโวหารนั้น เท่านั้น ดังพระพุทธพจน์ว่า(-3)
 
     “ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ทำกิจเสร็จแล้ว สิ้นอาสวะแล้ว เหลือแต่ ร่างกายในชาติสุดท้าย ภิกษุนั้นกล่าวว่าเราพูดดังนี้บ้าง กล่าวว่าคนทั้งหลายพูดกับเราดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาดทราบคำพูดที่รู้กันในโลก เธอกล่าวตามสมมติที่เขาพูดกัน"  (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค , ๕.อรหันตสูตร ว่าด้วยพระอรหันต์ หน้า  28-29)

     “จิตตะเหล่านี้แล เป็นโลกสมัญญา (ชื่อที่ชาวโลกใช้เรียก) เป็นโลกนิรุตติ ภาษาของโลก) เป็นโลกโวหาร (โวหารของ ชาวโลก) เป็นโลกบัญญัติ (บัญญัติของชาวโลก) พระพุทธองค์ก็ใช้อยู่แต่ไม่ยึดถือ" (-4) (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค  [๔๔๐] หน้า 195.) 

และตรัสว่า
   “กายนี้มิใช่ของเธอ ทั้งมิใช่ของผู้อื่น กายนี้พึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า (เกิดขึ้นด้วยอำนาจการปรุงแต่ง แห่งเหตุปัจจัยทั้งหลายตามกระแสปฏิจจสมุปบาท) ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา” (-5) (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค , ๗. นตุมหสูตร ว่าด้วย(กาย)ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย หน้า 79.)

พระสารีบุตรฟังธรรมนี้และติดตามไปด้วยโยนิโสมนสิการจนจิตหลุดพ้น บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนทีฆนขปริพาชก เกิดธรรมจักษุ บรรลุโสดาบัน แล้วแสดงตนเป็นอุบาสกต่อพระผู้มีพระภาค และขอถึงพระรัตนตรัย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต

@@@@@@@

สำหรับหลักการปฏิบัติพื่อการบรรลุธรรมในทีฆนขสูตรสรุปได้ว่า ทิฏฐิอันเป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นเหตุให้เกิดความ ขัดแย้ง ทะเลาะวิวาท มีการทุ่มเถียงกัน มีการทำลายกัน มีการเบียดเบียนกัน มีแต่โทษหา ประโยชน์อันใดมิได้ วิญญูชนเมื่อพิจารณาเห็นความจริงของทิฏฐิ จึงละ สลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้นและ ไม่ยึดถือทิฏฐิอื่น ให้มีสัมมาทิฏฐิหรือความเห็นชอบอันเกิดจากปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ

เพื่อเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสรรพสิ่งทั้งปวง ซึ่งเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนาหรือการปฏิบัติตามสติปัฏฐาน 4 โดยมีสติเป็นประธานใน การดู เห็น รู้ ไม่ปรุงแต่งโดยการกำหนดรู้และอยู่กับปัจจุบัน ไม่ส่งจิตออกนอกกาย เพื่อพิจารณา อารมณ์ของสติที่ฐาน 4 ได้แก่ กาย เวทนา จิต และธรรม ด้วยอาตาปีคือความเพียรเผากิเลส มีสัมปชาโนหรือสัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัวทั่วพร้อม และสติมา คือ มีสติตั้งมั่นอยู่ในฐาน 4 เพื่อ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ การพิจารณากาย (รูปกรรมฐาน) และเวทนา 3 คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา (อรูปกรรมฐาน) เพื่อเห็นความจริงว่า ทั้งกายและเวทนา

__________________________
(-2) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า 243.
(-3) เรี่องเดียวกัน, หน้า  28-29
(-4) เรี่องเดียวกัน, หน้า 195.
(-5) เรื่องเดียวกัน, หน้า 79.

แม้ธรรมทั้งหลายก็ตาม มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปเป็น ธรรมดา หาสาระแก่นสารอันใดมิได้ จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นแต่อย่างใด พระสารีบุตรได้ฟัง พระธรรมเทศนานี้ โดยพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นกัลยาณมิตรทรงแสดง และฟังด้วยโยนิโสมนสิการ คือ เจริญวิปัสสนาภาวนาตามไปจนเห็นและรู้ซึ่งในธรรมทั้งหลาย จึงละและสลัดทิ้งธรรมทั้งปวง จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

ซึ่งการบรรลุธรรมในพุทธศาสนาตามลำดับ คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 ที่เรียกว่า บรรลุโลกุตตรธรรม 9 ได้แก่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล (เป็นพระโสดาบัน) สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล (เป็นพระสกทาคามี) อนาคามิมรรค อนาคามิผล (เป็นพระอนาคามี) อรหัตตมรรค อรหัตตผล (เป็นพระอรหันต์) และนิพพาน

ขณะนั้น ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีและปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ทีฆนขปริพาชกว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมี ความดับไปเป็นธรรมดา” ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน เพราะฟังพระธรรมเทศนานั้นเช่นกัน



บทสรุป

ทีฆนขสูตรหรืออีกชื่อหนึ่งว่า เวทนาปริคคหสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์แสดงแก่ ทีฆนขปริพาชก ซึ่งเป็นหลานของพระสารีบุตร ขณะประทับอยู่ ณ ถ้ําสุกรขาตา ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ เกี่ยวกับเรื่องทิฏฐิ กาย(รูป) เวทนา โดยศึกษาทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิอันเป็นเหตุ ให้เกิดวิวาท เมื่อพิจารณาเห็นโทษแล้ว จึงละและสลัดทิ้งทิฏฐินั้นเสีย และไม่ยึดถือทิฏฐิอื่น

เรื่องกาย(รูป) ศึกษาถึงอาการ 32 ที่มีอยู่ในกาย เป็นสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด เมื่อพิจารณาเห็นความจริงของกายว่าเป็นปฏิกูล ไม่สะอาด น่าเกลียด เป็นรังของโรค ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นสิ่งคับแค้น เป็นสิ่งเบียดเบียน เป็นสิ่งต้องแตกสลาย เป็นของว่างเปล่า เป็นอนัตตา ย่อมละความพอใจในกาย ละความเยื่อใยในกา ยและความยอมตามกายได้

ส่วนเวทนาศึกษาถึงเวทนา 3 คือ สุข ทุกข์ และ อทุกขมสุข (อุเบกขา) เวทนามีเหตุปัจจัยการเกิดและการดับอันเกิดจากผัสสะ เมื่อผัสสะเกิด เวทนาเกิด เมื่อผัสสะดับ เวทนาก็ดับ เวทนาเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน กล่าวคื อเมื่อสุขเกิด ทุกข์และอทุก ขมสุขไม่เกิด เมื่อทุกข์เกิด สุขและอทุกขมสุขไม่เกิด เมื่ออทุกขมสุขเกิด สุขและทุกข์ไม่เกิด เวทนา เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เมื่อพิจารณาเห็นความจริง ย่อมเบื่อหน่ายเวทนาทั้ง 3 ย่อมคลายกำหนัด จิตจึงหลุดพ้น ด้วยข้อปฏิบัติไปสู่ทางพ้นทุกข์จากเวทนา เพื่อการบรรลุธรรม ด้วยสติปัฏฐาน 4 หรือวิปัสสนาภาวนา ด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นทางปฏิบัติ

@@@@@@@

ข้อเสนอแนะเพื่อการนําาไปใช้

จากการศึกษาหลักการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมในทีฆนขสูตร มีข้อเสนอแนะสำหรับนำหลักธรรมนี้ไปใช้ในชีวิต ควรถือปฏิบัติดังนี้

  ประการแรก. ต้องสร้างสัมมาทิฏฐิให้มีขึ้นแห่งตน เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตสู่ความพ้นทุกข์ตามมรรคมีองค์ 8

  ประการที่สอง. ให้เจริญสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาโดยพิจารณากายแห่งตน ว่าเป็นของไม่ สะอาด เป็นรังของโรค เป็นของน่าเกลียด ไม่สวย ไม่งาม เป็นการเจริญสติด้วยรูปกรรมฐาน คือ พิจารณากายแห่งตนเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ละกิเลส เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ละความพอใจในกายละความเยื่อใยในกายของตนและผู้อื่น

  ประการที่สาม. ให้พิจารณาอารมณ์ความรู้สึกหรือเวทนาแห่งตน ที่เกิดตับอยู่ตลอดเวลา ด้วยการดู เห็น รู้ด้วยจิต ว่า เวทนาเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นสิ่งว่างเปล่า ไม่ควร ยึดมั่นถือมั่น ไม่ปรุงแต่ง เพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานใด ๆ

  ประการที่สี่. การอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยสัมปชัญญะหรือปัญญา สำหรับชีวิตประจำวัน การอยู่ร่วมกันนั้น การใช้สติควบคุมจิตให้รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึก อย่างรู้เท่าตามทัน และให้จิตอยู่กับปัจจุบัน ไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยการคิดดี พูดดี และทำดี (การเจริญสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา ภาวนา) จะเป็นจิตของผู้ที่มีความสุข ย่อมตั้งมั่น หรือจิตที่ตั้งมั่นด้วยสมาธิย่อมเป็นสุข

@@@@@@@

ทุกวันนี้ ที่มีทุกข์เพราะมีความกังวลหรือสงสัย เมื่อหมดกังวลหรือข้อสงสัยทุกข์ก็ไม่มี ผู้ไม่มีอะไรให้กังวล ย่อมมีแต่ความสุข อีกประการหนึ่ง การวางตัวถือตนอันถือได้ว่า มีอัตตา ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ เพราะทุกข์อันเกิดจากการคบหาสมาคมกันนั้นมักเกิดจากถือตัวเรา ถือเขา ของเรา เกิดจากแนวคิดหรือมุมมอง หรือทิฏฐิ คือ ความเห็นที่ต่างกัน กล่าวคือ คนอื่นเขาจะเป็น(อุปนิสัยหรือ อนุสัยแสดงพฤติกรรมทางการคิด พูด ท่า)อย่างที่เขาอยากจะเป็น แต่เขาจะไม่เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น(เขาเป็นตัวของตัวเอง อิสระ เสรี ไม่ถูกบังคับข่มขืนใจ)

ดังนั้น การคบค้าสมาคมกันให้ยาวนานหรือ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข จะต้องมีศีล ศรัทธา ปัญญา จาคะ และปรับตัวปรับใจให้ เสมอกัน ด้วยความรัก ความเข้าใจ ความมีเมตตา กรุณา เอื้ออาทร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ จริงใจ ไว้วางใจ ชื่อสัตย์ สุจริต เข้าใจ เกรงใจ ให้เกียรติ เชื่อใจ อดทน อดกลั้น มีมนุษย์สัมพันธ์

มองกันด้วยความเป็นจริงและเข้าใจกัน ให้มองอย่างที่เขาเป็น ไม่มองอย่างที่เราอยากให้เขาเป็น แล้วจะมีความสุขทั้งสองฝ่าย อย่ามีกิเลส ตัณหา อุปาทาน หรือความคาดหวังให้มากแล้วจะอยู่ ร่วมกันได้นาน เพราะชีวิตนี้มีแต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน ความไม่แน่นอน คือ ความแน่นอน และความตายเท่านั้นเป็นสิ่งที่แน่นอน ซึ่งทุกคนต้องประสบพบเจอ จงพบเพื่อพราก จงพรากเพื่อพบ หรือจงจากเพื่อเจอ และจงเจอเพื่อจาก ต้องทำใจแล้วจะเข้าใจความเป็นจริงว่า ทุกสรรพสิ่งรวมทั้งตัวเรานั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นของว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลยที่เป็นแก่นสารหรือสรณะ อย่ายึดติดในโลกธรรม 8 (ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์) เพราะทุกสิ่งเป็นสิ่งสมมุติทั้งนั้น

ถ้ารู้จักละวาง ก็จะว่าง เมื่อว่างก็ผลัด ทิ้งสิ่งและธรรมทั้งปวงได้ กล่าวคือ จงอยู่กับปัจจุบันด้วยความเป็นจริง อย่ายึดมั่นถือมั่นและจง ละธรรมทั้งปวง จงอยู่เหนือดีหรือบุญ และไม่ทำชั่วหรือบาป เหนือสุขและทุกข์ จงช่วยเหลือ สงเคราะห์แก่กัน ให้อภัยต่อกัน ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ ไม่เบียดเบียนกัน

พระนิพพานเป็นสิ่งที่ต้องไปให้ถึงให้จงได้ เข้าทำนอง "ฝันให้ไกล ไปให้ถึง" ด้วยการคิดกว้าง มองไกล ใฝ่สูง มุ่ง ธรรม แล้วละ สละทิ้งสิ่งทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง แล้วชีวิตจะมีแต่สิ่งดีและมีคุณค่า ควรทำตนอย่างมีคุณภาพ คุณค่า คุณประโยชน์ มีคุณธรรมนำชีวิตเพื่อผู้อื่นและสังคม ด้วยทำแล้วสบายใจ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน องค์กรไม่เสียหาย จะทำให้ชีวิตมั่นคง(สติ) มั่งคั่ง(ปัญญา) ยั่งยืน(สันติคือสงบ,สุขคือสบาย)

ด้วยข้อเสนอแนะทั้ง 4 คือ สัมมาทิฏฐิ พิจารณากาย พิจารณาเวทนา และการอยู่ร่วมกันด้วยสัมปชัญญะหรือปัญญา ด้วยการใช้สติควบคุมจิตทุกขณะและอยู่กับปัจจุบัน(การเจริญสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาภาวนา) แสดงออกลักษณะอาการคิดดี พูดดี ทำดี ควรนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน จะบังเกิดประโยชน์ และเป็นเหตุให้เกิดความหลุดพ้นจากทุกข์ได้

@@@@@@@

ข้อเสนอแนะเพื่อการศึกษาต่อไป

การศึกษาเกี่ยวกับหลักธรรมและการบรรลุธรรม หากมีการศึกษาต่อไปควรศึกษา วิเคราะห์เรื่องกายและเวทนา โดย
    1. ศึกษาความแตกต่างระหว่างเวทนากับกาย(รูป)
    2. ศึกษาการบรรลุธรรมทางกาย(รูป) ตามหลักปฏิจจสมุปบาท






เอกสารอ้างอิง :-
- มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.
- มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, อรรถกถาภาษาไทย ฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2552

ขอบคุณที่มา : วารสาร มจร บาฬีศึกษาพุทธโฆสปริทรรศน์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2560
Journal of MCU Palisueksabuddhoghosa Review Vol.3 No.1 January - June 2017
ขอบคุณภาพจาก : pinterest
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 18, 2023, 08:25:22 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ใครหนอ ?? บรรลุธรรมวันมาฆบูชา
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: มีนาคม 18, 2023, 12:13:31 pm »
0


ทีฆนขสูตร ว่าด้วยปริพาชกชื่อ ทีฆนขะ

[๒๐๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ถ้ำสูกรขาตา ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ปริพาชกชื่อทีฆนขะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ความจริง ข้าพระองค์มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่เป็นที่พอใจแก่เรา”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“อัคคิเวสสนะ แม้ทิฏฐิของท่านที่ว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่เป็นที่พอใจแก่เรา’ นั้น ก็ไม่น่าเป็นที่พอใจแก่ท่านด้วย”
“ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ก็ยังพอใจทิฏฐินั้นว่า ‘แม้คำกล่าวนั้นก็จะพึงเป็นเช่นนั้น แม้คำกล่าวนั้นก็จะพึงเป็นเช่นนั้น”

“อัคคิเวสสนะ คนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม้คำกล่าวนั้นก็จะพึงเป็นเช่นนั้นแม้คำกล่าวนั้นก็จะพึงเป็นเช่นนั้น’ ในโลกนี้ คนเหล่านั้นละทิฏฐินั้นไม่ได้ และยังยึดถือทิฏฐิอื่นอยู่ คนเหล่านั้นมีจำนวนมากกว่าคนที่ละได้
             
คนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม้คำกล่าวนั้นก็จะพึงเป็นเช่นนั้น แม้คำกล่าวนั้นก็จะพึงเป็นเช่นนั้น’ ในโลกนี้ คนเหล่านั้นละทิฏฐินั้นได้ และไม่ยึดถือทิฏฐิอื่น คนเหล่านั้นมีจำนวนน้อยกว่าคนที่ละไม่ได้

@@@@@@@

ทิฏฐิเป็นเหตุให้เกิดวิวาท

มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สิ่งทั้งปวงเป็นที่พอใจแก่เรา’
มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่เป็นที่พอใจแก่เรา’
มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บางสิ่งเป็นที่พอใจแก่เรา บางสิ่งไม่เป็นที่พอใจแก่เรา’

บรรดาทิฏฐิเหล่านั้น ทิฏฐิของสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘สิ่งทั้งปวงเป็นที่พอใจแก่เรา‘นั้น อยู่ใกล้ความกำหนัด ใกล้กิเลสเครื่องผูกสัตว์ไว้ ใกล้กิเลสเป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้กิเลสเป็นเหตุเกาะติด ใกล้กิเลสเป็นเหตุยึดมั่น
             
อัคคิเวสสนะ บรรดาทิฏฐิเหล่านั้น ทิฏฐิของสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่เป็นที่พอใจแก่เรา’ นั้น อยู่ใกล้ความไม่กำหนัด ใกล้ธรรมเป็นเครื่องเปลื้องสัตว์ ใกล้ธรรมที่ไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ธรรมที่ไม่เป็นเหตุเกาะติด ใกล้ธรรมที่ไม่เป็นเหตุยึดมั่น”

@@@@@@@

[๒๐๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆนขปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดมยกย่องทิฏฐิของข้าพระองค์หรือ ท่านพระโคดมยกย่องทิฏฐิของข้าพระองค์หรือ”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ บรรดาทิฏฐิเหล่านั้น ทิฏฐิของสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บางสิ่งเป็นที่พอใจแก่เรา บางสิ่งไม่เป็นที่พอใจแก่เรา’ นั้น ส่วนที่เห็นว่าเป็นที่พอใจ อยู่ใกล้ความกำหนัด ใกล้กิเลสเป็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ ใกล้กิเลสเป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้กิเลสเป็นเหตุเกาะติด ใกล้กิเลสเป็นเหตุยึดมั่น ส่วนที่เห็นว่าไม่เป็นที่พอใจ อยู่ใกล้ความไม่กำหนัด ใกล้ธรรมเป็นเครื่องเปลื้องสัตว์ ใกล้ธรรมที่ไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ธรรมที่ไม่เป็นเหตุเกาะติด ใกล้ธรรมที่ไม่เป็นเหตุยึดมั่น

บรรดาทิฏฐิเหล่านั้น ทิฏฐิของสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘สิ่งทั้งปวงเป็นที่พอใจแก่เรา’ นั้น วิญญูชนย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ถ้าเราจะยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิของเราว่า ‘สิ่งทั้งปวงเป็นที่พอใจแก่เรา’ แล้วยืนยันอย่างแข็งขันว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ เราก็จะพึงถือผิดจากสมณพราหมณ์๒ พวกนี้ คือ
                         
๑. สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่เป็นที่พอใจแก่เรา’
๒. สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บางสิ่งเป็นที่พอใจแก่เรา บางสิ่งไม่เป็นที่พอใจแก่เรา’
             
เมื่อเราถือผิดจากสมณพราหมณ์ ๒ พวกนี้ ก็จะมีการทุ่มเถียงกัน เมื่อมีการทุ่มเถียงกัน ก็จะมีการทำลายกัน เมื่อมีการทำลายกัน ก็จะมีการเบียดเบียนกันวิญญูชนนั้นเมื่อพิจารณาเห็นการถือผิดกัน การทุ่มเถียงกัน การทำลายกัน และการเบียดเบียนกันในตน จึงละทิฏฐินั้น และไม่ยึดถือทิฏฐิอื่น การละ การสลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมมีได้ด้วยประการอย่างนี้

@@@@@@@

[๒๐๓] อัคคิเวสสนะ บรรดาทิฏฐิเหล่านั้น ทิฏฐิของสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่เป็นที่พอใจแก่เรา’ วิญญูชนย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นทิฏฐิของเราว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่เป็นที่พอใจแก่เรา’ แล้วยืนยันอย่างแข็งขันว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ เราก็จะพึงถือผิดจากสมณพราหมณ์ ๒ พวกนี้ คือ

๑. สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สิ่งทั้งปวงเป็นที่พอใจแก่เรา’
๒. สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บางสิ่งเป็นที่พอใจแก่เรา บางสิ่งไม่เป็นที่พอใจแก่เรา’
             
เมื่อเราถือผิดจากสมณพราหมณ์ ๒ พวกนี้ ก็จะมีการทุ่มเถียงกัน เมื่อมีการทุ่มเถียงกัน ก็จะมีการทำลายกัน เมื่อมีการทำลายกัน ก็จะมีการเบียดเบียนกันวิญญูชนนั้นเมื่อพิจารณาเห็นการถือผิดกัน การทุ่มเถียงกัน การทำลายกัน และการเบียดเบียนกันในตน จึงละทิฏฐินั้น และไม่ยึดถือทิฏฐิอื่น การละ การสลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมมีได้ด้วยประการอย่างนี้

[๒๐๔] อัคคิเวสสนะ บรรดาทิฏฐิเหล่านั้น ทิฏฐิของสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บางสิ่งเป็นที่พอใจแก่เรา บางสิ่งไม่เป็นที่พอใจแก่เรา’ นั้นวิญญูชนย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นทิฏฐิของเราว่า ‘บางสิ่งเป็นที่พอใจแก่เรา บางสิ่งไม่เป็นที่พอใจแก่เรา’ แล้วยืนยันอย่างแข็งขันว่า ‘นี้เท่านั้นจริงอย่างอื่นไม่จริง’ เราก็จะพึงถือผิดจากสมณพราหมณ์ ๒ พวกนี้ คือ

๑. สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สิ่งทั้งปวงเป็นที่พอใจแก่เรา’
๒. สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่เป็นที่พอใจแก่เรา’
             
เมื่อเราถือผิดจากสมณพราหมณ์ ๒ พวกนี้ ก็จะมีการทุ่มเถียงกัน เมื่อมีการทุ่มเถียงกัน ก็จะมีการทำลายกัน เมื่อมีการทำลายกัน ก็จะมีการเบียดเบียนกันวิญญูชนนั้นเมื่อพิจารณาเห็นการถือผิดกัน การทุ่มเถียงกัน การทำลายกัน และการเบียดเบียนกันในตน จึงละทิฏฐินั้น และไม่ยึดถือทิฏฐิอื่น การละ การสลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมมีได้ด้วยประการอย่างนี้

@@@@@@@

[๒๐๕] อัคคิเวสสนะ รูปกายนี้เกิดจากมหาภูตรูป ๔ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เติบโตด้วยข้าวสุกและขนมกุมมาส มีความไม่เที่ยง มีการไล้ทาบีบนวด แตกสลาย และกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา

ท่านควรพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดุจโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นสิ่งคับแค้น เป็นสิ่งเบียดเบียน เป็นดุจผู้อื่น เป็นสิ่งที่ต้องแตกสลาย เป็นของว่างเปล่า เป็นอนัตตา

เมื่อท่านพิจารณาเห็นกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดุจโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นสิ่งคับแค้น เป็นสิ่งเบียดเบียน เป็นดุจผู้อื่น เป็นสิ่งที่ต้องแตกสลาย เป็นของว่างเปล่า เป็นอนัตตา

ท่านย่อมละความพอใจในกาย ความเยื่อใยในกายและความยอมตามกายได้


เวทนา ๓

เวทนา ๓ ประการนี้ คือ
   ๑. สุขเวทนา
   ๒. ทุกขเวทนา
   ๓. อทุกขมสุขเวทนา

เมื่อใดบุคคลได้เสวยสุขเวทนา เมื่อนั้นเขาไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น เมื่อใดบุคคลเสวยทุกขเวทนา เมื่อนั้นเขาไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น เมื่อใดบุคคลเสวยอทุกขมสุขเวทนา เมื่อนั้น เขาย่อมไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ได้เสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น

สุขเวทนาไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเสื่อมไป คลายไป และดับไปเป็นธรรมดา แม้ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป และดับไปเป็นธรรมดา แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป และดับไปเป็นธรรมดา

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
             
อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ย่อมไม่ทะเลาะวิวาททุ่มเถียงกับใครๆ โวหารใดที่ชาวโลกนิยมพูดกันก็ไม่ยึดมั่นกล่าวไปตามโวหารนั้น”

[๒๐๖] สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรยืนถวายงานพัด ณ เบื้องพระปฤษฎางค์พระผู้มีพระภาค ได้คิดว่า “ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้ยิ่งแล้ว ตรัสการละธรรมเหล่านั้นๆ แก่เราทั้งหลาย พระสุคตทรงรู้ยิ่งแล้ว ตรัสการสลัดทิ้งธรรมเหล่านั้นๆ แก่เราทั้งหลาย” เมื่อท่านพระสารีบุตรพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน

ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี และปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแล้วแก่ทีฆนข-ปริพาชกว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา(๑-)”

_________________________________
(๑-)หมายความว่า ทีฆนขปริพาชกได้บรรลุโสดาปัตติผลเพราะฟังพระธรรมเทศนานั้น (ม.ม.อ. ๒/๒๐๖/๑๕๔)

@@@@@@@

ทีฆนขปริพาชกแสดงตนเป็นอุบาสก

ลำดับนั้น ทีฆนขปริพาชกเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรมหมดความสงสัย ไม่มีคำถามใดๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในหลักคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดบอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’

     ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล

                              ทีฆนขสูตรที่ ๔ จบ





ขอขอบคุณ :-
ภาพ : pinterest
ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๓๙ - ๒๔๔
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ , พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ , ทีฆนขสูตร ว่าด้วยปริพาชกชื่อทีฆนขะ
URL : https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=24
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 18, 2023, 12:22:03 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ใครหนอ ?? บรรลุธรรมวันมาฆบูชา
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: มีนาคม 18, 2023, 12:49:42 pm »
0


อรรถกถาทีฆนขสูตร
             
ทีฆนขสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สูกรขาตายํ๑- ณ ถ้ำมีชื่ออย่างนี้ว่า สูกรขาตา.

____________________________
๑- บาลีว่า สูกรขตายํ.

มีเรื่องกล่าวไว้ว่า ครั้งศาสนาพระกัสสปพุทธเจ้า ถ้ำนั้นเกิดภายในพื้นแผ่นดินซึ่งงอกขึ้นในพุทธันดรหนึ่ง. อยู่มาวันหนึ่ง สุกรตัวหนึ่งคุ้ยฝุ่นในที่ใกล้เขตปิดถ้ำนั้น. เมื่อฝนตกได้ปรากฏเขตปิดเพราะถูกฝนชะ พรานป่าคนหนึ่งเห็นเข้าจึงคิดว่า เมื่อก่อนไม่มีผู้มีศีลอยู่ในถ้ำ เราจักปรับปรุงถ้ำนั้น. จึงขนฝุ่นออกกวาดถ้ำให้สะอาด แล้วทำฝารอบด้านประกอบประตูหน้าต่าง ทำถ้ำให้มีบริเวณลาดด้วยทรายดังแผ่นเงิน ทำอย่างวิจิตร ฉาบปูนขาวจนสำเร็จเรียบร้อยเป็นอย่างดี แล้วปูเตียงและตั่งได้ถวายเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ถ้ำลึกขึ้นลงสะดวก.
               
บทว่า สูกรขาตายํ นี้ ท่านกล่าวหมายถึงถ้ำนั้น.
บทว่า ทีฆนโข เป็นชื่อของปริพาชกนั้น.
บทว่า อุปสงฺกมิ เข้าไปเฝ้า.

@@@@@@@

เพราะเหตุไร ทีฆนขปริพาชกจึงเข้าไปเฝ้า.

เล่ากันมาว่า ทีฆนขปริพาชกนั้น เมื่อพระเถระบวชได้ครึ่งเดือนคิดว่า หลวงลุงของเราไปสู่ลัทธิอื่นที่ผิดแล้วดำรงอยู่เป็นเวลานาน. แต่บัดนี้เมื่อหลวงลุงไปเฝ้าพระสมณโคดมได้ครึ่งเดือนแล้ว ประสงค์จะไปด้วยหวังว่า เราจะฟังข่าวของหลวงลุงนั้น. เราจักรู้คำสอนอันรุ่งเรืองนั้นหนอ. เพราะฉะนั้น ทีฆนขะจึงเข้าไปเฝ้า.
               
บทว่า เอกมนฺตํ ฐิโต ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.

นัยว่า ในขณะนั้น พระเถระยืน๒- ถวายงานพัดพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่. ปริพาชกด้วยมีหิริโอตตัปปะในหลวงลุง จึงยืนทูลถามปัญหา ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เอกมนฺตํ ฐิโต ดังนี้.

____________________________
๒- บาลีว่า นิสินฺโน นั่ง.

บทว่า สพฺพํ เม น ขมติ สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา คือสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ควรแก่เรา.
ปริพาชกกล่าวด้วยความประสงค์ว่าปฏิสนธิทั้งหลายไม่ควร ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เป็นอันปริพาชกนั้นแสดงว่า เราเป็นผู้มีวาทะว่าขาดสูญ.

แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงพรางความประสงค์ของปริพาชกนั้น แล้วทรงแสดงถึงโทษในความไม่ควร จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า ยาปิ โข เต ดังนี้.
               
ในบทนั้นมีความว่า แม้ความเห็นของท่านก็ไม่ควร คือ แม้ความเห็นที่ท่านชอบใจยึดถือไว้ครั้งแรกก็ไม่ควร.

บทว่า เอสา เจ เม โภ โคตม ทิฏฺฐิ ขเมยฺย ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ หากความเห็นนี้ควรแก่ข้าพเจ้า. ความว่า หากความเห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เราของเราผู้เห็นว่า เพราะสิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา พึงควรไซร้. ท่านจึงกล่าวว่า สพฺพํ เม น ขมติ สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา. แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้น. แม้ความเห็นนั้นก็ควรเหมือนความเห็นนี้แม้ถือเอาด้วยการถือเอาสิ่งทั้งปวงฉันนั้น. ปริพาชกกล่าวด้วยเข้าใจว่าเรารู้โทษที่ยกในวาทะของตนขึ้นอย่างนี้ แล้วรักษาวาทะนั้น. แต่โดยอรรถย่อมรับว่าความเห็นนั้นของปริพาชกไม่ควรแก่เราดังนี้.
               
อนึ่ง สิ่งทั้งปวงไม่ชอบใจแก่เราด้วยความเห็นนั้นของผู้ที่มีความเห็นไม่ควรไม่ชอบ เพราะเหตุนั้นจึงเป็นความเห็นที่ชอบใจ. แม้ผู้นั้นพึงเป็นผู้ไม่ควรไม่ชอบใจ เพราะเหตุนั้นจึงย่อมรับได้ว่า สิ่งทั้งปวงย่อมควรย่อมชอบใจ. แต่ปริพาชกนั้นไม่รับข้อนั้น. ย่อมถือความขาดสูญแห่งอุจเฉททิฏฐิแม้นั้นอย่างเดียวเท่านั้น.
               
@@@@@@@

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อิโต โข เต อคฺคิเวสฺสน ฯลฯ อญฺญญฺจ ทิฏฺฐึ อุปาทิยนฺติ ความว่า ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ชนในโลกผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น ดังนี้ ชนเหล่านั้นละความเห็นนั้นไม่ได้ และยังยึดถือความเห็นอื่นมากกว่า คือมากกว่าคนที่ละได้ดังนี้.
               
ในบทเหล่านั้นบทว่า อโต เป็นปัญจมีวิภัตติลงในอรรถว่าผู้ละได้. ความว่า คนเหล่าใดละได้ คนเหล่านั้นจักถามว่า คนเหล่าใดเล่าละไม่ได้. และคนเหล่านั้นแหละมีมากกว่า.
               
หิ อักษรในบทนี้ว่า พหู หิ พหุตรา มีมาก คือมากกว่า นี้เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า มากกว่า มากกว่า.
แม้ในบทว่า ตนู หิ ตนุตรา มีน้อยคือน้อยกว่า ตอนหลังก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า เย เอวมาหํสุ คือ ชนเหล่าใดกล่าวแล้วอย่างนี้.
บทว่า ตํ เจว ทิฏฺฐึ ฯลฯ อุปาทิยนฺติ ชนเหล่านั้นละความเห็นนั้นไม่ได้และยังยึดถือความเห็นอื่นนั้น คือยังละความเห็นเดิมไม่ได้ ยังยึดถือความเห็นอื่นอีก.

อนึ่ง ในบทนี้มีอธิบาย ดังต่อไปนี้
ยึดถือแม้ความเที่ยงแล้ว ก็ไม่ละความเที่ยงนั้น ไม่สามารถจะยึดถือความขาดสูญหรือ ความเที่ยงแต่บางอย่างได้. ยึดถือแม้ความขาดสูญแล้ว ก็ไม่ละความขาดสูญนั้น ไม่สามารถจะยึดถือความเที่ยง หรือความเที่ยงแต่บางอย่างได้. ยึดถือแม้ความเที่ยงแต่บางอย่างแล้วไม่ละความเที่ยงแต่บางอย่างนั้น ไม่สามารถยึดถือความเที่ยงหรือความขาดสูญได้.

อนึ่ง ไม่ละความเที่ยงเดิม สามารถยึดถือความเที่ยงอื่นได้. อย่างไร.? เพราะสมัยหนึ่งยึดถือว่ารูปเที่ยงแล้ว สมัยต่อมาไม่ยึดถือรูปล้วนๆ เท่านั้นว่าเที่ยง แม้เวทนาก็เที่ยง แม้วิญญาณก็เที่ยง. ในความขาดสูญก็ดี ในความเที่ยงแต่บางอย่างก็ดี ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. พึงเข้าใจว่าแม้ในอายตนะ ก็เหมือนในขันธ์.
               
ท่านกล่าวบทว่า ตํ เจว ทิฏฺฐึ ฯลฯ อุปาทิยนฺติ ละความเห็นนั้นไม่ได้และยังยึดถือความเห็นอื่นดังนี้ หมายถึงความข้อนี้.

@@@@@@@

พึงทราบความในวาระที่ ๒ ดังต่อไปนี้.

บทว่า อโต เป็นปัญจมีวิภัตติลงในอรรถว่ายังละไม่ได้. ความว่า ผู้ใดยังละไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจักถามว่า ผู้ใดเล่าละได้. ผู้นั้นแหละมีน้อยกว่า.
               
บทว่า ตํ เจว ทิฏฺฐึ ฯลฯ น อุปาทิยนฺติ ชนเหล่านั้นละความเห็นนั้นได้ และยังไม่ยึดถือความเห็นอื่น. ความว่า ละความเห็นเดิมนั้นได้ และไม่ถือเอาความเห็นอื่น.
               
อย่างไร.? เพราะในสมัยหนึ่งยึดถือว่า รูปเที่ยง แล้วสมัยต่อมาเห็นโทษในความเห็นนั้น แล้วละได้ด้วยคิดว่า ความเห็นของเรานี้หยาบ คือย่อมสละได้ว่า มิใช่ความเห็นว่ารูปเที่ยงอย่างเดียวเท่านั้นหยาบ เห็นว่าแม้เวทนาก็เที่ยงหยาบ แม้วิญญาณก็เที่ยงหยาบเหมือนกัน.
               
ในความขาดสูญก็ดี ในความเที่ยงบางอย่างก็ดี ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. พึงเข้าใจว่าแม้ในอายตนะก็เหมือนในขันธ์ ฉะนั้น. ด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่าละความเห็นเดิมนั้นได้ และไม่ยึดถือความเห็นอื่น.
               
บทว่า สนฺติ อคฺคิเวสฺสน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภขึ้น เพราะเหตุไรเจ้าลัทธิที่ถือว่าขาดสูญนี้ ย่อมปิดบังลัทธิของตน แต่เมื่อกล่าวคุณของลัทธินั้นจักทำลัทธิของตนให้ปรากฏ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงลัทธิที่เหลือเป็นอันเดียวกันแล้ว เพื่อทรงแสดงแยกจากกันจึงทรงปรารภเทศนานี้.
               
พึงทราบความในบทมีอาทิว่า สราคาย สนฺติเก ใกล้ข้างกิเลสอันเป็นไปกับด้วยความกำหนัด ดังต่อไปนี้. ใกล้กิเลสเครื่องยินดีในวัฏฏะด้วยอำนาจราคะ คือใกล้กิเลสเครื่องผูกในวัฏฏะ ด้วยเครื่องผูกคือตัณหาและทิฏฐิ.
               
อธิบายว่า กลืนด้วยความยินดีในตัณหาและทิฏฐิ ด้วยอำนาจแห่งตัณหาและทิฏฐินั่นเองแล้วใกล้ความยึดมั่นและความถือมั่น.
             
@@@@@@@
 
พึงทราบความในบทมีอาทิว่า วิราคาย สนฺติเก ใกล้เพื่อคลายความกำหนัดดังต่อไป

พึงทราบความโดยนัยมีอาทิว่า ใกล้เครื่องความยินดีในวัฏฏะ.
               
อนึ่ง ในบทนี้ ความเห็นว่าเที่ยงมีโทษน้อย มีความคลายช้า. ความเห็นว่าขาดสูญมีโทษมาก มีความคลายเร็ว.
อย่างไร.? เพราะผู้มีวาทะว่าเที่ยงย่อมไม่รู้โลกนี้และโลกหน้าว่ามีอยู่. ย่อมรู้ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วว่ามีอยู่ จึงทำกุศล เมื่อทำอกุศลย่อมกลัว พอใจยินดีในวัฏฏะ. อยู่เฉพาะหน้าพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้าย่อมไม่สามารถละความเห็นได้เร็ว ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าความเห็นว่าเที่ยงนั้นมีโทษน้อย คลายช้า.
               
ส่วนผู้มีวาทะว่าขาดสูญ ย่อมรู้โลกนี้โลกหน้าว่ามีอยู่. แต่ไม่รู้ผลของกรรมดีและกรรมชั่วว่ามีอยู่ จึงไม่ทำกุศล. เมื่อทำอกุศลย่อมไม่กลัว ไม่ชอบใจไม่ยินดีวัฏฏะ อยู่เฉพาะหน้าพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมละความเห็นได้เร็ว สามารถบำเพ็ญบารมีเป็นพระพุทธเจ้าได้. เมื่อไม่สามารถก็สะสมบุญบารมีเป็นสาวกแล้วนิพพาน. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ความเห็นว่าขาดสูญมีโทษมาก คลายเร็ว.
               
แต่ปริพาชกนั้นกำหนดความนั้นไม่ได้ จึงพรรณนาสรรเสริญความเห็นนั้น ครั้นกำหนดได้ว่า ความเห็นของเราดีแน่นอน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อุกฺกํเสติ เม ภวํ ท่านพระโคดมทรงยกย่องความเห็นของข้าพเจ้า.
               
บัดนี้ เพราะปริพาชกนี้เปี่ยมด้วยความเห็นว่าขาดสูญเท่านั้น ดุจน้ำเต้าขมเต็มด้วยน้ำส้ม. ปริพาชกนั้นยังทิ้งน้ำส้มไม่ได้ จึงไม่สามารถใส่น้ำมันน้ำผึ้งเป็นต้นลงในน้ำเต้า. แม้ใส่ลงไปแล้วก็ถือเอาไม่ได้ฉันใด ปริพาชกนั้นยังละความเห็นนั้นไม่ได้ จึงไม่ควรเพื่อได้มรรคผลฉะนั้น. เพราะฉะนั้นเพื่อให้ปริพาชกละทิฏฐินั้น จึงทรงเริ่มบทมีอาทิว่า ตตฺร อคฺคิเวสฺสน.

บทว่า วิคฺคโห คือ การทะเลาะ.
บทว่า เอวเมตาสํ ทิฏฺฐีนํ ปหานํ โหติ การละคืนทิฏฐิเหล่านั้นย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้ คือ ครั้นเห็นโทษแห่งการทะเลาะแล้ว จึงละทิฏฐิเหล่านั้นได้.
               
ปริพาชกนั้นคิดว่า ประโยชน์อะไรแก่เราด้วยการทะเลาะเป็นต้นนี้. จึงละความเห็นว่าขาดสูญนั้นได้.

               

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำรัสว่า เราจักให้ปริพาชกบำเพ็ญโอสถอันอมตะไว้ในหทัย ดุจบุคคลใส่เนยใสและเนยข้นเป็นต้น ลงในน้ำเต้าที่คายน้ำส้มออกแล้วฉะนั้น เมื่อจะทรงบอกวิปัสสนาแก่ปริพาชกนั้น จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า อยํ โข ปน อคฺคิเวสฺสน กาโย ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ก็กายนี้เป็นที่ประชุมมหาภูตรูปทั้ง ๔ ดังนี้.
               
ท่านกล่าวความของบทนั้นไว้แล้วในวัมมิกสูตร.
แม้บทมีอาทิว่า อนิจฺจโต ก็กล่าวไว้พิสดารแล้วในหนหลัง.
บทว่า โย กายสฺมึ ฉนฺโท ได้แก่ ความอยากในกาย.
บทว่า เสนฺโห ความเยื่อใย คือ ความเยื่อใยด้วยตัณหา.
บทว่า กายนฺวยตา คือความอยู่ในอำนาจของกาย. อธิบายว่า กิเลสอันเข้าไปสู่กาย.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงรูปกรรมฐานอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงอรูปกรรมฐานจึงตรัสว่า ติสฺโส โข เวทนา ๓ เป็นอาทิ.

เมื่อจะทรงแสดงความที่เวทนา ๓ เหล่านั้นไม่ปนกัน จึงตรัสว่า ยสฺมึ อคฺคิเวสฺสน สมเย ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ในสมัยใดเป็นอาทิ.

@@@@@@@

ความย่อในบทนั้นมีดังนี้

สมัยใด เสวยเวทนาอย่างเดียวในบรรดาสุขเวทนาเป็นต้น สมัยนั้นเวทนาอื่นชื่อว่านั่งคอยดูวาระหรือโอกาสของตนย่อมไม่มี. โดยที่แท้เวทนายังไม่เกิดหรือหายไปดุจฟองน้ำแตก.
               
บทมีอาทิว่า สุขาปิ โข ท่านกล่าวเพื่อแสดงความที่เวทนา ๓ เหล่านั้นเป็นจุณวิจุณไป.
บทว่า น เกนจิ วิวทติ ย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับใครๆ คือย่อมไม่กล่าวร่วมกันกับแม้พวกมีวาทะว่าขาดสูญว่า เราเป็นผู้มีวาทะว่าเที่ยงเพราะมีทิฏฐิว่าเที่ยง. ย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับผู้มีวาทะว่าเที่ยงบางพวกว่า เราเป็นผู้มีวาทะว่าเที่ยง เพราะถือเอาทิฏฐิว่าเที่ยงนั้นนั่นแหละ. พึงประกอบเปลี่ยนแปลงวาทะแม้ ๓ อย่างด้วยประการฉะนี้.
               
บทว่า ยญฺจ โลเก วุตฺตํ โวหารใดที่ชาวโลกพูดกัน คือพูดไปตามโวหารที่ชาวโลกพูดกัน.
บทว่า อปรามสํ ไม่ยึดถือ คือไม่ยึดถือธรรมไรๆ ด้วยการถือมั่น
               
สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า๓-
     "ภิกษุใด เป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว เพราะบรรลุพระอรหัต เป็นผู้ทรงร่างกายไว้เป็นครั้งสุดท้าย ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่าเราย่อมกล่าวดังนี้บ้าง พึงกล่าวว่าพวกเขาย่อมกล่าวกะเราดังนี้บ้าง เป็นผู้ฉลาด รู้สิ่งกำหนดรู้กันในโลกพึงพูดไปตามโวหารนั้น."

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปอีกว่า๔-
     "ดูก่อนจิตตะ ตถาคตพูดไปตามสิ่งที่รู้กันในโลก ภาษาของชาวโลก โวหารของชาวโลก บัญญัติของชาวโลก แต่ไม่ยึดถือด้วยทิฏฐิ."

____________________________
๓- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๖๕   ๔- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๓๑๒

@@@@@@@

บทว่า อภิญฺญา ปหานมาห พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญาอันยิ่ง. ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ความเที่ยงแห่งธรรมเหล่านั้นในบรรดาความเที่ยงเป็นต้นด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วจึงตรัสถึงการละความเที่ยง. ทรงรู้ความขาดสูญ ความเที่ยงแต่บางอย่างด้วยปัญญารู้ยิ่งแล้วจึงตรัสถึงการละความเที่ยงแต่บางอย่าง. ทรงรู้รูปด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วจึงตรัสถึงการละรูป พึงทราบความในบทนี้โดยนัยมีอาทิดังนี้แล

บทว่า ปฏิสญฺจิกฺขโต เมื่อพระสารีบุตรสำเหนียก คือเห็นตระหนัก.
บทว่า อนุปาทาย อาสเวหิ จิตฺตํ วิมุจฺจิ จิตพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น คือจิตพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลายอันดับแล้วด้วยความดับสนิทคือไม่เกิดอีกเพราะไม่ถือมั่น.
               
ด้วยเหตุประมาณเท่านี้ ท่านพระสารีบุตรดุจบุคคลบริโภคอาหารที่เขาตักให้ผู้อื่นแล้ว บรรเทาความหิวลงได้ เมื่อส่งญาณไปในธรรมเทศนาที่ปรารภผู้อื่นจึงเจริญวิปัสสนา ได้บรรลุพระอรหัต แทงตลอดที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณและปัญญา ๑๖ แล้วดำรงอยู่. ส่วนทีฆนขะได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วดำรงอยู่ในสรณะทั้งหลาย.

ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อดวงอาทิตย์ยังปรากฏอยู่ ทรงจบเทศนานี้ แล้วเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏ เสด็จไปพระวิหารเวฬุวันได้ทรงประชุมพระสาวก ได้มี  สันนิบาตประกอบด้วยองค์ ๔.

องค์ ๔ เหล่านี้ คือ

๑. วันนั้นเป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำประกอบด้วยมาฆนักษัตร 
๒. ภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ประชุมกันตามธรรมดาของตนๆ ไม่มีใครนัดหมายมา
๓. ภิกษุเหล่านั้นไม่มีแม้สักรูปหนึ่งที่เป็นปุถุชน หรือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสก ภิกษุทั้งหมดเป็นผู้ได้อภิญญาหกทั้งนั้น
๔. มิได้ปลงผมด้วยมีดโกนบวชแม้แต่รูปเดียว ภิกษุทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ

                                  จบอรรถกถาทีฆนขสูตรที่ ๔     





ที่มา : อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค , ทีฆนขสูตร เรื่องทีฆนขปริพาชก
URL: https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=269
Photo : pinterest
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ