ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ผ้าห่อถักทอเชื่อมสายบุญ - อนุรักษ์พระไตรปิฎกใบลาน(MPSC)  (อ่าน 481 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ผ้าห่อถักทอเชื่อมสายบุญ - อนุรักษ์พระไตรปิฎกใบลาน(MPSC)

ผ้าห่อถักทอเชื่อมสายบุญ…ผ้าลายดอกสีแดงแห้งกรอบที่เต็มไปด้วยฝุ่นและหยากไย่ถูกคลี่ออกอย่างช้า ๆ เผยให้เห็นมัดคัมภีร์ใบลานสภาพดีที่ห่อไว้ภายใน

ผ้าผืนนี้ผ่านการทำหน้าที่รักษามัดคัมภีร์ซึ่งเป็นสมบัติพระศาสนามายาวนาน ให้รอดพ้นจากฝุ่น แสงแดดความชื้นที่จะทำให้แผ่นลานและตัวจารเสื่อมสภาพและรอดจากแมลงที่จะมากัดกินแผ่นลาน

ผ้าห่อคัมภีร์ที่ทอขึ้นจากเส้นด้ายหลายเส้นให้เป็นผืนผ้าที่บอบบาง งดงาม และพลิ้วไหวนี้ จึงทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันภัยไม่ให้อันตรายใด ๆ เข้าถึงตัวมัดคัมภีร์ที่บันทึกคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

สังคมไทยในอดีตรู้จักการทอผ้ามาช้านานดั่งปรากฏในหลักฐานของจูต้ากวน เมื่อปี พ.ศ. 1839บันทึกว่า หญิงชาวสยามใช้เครื่องนุ่งห่มที่ทำจากผ้าไหมทอและผ้าแพรสีดำ และหลักฐานทางโบราณคดี2 ชิ้นที่พบในดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน

ชิ้นแรกเป็นเศษผ้าติดอยู่กับกำไลสำริดของบ้านเชียง ส่วนชิ้นที่สองเป็นเศษเส้นใยไหมพบที่บ้านนาดี อ.หนองหาน จ.อุดรธานี หลักฐานจากบันทึกและหลักฐานทางกายภาพทั้ง 2 ชิ้นบ่งชี้ว่า

ในแผ่นดินไทยมีการใช้ผ้าไหมตั้งแต่เมื่อ 3,000 ปีก่อน และทำให้สามารถสันนิษฐานเชื่อมโยงต่อไปได้ว่า สตรีไทยรู้จักการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าใช้เองภายในครัวเรือนมานานหลายพันปี



การทอผ้าถือเป็นงานศิลปะที่ต้องอาศัยประสบการณ์และฝีมือของช่างทอ เพื่อให้ได้ผืนผ้าที่มีคุณภาพและมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ยิ่งเป็นผ้าที่ใช้สำหรับชนชั้นสูงหรือในพิธีกรรมที่สำคัญยิ่งมีลวดลายและสีสันที่วิจิตรตระการตา

กระบวนการในทุกขั้นตอนจึงต้องพิถีพิถัน ตั้งแต่การเลือกชนิดใบหม่อนเพื่อเลี้ยงหนอนไหม เนื่องจากใบหม่อนต่างพันธุ์จะให้สีไหมที่แตกต่างกัน อีกทั้งสภาพแวดล้อมด้านภูมิอากาศและอุณหภูมิก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพและสีสันของเส้นด้ายเช่นกัน

กว่าจะได้เส้นไหมที่พร้อมนำมาถักทอต้องอาศัยระยะเวลาแรมเดือนแรมปี เริ่มจากการนำหนอนไหมมาเลี้ยงประมาณ 45-52 วัน กระทั่งหนอนไหมลอกคราบแล้วเริ่มชักใยหุ้มตัว ความยาวของเส้นไหมขึ้นกับหนอนไหมแต่ละตัว

บางตัวอาจผลิตเส้นใยที่สาวได้ยาวเพียง 350 เมตร แต่บางตัวก็สามารถผลิตเส้นใยที่สาวได้ยาวถึง1,200 เมตรเลยทีเดียว จากนั้นผู้เลี้ยงจะต้องเก็บรังไหมช่วงวันที่ 6 -7 ก่อนที่หนอนไหมจะเจาะรังออกมากลายเป็นผีเสื้อ

ขั้นตอนถัดมาคือการอบรังไหมให้แห้ง นำไปต้มให้รังพองตัว แล้วจึงเริ่มสาวไหม เพื่อให้ได้เส้นไหมที่เหนียวทนทานและมีประกายเงางามเหมาะสำหรับนำไปทอเป็นผืนผ้าต่อไป ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า กว่าจะได้เส้นไหมมาทอผ้าสักผืนจะต้องใช้รังไหมจำนวนไม่น้อยทีเดียว

ความรู้เรื่องการเลี้ยงไหมและทอผ้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตหญิงไทยในอดีต ซึ่งได้รับการอบรมให้มีความรู้ในงานฝีมือเย็บปักถักร้อย การบ้านการเรือนเป็นอย่างดี แต่ไม่มีโอกาสได้ศึกษาศิลปวิทยาในการเขียนอ่านเหมือนเช่นฝ่ายชาย ซึ่งมีบทบาทเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำมาหาเลี้ยงชีพ



ที่สำคัญคือมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ฝ่ายชายจะต้องบวชเรียนฝากตัวเป็นศิษย์กับพระอาจารย์เมื่อถึงเวลาอันควร ตลอดระยะเวลาที่บวชนั้น เหล่ากุลบุตรจะได้เล่าเรียนเขียนอ่านศิลปวิทยาแขนงต่าง ๆ ทางโลก ในขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาไปพร้อมกัน

ดังนั้นฝ่ายชายจึงมีความรู้ความสามารถทั้งด้านอักขระและพระพุทธศาสนาพอที่จะจารคัมภีร์ใบลานถวายไว้เป็นพุทธบูชา ซึ่งนับว่ามีอานิสงส์มากมายจะนับจะประมาณมิได้

สำหรับฝ่ายหญิงนั้น ค่านิยมของสังคมไม่สนับสนุนให้เล่าเรียนศิลปะและวิทยาการต่าง ๆ นอกจากได้รับการอบรมให้เพียบพร้อมเป็นกุลสตรีที่มีฝีมือทางด้านการบ้านการเรือน ทำให้สตรีในสมัยนั้นไม่มีความรู้ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

และยังมีข้อกำหนดมิให้สตรีจับต้องมัดคัมภีร์ใบลาน ด้วยถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่อนุญาตให้เฉพาะพระภิกษุ สามเณร และบุรุษเท่านั้นที่จับต้องได้ แม้แต่การผ่านเข้าไปในหอไตรก็เป็นเรื่องต้องห้ามเช่นกัน

แต่ด้วยแรงศรัทธาที่มีต่อพระรัตนตรัยและความปรารถนาที่จะสั่งสมบุญในการสร้างสรรค์คัมภีร์ใบลานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงจึงอาศัยความสามารถด้านหัตถกรรมที่ตนมีทอผ้าขึ้นมาเพื่อทำเป็นผ้าห่อมัดคัมภีร์ถวายเป็นพุทธบูชา




อีกแนวคิดหนึ่งกล่าวว่า การทอผ้าเพื่อห่อคัมภีร์ดังกล่าวก็เพื่อลดทอนผลแห่งกรรมที่ตนต้องคร่าชีวิตหนอนไหมเป็นจำนวนมากในการทอผ้านุ่งห่ม จึงทอผ้าห่อคัมภีร์ขึ้นเพื่ออานิสงส์ผลบุญของตัวผู้ทอเองเป็นการขอขมาและอุทิศส่วนกุศลแก่สรรพชีวิตที่ถูกทำลายไปเพราะการทอผ้านั่นเอง

ผ้าห่อคัมภีร์มีประเภทที่ทอด้วยเส้นฝ้ายหรือไหมล้วนและแบบที่มีไม้ไผ่สอดสลับ ผ้าที่ทอในแต่ละท้องถิ่นมีวิธีการในการใส่ลวดลายและมีชื่อเรียกเฉพาะแต่ละท้องถิ่น เช่น ผ้ามัดหมี่ ผ้าจก ผ้าขิด ผ้าแพรวาผ้ายกดอก เป็นต้น

ส่วนผ้าห่อแบบมีไม้ไผ่ขั้นก็สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมความเชื่อของกลุ่มคนท้องถิ่น อาทิ กลุ่มวัฒนธรรมไทยวน ไทเขิน ไทลื้อ และไทใหญ่ ที่มีความเชื่อว่า ไม้ไผ่ที่สอดสลับจะเป็นเสมือนขั้นบันไดทอดนำพาผู้ถวายสู่สวรรค์เมื่อถึงคราวละโลก

แม้ปัจจุบันธรรมเนียมการจารคัมภีร์ใบลานและการทอผ้าห่อคัมภีร์ไม่เป็นที่นิยมเช่นอดีตที่ผ่านมา ผืนผ้าที่เคยงดงามเต็มไปด้วยลวดลายและสีสันก็ซีดจางและเสื่อมสภาพไปตามอายุการใช้งาน แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปรไปคือหน้าที่ของผืนผ้าที่เก็บรักษามัดคัมภีร์ที่ห่ออยู่ภายในให้พ้นจากภัยและสิ่งสกปรกทั้งหลาย

สิ่งนี้มิได้ต่างจากใจของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายในปัจจุบัน ที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความศรัทธา และความเคารพ ที่มีต่อพระรัตนตรัยอย่างมิผันแปร และถือเป็นหน้าที่สำคัญที่จะปกป้องพระพุทธศาสนาให้แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลาย



ผ้าห่อคัมภีร์ทำหน้าที่ปกป้องมัดคัมภีร์ใบลานให้พ้นจากภัยทั้งหลายฉันใด ดวงใจของพุทธบริษัทสี่ก็หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวพร้อมปกป้องพระพุทธศาสนาให้พ้นเงื้อมมือภัยที่จ้องทำลายฉันนั้น

ผ้าห่อคัมภีร์ทำหน้าที่ปกป้องมัดคัมภีร์ใบลานให้พ้นจากภัยทั้งหลายฉันใด ดวงใจของพุทธบริษัทสี่ก็หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวพร้อมปกป้องพระพุทธศาสนาให้พ้นเงื้อมมือภัยที่จ้องทำลายฉันนั้น






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : กลุ่มอนุรักษ์และศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน (MPSC) โครงการพระไตรปิฎกวิชาการ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิสถาบันธรรมชัย #MPSC
URL : https://today.line.me/th/v2/article/XYERYek?view=topic&referral=linetodayshowcase
เผยแพร่ 1 วันที่แล้ว • อนุรักษ์พระไตรปิฎกใบลาน(MPSC)
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ