ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "อิทัปปัจจยตา" ไม่ยากที่จะเข้าใจ แต่ไม่ง่ายที่จะเข้าถึง  (อ่าน 535 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


"อิทัปปัจจยตา" ไม่ยากที่จะเข้าใจ แต่ไม่ง่ายที่จะเข้าถึง

"อิทัปปัจจยตา" อ่านว่า อิ-ทับ-ปัด-จะ-ยะ-ตา ประกอบด้วยคำว่า อิท + ปัจจย + ตา

๑) “อิท”

บาลีอ่านว่า อิ-ทะ เป็นศัพท์จำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “วิเสสนสัพพนาม” คำเดิมเป็น “อิม” (อิ-มะ) แจกรูปด้วยวิภัตติที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อิทํ” (อิ-ทัง) ลบนิคหิต จึงเป็น “อิท”

“อิท” แปลว่า “นี้” (this)

๒) “ปัจจัย”

บาลีเป็น “ปจฺจย” รากศัพท์มาจาก ปฏิ หรือ ปติ (เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ หรืออีกนัยหนึ่ง แปลง อิ ที่ ปติ เป็น ย, แปลง ตย (คือ ปตย) เป็น ปจฺจ, แปลง อิ ธาตุเป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย : ปฏิ > ปจฺจ (ปติ > ปตย > ปจฺจ) + อิ > เอ > อย : ปจฺจ + อย + อ = ปจฺจย

พิสูจน์การกลายรูปและเสียง : ลองออกเสียง ปะ-ติ-อะ-ยะ (ปฏิ + อิ) ทีละพยางค์ช้าๆ แล้วเพิ่มความเร็วขึ้นทีละน้อยจนเร็วที่สุด ปะ-ติ-อะ-ยะ จะกลายเสียงเป็น ปัด-จะ-ยะ ได้ การกลายรูปจึงมาจากธรรมชาติของการกลายเสียงนั่นเอง

“ปจฺจย” แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นแดนอาศัยเป็นไปแห่งผล” “เหตุเป็นเครื่องเป็นไปแห่งผล” มีความหมายดังนี้

    (1) อาศัย, หันไปพึ่ง, รากฐาน, เหตุ, สาเหตุ (resting on, falling back on, foundation, cause, motive)
    (2) สิ่งสนับสนุน, ของที่จำเป็น, ปัจจัย, วิถีทาง, เครื่องค้ำจุน (support, requisite, means, stay)
    (3) เหตุผล, วิธี, เงื่อนไข (reason, ground, condition)
    (4) เหตุผลสำหรับ, ความเชื่อ, ความมั่นใจ, ความเชื่อมั่น, การเชื่อถือหรืออาศัย (ground for, belief, confidence, trust, reliance)

ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ ปัจจัย, เหตุ, สาเหตุ, ที่พึ่ง, ความช่วยเหลือ ฯลฯ

“ปจฺจย” ภาษาไทยใช้ว่า “ปัจจัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

     (1) เหตุอันเป็นทางให้เกิดผล, หนทาง, เช่น การศึกษาเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ความสามารถ, องค์ประกอบ, ส่วนประกอบ, เช่น ปัจจัยในการผลิต, คํา “ปัจจัย” กับ คํา “เหตุ” มักใช้แทนกันได้.
     (2) เครื่องอาศัยยังชีพ, เครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่) คิลานเภสัช (ยา) รวมเรียกว่า จตุปัจจัย คือ ปัจจัย ๔, โดยปริยายหมายถึงเงินตราก็ได้ (มักใช้แก่ภิกษุสามเณร).
     (3) (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) ส่วนเติมท้ายธาตุหรือศัพท์เพื่อแสดงความหมายเป็นต้น. (ป.).

๓) “ตา”

เป็นคำจำพวก “ปัจจัย” ใช้ต่อท้ายศัพท์ ทำให้คำที่มี “ตา” ต่อท้ายเป็นคำนาม แปลว่า “ความ-”

คำในภาษาไทยที่เราคุ้นกันมากที่สุดคือคำว่า “ธรรมดา” คำนี้ก็คือ ธมฺม + ตา ปัจจัย = ธมฺมตา แปลว่า “ความเป็นแห่งธรรม” หรือ “ความเป็นตามธรรม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธรรมดา”

@@@@@@@

การประสมคำ :-

    ๑. อิท (อิทํ ลบนิคหิต) + ปจฺจย, ซ้อน ปฺ : อิท + ปฺ + ปจฺจย = อิทปฺปจฺจย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งนี้เป็นปัจจัย (แก่สิ่งนี้)”
    ๒. อิทปฺปจฺจย + ตา = อิทปฺปจฺจยตา แปลตามศัพท์ว่า “ความที่สิ่งนี้เป็นปัจจัย (แก่สิ่งนี้)”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลความหมายของ “อิทปฺปจฺจยตา” ว่า having its foundation in this, i. e. causally connected, by way of cause (ความมีสิ่งนี้เป็นมูลเหตุหรือเป็นปัจจัย, คือ เกี่ยวข้องกันด้วยเหตุผล, ตามวิถีทางของต้นเหตุ)

“อิทปฺปจฺจยตา” เขียนเป็นคำไทยว่า “อิทัปปัจจยตา”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [340] ปฏิจจสมุปบาท บอกความหมายของ “อิทัปปัจจยตา” ไว้ตอนหนึ่งดังนี้ 
    ปฏิจจสมุปบาทนี้ มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก ที่สำคัญคือ อิทัปปัจจยตา (ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย — Idappaccayatā: specific conditionality)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อิทัปปัจจยตา” ไว้ว่า
    “อิทัปปัจจยตา : “ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย”, ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย, กระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย, กฎที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; เป็นอีกชื่อหนึ่งของหลัก ปฏิจจสมุปบาท หรือ ปัจจยาการ”

ดูเพิ่มเติม: “ปฏิจจสมุปบาท” บาลีวันละคำ (1,726) 24-2-60


@@@@@@@

อภิปราย :-

คำว่า “อิทัปปัจจยตา” นี้มักรู้สึกกันว่าเป็นคำสูง เป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องของศาสนา ไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน ความจริง “อิทัปปัจจยตา” เป็นกฎธรรมชาติธรรมดา เป็นกฎของเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับทุกคนและทุกสิ่ง การที่บอกว่าเป็นเรื่องของศาสนา ไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง ควรจะพูดใหม่ว่า “อิทัปปัจจยตา” เป็นเรื่องของชาวบ้านโดยตรง

กฎสั้นๆ ของ “อิทัปปัจจยตา” ก็คือ ผลทุกอย่างมาจากเหตุ ทุกครั้งที่เห็นผลอะไรก็ตามเกิดขึ้น ถ้าสืบสาวไปดูก็จะต้องพบเหตุอะไรอย่างหนึ่งเสมอไป

จากกฎข้อนี้ จึงตั้งเป็นกฎต่อไปได้ว่า "ต้องการผลอย่างไร จงทำเหตุอย่างนั้น ไม่ต้องการผลอย่างไร จงอย่าทำเหตุอย่างนั้น" ความยากอยู่ตรงที่-จะรู้ได้อย่างไรว่า ทำเหตุอย่างนี้ จะส่งผลอย่างไร ต้องการผลอย่างนี้ ควรทำเหตุอย่างไร เราวัดความฉลาดหรือความโง่กันที่ตรงนี้

ดูก่อนภราดา.! คำแนะนำของคนโง่  มองโดมิโน เห็นอิทัปปัจจยตา





Thank to :-
URL : dhamma.serichon.us/2018/05/01/อิทัปปัจจยตา-ไม่ยากที่จ/
Posted Date : 1 พฤษภาคม 2018 ,By admin.
ผู้เขียน : ทองย้อย แสงสินชัย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 04, 2022, 06:29:54 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


"ปฏิจจสมุปบาท" สูงแต่ไม่ยากเกินที่จะเข้าใจ

ปฏิจจสมุปบาท อ่านว่า ปะ-ติด-จะ-สะ-หฺมุบ-บาด

“ปฏิจจสมุปบาท” รากศัพท์มาจาก ปฏิจฺจ + สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน) + อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิต ที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สม), ทีฆะ อะ ที่ ป-(ทฺ) เป็น อา (ปทฺ > ปาท), ซ้อน ปฺ ระหว่าง อุ + ปทฺ (อุ + ปฺ + ปทฺ)

@@@@@@@

อธิบายแทรก :-

“ปฏิจฺจ” (ปะ-ติด-จะ) เป็นคำกริยากิตก์ รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ตฺวา ปัจจัย, แปลง ตฺวา เป็น ย, ลง ต อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (อิ + ต + ย), แปลง ต กับ ย เป็น จฺจ : ปฏิ + อิ = ปฏิ + ต + ตฺวา > ย = ปฏิตฺย > ปฏิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “กลับมา” หมายถึง อาศัย, เนื่องด้วย, เกี่ยวกับ, เพราะ (grounded on, on account of, concerning, because)

: ปฏิจฺจ + สํ > สม = ปฏิจฺจสม + อุ = ปฏิจฺจสมุ + ปฺ + ปทฺ = ปฏิจฺจสมุปฺปทฺ + ณ = ปฏิจฺจสมุปฺปทฺณ > ปฏิจฺจสมุปฺปท > ปฏิจฺจสมุปฺปาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมเป็นแดนอาศัยเกิดขึ้นพร้อมแห่งผล” (หมายถึงสิ่งที่เป็นเหตุ คืออาศัยกันและกันเกิดขึ้น)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏิจฺจสมุปฺปาท” ดังนี้

“arising on the grounds of (a preceding cause)” happening by way of cause, working of cause & effect, causal chain of causation; causal genesis, dependent origination, theory of the twelve causes. (“เกิดขึ้นเนื่องจาก (เหตุที่มาก่อน)”, เกิดขึ้นด้วยเหตุ, การทำงานของเหตุและผล, ลูกโซ่แห่งเหตุผล; กำเนิดที่มีมาแต่เหตุ, การอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น, ทฤษฎีแห่งเหตุ 12 อย่าง)

และอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า The general formula runs thus : This being, that becomes; from the arising of this, that arises; this not becoming, that does not become; from the ceasing of this, that ceases (สูตรทั่ว ๆ ไป มีดังนี้ : เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งนั้นก็ย่อมเกิดมี ; เพราะความเกิดขึ้นของสิ่งนี้ สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น ; เมื่อไม่เป็นเช่นนี้ สิ่งนั้นย่อมไม่มี ; เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นจึงดับ)


@@@@@@@

    “ปฏิจฺจสมุปฺปาท” อ่านว่า ปะ-ติด-จะ-สะ-มุบ-ปา-ทะ
     เขียนในภาษาไทยเป็น “ปฏิจจสมุปบาท” อ่านว่า ปะ-ติด-จะ-สะ-หฺมุบ-บาด
     คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความไว้ดังนี้

ปฏิจจสมุปบาท : “การที่ธรรมทั้งหลายอาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม”, สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น, การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา มีองค์คือ หัวข้อ 12 ดังนี้

    1. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา - เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขารจึงมี
    2. สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ - เพราะสังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
    3. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ - เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
    4. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ - เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
    5. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส - เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
    6. ผสฺสปจฺจยา เวทนา - เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
    7. เวทนาปจฺจยา ตฺณหา - เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
    8. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ - เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
    9. อุปาทานปจฺจยา ภโว - เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
  10. ภวปจฺจยา ชาติ - เพราะภพ เป็นปัจจัย ชาติจึงมี
  11. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ - เพราะชาติ เป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
(12) โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ - โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงมีพร้อม

เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ - ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้

@@@@@@@

ปฏิจจสมุปบาทที่ธรรมทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กันไปตามลำดับอย่างนี้ แสดงทุกขสมุทัย คือความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ จึงเรียกว่า สมุทัยวาร (พึงสังเกตว่า คำว่า สมุปบาท กับสมุทัย มีความหมายเหมือนกันว่า ความเกิดขึ้นพร้อม), เมื่อทุกข์เกิดขึ้นอย่างนี้ การที่จะดับทุกข์ ก็คือ ดับธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์

ดังนั้น ท่านจึงแสดงกระบวนธรรมแบบที่ตรงข้ามไว้ด้วย คือ ปฏิจจสมุปบาทที่ธรรมอันเป็นปัจจัยดับต่อๆกันไป (เริ่มตั้งแต่ว่า “เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ, เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ”) เป็นการแสดงทุกขนิโรธคือความดับไปแห่งทุกข์ จึงเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทแบบ นิโรธวาร

ปฏิจจสมุปบาทนี้บางทีเรียกกันว่า “อิทัปปัจจยตา” (ทิ-ทับ-ปัด-จะ-ยะ-ตา) สรุปใจความที่เป็นหลักว่า
“เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี” หรือ “กฎแห่งเหตุผล”
 
ดูก่อนภราดา.! การพูดกันด้วยเหตุผล เป็นสิ่งที่ดี แต่การใช้เหตุผลกับคนไม่มีเหตุผล เป็นสิ่งที่เหนื่อยเปล่า





Thank to : https://dhamtara.com/?p=6678
บทความของครูทองย้อย , 24 กุมภาพันธ์ 2017
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 04, 2022, 06:50:09 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ