ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บันทึก “สมเด็จเจ้าเกาะยอ” มหาศรัทธา..ประเพณีแห่ผ้า  (อ่าน 246 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


บันทึก “สมเด็จเจ้าเกาะยอ” มหาศรัทธา..ประเพณีแห่ผ้า

“ประเพณีแห่ผ้า” ขึ้นเขากุฏิของชาวบ้านตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีคุณค่าทางด้านความเชื่อ เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับศาสนพิธี การประกอบพิธีกรรม ความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับวิญญาณบรรพบุรุษ ความเชื่อเกี่ยวกับพระรัตนตรัย

โดยการแสดงออกถึงความเคารพ ความศรัทธาต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีความสำคัญเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ในการประกอบพิธีแห่ผ้าขึ้นเขากุฏิ “ชาวบ้าน”...มีความเชื่อว่าการกราบไหว้ “องค์พระเจดีย์เขากุฏิ” หรือการกราบไหว้ “สมเด็จเจ้าเกาะยอ” เปรียบเสมือนการได้กราบไหว้บูชาพระพุทธองค์

“การนำผ้าขึ้นห่มองค์พระเจดีย์เขากุฏิเปรียบเสมือนการได้ใกล้ชิดองค์พระสัมมา สัมพุทธเจ้า จะทำให้ประสบแต่สิ่งที่ดีงามเป็นมงคลต่อตนเองและครอบครัว”



พิธีจะเริ่มเวลา 09.00 น. ชาวบ้านตั้งขบวนแห่ ณ บริเวณศาลาพ่อท่าน ขบวนแห่ประกอบด้วยรถที่ตกแต่งด้วยเบญจา รถขบวนกลองยาว รถชาวบ้านที่มาร่วมขบวน...แห่เคลื่อนไปบริเวณเชิงเขากุฏิ ขบวนจะแห่ผ้าพระบฏ...ผ้าที่เขียนรูปพระพุทธเจ้าหรือเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าขึ้นไปยังลานประทักษิณ

ชาวบ้านที่รออยู่ก่อนแล้วจะนำสิ่งของทั้งหมดในขบวนมาไว้ในบริเวณพิธีเพื่อเตรียมทำพิธีต่อไป

“ประเพณีแห่ผ้า” จะทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6...ชาวบ้านเกาะยอมีความเชื่อกันว่าเป็นการบูชาองค์สมเด็จเจ้าเกาะยอ เมื่อขบวนมาถึงลานพร้อมแล้วก็จะเริ่มแห่ผ้าเวียนประทักษิณสามรอบ พระสงฆ์ก็สวดเจริญพระพุทธมนต์ด้วยบทสวดชัยปริตร เพื่อความเป็นสิริมงคล...ผู้ชายที่ได้รับคัดเลือก 5 คน ต้องสวมชุดขาว


เนื่องจากมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า...ผู้ที่สวมชุดขาวถือว่าเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ขึ้นไปนำผ้าห่มองค์พระเจดีย์เขากุฏิ แล้วนำผ้าผืนเก่านำลงมาเก็บไว้ ผ้าผืนใหม่จะต่อสายสิญจน์มุมผ้าทั้งสี่ด้านให้มีจำนวนหลายๆเส้น ผูกโยงจับไว้ เพื่อให้ชาวบ้านที่มาร่วมพิธีมีโอกาสเสมือนได้ร่วมถือผ้าห่มองค์พระเจดีย์ด้วย

พิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์เสร็จสิ้นก็เริ่มพิธีห่มผ้าสมเด็จเจ้าเกาะยอ...ผู้ชายชุดขาวจะนำผ้ามาห่ม ซึ่งชาวบ้านนำมาห่มเพื่อการแก้บนต่อสมเด็จเจ้าเกาะยอออกทั้งหมด ประธานพิธีนำผ้าทอเกาะยอสีเหลืองผืนแรกห่มสมเด็จเจ้าเกาะยอ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกในลำดับแรก

นำผ้าทอสีเหลืองอีก 3 ผืน ห่มพระพุทธรูปจนครบทั้ง 4 ทิศ...ถัดมาประธานนำผ้าทอสีเขียว 1 ผืน ห่มรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลหนึ่งตน หลังจากนั้นผู้ชายชุดขาวก็จะนำผ้าทอสีเขียวทั้ง 3 ผืน ขึ้นห่มรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลจนครบ และนำผ้าทอสีชมพูขึ้นห่มรูปปั้นเทพนม...บนฐานชั้นสององค์พระเจดีย์ครบทั้ง 4 ทิศ

O O O

“สมเด็จเจ้าเกาะยอ” ได้รับการบันทึกข้อมูลประวัติจากการถ่ายทอดบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า สมเด็จเจ้าเกาะยอได้เดินทางจากกรุงศรีอยุธยา เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา การเดินทางต้องเดินทางเท้าผ่านป่า ภูเขา แม่น้ำ ลำคลองและอุปสรรคมากมาย

ท่าน...เดินทางจาริกธุดงควัตร เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาจนถึงเกาะยอ ชาวบ้านจึงได้สร้างกุฏิให้ท่านใช้เป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาบนภูเขา ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในเกาะยอ

ชาวเกาะยอเรียกภูเขานี้ว่า “เขากุฏิ”

ภูเขาแห่งนี้เป็นที่ตั้งกุฏิของสมเด็จเจ้าเกาะยอ จากสภาพพื้นที่เกาะยอมีน้ำล้อมรอบ การเดินทางมาต้องอาศัยเรือเท่านั้น สภาพบนเกาะยอเป็นภูเขาที่มีป่าปกคลุม การเดินทางค่อนข้างลำบาก เมื่อสมเด็จเจ้าเกาะยอเดินทางเข้ามาเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาอบรมสั่งสอนให้ชาวเกาะยอ ประพฤติตนเป็นคนดี



ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา จนเป็นที่พึ่งทางจิตใจสำหรับชาวเกาะยอทุกคน จากการที่ชาวบ้านเชื่อว่าสมเด็จเจ้าเกาะยอเดินทางจากกรุงศรีอยุธยามาเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดเส้นทางจนมาถึงเกาะยอ ที่มีสภาพพื้นที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม

จึงได้พำนักอาศัยบนเขากุฏิและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับชาวเกาะยอ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตท่านได้มรณภาพลง ชาวเกาะยอและสานุศิษย์จึงได้ก่อสร้างเจดีย์เขากุฏิเพื่อบรรจุอัฐิของสมเด็จเจ้าเกาะยอ โดยสร้างเจดีย์แบบจตุรมุขย่อมุมไม้สิบสอง พร้อมกับสร้างรูปเคารพสมเด็จเจ้าเกาะยอเป็นพระพุทธรูป 4 องค์ ประดิษฐานไว้ที่จตุรมุขทั้งสี่ด้านของพระเจดีย์เขากุฏิ เพื่อระลึกถึง... จากความเคารพและความศรัทธาที่มีต่อท่าน

ก่อให้เกิดพิธีกรรมเพื่อบูชา “สมเด็จเจ้าเกาะยอ” โดยจัดประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฏิเป็นประจำทุกปี เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา ซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ข้อมูลข้างต้นทั้งหมดนี้คัดลอกมาจาก “ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้” (https://clib.psu.ac.th/southerninfo)

O O O

เล่ากันว่า...ในอดีตชาวบ้านจะเห็นเป็นดวงไฟที่ปรากฏขึ้นในยามค่ำคืนลอยออกมาจากเขากุฏิ ทําให้ชาวบ้านเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่บนนั้น จึงมีการจัดประเพณีแห่ผ้าขึ้นไปเพื่อบูชา

แต่ก่อนจะมีการรับหนังตะลุงมาเล่นภายในงานด้วย โดยเฉพาะหนังยอศิลป์ ซึ่งเป็นศิลปินชาวเกาะยอในอดีต แต่พอนายหนัง เสียชีวิตก็ไม่มีผู้สืบทอด



ชาวบ้านมีความศรัทธาและเชื่อกันว่า “พิธีแห่ผ้า” นั้น เมื่อทําแล้วก่อให้บังเกิดผลดีแก่ตัวเอง จึงมีจิตศรัทธาทําต่อๆกันตลอดมา เมื่อก่อนประเพณีนี้จะรู้จักแค่ภายในเกาะยอ แต่ปัจจุบันด้วยสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้สังคมได้รับรู้ไปทั่วทั้งในและต่างประเทศ...

พิธีกรรมบางอย่างที่สูญหายไปบ้างแล้ว เช่น การละเล่นหนังตะลุงภายในงานจะเริ่มหายไปแต่ก็มีการเพิ่มพิธีกรรมเข้ามา เช่น การแห่ผ้ามาจากต่างที่ต่างถิ่นทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

“หลวงปู่ทวดองค์ใหญ่” วัดพระยาสุเรนทร์ ถ.พระยาสุเรนทร์ แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ เป็นอีกศูนย์รวมศรัทธาที่ผู้คนเข้ามาสักการะกราบไหว้ขอพรไม่ขาดสาย

เรียกได้ว่า...มาขอกันทุกๆเรื่อง และในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ เวลา 09.27 น. ขอเชิญร่วมบุญใหญ่ทอดผ้าป่า “ห่มผ้าองค์ปู่ทวด” ปัจจัยทั้งหมดเพื่องานบูรณะ “องค์หลวงปู่ทวด” บุญกุศลหนุนนำทำมาค้าขายราบรื่น คิดดี ทำดี พูดดี ผ่อนหนักให้เป็นเบา

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

             รัก–ยม



ขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2471592
14 ส.ค. 2565 06:56 น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 14, 2022, 10:44:37 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ