ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: หลักอริยสัจ 4 กับ กรรม | หว่านพืชชนิดใด ย่อมได้ผลชนิดนั้น  (อ่าน 2761 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



หลักอริยสัจ 4 กับ กรรม | หว่านพืชชนิดใด ย่อมได้ผลชนิดนั้น

พระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าทรงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กรรมวาท” (กล่าวหรือสอนเรื่องกรรม) ทรงเรียกพระองค์เองในบางครั้งว่า “กรรมวาที” (ผู้สั่งสอนเรื่องกรรม) นั่นก็หมายความว่า คำสอนของพระพุทธองค์ไม่ว่าจะสอนเรื่องอะไร ทรงเน้นไปที่ “กรรม” ทั้งนั้น

กรรมคือ การกระทำด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่ ดังที่เคยบอกให้ทราบแล้วนั่นแหละครับ พูดให้เข้าใจง่ายก็ว่า เราอยากจะได้อะไร อยากจะเป็นอะไร ต้องทำเอาเอง วิถีชีวิตของเราจะไปดี หรือไม่ดีอย่างไร ขึ้นอยู่กับ “กรรม” (การกระทำ) ของเราเอง ถ้าเราทำเหตุปัจจัยไว้ไม่ดี ผลก็ออกมาไม่ดี ถ้าเราทำเหตุปัจจัยไว้ดี ผลก็ออกมาดี ดังพุทธวจนะว่า
     "หว่านพืชชนิดใด ย่อมได้ผลชนิดนั้น ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว"

ในพระสูตรหลายแห่ง ได้พูดถึงคนจำนวนมากชอบแต่จะอ้อนวอน บวงสรวงโดยไม่คิดที่จะกระทำ อย่างเช่นพวกคนอินเดียสมัยโบราณที่เชื่อว่าพระเจ้าของพวกเขาจะช่วยดลบันดาลให้ดังปรารถนา จึงพากันสวดอ้อนวอนบ้าง ทำพิธีเซ่นสรวงอย่างใหญ่โตบ้าง

พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า การกระทำเช่นนั้น ไม่ช่วยให้คนพวกนั้นได้รับสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ เพราะพวกเขามิได้ “ทำ” เหตุปัจจัยที่จะอำนวยผลที่ต้องการ

พระองค์ทรงยกอุปมาอุปไมยมาเปรียบเทียบให้ฟังว่า กระทาชายคนหนึ่งปรารถนาจะข้ามฟาก แทนที่จะเสาะแสวงหาเรือหรือแพที่จะพาเขาข้ามฝั่งได้ก็ไม่ทำ กลับนอนคลุมโปงอยู่บนฝั่งนี้เสีย กระทาชายนายนี้ก็ไม่มีวันจะข้ามฝั่งได้ กระทาชายอีกนายหนึ่ง ปรารถนาจะข้ามฝั่งเช่นกัน ลงนั่งประนมมือ สวดอ้อนวอนขอร้องให้ฝั่งโน้นมาหาเขา มารับเขาข้ามน้ำ ต่อให้สวดจนคอแหบคอแห้ง กระทาชายนายนี้ก็ไม่สามารถข้ามฝั่งได้เช่นเดียวกัน

ทุกอย่างเราต้อง “ทำ” เอาเอง ด้วยความพากเพียรของเรา ต้องสร้างเหตุปัจจัยที่จะอำนวยผลในทางที่ต้องการ มิใช่หวังแต่จะได้ผลโดยไม่สร้างเหตุปัจจัยที่สอดคล้อง หวังอย่างนี้แหละครับที่โบราณไทยเราเรียกว่า “หวังลมๆ แล้งๆ”

@@@@@@@

เราหวังจะกินมะม่วงอกร่องที่เอร็ดอร่อย วิธีจะให้สมหวังอย่างง่ายๆ ก็ไปหาซื้อมันมาจากตลาด เลือกเอาที่ดีที่สุด หวานที่สุดตามต้องการ อย่างนี้รับรองได้กินแน่นอน

อีกวิธีหนึ่ง (ยากหน่อย ใช้เวลานานหน่อย) คือไปหาเมล็ดมะม่วงพันธุ์อกร่องมาเพาะปลูกไว้ที่หน้าบ้านหรือหลังบ้าน หมั่นดูแลรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ยอย่างดี เมื่อต้นมะม่วงมันโตแล้ว ไม่กี่ปีก็จะผลิดอกออกผลให้เราเก็บกินได้ตามต้องการ

อย่างนี้แหละครับ ที่พระพุทธศาสนาท่านว่า สร้าง “เหตุปัจจัย” ที่สอดคล้องกับผลที่เราต้องการ เราจึงได้รับผลตามปรารถนา แต่ถ้าเราไม่ “ทำ” อย่างนั้นล่ะ สมมุติว่าเราอยากกินมะม่วง แต่เราสวดมนต์อ้อนวอนทุกวันๆ “เจ้าประคู้ณ ขอมะม่วงอกร่องรสหวานอร่อยมาให้เรากินเถิด” มะม่วงมันไม่มีขา มันจะมาให้เรากินได้อย่างไร! คนทำอย่างนี้ ใครรู้เข้า เขาก็จะหาว่าไม่บ้าก็เมาเท่านั้นเอง

หลักกรรมของพระพุทธเจ้า ความจริงเป็นเรื่องเข้าใจง่าย เพียงแต่เราทำในใจอยู่เสมอว่า กรรมคือการลงมือทำด้วยตัวเอง กรรมมิใช่ “กฎ” ลึกลับมหัศจรรย์พันลึกอะไร อย่างที่เข้าใจผิดกันเป็นส่วนมาก ไม่ว่าพระพุทธองค์จะทรงสอนเรื่องอะไร ก็จะทรงเน้น “กรรม” ไว้ด้วยเสมอ ไม่พูดตรงๆ ก็ “แฝงไว้” ให้รู้กันเอง

    ยกตัวอย่างหลักคำสอนที่เราเรียกกันว่า “หัวใจพระพุทธศาสนา”
   "การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การยังกุศล (ความดี) ให้ถึงพร้อมมการทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"
    เน้นตรงไหนครับ เน้นที่ “การกระทำ” ไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำกุศลให้พร้อม และทำจิตให้ผ่องใส หลักกรรมก็ “แฝง” อยู่ในพระโอวาทนี้ ถ้าเราไม่พินิจพิจารณาก็อาจไม่ทราบได้


@@@@@@@

ทีนี้ลองมาดูหลักอริยสัจ 4 ว่าเกี่ยวกับกรรมอย่างไร.?
ตามที่เราทราบดีแล้ว อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และนำมาสอนชาวโลกคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

- ทุกข์ ก็คือปัญหาของชีวิต ทรงสอนว่าโลกนี้มีปัญหาสารพัด นับตั้งแต่ปัญหาเล็กๆ ไปจนกระทั่งปัญหาใหญ่ที่สุด เรียกว่าปัญหาตั้งแต่ “ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ” ว่าอย่างนั้นเถอะ
- สมุทัย ก็คือสาเหตุของปัญหา ปัญหามิได้มีขึ้นมาลอยๆ มันต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิด
- นิโรธ คือการหมดปัญหา ภาวะไร้ปัญหาโดยสิ้นเชิง ปัญหามีได้ก็ย่อมหมดไปได้
- มรรค คือวิธีการแก้ปัญหา การจะให้ปัญหาหมดไปก็ต้องมีวิธีการแก้ไข ไม่ใช่อยู่เฉยๆ มันจะหมดไปเอง

หลักอริยสัจ 4 นี้เน้นอะไรครับ เน้นว่า “เราต้องใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา” หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า อริยสัจ 4 คือหลักว่าด้วยการรู้จักแก้ปัญหาด้วยปัญญา คุณธรรมที่เด่นในหลักธรรมนี้ก็คือ ปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ

ถ้าไม่มีความรู้ ความเข้าใจ แก้ปัญหาได้ไหม.?
ไม่ได้ดอกครับ ขืนแก้ไปทั้งๆ ที่ไม่รู้ มีแต่ทางผูกปมปัญหาให้ยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น ไม่ต่างอะไรกับลิงติดตัง เห็นเขาเอาตัง (ยางเหนียวสำหรับดักสัตว์) มาวางไว้ เอามือซ้ายจับ มือซ้ายติด มือขวาจับ มือขวาก็ติด เอาเท้าซ้ายถีบ เท้าซ้ายก็ติด เอาเท้าขวาถีบ เท้าขวาก็ติด เอาปากกัด ปากก็ติด ผลที่สุดก็ “ติดตัง” ดิ้นอย่างน่าสงสาร ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ

@@@@@@@

ในนิทานชาดกเรื่องมโหสถชาดก ได้เล่าถึงเด็กน้อยโพธิสัตว์ชื่อมโหสถ เป็นคนฉลาดมาก จนกระทั่งพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบกิตติศัพท์ ให้ปุโรหิตมาดูพฤติการณ์ของเด็กน้อย พอพิสูจน์ได้ว่าเด็กน้อยฉลาดเหนือคนธรรมดาจริงๆ จึงเชิญไปอยู่ในวัง เมื่อโตมามโหสถก็ได้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น

เด็กน้อยมโหสถได้ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาของชาวบ้านหลายครั้งเป็นที่อัศจรรย์ ครั้งหนึ่งมีเหยี่ยวมาโฉบเอาเนื้อที่ชาวบ้านเขาตากแดดไว้ พวกเด็กๆ และผู้ใหญ่ในหมู่บ้านต่างก็ร้องบอกต่อๆ กัน พากันวิ่งไล่เหยี่ยว สะดุดตอไม้บ้าง ก้อนดินบ้าง หกล้มได้รับบาดเจ็บคนละเล็กละน้อย แถมยังไม่ได้เนื้อคืนอีกต่างหาก

เด็กน้อยมโหสถไตร่ตรองดูแล้ว เห็นว่าวิธีการไล่เหยี่ยวของชาวบ้านไม่ถูกต้อง วันหนึ่งเหยี่ยวตัวเดิมมาเอาเนื้อชาวบ้านไปอีก มโหสถจึงวิ่งไล่เช่นเดียวกับชาวบ้าน แต่มโหสถมิได้วิ่งไปแหงนหน้าดูเหยี่ยวไปเหมือนคนอื่น

เธอก้มมองดูเงาเหยี่ยวที่พื้นดิน วิ่งไล่ตามเงาเหยี่ยวไปจนทัน พอทันเงาแล้วก็เงยหน้าขึ้น ปรบมือ ตะโกนร้องเสียงดัง จนกระทั่งเหยี่ยวมันตกใจ ปล่อยก้อนเนื้อที่คาบอยู่ลงมา เป็นอันว่าเจ้าของเนื้อได้เนื้อคืน เพราะเด็กน้อยมโหสถได้ใช้ปัญญาแก้ปัญหา


@@@@@@@

อีกคราวหนึ่ง มีผู้หญิงสองคนแย่งลูกกัน นัยว่าคนหนึ่งเป็นนางยักษิณีแปลงกายมา ชาวบ้านมามุงดูกลุ่มใหญ่ หญิงสาวสองคนต่างก็เถียงว่าตนเป็นแม่ เด็กน้อยเป็นลูกชายของตน ไม่มีผู้ใดตัดสินได้ เพราะไม่รู้ว่าใครแม่แท้ ใครแม่เทียม

มโหสถมาพบเข้าพอดี อาสาตัดสินความให้ วิธีของมโหสถก็คือ ให้หญิงสาวทั้งสองจับเด็กคนละข้าง คนหนึ่งจับเท้า คนหนึ่งจับหัว แล้วดึง ใครดึงได้ คนนั้นแหละเป็นแม่

หญิงทั้งสองต่างก็ดึงเด็ก เด็กเจ็บก็ร้องไห้ลั่น ผู้เป็นแม่สงสารลูก จึงปล่อยมือยืนร้องไห้สะอึกสะอื้น อีกคนได้เด็กแล้วก็ยิ้มอย่างดีใจ พร้อมร้องว่า “เห็นไหม ฉันบอกว่าฉันเป็นแม่ก็ไม่เชื่อ”

มโหสถกล่าวว่า ท่านมิใช่แม่ของเด็ก คนที่ยืนร้องไห้นั่นต่างหากเป็นแม่ เพราะแม่ที่แท้จริงย่อมสงสารลูก เห็นลูกเจ็บปวดทนไม่ได้ จึงวางมือ นางยักษิณีหลงกลมโหสถ ก็สำแดงตัวแล้วก็หนีไป หญิงสาวก็ได้ลูกของตนคืน เพราะมโหสถใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาให้

@@@@@@@

สรุปตรงนี้ก็คือ หลักอริยสัจ 4 ก็คือ หลักแห่งการใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาชีวิต
เขียนมาจนจะจบแล้ว ท่านอาจถามขึ้นว่า แล้วมันเกี่ยวกับหลักกรรมอย่างไร.?
ก็ขอตอบว่า หลักกรรมก็ “แฝง” อยู่ในนี้แหละครับ

พิจารณาให้ดีก็จะเห็นการแก้ปัญหานั้น ถ้ามีแต่ปัญญาความรู้ความเข้าใจอย่างเดียวแก้สำเร็จไหมครับ ขอถามหน่อยเถอะ สมมุติว่าคุณติดบุหรี่อย่างงอมแงม ตอนหลังคุณคิดได้ว่าบุหรี่นี้มีโทษมากมาย ทำให้เป็นมะเร็งในปอด ทำให้เป็นโรคถุงลมโป่ง…อะไรสารพัด

คุณรู้ว่ามันมีโทษมากมาย แต่ไม่ “ลงมืออด” บุหรี่ด้วยตัวคุณเอง คุณจะอดบุหรี่ได้ไหมครับ
ผมตอบแทนก็ได้ อดไม่ได้แน่นอน ทั้งๆ ที่คุณรู้นั่นแหละ แต่รับรองอดไม่ได้ เพราะคุณไม่ได้ลงมืออดจริงๆ

นี่แหละครับ ปัญญาอย่างเดียวแก้ไม่ได้ ต้องลงมือทำจริงๆ การกระทำนั่นไง คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า กรรมล่ะ กรรม (การกระทำ) จึงเกี่ยวข้องกับหลักอริยสัจ 4 ด้วยประการฉะนี้แล “โยมหยิน” (รวมถึง “โยมหยาง” ด้วย)






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 สิงหาคม 2561
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน   : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2561
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_124162
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ