ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ตักบาตรตีสี่ "ประเพณีออกหว่า" ชวนตรึงตรางานออกพรรษาไทใหญ่แห่ง "แม่สะเรียง"  (อ่าน 845 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28419
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ภายในเมืองแม่สะเรียงมีการประดับโคมสวยงามในช่วงวันออกหว่า บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์แม่สะเรียงก็เช่นเดียวกัน


ตักบาตรตีสี่ "ประเพณีออกหว่า" ชวนตรึงตรางานออกพรรษาไทใหญ่แห่ง "แม่สะเรียง"

        ในช่วงนี้งานบุญที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปสดๆ ร้อนๆ ก็คืองานออกพรรษา ที่พี่น้องพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศต่างก็พร้อมใจกันจัดงานบุญกันมากมาย ซึ่งประเพณีในแต่ละแห่งก็มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป อย่างเช่น “งานประเพณีออกหว่า” หรืองานออกพรรษาของชาวไทใหญ่ก็เป็นงานที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
       
       ในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ก็มีการจัดงานประเพณีวันออกหว่าอย่างน่าสนใจด้วยเช่นกัน
       
       ชาวไทยใหญ่มีความเชื่อเกี่ยวกับวันออกหว่านี้ว่า ในสมัยพุทธกาล หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาพร้อมทั้งเหล่าเทพยดาและพระพรหมบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตลอดระยะเวลาในพรรษา 3 เดือน และได้เสด็จกลับมายังมนุษย์โลกในวันเพ็ญเดือน 11 หรือในวันออกพรรษา ทั้งบรรดามนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายต่างก็มารับ ที่มาไม่ได้ก็ได้จัดทำ “จองพารา” หรือที่ภาษาไทใหญ่เรียก “จองเข่งต่างส่างปุ๊ด” หรือซุ้มปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้า



ชาวเมืองแม่สะเรียงออกมารอตักบาตรพระสงฆ์
       

พระสงฆ์เริ่มเดินบิณฑบาตตั้งแต่ตีสี่

        ในวันนั้นทุกภพทุกภูมินับตั้งแต่พรหมโลกจนถึงนรกอเวจีได้ถูกเปิดให้มองเห็นถึงกันหมด บรรดาสัตว์ป่าหิมพานต์เช่น กิงกะหล่า (กินรี, กินนร) นะกา (นาค) กะหรุ่ง (ครุฑ) ยักคะ (ยักษ์) กั่นตัปป้ะ (คนธรรพ์) ผีลู ผีพราย ส่างซี (สิงห์โต) และสัตว์ต่างๆ ต่างก็ออกมาชื่นชมพระบารมีของพระพุทธเจ้า ขณะที่รัศมีแสงแห่งฉัพพรรณรังสีกระจายส่องไปยังจองพาราและซุ้มราชวัติ (ซุ้มไม้ไผ่สานขัดแตะและตกแต่งด้วยต้นกล้วยต้นอ้อยและโคมไฟเพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า) ที่พุทธศาสนิกชนได้ประดับตามบ้านเรือนเพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข จนเป็นที่ชื่นชมโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนจึงพร้อมใจกันถวายภัตตาหาร โดยได้ทำบุญตักบาตรแด่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาจากดาวดึงส์
       
       สำหรับงานประเพณีออกหว่าที่อำเภอแม่สะเรียงแห่งนี้ นายอินทร นันทสมบูรณ์ รองนายกเทศมนตรีตำบลแม่สะเรียง และนายประพันธ์ วิริยะภาพ หัวหน้าหน่วยจัดอำเภอแม่สะเรียง วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน เล่าให้ฟังว่า



หน้าบ้านและสถานที่สำคัญต่างก็ตกแต่งด้วยโคมและราชวัติ
       

หน้าบ้านของชาวเมืองแม่สะเรียงตกแต่งด้วยโคมอย่างงดงาม

        “ที่แม่สะเรียงเราจะมีการทำบุญตักบาตรในวันออกหว่า 3 วันด้วยกัน คือวันขึ้น 14-15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 โดยจะมีพระภิกษุ-สามเณรจากวัดต่างๆ ในอำเภอแม่สะเรียงออกรับบิณฑบาตตามถนนสายต่างๆ ตั้งแต่ตีสี่ โดยการตักบาตรวันแรกจะเป็นการตักบาตรอาหารปรุงสุก ส่วนอีกสองวันจะเป็นการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง”
       
       “ชาวบ้านจะออกมารอใส่บาตรที่หน้าบ้านของตัวเอง ที่บริเวณซุ้มราชวัติหรือซุ้มไม้ไผ่สานขัดแตะ ประดับต้นกล้วยต้นอ้อยและโคมไฟต่างๆ ที่แต่ละบ้านทำขึ้น โดยการตักบาตรวันออกพรรษาของคนที่แม่สะเรียงจะไม่เหมือนที่อื่น เช่นในเมืองแม่ฮ่องสอนที่พระสงฆ์จะเดินเป็นแถวยาวลงมาจากดอยกองมู หรือที่อื่นๆ ที่พระเดินเรียงเป็นแถวยาว แต่ชาวบ้านที่แม่สะเรียงบอกว่า เขาอุตส่าห์ทำราชวัติประดับโคมสวยงาม จึงขอตักบาตรที่หน้าบ้านตนเอง ที่นี่จึงไม่มีพระเดินเรียงแถวยาวเป็นร้อยๆ รูป แต่พระจากวัดต่างๆ จะเดินไปตามถนนผ่านบ้านเรือนต่างๆ สวนกันไปมาบ้าง และชาวบ้านก็จะรออยู่หน้าบ้านบริเวณซุ้มราชวัติ รอตักบาตรพระสงฆ์ อีกอย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนที่อื่นคือที่นี่ตักบาตรกันตั้งแต่ตีสี่ ที่อื่นอาจจะต้องให้สว่างมองเห็นลายมือก่อน แต่ที่นี่เป็นความเชื่อทางเหนือที่เชื่อว่าพระอุปคุตจะออกจากฌานมาบิณฑบาตที่โลกมนุษย์โดยจะแปลงกายเป็นเณรน้อยออกบิณฑบาตรตั้งแต่ก่อนฟ้าแจ้ง” นายอินทร กล่าว



นอกจากตกแต่งด้วยโคมแล้วยังมีการจุดพลุ ประทัด และไฟเย็นกันอย่างสนุกสนาน
       

การทำต้นผึ้งและหมากเบงเพื่อร่วมในขบวนแห่ตานเทียนเหงของวัดทุ่งแล้ง ใน อ.แม่สะเรียง

        และนายประพันธ์ยังเล่าเสริมว่า “ชาวบ้านที่นี่เชื่อว่าการทำราชวัติเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้าจะได้อานิสงส์แรง อีกทั้งเมื่อก่อนนี้ราชวัติยังมีไว้เพื่อปักเพื่อกั้นระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาส โดยเฉพาะผู้หญิงเมื่อก่อนนี้จะต้องอยู่ด้านหลังราชวัติแล้วเอื้อมมือมาตักบาตรพระ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้ทำอย่างนั้นแล้ว แต่ทุกบ้านก็ยังมีราชวัติอยู่ และเมื่อก่อนนี้ไม่มีไฟฟ้า การตักบาตรต้องอาศัยแสงจากไม้เกี๊ยะหรือไม้สน เอามารวมเป็นมัดแล้วจุดไฟปักไว้ อีกทั้งที่อื่นจะตักบาตรกันแค่วันเดียว แต่เราตักบาตร 3 วัน เมื่อก่อนตักด้วยข้าวสุกและอาหารปรุงสุก แต่ตอนนี้ตักอาหารแห้งด้วยในสองวันสุดท้ายเพื่อให้พระสงฆ์เก็บอาหารไว้ฉันได้ต่อไป” นายประพันธ์กล่าว
       
       นอกจากนั้น อีกหนึ่งประเพณีสำคัญในช่วงวันออกหว่านั้นก็คือ “ประเพณีหลู่เตนเหง” หรือ “ตานเทียนเหง” ซึ่งหมายถึงประเพณีการถวายเทียนพันเล่ม (หลู่เป็นภาษาไทใหญ่แปลว่าถวาย หรือให้ทาน ตรงกับคำว่า “ตาน” ในภาษาคำเมือง ส่วนเตน หมายถึงเทียน และเหง หมายถึงหนึ่งพัน) เป็นความเชื่อของชาวไทใหญ่ว่าการที่ชาวพุทธได้ถวายเทียนพันเล่มเพื่อบูชาพระรัตนตรัยนั้นจะทำให้การดำรงชีวิจมีแต่ความรุ่งโรจน์สว่างไสวตลอดไป ทั้งนี้แต่ละชาวบ้านแต่ละคุ้มวัดจะช่วยกันเตรียมข้าวของเพื่อนำมาถวายวัด ได้แก่ เทียนไข 1,000 เล่มขึ้นไป สวยดอก หรือกรวยดอกไม้ 1,000 กรวยขึ้นไป ต้นผึ้ง หมากเบง ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง และจตุปัจจัยไทยธรรมจำนวนชุดตามจำนวนเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ที่ได้นิมนต์ไว้



เทียนพันเล่มและกรวยดอกไม้ถูกเตรียมไว้เรียบร้อย
       

กิงกะหล่าน้อยในขบวนแห่ตานเทียนเหง

        นายอินทรเล่าว่า ปกติแล้วประเพณีตานเทียนเหงจะมีการแห่ในวันใดวันหนึ่งในช่วงวันแรม 1-15 ค่ำ เดือน 11 ปัจจุบันจึงจัดให้มีขบวนแห่ทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ในทุกปีเพื่อให้ต่อเนื่องกับวันออกหว่า โดยขบวนจะแห่ไปตามถนนสายหลักในเมืองแม่สะเรียง โดยนอกจากข้าวของอันได้แก่เทียนและดอกไม้ที่กล่าวไปแล้ว ก็จะต้องมีไม้เกี๊ยะซึ่งทำจากไม้สน มีความยาว 4-7 เมตร หรือตามแต่จะจัดทำกัน เพื่อนำไปจุดที่วัดด้วย
       
       ในขบวนแห่ตานเทียนเหงจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเพื่อความสนุกครื้นเครง ไม่ว่าจะเป็นการฟ้อนกิงกะหล่าและการเต้นโต (สิงห์โต) การฟ้อนไต ฟ้อนเงี้ยว ฯลฯ แห่ไปในเมือง หลังจากนั้นก็จะแยกย้ายไปที่วัดในชุมชนเพื่อถวายเทียนและเครื่องไทยธรรมแก่พระสงฆ์ จุดไม้เกี๊ยะในวัดเรียบร้อยแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี



ฟ้อนกิงกะหล่าและเต้นโตในขบวนแห่
       

ขบวนแห่และการแสดงต่างๆ ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นจำนวนมาก
       

ชาวบ้านวัดทุ่งแล้งกลับมาถวายเทียนและเครื่องไทยธรรมกับพระสงฆ์และสามเณร

        นับเป็นอีกหนึ่งงานประเพณีออกพรรษาที่แม้ไม่ได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่แต่ก็สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้มาร่วมงานได้ไม่ยาก เพราะความมีเอกลักษณ์และการรักษาประเพณีดั้งเดิมเอาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม จึงเป็นอีกหนึ่งงานประเพณีที่อยากให้ลองมาสัมผัสกันในปีต่อๆ ไป ออกพรรษาครั้งหน้า อย่าลืม “งานประเพณีออกหว่า” ของชาวไทใหญ่ที่แม่สะเรียงเป็นงานที่ไม่ควรพลาดในครั้งต่อไป
       
        สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดงานประเพณีออกหว่าแม่สะเรียงในปีต่อๆ ไป หรือสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับประเพณีอื่นๆ รวมถึงการท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ ที่พัก และร้านอาหารใน จ.แม่ฮ่องสอนได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร. 0 5361 2982-3, 0 5361 2984


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000117817
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ