ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมปฏิบัติ : จริต ๖ กรรมฐานที่เหมาะแก่คน ๖ ประเภท  (อ่าน 1012 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ธรรมปฏิบัติ : จริต ๖ กรรมฐานที่เหมาะแก่คน ๖ ประเภท

พระบรมศาสดาทรงจำแนกจริต คือ กิเลสและคุณธรรมที่ท่องเที่ยวอยู่ในจิตใจของบุคคลฝ่ายละ ๓ รวมเป็น ๖ ประการ คือ
       
       ๑. ราคจริต คนกำหนัดกล้า มีราคะ คือความกำหนัดในกามคุณท่องเที่ยวอยู่ในจิตมากจนเป็นเจ้าเรือน คือ ครองความเป็นใหญ่ในจิตใจ ดลใจให้กำหนัดในกามคุณมาก ติดพันในกามคุณจนถึงลุ่มหลงมัวเมา
       
       ราคะเป็นประดุจหนามยอกใจ การแก้ราคะก็ต้องใช้วิราคะ คือ หนามวิเศษ เหมือนหนามยอกก็เอาหนามบ่งฉะนั้น ราคะตั้งลงที่กามคุณ คือ รูปสวยงามน่ารักน่าชื่นใจ เสียงไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนุ่มละเอียดอ่อน
       
       ราคะทำให้มองไม่เห็นตำหนิที่น่าเบื่อหน่ายของกามคุณ ซึ่งมีอยู่โดยธรรมดาแล้ว วิธีแก้จึงต้องพลิกเหลี่ยมขึ้นมองดูความน่าเบื่อหน่าย น่าเกลียด อันมีอยู่ในกามคุณนั้น
       
       ฉะนั้น กรรมฐานเนื่องด้วย อสุภะ-ปฏิกูล จึงเป็นสัปปายะ คือเหมาะแก่คนราคจริต เป็นไปเพื่อความเจริญ
       
       แม้ปัจจัยเลี้ยงชีพก็ต้องเป็นสิ่งปอนๆ เศร้าหมอง หยาบ จึงจะเป็นไปเพื่อถอนราคะออกจากใจได้


        :96: :96: :96: :96:

       ๒. โทสจริต คนใจร้าย มีโทสะ คือความดุร้ายท่องเที่ยวอยู่ในจิตใจมากจนเป็นเจ้าเรือน คือ ครองความเป็นใหญ่ในจิตใจ ดลใจให้ดุร้าย กริ้วโกรธ แม้ในเหตุเล็กๆน้อยๆ อันไม่สมควรโกรธก็โกรธ ประดุจผียักษ์สิงใจฉะนั้น ธรรมดาผีย่อมกลัวเทวดาฉันใด อธรรมคือโทสะ ก็ย่อมพ่ายแพ้แก่ธรรมฉันนั้น
       
       ธรรมอันจัดเป็นเครื่องแก้โทสะนั้น ต้องเป็นธรรมฝ่ายเย็น สุภาพ อ่อนโยน จึงมีลักษณะตรงกันข้ามกับโทสะ เมื่อโทสะซึ่งเปรียบเหมือนผียักษ์สิงใจอยู่ จึงควรเชิญธรรมซึ้งเปรียบเหมือนเทวดามาสิงใจแทนที่เสีย เพราะธรรมดายักษ์ย่อมกลัวเทวดาฉันใด ธรรมจะกำจัดอธรรมออกไปฉันนั้น
       
       ฉะนั้น กรรมฐานอันเนื่องด้วยคุณธรรมฝ่ายสูง เช่น เมตตา กรุณา พุทธคุณธรรมคุณ สังฆคุณ ฯลฯ จึงเป็นสัปปายะ คือ เหมาะแก่คนมีโทสจริต เป็นไปเพื่อความเจริญ
       
       แม้ปัจจัยเลี้ยงชีพก็ต้องเป็นสิ่งสวยงาม ประณีต สุขุม จึงจะเป็นไปเพื่อถอนโทสะออกจากจิตใจ

        :91: :91: :91: :91:

       ๓. โมหจริต คนหลง มีโมหะ คือความหลงท่องเที่ยวอยู่ในจิตใจมากจนเป็นเจ้าเรือน คือครองความเป็นใหญ่ในจิตใจมาก ดลใจให้มืดมัว ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี แม้มีวัยผ่านมานานควรเป็นวิญญูชนได้แล้ว ก็ยังคงมีลักษณะนิสัยเหมือนเด็กๆอยู่ และดลใจให้มองเห็นในแง่ที่ตรงกันข้ามกับเหตุผลและความจริงเสมอ ประดุจกลีสิงใจฉะนั้น
       
       กลี คือผีชนิดหนึ่ง มีลักษณะมืดดำ ทำให้เป็นคนหลง คลั่งเพ้อไปต่างๆ ปราศจากความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในเมื่อมันเข้าสิงใจ โมหะท่านเปรียบเหมือนกลีนั้น ผีกลีกลัวแสงสว่าง
       
       ฉะนั้น การแก้โมหะจึงต้องอาศัยธรรมะ ซึ่งมีลักษณะสว่าง กระจ่างแจ้งเป็นปัจจัย เช่น การอยู่ใกล้ได้ปรึกษาไต่ถามท่านผู้พหูสูตเนืองๆ ข้อธรรมที่มีเหตุผลกระจ่างในตัว ไม่มีแง่ชวนให้สงสัย กรรมฐานที่เหมาะแก่คนจำพวกนี้ ต้องเป็นกรรมฐานที่เนื่องด้วยกสิณและอรูป ซึ่งเป็นอุบายเปิดใจให้สว่าง
       
       แม้ปัจจัยเลี้ยงชีพก็ต้องเป็นสิ่งโปร่งบาง เปิดเผยสะดวก ที่อยู่ถ้าเป็นที่โปร่งๆ หรือกลางแจ้งเป็นเหมาะที่สุด

       

       ๔. สัทธาจริต คนเจ้าศรัทธา มีศรัทธาความเชื่อท่องเที่ยวอยู่ในจิตมากจนเป็นเจ้าเรือน คือครองความเป็นใหญ่ในจิตใจ ดลใจให้เชื่อสิ่งต่างๆ ง่ายจนเกือบจะกลายเป็นงมงายไป
       
       ความจริงศรัทธาเป็นคุณธรรม เมื่อมีอยู่ในใจย่อมหนุนให้ทำความดีได้ง่ายเหมือนมีทุนสำรองอยู่แล้ว ย่อมสะดวกแก่การค้าหากำไรฉะนั้น
       
       คนเจ้าศรัทธาเป็นคนใจบุญสุนทาน ชอบดี รักงาม ทำอะไรก็ประณีตบรรจง เป็นคนใจละเอียดอ่อน บำเพ็ญกรรมฐานได้แทบทุกอย่าง แต่ที่เหมาะที่สุด คืออนุสสติ และกรรมฐานที่เกี่ยวกับการคิดค้นหาเหตุผล เช่น จตุธาตุววัตถาน ฯลฯ


        :25: :25: :25: :25:

       ๕. พุทธิจริต คนเจ้าปัญญา มีพุทธิ คือความรู้ท่องเที่ยวอยู่ในจิตมากจนเป็นเจ้าเรือน คือครองความเป็นใหญ่อยู่ในจิตใจ ดลใจให้รู้อะไรๆได้ง่ายๆ จนเกือบจะกลายเป็นคนสู่รู้ไป
       
       ความจริง “พุทธิ” เป็นคุณธรรมนำให้รู้เหตุผล และความจริงได้ง่าย คนจำพวกนี้ชอบทำอะไรๆด้วยความรู้ และก็มักผิดพลาดเพราะความรู้เหมือนกัน
       
       ฉะนั้น กรรมฐานอันเป็นที่สัปปายะแก่คนจำพวกนี้ ต้องเป็นกรรมฐานที่ประคับประคองจิตใจไปในเหตุผลที่ถูกต้อง ทำให้ปัญญามีหลักฐานมั่นคง เช่น อุปสมานุสสติ เป็นต้น


        st12 st12 st12 st12

       ๖. วิตักกจริต คนเจ้าความคิด มีวิตักกะ คือความคิดท่องเที่ยวอยู่ในจิตใจมากจนเป็นเจ้าเรือน คือครองความเป็นใหญ่ในจิตใจ ดลใจให้คิดให้อ่านอยู่เรื่อย จนกลายเป็นฟุ้งซ่านหรือเลื่อนลอยไป
       
       ความจริงวิตักกะเป็นคุณธรรม เมื่อมีอยู่ในใจย่อมหนุนให้เป็นคนช่างคิดช่างนึกในเหตุผลและความจริงจากแง่ต่างๆ เป็นทางเรืองปัญญา แต่ถ้ามากเกินไปจะตกไปข้างฝ่ายโมหะ กลายเป็นหลงทิศทางไปได้ ที่เขาเรียกว่า “ความคิดตกเหว” ไม่รู้จักแก้ไขตนออกจากความผิด ได้แต่คิดเพ้อไปท่าเดียว


        ans1 ans1 ans1 ans1

       กรรมฐานที่เหมาะแก่คนจำพวกนี้ต้องเป็นกรรมฐานที่ไม่ต้องใช้ความคิด เช่น กสิณ-อรูป และที่เหมาะที่สุดคือ อานาปานสติ
       
       จริต ๑-๓ เป็นอกุศลเจตสิก ๔-๖ เป็นอัญญสมานาเจตสิก ใกล้ไปข้างฝ่ายกุศล คนมีจริต ๑-๓ เป็นเจ้าเรือน จึงมักทำความชั่วให้ปรากฏ ส่วนคนมีจริต ๔-๖ เป็นเจ้าเรือนจึงมักทำความดีให้ปรากฏ
       

จากส่วนหนึ่งของหนังสือทิพยอำนาจ
จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 166 ตุลาคม 2557 โดย พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง) วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น
ที่มา http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9570000113429
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ