ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วัดกุฎีทอง อ.มหาราช จ.อยุธยา...อีกตำนานหนึ่งของสมเด็จโต ท่านเรียนอยู่ที่นี่ ๓ ปี  (อ่าน 15775 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ณ วัดกุฎีทอง (วัดพิตเพียน)


วัดกุฎีทอง อ.มหาราช จ.อยุธยา...อีกตำนานหนึ่งของสมเด็จโต ท่านเรียนอยู่ที่นี่ ๓ ปี
               
     วัดกุฎีทอง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔ หมู่ที่ ๗ ตำบลพิตเพียน อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
     สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๒๕ ไร่ พื้นที่วัดเป็นที่ราบ
     อาคารเสนาสนะต่างๆ มีอุโบสถกว้าง ๖.๙๐ เมตร ยาว ๑๘ เมตร ก่ออิฐถือปูน
     ศาลาการเปรียญกว้าง  ๖.๕๐ เมตร ยาว ๙ เมตร สร้างด้วยไม้
     กุฏิสงฆ์จำนวน ๗ หลัง เป็นอาคารไม้   
     นอกจากนี้มีวิหารหอระฆัง สำหรับปูชนียวัตถุ มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดพระเพลากว้าง กว้าง ๖ วา เศษ มีพระนามว่า “พระพุทธมหามุนีศรีมหาราช” หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อโต”


      วัดกุฎีทอง หรือ เรียกอีกนามว่า “วัดกุฎีลอย” สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาราว พ.ศ. ๒๔๑๐
      เจ้าอาวาสมีด้วยกัน  ๑๑ รูป
                ๑.พระอาจารย์คล้าย
                ๒.อาจารย์ละม้าย
                ๓.พระอาจารย์สอน
                ๔.พระอาจารย์เลี้ยง
                ๕.พระอาจารย์แถม
                ๖.พระอาจารย์แช่ม
                ๗.พระอาจารย์ขาว
                ๘.พระอาจารย์ดุ่ย
                ๙.พระอาจารย์มนูญ
               ๑๐.พระอาจารย์สืบ อนุจาโร
               ๑๑.พระครูสุวรรณ ธมฺมโกวิท (เจ้าอาวาสปัจจุบัน)             

      สมเด็จพระพุฒจารย์(โต) พรหมรังสี ท่านได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันติดปากว่า หลวงพ่อโต ที่วัดแห่งนี้เดิมวัดแห่งนี้ชื่อว่า วัดพิตเพียน ตามชื่อตำบล ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดกุฏีทอ


พระพุทธมหามุนีศรีมหาราช หรือ หลวงพ่อโต

    พระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้ ก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ วา ๘ ศอก นั่งหันหน้าไปทางแม่น้ำลพบุรีซึ่งไหลผ่านหน้าวัด  เพราะในสมัยก่อนการเดินทางอาศัยทางน้ำเป็นหลัก  ดังนั้นผู้คนที่จะมาทำบุญที่วัดจึงเดินทางโดยเรือ หลวงพ่อโตก็จะคอยนั่งยิ้ม ต้อนรับผู้ที่เดินทางมาทำบุญที่วัด  และมานมัสการองค์ท่านด้วย  พระอธิการสืบ เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ เล่าว่า การปฏิสังขรณ์พระโตนี้ถึง ๔ ครั้ง
     ครั้งแรก คือ  (เข้าใจว่าสร้างค้างอยู่) นายพลอย นางแตงไทย  ละนางอู่ร่วมกันปฏิสังขรณ์  มื่อราวปีระกา  พ.ศ. ๒๔๔๐  (สิ้นเงินเท่าไร่ไม่ทราบ)   
     ครั้งที่ ๒ พระพักตรแบะ พระนาภีทะลุเป็นรู เนื่องจากอนุนีบาตรตกลงในที่ใกล้เคียงกัน ปฏิสังขรณ์เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๔๗๗ สิ้นเงิน ๕๐๐ บาท 
     ครั้งที่ ๓  พระพาหาเบื้องขวาหลุด เนื่องจากฝนตกหนัก ปฏิสังขรณ์เมื่อปีมะโรง พ.ศ.๒๔๘๓ สิ้นเงิน ๓๐๐ บาท 
     ครั้งที่ ๔ พระศกและพระกรรณหักพังลงมา ปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ (เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์ วันที่ ๑ มีนาคม สำเร็จวันที่ ๒๙ เมษายน) สิ้นเงิน ๓,๘๑๔.๙๐ บาท (เงินที่ไช้จ่ายในการปฏิสังขรณ์ทุกครั้งเป็นเงินส่วนเรี่ยไร)


     การบูรณะครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ยกพระเกศหักพังลงมา บูรณะเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ 
     เมื่อบูรณะเสร็จในครั้งนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมาทำพิธีเปิด “พระพุทธมหามุนีศรีมหาราช”  เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕  เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง (จากคำบอกเล่าของพระครูสุวรรณ ธมมฺโกวิท เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน)       
     ในวันเดียวกันนี้ยังทรงมา ตัดหวายฝังลูกนิมิต ณ พระอุโบสถหลังใหม่นี้อีกด้วย ตรงหน้าบันของพระอุโบสถหลังนี้ได้อัญเชิญตรา พระปรมาภิไธยย่อ ภปร.ไว้ด้วย



     สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดที่มีผู้คนให้ความเคารพอย่างมากคือ หลวงพ่อแดง ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร ทางด้านเหนือของพระอุโบสถ เป็นวิหารเดิมตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หลวงพ่อแดงเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง 
     สาเหตุที่เรียกว่าหลวงพ่อแดง เนื่องจากในสมัยก่อนองค์ท่านมีสีแดงทั้งองค์ แต่ในสมัยต่อมามีผู้มีจิตศรัทธาลงรักปิดทององค์พระ จึงกลายเป็นสีทองให้เห็นดังปัจจุบัน  ชาวบ้านให้ความเคารพนับถืออย่างมากในความศักดิ์สิทธิ์ขององค์ท่าน จะบนบานสิ่งใดก็จะได้สมความปรารถนาตามความต้องการ
     ส่วนพระอันดับที่ตั้งอยู่ลดหลั่นลงมาก็สร้างในสมัยอยุธยาเช่นเดียวกัน 
     เนื่องจากสังเกตได้จากฐานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งหมดเป็นฐานที่ก่ออิฐทับฐานของเดิมอยู่


     ความศักดิ์สิทธิ์องค์หลวงพ่อแดงมีอยู่ครั้งหนึ่ง มีโจรขโมยเศียรพระพุทธรูป มาตัดเศียรหลวงพ่อแดง
     ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ โจรไม่สามารถมาตัดเศียรไปได้ต่างพากับเหนื่อยหอบ และยอมหนีไปเองในที่สุด 
     ปัจจุบันนี้วิหารหลวงพ่อแดงได้รับการบูรณะเป็นอย่างดี มีอาคารก่ออิฐถือปูนก่อสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องใหม่ กันแดดกันฝนให้กับหลวงพ่อแดง


    ทางด้านหน้าพระอุโบสถมีรูปหล่อพระอุโบสถ
     มีรูปหล่อของพระอาจารย์สืบ อนุจาโร เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ ตั้งอยู่ในตู้กระจกไว้ให้ผู้คนได้มาสักการบูชา 
     ซึ่งปัจจุบันนี้การเดินทางมายังวัดกุฎีทองแห่งนี้สามารถเดินทางได้โดยสะดวก
     เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำลพบุรี รถสามารถวิ่งข้ามมาได้ การเดินทางโดยเรือจึงลดบทบาทลง และเลือนหายไปในที่สุด อีกทั้งแม่น้ำลพบุรีในปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินและแคบมาก การสัญจรไม่สะดวกเหมือนสมัยก่อน



ความสัมพันธ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) พรหมรังสีกับวัดกุฎีทอง
      จากคำบอกเล่าของท่านพระครูสุวรรณ ธมฺมโกวิท เจ้าอาวาสวัดกุฎีทอง อายุ ๕๕ ปี พรรษา ๓๒ กล่าวว่า  ในสมัยก่อนที่ทางวัดจะได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ได้มีพระอาจารย์รูปหนึ่งชื่อว่าพระอาจารย์คง  เป็นเจ้าอาวาสแห่งสำนักสงฆ์แห่งนี้ เป็นพระอาจารย์ที่ความเก่งในทุกๆด้าน เป็นที่รู้จัก และมีชื่อเสียงโด่งดังมากในจังหวัดอยุธยาในสมัยนั้น


      ประมาณ พ.ศ.๒๓๙๓ สมเด็จฯ ท่านอายุประมาณ ๖๒ ปี เมื่อครั้งที่จำพรรษาอยู่ที่วัดระฆัง 
      หลังจากออกพรรษาแล้วท่านได้ออกเดินธุดงค์จากวัดระฆังมาศึกษาวิชากับพระอาจารย์คง 
      เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส  สำนักสงฆ์วัดพิตเพียน  ตอนนั้นรถยนต์ยังไม่มี 
      ท่านออกเดินธุดงค์มาเรื่อยๆเป็นประจำตลอดระยะเวลา ๓ ปี เมื่อถึงเวลาเข้าพรรษาท่านก็จะกลับจำพรรษาที่วัดระฆังตามเดิม


     พระอาจารย์คงตอนนั้นมีอายุ ๑๐๕ ปี วิชาที่สมเด็จโตได้มาศึกษากับท่านนั้น เช่น ทางด้านเมตตามหานิยม ญาณวิเศษเหนือคนธรรมดา การศึกษาภาษาบาลี คัมภีร์มูลกัจจายนะ การเขียนจารอักขระต่างๆ เพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลดังใจนึก เป็นต้น   
     สมเด็จโตเรียนวิชากับพระอาจารย์คงอยู่ ๓ ปี ท่านจึงมรณภาพ เมื่ออายุ ๑๐๗ ปี สมเด็จโตก็เรียนสำเร็จพอดี 
     หลังจากนั้นสมเด็จโตท่านจึงได้สร้างพระใหญ่ไว้เป็นที่ระลึก เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าท่านได้มาศึกษาเล่าเรียนที่นี่


     ท่านพระครูสุวรรณท่านได้เล่าต่อไปอีกว่า ในสมัยที่สมเด็จโตให้สร้างพระใหญ่นั้น มีคนงานก่อสร้างคนหนึ่ง ได้ฝันว่ามียมพบาลจะมาเอาชีวิต แต่นายช่างได้ต่อรองว่าขอให้สร้างพระให้เสร็จก่อนเพราะสร้างค้างไว้ ช่วงนั้นได้สร้างเพียงพระเศียรเท่านั้น แต่เมื่อสร้างพระองค์ใหญ่เสร็จ ยังไม่ทันได้ฉลอง คนงานก่อสร้างนั้นก็เสียชีวิต



การเดินทางมายังวัดกุฎีทอง
    จากวัดสะตือ ให้เลี้ยวซ้าย ออกมาตามถนนท่าลาน-ท่าเรือ
    พอถึงสามแยกให้เลี้ยวขวา เข้าทางหลวงหมายเลข ๓๐๒๒ ไปทางลพบุรี
    วิ่งตรงมาเรื่อยๆ ประมาณ ๖ กิโลเมตร จะมาถึงสี่แยกให้เลี้ยวซ้าย
    เข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒๖๗ มุ่งหน้าไปทางจังหวัดอ่างทอง 
    วิ่งตรงมาจนถึงสี่แยกเจ้าปลุกระยะทาง ๒๑ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวา
    เข้าทางหลวงหมายเลข ๓๑๙๖  มุ่งหน้าไปทางจังหวัด ลพบุรี  ระยะทางประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร 
    วัดอยู่ทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ ๔๐๐ เมตร เมื่อข้ามสะพานแม่น้ำลพบุรีไป วัดก็จะอยู่ทางขวามือ


ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=218829
ขอบคุณภาพจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=536635 ,http://cdn.gotoknow.org/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 12, 2013, 01:45:58 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ