ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: คนคุยโต..ย่อมเป็นเหมือน"ปลาอานนท์"  (อ่าน 3674 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
คนคุยโต..ย่อมเป็นเหมือน"ปลาอานนท์"
« เมื่อ: มีนาคม 11, 2013, 09:23:27 am »
0

อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
วัตถูปมสูตร ว่าด้วยข้ออุปมาด้วยผ้า
อรรถกถาวัตถูปมสูตร

    [๙๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสว่า เมื่อจิตเศร้าหมองทุคติเป็นอันหวังได้ และเมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงอุปกิเลสทั้งหลายที่เป็นเหตุให้จิตเศร้าหมอง
    จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อุปกิเลสแห่งจิตเป็นไฉน? คือ อภิชฌาวิสมโลภะ ดังนี้.
    บรรดาอุปกิเลสเหล่านั้น ความรักความพอใจในภัณฑะของตน ชื่อว่าอภิชฌา.
    ความรักความพอใจในภัณฑะของคนอื่น ชื่อว่าวิสมโลภะ.
    อีกอย่างหนึ่ง ความรักความพอใจในภัณฑะของตนหรือของคนอื่น จงยกไว้
    ความรักความพอใจในฐานะที่ถูกที่ควร ชื่อว่าอภิชฌา.
    ความรักความพอใจในฐานะที่ไม่ถูกไม่ควร ชื่อว่าวิสมโลภะ.


    ส่วนพระเถระกล่าวไว้ว่า โลภะทุกอย่างจะไม่ชื่อว่าวิสมะก็หามิได้
    เพราะพระบาลีว่า พวกเธอทำการแบ่งแยกไปทำไม? จะเป็นในอารมณ์ที่เหมาะหรือไม่เหมาะก็ตาม
    ราคะก็เป็นวิสมะ โทสะก็เป็นวิสมะ โมหะก็เป็นวิสมะ (เหมือนกัน)
    เพราะฉะนั้น โลภะนี้นั่นเองชื่อว่าอภิชฌา เพราะอรรถว่าเพ่งเล็ง,
    ชื่อว่าวิสมะ เพราะอรรถว่าไม่เหมาะ (ไม่ชอบธรรม).
    คำว่า อภิชฌาและวิสมะ นี้มีความหมายอันเดียวกัน ต่างกันแต่เพียงพยัญชนะเท่านั้น.

   ก็อภิชฌาวิสมโลภะนี้นั้น เกิดขึ้นแล้วย่อมทำร้ายจิต คือไม่ให้จิตผ่องใส
   เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ดังนี้.
   เหมือนอย่างว่า อภิชฌาวิสมโลภะนี้เป็นฉันใด พยาบาทอันเกิดมาจากอาฆาตวัตถุ (เหตุที่ตั้งแห่งความอาฆาต) ๙ อย่าง
   ความโกรธอันเกิดมาจากอาฆาตวัตถุ ๑๐ อย่าง ความผูกโกรธ อันครอบคลุมจิตบ่อยๆ ก็ฉันนั้น
   ความลบหลู่ อันกระทำสิ่งที่เขาทำดีแล้วให้พินาศไป ไม่ว่าของคฤหัสถ์หรือของบรรพชิต (มีลักษณะเหมือนกัน).



    อธิบายว่า ฝ่ายคฤหัสถ์ (เดิมที) เป็นคนขัดสน (ครั้นแล้ว) ผู้มีกรุณาบางคนได้ยก (เขา) ไว้ในฐานะที่สูงส่ง
    ต่อมา (เขากลับกล่าวว่า) ท่านทำอะไรให้ข้าพเจ้า ชื่อว่าทำลายความดีที่คนผู้กรุณานั้นทำไว้แล้วให้พินาศไป.
    ฝ่ายบรรพชิตแล จำเดิมแต่สมัยเป็นสามเณรน้อยอันอาจารย์หรืออุปัชฌาย์ท่านใดท่านหนึ่งอนุเคราะห์ด้วยปัจจัย ๔ และด้วยอุทเทศและปริปุจฉา ให้สำเหนียกความเป็นผู้ฉลาดในปกรณ์เป็นต้นด้วยธรรมกถา.


    สมัยต่อมา อันพระราชาและราชมหาอำมาตย์เป็นต้น สักการะเคารพแล้ว (เธอ) กลับขาดความยำเกรงในอาจารย์และอุปัชฌาย์เที่ยวไป อันอาจารย์เป็นต้นกล่าวว่า ผู้นี้สมัยเขาเป็นเด็ก เราทั้งหลายช่วยอนุเคราะห์และส่งเสริมให้ก้าวหน้าอย่างนี้ ก็แต่ว่าบัดนี้ เขาไม่น่ารักเสียแล้ว ก็กล่าว (ตอบ) ว่า พวกท่านทำอะไรให้ผม ดังนี้ ชื่อว่าทำลายความดีที่อุปัชฌาย์และอาจารย์เหล่านั้นทำแล้วให้พินาศไป.

    ความลบหลู่ที่ทำความดีที่ท่านทำไว้แล้วให้พินาศไปของบรรพชิตนั้นย่อมเกิดขึ้นทำร้ายจิต คือไม่ให้จิตผ่องใส
    เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองจิต ดังนี้.
    เหมือนอย่างว่า ความลบหลู่นี้เป็นฉันใด การตีเสมอ (ซึ่งได้แก่) การถือเป็นคู่แข่งก็ฉันนั้น
    เกิดขึ้นลามไปอ้างถึงบุคคลแม้เป็นพหูสูตโดยนัยเป็นต้นว่า
    ท่านผู้เป็นพหูสูตเช่นนี้ยังมีคติไม่แน่นอน (แล้ว) ท่านกับผมจะมีอะไรวิเศษเล่า.

    ความริษยา ได้แก่การนึกตำหนิสักการะเป็นต้นของคนอื่น.
    ความตระหนี่ ได้แก่ (การที่) ทนไม่ได้ที่สมบัติของตนมีคนอื่นร่วมใช้สอย.
    มายา ได้แก่กิริยาที่เป็นการประพฤติหลอกลวง.
    ความโอ้อวดเกิดขึ้นโดย (ทำให้) เป็นคนคุยโต.



    จริงอยู่ คนคุยโตย่อมเป็นเหมือนปลาอานนท์.
    เล่ากันว่า ปลาอานนท์ (ชอบ)เอาหางอวดปลา (พวกอื่นและ)เอาศีรษะอวดงู
    ให้(ปลาและงูเหล่านั้น) รู้ว่าเราเป็นเช่นกับพวกท่าน.   
    บุคคลผู้คุยโตก็เช่นนั้นเหมือนกัน เข้าไปหานักพระสูตร หรือนักพระอภิธรรมใดๆ ย่อมกล่าวกะท่านนั้นๆ อย่างนี้ว่า
    ผมประพฤติประโยชน์เพื่อท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายต้องอนุเคราะห์ผม ผมจะไม่ทิ้งพวกท่านหรอกดังนี้.


    เมื่อเป็นอย่างนี้แล นักพระสูตรและนักอภิธรรมเหล่านั้นก็จักสำคัญ (เธอ) ว่า
    ผู้นี้มีความเคารพยำเกรงในเราทั้งหลาย ความโอ้อวดนี้แลของบุคคลนั้น
    เมื่อเกิดขึ้นโดย (ทำให้) เป็นคนคุยโตย่อมเกิดขึ้นทำร้ายจิต คือไม่ให้จิตผ่องใส
    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ดังนี้.
    เหมือนอย่างว่า ความโอ้อวดนี้เป็นฉันใด ความหัวดื้อก็ฉันนั้น
    เป็นตัวการทำให้ไม่ให้ประพฤติอ่อนน้อม เชิดศีรษะ เพราะเป็นผู้กระด้าง เป็นเช่นกับสูบที่เต็มลม.
    ความแข่งดีมีการกระทำยิ่งกว่านั้น.

    ความแข่งดีนั้นแยกออกได้ ๒ ประเภท คือ ฝ่ายอกุศลและกุศล.
    ก็ในบรรดาความแข่งดี ๒ ประเภทนั้น
    สำหรับคฤหัสถ์ ความแข่งดีเกิดขึ้นเพราะได้เห็นเครื่องประดับเป็นต้นที่คนอื่นทำแล้ว  แล้วทำให้ทวีคูณๆ ขึ้นไปกว่านั้นๆ จัดเป็นอกุศล
    และสำหรับบรรพชิต (ขณะที่) บรรพชิตอื่นเล่าเรียนหรือกล่าวธรรมะมีประมาณเท่าใดๆ ความแข่งดีที่เกิดขึ้นด้วยการกระทำให้ทวีคูณๆ ไปกว่านั้นๆ ด้วยอำนาจแห่งมานะจัดเป็นอกุศล.


    ส่วนคฤหัสถ์ ความแข่งดีที่เกิดขึ้นเพราะ
    ได้เห็นคนอื่นถวายสลากภัตร ๑
    ที่แล้วตนเองประสงค์จะถวาย ๒ หรือ ๓ ที่ จัดเป็นกุศล.
    และสำหรับบรรพชิต เมื่อ (ได้ทราบว่า) ภิกษุอื่นเรียนได้ ๑ นิกายแล้ว
    ความแข่งดีเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยมานะ (แต่) เพราะได้เห็นภิกษุอื่นนั้น (เรียนได้แล้ว ๑ นิกาย)
    แล้วประสงค์จะครอบงำความเกียจคร้านของตนอย่างเดียว เรียนเอาให้ได้ ๒ นิกาย จัดเป็นกุศล.


    แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาความแข่งดีที่เป็นอกุศล
    เพราะว่า ความแข่งดีที่เป็นอกุศลนี้ย่อมเกิดขึ้นทำร้ายจิต คือไม่ให้จิตผ่องใส
    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต.



   อนึ่ง ความแข่งดีนี้เป็นฉันใด ความถือตัวก็ฉันนั้น เป็นไปด้วยอำนาจความพองตัวแห่งจิต เพราะอาศัยชาติ (กำเนิด) เป็นต้น
    มานะที่เป็นไปด้วยอำนาจความพองตัวยิ่งแห่งจิต ชื่อว่าอติมานะ
    อาการที่รับเอาด้วยความมัวเมา ชื่อว่ามทะ
    มทะที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการปล่อยจิตไปในกามคุณทั้งหลาย ชื่อว่าปมาทะ
    ปมาทะย่อมเกิดขึ้นทำร้ายจิต คือไม่ให้จิตผ่องใส
    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต.


    ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอุปกิเลส จึงทรงแสดงโลภะไว้เป็นอันดับแรก.
    ตอบว่า เพราะโลภะนั้นเกิดขึ้นก่อนเพื่อน.


    จริงอยู่ เมื่อสัตว์ทั้งปวงเกิดขึ้นในภพใดภพหนึ่งโดยที่สุดแม้ในภูมิสุทธาวาส
    โลภะย่อมเกิดขึ้นก่อนเพื่อนด้วยอำนาจความยินดีในภพ
    ต่อจากนั้น อุปกิเลสนอกนี้มีพยาบาท เป็นต้น ย่อมเกิดตามควรแก่ปัจจัย เพราะอาศัยปัจจัยที่ควรแก่ตน
    และไม่ใช่แก่อุปกิเลสของจิต ๑๖ อย่างนี้เท่านั้นเกิดขึ้น
    แต่พึงทราบว่าโดยนัยนี้ ย่อมเป็นอันรวมเอากิเลสแม้ทั้งหมดทีเดียว.


ที่มา http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=91
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1136&Z=1236
ขอบคุณภาพจาก http://2.bp.blogspot.com/,http://i137.photobucket.com/,http://www.bloggang.com/,http://www.weloveshopping.com/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 11, 2013, 09:32:56 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ