ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน  (อ่าน 55359 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม
ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน
เทศนาธรรมของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

     ไม่ว่าจะประมาทในการคิด หรือประมาทในการพูด หรือประมาทในการฟัง มีโทษอย่างยิ่งทั้งนั้น ความประมาทในทั้งสามประการเป็นสิ่งเกี่ยวเนื่องถึงกัน ประมาทอย่างหนึ่งอย่างใดก็เป็นเหตุให้ประมาทพร้อม เกิดโทษพร้อมได้จริง

     ดังเช่นแม้มีความคิดเชื่อถือในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ความคิดเชื่อนั้นก็ย่อมไม่หยุดอยู่เพียงที่ความคิดเท่านั้น ย่อมจะสืบต่อไปเป็นคำพูดด้วยเป็นธรรมดา ถ้าประมาททำให้เกิดความเชื่อที่ไม่ถูกไม่จริง แต่เป็นความเชื่อที่ผิดที่ไม่จริง เมื่อสืบต่อเป็นคำพูด ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิดจากความจริงด้วย ผู้พูดจะมีเจตนาร้ายหรือไม่มีเจตนาร้าย ผลร้ายก็ย่อมเกิดแน่นอนเป็นธรรมดา

     อย่าลืมคำพูดของคนนั้นมีอิทธิพลแรง มีอิทธิพลสูง ทั้งในทางทำลายและทั้งในทางสร้างสรรค์ นั่นก็เพราะเกิดจากการฟังเป็นสำคัญ เสียงพูดที่ไม่มีการได้ยินได้ฟัง เสียงก็ไม่มีความหมาย แต่แน่นอนเสียงพูดต้องมีผู้ได้ยินได้ฟังเป็นธรรมดา จึงต้องมีความหมายเสียงนี้แหละ ที่ทำให้เกิดความเชื่อนี่แหละ ที่ทำได้ ให้คนดีถูกกดให้ต่ำต้อย คนชั่วเลิศลอยด้วยถูกยก อะไรที่เกิดตามมาจะเป็นผลดีได้หรือ ถึงยุคเช่นนี้เมื่อไร เมื่อนั้นก็ใช่ยุคมืด


    :96: :96: :96:

    “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน”
    คำพยากรณ์แต่โบราณนานมานี้ น่าจะบอกว่ายุคมืดจะมาถึง คือ ยุคที่คนดีจะถูกเหยียบย่ำ คนชั่วจะได้รับยกย่อง ซึ่งต้องเป็นผลของกรรมที่ได้ทำกันมา ทั้งกรรมชั่วและทั้งกรรมดี กรรมที่เอื้อมมือมาถึงแล้ว

    อย่างไรก็ตามเราทุกคนพึงหลีกให้พ้นการเป็นมือแห่งกรรมชั่ว ที่จะเหยียบย่ำคนดี และหลีกให้พ้นจากการเป็นมือแห่งกรรมดี ที่จะยกย่องคนชั่ว เพราะจะเป็นการร่วมสร้างบ้านเมืองของตนให้สิ้นความงดงาม ที่จะเกิดจากกำลังใจของคนดี ที่จะเกิดจากกำลังความสามารถของคนดี
    บ้านเมืองจะเต็มไปด้วยความเลวร้ายที่เกิดจากกำลังใจของคนชั่ว ที่จะเกิดจากกำลังความสามารถของคนชั่ว พึงรอบคอบในการดูให้รู้จริง ว่าใครดีใครชั่ว รอบคอบในการฟังเสียงบอกเล่า จึงจะช่วยประเทศชาติให้สวัสดีได้ และช่วยตนให้พ้นบาปได้



    การพูดกับการฟังสองอย่างนี้ยากจะชี้ลงไปได้ ว่าอย่างไหนสำคัญกว่ากัน พูดแล้วต้องมีการฟัง เช่นนี้ก็เห็นได้ชัดว่า ต้องเกี่ยวเนื่องกันมีความสำคัญเสมอกัน แต่โดยมีความเชื่อเข้าเป็นเรื่องใหญ่ พูดแล้ว ฟังแล้ว เชื่อแล้ว เป็นเรื่องหนึ่ง ที่ความเชื่อมีความสำคัญที่สุด สำคัญกว่าการพูดและการฟัง พูดได้ ฟังได้ เชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ความเชื่อมีความสำคัญตรงนี้ ตรงที่ฟังแล้ว เชื่อเลย ไม่พิจารณาให้เห็นความถูกผิด ความจริงความเท็จ ที่ได้ยินได้ฟัง เชื่อเพียงเพราะได้ยินได้ฟัง เชื่อก็คือเชื่อว่าเป็นความจริงตามที่ได้ยินได้ฟัง จากเสียงบอกเสียงเล่า

     ความจริงเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผู้พูดอาจรู้ แต่ผู้ฟังไม่น้อยนักที่เชื่อว่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังคนนั้นบอกคนนี้เล่า เป็นเรื่องจริงน้อยนักที่ฟังแล้วไม่เชื่อ ไม่สนใจ ฟังแล้วก็แล้วกันไป ผู้ฟังประเภทหลังนี้โชคดี ที่ไม่ก่อความเสียหายให้แก่ผู้ตกเป็นเหยื่อของเสียงบอกเล่า นับว่าไม่ทำบาปแก่บางชีวิตของบางผู้บางคน ที่อาจไม่ควรต้องรับบาปเป็นความสกปรกจากปากคนใจสกปรก ที่ในโลกมีมากมายนัก เพราะกิเลสยังไม่เบาบาง


     st12 st12 st12

    ความเชื่อเป็นหนึ่งในเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ พึงมีสติให้เสมอเมื่อจะเชื่อข่าว หรือเชื่อคำบอกเล่าของผู้ใดผู้หนึ่ง ตราบใดที่กิเลสยังครอบงำใจคนอยู่เกือบทุกถ้วนหน้า เสียงบอกเล่าก็หาอาจเชื่อได้เสมอไปไม่ เป็นผู้ฟังต้องรอบคอบให้อย่างยิ่ง มีสติ ใช้ปัญญา ให้เต็มที่ ให้สมกับที่มีบุญนักแล้ว ได้เกิดเป็นมนุษย์ และได้พบพระพุทธศาสนา อัญเชิญพระธรรมคำทรงสอนไว้ในหัวใจ ในชีวิต ให้เป็นผู้มีกายวาจาใจ ไม่ก่อให้เกิดทุกข์โทษภัย ทั้งแก่ตนเอง และทั้งแก่ใครๆ ทั้งนั้น

    ซึ่งเป็นไปได้ที่แม้เริ่มต้นแล้ว ย่อมแผ่ขยายยิ่งใหญ่ไปเป็นธรรมดา ให้เป็นความทุกข์ความร้อนของประเทศชาติ และของพระพุทธศาสนา ก็เป็นไปได้ เริ่มที่ความเชื่อที่เกิดแต่ความชั่วร้ายนานาประการ จากบุคคลนานาชนิด ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งใกล้ตัวเราทั้งไกลตัวเรา


    :25: :25: :25:

    สติในความเชื่อจึงจำเป็นอย่างยิ่งแก้ไขความเชื่อ ที่อาจผิดไปแล้ว ให้ถูกได้ด้วยกันทุกคน แม้มีความจริงใจที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ อันเกิดจากคนมากมีกิเลส ทุกข์ที่ครองบ้านครองเมืองที่รักของเราอยู่ อย่างน่าสะพรึงกลัวนัก


อ้างอิง
เรื่อง : แสงส่องใจ วันมหาจักรี-วันเถลิงศก ๖ เมษายน-๑๓ เมษายน ๒๕๔๙
โดย : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เทศน์ : ณ วัดญาณสังวรารามฯ
คัดลอกจาก...คุณ I am(ธรรมจักรดอทเน็ต)
ภาพจาก : http://www.oknation.net/ , http://www.jaowka.com/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 30, 2014, 08:54:06 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
พระสุบิน ๑๖ ประการ vs เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 29, 2010, 09:43:33 pm »
0
 


เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

ถาม - เคย ได้ฟังผู้ใหญ่รุ่นปู่ย่า ตายายพูดกันบ่อยๆว่า กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม หมายความว่าอย่างไร พูดกันเปรยๆ หรือจำมาจากคำกลอนเรื่องอะไร
ตอบ - มาจากตอนหนึ่งของ เพลงยาวพยากรณ์ กรุงศรีอยุธยา กลอนที่ถูกนั้นว่า "กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม"

     ที่ว่ากระเบื้องคงเป็นกระเบื้องมุงหลังคานั่นเอง ส่วมน้ำเต้า น่าจะเป็นน้ำเต้าแห้งกลวงข้างในที่ใช้บรรจุน้ำดื่มมากกว่า หมายถึง ผลน้ำเต้าสด
     เพลงยาวพยากรณ์นี้ เป็นบทกลอนเก่าทำนายชะตากรุงศรีอยุธยา ในบันทึกเก่ากำกับบทกลอนว่า พระนารายน์เป็นเจ้านพบุรีทำนายกรุง พระนารายน์เป็นเจ้า นั้นก็ว่า คือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช นั่นเอง นพบุรีก็คือ ลพบุรี หมายความว่า หากเป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ก็คงจะทรงพระราชนิพนธ์ ระหว่างเสด็จประทับอยู่เมืองลพบุรี
    ซึ่งท่านผู้สนใจค้นคว้าเรื่องนี้ ท่านว่าสมเด็จพระนารายณ์ฯ ท่านคงจะทรงพระราชนิพนธ์โดยทรงยืมพุทธทำนายคำกลอน ที่มีผู้แต่งเอาไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว


      :sign0144: :sign0144: :sign0144:

     สำหรับพุทธทำนายคำกลอน ดังกล่าวไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้แต่ง แต่ก็สันนิษฐานกันว่าแต่งในสมัยต้นๆกรุงศรีอยุธยา โดยเอาเค้ามาจากเรื่องมหาสุบินชาดก ซึ่งมหาสุบินชาดกนั้น เรื่องมีอยู่ว่า
     ครั้นหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทัยอยู่ ณ เขตวันมหาวิหาร ในกรุงสาวัตดี แคว้นโกศล
     ท้าวปเสนทิทรงครองกรุงสาวัตถีอยู่ เกิดทรงพระสุบินแปลกประหลาด ๑๖ ประการ เมื่อทรงเล่าสุบินให้พวกปุโรหิตาจารย์ฟัง พวกปุโรหิตทำนายว่าฝันร้ายนัก ต้องทำพิธีบูชายัญสะเดาะพระเคราะห์ คือ ฆ่าสัตว์บูชาพระเป็นเจ้า

     แต่พระมเหสี คือ พระนางมัลลิกาเทวี ทรงแนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าขอให้ทรงทำนาย บางทีสมเด็จพระพุทธองค์ อาจทรงแนะนำวิธีผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ โดยไม่ต้องฆ่าสัตว์เผาผู้คนบูชายัญอันเป็นวิธีโหดร้าย พระเจ้าปเสนทิโกสน จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ตามคำทรงแนะนำของพระอัครมเหสี ขอพระพุทธเมตตาให้ทรงทำนายพระสุบินแปลกประหลาดทั้ง ๑๖ ประการนั้น

     ในชาดกมีว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทำนายว่า อันอันตรายทั้งหลายนั้น มิได้มีแก่พระราชา หากแต่จะเกิดขึ้นกับ พระศาสนา และราษฎรทั้งหลาย แล้วทรงมีพุทธทำนายบรรยายถึงวิปริตอันตรายนั้นอย่างละเอียด
     ผู้นำเค้าเรื่องสุบินชาดกมาแต่ง ขึ้นต้นคำกลอนพุทธทำนายว่า
     ปางพระองค์ชินวงศ์จอมไตร ทรงอาศัยสาวัตตีบุรีสถาน
     ภิกษุสงฆ์สองหมื่นเป็นบริวาร ทรงสำราญพระหทัยในเชตุพน
     กรุงกษัตริย์ปัตเถวนไปทูลถาม ด้วยข้อความนิมิตรคิดฉงน
     อภิวาทเบื้องบาทพระยุคล แล้วทูลฝันแต่ต้นไปจนปลาย


พระสุบินนิมิตทั้ง ๑๖ ประการ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงทำนาย อันปรากฏอยู่ในคำกลอนดังกล่าวนี้ จะขอยกมาให้อ่านแต่เพียงสัก ๖ ข้อ คือ

         สุบินประการที่ ๑
         หนึ่งฝันว่าโคทั้งสี่มีกำลัง แล่นประดังโดยทิศนิมิตรเห็น
         จะชนกันแล้วหันห่างกระเด็น ต่างหลีกรี้หนีเร้นไปลับตัว
         อภิปรายทายว่าฤดูฝน เมฆมนมืดมิดทุกทิศทั่ว
         ดั่งจะปรายสายพิรุณขุ่นเขียวมัว วายุพัดกลัดกลั้วละลายไป
         จะลำบากยากใจแก่ไพร่พล ด้วยฝนไม่ตกมาในนาไร่
         ต้นข้าวเต้าแตงเหี่ยวแห้งไป ผลไม้ม่วงปรางจะบางเบา
         ข้าวจะยากหมากจะแพงทุกแหล่งหล้า ฝูงประชาแค้นคับอับเฉา
         ด้วยมนตรีโมหาปัญญาเยาว์ ลำเอียงเอาอามิสไม่คิดธรรม์


         และ สุบินประการที่ ๓
         หนึ่งฝันว่าแม่โคคาวิน วอนขอนมลูกกินน่าบัดสี
         อภิปรายทายว่านิมิตรนี้ ไปภายหน้าจะมีเป็นแน่นอน
         พ่อแม่แก่ชรามาหาบุตร ด้วยสิ้นสุดข้าวปลาและผ้าผ่อน
         ต้องมายอมปลอบขอเฝ้าง้องอน มันขอดข้อนสำทับให้อับอาย
         หยาบช้าต่อบิดาชนนี พาทีให้เคืองช้ำทำใจฉลาย
         มิได้มีหิริโอตัปปะอาย หยาบคาบขมขี่ด้วยลมพาล

        สุบินประการที่ ๕
         หนึ่งฝันว่าม้านั้นสองปาก เห็นหญ้าอยากปากอ้าน้ำลายไหล
         บุรุษสองปองป้อนจนอ่อนใจ หยิบหญ้ายื่นส่งให้ไม่เว้นวาย
         มีพระพุทธฏีกาพยากรณ์ ผู้ตัดรอนความราษฎร์สิ้นทั้งหลาย
         จะรวบรวมกันกินทั้งสองฝ่าย แนะนำให้ท้ายโจทย์จำเลย
         กินพลางทางข่มด้วยลมลวง เหนี่ยวหน่วงตามทึ้งแล้วนิ่งเฉย
         บ้างอาศัยใช้การจนนานเลย ความก็เกยแห้งร้างอยู่ค้างปี


        สุบินประการที่ ๖
        หนึ่งฝันว่าสุวรรณภาชน์ทอง สุนัขปองขึ้นนั่งน่าบัดสี
        เอื้อนพระโอษฐ์โปรดพุทธวาที ว่าพาลาจะได้ที่เสนานาย
        จะหยิ่งยศมาสำทับไม่นับปราชญ์ เสพสังวาสคบพาลสมานหมาย
        เหมือนขมิ้นขยำน้ำปูนละลาย ทั้งไพร่นาย คนองลำพองพาล

        สุบินประการที่ ๑๒ คือ ข้อที่ฝันเห็นกระเบื้องลอยน้ำ แต่น้ำเต้ากลับจมน้ำ
        หนึ่งฝันว่าน้ำเต้านั้นจมชล ดูวิกลไม่เคยพบปะสบเห็น
        พุทธบรรหารว่านานไปจะเป็น ที่ข้อเข็ญของสัตว์วิบัติมี
        นักปราชญ์ผู้รู้ธรรมจะต่ำต้อย พาลาลอยเฟื่องฟูชูศักดิ์ศรี
        ผู้พงศาตระกูลประยูรมี จะลับลี้เสื่อมสูญประยูรยศ
        คนพาลจะราญเริงบรรเทิงหน้า เจรจาผิดธรรมไปจนหมด
        ใครปลอกปลิ้นลมเป็นคมคด รู้โป้ปดกลอกกลับจึงนับกัน


         สุบินประการที่ ๑๓
         หนึ่งฝันว่าคีรีนั้นลอยน้ำ ประหลาดล้ำหลากใจที่ในฝัน
         พระทรงญาณบรรหารให้เห็นพลัน ภายหน้านั้นผู้มีศักดิ์จะรักพาล
         จะยกย่องหมู่ชาติอันต่ำช้า เป็นเอกอัครเสนาในสถาน
         ให้ยศศักดิ์สืบสายเป็นนายการ ได้ทีพวกพาลสำราญใจ

         แล้วคำกลอนพุทธทำนาย ก็จบลงด้วยบทสุดท้ายว่า
         ซึ่งบพิตรนิมิตรสิบหกประการ ไม่มีเหตุเพทพาลแก่พระองค์
         จะได้แก่โลกทั้งหลายในภายหน้า จำไว้พิจารณาอย่าลืมหลง
         จะเสื่อมสูญเมธีกวีวงศ์ และฝูงหงส์พงศ์ประยูรตระกูลพราหมณ์
         จะเฟื่องฟูเชยชมนิยมหยาบ แบกแต่บาปหาบนรกยกขึ้นหาม
         กองกรรมจะนำสนองตาม จดลงหนังสุนัขถามเมื่อยามตาย
         พระไตรรัตน์จะวิบัติหม่นมัวหมอง ไม่ผุดผ่องแผ้วผาดสะอาดฉาย
         ศักราชคำรบนั้นสองพันปลาย จะต้องพุทธทำนายไว้แน่เอยฯ


     :25: :25: :25:

     ทีนี้เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาที่บันทึกไว้ว่า พระนารายณ์เป็นเจ้านพบุรีทำนายถึงกรุงศรีอยุธยาเอาไว้นั้น ขึ้นต้นว่า (สะกดการันต์ตามหนังสือเก่า)
    จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา เป็นกรุงรัตนราชพระศาสนามหาดิเรกอันเลิศล้น เป็นที่ปรากฏรจนา สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน ทุกบุรีสีมามณฑล จบสกลลูกค้าวานิชทุกประเทศสิบสองภาษา ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคคะนิจ ฝ่ายองศ์พระบรมราชา ครองขันทสีมาเป็นศุข ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก จึงอยู่เย็นเป็นศุขสวัสดี...
    ....ฯลฯ....ฯลฯ....
    จนคำรบศักราชได้สองพัน คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ...ฯลฯ...


      st12 st12 st12

     ความวิปริตต่างๆให้เกิดความยามเข็ญนั้นว่า ๑๖ ประการเช่นเดียวกับที่พระเจ้าปเสนทิโกสนทรงสุบินและที่พระพุทธเจ้าทรงทำนาย

     ...ฯลฯ...เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล สัปรุษย์จะแพ้แก่ทรชน มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์ ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า เพราะจัณฑาลมันเข้ามาสู่สม ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอารมณ์ เพราะสมัครสมาคมด้วยมารยา...ฯลฯ...
     เวียงวังตอนนี้ ออกนอกกรุงรัตนโกสินทร์ ย้อนกลับไปกรุงศรีอยุธยา ทว่าเมื่อยังเป็นเรื่องเวียงๆวังๆอยู่ ถามมาก็เล่าไป


อ้างอิง
จากหนังสือสกุลไทย ฉบับที่ 2700 ปีที่ 52 ประจำวันอังคารที่  18 กรกฎาคม 2549 โดยจุลลดา ภักดีภูมินทร์
ที่มา  http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=4849&stissueid=2700&stcolcatid=2&stauthorid=13
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 30, 2014, 09:13:11 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ประวัติเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มกราคม 29, 2010, 09:52:44 pm »
0




ขออนุญาตยกมาให้อ่าน ณ ที่นี้ จากหนังสือ ชีวิตและงานกวีเอกของไทย ที่พิมพ์เมื่อพ.ศ.2507 เก่าขนาดพร้อมพลีกายอำลาโลกเลยทีเดียว

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา


จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา
เป็นกรุงรัตนราชพระศาสนา       มหาดิเรกอันเลิศล้น
เป็นที่ปรากฏรจนา                   สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน
ทุกบุรีสีมามณฑล                   จบสกลลูกค้าวานิช

ทุกประเทศสิบสองภาษา          ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคคนิษฐ์
ประชาราษฎร์ปราศจากภัยพิศม์ ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์
ฝ่ายองค์พระบรมราชา             ครองขันธสีมาเป็นสุข
ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก           จึงอยู่เย็นเป็นสุขสวัสดี

เป็นที่อาศัยแก่มนุษย์ในใต้หล้า เป็นที่อาศัยแก่เทวาทุกราศี
ทุกนิกรนรชนมนตรี                คหบดีพราหมณพฤฒา
ประดุจดั่งศาลาอาศัย              ดั่งหนึ่งร่มพระไทรอันสาขา
ประดุจหนึ่งแม่น้ำพระคงคา       เป็นที่สิเนหาเมื่อกันดาร

ด้วยพระเดชเดชาอานุภาพ       อาจปราบไพรีทุกทิศาน
ทุกประเทศเขตขันธบันดาล      แต่งเครื่องบรรณาการมานอบนบ
กรุงศรีอยุธยานั้นสมบูรณ์         เพิ่มพูนด้วยพระเกียรติยศขจรจบ
อุดมบรมสุขทั้งแผ่นภพ           จนคำรบศักราชได้สองพัน

คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย         จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม์ จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ
คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพท     อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล      เกิดนิมิตพิสดารทุกบ้านเมือง

พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง             ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร
พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี         พระกาลกุลีจะเข้ามาเป็นไส้
พระธรณีจะตีอกไห้                 อกพระกาลจะไหม้อยู่เกรียมกรม

ในลักษณะทำนายไว้บ่อห่อนผิด เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม      มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด      เกิดวิบัตินานาทั่วสากล
เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา        จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล

สัปรุษจะแพ้แก่ทรชน              มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว              คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูนัก                  จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย

ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ             นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย            น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม


ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า                เพราะจัณฑาลมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศิลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์        เพราะสมัครสมาคมด้วยมารยา
พระมหากษัตริย์จะเสื่อมสิงหนาท ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา
อาสัจจะเลื่องลือชา                 พระธรรมาจะตกลึกลับ

ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาญ              จะสาบสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ
ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์           สัปรุษจะอับซึ่งน้ำใจ
ทั้งอยุศฆ์จะถอยเคลื่อนจากเดือนปี ประเวณีจะแปรปรวนตามวิสัย
ทั้งพืชแผ่นดินจะผ่อนไป           ผลหมากรากไม้จะถอยรส

ทั้งแพทย์พรรณว่านยาก็อาเพด   เคยเป็นคุณวิเศษก็เสื่อมหมด
จวงจันทร์พรรณไม้อันหอมรส     จะถอยถดไปตามประเพณี
ทั้งเข้าก็จะยากหมากจะแพง       สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่
จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี           ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน

กรุงประเทศราชธานี                 จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล         จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย
จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์    จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย            ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ

ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก         เวียงวังจะรกเป็นป่าเสือ
แต่สิงห์สาระสัตว์เนื้อเบื้อ           นั้นจะหลงเหลือในแผ่นดิน
ทั้งผู้คนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย       จะสาบสูญล้มตายเสียหมดสิ้น
ด้วยพระกาลจะมาผลาญแผ่นดิน จะสูญสิ้นการณรงค์สงคราม

กรุงศรีอยุธยาจะสูญแล้ว           จะลับรัศมีแก้วเจ้าทั้งสาม
ไปจบคำรบปีเดือนคืนยาม         จะสิ้นนามศักราชห้าพัน
กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข             แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์
จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์        นับวันจะเสื่อมสูญ เอย


 :91: :91: :91:

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา เป็นวรรณคดีสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑) พระองค์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เชี่ยวชาญในวรรณคดีมาก ยุคนี้วรรณคดีจึงฟูเฟื่องมากที่สุด ถือเป็นยุคทองของวรรณคดีไทย มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตเกิดเป็นคู่ใต้พระบุญบารมีหลายท่าน เช่น พระมหาราชครู พระโหราธิบดี พระศรีมโหสถ ขุนเทพกวี ศรีปราชญ์ จนกล่าวกันทั่วไปว่าในสมัยของพระองค์ ข้าราชสำนักและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินส่วนมากหายใจกันเป็นโคลงกลอนไปหมดทีเดียว นอกจากนั้นยังมีการดัดแปลงแต่งวรรณคดีประเภทใหม่ ๆ ขึ้นอีกหลายประเภทเช่น กาพย์ห่อโคลง และกาพย์ขับไม้

สำหรับเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยานี้ ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ากวีผู้ใดประพันธ์ แต่มีการกล่าวถึงในยุคหลังจากนั้น ขอยกบทวิจารณ์ที่น่าสนใจมาให้อ่านควบคู่กันไปด้วย นั่นคือ “วิจารณ์เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยูธยา” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์ไว้อย่างมีเหตุผลดียิ่งดังนี้คือ

    ans1 ans1 ans1

    “พิจารณาเนื้อความที่กล่าวในเพลงยาวบทนี้ มีคำพยากรณ์มาแต่ก่อน ว่ากรุงศรีอยุธยาจะสมบูรณ์พูลสุขเป็นอย่างเลิศล้นจนศักราชได้ ๒,๐๐๐ ปี พ้นนั้นไปจะ “เกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์ ๑๖ ประการ” “เหตุด้วยพระมหากษัตริย์ไม่ทรงทศพิธราชธรรม” บ้านเมืองก็จะมีเภทภัยต่าง ๆ ที่สุดถึงฆ่าฟันกันตาย จนกรุงศรีอยุธยาสูญไปตลอดอายุพระพุทธศานา ๕,๐๐๐ ปี ว่ามีคำพยากรณ์อยู่แล้วดังกล่าวมานี้ มาในสมัยหนึ่งเมื่อกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีอยู่นั้น ผู้แต่งเพลงยาวบทนี้สังเกตเห็นวิปริตต่าง ๆ ตาม

    “ในลักษณะทำนายไว้บ่อห่อนผิด เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม” เกรงว่าจะเข้ายุคเข็ญตามคำพยากรณ์ จึงแต่งเพลงยาวบทนี้ด้วยความอาลัยกรุงศรีอยุธยาลงท้ายว่า
    “กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์ จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์นับวันแต่จะเสื่อมสูญเอย”


 :03: :03: :03:

ตามความในเพลงยาวพึงเห็นได้ว่าผู้แต่งเพลงยาวบทนี้ เป็นแต่อ้างตามคำพยากรณ์ที่มีอยู่แล้ว หาได้เป็นผู้พยากรณ์ไม่ จึงเกิดปัญหาเป็นข้อต้น ว่าใครเป็นผู้พยากรณ์.... แต่ในคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาอ้างว่าจะเกิดยุคเข็ญ เมื่อศักราชได้ ๒,๐๐๐ ปี จึงเป็นปัญหาเกิดขึ้นอีก

ข้อหนึ่งว่า “ศักราชอันใด” ถ้าหมายว่า พุทธศักราช กรุงศรีอยุธยาสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ ครบ ๒,๐๐๐ ปีในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ กรุงศรีอยุธยาก็จะสมบูรณ์พูลสุขอยู่เพียง ๑๐๗ ปี แล้วก็เข้ายุคเข็ญมาก่อนแต่งเพลงยาวบทนี้ตั้ง ๑๐๐ ปีแล้ว ที่ผู้แต่งเพลงยาวเพิ่งหวั่นหวาดว่าจะถึง

ยุคเข็ญก็ส่อให้เห็นว่ามิใช่พุทธศักราชหรือจะหมายว่ามหาศักราช ซึ่งตั้งภายหลังพุทธศักราช ๖๒๑ ปี ถ้าเช่นนั้นเมื่อคำนวณดูในพ.ศ.๒๔๗๙ (ปีที่เขียนคำวิจารณ์) นี้มหาศักราชได้ ๑,๘๕๘ ปี ยังอีก ๑๔๒ ปี จึงจะครบ ๒,๐๐๐ เข้าเขตยุคเข็ญที่พยากรณ์ ถ้าหมายความว่าจุลศักราชยังยิ่งช้าออกไปอีกมาก เพราะจุลศักราชตั้งภายหลังพุทธศักราชถึง ๑,๑๘๑ ปี ต่ออีก ๗๐๒ ปี

(พ.ศ.๓๑๘๑) จุลศักราชจึงจะครบ ๒,๐๐๐ ศักราช ๒,๐๐๐ ที่บอกไว้ดูไม่เข้ากับเรื่องที่กล่าวในเพลงยาวทีเดียว ชวนให้สงสัยต่อไปถึงข้อที่อ้างว่ามีคำพยากรณ์อยู่แต่ก่อน ที่จริงน่าจะเป็นด้วยคนชอบเอาพุทธพยากรณ์ในมหาสุบินชาดกมาเปรียบในเวลาเมื่อ เห็นอะไรวิปริตผิดนิยม เกิดเป็นภาษิตก่อนแล้วจึงเลยเลือนไปเข้าใจกันว่าเป็นคำพยากรณ์

 :s_hi: :s_hi: :s_hi:

สำหรับพระนครศรีอยุธยาผู้แต่งเพลงยาวนี้ จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ตามหรือมิใช่พระเจ้าแผ่นดินก็ตามน่าจะปรารภความ วิปริตอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยนั้น จึงแต่งเพลงยาวบทนี้ด้วยความกลุ้มใจ บางทีจะเอาศักราช ๒,๐๐๐ อันตั้งใจว่าจุลศักราชเขียนลงเพื่อจะมิให้คนทั้งหลายตกใจว่าถึงยุคเข็ญแล้ว เมื่อเวลาแต่งเพลงยาวนั้น เห็นจะมิใคร่มีใครถือว่าสลักสำคัญมาจนเมื่อเสียพระนครศรีอยุธยา จึงเกิดเห็นสมดังพยากรณ์เพลงยาวบทนี้ก็เลยศักดิ์สิทธิ์ขึ้น... ”

เมื่อได้อ่านเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาแล้ว มีใครนึกสนุกจะถอดรหัสลับ หรือถอดสัญลักษณ์ว่าอะไรเป็นอะไร เทียบเคียงได้กับใครในยุคข่าวสารสมัยนี้ บางทีเรื่องสนุกแก้เซ็งธรรมดา อาจเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาได้ แต่ที่แน่ ๆ คือ คนไทยเราล้วนมีอาการวิตกกังวล ห่วงใยชาติบ้านเมืองกันอย่างแน่นแฟ้นทีเดียว บางทีอาจเป็นเพราะนิสัยที่สืบมาแต่บรรพบุรุษก็เป็นได้ ใครจะไปรู้

 
ที่มา http://blogazine.prachatai.com/user/bookgarden/post/994
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 30, 2014, 09:25:40 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

KIDSADA

  • มีเหตุมีผล
  • ****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 439
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย...น้ำเต้าน้อยจะถอยจม
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 07, 2011, 08:40:43 pm »
0
อ้างถึง
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย...น้ำเต้าน้อยจะถอยจม

ไม่ว่าจะประมาทในการคิด
หรือประมาทในการพูด
หรือประมาทในการฟัง

อ่านเรื่องนี้ แล้วเทียบเคียงกับความเป็นอยู่ในปัจจุบัน รู้สึกสลดหดหู่ใจจริง ๆ ครับ


 :03:
บันทึกการเข้า
เราชอบ ป่วนแก็งค์ อ๊บ อ๊บ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


 :49: :49: :49:
แนะนำครับ ข้อธรรมนี้เป็นอกาลิโก ทันกาล ทันยุค
“กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน”
เทศนาธรรมของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

kobyamkala

  • โยคาวจรผล
  • ******
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 2236
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
อ่านคำกลอนแล้ว พึ่งทราบที่มา เป็นบทเพลงนี่เอง
 แล้วเพลง มีทำนองอย่างไร

  thk56 thk56 thk56
บันทึกการเข้า
แล้วลองแอบมาแย้มกะลา
เพื่อดูโลก เห็นแล้วตกใจโลกนี้กว้างใหญ่จริง ๆ

rainmain

  • มีเหตุมีผล
  • ****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 323
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
กระทู้ นี้ เหมือน รู้ อนาคต เลยนะครับ

 thk56
บันทึกการเข้า
คิดดี พูดดี ทำดี เป็นกุศล และ กรรมฐาน เป็นมหากุศล นะครับ