ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ถอดรหัสจักรวาล พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม  (อ่าน 720 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ถอดรหัสจักรวาล พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม

หลังจากท่องงานสมโภชพระอารามวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปแล้ว แอดก็ข้ามลำน้ำเจ้าพระยาจากฝั่งท่าเตียนที่ยักษ์ตีกัน มาฝั่งธนบุรีเพื่อเยี่ยมชมความงดงามของ พระปรางค์วัดอรุณ  ในยามค่ำ งดงามไม่แพ้ตอนกลางวันเลยค่ะ

วัดอรุณราชวราราม วัดสำคัญสมัยกรุงธนบุรี แต่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเดิมชื่อว่า “วัดมะกอกนอก” ต่อมาพระเจ้าตากสินมหาราชกำลังเสด็จไปเมืองเพชรบุรีแล้วมาถึงวัดแห่งนี้ตอนรุ่งเช้า จึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดแจ้ง” บริเวณยังเป็นที่ตั้งของชุมชนหลายเชื้อชาติ เช่น ชุมชนจีน ชุมชนโปรตุเกส และชุมชนมุสลิม จึงปรากฏศาสนสถาน 3 ศาสนาขึ้นในบริเวณนี้

 
พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

พระมหาธาตุประจำพระนคร

หลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภา รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชดำริว่า กรุงรัตนโกสินทร์ยังไม่มีพระมหาธาตุสูงใหญ่สำหรับพระนคร จึงโปรดฯ ให้สร้างเสริมพระปรางค์องค์เก่าแก่ขึ้นในวัดแจ้งที่สูงเพียง 8 วา ให้สูงใหญ่กว่าเดิม และพระราชทานนามวัดแจ้งเป็น “วัดอรุณราชธาราม” แล้วโปรดฯให้กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) เป็นแม่กองควบคุมการก่อสร้าง ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ไม่ทันจะจัดพิธีฉลองพระปรางค์องค์ใหม่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อน จึงจัดพิธีฉลองพระปรางค์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4

พระปรางค์วัดอรุณมีความสำคัญในฐานะพระมหาธาตุแห่งพระนคร ซึ่งต่อเติมพระธาตุให้สูงใหญ่ขึ้นจากพระปรางค์องค์เก่า โดยพระปรางค์ประธานมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายแหจับปลาที่ห้อยลงมา จึงเรียกว่า “พระปรางค์ทรงจอมแห”

@@@@@@

พระจุฬามณีบนผืนพิภพ

การวางผังของพระปรางค์วัดอรุณรวมไปถึงการตกแต่งด้วยประติมากรรมต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบ แสดงให้เห็นว่ามีความสอดคล้องที่พอจะเป็นไปได้ว่า เป็นการจำลองพระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังพื้นพิภพ

พระจุฬามณีเจดีย์ คือ พระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตามคติพระพุทธศาสนา


ยักษ์แบก สัญลักษณ์พิภพของอสูร

สิ่งที่สังเกตได้คือ ประติมากรรมตกแต่ง ได้แก่ รูปยักษ์แบก ที่ประดับอยู่รอบฐานพระปรางค์ มีความหมายถึง เขาตรีกูฏบรรพต อันเป็นที่อาศัยของอสูร  ลิงแบก หมายถึงพิภพของมนุษย์ และเทวดาแบก หมายถึง แดนสวรรค์ รวมไปถึงรูปปั้นของกินรีและกินนร บ่งบอกถึง ป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแดนสวรรค์

พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ที่เรือนธาตุ หมายถึง ปราสาทเวชชยันต์ วิมานที่สถิตของพระอินทร์ หรือ ท้าวสักกะเทวราช สะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อเรื่องพระอินทร์ ซึ่งมีอิทธิพลมากในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และยังสร้างขึ้นเพื่อให้พระอินทร์เป็นเทวดาผู้ปกปักษ์รักษาพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานภายในพระปรางค์

เทวดาขี่ม้าในเรือนธาตุพระปรางค์บริวาร

พระปรางค์บริวาร 4 องค์ เป็นการจำลองคติเรื่อง ทวีป 4 ในคติของพระพุทธศาสนา ส่วนเทวดาทรงม้าที่ปรากฏในเรือนธาตุมีความหมายถึง พระพาย เทพเจ้าแห่งลม หรือไม่ก็พระจักรพรรดิราชทรงม้าแก้ว
 
มณฑปประจำทิศ

ส่วนมณฑป 4 องค์ หมายถึงท้าวจตุโลกบาล เจ้าสวรรค์ชั้นจาตุงมหาราชิกา ทั้งยังเป็นเทวดาประจำทิศทั้ง 4 ที่พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา ในบริเวณนั้นจึงมีการตกแต่งด้วยสัตว์ในป่าหิมพานต์ เช่น กินรี เพราะป่าหิมพานต์เป็นส่วนหนึ่งของสวรรค์ชั้นจาตุงมหาราชิกา ฐานของพระปรางค์จึงประดับตกแต่งด้วยดอกไม้จากเศษกระเบื้องจีนอย่างงดงาม ให้คล้ายกับดอกไม้สวรรค์ในป่าหิมพานต์


เมื่อพิจารณาตามข้อมูลทั้งหมดนี้แสดงให้ถึงความตั้งใจของผู้สร้าง ที่จำลองจักรวาลในคติพระพุทธศาสนาลงมาไว้บนโลกมนุษย์ เช่น การอธิบายภพภูมิต่าง ๆ ด้วยสัญลักษณ์ผ่านประติมากรรม อธิบายระดับชั้นของพระปรางค์ด้วยคติภพภูมิจากนรกภูมิไปถึงสวรรคภูมิ คติเรื่องทวีป 4 พระจักรพรรดิราช สวรรค์ชั้นจาตุงมหาราชิกา ป่าหิมพานต์ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และพระจุฬามณีเจดีย์

สำหรับคนชอบชิว หลังเลิกงานหรือวันหยุดก็ได้ ลองข้ามเรือมาเที่ยวชมพระปรางค์วัดอรุณตอนค่ำ ๆ ชมความงามของแสงไฟที่กระทบพระปรางค์ กับบรรยากาศลมเย็น ๆ สบาย  ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็ไม่เลวเลยค่ะ เรือข้ามฝั่งหมดตอน 20.00 น. แถมคนไม่เยอะเหมือนตอนกลางวัน แต่จะเข้าไปไหว้พระในพระอุโบสถและพระวิหารไม่ได้นะคะเพราะปิดแล้ว


 

ที่มา : 5 มหาเจดีย์สยาม โดย ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร
ภาพ : วัดอรุณราชวราราม
ขอบคุณเว็บไซต์ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/123678.html
By nintara1991 ,13 November 2018
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 13, 2018, 07:48:45 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ