ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ยกเครื่องการศึกษาสงฆ์ ถึงเวลา...แล้วหรือยัง.??  (อ่าน 503 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ยกเครื่องการศึกษาสงฆ์ ถึงเวลา...แล้วหรือยัง.??

สัปดาห์นี้ถ้าจะบอกว่า...การศึกษาธรรมและบาลี เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ความคิดนี้อาจไม่ใช่ ถ้ารักษาไว้ได้จริงทำไมผู้สอบลดน้อยถอยลงทุกปี

การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยปัจจุบันมีอยู่ 2 แนวทางหลักคือ “แผนกธรรม” และ “แผนกบาลี” แผนกธรรมก็ประกอบด้วยหลักสูตรสำหรับพระภิกษุสามเณรก็คือ นักธรรมชั้นตรี โท เอก และธรรมศึกษาสำหรับฆราวาสมี 3 ระดับเช่นเดียวกันพระภิกษุสามเณร ส่วนแผนกบาลีประกอบด้วย ประโยค 1-2 เปรียญธรรม 3 ประโยค รูปใดสอบได้ในระดับนี้เรียก “มหา” จนกระทั่งถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค

สำหรับพัดประโยค 3 รับจากสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ก็ตัวแทน ส่วนพัดประโยค 6 และ 9 รับจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันนี้การศึกษาหลักๆ สำหรับผู้ที่เข้ามาบวชเรียนแบบคร่าวๆ วันนี้ผมยังไม่แตะการศึกษาด้านโรงเรียนพระปริยัติสามัญและการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ความจริงหากคณะสงฆ์ต้องการให้องค์กรของตัวเองเรียนแล้ว “อุดมไปด้วยสติ อุดมไปด้วยปัญญาและคุณธรรม” ถึงเวลา (อาจ) ต้องยกเครื่องไม่แพ้แผนกธรรมและแผนกบาลี

@@@@@@

เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว สมัยผมเรียนนักธรรมเป็นอย่างไร สมัยนี้ก็เป็นอย่างนั้นท่องจำ สติ คือความระลึกได้ สัมปชัญญะ คือความรู้ตัว แต่อะไรคือสติ สติใช้อย่างไร สติสำคัญแบบไหน และบทบาทสติต่อการใช้ชีวิตประจำวันจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ผู้เรียนไม่รู้และดีไม่ดีอาจารย์สอนก็ไม่รู้ ไม่มีคำอธิบายนอกจากท่องหนังสือจากหลักสูตร “นวโกวาท” จนจบ

ลักษณะ “ท่องและจำ” เพื่อไปสอบธรรมสนามหลวงแบบนี้ จนถึงเรียนจบ “นักธรรมเอก” เมื่อเข้ามาสู่วงการเรียน “แผนกบาลี” กลับไปสู่วงจรเดิมๆ แต่หนักกว่าคือ “ท่องจำ” หลักสูตรไวยากรณ์ 4 เล่ม ท่องไม่ได้ “ก็จด” หนังสือแปลบางเล่ม “เต็มไปด้วยรอยขีดเขียน” คือ แปลเป็นไทยกำกับเอาไว้ โดยที่พระอาจารย์สอนก็ไม่รู้เรื่องว่า ไอ้ที่นักเรียนแปลคล่องนั่นคือ “เขียนกำกับเอาไว้”

อันนี้คือชีวิตของพระภิกษุสามเณรที่เรียนนักธรรมและบาลี แม่กองธรรมศึกษาสนามหลวง แม่กองบาลี ท่านก็คงเคยผ่านมาแบบที่ผมเรียนมานี่แหละ และระบบการวัดผลสอบที่ประหลาดน่า “ภูมิใจที่สุด” ในโลกคือสอบปีละครั้งตกเป็นตก คะแนนหากเขียนผิดศัพท์ ผิดประโยค ผิดสัมพันธ์ เกิน 12 คะแนน ปรับตกโดยตรวจสอบจับผิดจากพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 รูป โชคดีว่าตอนหลังประโยคต่ำๆ มีการสอบซ่อม

@@@@@@

ความตกต่ำทางการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยนั่นทาง “บ้านเมืองและประชาชน” รับรู้มานานแล้ว แต่ไม่อยากยุ่งกับ “คณะสงฆ์” และผมเชื่อว่าคณะสงฆ์เองก็รับรู้ได้ว่า “ระบบการศึกษาของตนเองมันไม่เพิ่มความฉลาดหรือความก้าวหน้า” ให้กับพระภิกษุสามเณรของตนเองเลย เพราะหากจะบอกว่าการศึกษาธรรมและบาลี เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาหรือรักษาพระพุทธพจน์ ความคิดนี้ “อาจไม่ใช่” หากรักษาไว้ได้จริงทำไมจำนวนผู้สอบลดน้อยถอยลงทุกปี และทำไมพระภิกษุสามเณรจึงไม่ใคร่ที่จะเรียน

ส่วนธรรมศึกษาที่ไปเปิดสอนตามโรงเรียนหรือเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์แล้วไปสอบ วันก่อนเจอผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในวงสนทนาคุยกันว่า “ระบบการเรียนการสอนไร้คุณภาพ” บางทีมันซ้ำซ้อนกันกับระบบการศึกษาในโรงเรียน คือ นักเรียนเรียนหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหลักสูตรหนึ่ง แล้วต้องไปท่องจำหลักสูตรของธรรมศึกษาอีกหลักสูตรหนึ่ง

สรุปคือ สอนเองก็งงว่า ทำไมแม่กองธรรมสนามหลวง จึงไม่ผนวกปรับให้เป็นหลักสูตรเดียวกัน ระดับเดียวกัน ซ้ำร้ายกว่านั้น “มีการกางหนังสือให้ตอบข้อสอบ” โดยพระอาจารย์ผู้สอนเอง จนผู้บริหารโรงเรียนท่านนี้ต้องโวยวายว่า “โรงเรียนไม่มีนโยบายให้ทำแบบนั้น” และหลักสูตรก็ไม่ทันสมัย ผู้เรียนปรับใช้ในชีวิตจริงไม่ได้

@@@@@@

ผมว่าถึงเวลาแล้วที่คณะสงฆ์ ต้องยกเครื่องระบบการเรียนการสอนของคณะสงฆ์ทำอย่างไร ให้ระบบการศึกษาของพระภิกษุสามเณรจึงจะมีคุณภาพ อันจำต้องเพิ่มวิชาการสมัยใหม่เข้าไปได้ไหม เช่น ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั้งกฎหมายเบื้องต้น ส่วนธรรมศึกษาต้องจูนกันให้ติดระหว่างหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการกับของคณะสงฆ์

เพราะไม่อย่างนั่น “สังคมครูและนักเรียน” จะดูถูกระบบการเรียนการสอนของคณะสงฆ์เราได้ว่า ส่งรายชื่อเยอะๆ เอาผลงาน เอางบประมาณ แต่เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง สอนพอเป็นพิธี เดียวมี พระอาจารย์บอกข้อสอบยื่นคำตอบให้...หรือคณะสงฆ์อยากให้เป็นแบบนี้




คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย “เปรียญ10” : riwpaalueng@gmail.com
ขอบคุณภาพ : สำนักธรรมแม่กองธรรมสนามหลวง
ขอบคุณที่มา : https://www.dailynews.co.th/royalnews/676786
พุธที่ 14 พฤศจิกายน 2561 เวลา 11.00 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ